มติชน
24 พฤษภาคม 2551
โศกนาฎกรรม พายุไซโคลนพัดกระหน่ำพม่า ถัดมาอีกสัปดาห์แผ่นดินไหว
ถึง 8 ริกเตอร์ถล่มประเทศจีน คร่าชีวิตผู้คนน้อยใหญ่ ยังคงไว้ซึ่งน้ำตาและความอาลัย
ไปดูกันเถิดว่าต้นตอของเหตุมาจาก....!!
ร่องรอยความเสียหายและคราบน้ำตายังไม่ทันจะเลือนหายไป
จากความทรงจำของชาวพม่า หลังจากพายุไซโคลนนาร์กีส
ที่มีความเร็วลม 190 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พัดเข้าถล่ม
บริเวณพื้นที่แถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำอิระวดีและนครย่างกุ้ง
เมืองหลวงเก่าของประเทศพม่าสร้างความเสียหายไปทั่วทุกหัวระแหง
หลังคาบ้านเรือนปลิวว่อนต้นไม้และเสาไฟฟ้าหักโค่น ไฟฟ้าดับทั่วเมือง
หลายชีวิตตกอยู่ในความมืด และอีกกว่าแสนชีวิตที่ต้องสังเวยให้กับภัยพิบัติในครั้งนี้
ระยะเวลาห่างกันไม่กี่วัน เกิดเหตุแผ่นดินไหวบริเวณมณฑลเสฉวนของประเทศจีน
ด้วยแรงสั่นสะเทือนขนาด 7.8 ริกเตอร์ บ้านเรือนพังทลายเป็นแถบ
หลายชีวิตถูกฝังทั้งเป็น ประชาชนหลายคนกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่
เคราะห์ซ้ำกรรมซัดอีกระลอก
เมื่อมีอาฟเตอร์ช็อคขนาด 6 และ 5.4 ริกเตอร์ตามมาติดๆ
ยอดผู้เสียชีวิตนับหมื่นที่ต้องสังเวยให้กับโศกนาฏกรรมทางธรรมชาติอีกครั้ง
หลายคนวิตกกังวลว่าเมื่อใดจะถึงคราวของประเทศไทย
ไม่มีใครล่วงรู้ว่าภัยธรรมชาติจะเกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อใด
และจะสร้างความสูญเสียอีกมากมายเท่าใด
และแน่นอนว่าเราไม่สามารถหยุดยั้งเหตุการณ์เหล่านี้ได้
แต่เราสามารถป้องกันและบรรเทาความรุนแรงให้ลดน้อยลงได้
ด้วยการลดการ 'ใช้' ให้น้อยลง และ 'ใช้' สิ่งของทุกชิ้นอย่างประหยัด
และรู้คุณค่ามากขึ้น
'เชื่อหรือไม่?..ว่าการไม่รับใบบันทึกรายการจากตู้เอทีเอ็ม
จะช่วยประหยัดกระดาษกว่าสองพันล้านฟุต ซึ่งมากพอ
ที่จะใช้พันตามเส้นศูนย์สูตรได้รอบโลกถึง 15 ครั้ง'
แต่นี่เป็นเรื่องจริงที่ถูกกล่าวไว้ใน The green book ผลงานแปลสีเขียวจาก
โตมร ศุขปรีชา เขียนโดย เอลิซาเบธ โรเจอร์ส และโธมัส เอ็ม. คอสทิเจน
หนังสือที่จะมาบอกเล่าคำแนะนำที่ง่ายแสนง่ายในการเริ่มต้นรักษาโลกด้วยมือของเรา
เพียงสิ่งละอันพันละน้อยที่คุณทำในชีวิตประจำวัน
อาทิ ปิดไฟดวงที่ไม่ได้ใช้ เปลี่ยนมาใช้ถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ฯ
ก็ส่งผลใหญ่หลวงต่อโลกของเราได้ ยืนยันได้ว่า
สิ่งเล็กๆน้อยๆสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งยิ่งใหญ่ได้
แม้ว่าเหตุการณ์พิบัติภัยดังกล่าวจะผ่านพ้นไป ทิ้งไว้เพียงซากแห่งความทรงจำ
ความสูญเสียและคราบน้ำตา และแม้ว่าผู้ประสบภัยจะได้รับความช่วยเหลือแล้วก็ตาม
แต่สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ หวาดกลัว หวั่นวิตก
อาจต้องใช้ระยะเวลาในการเยียวยาให้หายขาด
หลายฝ่ายวิเคราะห์ว่าผลพวงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นมาจาก “ภาวะโลกร้อน”
ซึ่งเกิดจากฝีมือมนุษย์ทั้งสิ้น ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญให้หลายคนตระหนักและ
หันกลับมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมและดูแลโลกเพิ่มขึ้น
โลกที่มนุษย์ได้อาศัยอยู่ แต่มนุษย์กลับใช้อำนาจของผู้อาศัยทำลายโลกอย่างไม่ไยดี
มหันตภัยความรุนแรงที่โลกได้ระบายออกมา
ในครั้งนี้อาจเกินที่ผู้ถูกกระทำจะรับไหวและแสดงออกมาในรูปของพิบัติภัยต่างๆ
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่มนุษย์จะหยุดพฤติกรรมย่ำยีโลกเสียที!!!