http://www.facebook.com/rewat.forever
ช่วยเปรียบเทียบระบบ ธุรกิจการทำเทปในบ้านเรา ระหว่างเมื่อก่อนกับปัจจุบัน
เราต้องยอมรับว่า ธุรกิจการทำเพลงนี่มัน
ไม่ได้เกิดขึ้นที่เมืองไทย มันเกิดขึ้นที่เมืองนอก
มันเกิดตัวกลไกตลาด เกิดระบบธุรกิจที่ เป็นอินเตอร์เนชันแนลขึ้นแล้ว
เมืองไทยจึงเริ่มมาก่อตัว เพราฉะนั้นเราไม่มีทางที่จะ หลีกหนีพ้น
มันก็เป็นระบบที่ผ่านการ พิสูจน์มีข้อมูลต่างๆที่เป็นระบบอยู่แล้ว
อีกอย่างเผอิญอาจจะเป็นเพราะ ว่าผมมีประสบการณ์ตอนที่เป็นหนุ่มๆ
ผมไปลุยเป็นนักดนตรีรับจ้าง อยู่เมืองนอก 6 ปี เพราะฉะนั้นผมรับระบบนี้
เต็มหัวเลย พอมาถึงเมืองไทยผมก็เริ่มมองตลาด ผมเรียนเศรษฐศาสตร์
ผมมองตลาดชัวร์อยู่แล้ว พอเห็นปั๊บก็ วิเคราะห์ออกมาได้ว่า
อ้อ จริงๆตลาดเทปบ้านเรานี่มันยังไม่มีระบบ ไม่มีเลย
ถ้าเรามาเริ่มทำอะไรก็คงเกิดผลดี หนึ่งในแง่ของตัวธุรกิจเอง
สองในแง่ของสังคมใช่มั้ย ผมก็เลยจับมือกับเพื่อนลองเดินตรงนี้ดู
ตอนต้นๆก่อนที่พวกเราจะ เข้ามาในธุรกิจแผ่นเสียง
หรือเทปคาสเสตต์ในระยะแรกมักจะ ถูกกำหนดโดยนายทุน
นายทุนที่ทำธุรกิจกันแบบครอบครัว เขามาจ้างคุณไปร้องเพลง
แล้วมาเท้าสะเอวดูคุณในห้องอัด ว่าอย่างนี้โอเคแล้ว
เขามาจ้างคุณแต่งเพลง คุณก็แต่งไปให้เขาดู เขาก็ดูๆ...ว้าไม่ได้ อย่างนี้ไม่ได้
ไม่ถูกใจเขาน่ะ ว่างั้นเถอะ ถ้าเรามองกันแบบธุรกิจจริงๆ
แล้วจุดเสี่ยงมันถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถ้าเทียบกับของ
แกรมมี่่เราในตอนนี้ทุกอย่างมันเริ่มจะเป็นระบบ
ผลงานที่ออกมาได้ทั้งศิลปะและธุรกิจ
มีความเห็นอย่างไรที่มีการพูดมากว่า วงการเทปทุกวันนี้มันเป็นธุรกิจมาก
เพลงอาจจะไม่ดีจริง แต่อาศัยการเปิดกรอกหูทุกวันๆ
เห็นด้วย...อย่างผมนี่ผมไม่สนใจเลยเพราะถือว่าผมทำจริง เล่นของดีจริง
รักษาคุณภาพจริง ตรงอื่นเป็นเรื่องของการบุกเข้ามาหาผลประโยชน์กลับไป
ผมว่าวงการเทปมันเป็นเรื่องของแมงเม่าบินเข้ากองไฟ
การที่แมงเม่าบินเข้ามา แมงเม่าก็ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร
รู้แต่ว่าถ้าบินผ่านกองไฟไปได้นี่ฉันได้เงิน ตอนนี้เทป100ม้วน
มีเทปที่ประสบความสำเร็จไม่เกิน 8 ม้วน ถามว่าวงการเพลงไทยเน่ามั้ย เน่าครับ
ผมยืนยัน แต่ทุกอย่างมันก็ยังขึ้นอยู่กับประชาชน
ถ้าเขาเอาเงินมาซัดโฆษณาปาวๆแล้วขายไม่ได้ นั่นแหละครับ
เขาจะเริ่มรู้สึกว่า วิธีนี้มันใช้ไม่ได้แล้ว ฉันไม่ใช่อาชีพนี้
ไป...มันก็จะเหลือตัวจริงอยู่
มองธุรกิจกับศิลปะมีความขัดแย้งกันหรือไม่
ในแง่ธุรกิจ ทุกเพลงต้องผ่านขั้นตอนตรงนี้หมด จะเป็นเพลงของบีโธเฟ่นก็เป็นธุรกิจ
ผมชัดเจนมากตรงนี้ ธุรกิจกับศิลปะถ้าจากศิลปินไปหาประชาชนแล้ว
มันต้องไปด้วยกันเสมอ
ตอนนี้เทปเพลงที่ประสบความสำเร็จแทบทั้งหมดจะมาจากบริษัทแกรมมี่ พี่เต๋อคิดว่า
การที่อัลบั้มชุดหนึ่งจะประสบความสำเร็จได้ต้องการอะไรบ้าง
อันนี้จะต้องพูดถึง 4 ข้อ ในแง่การผลิต ซึ่งผมจะเป็นคนดู
ในแง่การตลาดไพบูลย์จะเป็นคนดู ในแง่ครีเอทีฟเล็กบุษบาจะเป็นคนดู
ในแง่การใช้มีเดียกิตติศักดิ์จะเป็นคนดู บอร์ดของแกรมมี่จะมี 4 คน
เพราะจริงๆแล้ว 4 หัวข้อที่เราดูตรงนี้ เราเชื่อว่ามันเป็นปัจจัยของความสำเร็จ
มันขึ้นอยู่กับคนที่ตัดสินใจตรงนี้ไงฮะ
แล้วคนที่มีอาชีพทางด้านอุตสาหกรรมดนตรีต้องเป็นคนดนตรี นี่คือเงื่อนไขของผม
เวลาแต่งเพลงนี่จะแต่งเนื้อร้องหรือทำนองก่อน แล้วทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสียต่างกันอย่างไร
อันนี้ต้องเท้าความไปถึงทฤษฎีดนตรีของเรา เค้าเรียก Pentatonic คือมีโน้ตอยู่ 5 ตัว
ไม่มีตัวฟา ไม่มีตัวที การแต่งเพลงในประวัติศาสตร์ไทยก็มาจากเขียนกลอน
แล้วค่อยเอากลอนนั้นมาขับร้องเป็นเพลงออกมา
การเคลื่อนตัวของบันไดเสียงและโน้ตจะเป็นไปตามบันไดเสียงของภาษาที่เขียนลงไป
วิธีแต่งที่ง่ายที่สุดก็กลอนแปด บัดเดี๋ยวดังหว่างเหง่งวังเวงแว่ว
สะดุ้งแล้วเหลียวแลชะแง้หา... เพราะฉะนั้นกี่เพลงๆมันก็เลยไม่ไปไหน
ซึ่งทีมการผลิตของเราผ่านการศึกษามาอย่างดี เราก็เคาะตรงนี้แตก
ว่าวิธีที่จะให้เพลงไทยของเราเริ่มเปลี่ยนแปลงก็คือการทำเมโลดี้ก่อน
แล้วปัญหาหนักไปอยู่ที่คนเขียนเนื้อใส่คำภาษาไทยให้ไม่เขินกับตรงนั้น
ซึ่งอันนี้เราฝึกปรือกันมาอย่างดี เราพยายามทำงานกันอย่างเต็มที่
ในระยะแรกเราเหนื่อยกันมาก ตอนนั้นมีผมกับนิติพงษ์ อยู่ 2 คน
ซัดกันมาแบบหัวปักหัวปำ จนวันนี้เราก็เบ่งบานมาเรื่อยๆมีคนเยอะขึ้นซึ่งมันใช้เวลาฮะ...
ช่วยวิจารณ์เรื่องการนำเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยในการเล่นดนตรี
ยกตัวอย่างเรื่องกลอง ตรงนี้เราไม่ใช้ดนตรีจริงเลย ซึ่งนักวิชาการ
นักวิจารณ์หลายคนมีการพูดกันมาก เค้าไม่ได้มีอาชีพนี้เค้าไม่รู้หรอกว่า
วันนี้โลกก้าวไปถึงไหนแล้ว อย่างเครื่องมือทำกลอง
ที่ทำออกมาขายมันถูกสร้างขึ้นโดยนักดนตรีที่เก่งที่สุดในโลกคนหนึ่ง
ทำงานร่วมกับวิศวกรทางด้านเสียง
เครื่องมือกลองที่ผมมีอยู่มันก็คือคนตีกลองที่เก่งที่สุดในโลก
มันขึ้นอยู่กับว่าคนที่โปรแกรมเข้าไปน่ะสามารถถ่ายทอดความรู้สึกได้แค่ไหน
ต่างคนโปรแกรมผลมันก็ออกมาต่างกัน
แต่ว่าไอ้เครื่องที่ผมมีอยู่มันตีกลองเก่งที่สุดในโลก...
นอกจากนั้นเสียงเครื่องดนตรีเสียงเอฟเฟ็กต์ อะไรก็แล้วแต่
...เอ้กอี๊เอ้กเอ้ก กรุงเทพมหานคร มันอยู่ในดิสก์
ซอฟต์แวร์เหล่านี้มีเยอะแยะเต็มไปหมดเลยครับสตีวี วันเดอร์
บางเพลงนั้นไม่ได้ใช้นักดนตรีเลย บางเพลงที่สตีวีอ้าปากพะงาบๆนั่นก็ไม่ได้ร้องนะฮะ
มาจากเครื่อง ไมเคิล แจ็คสัน เวลาแสดงคอนเสิร์ตคนที่ร้องคอรัสอ้าปากอยู่ก็ไม่ได้ร้อง
มันมาจากเทป เหตุผลก็คือเค้าดูแลผลงานของเค้า
ประชาชนซื้อตั๋วเข้ามาดูแล้วต้องได้เสียงที่สมบูรณ์แบบ อย่างคอนเสิร์ตธงไชย
จะบินไปให้ไกลสุดขอบฟ้า นั่นก็มีบางตอนที่ลิปซิงค์
เพราะว่าจริงๆแล้วในระบบของไมโครโฟนที่ติดอยู่บนหัวตรงนั้น
เวลาธงไชยเคลื่อนที่ไปมันเป็นไปไม่ได้ที่ประชาชนจะได้เสียงที่ดี...เป็นไปไม่ได้ครับ
ตรงนี้มันเป็นการยอมรับซึ่งกันและกัน อยู่ที่เจตนารมณ์ต่างหากว่าเราทำอย่างนี้เพื่ออะไร
ใช่มั้ยฮะ
แกรมมี่มีแนวทางการคัดเลือกศิลปินอย่างไรบ้าง
ศิลปินก็มีทั้งที่เดินเข้ามาหาเราเองแล้วก็ที่เราเดินเข้าไปหา
คือเค้าไม่รู้ตัวว่าเค้ามีอะไรอยู่ บางทีเราเห็นเราก็เขี่ยเลย ลองดูมั้ย เพราะเราเห็น
ซึ่งไอ้ตรงนี้ก็โอเค ถึงเราจะทำงานเป็นศิลปะอะไรก็แล้วแต่
แต่การทำงานของเราพยายามพิสูจน์
ให้มันเป็นบทบาทของวิทยาศาสตร์ ให้มันเห็นชัดเจนว่าอะไรมันคืออะไร
จะได้ชัดเจนในการทำงาน สมมติอย่างธงไชย แมคอินไตย์นี่
ผมเจอธงไชยผมเห็นแววเค้ามาก ผมก็ยังไม่วางใจเลย
พอพูดจาตกลงกันเสร็จเรียบร้อย ผมไล่เขาไปเล่นละครก่อนเกือบ 2 ปีแน่ะ
บอกผมขอดูหน่อยได้มั้ย พิสูจน์อะไรให้เห็นหน่อย
ซึ่งผมเห็นว่าเด็กคนนี้ท้อปแน่เลย แต่เพื่อความมั่นใจก่อนที่เราจะใส่งานให้เค้า
เราต้องรู้ก่อนว่าเขาเคี่ยวขนาดไหน
สิ่งที่ผมป้อนเข้าไปมันจะได้เป็นไปตามอัตราส่วน
การทำมิวสิควีดีโอมีขั้นตอนอย่างไร
เรามีแผนกครับ ของเราแยกส่วนกันเลย อย่างมิวสิควีดีโอก็มีไดเร็กเตอร์ของเค้า
ครีเอทีฟก็สร้างเรื่องราวมาบรีฟในการถ่าย บรีฟศิลปินว่าเรื่องราวเป็นยังไร
เสนอบอร์ดว่าโอเคมั้ย แล้วก็เริ่มถ่ายๆๆแล้วก็มาตัดต่อ
มิวสิควีดีโอของเราในแง่ครีเอทีฟคนไทยเราไม่แพ้ฝรั่งแล้ว
ผมยืนยันได้ครับ ผมทำงานตรงนี้ผมรู้ อย่างยิ่งเด็กศิลปากร
โอ้โห...เฉียบมากพวกนี้ ด้วยเงินที่เราใช้ทำมิวสิควีดีโอบ้านเรานี่
ฝรั่งทำอะไรไม่ได้เลยครับ แล้วมิวสิควีดีโอเกรดเอของฝรั่งบางเรื่อง
ยังสู้ของไทยเราไม่ได้เลย อันนี้เรื่องจริงนะครับ
ไม่ใช่เฉพาะแกรมมี่นะครับ ที่อื่นเค้าก็มีเก่งๆ
เรื่องงบประมาณในการทำนี่ขึ้นกับอะไรบ้าง แล้วเพลงหนึ่งจะใช้ประมาณเท่าไหร่
ตรงนี้มันเป็นเงื่อนไขในการลงทุนมันแล้วแต่งานด้วย
งานแต่ละชิ้นเราจะวิเคราะห์ถึงขนาดของกลุ่มเป้าหมาย
ขนาดของตลาด มันขนาดไหน เราจะรู้ด้วยประสบการณ์
สัดส่วนมันต้องได้กันอยู่ตลอด มิวสิควีดีโอเบอร์นี้อาจจะใช้เงิน 6 หมื่นบาท
มันแล้วแต่ คือตรงนี้อยู่ที่ผู้บริหารจะมองว่าด้วยอะไรเป็นอะไร
บางชุดต้องโปรโมท 10 เพลงเลย อย่างนูโว นี่ครับ เพราะว่าดีมานด์มาตลอด
ที่นี้ถ้ารวมงบที่ใช้ในการโปรโมททุกทางจะตกประมาณเท่าไหร่ต่ออัลบั้ม 1 ชุด
อันนี้ใช้ 3 เท่าของค่าใช้จ่ายในการผลิตผลงาน ถึงตอนนี้ตก 3 ล้านบาท
ก้าวแรกนะฮะ เพราะว่าค่ามีเดีย วิทยุโทรทัศน์นี่แพงมาก
เราก็ต้องกลับมาเข้มงวดให้คุณภาพสูงขึ้นมาอีก
เมื่อเวลาประชาชนตอบ เค้าจะได้ตอบหนักแน่น
จะได้มีตังค์มาจ่ายตรงนี้ไง ถ้าเราไม่เป็นโล้เป็นพายอยู่
ต้นทุนตรงนี้ก็กินเราตาย
ต้นทุนสูงอย่างนี้แล้วจะต้องขายให้ได้กี่ม้วนขึ้นไปถึงจะเริ่มมีกำไร
จุดคุ้มทุนตกประมาณ 150,000 ม้วน เงื่อนไขในการทำงานเราหนักมากเลย
150,000 ม้วนแค่เท่าทุนนะธุรกิจมันต้องมีกำไรใช่มั้ย
เพราะฉะนั้นมันตกสูงกว่านั้นอีก ไอ้เทปที่ขายประชาชนจริงๆนี่ความเป็นศิลปะมันสูงนะฮะ
มันไม่น้อยกว่าธุรกิจหรอกครับ เพราะว่าถ้าคุณไม่เข้มตรงศิลปะ
ไม่มีคนซื้อคุณหรอกครับรับรองได้
เรื่องผลตอบแทนของศิลปินไม่ทราบทางแกรมมี่เคยมีปัญหาบ้างหรือเปล่า
ศิลปินที่จะเดินออกไปสู่ประชาชนสิ่งที่เค้าคาดหวังก็คือชื่อเสียงและเงินทอง
ถ้าไม่ได้ 2 ตัวนี้เค้าก็แพ้ในสายอาชีพของเค้า
แน่นอนในส่วนของบริษัทตรงนี้เราแบ็กอัปเต็มที่ เรื่องผลตอบแทนไม่มีปัญหา
ผมมั่นใจร้อยเปอร์เซนต์ เพราะมีผมนั่งอยู่ตรงนี้
ผมเป็นประธานบริษัทแกรมมี่ ไพบูลย์เป็นกรรมการผู้จัดการ
เรื่องศิลปะผมชนหน้าตลอด เรื่อธุรกิจไพบูลย์ชนหน้าตลอดเราแบ่งกันอยู่
ไพบูลย์ดูเรื่องธุรกิจก็จริงแต่ตัวเค้าเป็นศิลปิน
เป็นคนเขียนหนังสือเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์มาก่อน
ผมยืนยันว่าตรงนี้คุณธรรมมาก่อน แฟร์มากฮะเรื่องนี้
โดยรวมแล้วบริษัทแกรมมี่ยืนอยู่จุดไหนแล้ว และวางแผนในอนาคตไว้ว่าอย่างไร
ถ้าเทียบกับเรื่องของการเมืองในระดับประเทศแล้วผมทำให้สเกลเล็ก
แต่ผมเล่นเต็มที่ ผมถือว่าผมทำอะไรเพื่อสังคมในแทร็กของดนตรี
เพราะฉะนั้นการที่ผมจะพัฒนาตรงนี้ขึ้นมานี่ผมถือว่า
ผมทำเต็มที่ทั้งชีวิตให้ด้านนี้ ผมมีสตางค์เล่นได้ ผมเล่น มันดูกันออกนะครับ
คนที่มีสตางค์ขึ้นมามากๆ มันดูกันออกว่าคนนี้เพื่อสังคมหรือเปล่า
โกหกไม่ได้หรอกครับ...จับได้
ถามว่าในนามแกรมมี่เรามาถึงตรงไหนแล้ว ปีนี้ปีที่ 6
เราคาดกันไว้ว่ากว่าจะมาถึงจุดนี้ต้องใช้ระยะเวลาถึง 15 ปี
เรามาเร็วมาก อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงก้าวแรกของเราเท่านั้น
เพราะผมมองในสเกลใหญ่ เราต้องไปกันเรื่อยๆ ขยายออกไปเรื่อยๆ
จนถึงจุดหนึ่งที่ผมรู้สึกเหนื่อยเต็มที่แล้ว ไม่เอาแล้ว ก็เท่านั้นเอง
ผมถือว่าผมทำหน้าที่มาครบถ้วนแล้ว ผมเป็นคนที่เชื่อในคนรุ่นใหม่
ผมเชื่อร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าเด็กๆรุ่นน้องต้องเก่งกว่าผม
วันที่พี่ไม่ไหวแล้วน้องต้องเอาอยู่ ต้องทำได้ดีกว่าพี่....
บทสัมภาษณ์ คุณเต๋อ เรวัต พุทธินันทน์ นำมาจากบทสัมภาษณ์ในวารสารรู้รอบตัว
(ซีเอ็ดฯ)ฉบับที่ 44 ประจำเดือนกันยายน 2532
Mirror : http://nklmeekeaw.exteen.com/20090706/entry (2009/Jul/06) (Not Active)
รางวัลผลงานดีเด่นทางโทรทัศน์ เมขลา ครั้งที่ 4 พ.ศ. 2526
ในช่วงการแสดงของช่อง 7 สี โดยนำเพลง ยิ่งสูงยิ่งหนาว
ใช้ประกอบการแสดง โดย คุณ เรวัต พุทธินันทน์
ซึ่งเป็นช่วงกลางของการมอบรางวัลในคืนนั้น
ต้น ลาดพร้าว