Custom Search

Sep 1, 2019

มีวันนี้เพราะพี่สร้าง! “เต๋อ - เรวัต พุทธินันทน์” ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปิน


ที่มา  LINE TODAY 


“สุดขอบ” คือคำที่ นิค – วิเชียร ฤกษ์ไพศาล รองกรรมการผู้อำนวยการ
สายงานมิวสิค โปรดักชั่น และโปรโมชั่น บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ  “พี่นิค genie records” ได้กล่าวไว้ว่า เป็นคำที่  “เรวัต พุทธินันทน์
ศิลปินและผู้ร่วมก่อตั้ง GMM Grammy
มักจะใช้กล่าวถึง การปล่อยฝีมือเต็มที่ ทำให้ถึง หรือไม่ต้องยั้ง
ซึ่งบ่งบอกบุคลิกลักษณะของ “คนดนตรีในตำนาน” ของเต๋อ เรวัต
ผู้อยู่เบื้องหลังในฐานะ “ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปิน” ให้วงการเพลงไทยได้เป็นอย่างดี

วันนี้เราจึงขอรวบรวมเอาหลากหลายเรื่องราวของเต๋อ เรวัต
จากปากคำของศิลปินและคนเบื้องหลัง ที่ได้เคยร่วมงานกับเขา
มาเล่าสู่กันฟัง ไม่แน่ว่า เรื่องราวเหล่านี้ อาจจะทำให้คุณผู้อ่านได้ค้นพบแรงบันดาลใจ
หรือรับรู้ความหมายเบื้องหลังบทเพลงที่“อาเต๋อ”
ของศิลปินทั้งวงการเพลงไทยได้มีส่วนร่วมสร้างสรรค์ไว้
ยิ่งกว่าเดิมก็เป็นได้



“รับไหว้ไม่ได้นะ จับของอยู่…” นี่คือประโยคแรกที่เต๋อ เรวัต
พูดกับ “เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์”หลังจากที่เบิร์ดทักทายเขาขณะเข้าห้องน้ำ
ในงานประกวดร้องเพลงของสยามกลการ ปี พ.ศ. 2526 ซึ่งตอนนั้น เต๋อ เรวัต
ได้รับหน้าที่เป็นพิธีกร ไปพร้อม ๆ กับการมองหาศิลปินหน้าใหม่ให้กับแกรมมี่
ก่อนที่เขาจะเอ่ยประโยคที่เปลี่ยนชีวิตของเบิร์ด ธงไชย
(และอาจจะเป็นชีวิตของพวกเราไปตลอดกาล) ว่า 
“อยากร้องเพลงไหม”
เพราะนี่คือจุดกำเนิดให้ผู้ชนะการประกวดเวทีนี้ในเวลาต่อมากลายเป็น
“พี่เบิร์ด” ที่เรารู้จักในทุกวันนี้
ด้วยความที่เป็นผู้ปลุกปั้น ร่วมงานกันมาทุกย่างก้าว
ทำให้ เบิร์ด ธงไชย ยกย่องและให้เกียรติเรียก เต๋อ เรวัต ว่า “พ่อ”
ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้แจ้งเกิดแล้ว ยังคอยดูแล ตักเตือน
ยังเป็นพ่อผู้เชื่อใน “Cycle ของศิลปิน” และกล้าที่จะบอกกับเบิร์ด ธงไชย
ในจังหวะที่เขาควรต้องพัก เพื่อให้ทุกอย่างทางงานเพลงที่ “ดังถล่มทลาย”
จาก Album สบาย สบาย ได้พักจนเป็นที่มาของการพักเพื่อรับบท “โกโบริ” 
ในตำนานของเบิร์ดและที่มาของ Album บูมเมอแรง ที่เป็นเสมือนการกลับมาทำงานเพลง
หลังจากที่ศิลปินและทีมงานได้พัก และแน่นอน… “ขว้างไปยิ่งแรง ยิ่งกลับมาเร็ว”


"ตู่ จะเป็นคนเดียวถ้ามันยังไม่เลิกร้องเพลง กูจะไม่เลิกทำเพลงให้มัน"
นี่คือประโยคที่ “ตู่ นันทิดา แก้วบัวสาย
หรือ“มี้ตู่” ที่ศิลปินรุ่นหลัง ๆ ชอบเรียก
เธอไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า เต๋อ เรวัต กล่าวอยู่บ่อยครั้งกับทีมทำเพลงจนกระทั่ง



ดี้ นิติพงษ์ ห่อนาค” ได้เอ่ยปากเล่าให้เธอฟังในขณะอัดรายการ Behind The Song
เพราะนันทิดา แก้วบัวสายคนนี้ คือ “เพชร” อีกเม็ดหนึ่งที่ เต๋อ เรวัต ได้เจียระไนมาพร้อม ๆ
กับการเจียระไนตนเองในฐานะ Producer ของเธอ
ด้วยความที่เธอเป็นศิลปินที่ล้มลุกคลุกคลานมากับเต๋อ เรวัต และ GMM Grammy ในยุคแรก
เป็นกำลังใจให้กันมาโดยตลอด และหนึ่งในเพลงสำคัญที่จะคงอยู่เป็นอมตะของ
“นันทิดา” อย่าง“วิมานดิน” นั้นก็เกิดขึ้นจากเสียงร้อง Guide ของ เต๋อ เรวัต ซึ่งตัว มี้ตู่ เอง
ได้เก็บรักษาเทปเสียง Guide ของเขาเอาไว้กับตัวตลอด
จนกระทั่งเธอได้นำออกมาใช้ใน Scene แห่งความทรงจำในคอนเสิร์ต Nantida… The Show Must Go On
ที่เธอได้ร้องเพลงนี้คู่กับเสียงของเขาเป็นครั้งแรก และครั้งเดียว !


“…ซ้อมไปเถอะลูกซ้อมเพราะว่าการซ้อมไม่ทำให้อะไรมันเสียหาย มีแต่ดีขึ้น ฉะนั้น ซ้อมไปเลย…”
นี่คือประโยคที่ “อาเต๋อ” ของ “อมิตา ทาทา ยัง ” พูดกับเธอเสมอ
หลังจากที่เธอได้แจ้งเกิดเป็นศิลปินของแกรมมี่ อย่างเต็มตัวและกลายเป็นที่รู้จักในฐานะ
“สาวน้อยมหัศจรรย์” ซึ่งเธอได้จำคำสอนนี้ขึ้นใจจนวันนี้
ก็เพราะเขานั้นคือผู้เปลี่ยนชีวิตของเด็กสาวคนหนึ่ง
ผู้ที่มารับบทนางเอก MV เหลวไหล ของมอส ปฏิภาณ ศิลปินวัยรุ่นตัว Top แห่งยุค
ด้วยประโยคสั้น ๆ ของชายหนุ่มเครางาม ที่มายืนอยู่หลังจอ Monitor กองถ่ายในวันนั้น
(หลังจากที่เขาเดินผ่านไปแล้ว) พร้อมกับถามคำถามว่า “ร้องเพลงเป็นไหมน่ะเราน่ะ”
พร้อมให้เธอร้องเพลงสด ๆ ตรงนั้น

และอีกหนึ่งสัปดาห์ เธอก็ได้รับโทรศัพท์ให้มาเป็นศิลปินแกรมมี่…




“เฮ้ย มอสมันได้แค่ 80% เองว่ะ เราขอสัก 90% นะ” 

ไม่ใช่แค่เฉพาะศิลปินรุ่นใหญ่ แต่เต๋อ เรวัต ยังทำงานเพลงได้ “ทุกรุ่น”
และคงไม่เป็นการเกินไป หากจะกล่าวว่า ในเวลานั้น
เขาคือกุญแจสำคัญที่กำหนดความเป็นไปของวงการเพลงไทยสากลเสียด้วยซ้ำ
เพราะแม้กระทั่งศิลปินวัยรุ่นในยามนั้น อย่าง “มอส ปฏิภาณ ปฐวีกานต์
เต๋อ เรวัต ก็เป็นผู้คุมร้องเอง ไม่ว่าจะดึกแค่ไหน อย่างไร
จนกระทั่งตัวศิลปินเองยังงง ๆ เองเลยว่า สรุปใครวัยรุ่นกว่าใคร


“เมื่อได้เรียนรู้ ถึงความเจ็บปวด ได้เรียนรู้ ถึงความเดียวดาย”
นี่คือประโยคหนึ่งจากเพลง “เรียนรู้” ของ “ใหม่ เจริญปุระ”
ที่นักแต่งเพลงมือฉกาจของเมืองไทยอย่าง นิ่ม (สีฟ้า) กัลยารัตน์ วารณะรัตน์ แต่งไว้

และเต๋อ  เรวัต จากไปก่อนที่จะได้ตรวจเพลงนี้
เธอเล่าว่า นอกจากเหล่าศิลปินแล้ว นักแต่งเพลงก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่สร้างความสุขและความปวดหัวให้
เต๋อ เรวัต ได้ไม่น้อย เพราะบางที นักแต่งเพลงก็มีการแกล้ง “พี่เต๋อ” ด้วยการส่งเพลงกันมั่ว ๆ
ให้พี่เต๋อ แก้ไขให้ แต่ก็ไม่วาย “โดนด่าทุกที” แต่ก็ทำให้น้อง ๆ
ได้สบายใจ เพราะรู้ว่าทำอะไรก็ได้ ไม่ต้องกลัวผิด
“พี่เต๋อก็ปกป้องพวกเราเสมอ” จนในวันที่เขาไม่อยู่แล้ว
เธอจึงได้รู้ว่า ความรู้สึกเศร้าในหลากหลายบทเพลงที่เธอเขียนมาทั้งหมด

“ยังไม่ได้ถึงครึ่งหนึ่งของวันที่พี่ไม่อยู่”


“คราวหน้าคงต้องถามกรรมการให้ชัด ๆว่า ตกลงคนดีหรือคนชั่วกันแน่ที่จะได้ใบแดง”
นี่คือความรู้สึกของบอสใหญ่แห่งแกรมมี่ “อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
ที่กล่าวถึงเหตุการณ์ในวันที่สูญเสีย เต๋อ เรวัต รุ่นพี่ผู้ก่อตั้ง GMM Grammy มาด้วยกัน

เพราะทั้งสองท่านนี้ มักจะคิดอะไรคล้าย ๆ กัน ยืนเคียงข้างและให้กำลังใจเสมอ


อย่างที่อากู๋ได้กล่าวไว้ว่า เต๋อ เรวัต ชอบพูดว่า

“ถ้าบูลย์แน่ใจ เราเอาด้วย ไม่ต้องเป็นห่วง”
ในวันที่ “อาเต๋อ” ได้จากไปนั้น จึงเป็นที่มาของความรู้สึกที่ “อากู๋” ได้กล่าวเอาไว้ว่า

“…เราช่วยกันเต็มที่แล้ว พี่เต๋อก็ช่วยตัวเองเต็มที่แล้ว เขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย
แต่กรรมการให้ใบแดงต้องออกจากสนาม…”

ข้อมูลเพิ่มเติมอนุสรณ์งานพระราชเพลิงศพ เรวัต พุทธินันทน์
๑๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๐


Cr: Domo Darken

เจ้าสาวที่กลัวฝน
เรวัต พุทธินันทน์ (2530)