Custom Search

Sep 2, 2006

จงมั่นใจในทองคำในตัวเอง



ผู้คนในสังคมทุกวันกำลังขาดความมั่นใจกันมากขึ้นทุกทีๆ
บางคนจะทำอะไรก็เอาแต่หวาดระแวงกัน
จะคบใครก็ไม่แน่ใจว่าจะคบดีหรือไม่
จะแสดงออกก็กล้าๆ กลัว ไม่กล้าตัดสินใจ
วิตกกังวลไปซะแทบทุกเรื่อง
บางคนก็ทำลายความมั่นใจของผู้อื่น
เพราะความไม่มั่นใจในตัวของตัวเอง ฯลฯ
ศ.ดร.นพ. วิทยา นาควัชระ ได้เปรียบเทียบว่า
ความมั่นใจของคนเรานั้น
เปรียบเสมือนปริมาณทองคำแท่งในตัวของเราทุก ๆ คน
บางคนมีจำนวนมาก บางคนมีน้อย และบางคนก็ไม่มี
แต่ส่วนใหญ่จะมีอยู่แล้วทั้งนั้น แต่มีปริมาณแตกต่างกัน
คนที่จะมีความมั่นใจได้ก็คือ
คนที่มองเห็นคุณค่าของทองคำในตัวของตนเอง
ซึ่งแม้จะมีไม่เท่ากัน
แต่ก็มีค่าทั้งนั้น คนที่จะมีความมั่นใจในตัวเองได้ คือ
คนที่ตระหนักในความมีค่าของตนเองได้ตลอดเวลา
ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในเวลานั้น ทั้งดีขึ้นหรือเลวลง
เขาก็ยังตระหนักในความมีค่าของเขาอยู่
ทำให้มั่นใจตัวเองได้ มีความกล้า
เป็นตัวของตัวเอง ไม่โลเล
ไม่ลังเล ไม่กังวลกลัดกลุ้ม
ไม่หวาดระแวงใคร ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรค
วิธีที่สร้างความมั่นใจให้ตนเองง่ายๆ

1. ให้นึกถึงทองคำในตัวเสมอๆ คือ
ให้นึกถึงความดี ความเก่ง
หรือสิ่งที่ตัวเองเคยทำได้แล้วเสมอๆ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ใช้ได้
เช่น เคยช่วยคนยากจน เคยช่วยชีวิตสัตว์ตัวเล็กๆ เคยทำบุญ
นึกถึงเพียง 2-3 อย่างก็พอ นึกบ่อยๆ จนเกิด “ความเชื่อ”
ว่าตัวเองมีค่าที่ทำสิ่งที่ดีๆ ได้มาแล้ว เมื่อเราชื่นชมตัวเองได้
เชื่อว่าตัวเองมีค่า
ก็จะเกิดความมั่นใจตัวเองตามความเป็นจริงได้

2. ให้หัดตัดสินใจและรับผิดชอบต่อผลของการตัดสินใจนั้น
การเลือกตัดสินใจเป็นการใช้ปัญญาของมนุษย์
ซึ่งจะต่างกันไปตามประสบการณ์
ความคิด ความรู้ ความกลัว หลักง่ายๆ ในการตัดสินใจคือ
ให้เลือกทำในสิ่งที่ ไม่ผิดกฎหมาย
ไม่ผิดศีลธรรม และให้นึกถึงความรัก
เพื่อนมนุษย์ด้วยความเมตตาเข้าไปด้วย
ผลของการตัดสินใจมักไม่ผิดพลาด
ขอให้คิดว่าเมื่อเรา “กล้า” ตัดสินใจซักครั้งแล้ว
โอกาสที่จะกล้าตัดสินใจครั้งต่อๆไป จะมากขึ้น
เมื่อเราตัดสินใจทำอะไรลงไปแล้ว
ก็ต้องรับผิดชอบต่อผลของการตัดสินใจนั้น
ถ้าผลออกมาดี ก็ทำต่อไป
ถ้าผลออกมาไม่ดี ก็ตัดสินใจใหม่ได้
เปลี่ยนแปลงได้ ไม่เป็นไร
ให้ถือเป็นประสบการณ์ชีวิต
ชีวิตคนเราต้องมีประสบการณ์ทั้งนั้น
ทั้งด้านที่ดีที่พอใจและที่ไม่ดีไม่พอใจ
ไม่เช่นนั้น ขีวิตจะไม่มีค่าหรอก

3. ลดความกลัว
คนจะนึกถึงความกลัวจนไม่กล้าตัดสินใจและไม่มั่นใจในตัวเอง
จงลดความกลัวโดยการนึกถึงคำว่า “กล้า” ให้บ่อยขึ้น
บอกกับตัวเองสิว่า เราจะเติบโตขึ้นทุกวัน เราจะกล้าหาญมากขึ้นๆ
ทุกวันทุกนาทีที่ผ่านไป
ความกล้าหาญอย่างมีสติเป็นคุณสมบัติที่ดีของชีวิต
เป็นคุณสมบัติที่แปลกเพราะ
ถ้าเรานึกว่า เรามีมัน เราก็จะมีมากขึ้นทันที
แต่ถ้าเรานึกว่า เราไม่มีความกล้า เรากลัว เราก็จะ “เชื่อ” ว่าเราไม่กล้า
มีแต่ความกลัวตลอดไป

4. เลิกสงสารตัวเอง ในกรณีที่ตัดสินใจแล้วได้ผลไม่น่าพอใจ
หรือคิดว่าตัวเองตัดสินใจผิด
ถ้าหากทำสิ่งใดแล้วไม่ได้ดี ไม่ได้ดังใจ ก็อย่าสงสารตัวเองเลย
แค่เห็นใจตัวเองก็พอ อย่าซ้ำเติมตัวเอง จงให้กำลังใจตัวเอง
แล้วลงมือทำใหม่ได้
ทุกอย่างจะกลายเป็นประสบการณ์
ถ้าผลออกมาดี ก็ทำต่อไปตามแบบที่ทำแล้วนั้น
ถ้าไม่ดีก็ให้เปลี่ยนเสีย ทำสิ่งใหม่ ก็แค่นั้นเอง
ขอให้นึกเสมอว่า เวลาทำอะไรให้ทำเต็มที่ ตัดสินใจแล้วลงมือทำเต็มกำลัง
ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้นเพราะทำเต็มที่แล้ว ให้ถือว่า เก่งมากและดีมากแล้ว
ส่วนผลที่ออกมาเราควบคุมไม่ได้หรอก ปล่อยไปตามธรรมชาติเถิด
ไม่เป็นไรหรอก ผลเป็นอย่างไรก็ให้ยอมรัรบ แต่ไม่ใช่ความผิดของเรา
ถ้าคิดอย่างนี้ เราจะเกิดกำลังใจ เกิดความมั่นใจ
และมีความกล้าที่จะลงมือทำในสิ่งที่ควรทำตลอดไป

5. เลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ทั้งกับคนที่ดีกว่าหรือกับคนที่ด้อยกว่า
เพราะถ้าเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นบ่อยๆ คุณจะไม่รักตัวเองในที่สุด
หรือมีพฤติกรรมไม่น่ารักตามมามากขึ้น
ถ้าคุณเปรียบตัวเองกับคนที่ด้อยกว่า คุณอาจจะเหยียดเขา
คุณอาจจะหยิ่งหรือหลงตัวเองได้ง่ายๆ ไม่น่ารักหรอก
หรือบางคนก็มัวแต่สงสารคนอื่นจนตัวเองหมดความสุข
บางครั้งคุณอาจแสดงออกคล้ายคนมั่นใจในตัวเองสูงมาก
แต่ที่จริงเป็นเพียงพฤติกรรมของคนที่ยังขาดความมั่นใจลึกๆในจิตใต้สำนึกอยู่

บางครั้งอาจทำลายความมั่นใจในตัวเองของผู้อื่น
ไปด้วยโดยที่ตัวคุณเองก็ไม่รู้ตัว
ถ้าคุณเปรียบตัวเองกับคนที่เด่นกว่า คุณอาจจะอิจฉาเขา
หรือมัวคิดชิงดีชิงเด่นกับเขาจนไม่จิตใจไม่สงบสุข
หรือคุณอาจรู้สึกดูถูกตัวเองหรือรู้สึกต่ำต้อยจนกลายเป็นปมด้อยไป
จงเปลี่ยนจากการเปรียบเทียบ
ให้เป็นการยอมรับจะดีกว่า เช่น
ถ้าเราดีกว่าหรือทำอะไรได้ดีกว่าหรือมีคุณสมบัติที่เด่นกว่าคนอื่น
ก็ให้ยอมรับ และมีจิตเมตตาต่อคนอื่น อยากช่วยเขา ฉุดดึงเขามากขึ้น
ทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น ไม่ใช่ต้องทำให้ได้ไปทั้งหมด
เพราะนั่นจะทำให้เกิดทุกข์ได้อีก
แต่ถ้าคนอื่นเขาดีกว่าเรา เด่นกว่าเรา ก็ให้ยอมรับอีก
ให้รู้สึกยินดีกับเขาหรือจะเลียนแบบอย่างที่ดีๆ
จากเขามาบ้างก็ได้
จะทำให้ได้ทั้งมิตรภาพและความเจริญรุ่งเรืองกับตัวเองมากขึ้น
รู้จักเมตตาคนที่ด้อยกว่าและยอมรับยินดีกับคนที่เด่นกว่า
จะทำให้ไม่หลงตัวและไม่เกิดปมด้อยในจิตใต้สำนึก
สังคมจะน่าอยู่ ผู้คนจะน่ารักต่อกันมากขึ้น
ช่วยกันสานฝัน ช่วยฉุดดึง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
คิดและทำแต่สิ่งที่สร้างสรรค์ให้มากขึ้นเถิด
เราจะได้อยู่กันอย่างสันติสุข
ในกลุ่มคนที่พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งๆขึ้น
สรุปมาจากบทความของ...ศ.ดร.นพ. วิทยา นาควัชระ