Custom Search

May 9, 2008

เรากำลังกลัวอะไร?

คอลัมน์ จับจิตด้วยใจ
นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์
มติชน
วันที่ 4 พฤษภาคม 2551

"Whenever you are feeling one of these
negative emotions, ask yourself,
WHAT AM I AFRAID OF?"
KATHY CORDOVA

เคธี คอร์โดวา ได้เขียนไว้ในหนังสือที่ชื่อ
"Let Go, Let Miracles Happen" ของเธอบอกไว้ว่า
ถ้าคุณกำลังมีอารมณ์ลบต่างๆให้คุณลองตั้งคำถามกับตัวคุณเองดูว่า
"คุณกำลังกลัวอะไร?"ท่านผู้อ่านที่ติดตามคอลัมน์นี้เป็นประจำ
ก็คงจะเข้าใจความหมายของคำว่า "อารมณ์ลบ" นะครับ
ว่าผมหมายถึงโดยรวมของอารมณ์ลบๆทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ในตัวเรา
เช่น ความโกรธ ความหงุดหงิดฉุนเฉียว ความอิจฉาตาร้อน ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม ในบทความชิ้นนี้

ผมอยากจะขยายความรวมไปถึง "ความคิดด้านลบต่างๆ" ด้วย ได้แก่
ความวิตกกังวล ซึมเศร้า ท้อแท้ หมดแรง ความคิดซ้ำๆ ซากๆ แบบเดิมๆ
ไม่มีความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯว่าทั้งหมดล้วนแล้วแต่ "มีพื้นฐาน"
"มาจากความกลัว"
ทั้งหมดทั้งสิ้นและยามใดที่เราตกอยู่ใน "อารมณ์ลบ" ทั้งหลายหรือ "ความคิดลบๆ"
ทั้งหลาย ผมพบว่าการ "ลองตั้งคำถาม" กับตัวของผมเองว่า
"ผมกำลังกลัวอะไร?"
แบบที่คุณเคธีได้แนะนำไว้ ช่วยอะไรผมได้เยอะมากครับ"ความกลัว" นั้นเป็น "ด้านมืด"
ที่ลึกที่สุดของมนุษย์ ถ้ามองในแง่ของสมองสามชั้น
ความกลัวนั้นเป็นการทำงานของสมองชั้นต้นหรือสมองสัตว์เลื้อยคลาน
ที่มีอยู่เพื่อให้ "มนุษย์มีชีวิตอยู่รอด" และชนเผ่าอินเดียนแดงเคยบอกไว้ว่าลึกที่สุด
จริงๆ แล้วมนุษย์ถูกออกแบบมาให้กลัวเพียงสองอย่างเท่านั้นคือ
"กลัวความสูง" และ "กลัวเสียงดัง"ปัญหาของมนุษย์ในปัจจุบันจึงกลายเป็นว่า เราเกิด
"ความกลัวเทียม" กันเยอะมากๆ สภาพสังคมที่เร่งรีบบีบรัดเต็มไปด้วยการแข่งขัน
และความเป็นไปต่างๆ นานาทำให้มนุษย์เกิด "ความกลัวเทียม" เยอะมาก
และเยอะโดยไม่จำเป็นและในที่สุดถ้าเป็นไปตามสมมติฐานนี้ "ความกลัวเทียมๆ"
เหล่านั้นก็ได้ "แปรรูป" ไปเป็น "ด้านมืด" อื่นๆ เช่น ความโกรธ ความวิตกกังวล ฯลฯ
แน่นอนว่าในขั้นแรกผมคิดว่า เราจะต้อง "มองเห็น" หรือ "สามารถรับรู้"
ได้ว่าเรากำลังมีความหงุดหงิด ความโกรธ หรืออารมณ์ลบเหล่านั้นกำลังดำรงอยู่ในตัวเรา
ต่อมาจึงค่อยให้ลองตั้งคำถามดังกล่าวกับตัวเราเองว่า
"เรากำลังกลัวอะไร?"
จากนั้นก็อาจจะต้องมองเห็นถึง "ความเสียหายที่มากที่สุด" ถ้ามันจะเกิดขึ้น
และถ้าเป็นกรณีที่เราสามารถผ่านพ้นความกลัวตรงนั้นไปได้
อารมณ์และความคิดด้านลบทั้งหลายก็พลอยหายไปด้วยอย่างน่าอัศจรรย์ตัวอย่างเช่น
มีครั้งหนึ่งที่มีคนขับรถมาจอดขวางที่ประตูหน้าบ้าน
ทำให้รถยนต์ไม่สามารถเข้าออกในบ้านได้ ผมมาเห็นก็รู้สึกโกรธ
มองเห็นว่าตัวเองกำลังโกรธที่มีคนมาทำแบบนั้น
ประเด็นสำคัญก็คือเมื่อสังเกตความโกรธของตัวเองที่เกิดขึ้นมาได้แล้ว
ก็พบว่าตัวเองพอจะสามารถดูแลพลังงานความโกรธเหล่านั้นได้
และเมื่อผมลองถามตัวเองว่า "เรากำลังกลัวอะไร?"
พบว่า เออ...ที่จริงแล้ว "ผมกลัวว่า" ถ้าผมจำเป็นจะต้องออกไปธุระที่ไหน
ผมก็จะออกไปไม่ได้ในทันทีจะต้องหาตัวคนขับรถที่นำรถมาจอดขวางทางเข้าออกบ้าน
"ผมกำลังกลัวว่า" ภรรยาผมที่กำลังทำธุระอยู่นอกบ้านอาจจะกลับเข้ามาในตอนนั้น
และจะไม่สามารถเข้าบ้านได้เมื่อได้เห็นว่า "ตัวเองกำลังกลัวอะไร"
ก็ได้พบแทบจะทันทีเลยว่า เออ..ผมยังไม่เห็นจำเป็นจะต้องกลัวอะไรนี่นา
ในเมื่อผมก็ยังไม่ได้จำเป็นจะต้องออกไปธุระที่ไหนและภรรยาผมก็ยังไม่ได้กลับมาบ้าน

ในตอนนี้หรือเวลาที่วงเหล้าของเพื่อนบ้านคุณส่งเสียงดังยามดึกดื่น
คุณก็โกรธและหงุดหงิด แต่ถ้าลองถามตัวเองดูว่า "กำลังกลัวอะไร?"
ก็อาจจะได้คำตอบว่า "กลัวว่าจะพักผ่อนไม่เพียงพอ กลัวว่าพรุ่งนี้มีงานหนักรออยู่"
เราคิดได้ว่า เราก็พักผ่อนเพียงพอได้โดยที่ยังคงมีเสียงดัง ก็จะพบว่า
"ความโกรธหายไปได้อย่างง่ายดาย" หรือแม้แต่เรื่องบางเรื่องที่อาจจะ
ดูเหมือนจะไกลตัวไปบ้างเช่น ถ้าเรากำลังหงุดหงิดกับเรื่องการเมือง
เมื่อเรามองเห็น "ความหงุดหงิด"
ที่เกิดขึ้นมาในตัวเราได้แล้ว เราก็ควรจะตั้งคำถามกับตัวเองต่อไปว่า
"เรากำลังกลัวอะไร?"
ก็อาจจะได้คำตอบว่า เออ...เรากำลังกลัวว่านักการเมืองจะนำพาให้ประเทศชาติเสียหาย
ล่มจม หรือเรากำลังกลัวนโยบายบางอย่างของนักการเมืองเหล่านี้
จะเข้ามาทำให้ชีวิตประจำวันของเราไม่มีความสุข หรืออื่นๆ
ทีนี้เรื่องสำคัญอยู่ตรงนี้ครับ พอเรามองเห็นแล้วว่า เออ...เรากำลังกลัวว่า
ประเทศชาติเสียหายและโดยสมมติฐานนี้ "ความกลัวว่าประเทศชาติจะเสียหายนี้"
เป็นสาเหตุที่ทำให้เราหงุดหงิดนักการเมืองถ้าเรามี "ทางเลือก"
ที่จะช่วยให้ประเทศชาติไม่เสียหาย หรือเราคิดว่าตัวเราเองนี่แหละ
สามารถทำประโยชน์สุขให้กับประเทศชาติได้ "ด้วยวิธีการของเรา"
หรืออะไรก็ตามที่ทำให้เราสามารถมองเห็นว่า
เออ...เราสามารถทำอะไรได้โดยทำให้ประเทศชาติได้ เราทำหน้าที่ของเราได้
เราก็จะหมดความกลัวตรงนี้ไป เราก็จะหายหงุดหงิดนักการเมืองไปได้บ้าง
อย่างน้อยก็ในระดับหนึ่งอย่างไรก็ตาม หากว่าเป็นกรณีที่เราจะยังไม่สามารถ
"ผ่านพ้นความกลัว" ไปได้ เราก็คงอาจจะต้องฝึกฝนทักษะอะไรบางอย่างเพิ่มเติม
หรืออาจจะต้อง "ใช้เวลา" ในการดูแลความกลัวเพิ่มเติม เช่น
ถ้าเราเข้าใจว่า "ความกลัว"
มีพื้นฐานอยู่ในสมองชั้นต้น ถ้าเราสามารถทำให้สมองชั้นต้นของเราแข็งแรงงอกงาม
อยู่ในความเป็นปกติ ความกลัวของเราก็จะค่อยๆ หายไปได้เอง
การฝึกให้สมองชั้นต้นของเราแข็งแรงต้องอาศัยการฝึกเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
กับการฝึกร่างกายของเราตามที่ผมได้เคยเขียนไว้ไปในแล้วในคอลัมน์นี้
เมื่อเข้าใจเรื่อง "ความกลัว" ได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น ก็น่าจะพอช่วยให้เราไม่ต้องตกเข้าไป
"อยู่ในวังวน" ของความโกรธหงุดหงิดหรือวิตกกังวลให้เสียเวลาเสียสุขภาพไป
โดยเปล่าประโยชน์ได้บ้างนะครับ