ภาพจาก https://twitter.com/ArthitOurairat
ที่มา สถาบันพระปกเกล้า
นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นปูชนียบุคคลที่มีบทบาทสำคัญยิ่ง อันเป็นคุณูปการต่อสังคมไทย และได้รับการยกย่องในฐานะนักการเมืองมือสะอาด ที่ปราศจากผลประโยชน์ทับซ้อน นักบริหารมืออาชีพที่มุ่งผลสำเร็จเพื่อส่วนรวม นักการศึกษาที่มุ่งอุดมคติทางการศึกษาที่แท้จริง และนักสังคมประชาธิปไตยที่มีบทบาทสำคัญในการแก้ไขวิกฤตปัญหาของชาติอยู่เสมอ โดยในยามที่สังคมไทยประสบภาวะวิกฤตทางการเมือง ก็มักจะได้รับความคิดเห็นและแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดีต่อประเทศชาติ ปรากฏทางสื่อสารมวลชนอยู่เป็นประจำ ภายหลังจากการวางมือทางการเมือง นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้กลับไปบริหารกิจการและธุรกิจส่วนตัวของครอบครัว เช่น โรงพยาบาลพญาไท มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเฉพาะมหาวิทยาลัย เขาสามารถบริหารให้เป็นสถาบัน อุดมศึกษาชั้นนำของประเทศที่เปิดสอนในสาขาวิชาที่ขาดแคลน เช่น สาขาแพทยศาสตร์ และสาขาวิศวกรรมยานยนต์ เป็นต้น ตลอดจนนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ในฐานะอธิการบดี ได้ประสานความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในสาขาวิชาเหล่านี้ให้เป็นมาตรฐานสากลเทียบเท่ากับต่างประเทศ จนเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศ
นอกจากนี้ ยังรับเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษในโอกาสต่าง ๆ ให้กับสถาบันการศึกษา องค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ
ประวัติ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เกิดวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2481 เป็นบุตรชายของนายประสิทธิ์ และคุณหญิงพัฒนา อุไรรัตน์ สมรสกับนางบุญนำ (ฉายะบุตร) มีบุตรธิดา 3 คน คือ นายอภิวัฒิ อุไรรัตน์ ดร. อรรถวิท อุไรรัตน์ และนางอภิรมณ อุไรรัตน์ โชตินฤมล
ประวัติการศึกษา
ประถมศึกษา โรงเรียนบัณฑิตวิทยา จังหวัดน่าน และโรงเรียนถนอมวิทยา จังหวัดลพบุรี
มัธยมศึกษา โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
อุดมศึกษา
- ปริญญาตรี รัฐศาสตร์บัณฑิต สาขาการทูตและการต่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ปริญญาโท มหาบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก Fletcher School of Law and Diplomacy, Tufts University, Massachusetts U.S.A. มหาบัณฑิต สาขาการบริหารรัฐกิจจาก California State University, Los Angeles, U.S.A. M.S. (Public Service) California State University, Los Angeles, U.S.A.
- ปริญญาเอก ดุษฎีบัณฑิต ทางรัฐศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ จาก University of Colorado, Boulder, Colorado, U.S.A.
บทบาททางด้านการเมือง
นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เข้าสู่ถนนการเมืองครั้งแรกด้วยการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่า กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2518 สังกัดพรรคพลังใหม่ ที่มี นพ.กระแส ชนะวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค การเลือกตั้งครั้งนี้ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ไม่ประสบผลสำเร็จ พ่ายแพ้ให้กับนายธรรมนูญ เทียนเงิน จากพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาปี พ.ศ. 2519 ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตป้อมปราบ – ปทุมวัน สังกัดพรรคพลังใหม่และพ่ายแพ้ให้กับ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น แม้จะไม่ประสบผลสำเร็จในการลงสมัครรับเลือกตั้งติดต่อกันถึงสองครั้ง แต่ก็ไม่เคยย่อท้อ ยังคงเดินบนถนนสายการเมือง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นรองเลขาธิการรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ ในปี พ.ศ. 2523 ต่อมาปี พ.ศ. 2526 นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิก สภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา แต่ก็ไม่ได้รับการเลือกตั้ง ในปี พ.ศ. 2531 ได้ย้ายไปสังกัดพรรคกิจประชาคมดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค โดยมีนายบุญชู โรจนเสถียร เป็นหัวหน้าพรรค ในปีนี้เขาประสบผลสำเร็จได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นสมัยแรก ต่อมาปี พ.ศ. 2532 ได้มีการรวมตัวพรรคการเมืองเข้าด้วยกัน 4 พรรค คือ พรรคก้าวหน้า ที่มีนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นหัวหน้าพรรค พรรคกิจประชาคม ที่มีนายบุญชู โรจนเสถียร เป็นหัวหน้าพรรค พรรครวมไทย ที่มีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และพรรคประชาชน ที่มีนายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ และนายวีระ มุสิกพงศ์ เป็นแกนนำรวมเข้าเป็นพรรคเดียวกันชื่อพรรคเอกภาพ[3] โดยมีนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นโฆษกพรรค และปีถัดมา เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ คณะรัฐมนตรี คณะที่ 46 ในรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี[4]
เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 เกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจการปกครองประเทศโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.)[5] เป็นสาเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2535 ได้มีการเลือกตั้งทั่วไป นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ จึงย้ายสังกัดจากพรรคเอกภาพมาเป็นสมาชิกพรรคเสรีธรรมในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคที่มีนายณรงค์ วงศ์วรรณ เป็นหัวหน้าพรรค และลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดฉะเชิงเทราอีกสมัย ในปีนี้นับว่า นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นผู้มีบทบาทในการเมืองอันสำคัญยิ่งขึ้น คือ การได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2535 สมัย พล.อ.สุจินดา คราประยูร เป็นนายกรัฐมนตรี
ต่อมาได้เกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ จนนายกรัฐมนตรีต้องลาออก เป็นเหตุให้ต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ท่ามกลางปัญหาวิกฤติทางการเมืองในขณะนั้น นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรจะต้องเป็นผู้เสนอรายชื่อบุคคลผู้สมควรได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยเหตุการณ์ทางการเมืองมีทีท่าว่าจะวิกฤติมากยิ่งขึ้น เมื่อฝ่ายการเมืองเสียงข้างมากพยายามจะเสนอชื่อ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทยเป็นนายกรัฐมนตรี ท่ามกลางกระแสการประท้วงและต่อต้านจากประชาชนผู้ไม่เห็นด้วย แต่ด้วยนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ มักจะตัดสินใจแก้ไขปัญหาบนพื้นฐานผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นสำคัญ อีกทั้งเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งที่มีอยู่ จึงฝ่าทางตันด้วยการเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย จากการตัดสินใจในครั้งนั้น ทำให้นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้รับฉายา “วีรบุรุษประชาธิปไตย”[6]
เมื่อปัญหาวิกฤติทางการเมืองคลี่คลาย นายกรัฐมนตรีได้ประกาศยุบสภาให้มีการเลือกตั้งใหม่ นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ร่วมกับนายพินิจ จารุสมบัติ ร่วมกันก่อตั้งพรรคเสรีธรรม และลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดฉะเชิงเทรา สังกัดพรรคเสรีธรรม และได้รับการเลือกตั้งให้เข้าสู่สภาอีกสมัย พร้อมลูกพรรคอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข คณะรัฐมนตรี คณะที่ 50[7] ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก โควตาพรรคเสรีธรรม
ปี พ.ศ. 2539 มีการเลือกตั้งทั่วไป นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้ย้ายสังกัดจากพรรคเสรีธรรมมาเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาอาวุโสและรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ต่อมาปี พ.ศ. 2542 ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม คณะรัฐมนตรี คณะที่ 53[8] ในรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยที่สอง
ปัจจุบัน นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้ประกาศวางมือทางการเมืองไปแล้ว หากแต่ในยามที่บ้านเมืองเกิดวิกฤติปัญหา สังคมไทยก็มักจะได้รับแนวคิดที่เป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาของชาติดังสมญานาม “วีรบุรุษประชาธิปไตย” อยู่เสมอ