From T2 |
ฟาสต์ฟู้ดธุรกิจ
"หนุ่มเมืองจันท์"
มติชนสุดสัปดาห์
วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2548
ผมรู้จัก อาจารย์ปัณณธร พยัคฆกุล
มานานหลายปีแล้วเจอกันครั้งแรก
ตอนที่เธอพานักเรียนมาเลือกซื้อหนังสือ
ในงาน HAPPY BOOK DAY ของสำนักพิมพ์มติชน
ที่จังหวัดขอนแก่น
"อาจารย์ปัณ" เป็นใครหรือครับ ???
ผมเคยถามถึงตำแหน่งอย่างเป็นทางการของเธอครั้งหนึ่ง
"อาจารย์ 2 ระดับ 7 ค่ะ"
โหย ทางการจริงๆ ผมจึงเปลี่ยนคำถามใหม่
"ตำแหน่งอย่างไม่เป็นทางการล่ะครับ"
"บรรณารักษ์ค่ะ"
ครับ "อาจารย์ปัณ" เป็นบรรณารักษ์
ของโรงเรียนกัลยาณวัตรโรงเรียนใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น
เธอพานักเรียนมาซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด
ด้วยเหตุผลว่าไม่มีใครรู้ว่าเด็กอยากอ่านหนังสืออะไรเท่ากับตัวเด็กเอง
ที่ผ่านมาบรรณารักษ์จะเป็นคนเลือกหนังสือเข้าห้องสมุด
ไม่ได้ถามเด็กว่าอยากอ่านหนังสืออะไร
บางห้องสมุดจึงเต็มไปด้วยหนังสือที่บรรณารักษ์
อยากอ่านมากกว่าหนังสือที่เด็กอยากอ่าน
"อาจารย์ปัณ" เป็นผู้ริเริ่มตั้งกลุ่มรักการอ่านขึ้นในโรงเรียน
จนปัจจุบันมีสมาชิกถึง 300 กว่าคน
จากนักเรียนทั้งหมดประมาณ 3,000 คน10% เชียวนะครับ
กิจกรรมของกลุ่มก้าวหน้าถึงขึ้นชวนผู้ปกครองมาอ่านหนังสือ
ตามปกติเราเคยได้ยินการรณรงค์ผู้ปกครอง
ให้สนับสนุนเด็กรักการอ่านแต่ที่นี่คิดสวนทาง
ให้เด็กชวนผู้ปกครองอ่านหนังสือก้าวไปอีกขั้น
เลยนั่งคุยกับ "อาจารย์ปัณ"
แล้วรู้เลยว่าที่เธอสร้างกลุ่มรักการอ่านสำเร็จ
นอกเหนือจากแนวคิดและวิธีการแล้ว
หัวใจสำคัญมาจากเรื่อง "ทัศนคติ" ของเธอ
ที่มีต่อเด็กและการอ่านเธอเชื่อว่า
ที่นักเรียนไม่อยากเข้าห้องสมุด
เพราะบรรยากาศในห้องสมุดไม่น่าเข้าบรรณารักษ์ดุ เสียงดังหน่อยก็ดุ
พลิกดูหนังสือแรงหน่อยก็ว่าไม่มี
ใครอยากเดินเข้ามาในสถานที่ที่มีบรรยากาศน่าหวาดกลัว
บรรยากาศในห้องสมุดคือสิ่งแรกที่ "อาจารย์ปัณ" ปรับปรุง
"บางทีครูก็คุยเสียงดังกว่าเด็ก"
เธอพูดทีเล่นทีจริงไม่แปลกที่ห้องสมุด
ในโรงเรียนนี้จะมีเด็กกลุ่มหนึ่ง
"หนีเรียนมาพึ่งเย็น" เป็นประจำอาจารย์วิชาต่างๆ
จะขอให้ "อาจารย์ปัณ"
จดชื่อนักเรียนที่หนีไปห้องสมุดเพื่อลงโทษ
แต่ "อาจารย์ปัณ" กลับทำตรงข้ามเธอนั่งคุยกับเด็กเหล่านั้นแบบ
"เพื่อน"คุยเพื่อให้รู้ถึงปัญหา
และเสนอแนวทางแก้ปัญหาขณะเดียวกัน
ก็ชักชวนให้เด็กอ่านหนังสือ แนะนำหนังสือให้อ่านเรียบร้อยครับ
เรียบร้อยแก้ทั้งปัญหาเด็กหนีเรียน
และเพิ่มจำนวนสมาชิกกลุ่มรักการอ่านมุมมองของ
"อาจารย์ปัณ" มีหลายเรื่องที่น่าสนใจอย่างเช่น
เรื่องเด็กขโมยหนังสือในห้องสมุด
ทุกคนจะมองในแง่ลบเพียงด้านเดียว
แต่ "อาจารย์ปัณ" แม้จะไม่ชอบวิธีการเช่นนี้
แต่เธอก็มีมุมมองด้านบวก มองโลกในแง่ดี
"เด็กขโมยหนังสืออย่างน้อยก็แสดงว่าเด็กอยากอ่านหนังสือ"
POSITIVE THINKING จริงๆ
เรื่อง "ทัศนคติ" ของครูเป็นเรื่องสำคัญจริงๆ ครับ
ผมเพิ่งได้ยินเรื่องครูของโรงเรียนชื่อดังแห่งหนึ่งในเมืองไทย
ใครๆ คิดว่าครูที่นี่จะเน้นเรื่องวิชาการเป็นหลัก
และมีเด็กนักเรียนเก่งๆ อยู่เยอะ
ก็เลยสอบติดเอ็นทรานซ์กันแทบยกโรงเรียน
ตอนแรกผมก็คิดแบบนี้เหมือนกัน
แต่วันหนึ่งมีนักเรียนโรงเรียนนี้คนหนึ่งเล่าให้ผมฟัง
ถึงวิธีการสอนของครู 2 คนคนแรก
เป็นครูสอนวิชาคณิตศาสตร์ วิชาที่ "เด็กศิลป์" ทั้งหลาย
เกลียดชังที่สุด
พอเข้าห้องมา ครูก็ถามว่า "ใครไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์บ้าง"
ทั้งห้องครับ ทั้งห้องครูหัวเราะด้วยความเคยชิน
"ครูมีหน้าที่ทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย
ส่วนเธอมีหน้าที่ทำความเข้าใจกับเรื่องง่ายๆ ที่ครูสอน"
จากนั้นก็เริ่มกัดเด็กวิทย์
"อย่าไปสนใจเด็กวิทย์
เขาอาจทำข้อสอบเสร็จทั้งที่เธอยังไม่เขียนอะไรเลย
ครูไม่ต้องการให้เธอเก่งขนาดนั้น
แต่ต้องการให้สามารถคุยกับพวกเขาพอรู้เรื่องบ้าง
แต่ถ้าเขาคุยอะไรลึกมากๆ เราก็เดินหนีอย่าไปคุยด้วย"
นี่คือ จิตวิทยาที่แสดงให้เห็นว่า "ครู" อยู่พวกเดียวกับ "นักเรียน"
แค่นี้วิชาคณิตศาสตร์ก็น่าเรียนขึ้นแล้วสำหรับ "เด็กศิลป์"
เพราะแสดงว่าครูเข้าใจพื้นฐานของนักเรียนดี
อีกคนหนึ่งเป็นครูสอนวิชาพลศึกษา
ชื่อครูอนันต์เขาสอนบาสเกตบอล
วันแรกของการเรียนครูอนันต์ถามนักเรียน
แบบเดียวกับครูสอนคณิตศาสตร์
"ใครไม่ชอบเล่นบาสเกตบอลบ้าง"แทนที่ครูอนันต์จะโกรธ
เขากลับหัวเราะ"ครูไม่มีหน้าที่ถามว่าทำไมเธอถึงไม่ชอบเล่นบาส
แต่ครูมีหน้าที่ทำให้เธอชอบบาสเกตบอล
และเล่นบาสอย่างมีความสุข"
แค่นี้เด็กก็เทใจไปครึ่งหนึ่งแล้ว
ครูอนันต์เริ่มบอกถึงเป้าหมายของการสอนว่า
เขาไม่สนใจว่าเด็กจะชู้ตบาสลงกี่ลูก
ไม่สนใจว่าใครจะเล่นผิดกติกากี่ครั้ง
แต่เขาต้องการให้ทุกคนเล่นบาสด้วยความสนุก
"นักบาสเอ็นบีเอยังชู้ตไม่ลงทุกลูกเล่น
ยังวอล์กกิ้ง ยังฟาวล์อยู่เป็นประจำ
เราไม่ได้เล่นเพื่อติดทีมชาติหรือเล่นเอ็นบีเอ
ขอเพียงสนุกเท่านั้นก็พอ"
แค่ฟัง เด็กที่เคยเกลียดการเล่นบาสก็ชักอยากเล่นบาสกันแล้ว
"วันแรกที่เล่น เธออาจจะเลี้ยงลูกบาสแล้วเตี้ยลงเรื่อยๆ"
นึกออกไหมครับ เวลาที่เราหัดเลี้ยงบาสครั้งแรก
เราจะไม่กล้าตีบอลแรงเพราะกลัวบอลเด้งแรงแล้ว
เราตีบอลไม่ทันพอตีบอลค่อยๆ
บอลก็จะเด้งต่ำลงเรื่อยๆ
"แต่ถ้าเรียนจบแล้ว เธอสามารถ
เลี้ยงบอลได้สูงขึ้นกว่าเดิม
ก็แสดงว่าเธอเล่นดีขึ้น
มีพัฒนาการขึ้น"
ยังไม่ทันเล่นบาส นักเรียนเกือบทั้งห้อง
เปลี่ยนจาก "เกลียด" มาเป็น "หลงรัก"
กีฬาชนิดนี้แล้วเพราะพลศึกษา
กลายเป็นวิชาที่สนุกขึ้นมาทันที
ทั้งที่รูปแบบของเกมยังเหมือนเดิม
เพียงแต่ทัศนคติของ "ครู"
เน้นให้เด็กรู้สึก "สนุก"
ที่จะเรียนจุดเริ่มต้นที่ "ความสนุก"
จะทำให้เด็กกระหายที่จะเล่น
และเรียนรู้ผลสุดท้ายนอกจากเด็กจะรักวิชานี้แล้ว
ทุกคนยังจะเล่นบาสเป็น
และเล่นบาสดีขึ้นด้วยเชื่อไหมครับ...
หน้า 24