Custom Search

Mar 24, 2011

วรากรณ์ สามโกเศศ ในนาม 'วีรกร ตรีเศศ'


http://www.dpu.ac.th














ภาณุพงษ์ คงจันทร์
Life Style : Read & Write
วันที่ 11 กันยายน 2553


http://www.goodreads.com/author/show/2741617._


ใครอยากรวยต้องอ่านงานเขียนของ วีรกร ตรีเศศ กับวลีเด็ด
งานเขียนต้องสร้างความแตกต่าง

ใครอยากรวยต้องอ่านงานเขียนของ วีรกร ตรีเศศ
ซึ่งเป็นนามปากกาของ วรากรณ์ สามโกเศศ
ตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
จบการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาเศรษฐศาสตร์
จากมหาวิทยาลัยแคนซัส สหรัฐอเมริกา
เคยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง ศึกษาธิการ ปี 2550

แม้ขณะนี้อายุ 63 ปี แต่ก็ใช้เวลาว่างเขียนหนังสือแนว How To
ติดตลาดหลายเล่มและยังเขียนบทความประจำ
ในคอลัมนิสต์เขียนบทความให้กับนิตยสารบางฉบับอีกด้วย

ดังนั้น การเปิดเผยถึงเคล็ดลับการเขียนในฉบับนี้
จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และใครอ่านอาจได้แง่คิดทำให้รวยก่อนใครก็ได้

0 ตอนนี้มีผลงานรวมเล่มอะไรบ้าง?

ผมมีผลงานรวมเล่มกับ 3 สำนักพิมพ์ รวมแล้วทั้งหมด 22 เล่ม
ทั้งของสำนักพิมพ์โอเพ่น ชื่อเก๋ๆ แบบฝรั่ง เช่น Difference, First และ Best
ประมาณ 8 เล่ม และมีของสำนักพิมพ์อมรินทร์ที่ฮิตขายดีอยู่ 3 เล่ม
เช่น เงินไหลมา, เงินทองของไม่หมู และเงินต่อเงิน
ส่วนที่เหลือเป็นสำนักพิมพ์มติชนก็มีเรื่อง โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี

0 ทำไมใช้นามปากกาว่า "วีรกร ตรีเศศ"?

คุณแม่เล่าอยู่เสมอว่าพระตั้งชื่อมาให้ผมสองชื่อคือ วรากรณ์ และวีรกร
ผมก็เลยใช้นามปากกาว่า "วีรกร" ก็ดีเหมือนกัน ส่วนนามสกุลว่า "ตรีเศศ"
เพื่อจะบอกใบ้มาจากนามสกุลจริงว่าใครอยู่เบื้องหลัง
นามสกุลผมต้องอ่านว่า "สา-มะ-โก-เศศ"
แต่ทุกคนจะอ่านว่า "สาม-โก-เศศ" จึงกลายมาเป็น "วีรกร ตรีเศศ"
ผมเริ่มเขียนในมติชนสุดสัปดาห์ตั้งแต่ปี 2534
สมัยตอนเป็นอาจารย์ธรรมศาสตร์
จริงๆ แล้วผมเขียนในแนวหน้าสุดสัปดาห์ที่เคยมีมาก่อน
เขียนมาทุกสัปดาห์เกือบ 20 ปีแล้ว จะขาดตอนบ้างเกือบปีกว่าๆ เท่านั้น
เรียกว่าเป็นคนเขียนยาวนานและต่อเนื่อง
หายไปตอนสั้นๆ ช่วงไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

0 เป้าหมายในการเขียนต้องการนำเสนอเรื่องใดบ้าง?

เริ่มต้นผมต้องการเขียนเรื่องเศรษฐศาสตร์ให้คนธรรมดาเข้าใจได้
คนที่สอนเศรษฐศาสตร์มักจะสอนเรื่องที่ยากๆ
นักศึกษาเองก็ไม่เข้าใจ คนสอนสนุกก็เพราะนำมาจากตำรา
ทั้งคนสอนและคนเรียนยังไม่รู้ว่าสอนอะไร
ผมคิดว่าถ้าเขียนตำราที่ทำให้คนอ่านรู้เรื่อง
ผมเชื่อในประโยคที่ว่า "ถ้าเป็นคนแรกไม่ได้ก็ต้องสร้างความแตกต่างกับชาวบ้าน"
ผมไม่ใช่คนเก่งและไม่ใช่คนแรกสุดด้วย ผมก็ต้องมีแนวของผมที่ไม่เหมือนใคร
บังเอิญมีความสามารถในการเขียนด้านนี้อยู่
จึงเขียนเศรษฐศาสตร์ให้คนเข้าใจได้
พอเขียนไปๆ ก็แตกลูกออกไปเพราะเศรษฐศาสตร์มันโยงเข้ากับหลายศาสตร์ด้วยกัน
ถ้าเราเขียนเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวคนก็เบื่อ
ผมก็เลยต้องพยายามหาเรื่องอะไรที่มันแปลกใหม่
ที่ไม่เหมือนคนอื่นและไม่ใช่เรื่องที่คนอื่นเขียนแล้ว
เพื่อจะเอามาเขียนและต้องสนุกด้วย
มีสาระอะไรสักอย่างสองอย่างได้จากข้อความที่อ่าน

0 ตั้งใจที่จะให้งานเขียนมีอารมณ์ขันเลยหรือ?

ใช่เลย ....บางทีมีอารมณ์ขันบ้าง มีอะไรเจ็บๆ บ้างเล็กน้อย
เมื่อเขียนใช้นามปากกาย่อมมีเสรีภาพมากขึ้น
ถ้าเป็นชื่อจริงก็ไม่อยากไปร้าวรานความรู้สึกคนอ่าน
เพราะคนเรามีความคิดหลากหลาย
ผมเองก็ต้องมีความคิดเป็นของตัวเองบ้าง

0 บทความระหว่างรายวันและรายสัปดาห์แตกต่างกันอย่างไร?

การเขียนรายวันมักจะเป็นวิชาการกว่าและรับผิดชอบมากกว่า
เพราะใช้ชื่อจริง ส่วนสุดสัปดาห์จะเขียนเบากว่าเมื่อก่อนมันก็เท่าๆ กัน
โลกนี้มันต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ เรื่องเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ทางวิชาการ
จะเขียนในมติชนรายวัน ส่วนเรื่องแปลกๆ เบาๆ
จะเขียนในรายสัปดาห์ ผมคิดเสมอว่าต้องทำงานให้แปลกกว่าชาวบ้าน
ทำไมไม่ทำสามอย่างในบทความเดียวกัน
คือมี "เครื่องเคียง" "อาหารสมอง" และ "น้ำจิ้ม"
ซึ่งเป็นคำพูดที่ค้นคว้ามาอ่านแล้วสะกิดใจ
กลายเป็นบทความที่มีสามอย่างในเวลาเดียวกัน
บางคนไม่อยากอ่านในส่วนของ "อาหารสมอง"
อาจจะอ่าน "เครื่องเคียง" ผมต้องหาอะไรแปลกๆ มาเขียน
บางครั้งต้องเขียนให้มีอารมณ์ขัน
คนเรามันเครียดมาทั้งวันแล้ว

เมื่อก่อนเคยเขียนในนิตยสารแพรว คอลัมน์ "รู้ก่อนรวยก่อน"
เขียนหน้าเดียว ตอนนี้เลิกไปแล้ว
คนอ่านเป็นผู้หญิง ผมเลยต้องทำตัวเป็นผู้หญิง
เพราะผู้หญิงไม่ค่อยสนใจเรื่องเงินทองเท่าไหร่
อันนี้เขียนยากกว่าฉบับอื่น
ผมเขียนตั้ง 3-4 ปี เพิ่งจะเลิกไป

0 มีวิธีการเขียนอย่างไร?

ผมใช้เวลาส่วนใหญ่ระหว่างอาทิตย์ในการคิดว่าจะเขียนอะไร
ผมใช้เวลาในการคิดมากกว่าเวลาเขียน
เวลาที่ใช้เขียนไม่เกินชั่วโมงครึ่ง
แต่ระหว่างคิดว่าจะเขียนอะไรต้องใช้เวลานานพอสมควร
บางทีคิดอะไรไม่ออก วันสุดท้ายจึงจะคิดออก
คิดว่าจะเริ่มต้นเล่าเรื่องอย่างไร
บางทีคิดว่าย่อหน้าแรกจะเขียนอย่างไร
ท่อนสุดท้ายเขียนอย่างไร เราคิดตลอด
ถ้าคิดอะไรไม่ออกมานั่งลงเขียน
มันมีแรงกดดัน อย่างไรมันก็ต้องโผล่ออกมาเอง

ผมเขียนตอนกลางคืนด้วยลายมือ
ตอนเช้าวันจันทร์หรืออังคารค่อยมาพิมพ์ส่งเมลไป
สำหรับรายวันต้องส่งวันอังคารเพื่อต้องพิมพ์ในวันพฤหัสฯ
ส่วนสุดสัปดาห์ต้องส่งล่วงหน้าหนึ่งอาทิตย์
บางทีคิดมากเขียนได้สองเรื่องในคราวเดียวกันเลย
ผมไม่มีสต็อกล่วงหน้า ผมต้องการให้มันสดขึ้นอยู่กับสถานการณ์
อย่างรายวันต้องเขียนไม่ให้หลุดโลก
ต้องให้สอดคล้องกับสถานการณ์

ที่บ้านสะสมหนังสือเป็นพันๆ เล่ม ไม่ได้อ่านหมด
แต่อ่านบางบทแล้วใช้กระดาษคั่นเอาไว้
มีเวลาจะกลับมาอ่านอีก สิ่งที่ผมอยากเขียนมาก คือ
ประวัติศาสตร์ แต่ผมมีความรู้ไม่มากพอจึงต้องอ่านเยอะๆ
ผมสนใจประวัติของ "เจงกิสข่าน" เมื่อ 700 ปีก่อน
สามารถปราบราชวงศ์จีนได้ มีแรงบันดาลใจเมื่อดูหนังตั้งแต่ยังเด็กๆ
ทำไมคนมันเก่งอย่างนี้เป็นเพียงพวกป่าเถื่อนขี่บนหลังม้า
มันทำได้อย่างไร ความเป็นผู้นำสูงมาก
ในระหว่างทางมันมีการปล้น
สามารถปลุกเร้าให้คนเชื่อมั่นในตนเอง
รวมคนได้มากมาย ผมอยากจะเขียนเรื่องนี้มากเลย

0 มีปฏิกิริยาตอบโต้จากคนอื่นบ้างไหม?

เมื่อก่อนเคยแจ้งอีเมลไว้ในบทความ มีจังค์เมลเข้ามาเยอะมาก
ผมเลยตัดออกไป ก็มีปฏิกิริยาจากการพูดคุยกันระหว่างอาจารย์ด้วยกัน
หรือผ่านทางจดหมายเข้ามา หน้าบรรณาธิการ มีจำนวน 99.90 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ด่าผม
ไอ้ที่ด่าผมก็มีบ้างเป็นเรื่องธรรมดา
'คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ'
มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์

0 บทบาทด้านการเขียนกับการเป็นผู้บริหารสัมพันธ์กันไหม?

ผมพยายามที่จะแยกออกจากกัน เพราะมันอาจจะมีผลกระทบกับงานที่ผมทำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นมหาวิทยาลัย เอกชน มีคนหลากหลายมาเรียน
อะไรที่มันอื้อฉาวมากก็จะใช้นามปากกา
เวลาที่มีปัญหาจะได้ไม่รุนแรงเท่าใช้ชื่อจริงและในทางกฎหมายนั้น
การใช้นามปากกาใครก็เขียนได้
ผมก็เลยต้องใช้ลีลาหยิกๆ เจ็บๆ บ้างในรายสัปดาห์
ผมว่าอาจารย์ส่วนใหญ่ในที่ทำงานก็รู้ว่าผมเป็นนักเขียน
ในเว็บอธิการก็มีบทความเก่าๆ อยู่

0 งานเขียนของท่านทำให้คนอ่านหันมาสนใจวิชาเศรษฐศาสตร์มากขึ้นไหม?

ก็อาจจะมีส่วนบ้าง เวลาที่ผมไปเซ็นชื่อในงานมหกรรมหนังสือฯ
พบคนที่เรียนเศรษฐศาสตร์เขาจะบอกว่าผมเรียนเศรษฐศาสตร์มันยาก
ผมไม่เข้าใจจนได้มาอ่านอะไรที่มันง่ายๆ
จึงเข้าใจสิ่งที่เรียนมายากๆ ผมดีใจเหมือนกัน
การลงรายละเอียดมากๆ เห็นแต่ต้นไม้
เห็นแต่เซลล์แต่ไม่เห็นป่า ผมจึงพยายามวาดป่าให้เห็น
น่าจะช่วยอะไรได้บ้าง แฟนหนังสือของผมมักจะเป็นนายแพทย์และอาจารย์มีส่วนหนึ่ง
ส่วนในสุดสัปดาห์จะมีผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น
เพราะจะเขียนอะไรที่มันซับซ้อนซ่อนเงื่อน
ความตื่นเต้น อย่างที่ผมเขียนเรื่อง
ผู้หญิงที่รวยที่สุดในฝรั่งเศส มีทั้งเรื่องการหลอกลวง
มีทั้งเรื่องเซ็กซ์ ทำให้มีคนอ่านเยอะ

0 คนที่เรียนเศรษฐศาสตร์ย่อมได้เปรียบกว่าคนสาขาอื่นไหม?

ผมว่ามันไม่จริง ก็คงเหมือนศาสตร์อื่นๆ
เพียงแต่ว่าวิชาเศรษฐศาสตร์มันครอบคลุมหลากหลายหัวข้อและเศรษฐศาสตร์ก็มอง
ด้านการวิเคราะห์มากกว่าการบรรยาย
ก็เลยมีวัตถุดิบนำมาเขียนและคนก็สนใจเรื่องปากท้องเยอะมาก
วิชาเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่ศาสตร์ที่ลึกซึ้งเกินกว่าที่คนธรรมดาจะเข้าใจได้
ยกตัวอย่างประโยคที่ว่า
"การทำให้ทรัพยากรที่มีจำกัดสูญเปล่า เท่ากับอาชญากร" เช่น
ตึกปล่อยทิ้งร้างไม่ก่อประโยชน์หรือว่า
อาจารย์ที่ร่ำเรียนมาหลายสาขาแต่ไม่ ได้สอน
ไม่ได้ทำอะไรให้ก่อประโยชน์ถือว่าสูญเปล่าทรัพยากร
หรือว่าส่งคนไปเรียนแล้วไม่จบถือว่าผิดหลักเศรษฐศาสตร์
เพราะฉะนั้นเศรษฐศาสตร์มันอยู่ทุกอณูของชีวิต

อย่างคำพูดที่ว่า "โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี" มันก็เอาไปใช้ได้ในการบริหาร
ทุกอย่างต้องมีต้นทุนทั้งนั้น ไม่ได้อะไรมาโดยที่ไม่มีอะไรไปแลก
อยากได้บัณฑิตที่ดีก็ต้องลงทุน
อยากได้ความประทับใจด้านการสอนจากนักศึกษาก็ต้องมีการเตรียมตัว

0 นักศึกษาในอนาคตควรเป็นอย่างไร?

เป็นยุคที่นักศึกษาควรมีความรู้หลากหลายสาขา
มีความรู้แคบๆ ในสาขาของตนเองไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
เหตุที่เป็นอย่างนั้นเพราะโลกสมัยหน้ามันเป็นโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
ซับซ้อนและมีความหลากหลายในอิทธิพลที่มีต่อชีวิตของคน เช่น
วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี การค้าเสรี โลกาภิวัตน์
ที่เข้ามาด้านวัฒนธรรมต่างๆ ทำให้โอกาสทางธุรกิจหรือ
โอกาสการทำงานต้องใช้ทักษะที่มีความหลากหลายมากขึ้น
ถ้ารู้อย่างเดียวแล้วมันผันผวน
ทักษะนั้นไม่มีแล้วอาจหางานทำไม่ได้
ถ้าคนที่มีทักษะหลายอย่างหรือใฝ่หาความรู้เยอะๆ
ปรับตัวให้คล่องตัว จะเป็นประโยชน์มาก
หรือพูดอีกอย่างว่าความคล่องตัวเป็นสิ่งจำเป็น

ครูบาอาจารย์ก็เช่นเดียวกัน โลกปัจจุบันไม่ใช่โลกแห่งการสอน
ต้องสอนให้น้อยๆ เรียนรู้ให้เยอะๆ
การถ่ายทอดแบบเดิมที่ถ่ายทอดจากปากครูแล้วจดเอาไปเรียน
ผมว่ามันเป็นวิธีการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะ
หนึ่ง ความสนใจของคนมันสั้นลง
การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีมันรวดเร็ว
เขาเคยชินต่ออะไรที่มันรวดเร็ว ดูโทรทัศน์กดรีโมตก็หายไปได้
เรื่องที่สอง ความรู้มันหลากหลายมาก มันงอกทุกวั
เรื่องที่สาม โลกมันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
ความต้องการของคนก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
เพราะฉะนั้นการถ่ายทอดแบบเดิมไม่ได้แล้ว
ต้องให้การเรียนรู้ด้วยตนเอง จุดไฟการอยากรู้อยากเห็นของเขา
หาความรู้ด้วยตัวเขาเอง เราจะใช้วิธีแบบเติมน้ำใส่ถังไม่ได้แล้ว
น้ำมันเยอะเหลือเกินและก็ไม่มีถังเพียงพอ
แต่ถ้าจุดไฟแห่งความอยากรู้อยากเห็นเขาก็จะมีถังไม่จำกัด
และเอาไปตักได้เอง การเรียนการสอนต้องมีการออกไปนอกสถานที่มากขึ้น
การที่เขาได้ลงมือทำเอง เช่น การได้ถกเถียงกัน
ต้องมีการอ่านมากขึ้น

ที่ผมพบมากขึ้นคือนักศึกษาไม่ชอบอ่านในชั่วโมง
จึงต้องหาบทความสั้นๆ ที่น่าสนใจสัก 2 หน้า
ซีร็อกซ์แล้วนำมาแจกให้ทุกคนอ่านในห้อง
หันหน้าเข้ามาจับกลุ่มกันให้เวลาอ่านสัก 30 นาที
อ่านจบแล้วมาถกเถียงกัน ในกลุ่มช่วยกันสรุปว่าอ่านแล้วได้อะไร
หรือไม่ก็กำหนดให้อ่านหนังสือเล่มนี้ล่วงหน้า
แล้วให้นำเข้าไปในห้องสอบใช้เวลา 1 ชั่วโมง
ถ้าใครอ่านมาก่อนจะตอบคำถามหนังสือในเล่มนี้ได้ง่ายขึ้น
ถ้านักศึกษารู้กติกาแบบนี้จะอ่านมาล่วงหน้า
หนังสืออะไรก็ได้ที่ดีๆ หรือเพียงบางบทก็ได้

0 สังคมการอ่านสมัยนี้เป็นอย่างไรในสายตาของท่าน?

คนสมัยนี้ไม่ค่อยอ่านหนังสือกัน แต่ไปอ่านในเว็บ
ในอินเทอร์เน็ต ในเฟซบุ๊คกันมากขึ้น
เป็นรูปแบบการอ่านที่กระจัดกระจายมากกว่าโฟกัสไปเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
เมื่อก่อนไม่มีอะไรดึงดูดความสนใจได้มากกว่าหนังสือ
มีทางเลือกน้อย แต่เดี๋ยวนี้โหมดของเอ็นเตอร์เทนมันหลากหลายกว่า
การเขียนก็เป็นปัญหา เพราะหลายวิชาในชั้นมัธยมเลิกไป
เช่น การเขียนสรุป การจับใจความ
วิธีนี้ครูอาจให้นักศึกษาเขียนด้วยลายมือตัวเอง
เป็นไปในลักษณะการตั้งคำถาม ไม่ใช่ตั้งหัวข้อลอยๆ
แล้วไปโหลดทางอินเทอร์เน็ตหนาตึบมาเลย
มันไม่เป็นประโยชน์อะไรต่อตัวเขาเลย
ให้เขาเขียนด้วยลายมือสัก 3 หน้ากระดาษ เช่น
ตั้งหัวข้อว่า ทำไม? ถ้าเขาเขียนบ่อยๆ
จะทำให้ความคิดของเขาชัดเจนขึ้น

0 มีข้อเสนอแนะสำหรับนักเขียนบทความมือใหม่อย่างไร?

ผมว่าอย่างแรกคือต้องชอบที่จะเขียน
สองรู้ว่าจะเขียนโดยมีวัตถุประสงค์อะไร
จะแสดงความคิดเห็นบางเรื่องหรือว่าจะให้ข้อมูล
สาม ต้องค้นคว้าหาข้อมูล
สี่ ต้องลำดับเรื่องราวเหมือนเล่านิทานให้ลูกฟัง
มีตอนต้น ตอนกลาง ตอนจบ ถ้าเขียนไปเรื่อยๆ
อาจเหมือนฟังนิทานไม่รู้เรื่อง การลำดับเป็นเรื่องสำคัญ
ปัญหาของนักเขียนคือต้องหาเรื่องที่ไม่ซ้ำกับคนอื่น
ประเด็นที่ใหม่หรือคนอื่นอาจมองข้าม
เขียนแล้วคนอ่านต้องรู้เรื่อง
บทความทางวิชาการมี 2 อย่าง คือ
อย่างแรกเขียนให้คนอ่านไม่รู้เรื่อง ใช้คำศัพท์ที่ยุ่งยาก
อย่างที่สองเขียนให้คนอ่านรู้เรื่อง คนอาจจะมองว่าไม่เก่ง
คุณต้องเลือกเอาว่าจะเป็นนักวิชาการแบบไหน
แบบแรกเขียนไม่ยาก
เขียนอะไรที่มีศัพท์วงเล็บภาษาอังกฤษเยอะๆ
คนก็เลิกอ่านไปเอง แต่คนประทับใจมาก
เขียนไม่รู้เรื่องคนเลยไม่กล้าถาม

เวลาเขียนผมมีคนอ่านอยู่ในใจตลอดเวลา
ทุกครั้งที่เขียนทุกย่อหน้าไป
แล้วถามตัวเองว่าถ้าผมไม่รู้อะไรเลยแล้วอ่านย่อหน้านี้รู้เรื่องไหม
ถ้าผมอ่านแล้วรู้เรื่องแปลว่าใช้ได้ แต่ละครั้งผมต้องแก้ 3-4 หน
ต้องไม่มีตัวอักษรผิดหรือตกเลย
ผมค่อนข้างเป็นคนทำอะไรแล้วต้องให้ได้ดี
แล้วต้องอ่านย้อนกลับไปมา
บางทีต้องเขียนให้รายละเอียดปราศจากข้อสงสัย

เวลาเขียนผมมีความสุข ในระหว่างที่เขียนอาจไม่มีความสุขเท่าไหร่
เพราะต้องส่ง พอเขียนเสร็จไปแล้วมีความสุขเหมือนตอนเราออกกำลังกาย
ก่อนออกกำลังกายไม่อยากออกเท่าไหร่ แต่พอออกไปแล้ว
เฮ้อ...มันปีติ เหมือนพวกที่ไม่กินเนื้อ กินแต่ผัก
ตอนกินจะรู้สึกไม่อร่อย
แต่พอกินไปแล้วจะรู้สึกปีติว่าไม่ได้เบียดเบียนใคร
ฉะนั้นเวลาที่ต้องส่งต้นฉบับ 3-4 ชิ้น
เราต้องจินตนาการว่าหากเขียนจบแล้วจะรู้สึกดี
จึงต้องกัดฟันเขียนต่อไป
ผลตอบแทนมันเป็นความสุขใจเมื่อรู้ว่าคนอ่านได้ประโยชน์
มีคนบอกว่าเขาตัดเอาไปสอนนักศึกษา
เออ..ชีวิตเราก็มีประโยชน์นะ