Custom Search

May 10, 2008

เซนยังมิซา : PRAPAS.COM



คอลัมน์ คุยกับประภาส

http://www.prapas.com/
มติชน
10 มิ.ย. 2544


สวัสดีค่ะคุณประภาส

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมาได้อ่านมติชนหน้า 14 ตามอย่างคนที่ติดตามอ่านหน้านี้เป็นประจำ
พออ่านเรื่องเซนและเต๋า จึงอยากจะเสนอข้อแย้งเรื่องที่อธิบายว่า
หลังจากพุทธศาสนาเข้ามาในประเทศจีน ปรัชญาและคำสอนที่มีอยู่ในจีนอยู่แล้ว
ทำให้เกิดการผสมผสานกลาย เป็นพุทธศาสนานิกายใหม่ที่เรียกกันที่หลังว่า
"นิกายมหายาน"
จริงๆ แล้วพุทธศาสนานิกายมหายานนี้เกิดขึ้นมาก่อนที่จะเข้าสู่ประเทศจีน
เพราะหลังจากการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ก็เกิดการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ 1
อันมีเหตุเนื่องมาจากการแตกในหมู่สงฆ์เรื่องวัตรปฏิบัติบางข้อ
สงฆ์พวกแรกยึดถือตาม วัตรปฏิบัติเดิมที่พุทธองค์กำหนดไว้
แต่อีกพวกหนึ่งเห็นว่าควรผ่อนผันบ้างในบางข้อ เพื่อความสะดวกบางประการ
ซึ่งต่อมาสงฆ์กลุ่มนี้เป็นต้นเค้าการเกิดพุทธศาสนานิกายมหายาน
แล้วพุทธศาสนานิกายนี้ ก็เป็นที่นิยมแพร่หลายอยู่ทางภาคเหนือของอินเดีย
และแพร่ขยายขึ้นเหนือไปเรื่อยจนเข้าสู่จีน
รายละเอียดเรื่องกำเนิดพุทธศาสนามหายาน หาอ่านได้ในหนังสือ
พุทธปฎิมา ฝ่ายมหายาน โดย ดร.ผาสุข อินทราวุธ, พุทธศาสนามหายาน
โดย บุณย์ นิลเกษ และ ประวัติพุทธศาสนาเมื่อ 2500 ปีล่วงมาแล้ว
โดย มหามกุฏราชวิทยาลัย

(ชื่อหนังสือไม่ ค่อยแน่ใจเท่าไรนะคะ)

ส่วนเรื่องนิกายเซนตามที่ได้เรียนมา (จากหนังสือทั้งสามเล่มข้างต้น)
นิกายเซนที่มีอยู่ในญี่ปุ่นมีต้นเค้ามาจากพุทธศาสนานิกายฌานใน
จีนและนิกายฌาน ก็มีที่มาจากพุทธนิกายธยานของอินเดีย
โดยสันนิษฐานว่าเริ่มต้นมาจากพระภิกษุชาวอินเดียรูปหนึ่ง
ความรู้ทางศาสนาทั้งหลายในจีนเกิดการพัฒนา
และการแสวงหาความหมายทางปรัชญาที่ลึกซึ้งกว่าเดิม
ช่วงราวสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279 หรือ พ.ศ.1503-1822)
เกิดการผสมกลมกลืนปรัชญาเต๋า ขงจื๊อ และฌาน
ทำให้เกิดการกลืนกันระหว่่่างศาสนาความเชื่อ ทำให้ปรัชญาอันเป็นพื้นฐานเหล่ามี
มีบางแง่มุมที่ใกล้เคียงกัน แล้วที่คุณประภาสบอกว่าเต๋าเกิดก่อนเซน
ใช่ค่ะเต๋าเกิดก่อนเซน เพราะเซนเป็นศาสนาที่พัฒนามาจากนิกายฌาน
แต่ในขณะที่พุทธนิกายฌานเกิดนั้นราวพุทธศตวรรษที่ 11 เท่านั้น
อ้อ! แล้วที่บอกคำสอนของเซนล้อคำสอนของมหายาน
นั้นเห็นว่าไม่ใช่การล้อ แต่เซนถือว่าการทำอะไรก็ตาม
ด้วยความตั้งใจจนบรรลุเกิดปัญญา นั่นก็เป็นวิถีแห่งเซน
จาก
แฟนหน้าสิบสี่
_________________________________________

ตั้งแต่มานั่งเขียนคุยกันสารพัดเรื่องอยู่ตรงนี้
กำลังใจอย่างหนึ่งที่ทำให้มีแรงอยากเขียนอยากค้นอยู่ตลอดก็คือ
ความเอ็นดูจากท่านผู้อ่านและวิทยอาทรที่ส่งมาแย้งเมื่อมีความผิดพลาดขึ้น
ต้องขอบคุณคุณแฟนหน้าสิบสี่ อย่างมากครับสำหรับข้อแย้งต่างๆ
ผมนำมาลงให้อ่านกันเพราะเห็นว่าเป็นความรู้ที่น่าสนใจ
บางข้อนั้น ถือเป็นความรู้ใหม่สำหรับผมด้วยซ้ำ
และก็ต้องขออนุญาตท่านผู้อ่านคุยเรื่องเซนกันต่ออีกสักตั้ง
ถือเสียว่า ฝนเซนยังมิซาเม็ด
ผมเลยมาชวนนั่งชมฝนกันต่อ
อย่าเพิ่งเบื่อกันนะครับ


เรื่องแรกที่ผมบอกว่า
เซนล้อเถรวาท เซนล้อมหายาน
แต่คำท้วงติงท้วงว่า ไม่ใช่การล้อ
เรื่องนี้ผมขอตอบอย่างนี้ ผมเรียกสิ่งนี้ว่าการตีความครับ
การใช้คำบางคำเพื่ออธิบายอะไรบางอย่างที่ผู้ตีความต้องการอธิบาย
อาจมีการเปรียบเปรย หรือใช้คำที่ให้ความรู้สึกชัดเจนหน่อย
แต่ทั้งหมดก็ถือเป็นการตีความดังนั้น
หากผมจะเรียกสิ่งที่เซนพูดว่าคือการล้อ
และการล้อของเซนนั้นก็ทำให้เกิดปัญญา
จะเรียกว่า ผมพูดผิดนั้นย่อมไม่ได้
และเช่นเดียวกันครับหากคุณแฟนหน้าสิบสี่จะบอกว่า
สิ่งที่เซนพูดนั้นไม่ใช่การล้อ ผมก็จะไปค้านว่าคุณแฟนหน้าสิบสี่พูดผิดก็ไม่ได้เช่นกัน
เพราะนี่คือการตีความ ผมจะเล่าความคิดของผมให้ฟังว่า
ทำไมผมจึงรู้สึกว่าการล้อทำให้เกิดปัญญาได้
จำคาถาที่ท่านฮุยเน้งปรมาจารย์เขียนปะกำแพงวัดที่ผมเล่าเมื่อสองอาทิตย์ก่อนได้ไหมครับ
อันนั้นแหละผมก็เรียกว่าเป็นการล้อคาถาแรกที่ปะไว้ก่อน
เรามาทวนกันอีกครั้งก็ได้ครับ
คาถาแรกเขียนไว้ดังนี้
กายดั่งต้นโพธิ์
วิญญาณดั่งกระจกเงา
หมั่นเช็ดถูกระจกเงาให้สะอาด
อย่าได้มีละอองฝุ่นจับได้

ส่วนคาถาของฮุยเน้งคือ
โพธิ์มิใช่ต้นไม้
กระจกเงามิได้ฉายอยู่ที่ใด
เมื่อไร้ทุกสิ่งแต่แรก
ฝุ่นละอองแห่งใดจะมาจับ

ไม่รู้สิครับผมมองอย่างไรผมก็เรียกว่าล้อ
และคำล้อนี้ก็ทำให้เกิดการฉุกคิด
แต่จะถึงซาโตริหรือไม่ ก็แล้วแต่บุคคลครับ
ตอนนี้ผมกำลังนึกถึงกำแพงที่ถูกเด็กนักเรียนไทยพ่นสี
ประกาศศักดาของโรงเรียน ตัวเองอยู่
นึกออกไหมครับ พวก "อ.น.พ. พ่อ วนาคาม"
ซึ่งถ้าผมสมมุติว่านี่เป็นคาถาอย่างหนึ่ง
แล้วมีใครมาพ่นทับว่า "อ.น.พ. ลูกไม่มีพ่อ"
ผมก็เห็นว่ามันคือการล้อ
ใครผ่านมาเห็นเข้าอาจจะหัวเราะขัน
แล้วก็อาจได้คิดอะไรบ้าง ไม่มากก็น้อย
เขียนไว้อย่างนี้อย่าไปรวบรัดตีความว่า
ผมกำลังยกให้กำแพงที่เด็กไทยพ่นสีใส่ถือเป็นโศลก
หนึ่งของเซนนะครับในหนังสือตลกอย่างขายหัวเราะ
หรือการ์ตูนของคุณชัย ราชวัตร นี่ก็คือการล้อดีๆนี่เอง
พวกตลกที่เล่นในโทรทัศน์ ์นี่ก็ใช่
การล้อนั้นจะได้ผลอย่างมากหากสิ่งที่นำมาล้อมันมีอาการค่อนข้างล้นๆ อยู่
หรือที่เด็กรุ่นใหม่เขาเรียกกันว่ามันโอเวอร์ ยิ่งล้นมากยิ่งล้อได้สนุก
ล้อความรักอันหวานชื่นมากๆ ของหนุ่มสาว
ล้อพิธีรีตองที่มากเรื่อง ล้อคนท่ามาก ล้อความรักชาติอันเกินเหตุ ฯลฯ
รู้สึกเหมือนผมไหมครับว่าเวลาเราล้อสิ่งใด
เราก็จะยึดติดสิ่งนั้นน้อยลงท่านพุทธทาสจึงเรียกวันเกิดว่าวันล้ออายุ
อันที่จริงผู้ที่พูดเป็นคนแรกว่า "เซนล้อมหายาน"
นั้นก็คือท่านพุทธทาสนั่นเอง
(ท่านเขียนไว้ในหนังสือภูมิปัญญาวิชาเซน สำนักพิมพ์ศยาม พ.ค.2533)

เรื่องที่สองเรื่องนิกายมหายานถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกที่อินเดียไม่ใช่ที่จีนนั้น
ผมขอเสริมดังนี้ครับ หลังจากที่พระพุทธเจ้าประกาศศาสนาแนวทางที่ทรงวางไว้
เพื่อให้สงฆ์เข้าถึงพุทธะก็คือ ความสันโดษ
และเมื่อเวลาผ่านไปกว่าหกร้อยปีหลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน
ก็เกิดการตีความพุทธเป็นแบบใหม่ขึ้น
ผู้ก่อตั้งลัทธิใหม่เป็นนักปราชญ์ชื่อ นาคารชุนะ
ลัทธินี้พุ่งไปที่ความกรุณาเป็นหลักอุดมคติของลัทธินี้ก็คือ
โพธิสัตว์ตั้งสัตย์อธิษฐานว่ายอมเสียสละแม้กระทั่งความหลุดพ้นของตัวเอง
จนกว่ามวลภาวะสัมผัสทั้งหลายจะเป็นอิสระหลุดพ้นจากความทุกข์
การตีความหมายใหม่นี้ถูกเรียกว่า มะหายานะ หรือยานอันใหญ่
ด้วยเชื่อว่าแนวทางนี้พาผู้คนพ้นทุกข์ได้มากกว่าการเดินเข้าหาความสันโดษ

แต่เพียงผู้เดียว ขณะที่แนวทางเก่าได้ชื่อว่า หีนะยานะ หรือยานอันเล็ก
มหายานเข้ามาสู่จีน ผนวกเข้ากับปรัชญาดั้งเดิมของดินแดนแห่งนี้
จึงก่อเกิดเป็นมหายานที่พูดถึงสุขาวดี
และ พระอวโลกิเตศวร ผู้มีความกรุณาและผู้อุทิศทั้งชีวิต

ในการช่วยเหลือมนุษย์ทุกคน
ให้พ้นทุกข์ก็คือ เจ้าแม่กวนอิม
ดังนั้นที่คุณแฟนหน้าสิบสี่แย้งมาว่า
มหายานถือกำเนิดที่อินเดียก่อนนั้นถูกต้องกว่าครับ


เรื่องที่สามเรื่องกำเนิดเซน
ผมลองกลับไปหาดูในหนังสือหลายสิบเล่มที่ผมมี ประวัติของเซน
ในชมพูทวีปไม่ปรากฏครับ หลายเล่มให้ความตรงกันว่านิกายเซน

น่าจะเริ่มที่ประเทศจีน พ.ศ.1063 พระโพธิธรรมเดินทางมาถึงประเทศจีน
หลังจากที่มหายานลงรากปักฐานแข็งแรงแล้ว
เมื่อมาถึงท่านโพธิธรรมได้มีโอกาสไปเยี่ยมจักรพรรดิหวู่
ผู้เป็นองค์ศาสนูปถัมภก ลองฟังบทสนทนาอันลือเลื่องนี้ดูสิครับ

"ข้าฯสร้างวัดวาอารามมากมาย สร้างพระไตรปิฎกและคัมภีร์ต่างๆ
บุญกุศลของข้าฯ จะได้มากน้อยเพียงใด" จักรพรรดิหวู่ตรัสถามท่านโพธิธรรม
"ไม่ได้บุญเลย มหาบพิตร" ท่านโพธิธรรมตอบ
"แล้วอะไรคือความหมายของธรรมอันประเสริฐอันควรสักการะ"
จักรพรรดิตรัสด้วยความประหลาดใจ
"เปิดใจให้กว้างอย่าได้จำกัดสิ่งใด" ท่านโพธิธรรมตอบ
"ท่านคือใครกันแน่ บอกเราหน่อยเถิด" จักรพรรดิตรัสถามอีก
"ไม่รู้" ท่านโพธิธรรมตอบสั้นๆแล้วชื่อเสียงของท่านก็ลือเลื่อง

ไปพร้อมๆ กับคำตอบสั้นๆ นี้ ชาวพุทธเซน มักนับให้ท่านโพธิธรรมนี้
เป็นพุทธสังฆปรินายกแบบเซนองค์แรก

และเมื่อถึงองค์ที่สามท่าน เซิงชาน
เซนได้รับอิทธิพลจากลัทธิเต๋าของเล่าจื๊ออย่างมาก
เต๋าเป็นประเพณีของจีน เป็นจิตใจของจีนมานับพันปี
เต๋าเน้นการไม่ไปแทรกธรรมชาติ ซึ่งเซนรับอิทธิพลตรงนี้มาค่อนข้างมาก
พอมาถึงท่าน ฮุยเน้ง ที่เขียนคาถาปะกำแพงนั่นก็นับเป็นสังฆปรินายกองค์ที่หกแล้ว
ก่อนสมัยของท่านฮุยเน้ง เซนไม่เป็นที่รับรู้ในฐานะนิกายหนึ่งของพุทธเลย
การนับว่าท่านฮุยเน้ง เป็นผู้ให้กำเนิดเซนก็เป็นตีความอย่างหนึ่งของชาวพุทธเซน
เพราะต้องถือว่า การปรากฏตัว และวิถีแสดงธรรมของท่านแสดง
ให้เห็นจิตใจแห่งเซนอย่างชัดเจน

ดังนั้นหากใครจะถามว่าเซนถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกเมื่อไหร่หรือที่ไหน
ก่อนตอบก็คงต้องบอกว่า มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะตีความว่าตรงไหนเซนได้เริ่มขึ้นแล้ว
ผู้คนเรียกขานเป็นนิกาย? มีวัดแยกมาต่างหาก? การแสดงธรรมอย่างเซนครั้งแรก? ฯลฯ
แต่ถ้าจะถามผมว่าแล้วผมเล่าตีความว่าเซนถือกำเนิดขึ้นครั้งแรกจริงๆ เมื่อไร


ผมก็จะขอเล่าเรื่องนี้ให้ฟังครับครั้งหนึ่งในสมัยพุทธกาล
การชุมนุมสงฆ์ครั้งใหญ่ถูกจัดขึ้นที่ยอดเขาคิชฌกูฏ
วันนั้นมีสงฆ์มาชุมนุมกันมากมาย และต่างคาดหวังว่าจะได้รับฟังพุทธวจนะจากพระองค์
เมื่อผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาถึง พระองค์กลับนั่งนิ่งเงียบอยู่นาน
แล้วก็ทรงหยิบดอกไม้ดอกหนึ่งขึ้นมาถือไว้ในพระหัตถ์โดยมิได้ตรัสสิ่งใด
สงฆ์ทั้งปวงก็พากันนิ่งอยู่ด้วยความฉงน มีแต่พระมหากัสสปะเถระเท่านั้นที่ยิ้ม
เมื่อพระพุทธเจ้าทอดพระเนตรเห็นจึงยื่นดอกไม้ให้พระมหากัสสปะแล้วตรัสว่า
"ดูกรมหากัสสปะ เราได้แสดงขุมทรัพย์อันไพศาลแห่งจิตใจ
คือโลกุตรธรรมให้เห็นแล้ว เราขอส่งมอบให้เธอ ณ บัดนี้"
แล้วเซนก็เกิดขึ้นมา