Custom Search

Mar 27, 2008

บทสัมภาษณ์ พี่ดี้ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๖


ตัวโน้ตอารมณ์ดี...นิติพงษ์ ห่อนาค

ทชา

สกุลไทย

ฉบับที่ 2561 ปีที่ 50 ประจำวัน อังคาร ที่ 18 พฤศจิกายน 2546

http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp?stcolumnid=2518&stissueid=2561&stcolcatid=1&stauthorid=189

บนชั้น ๒๑ ของอาคาร GMM แกรมมี่เพลสในช่วงบ่ายแก่ๆ เรามีนัดพูดคุยกับกรรมการผู้จัดการบริษัทแกรมมี่ แกรนด์ จำกัด ในเครือบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) คนหนึ่ง เห็นชื่อตำแหน่งแล้ว หลายคนอาจคิดว่า บทสนทนาคงเต็มไปด้วยเรื่องราวธุรกิจหนักๆ ดูจริงจังเข้าขั้นซีเรียส แต่ถ้าบอกชื่อ ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค ก็แทบจะลบภาพนักธุรกิจผู้เคร่งขรึม ไว้ตัว เกือบไม่ทันแล้วรีบนึกถึงนักแต่งเพลง (ในมาดนักธุรกิจ) อารมณ์ดีผู้มีมุมมองความคิดเฉพาะตัวขึ้นมาอย่างแน่นอน
เขาเริ่มต้นเล่าถึงหน้าที่และความรับผิดชอบ ก่อนเปิดม่านประวัติชวิตให้ชมกันสั้นๆ
“ผมเกิดที่จังหวัดลพบุรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๓ พ่อเคยเป็นครู แม่มีอาชีพค้าขาย มีพี่น้อง ๘ คน ตัวเองเป็นคนสุดท้าย จบ ม.๖ ปุ๊บก็เข้ามาเรียนที่คณะสถาปัตย์ฯ ที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง เรียนอยู่ ๑ ปี ก็เอ็นทร้านซ์ใหม่เข้าคณะสถาปัตย์ฯ จุฬาฯ
เมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ เรียนจบปี พ.ศ.๒๕๒๗ กี่ปีไปนับเอา ระหว่างเรียนปี ๒-๓ ก็ทำงานไปด้วย ตอนนั้นใครให้ทำอะไรก็ทำหมด ช่วงปี ๓-๔ ก็มาตั้งวงเฉลียง แล้วก็ไปทำงานเขียนเพลงให้แกรมมี่ด้วย แต่ว่ายังไม่ได้เข้ามามากเท่าไร จนปี พ.ศ.๒๕๒๗-๒๘ จึงเข้ามาทำเต็มตัว ถึงวันนี้ก็เกือบๆ ๒๐ ปีแล้วครับ”

อดีตสมาชิกวงเฉลียงคนนี้บอกว่า ไม่เคยคิดฝันว่าจะได้มาทำงานตรงนี้ด้วยซ้ำ แต่อาศัยความที่เป็นคนรักเสียงเพลงเป็นทุนเดิม ประกอบกับอุปนิสัยที่ไม่เกี่ยงงานเพราะในเวลานั้นฐานะไม่ได้ร่ำรวย อีกทั้งชอบเปิดเผยตัวเอง จึงมีเพื่อนพ้องน้องพี่ชักชวนพาไปทำงานอยู่เสมอ จนกระทั่งทุกวันนี้ที่ชั่วโมงบินสูงมากพอ และประสบความสำเร็จจากหลายบทเพลงอันไพเราะ คำว่า “นักแต่งเพลง” จึงเป็นเหมือนกับสัญลักษณ์เด่นประทับบนตัวเขาไปเรียบร้อยแล้ว
“แม้ว่าผมจะดูแลธุรกิจเพลงในเครือแกรมมี่ แกรนด์ ยีราฟ เรคคอร์ด แล้ว แต่ตอนนี้ก็ยังแต่งเพลงอยู่ครับ เพราะในความคิดผม คนที่โตๆไปแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีเวลาว่างและความจริงแล้วมันควรจะมีเวลาว่างมากขึ้นด้วยซ้ำ เพื่อที่เราจะได้ดูภาพรวมอะไรหลายอย่าง ขณะเดียวกัน เราก็ต้องแบ่งเวลาให้ถูก ไม่ใช่ไปลงรายละเอียดทุกอันในขณะที่งานมีเข้ามาเยอะ”
หลายบทเพลงที่เขาแต่ง แทบจะเป็นที่รู้จักของคอดนตรีและโด่งดังจนสามารถร้องได้ทั่วทุกหัวระแหง แสดงว่าต้องมีกลเม็ดเคล็ดลับด้วยแน่นอน...

“จริงๆแล้วผมก็ไม่รู้หรอกนะว่า เพราะอะไรที่ทำให้เพลงดัง แต่ก่อนอื่นเลยคือ จะแต่งเพลงให้ตัวเองชอบก่อน แล้วบางเพลงก็เผอิญว่ามีคนเห็นดีเห็นงามไปกับเราด้วย พอฟังกันหลายคนเข้าทำให้รู้ว่า เราก็มีรสนิยมและสามัญสำนึกต่อเรื่องราวเหมือนกับคนจำนวนมากนั้น ฉะนั้น วิธีการเขียนเพลงจึงเขียนตามที่เกิดขึ้นจริงอย่างตรงไปตรงมามาก ไม่ได้มีชั้นเชิงหรือภาษาสละสลวยสวยเก๋ บางครั้งก็ใช้วิธีอ้อมค้อมด้วย เพราะเวลาคนเราพูดความจริงก็จำเป็นต้องอ้อมค้อม ไม่กล้าพูดออกมาตรงๆสรุปแล้ว เขียนแล้วก็คิดไปด้วยว่าคนส่วนใหญ่จะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร เดาเอาจนถึงทุกวันนี้ล่ะครับ”
เดาเรื่อยมาจนประสบความสำเร็จมากมายอย่างนี้ น่าจะมีนักแต่งเพลงต้นแบบในใจแน่ๆ แต่เจ้าตัวกลับบอกว่า จะใช้วิธีครูพักลักจำจากครูเพลงรุ่นก่อนมากกว่า ทั้งไทยและสากลคืออาจจะไม่ได้รู้จักทุกท่าน แต่ก็คิดตามผลงานไม่ขาดตอน ฟังแล้วก็อยากทราบว่าใครเป็นคนแต่ง ทำให้เรารู้สึกประทับใจและชอบทุกท่านรวมๆกันไป เลยบอกไม่ได้ว่ามีใครเป็นต้นแบบ เพราะมีมากมายเหลือเกิน
นอกจากนี้ ถ้าพูดถึงแนวเพลงที่ถนัดแล้ว คุณดี้ก็ปฏิเสธอีกเช่นกัน พร้อมทั้งบอกว่า ขอให้บอกมาเท่านั้น เขาสามารถแต่งได้ทุกแนวไม่จำกัด ยกเว้นเรื่องการทำซ้ำ ซึ่งถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็จะทำทันที เพราะเมื่อใดที่คิดแล้วว่ามันซ้ำกับของตัวเองหรือคนอื่น จะเริ่มรู้สึกไม่ชอบขึ้นมาทันที ถึงแม้ว่าเพลงนั้นจะดังติดอันดับหรือไม่ก็ตาม แต่ตัวเองก็จะชอบอยู่คนเดียวได้ไม่เดือดร้อนอะไร
จากอดีตจนถึงปัจจุบัน สภาพในแวดวงอาชีพต่างๆ มักจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามกระแสสังคมที่ผลัดเปลี่ยนไปไม่สิ้นสุด อาชีพนักแต่งเพลงก็เช่นกัน ตรงนี้คุณดี้เล่าให้ฟังว่า
“นักแต่งเพลงรุ่นก่อนๆนี่ ระบบธุรกิจจะไม่เป็นธุรกิจจ๋าเหมือนตอนนี้ แต่จะเป็นระบบเถ้าแก่แบบไม่ชัดเจน คือ มีการแบ่งสรรผลประโยชน์อะไรไม่ค่อยชัดเท่าไร เขาก็เลยมีความเป็นอยู่สมควรแก่ฐานะ พูดง่ายๆก็คือ ไม่ค่อยมีเงินใช้นั่นแหล่ะ ทั้งๆที่เพลงก็อมตะดังคับฟ้า จนมาถึงรุ่นผม มันเกิดมิติใหม่ที่เป็นธุรกิจมากขึ้น ซึ่งบางคนก็ทำท่าแบบ อู๊ย ศิลปะเป็นธุรกิจไม่ได้หรอก (เสียงสูง) มันน่าเกลียด แต่จริงๆแล้ว การทำทุกย่างให้เป็นธุรกิจคือความถูกต้อง ตรงไปตรงมา มีการจัดสรรประโยชน์อย่างลงตัวและเท่าเทียม ผมเลยเป็นนักแต่งเพลงรุ่นแรกที่เรียกว่าค่อนข้างจะมีชีวิตที่ดี ได้ผลตอบแทนที่สมควรแก่ฐานะเวลาแต่งเพลงออกแล้วคนชอบกันมากมาย ขณะเดียวกัน ในส่วนผู้บริโภคหรือคนฟังก็มีการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่ๆก็มีชีวิตที่แตกต่างไปจาก ๑๐ ปีที่แล้ว เมื่อก่อนกว่าจะเปลี่ยนใช้เวลาเป็นสิบๆปี แต่ตอนนี้เวลามันหดเข้ามาเหลือไม่กี่วัน ความรวดเร็วของการดำเนินชีวิต การปฏิวัติอุตสาหกรรม สื่อสารสนเทศ อินเทอร์เนต ชีวิตคนรุ่นใหม่เขามีตัวเลือกเยอะ ทำให้พวกเขามีสมาธิในการทำสิ่งต่างๆสั้นลง สนใจอยู่แป๊บเดียว อ้าว เลิกแล้ว ซึ่งจะไปว่าเขาก็ไม่ได้นะ เพราะมันเป็นธรรมชาติของสังคมและไม่น่าจะยุติธรรมกับเขา”

ด้วยเหตุนี้เอง ในทัศนะของเขาแล้ว นักแต่งเพลงในปัจจุบันจึงต้องมีการปรับตัวไปตามสังคมสภาพแวดล้อมนั้นๆ นอกเหนือจากคิดสรรคำให้เขากับจังหวะเพียงอย่างเดียว ซึ่งเป็นวิธีที่จะทำให้นักแต่งเพลงสามารถอยู่ได้ในทุกยุคทุกสมัย

“ชีวิตคนฟังสมัยก่อนจะมีเวลามาก สามารถละเลียดเพลงได้ มีภาษาสวยๆเป็นบทกวีก็มี แต่ตกมาถึงคนรุ่นใหม่ โอกาสที่จะทำให้เพลงละเอียด ละเมียดละไมแทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะคนรับสารสมัยนี้เขามีรูปแบบชีวิตที่เน้นรูปแบบมากกว่าเนื้อหา อีกทั้งสังคมก้าวไปเร็วกว่าเดิม เดี๋ยวนี้เพลงไม่ใช่สิ่งรื่นเริงบันเทิงใจอย่างเดียวแล้ว เขามีแช็ทให้เล่น มีริงโทนให้ต้องเปลี่ยน มีโทรศัพท์มือถือไว้คอยส่งข้อความ ตรงนี้มองอีกแง่หนึ่ง นี่คือโอกาสที่นักแต่งเพลงจะสามารถทำสิ่งที่แตกต่างหรือแปลกใหม่ได้ โดยไม่ต้องมาคอยถามว่า ทำอย่างนี้ถูกหรือผิด แล้วมันจะขายออกหรือเปล่า ถ้าอยากแต่งเพลงก็แต่งในสิ่งที่คิดและชอบเลย ถ้าให้ดีก็อย่าไปทำซ้ำ คนเราควรจะชอบอะไรที่มีเอกลักษณ์บ้าง นอกจากนี้ ถ้าจะทำเพลงอย่างเป็นอาชีพแล้ว ต้องตามใจคนฟัง ต้องรู้ว่าตลาดเขาต้องการอะไร ต้องมีการเปลี่ยนแปลงตัวเองไปตามพฤติกรรมสังคมและผู้คน เพราะถ้าแต่งแบบตามใจตัวเองแล้ว โอ.เค. คุณก็สามารถทำได้ แต่ถ้าถามว่าอยู่ได้ไหม ตอบเลยว่า ไม่ได้หรอก นอกเสียจากจะเป็นลูกคนรวยหรือไม่ก็ทำอาชีพอื่นแล้วเขียนเพลงเป็นงานอดิเรก”
พูดถึงการเขียนเพลงแล้ว ทำให้นึกถึงผลงานเขียนหนังสือของเขาขึ้นมา ซึ่งคุณดี้บอกว่าตัวเองไม่ใช่คนเขียนหนังสือที่ดีเท่าไร เพราะคนเขียนที่ดีต้องมีเวลาและสมาธิมาก อ่านหนังสือและมีข้อมูลเสมอ แต่ด้วยภารกิจหลายอย่างในชีวิตประจำวัน ทำให้เขาห่างจากการนั่งอ่านหรือเขียนหนังสือไปโดยปริยาย ได้แต่เป็นแขกรับเชิญมากกว่า เช่น เขียนคอลัมน์ลงในนิตยสารอิมเมจ และรวมเล่มใช้ชื่อหน้าปกว่า D Type เป็นบทความถาม-ตอบจดหมายที่ผู้อ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่เขียนเข้ามาถามถึงความคิดเห็น ปัญหา การใช้ชีวิต เขาจะเป็นทั้งผู้รับฟังและผู้เสนอแนะ เรียกว่า เขียนไปก็เตือนสติตัวเองและคนอ่านอื่นๆไปพร้อมกัน ต่อมา เปลี่ยนจากหนังสือเป็นอินเทอร์เนต ได้รับเชิญให้ไปเขียนตอบคำถามเรื่องราวของการแต่งเพลงในเว็บไซต์ www.eotoday.com อยู่มาวันหนึ่ง คุณมนทิรา จูฑะพุทธิ บรรณาธิการนำมารวมเล่มไสกาวออกมาเป็นหนังสือชื่อ เติมคำในทำนอง
“หลักการเขียนเพลงและหนังสือใกล้เคียงกันมาก คือ ต้องรู้ว่าเขียนเพื่ออะไร ถึงอะไร เราเขียนแล้วคนอ่านรู้เรื่องหรือไม่ ประทับใจหรือเปล่า มีต้น กลาง ปลาย เบาหนัก แต่ธรรมชาติของการเขียนเพลงและหนังสือก็จะแตกต่างกัน เพลงนี่เราจะเขียนยังไงใน ๘ บรรทัด ให้คนประทับใจได้ สำหรับผม การเขียนหนังสือจะว่ายากก็ยาก จะว่าง่ายก็ง่าย เพราะส่วนใหญ่จะชินกับงานเขียนเพลงสั้นๆ ไม่กี่บรรทัดมากกว่า เขียนยาวๆก็นึกไม่ออก แล้วก็ไม่เคยคาดหวังอะไรเลย จนเพื่อนบ่นว่า ทำไมชอบปลงนักวะ เวลาทำงานอะไรออกมาที ก็จะปรึกษาคนที่บ้าน ถ้าพวกเขาชอบ เราก็แค่นั้นล่ะ ถ้าขายดี เราก็ เออ ดีเว้ย เท่า ขายไม่ดีก็ เออ ก็ไม่ได้เป็นนักเขียนนี่หว่า เขาไม่ซื้อน่ะถูกแล้ว อย่างไรก็ตามทุกผลงานที่ทำนั้นใส่ความตั้งใจไว้เต็มที่เสมอ”

ทำหน้าที่มาแล้วหลายตำแหน่ง จนเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เขาได้รับบทบาท “พ่อ” ของ เด็กหญิงเพียงออ (ตังเม) ห่อนาค ถึงวันนี้ก็ล่วงเข้าสู่ปีที่ ๒ แล้ว คุณดี้รู้สึกอย่างไรบ้าง?
“พูดไปเดี๋ยวจะหาว่าชมลูกตัวเอง (ยิ้ม) พ่อแม่คงเป็นอย่างนี้กันทุกคนนะ คือ รู้สึกว่าลูกตัวเองเก่ง น่ารัก และฉลาดกว่าคนอื่นจัง อย่างดูทีวีเสร็จก็บอกเลยว่า จบแล้ว รีโมทอยู่ไหน เราก็เฮ้ย นี่มันไม่ใช่เด็กเล็กๆพูดแล้วนี่ หรือร้องเพลงชาติได้ระดับเสียงคีย์เดียวกับในโทรทัศน์ เราก็ปลื้มซะ เป็นเด็กที่ค่อนข้างเลี้ยงง่าย ถึก (หัวเราะ) เจอคนก็ไม่กลัว”

แววตาและน้ำเสียงยามพูดถึงน้องตังเม ทำให้เรารู้สึกสัมผัสได้ถึงความรักผูกพัน ความอบอุ่นอย่างใกล้ชิดระหว่างพ่อ-ลูกคู่นี้ เราเลยถามต่อว่า แล้ววางแผนอนาคตให้กับลูกสาวอย่างไรบ้างหรือไม่

“เคยคุยกับแฟน (คุณรุ่งฤดี ห่อนาค) นะว่า จริงๆแล้ว เขาอาศัยท้องเรามาเกิดช่วงหนึ่ง เราช่วยทำให้เขาดูแลตัวเองให้ดีที่สุด หลังจากนั้นสัก ๑๐ กว่าขวบ ชีวิตก็จะเป็นของเขาแล้ว ถ้าว่ากันตามกฎหมายก็คือ หลังอายุ ๒๐ ปีไปแล้ว เขาจะกลายเป็นคนของเพื่อน ของแฟน ของครอบครัวที่แต่งงานไป เราก็เป็นได้แค่ที่ปรึกษาหรือตัวประกอบในชีวิตเขา เพราะฉะนั้น การชี้นำจะไม่อยู่ในหัวเลย เพียงแต่อยากให้เขามีโอกาสได้เลือกในสิ่งที่ให้เลือกให้มากที่สุด แล้วเขาจะเลือกอะไรก็เรื่องของเขา น้องตังเมถือว่าโชคดีกว่ารุ่นผมหรือแฟนผมอีก เพราะเขามีโอกาสในการเลือกมากกว่า เรียกว่ามีทุกอย่างให้เขาได้เลย ซึ่งถ้าถามว่า จะให้เขาลำบากเหมือนเราตอนเด็กได้หรือเปล่า มันคงเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ทั้งๆที่บางครั้งก็อยากให้เขาได้เรียนรู้ความลำบากของชีวิตบ้าง เพื่ออนาคตของเขาเอง ถึงบอกว่าเขาอยากทำอะไรก็ให้ทำเลย ถ้าสร้างสรรค์ก็จะสนับสนุน แต่ก็ไม่ใช่สปอยล์ไปเรื่อย”
ก่อนจากกัน เราแอบถามถึงเพื่อนๆในวงเฉลียงว่าเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า ตอนนี้ยังเจอหน้ากันอยู่เสมอ เพราะเป็นกลุ่มเพื่อนที่สนิทกันจนรู้ไส้รู้พุงหมดแล้ว เราเลยได้ใจ ถามต่อไปถึงความเป็นไปได้ในการรวมตัวแสดงของวงเฉลียงอีกครั้ง และคำตอบที่ได้รับคือ

“พอแล้วครับ เพราะผมคิดว่ามันเลยจากความสนุกไปแล้ว ไม่ใช่ว่าเหนื่อยหรอก ทำงานทุกอย่างก็ย่อมเหนื่อยเป็นธรรมดา แต่บางอย่างมันควรจบก็จบ แล้วจะสวยงาม ถ้าไม่จบแล้วยื้อต่อไป คงไม่มีประโยชน์อะไร สู้ไปนั่งคิดเล่นและเก็บไว้ในความทรงจำจะดีกว่า (ยิ้ม)”
เอาเป็นว่า ใครอยากเห็นวงเฉลียงขึ้นเวที งานนี้คงต้องอาศัยคำภาวนาอย่างเดียวแน่นอน
นานร่วมชั่วโมงกว่าการสนทนาจะจบ แต่ก็เป็นเพียงเสี้ยววินาทีที่ทำให้เราทราบว่า ถึงตอนนี้เส้นทางของเขาได้เดินมาถึงจุดของความสำเร็จทั้งการงานและครอบครัวอย่างน่าพอใจ สำหรับมนุษย์คนหนึ่ง ชีวิตต่อจากนี้ของผู้ชายอารมณ์ดีคนนี้ ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค จึงถือว่าคุ้มค่าและได้กำไรมากเกินกว่าที่คาดหวังไว้...