มติชน
10 มิ.ย. 2544
อาทิตย์ก่อนเล่าเรื่องตามรายทางของญี่ปุ่นให้ฟังไปบ้างแล้ว
อาทิตย์นี้ผมจะชวนคุยเรื่องเซน (Zazen) ของญี่ปุ่นครับ
เซน เป็นแขนงหนึ่งในพระพุทธศาสนา
ช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมานี้ในบ้านเรามีหนังสือเกี่ยวกับเซน
ให้อ่านกันอยู่มากมาย
ใครที่เป็นหนอนหนังสือก็คงผ่านตามานับไม่ถ้วนแล้ว
ผมเองนั้นรู้จักกับเซนก่อนรู้จักประเทศญี่ปุ่นเสียด้วยซ้ำ
หนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับเซนที่อ่านมาเมื่อครั้งยังรุ่นอยู่
ผมสังเกตดูพบว่าส่วนใหญ่แปลมาจากภาษาอังกฤษ
จะบอกว่าพวกฝรั่งนี่แหละสนใจเซนเอามากๆ
ก็ไม่ผิดถึงตรงนี้คงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า
คนทางตะวันตกนั้นเขามีพื้นฐานความคิดต่างกับคนทางตะวันออกอยู่
คิดดูสิครับ เคยแต่ใฝ่หาความสมบูรณ์พูนสุขความหรูหราอลังการ
อยู่ดีๆ มีคนมาบอกว่าสิ่งที่คุณมีนั้นมันไม่มี
เป็นใครๆ ก็ต้องหยุดฟังทั้งนั้นคนไทยไม่ค่อยจะตื่นเต้นอะไรกับเซนมากนัก
เพราะเซนก็คือพุทธ เซนยังคงพูดถึงสิ่งที่พระพุทธเจ้าพูดมาหลายพันปีก่อนเช่นกัน
เซนพูดถึงเป้าหมายอันเดียวกันในพุทธศาสนาคือ อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ
นักบวชเซนเรียกการรู้แจ้งในชีวิตและสรรพสิ่งทั้งปวงด้วยญาณทรรศนะของตัวเองว่า
ซาโตริ (Satori มีความหมายเท่ากับคำว่า Enlightenment)
ซาโตริจะเหมือนกับสำเร็จเป็นพระอรหันต์หรือไม่ผมไม่แน่ใจ
แต่การถึงซาโตริมีวิธีที่ไม่เหมือนกับทางฝ่ายเถรวาทและมหายานเลย
เล่าเรื่องมาไม่กี่ย่อหน้าผมก็ว่าเรื่องซาโตริเรื่องสำเร็จเสียแล้ว
สงสัยจะเขียนด้วยวิถีแห่งเซนมากไปหน่อย
นั่นคือไร้ขั้นตอนและปราศจากเหตุผล
เซนเขาเป็นอย่างนั้นจริงๆกลับมาเริ่มกันใหม่ก่อนก็ดี เซน เป็นภาษาญี่ปุ่นครับ
เป็นคำเดียวกับคำว่า ฌาณ ในบาลีนั่นเอง เซนกำเนิดที่ประเทศจีน
ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ริเริ่มเซนชื่อ ฮุยเน้ง
ท่านฉายประกายแห่งเซนก่อนที่จะบวชเป็นพระเสียอีก
ครั้งนั้นท่านเป็นคนรับใช้หุงหาอาหารให้พระในวัดแห่งหนึ่ง
ทางตอนใต้ของจีนวันหนึ่งท่านเดินไปเห็นคาถาบทหนึ่งแปะอยู่หน้าวัด
คาถานั้นเขียนไว้ว่า
กายดั่งต้นโพธิ์
วิญญาณดั่งกระจกเงา
หมั่นเช็ดถูกระจกเงาให้สะอาด
อย่าได้มีละอองฝุ่นจับได้
คาถานี้พระในวัดต่างสรรเสริญกันว่าเป็นธรรมะที่ลึกซึ้งยิ่ง
ฮุยเน้งเห็นคาถาที่ว่านี้ก็ให้รู้สึกอยากเขียนคาถาขึ้นมาบ้าง
รุ่งเช้าคาถาของฮุยเน้งก็แปะต่อจากคาถาแรก มีความว่า
โพธิ์มิใช่ต้นไม้
กระจกเงามิฉายอยู่ที่ใด
เมื่อไร้ทุกสิ่งแต่แรก
ฝุ่นละอองแห่งใดจะมาจับ
และตั้งแต่นั้นมาเซนก็ถือกำเนิดขึ้น
อ่านจากคาถาบทนี้ก็คงพอจะเข้าใจนะครับว่า
เซนมีวิธีสอนอย่างไรเมื่อครั้งที่พระพุทธองค์ตรัสว่า
คนเราเกิดมาแล้วเป็นทุกข์ เมื่อเราละตัวตนได้เราก็ไม่ทุกข์
วันนั้นแสงสว่างแห่งพระพุทธศาสนาก็สว่างขึ้น
จนถึงวันนี้สองพันกว่าปีแล้วที่ผู้คนในหลายประเทศยังร่มเย็น
อยู่ในแสงสว่างนั้นคำสอนเรื่องความทุกข์ของพระพุทธเจ้ายังคง
เป็นความจริงของโลก แม้ว่ามรรคไปสู่ความรู้แจ้ง
ในชีวิตของพุทธบริษัทแต่ละแห่งจะแตกต่างกันออกไป
เซนมาเจริญงอกงามมากที่ญี่ปุ่น
แปลกดีนะครับของหลายอย่างในโลกนี้เกิดขึ้นที่หนึ่งแต่ไปโตอีกที่หนึ่ง
ดินที่ญี่ปุ่นคงเป็นดินอุดมสำหรับเมล็ดพืชอย่างเซนโดยเฉพาะ
เมืองไทยนี่ก็เหมือนกัน เถรวาทเติบโตในบ้านเราจนทุกวันนี้
ศูนย์กลางของศาสนาพุทธอยู่ที่เมืองไทยแล้ว
อย่าลืมนะครับว่าพระบรมศาสดาของเราเป็นชาวอินเดีย
กลับมาดูวิธีการสอนของเซนต่อครับเซนไม่สอนให้สวดมนต์
เซนไม่พูดถึงปรมัตถ์ ไม่พูดถึงสมมุติ
เพราะเซนถือว่าทุกอย่างคือสิ่งเดียวกัน
ปรมัตถ์ก็คือสมมุติ สมมุติก็คือปรมัตถ์
บางทีเซนก็พูดสิ่งที่ขัดกันในตัว พูดเพื่อให้ทุกสิ่งไร้ตัวตน
ไม่เชื่อลองฟังอันนี้ดูก็ได้
เมื่อเราข้ามสะพาน น้ำใต้สะพานไม่ไหลสะพานต่างหาก
ที่ไหลภาษาอย่างนี้ถ้ามาพูดแถวซอยในกรุงเทพฯ ก็อาจถูกต่อยได้
แต่ต้องลองคิดว่าเป็นคนเมื่อหลายร้อยปีก่อนพูด
ว่ากันว่าคำพูดแค่นี้มีหลายคราทีเดียวที่
ทำให้พระในวัดเซนสำเร็จซาโตริได้ ลองฟังอันนี้อีกอันดู
หินนี้มีสีเขียวด้วยตะไคร่ตะไคร่มีสีเขียว
ด้วยมีหินให้เกาะตะไคร่
มิได้มีสีเขียวหินก็มิได้มีสีเขียว
รู้สึกอย่างไรบ้างครับ
คุยไปคุยมาสีเขียวหายไปเสียแล้ว
ถ้าคุยไปอีกสักพักทั้งหินทั้งตะไคร่ก็คงหายไปด้วย
และถ้าคุยไปเรื่อยๆ ตัวคนคุยก็คงจะหายไปเช่นกัน
ฟังๆ ดูแล้ววิธีการสอนของเซนแล้วทำให้ผมนึกถึงคำว่า "เฉียบพลัน" ขึ้นมา
เหมือนกับว่าเซนจะสอนให้คนเข้าถึงฌานหรือเซนก็ด้วยอาการฉับพลัน
เหมือนแสงสว่างที่มากระทบตาแวบหนึ่งอย่างไรอย่างนั้น
ไม่มีเรื่องของการวิเคราะห์เหตุผลแบบวิทยาศาสตร์
ไม่มีลำดับความเป็นมาและเป็นไป ไม่มีเรื่องของสมาธิและศีล
เซนพุ่งไปที่ปัญญาเพียงหลักเดียวเซนถือว่าการเข้าใจและรู้แจ้งในชีวิต
เกิดจากการเฝ้าดูชีวิตให้มันผ่านไปเรื่อยๆ ผ่านไปเหมือนสายน้ำในลำธาร
แล้วแวบหนึ่งแสงแห่งฌานก็จะสว่างขึ้น แต่ถึงเซนจะเน้นเรื่องปัญญาเพียงอย่างเดียว
เซนก็สร้างอุบายให้คนเข้าถึงเซนด้วยวิถีความเป็นอยู่เหมือนกัน
เซนเชื่อว่าความวิเวกจะทำให้คนละอัตตาได้ง่ายขึ้น
ตามบันทึกในประวัติศาสตร์เซนเข้ามาในญี่ปุ่นเมื่อราวเก้าร้อยปีก่อน
ในยุคแรกเซนเป็นธรรมของชนชั้นสูงและซามูไร
ด้วยเหตุนี้เซนจึงมีอิทธิพลเหนือวัฒนธรรมญี่ปุ่นอยู่มาก
และด้วยจุดประสงค์ที่จะให้เกิดความวิเวกนี่เอง ศิลปะต่างๆ ของญี่ปุ่น
ไม่ว่าจะเป็นการจัดดอกไม้ ภาพวาด โคลงไฮกุ การชงน้ำชา
หรือแม้แต่การจัดบ้านเรือนทุกอย่างจะทำขึ้นเพื่อให้ดูแล้วจะรู้สึกได้ถึงอารมณ์สงบ
โคลงไฮกุนั้นสั้นเพียงสามบรรทัด ไม่มีฉันทลักษณ์ใดๆ มาบังคับ
นอกจากจำนวนพยางค์ ลองดูบทนี้สิครับผมล่ะชอบจริงๆ
ดอกไม้บานอีกครา
ม้านั้นมีขาถึงสี่ขา
แต่นกมีเพียงสอง
บางคนบอกอ่าน
แล้วเหมือนไม่ได้อ่านอะไร
แต่เซนบอกว่านี่แหละคือชีวิต
ถ้าจะให้ผมสรุปสั้นๆ ตามความรู้สึกส่วนตัวเมื่อเห็นศิลปะแขนงต่างๆ
ของญี่ปุ่นก็คือ เรียบง่าย วิเวก และเฉียบพลัน ไปญี่ปุ่น
คราวนี้ได้ขอเขาเข้าไปดูการจัดดอกไม้ของจริงที่ญี่ปุ่นด้วย
เขาใช้กิ่งก้านและใบน้อยเหลือเกินครับ
ไอ้สวยน่ะก็สวยครับแต่คนไทยอย่างผมบางทีดูแล้วมันไม่ชุ่มใจเลยครับ
เห็นเขาบอกว่ามันทำให้ดูแล้วสงบ พิธีชงน้ำชานี่ยิ่งหนักใหญ่ นั่งชงเงียบๆ
เป็นชั่วโมงพอถึงเวลากินยกดื่มอึกเดียวเป็นเสร็จ
ผมลองทำดัดจริตนึกตีความดู
ผมว่ามันเหมือนซ่อนคำสอนเรื่องความเฉียบพลันอย่างไร
ไม่รู้ชงให้นานแล้วดื่มแป๊บเดียว
ภาพวาดก็เช่นกันใช้เวลากับการศึกษาและทำอารมณ์แสนนาน
พอจะวาดปาดพู่กันเพียงห้าหกเส้นเป็นเสร็จ
ซามูไรก็ฟันกันดาบเดียว
แม้จะยืนจ้องกันหลายนาที
ซูโม่ก็เช่นกันฝึกมาทั้งปี
ขึ้นเวทีมีโอกาสครั้งเดียวเท่านั้น
ที่จะทุ่มคู่ต่อสู้ให้ออกนอกวงให้ได้
ยกเดียวไม่มียกสองยกสาม ไม่มีการให้คะแนน ไม่มีรุ่น
ไม่ว่าตัวเล็กตัวใหญ่มีสิทธิสู้กันได้ ถ้าล้มคนมียศได้ก็ได้ยศไป
อะไรจะเฉียบพลันเรียบง่ายขนาดนั้น
อ่านมาถึงตรงนี้พอนึกออกหรือยังครับว่า
ทำไมผมถึงคิดว่าเซนสร้างญี่ปุ่น เซนทำให้วัฒนธรรมของญี่ปุ่น
แตกต่างจากประเทศเชื้อสายจีนประเทศอื่นๆ อย่างเห็นได้ชัด
ศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้นเรียบง่าย
จนคนหลายชาติให้ความสนใจ
ในความลุ่มลึกของความเรียบง่ายนี้
แม้แต่ภาษาจีนที่ญี่ปุ่นเอามาใช้
ญี่ปุ่นก็ตัดหางตัดหัวออกให้น้อยลงเสีย
เพราะเซนถือว่า น้อยคือมาก
ธงญี่ปุ่นนั่นประไร มีแต่พื้นขาวๆ
แล้วก็วงกลมสีแดงอยู่ตรงกลางแค่นั้น
ยิ่งสวนหินยิ่งไม่ต้องพูดถึง
หินใหญ่สีเข้มวางบนทะเลกรวดสีขาว
เป็นงานศิลปะที่มีความนิ่งอย่างแท้จริง
ความนิ่งอันนี้เองที่เซนบอกว่า
จะทำให้เห็นธรรม วัดเซนที่ผมไปเยี่ยมมาทุกแห่ง
จะรู้สึกถึงพลังนิ่งๆที่อาบไปทั่วภูมิสถาปัตยกรรมที่รายรอบวัดอยู่
ซามูไรทุกคนนับถือเซน
ความวิเวกแห่งเซนสอนได้ให้ซามูไรมีวินัย
เซนสอนซามูไรให้เสียสละและไม่กลัวตาย
เพราะเซนเชื่อว่าความตายไม่มี
สิ่งที่ดาบแหวกผ่านไปนั้นล้วน
เป็นความว่างเปล่า
นักรบทุกคนจึงยอมตายได้เพื่อชาติ
ดังที่เราเคยเห็นซามูไรญี่ปุ่นขี่เครื่องบินพุ่งชนเรือรบมาแล้วในสงครามโลก
ทุกวันนี้ซามูไรญี่ปุ่นเลิกถือดาบ
และหันมาหิ้วกระเป๋าเอกสารรบกับคนทั้งโลกแทน
แต่ดาบเล่มเล็กเหน็บเอวที่ผมเรียกว่า
ดาบแห่งการรับผิดชอบนั้น
ดูเหมือนคนญี่ปุ่นได้ถูกเซนปลูกฝังให้เหน็บไว้ที่ใจไปเสียแล้ว
ทั้งรับผิดชอบ ทั้งรักชาติ ทั้งมีวินัย
ต่อให้เขาแพ้สงครามอีกกี่ครั้งเขาก็ฟื้นได้