Custom Search

Mar 28, 2008

นิติพงษ์ ห่อนาค มนุษย์บ้าน งานเพราะ(ขึ้น)

อรการ กาคำ
กรุงเทพธุรกิจ
27 ธันวาคม พ.ศ. 2550
โลกใบปัจจุบัน ใบที่มีใยแมงมุมโยงถึงกันหมด ช่วยให้ใครหลายคนงานได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ...เพียงเพราะไม่ต้องเดินทางหรือไปนั่งจับเจ่าอยู่ในออฟฟิศค่อนวัน
นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลงและผู้บริหารจากค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เป็นอีกหนึ่งคนที่พิสูจน์แล้วว่า การทำงานแบบอยู่กับที่ 'เวิร์ค' กว่าเป็นไหนๆ เมื่อเทียบกับการขับรถเข้าเมืองสมัยก่อน
กรุงเทพธุรกิจออนไลน์์์์ : "ที่มาที่ไป คือ อยู่มาวันหนึ่งเป็นนักแต่งเพลง และอยู่มาอีกวันหนึ่ง ต้องไปสวมหมวกเป็นผู้บริหาร อะไรก็ไม่รู้ ถามว่าทำได้ไหม มันก็ทำได้ ถามว่าชอบไหม มันก็ไม่ใช่นิสัย แต่เพราะไม่มีทางเลือก มาตามสายเป็นพี่เขา ต้องดูแลเขา ดูแลคนทำงาน แต่ก็ทำได้ จนผ่านไปเกือบ 10 ปี พายุมันแรงขึ้นเรื่อยๆ เราเริ่มไม่สนุกขึ้นเรื่อยๆ งานแบบนี้มันต้องใช้นักรบ เราก็เลยไม่รบ ขอเป็นนักแต่งเพลง และก็เป็น 'บอร์ดใบ้' อะไรสักอย่าง ทุกฝ่ายก็เห็นด้วยว่าอย่าใช้รถผิดประเภท รถบรรทุกก็บรรทุกไป รถจักรยานก็ให้มันขี่ขึ้นภูเขาไป"
คุณพ่อลูกหนึ่งเปรียบตัวเองว่าเป็นรถตุ๊กตุ๊ก ถนัดวิ่งระยะใกล้
อีกเหตุผลหนึ่งคือ พฤติกรรมการเสพเพลงที่เปลี่ยนไปเป็นการดาวน์โหลด นิยมของถูกและเถื่อน เจ้าตัวจึงขอยอมแพ้ แล้วส่งไม้ต่อไปให้นักรบเลือดใหม่ที่พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลง
"เรื่องการตลาดเราอาจจะล้าสมัย แต่เรื่องแต่งเพลงเรายังไม่ล้าสมัย เพราะว่าเราก็ยังเล่นไฮไฟว์อยู่ เลยต้องมานั่งทำงานอยู่ที่บ้าน"
ตอนนี้ นักแต่งเพลงผิวเข้ม เข้าออฟฟิศเดือนละ 4-5 วัน ตามหมายประชุมสำคัญๆ
พูดได้ว่า ตอนนี้นิติพงษ์ใช้ชีวิตอยู่บ้านมากกว่าที่ทำงาน ขณะที่งานแต่งเพลงก็ยังเดินหน้าไปเรื่อยๆ

"เป็นความลงตัวพอดี ย้ายมาอยู่บ้านหลังนี้ประมาณ 6-7 ปีแล้ว ได้อยู่คุ้ม เพราะว่ามันแพง (หัวเราะ) อ้าว! ก็คนอื่นเขาอยู่บ้านใหญ่ บ้านโต ไม่รู้กี่สิบล้าน ถามว่าเขาได้อยู่บ้านบ้างหรือเปล่า จริงๆ แล้วผมว่าชีวิตแบบนี้เป็นแนวโน้มใหม่ ซึ่งควรจะทำได้แล้ว เพราะตอนนี้อเมริกา ญี่ปุ่น ประเทศที่แข็งแรงทางด้านเศรษฐกิจ ก็เริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำงานบางอย่าง"
เขายกตัวอย่างความสะดวกต่างๆ นานา ทั้งโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต ที่ลดความจำเป็นในการเดินทาง แต่ถ้าจำเป็นต้องไปเจอหน้า รักษาความรู้สึกกันจริงๆ ...

"ตอนนี้ก็มีอยู่แล้ว ดูผ่านจอก็ได้ (เวบแคม) ผมก็พยายามบอกเพื่อนร่วมงานว่าเรามาเปลี่ยนพฤติกรรมกันไหม อยู่ตึก นอกจากจะเสียค่าพื้นที่ ค่าไฟ แล้ว ในเนื้องานที่สถานที่ไม่จำเป็นเท่าโทรศัพท์มือถือ จะไปเสียค่าน้ำมันกันอีกทำไม"

หากไม่เอาระยะทางเป็นตัวตั้ง เขาบอกว่าจะไปตั้งออฟฟิศส่วนตัวที่ไหนก็ได้ ขอแค่ใช้การสื่อสารให้เป็น
"ถ้าเราใช้การสื่อสารให้เป็นประโยชน์ เราอยู่ที่ไหนในโลกก็ได้ ไม่ต้องซื้อที่ดินแพงมาก ไม่ต้องใช้เวลาเดินทางมาก มีเวลาเหลือ ได้อยู่ใกล้ชิดกับลูกกับเมีย เนื้องานก็จะเป็นงานเพียวๆ แล้ว จะไม่มีปัจจัยอื่นอีกแล้ว เพราะจริงๆ แล้ว ความเครียดอาจจะไม่ได้มาจากเรื่องงานเพียงอย่างเดียว งานอาจจะมีแค่ 10 เปอร์เซ็นต์ รถติดอีก 10 เปอร์เซ็นต์ อื่นๆ อีกเยอะแยะ แต่ถ้าทำงานอยู่กับบ้านได้ ปัจจัยเหล่านี้จะถูกตัดออกไปหมด ถ้าจะเครียดก็เครียดเรื่องงานอย่างเดียว"

วัตถุดิบจากโลกเสมือน
เจ้าตัวบอกว่าเป็นความโชคดีที่สามารถเลือกชีวิตแบบนี้มาได้ 4 ปีแล้ว และปัจจุบันนิติพงษ์ได้มีเวลาใกล้ชิดอยู่กับภรรยาและลูก ซึ่งเรียนอยู่ใกล้บ้าน


"อยู่บ้านมากกว่าลูกอีก (หัวเราะ) ลูกยังมีคิวเยอะกว่าเราเลย กลายเป็นพ่อแม่ขาดความอบอุ่นเพราะเด็กสมัยใหม่ต้องเรียน ทั้งภาษาจีน ภาษาไทย บัลเล่ต์ อาร์ต เปียโน ฯลฯ ตอนนี้ 6 ขวบแล้ว บางทีเราต้องห้ามให้หยุด หรือบอกว่ากินข้าวก่อนลูก"

ในบ้านหลังใหญ่ 'ดี้' นิติพงษ์มีเทคโนโลยีครบมือ ทั้งไฮไฟว์และเอ็มเอสเอ็น ซึ่งนอกจากจะใช้พูดคุยเป็นพื้นฐาน ยังเป็นแหล่ง 'วัตถุดิบ' เขียนเพลงได้โดยไม่ต้องออกไปหาแรงบันดาลใจนอกสถานที่อย่างแต่ก่อน

"ไม่จำเป็นจะต้องไปปาร์ตี้ที่อาร์ซีเอ หรือไปดื่มเหล้าในผับ ก็อยู่ในบ้านนี่แหละ อยากกินเหล้าก็เปิดเบียร์กระป๋องหนึ่ง แล้วออนไลน์ ก็มีคนคุยแล้ว อยากฟังเพลงก็เปิด อยากจะคุยแบบไหน แบบพิมพ์หรือแบบพูด แบบเห็นหน้าด้วยหรือเปล่า มีทุกอย่าง ว่าไปแล้ว การคุยแบบแชท มีสมาธิมากกว่าคุยกันต่อหน้าด้วยซ้ำ เพราะเวลาพูดเราก็พูด แต่การพิมพ์จะมีการกลั่นกรองพอสมควร โดยเฉพาะบางคนเจอหน้าไม่คุยกัน แต่พอได้เอ็มเอสเอ็น คุยกันรู้เรื่องขึ้น แปลกนะ ไม่รู้ว่ามันมีเสน่ห์อะไร"

นอกจากนี้ ข้อดีของการสื่อสารผ่านโลกออนไลน์ยังมีอีก เช่น ไม่ต้องกังวลว่าจดหมายจะถึงช้า สูญหายระหว่างทาง ไม่ถึงมือผู้รับ แถมไม่ต้องเสียค่าซองกันกระแทกอีกต่างหาก

"ไม่มีวันหายเพราะมันอยู่ในเมลบ็อกซ์ ความจริงทุกอย่างสะดวกเกินความต้องการด้วยซ้ำ แต่ว่าเราก็ยังขับรถไปที่ตึก เพียงเพื่อจะตอกบัตร แล้วนั่งทำงานไม่กี่ชั่วโมง นั่นหมายความว่า เรายังตามเทคโนโลยีไม่ทัน เพราะการทำงานเราต้องเอาผลงาน ไม่ใช่เอาเวลา แต่โลกนี้เกินกว่าครึ่งมันยังทำงานด้วยเวลาอยู่ไง เข้างานแปดโมงครึ่ง เลิกห้าโมงเย็น ถ้าทำงานเกินนี้ก็รับโอทีไป ซึ่งมันน่าจะหมดสมัยไปเร็วๆ นี้"
เขาย้ำว่า การทำงานควรดูที่ผลงาน อย่าไปขึ้นตรงต่อเข็มนาฬิกามากเกินไป
ถ้ามนุษย์งานสามารถอยู่บ้านกับครอบครัว จัดแจงเวลาเข้า-ออกงานเองได้ แถมเจียดชีวิตบางส่วนไปอยู่กับครอบครัว โดยหนีบงานไปทำเมื่อสบโอกาสเหมาะ ...นี่น่าจะเป็นชีวิตที่ดีในความคิดของนักแต่งเพลงรัก

"เราก็จะได้ประหยัดชีวิตไปเกินกว่าครึ่ง กับเรื่องที่ไม่จำเป็น มีเวลาได้อยู่กับลูกเมีย งานก็ทำได้ครบถ้วน ดีด้วย มีสมาธิด้วย และมีเวลาส่วนตัวเมื่อไหร่ก็ได้ ผมถึงบอกว่า work at home นี่มันดีจริงๆ ก่อนแต่งงานเราเป็นคนเที่ยวทุกคืน ถึงเวลานี้เดาถูกหมดเลยว่าอะไรเป็นยังไงบ้าง เที่ยวกลางคืนก็ไม่มีอะไร แค่ผู้หญิงแต่งตัวไปให้ผู้ชายดู ผู้ชายก็ไปดูผู้หญิงสวยๆ ไม่ได้แตกต่างกันเลย เราก็จะกลายเป็นคนแก่ ไม่ออกจากบ้านไปเที่ยวไหน แต่ในอีกมุมหนึ่งเราก็คุยกับเด็กรู้เรื่อง รู้ว่ายุคสมัยนี้เป็นอย่างไร และในแง่ของการทำงาน ถ้าใครต้องการเจอตัวข้าพเจ้าก็จงมาหาข้าพเจ้าที่บ้าน อย่างมาสัมภาษณ์ บางคนบอกว่าเจอกันที่แกรมมี่ได้หรือเปล่า เราก็ถามว่าสะดวกใครล่ะ ถ้าเจอกันที่แกรมมี่ เธอก็ต้องเดินทางไป เราก็ต้องเดินทางไป เปลืองค่าน้ำมันทั้งคู่ เธอเปลี่ยนจากเดินทางไปแกรมมี่มาที่บ้านพี่ดีกว่าไหม"

3 ปี ที่ผ่านมา 'ดี้' นิติพงษ์ มีเวลาอยู่บ้านประมาณ 97 เปอร์เซ็นต์ เพราะในรั้วหมู่บ้านมีครบทุกอย่างทั้งโรงเรียน ฟิตเนส สนามกีฬา สระว่ายน้ำ ฯลฯ ขาดอย่างเดียวคือ โรงภาพยนตร์ แต่ครอบครัวห่อนาคก็ไม่ได้ตึงถึงขนาดออกจากบ้านไม่ได้ หากเรื่องนั้นอยากดูจริงๆ ก็ขับรถไปซื้อตั๋วได้ เช่นเดียวกันกับกิจธุระสำคัญๆ เช่น งานสังคม งานแต่งงาน หรืองานศพ

"พูดถึงงานศพเดี๋ยวนี้ฝรั่งยังจัดทางอินเทอร์เน็ตเลย ลงชื่อ ส่งดอกไม้ ....คุณมีญาติอยู่ทั่วโลกก็ไม่ต้องลำบากเดินทางมา แต่เรายังต้องเดินทางไปงานศพอยู่ เพราะงานศพเขาไม่มาบ้านเรา (หัวเราะ) จะกินของอร่อยๆ ก็ให้มอเตอร์ไซค์ไปซื้อมากินที่บ้าน อยู่บ้านใส่เสื้อยืดกางเกงขาสั้นไม่ใส่รองเท้า"
ทุกวันนี้ หลายๆ คืนบ้านหลังนี้ก็จะมีเพื่อนมาปาร์ตี้ ข้อดีอีกอย่างคือ ถ้าเจ้าของบ้านง่วงก็ขึ้นบ้านนอนได้เลย
ปัจจุบัน work at home น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่เลือกได้ แต่สำหรับคนที่เลือกไม่ได้ ประเด็นสำคัญกว่าอยู่ที่ 'การจัดการ' ให้งานสอดคล้องกับชีวิตและผลิตให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะสำหรับบางคน บ้าน คือ 'วิมาน' ที่ไม่ต้องการให้งานเข้ามาเกี่ยวข้อง