"ผมอยากจะเอาความโชคดีของผมตอบแทนให้แก่คนอื่นบ้าง ถ้าผมโชคดีคนเดียวก็คงไม่เกิดประโยชน์เท่าไร และอาชีพอาจารย์ที่ทำมา ผมก็คิดว่าเป็นการตอบแทนความโชคดีของผมส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศนี้ยังมีคนอีกเยอะมากที่ขาดโอกาส แล้วก็การขาดโอกาสของเขาก็อาจจะเป็นโอกาสที่ทำให้ผมได้ดีก็ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเวลาที่ผมจะต้องใช้หนี้"
ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
รมช กระทรวงศึกษาธิการ
พิชามญชุ์
สกุลไทย
ฉบับที่ 2733 ปีที่ 53
ประจำวัน อังคาร ที่ 6 มีนาคม 2550
ดูเหมือนว่ากระดานและปากกาเมจิคสำหรับ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ จะเป็นสิ่งของที่คุ้นเคยกันดีอย่างยิ่งโดยเฉพาะเมื่อได้สวมบทบาท (ครู) และใช้ของสองสิ่งนี้อธิบายหลักง่ายๆของการออมเงินให้ผู้ฟังเข้าใจได้ภายในเวลาเพียง ๕ นาที คงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าคุณสมบัติที่ดีของนัก เศรษฐศาสตร์ และ ครู จะอยู่ในตัวบุคคลคนเดียวแต่เมื่อเพิ่มคำว่าอธิการบดีมหาวิทยาลัย รัฐมนตรีและนักเขียนเข้าไปด้วย อาจจุดประกายคำถามขึ้นในใจใครบางคนได้เหมือนกัน
ก่อนหน้าจะมารับตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นที่รู้จักในแวดวงนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ในฐานะอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ นอกจากนี้ในอีกบทบาทหนึ่งที่สาธารณชนรู้จักคือการจับปากกาเป็นนักเขียน และคอลัมนิสต์ที่ใช้ตัวหนังสือเผยแพร่ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์แก่ประชาชนในนาม วีรกร ตรีเศศ กับบทความที่ทำให้วิชาเศรษฐศาสตร์กลายเป็นเรื่องที่เข้าใจง่ายในหน้าหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสาร และผลงานหนังสือรวมเล่มมากมาย สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือแม้จะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่คุ้นเคยกับเรื่องเงินๆทองๆรวมทั้งเรื่องหนี้สินต่างๆ
แต่ดร.วรากรณ์กลับเล่าให้ฟังว่าในชีวิตนี้ยังมีหนี้อยู่จำนวนหนึ่ง เป็น หนี้ทางใจ ที่ ถึงวันนี้ก็ชำระไปเยอะแล้ว และต้องชำระต่อไป
แม้จะสวมหมวกหลายใบในหลายบทบาทหน้าที่ แต่ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ระบุว่าความต้องการที่แท้จริงของชีวิตคือการเป็น ครู และ ผู้บริหาร เพื่อวัตถุประสงค์เดียวคือ มีส่วนร่วมในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และหมวกใบล่าสุดในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการก็ดูจะเป็นคำตอบที่ตรงตัว และเป็นการใช้ หนี้ทางใจ ได้อย่างเต็มที่มากขึ้น
เมื่อเข้ารับงานที่กระทรวงศึกษาฯ สิ่งที่ผมอยากทำมี ๔ เรื่อง ถึงแม้ผมจะไม่ได้รับผิดชอบ
แต่ว่าในภาพรวมผมก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วย
เรื่องแรกคือเรื่องของครู ผมอยากให้ครูมีกำลังใจ อยากให้ครูมีเงินเดือนอยู่ในฐานะที่ดึงดูดให้คนมาเลือกเรียนครูมากขึ้น ได้รับการยอมรับทางสังคมเหมือนที่เคยเป็นมา ให้ครูมีรายได้ มีสวัสดิการดี ซึ่งจะทำให้มีการดึงดูดคนที่มีความตั้งใจอยากจะเป็นครูจริงๆได้มาอยู่ในอาชีพนี้
อันที่ ๒ คือเยาวชน เพราะปัญหาเยาวชนเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศนะครับ การดูแลเยาวชนมากกว่า ๑๕ ล้านคน เป็นเรื่องจำเป็น นโยบายสำคัญของรัฐบาลชุดนี้ในเรื่องการศึกษาคือ คุณธรรมนำความรู้ ต้องการนำคุณธรรมมาทำให้เป็นวิถีชีวิต เพราะฉะนั้นก็ต้องนำเข้าไปอยู่ในบทเรียนทั้งในบทเรียนที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งกระทรวงศึกษาฯก็ถือเอาเป็นนโยบายหลัก ในระยะเวลา ๔ เดือนที่ผ่านมา กลยุทธ์ต่างๆก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว เริ่มจะนำออกมาใช้ในโรงเรียน ๓๐,๐๐๐ กว่าโรงเรียนในประเทศไทย
เรื่องที่สามคือการปรับปรุงหลักสูตรในบางเรื่องที่เกี่ยวพันกับนักเรียน อยากให้นักเรียนมีแรงจูงใจในการจะประสบความสำเร็จมากขึ้น เพราะเยาวชนเดี๋ยวนี้ก็ไม่ได้มีความทะเยอทะยาน มีความใฝ่ฝันที่อยากจะประสบความสำเร็จ ใช้ชีวิตสนุกสนานโดยที่ไม่เห็นเป้าหมายระยะยาวของตัวเอง อันนี้เป็นเรื่องสำคัญมากของชาติ ผมรู้สึกว่าตอนนี้เด็กของเราเปราะบาง เนื่องจากว่าคุณพ่อ คุณแม่ มีฐานะดีขึ้นก็ค่อนข้างประคบประหงม เรียกกันว่าเป็น Strawberry Generation เพราะสตรอว์เบอร์รี่นี่มันช้ำง่ายมากเลย มันไม่ทน
สุดท้ายคือหลักสูตรบางหลักสูตรที่ผมอยากเห็นเกิดขึ้น เช่น เรื่องการย่อความ การเขียนภาษาไทย หน้าที่พลเมืองเหมือนที่ผมเคยเรียนตอนเด็กๆวิชาเหล่านี้มันหล่อหลอมคน บางคนอาจจะเห็นเป็นเรื่องเล็กแต่จริงๆแล้ว สำคัญในเรื่องการสื่อสารและการจับประเด็น วิชาเหล่านี้น่าจะมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมากขึ้น
ก่อนหน้านี้อาจารย์เป็นที่รู้จักในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ อาจารย์จะใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ในการบริหารงานกระทรวงศึกษาฯอย่างไรคะ
ก็ไม่มีปัญหานะเพราะผมเองอยู่ในวงการการศึกษามากว่า ๓๐ ปี ก็ติดตามเรื่องเกี่ยวกับการศึกษามาตลอด แล้วก็เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องนโยบายการศึกษามันเกี่ยวพันกับเรื่องเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างมาก คนที่มีความรู้เรื่องเศรษฐศาสตร์ก็สามารถที่จะช่วยในเรื่องการวางแผนกำลังครู การตัดสินใจเกี่ยวกับเรื่องนโยบายได้ เพราะเศรษฐศาสตร์ก็คือศาสตร์แห่งการใช้สิ่งที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์มากที่สุด เพราะฉะนั้นการที่เราจะเลือกใช้งบประมาณ หรือวิธีการเรียนการสอนแบบไหนที่ให้ประสิทธิภาพมากที่สุด มันก็ล้วนเกี่ยวพันกับการตัดสินใจทางเศรษฐกิจทั้งนั้น
รู้สึกหนักใจไหมคะกับการก้าวเข้ามาทำงานการเมือง
ก็ไม่หนักใจนะครับ เพราะผมเคยทำงานเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในรัฐบาล ท่านชวน หลีกภัย เมื่อปี ๔๐ การทำงานการเมืองคราวที่แล้วเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ทำให้ผมเข้าใจเรื่องการเมืองว่าการเมืองเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ระหว่างคนที่อยู่ในการเมืองกับประชาชน ความสัมพันธ์กับบุคคลที่อยู่ในแวดวงการเมืองกันเอง ผมเคยเข้ามา ทำให้ผมเข้าใจเรื่องราวต่างๆเหล่านี้ว่าทำยังไงถึงจะทำให้ประชาชนพอใจเพราะจุดประสงค์ของภาครัฐคือทำให้งานดำเนินไปได้และตรงกับใจประชาชนด้วย การที่เราจะทำให้งานประสบความสำเร็จ ในลักษณะที่เป็นการเมืองต้องทำอย่างไรและจะต้องระวังอะไรบ้าง ประสบการณ์ตอนนั้นทำให้ผมเข้าใจได้ชัดมากเลย ผมมาทำงานที่นี่ผมจึงเข้าใจประเด็นนี้ได้ค่อนข้างเร็ว ถ้าไม่มีครั้งที่แล้วผมก็ต้องเรียนรู้อยู่นานทีเดียวว่าการเมืองคืออะไร
ขอย้อนถามเรื่องราวชีวิตของอาจารย์บ้างนะคะ เริ่มตั้งแต่ในวัยเด็กเลย
ตอนเด็กๆผมไม่ใช่คนเรียนหนังสือเก่งมากมาย แต่ว่าได้โอกาสดีในชีวิต ได้โอกาสจากคุณพ่อ คุณแม่ ครอบครัวผมเป็นครอบครัวข้าราชการ เป็นมาหลายชั่วอายุคน คุณพ่อ คุณแม่ผมก็รับราชการ ผมเรียนที่โรงเรียนเป็นโรงเรียนลูกข้าราชการอีกเหมือนกันคือโรงเรียนราชินี คุณแม่ผมเคยเป็นครูที่นี่มาตั้งแต่เก่าก่อน เรียกได้ว่าผมเป็นคนโชคดีที่เกิดมาในครอบครัวที่ไม่ทำให้ผมลำบาก จากราชินีผมก็มาเรียนต่อที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน สมัยนั้นสาธิตปทุมวันป็นโรงเรียนสมัยใหม่ผมก็เลยได้เห็นการเรียน การสอนสมัยใหม่ ซึ่งผมคิดว่าเป็นช่วงชีวิตสำคัญที่ทำให้ผมมีบุคลิกหรือมีความใฝ่รู้ใฝ่เรียนไปในเชิงค่อนข้างสมัยใหม่กว่าเด็กในวัยเดียวกัน ที่นี่เป็นโรงเรียนที่มีเพื่อนมาจากที่หลากหลาย ผมจำได้ว่าในชั้นหนึ่งของผม มีตั้งแต่ลูกรัฐมนตรี ตั้งแต่ลูกนักการในห้องเดียวกัน แล้วเรารักกันไม่เคยคิดเลยว่าใครเป็นลูกรัฐมนตรี ใครลูกอธิบดี ใครลูกนักการ อันนั้นทำให้ผมได้เห็นชีวิตที่หลากหลาย เป็นความโชคดีของผมอีกที่ผมได้รับโอกาสอย่างนั้น
พอจบสาธิตปทุมวัน ผมก็ไปเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา มีข้อดีว่าการแข่งขันในตอนนั้นมันทำให้เป้าหมายในชีวิตทั้งหลายมันเด่นชัดมากยิ่งขึ้นเพราะว่าทุกคนก็ขยันขันแข็ง หลังจากนั้นผมก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ที่บัญชี จุฬาฯ คือผมตั้งใจว่าอยากจะเรียนเศรษฐศาสตร์
ดร.วรากรณ์และภริยา - มนทิรา สามโกเศศ ในงานฉลองรับปริญญาของวริมน
บุตรสาวซึ่งสำเร็จการ ศึกษาด้าน Multimedia Design
จาก Curtin University of Technology Australia
เรียนเหมือน ท่านอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ เพราะท่านเป็นเพื่อนกับคุณพ่อผม คือคุณพ่อผม (สว่าง สามโกเศศ)เป็นนักเรียนอังกฤษและเป็น ๑ ใน ๓๖ คน ของเสรีไทยสายอังกฤษ ผมก็คุ้นเคยกับอาจารย์ป๋วยมาตั้งแต่เด็ก คุณพ่อผมก็ชื่นชมท่านมาก ผมก็เลยชื่นชมท่านอาจารย์ป๋วยและชื่นชมวิชาเศรษฐศาสตร์ไปด้วย ผมรู้หมดว่าเศรษฐศาสตร์เขาเรียนอะไรกันบ้าง ผมก็เริ่มอ่านหนังสือเศรษฐศาสตร์ตั้งแต่ยังไม่มีการสอนวิชาเศรษฐศาสตร์ในชั้นมัธยมปลาย ผมก็เลือก ๒ แห่ง ก็คือบัญชี จุฬาฯ ซึ่งมีเศรษฐศาสตร์สอนอยู่ด้วย และเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ แต่ทีนี้ผมใช้ชีวิตส่วนใหญ่เอียงอยู่แถวจุฬาฯ ผมก็เลยเลือกไปจุฬาฯ แต่ถ้าจะให้ถูกต้องจริงๆ ถ้าจะเรียนเศรษฐศาสตร์สมัยนั้นก็ต้องไปธรรมศาสตร์ ก็เรียนจุฬาฯอยู่ได้เทอมหนึ่ง ผมก็ไปเรียนต่อที่ออสเตรเลีย ไปเรียนโรงเรียนมัธยมอีกปีหนึ่งที่ Leederville Technical School เพื่อจะได้เข้ามหาวิทยาลัย ก็เป็นโอกาสของชีวิตที่โชคดีอีกเหมือนกัน
ทำไมตอนนั้นถึงได้ไปเรียนต่างประเทศล่ะคะ
คือคุณพ่อผมก็อยากให้โอกาสผม เพราะครอบครัวผมมีความเห็นว่ามรดกไม่ใช่เรื่องสำคัญ สิ่งสำคัญที่สุดคือการศึกษา เราเป็นครอบครัวที่ไม่หรูหราฟู่ฟ่า เราไม่เคยจัดงานวันเกิดกันตามโรงแรม เป็นชีวิตแบบพอเพียงเลย แต่คุณพ่อ คุณแม่ผมก็พร้อมที่จะลงทุนในด้านการศึกษา ผมก็ไปเรียนมัธยมแล้วก็เข้าเรียนที่ The University of Western Australia ผมก็เรียนหนักๆตั้งใจมาก ช่วงนั้นเป็นจุดสำคัญของชีวิตมากเลยคือได้ไปเห็นอีกวัฒนธรรมหนึ่ง แล้วเลยเข้าใจโลกมากยิ่งขึ้นเลย ผมได้เรียนรู้เรื่องของการเคารพสิทธิคนอื่น ความเท่าเทียมระหว่างผู้หญิง ผู้ชาย เข้าใจวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน ได้อ่านหนังสือ ได้มีความรู้ภาษาอังกฤษพอที่จะไปเปิดประตูบานต่างๆได้มากขึ้น ในช่วงเวลานั้นผมก็รับทุนโคลัมโบซึ่งเป็นทุนของรัฐบาลออสเตรเลีย หลังจากเรียนจบผมก็มาเป็นอาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ เข้ามาเป็นอาจารย์ด้วยอุดมการณ์อย่างยิ่งเลยเพราะว่าตลอดเวลาที่เรียนมหาวิทยาลัยก็มุ่งมั่นอย่างเดียวคืออยากจะเป็นอาจารย์มาก ผมเป็นอาจารย์อยู่ ๒ ปี ก็สอบชิงทุนของธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นเงินภาษีอากรของประชาชน ไปเรียนต่อปริญญาโทและปริญญาเอก ไปตั้งแต่ปี ๑๙๗๒ ไปเรียน ๕-๖ ปี เป็นช่วงเวลาที่ตอกย้ำความโชคดีของชีวิตผมอีกเหมือนกัน เพราะว่าทุกอย่างก็เป็นไปตามขั้นตอน และผมก็ได้เห็นอะไรต่างๆที่ทำให้นึกถึงเงินภาษีอากรที่เขาเสียให้ผมมาเรียนตั้งหลายล้านบาท ว่าเขาอาจจะเอาเงินนี้ไปทำอย่างอื่นที่มีประโยชน์ต่อคนอื่นมากกว่านี้ ผมก็มีอุดมการณ์ว่ากลับมาแล้วผมต้องทำงานให้แก่การสอนหนังสืออย่างเต็มที่เลย มันเป็นหนี้ทางใจที่ผมต้องใช้ แม้แต่ในวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของผม ผมจะเขียนไว้เลยว่า มอบให้แก่ตาสี ตาสา เขียนเป็นภาษาอังกฤษเลย บุคคลซึ่งจากภาษีอากรเหล่านี้ทำให้ผมได้มีโอกาสในวันนี้ ยิ่งเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วยิ่งเข้าใจว่าเงินก้อนหนึ่ง เขามีทางเลือกตั้งเยอะตั้งแยะ แทนที่จะเสียให้ผม ๕-๖ ล้านบาท อาจจะไปสร้างโรงพยาบาลดีๆในอำเภอสักแห่งก็ได้ แต่เขาไม่ได้สร้างโรงพยาบาลเหล่านั้น เขาเอาเงินมาลงทุนในตัวผม แล้วถ้าผมไม่ทำให้เกิดประโยชน์จริงๆ มันก็เป็นการลงทุนที่ผิด สู้เอาไปลงทุนสร้างโรงพยาบาล ตาสี ตาสาอาจจะได้ประโยชน์มากกว่า ก็เลยพยายามทำให้คุ้มกับเงินที่เขาเสียไป
ทางเลือกของการประกอบอาชีพมีมากมาย ทำไมถึงเลือกเป็นอาจารย์คะ
ผมเห็นท่านอาจารย์ป๋วย ท่านเข้ามาทำเรื่องการศึกษาที่คณะเศรษฐศาสตร์ตอนปี ๒๕๐๕ ตอนนั้นผมก็อยู่ ม.๔ - ม.๕ อายุประมาณ ๑๕ ก็เลยรู้สึกว่าอาชีพอาจารย์นี่ดีนะ ถ้าไม่ดีท่านอาจารย์ป๋วยก็คงไม่เข้ามาให้ความสนใจ เราก็ดูแล้วว่าเป็นอาชีพที่มีประโยชน์นะ มันสนุก แล้วในโรงเรียนที่ผมเรียน ผมได้มีโอกาสฝึกพูด มีความสามารถในการพูดที่จะทำให้คนอื่นเข้าใจ ก็เลยคิดว่าอาจารย์น่าจะเป็นอาชีพที่ดี พอผมไปอยู่ที่ออสเตรเลีย และอเมริกา ที่ออสเตรเลียผมก็ได้พบครูดีๆหลายคน มันก็เลยให้แรงบันดาลใจผมว่า เออ เป็นครูนี่มันดีอย่างนี้นะ มันทำให้คนอื่นได้ความรู้ มันก็เลยทำให้เราปักใจว่านี่คืออาชีพที่เราต้องการแน่นอน มีเสรีภาพ มีประโยชน์ต่อคนอื่นและที่สำคัญก็คือว่ามันสอดคล้องกับสิ่งที่เรามีอยู่ในตัว ก็เลยไม่คิดจะทำอาชีพอื่นเลย ผมเรียนจบประมาณปี ๒๕๒๐ พอกลับมาทำงานเต็มตัวหลังจากจบปริญญาเอก ก็ปรากฏว่าในปีแรกผมก็ได้ทำงานให้แก่ท่านอธิการบดี ท่านอาจารย์นงเยาว์ ชัยเสรี ทำด้วยกันสักพักหนึ่งท่านก็ชวนผมไปเป็นรองอธิการบดี ตอนนั้นผมอายุยังไม่ ๓๖ เลย ผมก็ตกใจมากเลยว่าท่านจะให้ผมทำงานใหญ่แต่ความจริงผมต้องการจะทำงานวิชาการนะ แต่เอาละ เมื่องานมันท้าทาย เพราะท่านจะให้ผมทำโครงการสร้างแคมปัสที่รังสิต คือพูดกันมานานมากแต่ยังไม่สามารถไปสร้างได้ ตอนที่สร้างแคมปัสที่รังสิต เป็นครั้งแรกที่ธรรมศาสตร์มีสาขาวิทยาศาสตร์ ก่อนหน้านี้มีสายสังคมศาสตร์มาตลอด ผมก็มีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องนี้กับเพื่อน ผมทุ่มเต็มที่เลย แล้วก็ทำได้เสร็จเปิดทันปี ๒๕๒๙ ทันธรรมศาสตร์ครบ ๕๐ ปีพอดี เปิดแคมปัส พอ ๓ ปี ผมก็ลาออกจากตำแหน่ง ผมเรียนท่านอาจารย์นงเยาว์ว่าผมคิดว่าผมพอแล้ว คือผมมีหลักการอยู่ว่าถ้าเราทำอะไรสำเร็จแล้ว เราควรรีบไปก่อนที่คนเขาจะเบื่อเรา
มนทิรา วริมนและ วรท สามโกเศศ เมื่อครั้งสำเร็จการศึกษาปริญญาโท MBA
จาก Cass Business School,
City University of London
หลังจากนั้นผมก็ออกมาเป็นอาจารย์ธรรมดาอยู่ ๒ ปี แล้วก็มีตำแหน่งอันหนึ่งคือ
ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการศึกษาและบริการสังคมคือให้ความรู้แก่คนทั่วไปเป็น ผอ.สำนักนี้อยู่ ๓ ปี ด้วยความท้าทายอาจจะเคยได้ยินอยู่ช่วงหนึ่งในสมัยนั้นที่บอกว่าจบ ป.๔ ก็เรียนธรรมศาสตร์ได้คือต้องการให้คนมีความรู้มากๆ ใครก็ได้มาอบรม จบป.๔ ก็มาอบรมเรื่องธุรกิจ
เรื่องจริยธรรม ความเป็นผู้นำ จิตวิทยา ทีมเราก็ทำงานได้เยอะทีเดียวใน ๓ ปีนั้น
พอครบ ๓ ปี ผมก็ออก ปีต่อมาผมก็ได้รับเลือกเป็นคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ผมก็อยู่ ๓ ปีเหมือนกันกับเพื่อนก็ผลักดันหลายอย่างเหมือนกันในช่วงเวลานั้น
เช่น หลักสูตรภาษาอังกฤษ หลักสูตรปริญญาเอกเศรษฐศาสตร์
วางฐานสำหรับปริญญาโท Business Economics ทีนี้พอผมอยู่ไปเกือบถึงวัย ๕๐ มันก็มีความรู้สึกว่าสอนหนังสือไม่สนุกแล้วคือตลอดเวลานี่ผมทำงานวิชาการด้วย เขียนบทความวิชาการด้วยแล้วก็ทำงานบริหารด้วย ตอนนั้นอยู่ธรรมศาสตร์ครบ ๒๕ ปีแล้ว
ก็รู้สึกว่ามันไม่ค่อยสนุกแล้ว คือรู้สึกว่านักศึกษาไม่ค่อยตั้งใจเรียนเหมือนเมื่อก่อนนี้
เด็กอยากเรียนน้อยลง ผมก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราคงต้องการอะไร
ที่มันตื่นเต้นมากกว่านี้ในชีวิตแล้วนะ ผมก็เลยลาออกไปอยู่ภาคเอกชน
อยากรู้ว่าเอกชนเป็นยังไง ผมไปอยู่ที่บริษัทจัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล
อยู่สองปีกว่า ทำงานในภาคเอกชนก็ดี ได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะแต่ผมก็มาคิดว่า
เอ ชีวิตคนเรามันก็ไม่ยาวเท่าไร ถ้าเราทำงานบริษัทเราก็ทำงานให้คนไม่กี่คนที่ถือหุ้นรวย
แต่ถ้ากลับมาเป็นอาชีพอาจารย์อย่างเก่าเรามีเสรีภาพและมันทำให้คนจำนวนมากรวยได้
ก็เลยคิดว่าจะออกมาเป็นอาจารย์อีกครั้งก็บังเอิญพอดีมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น
คือ คุณชวน หลีกภัย กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่งท่านก็ชวนผมมาทำงานด้วย
ผมก็เลยไปเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีอยู่สามปีเศษๆย้อนเรื่องไปว่าทำไมผมมาทำงานกับท่านก็เพราะว่าระหว่างที่ผมเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์
ผมเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยด้วย
ก็มีโอกาสได้นั่งข้างท่าน ก็เลยรู้จักกับท่านมา
สมัยแรกท่านเป็นนายกฯ ผมเป็นคณบดีท่านก็ชวนให้ผมไปทำงาน ผมก็ไม่ได้ไป
เพราะผมคิดว่าคณบดีมหาวิทยาลัยควรจะต้องเป็นกลางแต่พอท่านมาเป็นฝ่ายค้านสมัยที่ผมอยู่จัสมินผมก็ได้รับใช้ท่านโดยที่ไม่ได้คิดเลยว่าวันหนึ่งท่านจะกลับมาเป็นนายกฯอีกครั้ง
ด้วยความตั้งใจดีว่าอย่างน้อยว่าเราก็มีโอกาสที่จะได้ช่วยชาติทางอ้อม
พอท่านได้กลับมาเป็นนายกฯอย่างไม่คาดฝันผมก็เลยกลับไปทำงานกับท่าน ๓ ปีกว่าในยุควิกฤติเศรษฐกิจเมื่อพ้นจากรัฐบาลชุดนั้นแล้ว
ผมก็มาทำงานที่ธุรกิจบัณฑิตย์จากการชักชวนของ
ท่านอาจารย์ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต ตอนนั้นท่านเป็นนายกสภามหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
ผมก็เลยมาเป็นศาสตราภิชานอยู่ที่ธุรกิจบัณฑิตย์ ๓ ปี
รู้สึกว่าเข้ากันได้ดี ผมก็เลยมาเป็นอธิการบดีสามปีกว่าๆแล้วก็อยู่ด้วยความสุขเพราะทายาทของผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเป็นคนที่เข้าใจเรื่องการศึกษาอย่างดีมาก ผมก็เลยมีความสุขมากที่นี่
แล้วได้ทำงานในภาคที่ยังไม่เคยทำมาก่อนแต่ว่าเป็นการศึกษาเหมือนกันรู้สึกทำได้คล่องตัวมากกว่าเป็นอาจารย์หรือเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยของรัฐ
หลายคนมองว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่ยาก เรียนถามอาจารย์ว่าเราจะนำหลักวิชาเศรษฐศาสตร์มาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร
วิชาเศรษฐศาสตร์ไม่เคยเป็นวิชาที่ฮิตเท่าเทียมกับหมอ หรือวิศวฯ ในต่างประเทศก็เช่นเดียวกันเพราะคนไม่เข้าใจว่ามันคือวิชาอะไร คนเดี๋ยวนี้ก็ยังไม่เข้าใจว่ามันคืออะไร รู้แต่ว่ามันทำได้หลายอย่าง แต่มันจับต้องไม่ได้ ไม่มีรูปธรรมแต่ก็เป็นศาสตร์ที่ได้รับการชื่นชม เรียนกันมากโดยเฉพาะในพวกมหาเศรษฐีในโลกตะวันตก เขาจะให้ลูกเขาเรียนวิชาเศรษฐศาสตร์เป็นปริญญาแรก แล้วก็ให้เรียนเอ็มบีเอทีหลัง ในคณะรัฐมนตรีของสิงคโปร์มีนักเศรษฐศาสตร์เกินกว่าครึ่งหนึ่งมั้ง แล้วก็ใช้วิธีการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการทางออกทางเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างเยอะ เช่น การควบคุมการจราจร ก็ใช้เศรษฐศาสตร์ ใครจะเข้าไปในเมืองในเวลาเร่งด่วน จะต้องซื้อตั๋วเข้าไป คนจะต้องตัดสินใจว่ามันคุ้มกันไหมกับการที่เราจะเข้าเมืองในเวลาเร่งด่วน ถ้าไม่เร่งด่วนก็รอให้พ้นเวลาก่อน ก็ทำให้การจราจรไม่ติดขัด นี่คือความคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์ที่เข้ามาแก้ไขปัญหาจราจร แต่ว่ามันไม่สามารถจะจับต้องได้ ก็เลยเป็นวิชาที่คนไม่นิยมเรียนกัน ปัจจุบันก็ยังไม่ค่อยนิยมนะ ทั้งที่วิชาเศรษฐศาสตร์นี่เป็นเพชรเม็ดงามของวิชาในสายสังคมศาสตร์ แต่เศรษฐศาสตร์ก็เป็นศาสตร์ที่อื้อฉาว เพราะว่ามันเป็นเรื่องของการใช้นโยบายที่มีคนได้และเสียตลอดเวลา เช่น เรื่องการกระจายรายได้ ถ้าเราให้ความสนใจเรื่องการกระจายรายได้จริงๆ เราก็ต้องหันมาให้ความสนใจในเรื่องการเกษตรอย่างเต็มที่เลย เพราะว่าคนที่ยากไร้ในภาคเกษตรเยอะแยะ แต่มันก็ทำให้คนในเมืองสูญเสียประโยชน์ ไม่ว่าตัดสินใจทางไหน มันจะมีคนได้คนเสีย จึงเป็นศาสตร์ที่อื้อฉาว ปัจจุบันก็ยังอื้อฉาวไม่จบ ที่จริงแล้วเศรษฐศาสตร์สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เพราะว่าทุกคนต้องเผชิญกับคำถามเศรษฐศาสตร์ทุกเช้าว่าวันนี้เราจะทำอะไร เรามีทางเลือกหลายอย่าง นอนอยู่กับบ้าน ไปทำงาน ทุกทางเลือกมันมีผลที่ตามมาทั้งสิ้น คนที่ทำงานก็เหมือนกัน เลือกอาชีพหนึ่ง มันก็มีต้นทุนเพราะเราไม่สามารถที่จะเลือกอาชีพอื่นได้ ถ้าเวลาที่เราอยู่ในอาชีพนั้นเป็นเวลาที่มันก่อคุณค่าให้กับเรา ก็เรียกว่าเราตัดสินใจถูกต้องแต่ถ้าเผื่อเราไปอยู่ในอาชีพที่มันไม่ได้ให้คุณค่าอะไรแก่เราเลย เราเสียโอกาสที่จะไปอยู่ในอาชีพอื่นที่อาจจะให้คุณค่ามากกว่า เพราะฉะนั้นทุกการตัดสินใจมันมีต้นทุนที่แอบแฝงอยู่ทั้งนั้น อย่างที่เขาบอกว่า เรามีเสรีภาพในการเลือกแต่การเลือกของเราในวันนี้จะมีผลกระทบต่อวันพรุ่งนี้ ผมบอกนักศึกษาของผมเสมอเลยว่าทุกคนมีเสรีภาพ เลือกอะไรก็ได้ เลือกจะขยันก็ได้ เลือกจะขี้เกียจก็ได้ แต่ต้องยอมรับนะว่าผลมันจะต้องเกิดขึ้นจากการตัดสินใจนั้นๆ คุณต้องรับผิดชอบต่อผลนั้นเอง เพราะฉะนั้นถ้าคนขยันขันแข็ง ผลที่ได้คือคุณก็จะมีความรู้แล้วก็ไปเรียนต่อได้ ได้งานที่ดี แต่ถ้าจะอยู่สบายๆ มันก็มีความสุขตอนนี้ แต่มันมีราคาที่ต้องจ่ายในวันข้างหน้า เงินก็เหมือนกัน ถ้าเรายังอยู่ในวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน เราใช้เงินไปกับการบริโภคอะไรมากมายแล้วก็เหลือเงินออมน้อย เราก็ต้องยอมรับว่าเวลาที่พ้นวัยเกษียณไปแล้วนี่ เราก็มีเงินไม่มากเท่าไรแล้ว แต่ถ้าเรายอมในตอนที่เรามีเงินเยอะๆ กัดก้อนเกลือผ่อนส่งบ้าน ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์หรือหุ้น พอเราเกษียณอายุไปแล้วเราก็เก็บเกี่ยวเอาการตัดสินใจที่เราได้ทำไว้ตั้งแต่สมัยหนุ่มสาว อันนี้เป็นเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในชีวิตประจำวันและมันเป็นเรื่องจริง โดยเฉพาะเรื่องเงินในปัจจุบันนี้ ศิลปะการใช้เงินมันเป็นเรื่องไม่มีใครสอนและมันเป็นบทเรียนที่เจ็บปวดถ้าผิดพลาด คนที่ใช้บัตรเครดิตมากทุกวันนี้เราคิดถึงปัจจุบันแต่ไม่ได้คิดถึงอนาคต ดอกเบี้ยแพงๆ อยากได้ของอันนี้ มันตามมาทิ่มแทงเราวันข้างหน้า เพราะว่าสิ่งที่เราทำวันนี้มันก็ทำให้เรามีความสุขวันนี้แต่ว่าเราไม่ได้มีเงินออมที่จะไปซื้อคอนโดฯ สำหรับให้คนเช่าเวลาที่เราเกษียณอายุไปแล้วเราจะได้ไม่ต้องออกแรงทำงาน หรือซื้อหุ้นดีๆ หรือลงทุนด้านการศึกษาของลูก เพราะฉะนั้นทุกอย่างมันเป็นการเลือกหมด และจะมีผลที่เกิดตามมาจากการเลือกของเราทั้งนั้น ถ้าคนเห็นตรงนี้ก็จะเข้าใจ เอาละ วันนี้เรายอมอดออมนะ มีการวางแผนชีวิต ไม่ใช้จ่ายตามใจชอบ มันไม่สนุกสนานเหมือนคนอื่นหรอก แต่ว่าจนเพื่อรวยในวันข้างหน้าในขณะที่บางคนอาจจะรวยเพื่อจนในวันข้างหน้า อันหนึ่งที่ผมได้ทำร่วมกับเพื่อนๆที่เศรษฐศาสตร์ก็คือ เราเห็นว่าคนอื่นที่ไม่ได้อยู่ในสาขาเศรษฐศาสตร์ ต้องเรียนเศรษฐศาสตร์กันทุกคน ๑ วิชา ผมว่าคุณก็เรียน เรียนด้วยความช้ำใจ เพราะไม่รู้เรื่องเลย มีแต่เส้น มีแต่คณิตศาสตร์ ผมบอกว่ามันไม่มีประโยชน์เลย เราควรจะสอนเศรษฐศาสตร์แบบที่สามารถจะเอาติดตัวไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ก็มีการยกเครื่องในวิชานี้ด้วยแล้วบังเอิญในหลายปีที่ผ่านมาผมก็ได้เขียนหนังสือ (โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี) ไว้ด้วย ในเชิงเศรษฐศาสตร์สำหรับประชาชน แล้วก็เขียนในหนังสือพิมพ์มานานพอสมควร ก็เลยเอาบางส่วนที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ในนั้นมาเป็นหนังสืออ่านประกอบให้นักศึกษา พยายามปรับปรุงให้เป็นเศรษฐศาสตร์สำหรับคนที่ไม่ได้เรียนเมเจอร์เศรษฐศาสตร์ อยากให้วิชาเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่คนสามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริงๆ ไม่มีความรู้สึกที่เป็นลบกับมัน เพราะว่าหลายคนมีความรู้สึกว่าเรียนมาแล้วก็ไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมาเลย อันนี้เป็นสิ่งที่เราได้ทำและน่าจะเป็นประโยชน์ คือเข้าใจเรื่องการเลือกว่าการเลือกสำคัญอย่างไร มันจะได้อย่างแล้วก็เสียหลายอย่าง อะไรบ้าง คุณต้องตัดสินใจได้ เรื่องการเลือกนี่มันเป็นเศรษฐศาสตร์ชัดๆเลย คุณจบปริญญาตรีวันนี้คุณจะเรียนปริญญาโท คุณเลือกสาขาอะไรคุณต้องดูว่าเงินที่คุณเสียไปมันคุ้มกับผลตอบแทนที่คุณได้รับในระยะยาวหรือเปล่า คุณจะได้ตัดสินใจเรียนสาขาที่มันถูกต้อง สอดคล้องกับสาขาอาชีพ กับความฝันของคุณแต่ถ้าเลือกโดยที่ไม่เข้าใจ หรือใช้เงินโดยไม่มีศิลปะ ไม่เข้าใจหลักเศรษฐศาสตร์มันก็เจ็บปวด ต้องเข้าใจว่าเงินนี่ มันเป็นได้ทั้งมิตรและศัตรูของคุณ เวลาที่เราออมมันได้ เราเอาไปฝากในธนาคาร เราไปซื้อหุ้น เราเอาไปลงทุน เงินนี่มันงอกตลอดเวลา มันเป็นมิตรกับเรา แต่ถ้าเราไปกู้มามันเป็นศัตรูกับเราแล้ว เพราะเราต้องจ่ายดอกเบี้ย เราหลับ เราตื่น มันเหมือนหอกที่แทงเราตลอดเวลา ทีนี้การเป็นศัตรูกับเงินนี่มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะต้องเป็น ถ้าจะมีบ้านเราจำเป็นต้องกู้มาแต่ถามว่าไอ้เงินที่เรากู้มานี่เรามาซื้อบ้านที่มันสมฐานะกับที่เราจะจ่ายได้หรือเปล่า หรือถ้ากู้เงินมาต้องถามตัวเองว่ากู้มาเพื่ออะไร กู้มาซื้อของที่มันมีมูลค่าเพิ่มขึ้นหรือซื้อของที่มีมูลค่าลดต่ำลง เช่น รูดการ์ดเพื่อซื้อโฮมเธียเตอร์ อันนี้มันไม่ใช่การตัดสินใจที่ถูก เพราะว่าโฮมเธียเตอร์ทันทีที่ซื้อมาราคาก็ลดลงทุกวันๆ ถ้าเราเข้าใจเรื่องอย่างนี้เราจะตัดสินใจเรื่องการใช้เงินได้ถูกต้อง แล้วเราก็จะมีทั้งความสุขในตอนนี้ตามอัตภาพของเรา ขณะเดียวกันเราก็มีอนาคตข้างหน้าที่เราจะออมเงินไว้สำหรับลงทุนในวันข้างหน้า แล้วเราก็ไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องเงินด้วย นี่แหละคือเศรษฐศาสตร์ง่ายๆในชีวิตประจำวัน
เดิมเราไม่ค่อยมีการพูดถึงเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่จะเอามาใช้ได้ อาจารย์เป็นคนแรกๆที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้หรือเปล่าคะ
ผมว่ามีคนพยายามทำเยอะ อย่างคุณซูม ในไทยรัฐก็พยายามทำ หลายคนที่ทำก่อนหน้าผม แต่เผอิญผมมีคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์ ก็เลยทำให้บีบบังคับให้ต้องเขียนทุกอาทิตย์ ต้องคิดแล้วก็เขียนออกมาก็เลยทำให้มีงานด้านนี้ออกมามากหน่อย
อาจารย์เริ่มเขียนเมื่อไรคะ
ผมเขียนนานแล้วนะ ตอนแรกเขียนแบบสะเปะสะปะไปเรื่อย แล้วก็มาเป็นเรื่องเป็นราวจริงจังในหนังสือแนวหน้าสุดสัปดาห์ก่อนช่วงพฤษภาทมิฬ ก็เขียนมาเรื่อยจนมีคนมาชวนไปเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ จากนั้นก็ชวนให้เขียนประจำในวันพฤหัสของมติชนรายวัน ก็เลยเขียนต่อเนื่องมาไม่ต่ำกว่า ๑๓ ปีแล้ว ผมก็เลยโชคดีอีกครั้งหนึ่งที่มีโอกาสที่จะนำเสนอความคิดของตัวเอง มีคนอ่านเป็นประจำและทำให้ผมมีผลงานเป็นหนังสือออกมาหลายเล่ม
มีเคล็ดลับอย่างไรบ้างคะในการเขียนอธิบายวิชาเศรษฐศาสตร์ให้เข้าใจง่าย
ผมพยายามทำตัวเหมือนผมเป็นคนอื่นที่ไม่เข้าใจอะไรเลย แล้วเวลาผมเขียนไปแล้วสักย่อหน้าหนึ่งผมก็กลับมาถามตัวเองเสมอว่าถ้าผมไม่รู้อะไรเลยผมอ่านย่อหน้านี้เข้าใจหรือเปล่า ผมจะเช็คอย่างนี้ตลอดเวลา พอเขียนจบแล้วผมจะมาทวนอีกหนหนึ่งว่าถ้าเราเป็นคนอ่านที่ไม่รู้เลย เราอ่านรู้เรื่องไหมที่เขียนไปนี่ ถ้าอ่านไม่รู้เรื่องผมก็แก้ นี่คือเคล็ดลับของผม ผมอาจจะโชคดีอีกอย่างหนึ่งที่หัวไม่โต คือคนหัวโตนี่มีเยอะมากในสังคมเรา คือคิดว่าตัวเองเก่ง ตัวเองยอดเยี่ยม แต่ผมเป็นคนที่คิดว่าตัวเองมีความสามารถระดับหนึ่ง แต่ว่าผมอาศัยความบากบั่นมานะ ผมหัวไม่โต ผมก็คิดแบบคนธรรมดาที่ไม่รู้อะไรเลยได้ แต่ถ้าผมคิดว่าผมหัวโตแล้วก็อาจจะคิดว่าผมเขียนอะไรไปคนก็ต้องเข้าใจหมด แต่ผมไม่ใช่อย่างนั้น ก็ทำให้ผมได้เปรียบตรงนี้
ทราบว่าอาจารย์มีแนวคิดเกี่ยวกับการมีความสุขได้โดยไม่ต้องใช้เงิน ซึ่งสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาก แนวคิดตรงนี้เกิดขึ้นอย่างไร
ผมเป็นนักสังเกตนะ ผมโชคดีที่ได้เข้าไปอยู่ในวัฒนธรรมอื่นในสมัยที่ผมอายุเพียง ๑๗-๑๘ คำถามหนึ่งที่ผมช็อกมากตอนนั้นก็คือทำไมบ้านเรามันไม่เหมือนกัน ผมเห็นอาจารย์มหาวิทยาลัยระดับรองอธิการบดียืนล้างชามที่บ้าน ทำไมมันแตกต่างกับเมืองไทยมาก มันก็เลยกระตุ้นให้ผมคิดนะว่ามันคงมีอะไรบางอย่างมั้ง ทำให้ผมเป็นคนช่างสังเกต อย่างเรื่องเงินนี่ ผมก็สังเกตว่าเวลาที่คนเราทำงานมักจะมุ่งไปที่เรื่องของเงินเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุค ๑๐-๑๕ ปีที่ผ่านมานี้ คนหลายคนมีเงินแต่ก็หาความสุขไม่ได้ มีทองคำในมือแต่หาความสุขจากทองคำในมือไม่ได้เพราะฉะนั้นความสุขมันไม่น่าจะใช่ตรงนี้ เงินมันน่าจะเป็นตัวกลางของความสุขมากกว่านะเพราะคนที่ไม่มีเงินจำนวนมากผมก็เห็นมีความสุข มีคนต่างจังหวัดเยอะแยะ หน้าตาสดใสสดชื่นทั้งๆที่มีเงินไม่เท่าไรหรอกแต่เขามีความสุขเพราะเขามีความมั่นคงในชีวิต และมีความสุขทางใจอันเกิดจากเรื่องทางศาสนาหรือครอบครัว ผมก็สังเกตว่าเงินมันไม่น่าจะใช่คำตอบของความสุข แล้วผมก็อ่านหนังสือเกี่ยวกับพวกปรัชญาบ้างก็มีความเห็นว่าเงินมันเป็นเพียงสะพานไปสู่ความสุขเท่านั้นเอง แต่คนบางคนก็เข้าใจผิดว่าสะพานตัวนี้แหละคือเป้าหมายของชีวิต เพราะฉะนั้นก็มองหาแต่สะพานตลอดชีวิต ก็เลยอยากจะสื่อความเข้าใจตรงนี้ ซึ่งผมเข้าใจว่ามีคนที่คิดแบบผมนี่เยอะมากเลย แต่เขาไม่มีโอกาสจะมานำเสนอ ผมก็เลยเขียนในหนังสือว่าคนเรานี่หาความสุขได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องมีเงิน มีครอบครัวที่อบอุ่นก็ไม่ใช่ว่าต้องใช้เงินถึงจะมี ควรพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ มีโทรทัศน์เครื่องเล็กก็มีความสุข ก็ดูได้แต่ถ้าเรามีความทุกข์เพราะสิ่งที่เรายังไม่มี เช่น คิดว่าเราจะมีความสุขต่อเมื่อเรามีโฮมเธียเตอร์ ตราบใดที่เรามีโทรทัศน์เครื่องเล็กนี่ ความสุขมันก็ไม่เกิดเลย อย่างนี้ผมว่าไม่ค่อยฉลาดเท่าไรนะ เราก็ต้องหาความสุขจากสิ่งที่เรามี ดีกว่ามีความทุกข์กับสิ่งที่เรายังไม่มี มันก็เลยทำให้ยิ่งเชื่อมั่นยิ่งขึ้น และผมเองก็เชื่อมั่นมาตลอดชีวิต ผมก็เห็นคุณพ่อ คุณแม่ผม ซึ่งไม่ได้ใช้ชีวิตแบบหรูหราฟู่ฟ่า เพื่อนๆคุณพ่อ คุณแม่ผมก็แบบเดียวกัน อย่างท่านอาจารย์ป๋วยนี่ ผมจะเล่าให้ฟัง ผมไปที่บ้านท่านเป็นประจำ บ้านของท่านเป็นบ้านไม้ชั้นเดียวอยู่ที่ซอยอารีย์ เดี๋ยวนี้ก็ยังอยู่ ห้องนอนก็เป็นไม้ธรรมดา พื้นห้องกินข้าวก็เป็นไม้ธรรมดา ไม้ทาสีแบบธรรมดาหลังเล็กๆ ผมเห็นท่านก็มีความสุข ท่านก็ประสบความสำเร็จในชีวิต สิ่งเหล่านี้มันซึมเข้าไปในชีวิตผมเหมือนกันนะ ผมเห็นคนบ้านใหญ่ๆ ผมก็ไม่อิจฉานะ เขาคงเหนื่อยเหมือนกันนะ ไหนจะต้องดูแลบ้าน แล้วบ้านหลังใหญ่นี่มันก็ทำให้เงินจมอยู่ เงินที่ควรจะเอาไปลงทุนในส่วนอื่นได้มันก็ต้องมาจมอยู่ในบ้านหลังใหญ่ อาจจะเป็นเพราะความคิดแบบนี้ทำให้ผมพยายามอยากจะสื่อออกมาซึ่งมันก็ไปสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เลยยิ่งทำให้ผมมั่นใจยิ่งขึ้นว่าสิ่งที่ผมเคยเชื่อมานี่มันต้องถูกต้อง แล้วยิ่งในยามที่เศรษฐกิจพลิกผันนี่นะ มันยิ่งเป็นจริงแน่นอน และผมคิดว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ท่านทรงมองไปไกล เศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้หมายความว่าให้เราจนอยู่อย่างนั้น ไม่ใช่ แต่ทำให้เรารอบคอบในการตัดสินใจ จะลงทุนอะไรก็คิดดูให้รอบคอบ พยายามสร้างอะไรที่เราพึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องยืมจมูกคนอื่นหายใจ ผมคิดว่าแนวคิดนี้เป็นฐานสำหรับ ๑๕ ปีข้างหน้าได้อย่างดีมาก ถ้าถึงตอนนั้น ผมมั่นใจว่าถ้าเราไม่ทำอะไรจาก ๑๕ ปีนี้ อย่างมากในเรื่องการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ผมเชื่อว่าถึงวันนั้นเศรษฐกิจพอเพียงจะเป็นตัวที่ทำให้เราอยู่กันได้อย่างมีความสุขในสังคม และระหว่าง ๑๕ ปีนี้ เศรษฐกิจพอเพียงซึ่งไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียวแต่เป็นทุกอย่างในชีวิต มันก็จะทำให้เรามีความสุข ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่เราสามารถเอามาใช้ได้ทุกคน แล้วก็คนจะรู้สึกเพียงพอในชีวิตก็ต่อเมื่อมีความรู้สึกว่าพอเพียงคืออะไร เศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร แต่ถ้าไม่รู้จักคำว่าพอเพียงนะจะไม่มีวันเพียงพอเลย เพราะเท่าไรก็ไม่มีเพียงพอเลย ๑๐๐ ล้าน ๓๐๐ ล้าน ก็ไม่มีวันเพียงพอ แต่ถ้าเรารู้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงคืออย่างนี้นะ เรามี ๕๐ บาท เราอยู่ได้ มีแสนสองแสนเราก็อยู่ได้ เราก็ปรับความสุขเราตามฐานะของเราที่มี แต่ถ้าทุกคนไปมุ่งสู่ ๑๐๐ ล้านทุกคนมันก็เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นผมคิดว่าความสุขมันไม่ใช่เงินหรอก แต่แน่นอนว่ามีเงินมันย่อมจะนำไปสู่ความสุข ถ้าเรารู้จักใช้เงินของเรา แต่มันไม่ใช่ปัจจัยที่จำเป็นและสำคัญตัวเดียวที่จะทำให้เรามีความสุขได้ เงินเป็นเพียงสิ่งที่จะนำเราไปสู่ความสุขแต่มันไม่ได้การันตีได้ว่าเราจะมีความสุขได้ คนต่างชาติอาจจะเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงว่าเป็นการถอยหลังเข้าคลอง นี่เป็นสิ่งที่ต้องชี้แจงมาก แล้วคนก็อยากจะเชื่อในสิ่งที่ตัวเองอยากจะเชื่อ ผมเองเมื่อก่อนนี้ สารภาพว่าผมก็เคยคิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงสอดคล้องกับเศรษฐกิจสมัยใหม่ไม่ได้ แต่พอผมศึกษามาประมาณ ๖ ปี ผมอ่านแล้วคิดดู ไตร่ตรองดูสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต รวมทั้งประสบการณ์ของผม ผมเห็นชัดเจนเลยว่าทางรอดของประเทศไทยในระยะยาวมันต้องอยู่ในหมวดการคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง ในเรื่องของความระมัดระวัง ทางสายกลาง ไม่สุดโต่ง พิจารณาอย่างรอบคอบ อย่างวิกฤตเศรษฐกิจปี ๔๐ มันเกิดขึ้นจากการที่เราไม่ระวัง กู้เงินจากต่างชาติกันมากเพราะดอกเบี้ยถูกแต่เวลาที่เราไปกู้ยืมเงินมาผ่อนบ้าน ผ่อนรถยนต์ ลงทุนโรงงานอุตสาหกรรม ของเหล่านี้มันไม่ใช่ของเรา มันเป็นของแบงก์หมด เราผ่อนครบเมื่อไรถึงเป็นของเรา เราก็ภูมิใจมาก มีบ้านมีรถ มีโรงงานอุตสาหกรรมแต่ขอโทษเถอะ ถ้ามันสะดุดเมื่อไรนะในเรื่องหารายได้ ไปหมด เพราะมันไม่ใช่ของคุณ ทีนี้พอเรารู้ว่ามันไม่ใช่ของเรานะ ระหว่าง ๑๐-๑๕ ปีมันไม่ใช่ของเรานะ เราต้องดำเนินชีวิตด้วยความรอบคอบ ชีวิตมันเปราะบางมาก มันต้องเดินด้วยความระวังมาก อย่าไปเสียเงินในเรื่องที่ไม่ควรเสีย เราต้องใช้เงินอย่างระวัง มีแผนการณ์ แต่ถ้าไม่ตระหนักอย่างนี้มันก็โลดโผน มีเท่าไรก็ใส่หมด
อยากจะขอคำแนะนำอาจารย์เกี่ยวกับการออมให้ได้ผลค่ะ
ผมพูดตลอดว่าถ้าคุณทำงานได้ อย่างแรกที่คุณควรทำคือผ่อนบ้าน การผ่อนบ้านเป็นการออมอย่างหนึ่งและเป็นสิ่งแรกที่ควรออม รถยนต์ไม่ใช่สิ่งสำคัญเลย การผ่อนบ้านทำให้คุณมีบ้านอยู่โดยไม่ต้องจ่ายค่าเช่า ค่าเช่าของคุณคือค่าผ่อนธนาคาร แต่ถ้าคุณเริ่มชีวิตคุณด้วยการซื้อรถ บ้านทีหลัง รถยนต์ซื้อวันนี้ขายพรุ่งนี้หายไปแล้ว ๑๐ เปอร์เซ็นต์ รถมีแต่มูลค่าลดลงไม่มีเพิ่มขึ้น แต่บ้านส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา บางทีผ่อนจบแล้ว มูลค่าที่ได้มากกว่าดอกเบี้ยกับเงินที่คุณผ่อนด้วย ถ้าเลือกทำเลที่ดีนะ บ้านนี่มันได้สองด้านนะ ได้ทั้งการออมและได้ทั้งบ้านที่อยู่อาศัยฟรีๆ อย่าลืมนะ มันมีมูลค่าที่ไม่ใช่ตัวเงินอีกนะ ถ้าแม้เราไม่มีบ้าน เราก็ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน แต่เนื่องจากเรามีบ้าน เราถึงไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน เราออมเงินสามพันบาทที่เราควรจะต้องจ่ายเป็นค่าเช่าบ้าน เป็นของเราเองที่เราจะไปทำอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นบ้านเป็นของที่ให้มูลค่าที่เรามองไม่เห็น ผมถึงเชียร์ไง ต้องมีบ้าน รถยนต์อย่าไปสนใจ ผมคิดว่าการลงทุนอสังหาริมทรัพย์เป็นการลงทุนที่ดี เพราะว่ามันเป็นรายได้ เป็นเงินที่รับใช้เรา เวลาที่พ้นวัยทำงานไปแล้ว หรือแม้แต่ร่างกายแข็งแรงเราก็มีรายได้อีกทางหนึ่งที่มาจากการที่ไม่ต้องออกแรงทำงาน ถ้าเราต้องออกแรงทำงานแล้วได้เงินมาตลอดเวลา มันเหนื่อย กว่าจะได้มาแต่ละบาท คุณก็รู้ว่ามันลำบากยากเย็น แต่ถ้าเรามีทรัพย์สินที่ทำงานให้กับเรา เช่น บ้านเช่าที่มีคนเช่าแน่นอน เราไม่ไปทำงานเราก็มีเงินใช้ และถ้าเรามีรายได้จากการที่ไม่ต้องออกแรงเท่ากับรายได้ที่เราต้องออกแรง ถ้าเท่ากันเมื่อไรแสดงว่าตอนนั้นคุณรวยแล้ว คุณนอนอยู่กับบ้านคุณก็ไม่อดตายแล้วละ คุณมีทรัพย์สิน คุณทำงานก็เท่ากับได้ตังค์เพิ่ม หลักสำคัญของชีวิตคือให้เงินทำงานรับใช้เรา ไม่ใช่เราทำงานรับใช้เงิน ถ้าเรามีเงินแล้วเราใช้ตลอดเวลา เราทำงานรับใช้เงิน แล้วถ้าเรากู้ตลอดเวลานี่ เราทำงานให้คนอื่น ผมมีเพื่อนคนหนึ่งเป็นหมอที่มีชื่อเสียงแต่ว่ากู้เงินธนาคารมาเยอะ ปลูกบ้านหลังเบ้อเริ่มเลย มีรถยนต์ นั่งคำนวณดูหกวันครึ่งทำงาน ทำให้แบงก์ ๓ วัน วันหนึ่งเขาบอกว่า เฮ้ย ถ้าอั๊วขายบ้านนะ เพราะว่าบ้านก็ไม่ได้อยู่ ให้คนใช้อยู่ ตัวเองอยู่คืนละ ๔- ๕ ชั่วโมง มีลูก ๒ คน ภรรยา เจอหน้ากันไม่กี่ชั่วโมง บ้านหลังเบ้อเริ่ม กินข้าวกันอยู่ในห้องครัวแค่นี้ ห้องรับแขกเอาผ้าคลุมไว้ เอาไว้โชว์ ปีหนึ่งมีคนมาหนหนึ่ง รถยนต์มี ๒ คัน รถหรู คลุมผ้าไม่ได้ใช้ ใช้แต่รถญี่ปุ่น มาคำนวณดู ถ้ามันขายบ้าน ขายรถ มันล้างหนี้หมดเลย มันขายหมดเลย แล้วมันโทร.มาบอกผม ไปอยู่บ้านหลังเล็ก มันมีความสุขมากเลย อยู่กับครอบครัวอาทิตย์ละ ๕ วัน ทั้ง ๕ วัน ทำงานให้ตัวเอง ไม่มีหนี้เลยครับ ตีกอล์ฟ ๒ วัน เมื่อก่อนทำงานหกวันครึ่ง เขาบอกมาคิดได้เมื่อตอน ๕๐ กว่า ถ้าคิดได้ตั้งแต่ตอน ๔๐ ป่านนี้ชีวิตมีความสุขมาก แต่ยังดีที่คิดทัน มันเรื่องจริง คุณจะมีบ้านใหญ่ทำไมในเมื่อคุณไม่ได้ใช้มัน ทำงานงกๆผ่อนส่งบ้านให้ไอ้ของที่เราไม่ได้ใช้ อย่างบ้านเราเห็นไหม ห้องรับแขก ปีหนึ่งมีแขกมากี่คน ปีหนึ่งมีแขกมา ๓ คน พื้นที่ ๑๕ ตารางเมตรสำหรับคน ๓ คน ที่มาเยี่ยมบ้านเราปีละหน
แล้วรูปแบบการใช้ชีวิตและการบริหารเงินของอาจารย์ล่ะคะ เป็นอย่างไร
คือผมโชคดีที่ภรรยาเป็นคนที่คิดแบบเดียวกับผม เป็นคนที่มีค่านิยมเหมือนกัน ผมแต่งงานมา ๓๓ ปีแล้ว มีลูก ๒ คน ลูกก็คิดแบบเดียวกัน ลูกผมมีผู้ชายคน ผู้หญิงคน ลูกชายอายุ ๒๘ ผู้หญิงอายุ ๒๔ คิดแบบเดียวกับผมเหมือนกัน บ้านผมก็อยู่มาตั้งแต่ผมแต่งงาน เป็นบ้านที่อยู่สบาย ไม่หรูหราแต่ผมมีความสุขน่ะ เพราะว่าสิ่งที่มีความสุขมันไม่ได้เกิดจากว่าผมจะต้องมีห้อง ๑๐ ตารางเมตร มีจากุชชี่ มีประโยชน์อะไรถ้าครอบครัวไม่มีความสุข บ้านใหญ่กว่านั้นก็ไม่มีความสุข แต่ว่าผมลงทุนในด้านอสังหาริมทรัพย์ รถยนต์ผมก็ใช้รถญี่ปุ่นมาตลอดชีวิต ผมมีรถยุโรปใช้ก็ตอนที่ทำงานเป็นรองเลขาธิการนายกฯ เป็นรถหลวง แต่ปกติผมใช้รถญี่ปุ่นนี่แหละ ไม่ไปผ่อนรถราคา ๓ ล้าน ผมก็ซื้อรถญี่ปุ่นมือสองราคาสี่แสนห้า ใช้ไป ๓ ปีขายไปสี่แสน คุ้มเป็นบ้าเลย แล้วผมก็มีเงินเก็บที่จะไปลงทุนอย่างอื่น ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือการศึกษา ลูกผม ผมให้เขามีโอกาสเหมือนที่พ่อให้โอกาสผม ลูกผมก็ไปเรียนต่างประเทศตั้งแต่มัธยม แล้วเขาก็เรียนจบปริญญาตรีคนหนึ่ง ปริญญาโทคนหนึ่ง ถึงผมไม่มีอะไรให้เขาเลย เขาก็อยู่ได้ด้วยตัวเขาเอง แล้วเขาก็มีชีวิตแบบที่ผมมี ลูกผมตอนเด็กๆ เวลาเราคุยกันถึงใครสักคน เช่น นักการเมือง เขาจะไม่เคยถามเลยว่า พ่อ คนนี้รวยไหม แต่จะถามว่าพ่อ คนนี้ดีไหม ผมภูมิใจมากเลยนะ แสดงว่าผมก็ประสบความสำเร็จพอสมควรนะ และผมว่าก็ผมก็มีความสุขกับชีวิตนะ ผมพอใจในสิ่งที่ผมมีอยู่และผมก็เป็นคนที่ไม่เคยจำได้ว่าใครทำอะไรให้ผมในด้านลบ ผมไม่เคยคุมแค้นใครเลย ผมขี้ลืมมากเลย ไม่เคยจำ ชีวิตมันไม่ยาว เล็กๆน้อยๆเราก็ยอมกันไป
อาจารย์บอกว่าชีวิตอาจารย์โชคดีมาตลอด เคยมีโชคร้ายบ้างไหมคะ
มันอาจจะมีโชคร้ายแต่ผมคิดว่ามันเป็นโชคดีนะ มันก็มีผิดหวังซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาของชีวิต แต่บางทีโชคร้ายมันเป็นโชคดีนะ ผมเองเคยเจอการตัดสินใจในชีวิตที่สำคัญหลายครั้ง และโชคดีที่ตัดสินใจถูกมาตลอด อย่างเช่นตอนที่ผมมาเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ผมเกือบไปทำงานเวิลด์แบงก์ของประเทศไทย ขนาดตัวไดเร็คเตอร์ตกลงกับผมเรียบร้อยแล้วนะ พรุ่งนี้ไปคุยกันเลย บังเอิญผมทำงานกับอ.นงเยาว์ อาจารย์ทาบทามผมให้ไปเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผน ผมก็ไปนอนคิด ๑ คืน ถ้าผมไปเส้นทางนั้นชีวิตผมก็คงไปทางนั้น แต่ผมก็คงไม่ได้ทำตามที่ผมอยากจะเป็นในเรื่องการศึกษา ผมก็เลือกเส้นทางอาจารย์นงเยาว์ ท่านเป็นคนที่มีพระคุณกับผม ให้โอกาสผมได้แสดงฝีมือ เมื่อผมได้แสดงฝีมือแล้วผมก็ได้รับการยอมรับในคณะเศรษฐศาสตร์ซึ่งการเป็นคณบดีไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะอาจารย์ต้องลงคะแนน อาจารย์ ๗๐ คน ปริญญาเอก ๕๐ คน อันนั้นก็ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิตที่สำคัญ ตอนท้ายที่จะออกมาจากธรรมศาสตร์ มีงานหนึ่งมาเสนอ เป็นงานธนาคารใหญ่แห่งหนึ่ง แต่ผมก็ปฏิเสธไป ซึ่งธนาคารแห่งนั้นอีกไม่นานก็มีปัญหา
ตอนอยู่จัสมินมีเพื่อนคนหนึ่งที่ใหญ่โตในธนาคารหนึ่งชวนผมไปทำงานด้วยก่อนหน้าเกิดวิกฤติประมาณ ๖ เดือน ถ้าผมเข้าไป ผมก็แย่ เพราะธนาคารเป็นปัญหา ผมปฏิเสธไปหมด ค่อนข้างโชคดีที่ตัดสินใจถูก อาจจะเป็นเพราะว่าผมไม่ด่วนตัดสินใจทั้งที่ทางเลือกนั้นจะทำให้มีรายได้มากแต่ผมคิดว่ามันไม่ใช่ตัวตัดสินอนาคตของเรา มันก็เลยทำให้เราไม่ได้เอาตัวนี้มาเป็นตัวตัดสิน
แสดงว่าอาจารย์โชคดีมากกว่าโชคร้าย
ใช่ ผมถึงตระหนักในความโชคดีของผม ว่าผมเป็นคนโชคดีมาก ผมถึงไม่อยากตะเกียกตะกายดิ้นรน ไปขอร้องอ้อนวอนคน ผมไม่เคย คือผมพอใจในชีวิตของผมแล้วละเพราะเป็นชีวิตที่โชคดีมากๆเลย ผมอยากจะเอาความโชคดีของผมตอบแทนให้แก่คนอื่นบ้าง ถ้าผมโชคดีคนเดียวก็คงไม่เกิดประโยชน์เท่าไร และอาชีพอาจารย์ที่ทำมา ผมก็คิดว่าเป็นการตอบแทนความโชคดีของผมส่วนหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศนี้ยังมีคนอีกเยอะมากที่ขาดโอกาส แล้วก็การขาดโอกาสของเขาก็อาจจะเป็นโอกาสที่ทำให้ผมได้ดีก็ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นเวลาที่ผมจะต้องใช้หนี้ ผมคิดอย่างนี้ อาจจะเรียกว่าเป็นอุดมการณ์ไปหน่อย แต่ผมคิดอย่างจริงใจนะว่าผมมีหนี้ทางใจที่ผมต้องชำระ คือเรียนเศรษฐศาสตร์แล้วเราเข้าใจ เราไม่ได้ต้องการเบียดเบียนใครอย่างตั้งใจ แต่การที่เรามีชีวิตที่ดี อยู่ในชนชั้นกลาง จริงๆแล้วเราเบียดเบียนคนในประเทศที่ฐานะด้อยกว่าเราเยอะมาก เช่น เกษตรกร ถ้าเราไม่เบียดเบียนเขา เราต้องยอมให้เขาขายข้าวในราคาที่ดีกว่านี้เยอะ สี่พันบาทนี่เป็นมา ๓- ๔ ปีแล้ว เขาอยู่ได้ไง แต่เราก็พอใจเพราะทำให้เราได้กินข้าวถูก เราได้กินถูกเพราะนโยบายรัฐมันก็ทำให้เราเบียดเบียนเขาในทางอ้อมนั่นแหละ ถ้าเกษตรกรขายข้าวได้คนละหมื่นบาทต่อเกวียน ผมไม่มีฐานะอย่างที่ผมเป็นอยู่ในปัจจุบันอย่างแน่นอน เพราะว่าผมต้องจ่ายค่าอาหารแพงขึ้น เงินออมของผมก็ต้องมีน้อยลง แต่ผมกำลังมีชีวิตที่ดีอยู่บนความโชคร้ายของเขา อันนี้เป็นความจริง การที่เรียนเศรษฐศาสตร์ทำให้ผมยิ่งรู้และตระหนักในความโชคดีของเรา เพราะฉะนั้นผมจึงมีหนี้ทางใจ ถึงวันนี้ก็ชำระไปเยอะแล้ว และต้องชำระต่อไป
เรื่องราวของ วิชาเศรษฐศาสตร์ โชคดี และหนี้ (ทางใจ) ในชั่วโมงการสนทนานั้น
เป็นบทสนทนาที่ไม่มีบทสรุปใดๆ
นอกจากให้กระดานและปากกาเมจิคสื่อถึงจิตวิญญาณความเป็นครูและนักเศรษฐศาสตร์
และให้๓ คำข้างต้นทำหน้าที่บอกเล่าตัวตนชีวิตและความคิดของ ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ