Custom Search

Aug 20, 2013

ประชากรฟิลิปปินส์ใกล้เหยียบร้อยล้าน


วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชนรายวัน
วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2551
ปีที่ 31 ฉบับที่ 11079

ถ้าคนไทยจะหาชาติคู่แฝดชนิดที่หน้าตาเหมือนกัน มีค่านิยมหลายอย่างเหมือนกัน รักความสนุกสนานเหมือนกัน ฯลฯคำตอบก็คือฟิลิปปินส์แต่สิ่งหนึ่งที่แต่เดิมใกล้เคียงกันแต่ปัจจุบันทิ้งกันห่างไกลก็คือจำนวนประชากรในขณะที่ประชากรไทยปัจจุบัน อยู่ที่ 63 ล้านคนฟิลิปปินส์พุ่งขึ้นเป็น 90.5 ล้านคน แล้ว

ด้วยอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรในพิสัยกว่าร้อยละ 2 เป็นเวลายาวนานทำให้ ประชากร 77 ล้านคนในปี 2001 เพิ่มเป็น 90.5 ล้านคนในปี 2008(สูงสุดอันดับ 12 ของโลก)และด้วยอัตราเช่นนี้คาดว่าใน
เวลาไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า จะเหยียบหลักร้อยอย่างแน่นอน

พื้นที่ฟิลิปปินส์ประกอบด้วย 7,100 เกาะ มีพื้นที่รวมกันประมาณร้อยละ 60 ของไทย ดังนั้น จึงมีความหนาแน่นสูงถึง 294 คนต่อตาราง

กิโลเมตร อยู่ในอันดับ 32 ของโลก
สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชากรฟิลิปปินส์เพิ่มสูงขึ้นเช่นนี้เป็นที่ทราบกันดีว่ามาจากความเป็นคริสตังหรือคริสเตียนนิกายโรมันคาทอลิก ซึ่ง
ถือว่าความสัมพันธ์ทางเพศเป็นไปเพื่อการมีลูกเท่านั้น

ในเอเชียนั้นมีอยู่เพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่คนส่วนใหญ่เป็นคริสตัง
ได้แก่ ฟิลิปปินส์ และติมอร์ตะวันออกร้อยละ 90 ของคนฟิลิปปินส์
เป็นคริสเตียน โดยร้อยละ 81 เป็นคริสตังและเป็นคริสตังที่เคร่งในคำสอนเรื่องห้ามคุมกำเนิดอย่างมาก (ร้อยละ 97 ของประชากรติมอร์ตะวันออกเป็นคริสตัง)

ก่อนหน้าศตวรรษที่ 20 การป้องกันการตั้งครรภ์หรือการคุมกำเนิด (contraception)เป็นสิ่งต้องห้ามของทุกนิกายของศาสนาคริสต์
ไม่ว่าผู้นำคนสำคัญ เช่น มาร์ติน ลูเธอร์ หรือจอห์น แคลวิน
ล้วนมั่นคงในคำสอนเช่นนี้ทั้งสิ้น แต่ในช่วงศตวรรษที่ 20 คริสต์
นิกายต่างๆก็มีคำสอนในเรื่องนี้ที่แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ไปใ
ทิศทางของการยอมรับการคุมกำเนิดมีแต่นิกายโรมันคาทอลิกหรือคริสตังเท่านั้นที่ยังเคร่งครัดในเรื่องนี้อยู่

อย่างไรก็ดี คริสตังในหลายประเทศในยุโรป อเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ
เพิกเฉยต่อคำสอนในเรื่องดังกล่าว โดยปรับตนให้สอดคล้องกับความจำเป็นในการดำรงชีวิต
การสำรวจในปี 1998 พบว่าร้อยละ 96 ของคริสตังหญิง ได้ใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างน้อยในช่วงหนึ่งของชีวิตและร้อยละ 72 ของคริสตังเชื่อว่าบุคคลสามารถเป็นคริสตังที่ดีได้โดยไม่เชื่อฟังในเรื่องการห้ามคุมกำเนิด ในการสำรวจคริสตังในสหรัฐอเมริกันในปี 2005พบว่าร้อยละ 90 สนับสนุนการคุมกำเนิด

ความเข้มแข็งและอิทธิพลของผู้นำศาสนาที่มีต่อคนฟิลิปปินส์ ทำให้คริสตังฟิลิปปินส์ยังคงเชื่อฟัง
ในเรื่องการห้ามคุมกำเนิด ผู้นำสังคมที่ไม่เห็นด้วยในเรื่องการห้ามคุมกำเนิดหรือห้ามวางแผนครอบครัวไม่อาจออกมาต่อสู้กระแสคำสอนได้ พวกเหล่านี้อยู่ได้เพียงชายขอบของสังคม
โดยดำเนินงานในเรื่องคุมกำเนิดให้แก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นคริสตัง และบางส่วนของคริสตังเท่านั้น

คนฟิลิปปินส์เป็นผู้ที่เข้าใจเรื่องการเมืองภาคประชาชนเป็นอย่างดี
การอยู่ภายใต้อาณัติดูแลของสหรัฐอเมริกาเป็นเวลากว่า 40 ปีทำให้เข้าใจเรื่องประชาธิปไตยโดยทั่วไปดีกว่าคนไทย การโค่นล้มประธานาธิบดีมากอส ("people power" ในปี 1986)และประธานาธิบดีแอสตราดา ในปี 2001 ไม่มีวันสำเร็จได้เลยถ้าไม่ได้รับความช่วยเหลือจากผู้นำทางศาสนา
นี่คือตัวอย่างของอิทธิพลผู้นำศาสนาที่มีต่อสังคมฟิลิปปินส์

อย่างไรก็ดี ในสภาวการณ์ปัจจุบันที่ข้าวปลาอาหารและพลังงานมีราคาสูงขึ้นอย่างมากในเวลาอันสั้น
ท่ามกลางประชากรเพิ่มขึ้น ถึงร้อยละ 2.04 ต่อปี (ลดลงจากร้อยละ 2.64 ในปี 2001)ผู้นำสังคมฟิลิปปินส์บางคน มีเสียงดังขึ้นทุกทีในเรื่องการห้ามคุมกำเนิดอย่างขัดแย้งกับเสียงผู้นำศาสนา

ผู้นำทางศาสนามีความเห็นว่าความยากจนของคนฟิลิปปินส์ (ประมาณร้อยละ 40 มีรายได้ประมาณวันละ 2 เหรียญสหรัฐ)มีสาเหตุจากคอร์รัปชั่นของภาครัฐ การดำเนินนโยบายของรัฐที่ผิดพลาด(ฟิลิปปินส์นำเข้าข้าว 5 แสนตันเมื่อปีที่แล้วทั้งๆ ที่พื้นที่เหมาะต่อการปลูกข้าว และมีแรงงานในภาคเกษตรกรมากมาย)ไม่ใช่การมีประชากรมาก ในทางตรงกันข้าม การมีประชากรมากทำให้มีแรงงานภาคเกษตรและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นด้วย

Thomas Merrick ผู้ปรึกษาธนาคารโลกได้ระบุในข้อเขียนชิ้นสำคัญของธนาคารโลกในปี 2002 ว่า"ถึงแม้นโยบายเกษตร นโยบายการค้า และระบบการแบ่งสรรอาหาร ที่ผิดพลาดอาจเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดความหิวโหยแต่การมีประชากรที่มากขึ้นในอัตราที่สูงจะช่วยซ้ำเติมนโยบายที่เลวร้ายเหล่านั้น อัตราการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ต่ำอาจช่วยซื้อเวลาให้นโยบายที่ดีๆ ก่อนที่จะผลิดอกออกผล....." คำกล่าวนี้น่าจะมีส่วนถูกอยู่มากในกรณีของฟิลิปปินส์

อาจเรียกได้ว่าฟิลิปปินส์ไม่มีระบบการวางแผนครอบครัวที่ภาครัฐเป็นผู้ริเริ่ม ซึ่งต่างจากเพื่อนบ้านในเอเชีย
ไม่ว่าจะเป็นไทย อินโดนีเซีย หรือจีน ประเทศเหล่านี้ตระหนักว่าการคุมกำเนิดคือเครื่องมือช่วยไม่ให้ความยากจนถูกซ้ำเติมให้หนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นจากการมีประชากรมากเกินไป

การทำหมันชายไม่ได้ผลในฟิลิปปินส์เพราะผู้ชายกลัวว่าจะทำให้หมดน้ำยา ฝ่ายหญิงเกรงว่าการทำหมันจะเท่ากับเป็นการมอบเสรีภาพให้แก่ฝ่ายชาย ในการออกไปหลงระเริงสนุกสนานนอกบ้าน(ปกติก็อาจทำอยู่แล้วโดยภรรยาไม่ทราบ) การส่งเสริมให้ใช้ถุงยางอนามัยเพื่อคุมกำเนิด ก็ดูจะไม่ได้ผลเพราะผู้เคร่งในศาสนาจริงๆ ไม่ยอมรับ เพราะถือว่าความสัมพันธ์ทางเพศต้องเป็นไปเพื่อการมีลูกเท่านั้น

บุคคลหนึ่งที่กำลังมีบทบาทส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยอย่างขะมักเขม้นก็คือ อดีตประธานาธิบดีแอสตราดาผู้ได้รับนิรโทษกรรมแล้ว เขาเดินทางไปทั่วประเทศ ประชาสัมพันธ์เรื่องการวางแผนครอบครัวการรณรงค์ของเขาเป็นที่น่าสนใจสำหรับคนฟิลิปปินส์ เพราะเขาเองมีลูกไม่ต่ำกว่า 11 คน จากผู้หญิง 3 คน

นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาหลายคนเห็นพ้องกันว่าอุปสรรคของการพัฒนาประเทศมิได้มาจากการขาดแคลนเงินทุนและ/หรือการมีทรัพยากรมนุษย์ที่ด้อยคุณภาพเท่านั้น หากในหลายกรณีวัฒนธรรมและค่านิยมเป็นตัวกีดกั้นการพัฒนาประเทศ

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่เดียวในโลกที่ประชากรมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างดีการศึกษามีคุณภาพมากกว่าหลายประเทศในสิ่งแวดล้อมคล้ายกัน ประชากรมีคุณภาพ พอที่จะไปทำงานในต่างประเทศทั่วโลกถึง 11 ล้านคนซึ่งเป็นชุมชนคนไปทำงานต่างประเทศที่ใหญ่สุดของโลก ทุกปีวีรบุรุษวีรสตรีเหล่านี้รวมกันส่งเงินกลับประเทศเพื่อช่วยเหลือครอบครัวและญาติพี่น้องมากกว่าเงินจากการลงทุนจากต่างประเทศ

ฟิลิปปินส์มีโครงสร้างพื้นฐานไม่ว่าในด้านทรัพยากรมนุษย์หรือกฎเกณฑ์ในการดูแลเศรษฐกิจที่ดีพอควร (ยกเว้นในเรื่องนโยบายสินค้าเกษตร)แต่ปัญหาสำคัญคือคอร์รัปชั่น เราเห็นชัดว่าคอร์รัปชั่น และความยากจนเป็นปัญหาหนักอก ที่บั่นทอนเศรษฐกิจของบ้านเราอย่างยิ่ง ถ้าเราเอาปัญหาประชากรเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วไปเพิ่มเข้าอีก ก็พอจินตนาการได้ว่าฟิลิปปินส์นั้นมีปัญหาหนักหน่วงเพียงใด

หน้า 6