กราบเรียน กัลยาณมิตรที่รักทั้งปวงของผม
เนื่องด้วยมีหลายท่านทราบข่าวว่าผมคิดอ่านลงสมัครสมาชิกวุฒิสภา
ในระบบเลือกตั้งของกรุงเทพมหานครตามสื่อต่าง ๆ
แล้วพากันอึ้ง ฉงนใจ
ไถ่ถาม ว่าทำไมผมจึงมีความคิดจะไปป้วนเปี้ยนในระบบการเมือง
ผมจึงอยากไขข้อฉงนของท่านมาพร้อมกัน ณ ที่นี้เสียเลย
ผมเองอยากจะบอกก่อนว่า อย่าว่าแต่ท่านทั้งหลายแปลกใจเลย
ผมเองก็แปลกใจตัวเองเช่นกัน เพราะไม่เคยมีอยู่ในแผนชีวิตมาก่อน
แต่ทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นจากระบบคิดที่สั่งสมมาโดยไม่รู้ตัว
สมัยวัยเรียน ผมจำได้ว่า
เวลาครูสอนหนังสือวิชาใด
ก่อนจบชั่วโมง ครูจะถามนักเรียนว่า
มีใครไม่เข้าใจตรงไหน
ให้ยกมือขึ้นถาม ก็จะไม่มีใครถามอะไร
ไม่กล้ายกมือ
ใครยกมือขึ้นถามก็จะถูกเพื่อนล้อว่าเป็นเด็กเรียน
อายเพื่อน น่าขำ
ยิ่งเป็นเด็กหลังห้องจะยิ่งไม่กล้าถาม
ปล่อยให้เด็กเรียนหน้าห้องเรียนเก่ง
ถามครู
แล้วเพื่อน ๆ ก็คอยนินทาว่าประจบครู
แต่ตัวเองก็ยอมให้ตัวเองเรียนไม่รู้เรื่อง
ทุกวันนี้ก็ยังมีทัศนคติแบบนี้อยู่ในอีกหลายส่วนของสังคม การเรียน
ครูก็อยากให้ทุกคนรู้วิชา เท่าเทียมกัน การเมือง
ก็เป็นเรื่องของทุกคนเท่าเทียมกันเช่นกัน
เราทุกคนไม่ว่าอาชีพใด มีสิทธิ์ "ยกมือ" ถามได้เสมอ
ตามรัฐธรรมนูญที่เขาอุตส่าห์กวักมือเรียกให้เราไปมีส่วนร่วมเท่าที่จะทำได้
ผมเชื่อว่าทุกคนสนใจการเมืองไม่มากก็น้อย เกลียดคนนั้น
รักพรรคนี้ นินทาการเมือง วิพากษ์วิจารณ์อย่างเผ็ดมัน
ไม่ต่างกับการดูฟุตบอลพรีเมียร์ลีก หรือละครหลังข่าว
เพียงแต่ว่า ฟุตบอลกับละครทีวี
ไม่มีผลกระทบกับชีวิตเราอย่างที่การเมืองเป็น
ผมนินทาการเมือง นักการเมืองกันตามโต๊ะน้ำชา ร้านกาแฟ
แล้วก็กลับบ้านไป มีประโยชน์แค่พอให้ระบายความคับแค้นหรือขำขัน
ผมยี้คนนั้น ยี้คนนี้ ไม่อยากให้คนนั้น คนนี้เข้าไป
ผมด่าคนนั้นคนนี้ ตำหนิพวกเขา แต่ผมก็ไม่ได้ทำอะไรเลย
ที่จะส่งเสริมคนที่คิดว่าดี ได้เข้าไปทำหน้าที่ที่สำคัญ
ผมไม่เคยคิดส่งตัวเองเข้าไปในวงการเมือง
ในฐานะที่เราคิดว่าเราคิดดี มีแนวคิดที่แตกต่าง
ผมไม่ส่งเสริมเพื่อนที่รู้สึกว่าเขาเก่ง
หรือคนที่รู้จักที่คิดว่าเขาคิดดี แต่กลับทัดทาน
ห้ามปรามว่า
อย่าเข้าไปเลยการเมือง มันเปลืองตัว
มันแปดเปื้อน แก่งแย่งชิงดีกัน
ดังที่ผมเคยได้ยินตลอดมา
หลายครั้ง ผมได้แต่ตำหนิผู้คนในสภาว่า
ทำไมถึงเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่เข้าท่า
แต่เวลาถามตัวเองกลับไปว่า แล้วเอ็งคิดว่าเอ็งแน่
ทำไมเอ็งไม่ลองเข้าไปในนั้นดูมั่งเล่า
ผมก็ตอบตัวเองแบบง่าย ๆ ว่า ไม่เอาละ เรื่องอะไร เปลืองตัว
ผมไม่เคยคิดที่จะยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมาแต่ไหนแต่ไร
เป็นคนนินทาหรือกองเชียร์อยู่ไกล ๆ ตลอดมา
เพราะคิดว่าตนเองเป็นคนทำงานสัมมาอาชีพ ไม่ว่าง
และอยู่คนละโลกกับพวกเขาที่อยู่ใน "ห้องใหญ่ห้องนั้น"
ทั้ง ๆที่คนใน "ห้องนั้น" มีส่วนอย่างมากที่จะทำให้
เรามีความสุขหรือทุกข์ได้ โลกของพวกเขาเป็นโลกเดียวกัน
กับของเรา
เรื่องที่เขาตัดสินกันใน " ห้องนั้น " เป็นเรื่องของเราทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้น ทัศนคติที่ผมมีต่อการเมืองตลอดมานั้น
ผมคิดผิด ควรต้องเปลี่ยนความคิดเสียใหม่
แล้ววันหนึ่ง ไม่นานมานี้เอง ผมจึงได้คิดว่า
ถ้าพร้อมเมื่อไร มีโอกาสเมื่อไร จะขอเข้าไปดู
เข้าไปเห็น เข้าไปช่วย
เข้าไปทัดทานได้บ้าง
จึงได้ตัดสินใจลงสมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา
มีคนถามว่า ผมมีนโยบายอะไรบ้าง
ในการจะอาสาเป็น ส.ว.กรุงเทพฯ
ถ้าเป็นคำถามที่ต้องตอบในเชิงการเมือง
ผมคงคิดอะไรหรู ๆ ได้สักสิบเรื่องในเวลาสักชั่วโมงหนึ่ง
แล้วพูดออกมาสวย ๆ อย่างที่เราเคยเห็นพรรคการเมืองเขามีกัน
ซึ่งระดับพรรคการเมืองยังไม่สามารถทำตามสัญญาได้
ระดับ สว.หนึ่งคน จะพูดนโยบายสวยหรูก็คงน่าขบขัน
ตอนนี้ผมขอเพียงตั้งใจอาสาหน้าที่สว.
ในความเห็นของผมเบื้องต้นคือการตรวจสอบ
ให้คำปรึกษา ทัดทาน ยับยั้ง
แก้ไขในสิ่งที่คิดว่าไม่น่าจะถูกต้อง
ไม่โดดประชุม
พยายามให้กฎหมายที่ร่างออกมานั้น
มีสามัญสำนึกและประโยชน์จริง
ทำแค่นี้ให้ได้ก่อนเถิด
อีกประเด็นหนึ่งคือ
อยากให้คิดกันเสียใหม่
ว่า ประเทศชาตินี้
มีมนุษย์อีกหลายอาชีพ หลายเผ่าพันธุ์
อย่าปล่อยให้ถูกปกครองจากผู้คนเพียงไม่กี่อาชีพ
นักการเมืองนักปกครองของบ้านเรา
มีสัดส่วนของข้าราชการประจำ ข้าราชการบำนาญ
นักกฎหมาย
นักการเงิน เอ็นจีโอหรือ
ผู้มีอิทธิพลท้องถิ่น
อยู่เต็มสภามานานแล้ว
น่าจะมีอีกหลายสิบหลายร้อยอาชีพ
ได้เข้าไปร่วมด้วยบ้างในสัดส่วนที่พอเหมาะพอควร
รัฐธรรมนูญทุกฉบับเขียนให้ราษฎรมีสิทธิเท่าเทียมกัน
มีสมองและปัญญาใคร่ครวญดุจเดียวกัน
จึงไม่ควรมีกลุ่มสาขาอาชีพใด
ถูกมองว่าด้อยวุฒิภาวะทางการเมืองกว่ากลุ่มใด การเมือง
ไม่ใช่เรื่องของ
" คนกลุ่มนั้น " อีกต่อไป
เพราะการเมืองเป็นเรื่องของ " ทุกคน "
พลังเงียบ นักเรียนหลังห้อง
ถึงเวลาต้องมาแสดงสิทธิเลือกตั้งแล้วครับ
รวมทั้งถ้ามีโอกาสที่พร้อม
ก็ควรจะแสดงสิทธิและหน้าที่ได้มากกว่าเป็นคนคอยกากบาท
และนั่งลุ้นอยู่ที่บ้าน เลือกตั้ง สว. ครั้งนี้
ผมจะได้รับเลือกตั้งหรือไม่ก็ไม่อาจทราบได้
แต่หวังว่า จะเป็นการกระตุ้นอีกจุดหนึ่ง
ให้กับคนทำงานในวิชาชีพต่าง ๆ อีกมากมาย
ได้ตัดสินใจที่จะแสดงศักยภาพและวุฒิภาวะทางการเมือง
ให้ในสภาฯ มีความหลากหลายมากกว่านี้
มีความ " รู้เรื่อง "
หลากหลายกว่านี้
วันอาทิตย์ที่ 2 มีนาคมนี้ เลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา
พลังเงียบอย่าเงียบนะครับ
จะเลือกใครก็ตามแต่ใจ แต่แสดงให้
"คนกลุ่มเดิม ๆ นั้น"
ทราบว่า ยังมีคนอีกหลายกลุ่มหลายสาขา
เขาก็มีพลังเหมือนกัน
สุดท้ายนี้ ขอให้ความจงรักภักดีสัตย์ซื่อต่อพระเจ้าอยู่หัว
ที่ท่านมีอยู่ในหัวใจ
จงคุ้มครองสติปัญญา
ทัศนคติของท่านให้ดำรงชีวิตตน ครอบครัว
และส่วนรวมได้อย่างสุขสงบ มั่นคงด้วยเถิด
นิติพงษ์ ห่อนาค
ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร หมายเลข 29
ป.ล. อาชีพผมยังเป็นนักแต่งเพลงอยู่นะครับ
29 นายนิติพงษ์ ห่อนาค
รายละเอียดผู้สมัคร :
สมาชิกวุฒิสภาสำหรับการเลือกตั้งในวันที่ : 2 มีนาคม 2551
ใบสมัครเลขที่ : 29
หมายเลขประจำตัวผู้สมัคร : 29
ชื่อ-นามสกุล : นายนิติพงษ์ ห่อนาค
สัญชาติ : ไทย
วัน เดือน ปีเกิด : 23 มิถุนายน 2503
อายุ : 48 ปี
เพศ : ชาย
บิดา : สง่า สัญชาติ : ไทย
มารดา : เปรื่อง สัญชาติ : ไทย
คู่สมรส : รุ่งฤดี สัญชาติ : ไทย
การศึกษาสูงสุด : ปริญญาตรี : สถาปัตยกรรมศาสตร์บัณฑิต
เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ปี พ.ศ. : -
หรือสมาชิกวุฒิสภา ปี พ.ศ. : -
หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี พ.ศ. : -
อาชีพ : รับจ้าง
คุณสมบัติอื่น ๆ ตามรัฐธรรมนูญ
11.3 เคยศึกษาในสถานศึกษา : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดที่รับสมัครเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
การศึกษา ระหว่างวันที่ : มิถุนายน 2521 ถึงวันที่ : 22 ตุลาคม 2527
ในจังหวัดที่สมัครรับเลือกตั้งเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปี
ระหว่างวันที่ : 6 กรกฎาคม 2537 ถึงวันที่ : 25 กุมภาพันธ์ 2544
- http://teetwo.blogspot.com/2008/03/2.html
- http://teetwo.blogspot.com/2018/10/l-l-longplay.html
- http://teetwo.blogspot.com/2018/10/blog-post_28.html
- http://teetwo.blogspot.com/2018/02/blog-post_96.html
- http://teetwo.blogspot.com/2017/05/blog-post_20.html
- http://teetwo.blogspot.com/2017/04/blog-post_28.html