Custom Search

Sep 20, 2007

เปิดชีวิตตกผลึก 'อากู๋' ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม

ที่มา: http://www.the-thainews.com/misc/journal/jn070246_1.htm
"อย่าเป็นหนี้ เพราะมันจะทำให้หัวสมองบื้อ
ถ้ามีเงินให้นั่งทับไว้ที่ก้น หัวมันจะฉลาดเอง"

พ่อสอนไว้
หากชีวิตไม่เดินพลัดหลงเข้าไป
ในอาณาจักรของนายห้างเทียม โชควัฒนา
เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ฝันในวัยหนุ่ม
ของผู้ชายคนหนึ่ง อาจไม่ปะทุ

กลายเป็นเจ้าพ่อวงการบันเทิง เฉกเช่น
วันนี้

"ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม"

เขาเป็นเพียงลูกพ่อค้าชาวจีนธรรมดาๆ
หากไม่มีความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าว่า
"สักวันกูต้องรวย" เขาคงไม่ต่างไปจาก
"อาตี๋" ที่ต้องสืบทอดกิจการร้านขาย
"ของชำ" เล็กๆ ย่าน ถ.เยาวราชของพ่อ

"ผมเริ่มบอกกับตัวเองว่า.... กูต้องรวย
ตั้งแต่เรียนจบ (นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ)

คิดว่าถ้าเรียนจบมาแล้ว ต้องไปขายของชำ
อย่างนั้นก็ไม่ต้องไปเรียนดีกว่า
ก็ทำตั้งแต่เป็นอาตี๋ คงไม่มีอะไรแตกต่าง
ใจตอนนั้นคิดว่า เราน่าจะไปอยู่บริษัทใหญ่ๆ
เพื่อดูว่าเขาทำอะไรกัน...

พ่อเราทำงานมาทั้งชีวิตไม่เห็นรวยเลย"


ไพบูลย์ ถ่ายทอดความคิดในวัยหนุ่มให้ฟัง

อาตี๋หนุ่มได้รับการถ่ายทอดวิชาค้าขายจากพ่อ
มาตั้งแต่เป็นเด็ก พ่อของไพบูลย์เป็นคนขยัน
เขาเห็นพ่อเปิดร้านแต่เช้าตรู่
และปิดร้านดึกกว่าร้านค้าของคนอื่น
นี่คือสิ่งที่พ่อได้เปรียบร้านค้าในละแวกเดียวกัน

"บ้านผมอยู่เยาวราช ตอนเย็นพอเรียนหนังสือ
ทำการบ้านเสร็จต้องรีบกลับมาช่วยขายของ
ร้านพ่อผมเป็นร้านที่ "เปิดเร็ว-ปิดดึก"
ที่สุดในย่านนั้น เกือบจะเป็นเซเว่นอีเลฟเว่น
(เปิด 24 ชั่วโมง) อยู่แล้ว
เวลาชาวบ้านเขาปิดร้านหมด
แกขายอยู่คนเดียวแกเป็น
Monopoly (ผูกขาด) เลยนะ"

ทุนที่พ่อให้ คือ "ความรู้"
พ่อสอนลูกๆ ว่าไม่ให้เป็นคน" ทำอะไรเกินตัว"
ไพบูลย์จดจำได้ว่าพ่อของเขาสอนเสมอว่า....
ถ้าไม่จำเป็นอย่าเป็นหนี้คนอื่น เพราะการเป็นหนี้

สมองมันจะคิดอะไรไม่ออกพ่อยังสอนด้วยว่า....
ถ้ามีเงินให้นั่งทับไว้ที่ก้น หัวมันจะฉลาดเอง
ฉะนั้นในการทำธุรกิจของไพบูลย์
จึงไม่ชอบ กู้ (ถ้าไม่จำเป็น)

นี่คือหนึ่งในสิ่งที่เจ้าพ่อวงการบันเทิงเมืองไทย
บอกว่า เป็น "Key to Success"
(กุญแจแห่งความสำเร็จ)
ของเขาชีวิตที่ตกผลึกของชายผู้นี้ถูกซ่อนเร้น
อยู่ภายใต้มันสมองที่ปราดเปรื่อง


ไพบูลย์ บอกว่า เขาไม่ใช่เด็กหัวดี

แต่ชอบการค้าขาย ถ้าหัวดีกว่านี้
เขาอยากเรียนเศรษฐศาสตร์มากกว่า
เพราะสมัยก่อนคณะนิเทศศาสตร์ (จุฬาฯ)
คะแนนต่ำสุด แต่เมื่อต้อง เสี่ยง
เขาเลือก เสี่ยงน้อยที่สุด
เอาไว้ก่อนการตัดสินใจครั้งนั้น
อาจเป็นพื้นฐานความคิดของไพบูลย์
จวบจนทุกวันนี้
Key to Success"
อีกข้อหนึ่งของเขา ก็คือ
ถ้าเผื่อมีทางให้เลือก 2 ทาง

ทางแรกบอกว่า "เสี่ยงมาก....รวยมาก"

ทางที่สอง บอกว่า "เสี่ยงน้อย...รวยน้อย"

เลือกข้อหลังถ้าผมมีทุนน้อย
ผมจะเลือกทางที่เสี่ยงน้อยที่สุดไว้ก่อน
(เหมือนสมัยที่ทำแกรมมี่ใหม่ๆ)
แต่ทุกวันนี้ผมมีเงินทุนแล้ว
ผมรู้ว่าความเสี่ยงนั้นถึงจะมาก
แต่ก็ยังเสี่ยงอยู่ในขอบเขต
หลายคนอาจบอกว่าผมทำธุรกิจที่ผมไม่เคยทำ
นั่นคือ ความเสี่ยง
แต่สำหรับผมมันไม่ใช่ความเสี่ยง
เพราะผมรู้จักมัน
และอยู่ในขอบเขตที่รับได้"


ในวัยหนุ่มไพบูลย์ คิดว่า

หากเลือกได้เขาจะเรียนเกี่ยวกับการค้า
เพราะเชื่อว่า
การค้า คือ พื้นฐานของความสำเร็จ
ซึ่งก็หมายถึง "ความร่ำรวย" นั่นเอง
ตอนที่สอบได้คณะนิเทศศาสตร์
มีคนบอกว่าต้องไปทำ "ป้อจั๊ว"
คือ อะไรรู้รึเปล่าป้อจั๊ว
แปลว่านักหนังสือพิมพ์
พ่อผมยังทักว่า...
อยากรวยแล้วดันไปเรียนป้อจั๊วแล้ว
จะรวยได้ยังไง....
ผมก็บอกว่าไม่เป็นไรป๋า
เรียนจบเดี๋ยวก็รวยได้"เขาบอกว่า
การเป็นลูกพ่อค้า
ทำให้เขามีพรสวรรค์เรื่องค้าขายตั้งแต่เด็กๆ


"แม่อยากให้ผมสนิทกับพ่อ

ตอนเด็กผมต้องไปช่วยพ่อ
ตอนเย็นลูกจ้างกลับบ้านหมด
มีแกนั่งขายของอยู่คนเดียว
มันทำให้ผมได้ใกล้ชิดกับพ่อ
และได้ความรู้เรื่องการค้า
พอโตขึ้นเราก็เริ่มคุ้นเคย
ว่าค้าขายมันทำยังไง
ลูกค้าเป็นยังไง
มันรู้เองโดยธรรมชาติคำสอนของพ่อทั้งที่ตั้งใจ
และถ่ายทอดจากการกระทำให้เห็นเป็นประจำ
คือ "สมบัติ" ที่มีคุณค่ายิ่งกว่าทองคำ

เพราะพ่อไม่มี "เงิน" ให้เป็นทุน ไม่มีนามสกุล
ถูกบรรจุอยู่ในตำนาน "เจ้าสัว"ของเมืองไทย
แต่คำสอนพ่อช่วยให้ไพบูลย์มี "ความมุ่งมั่น"
ที่จะไขว้คว้าหาความสำเร็จด้วยตัวเอง
เขาไม่เคยน้อยใจที่ได้เกิดมาเป็นลูกของพ่อ
แม้จะไม่ได้ร่ำรวยแต่เขาก็ภาคภูมิใจ


สำหรับไพบูลย์แล้วเขาคิดเสมอว่า

สภาพแวดล้อมภายนอกเป็นเพียงเงื่อนไข
แต่ปัจจัยที่ชี้ขาดความสำเร็จอยู่ที่ตัวตนภายใน
แม้การเปลี่ยนแปลงจะมีวิถีเฉพาะของมัน
แต่การเตรียมตัวรับเหตุการณ์
จะทำให้เราไม่กลัวความเสี่ยง
เงินเก็บที่มีอยู่น้อยนิด


ครั้งที่เริ่มก่อตั้งบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์

(ปัจจุบัน คือ บมจ.จีเอ็มเอ็มแกรมมี่)

กลายเป็นเงื่อนไขที่ไพบูลย์บอกว่า "ห้ามล้มเหลว"
แนวคิดการควบคุมความเสี่ยงของไพบูลย์
มาจากกรอบความคิดแบบ "สี่เหลี่ยม"
ที่บรรจุความลับแห่งความสำเร็จเอาไว้

ตอนมาทำแกรมมี่ลงทุนเริ่มแรกไปเท่าไร?
"สักสี่ซ๊า...ห้าแสนบาท" เขาตอบ

นอกจากวิชาความรู้ที่ไพบูลย์ซึมซับมาจากชีวิตวัยเด็ก
บวกกับ 5 ปีเต็มที่ไพบูลย์
ได้เรียนรู้วรยุทธ์จากนายห้างเทียม โชควัฒนา
ในบริษัท ฟาร์อีสท์ แอดเวอร์ไทซิ่ง
(ปัจจุบันคือ บมจ.ฟาร์อีสท์ดีดีบี)
เขาได้ซึมซับวิธีคิดการทำธุรกิจ
และการมองตลาดอย่างทะลุปรุโปร่ง
นายห้างเทียม เปรียบดุจอาจารย์
และบริษัท ฟาร์อีสท์ คือ
โรงเรียนที่ถ่ายทอดวิทยายุทธ
ฝันของไพบูลย์ ถือกำเนิดที่นั่น

แต่เขาไม่เคยลืมสิ่งที่พ่อสอน คือ
"อย่าเป็นหนี้" เพราะมันจะทำให้หัวสมอง "บื้อ"


ไพบูลย์ เล่าให้ฟังว่า ความคิด
"อยากรวย" ของตัวเอง
มีส่วนจุดประกายความสำเร็จในวันนี้
หลังจากเรียนจบ (นิเทศศาสตร์)
ผมคิดว่า บริษัทอื่นมันรวยกันยังไงว่ะ!...
ขอไปศึกษาหน่อย ก็เลยไปสมัครงานที่ฟาร์อีสท์
(บริษัทโฆษณาในเครือสหพัฒน์)
มีโอกาสเรียนรู้งานใกล้ชิดกับนายห้าง (เทียม)


"ผมเรียนจบก็ทำงานวันละ 2-3 กะตลอดเวลา

ผมทำงานอยู่กับสหพัฒน์ 5 ปี
อายุ 23-28 ปี พออายุ 28 ปี
ก็ออกมาช่วยเขาตั้งบริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง
(ในเครือโอสถสภา เต๊กเฮงหยู)
ก็ได้เป็น "เอ็มดี" (กรรมการผู้จัดการ) เลย
ตอนอายุ 28 ผมมีคนขับรถให้นั่งแล้วนะ
โก้มากครับ ตอนนั้นก็ยังคิดว่า....
กูนี่ก็เท่เหมือนกันนี่หว่า!!!"


ที่พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง ไพบูลย์เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง
ผลงานที่เขาภาคภูมิใจที่ฝากไว้ที่นี่
คือ เป็นคนทำตลาดน้ำส้มสายชูกลั่น "อสร."
และทำตลาดปลาเส้น "ทาโร่" สแน็ค
ที่มีส่วนแบ่งตลาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
จนถึงปัจจุบัน

พ่อของไพบูลย์เป็นคนที่สู้งานมาทั้งชีวิต

สมัยที่ทำงานเป็นลูกจ้าง ไพบูลย์
จึงหางานพิเศษทำตลอด
"กลางวันผมทำที่สหพัฒน์ กลางคืนผมทำของตัวเอง
ผมไปเรียนจากพี่สุจิตต์ วงษ์เทศ ขรรค์ชัย บุนปาน
ทำหนังสือที่พิฆเนศ
บางช่วงเป็น บ.ก.หนังสือให้กับคุณบุรินทร์ วงศ์สงวน
ร่วมกับเพื่อนๆ ตั้งบริษัท โฟร์เอจ
ทำทางด้านวิจัย ทำด้านโฆษณา
และงานสถาปัตย์
กลางคืนผมออกไปทำงานเพิ่มหาประสบการณ์ หาเงินสะสม"
ผลจากการทำงานหนักทำให้ไพบูลย์
เริ่มมีเงินเก็บเพื่อสานต่อความฝันของเขา
ทำไมถึงต้องทำงานหนักขนาดนั้น!!! "เพราะผมกลัวจน"


เขาตอบผมสัญญากับตัวเองว่า "ต้องรวย"

แต่รวยอย่างสุจริตนะ ไม่เอารัดเอาเปรียบใคร
แต่กว่าจะรวยก็เหนื่อย!!!
ผมไม่มีญาติโยมคนไหนช่วยเหลือ
ถ้าถามว่าผมทำธุรกิจแบบไหน
จะบอกว่าทำธุรกิจแบบ "กลัวจน" ครับ


ไพบูลย์
บอกว่า ชีวิตของเขาจะเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่
ทุกๆ 1 รอบ หรือ 12 ปี
ทำที่สหพัฒน์ 5 ปี ที่พรีเมียร์ 7 ปีรวมเป็น 12 ปี
ก็ออกมาตั้งบริษัท (แกรมมี่) ของตัวเอง
อีก 12 ปีต่อมาก็เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
บริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ (บจม.จีเอ็มเอ็มแกรมมี่)
ไม่ได้ถือกำเนิดบนความตั้งใจของไพบูลย์


เขากล่าวว่า "พระเจ้าพาผมเข้ามา"

นี่อาจเป็นลิขิตชีวิตที่มี "ฟ้า" เป็นผู้กำกับ"

ผมเริ่มต้นจากการทำเพลง "มหาดุริยางค์ไทย"
ของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ
ทำเป็นเทป 2 ม้วน นั่นแหละเป็นจุดเริ่มต้นจริงๆ
ผมยังบอกกับลูกน้องบอกว่า
ผมมาทำเพลง ผมมีไหว้ครูด้วยนะ
สมัยก่อนใครเอาเพลงไทยเดิมไปออกเทป
เขาจะขอบคุณเราด้วยซ้ำ
เพราะเอางานของเขาไปเผยแพร่
แต่ของผมเคารพในสิทธิเจ้าของเพลง
ผมก็เอาเงินไปให้
(คุณหญิงชิ้นผู้ดูแลลิขสิทธิ์เพลงไทยเดิมของหลวงประดิษฐ์ไพเราะ)

ขอเซ็นลิขสิทธิ์อย่างถูกต้องเลยยังจำได้ว่า
เมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว
แบ่งเงินให้ท่าน 2 แสนกว่าบาท
สมัยนั้นเงินเยอะมาก
คุณหญิงชิ้นบอกผมว่า...คุณคุณอยากทำเพลงอะไรคุณเอาไปเลย

แล้วผมขายได้ด้วยนะ
ตอนนั้นผมขายเพลงไทยเดิมกำไรเป็นล้าน
นั่นคือ ลิขสิทธิ์ชิ้นแรกที่ผมซื้อ"


นี่คือ ที่มาของความคิดในการก่อตั้ง

บริษัท แกรมมี่ เมื่อปี 2526
ตอนทำเทปเพลงมหาดุริยางค์ไทย
ของหลวงประดิษฐไพเราะ
ไพบูลย์มีอายุประมาณ 33 ปี
และเริ่มมาทำเทปเพลงชุดแรก
ในนามบริษัท แกรมมี่ตอนอายุประมาณ 35 ปี
(ปัจจุบันอายุ 53 ปี)
พื้นฐานความคิดก่อนเข้าสู่ธุรกิจบันเทิง
ของไพบูลย์ เขาบอกว่า
ผมประเมินดูแล้วว่า พ่อค้าที่ทำเทปตอนนั้น
(ประมาณปี 2526)
เราสู้ไหว แต่ถ้าจะทำสินค้า "คอนซูเมอร์ โปรดักส์" (อุปโภค-บริโภค)
ซึ่งผมคลุกคลีอยู่ตอนนั้น ดูแล้วไม่กล้าสู้
มีเจ้าตลาดอย่างสหพัฒน์ ยูนิลีเวอร์
ถ้าเข้าไปเป็นมดแน่นอน
ผมก็มองหาธุรกิจที่ไม่ใหญ่นัก

ก็มองที่ธุรกิจเต้นกินรำกิน
นี่แหละคิดว่ายังไงๆ เราพอสู้ได้


ตอนนั้นก็มีรายใหญ่คุมอยู่ แต่คำว่า "ใหญ่"

มันไม่ได้ใหญ่เหมือนกับโอสถสภา สหพัฒน์
หรือยูนิลีเวอร์ เออ!ยังงี้...พอไหว ดูแล้วธุรกิจนี้กำไรดี"
สิ่งที่ไพบูลย์ได้เปรียบ "เถ้าแก่"
ในธุรกิจเพลงค่ายอื่นๆ ขณะนั้น
ก็เพราะการทำเทปจำเป็นต้องทำสื่อวิทยุเป็น
ทำสื่อทีวีเป็น เราก็เรียนมาทั้งนั้น
(นิเทศศาสตร์) พวกเถ้าแก่คนอื่นไม่น่าจะชนะผม
ถึงบอกว่าเรามี Key to Success
ผมด้อยอยู่เรื่องเดียว คือ "ดนตรี"
พอได้ "พี่เต๋อ" (เรวัต พุทธินันทน์) มาเติมก็จบ
ทำให้เรามีองค์ประกอบของความสำเร็จครบทุกข้อ
หัวใจอีกอย่างหนึ่งของธุรกิจบันเทิง
ก็คือ "ศิลปิน" ปัจจุบันแกรมมี่
มีศิลปินที่เซ็นสัญญาในสังกัดมากที่สุด จำนวน 415 คน


การดูแล "ทรัพย์สิน" ที่มีชีวิต
และมีค่ายิ่งกว่าสิ่งปลูกสร้าง ของบริษัท
กลับเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเลย
หลักการที่ไพบูลย์ยึดถือ
ในการบริหารคน คือ "ความยุติธรรม"
เพราะเรื่องคนเป็นเรื่องของ "น้ำใจ"
สิ่งสำคัญที่สุด คือ ต้องสร้างความน่าเชื่อถือ
และความไว้วางใจ
"ถ้าคุณทำให้เขาศรัทธามันจะไม่มีปัญหาเลย
อย่าทำให้เขารู้สึกว่า เฮ้ย!!! พี่ไพบูลย์....
เอาเปรียบผมหรือนี่....
ไม่ได้เลยผมจะบอกผู้บริหารของเราว่า
พวกคุณอย่าให้น้องๆ
ศิลปินเข้าใจผิดในเรื่องผลประโยชน์
มีปัญหาอะไรต้องไปคุยกันให้เคลียร์
เพราะว่าธุรกิจของเรามันไม่ใช่สิ่งของ
แต่มันเป็นสิ่งมีชีวิต (ศิลปิน)
เขาไม่ได้โง่ โกงเขาวันนี้
ถ้ามารู้วันหลัง เราเสียคน
ผมจะบอกศิลปินว่า
ถ้าคุณดูแลงานผม ก็คือ ดูแลงานของตัวเองให้ดี....
ผมจะดูแลตัวคุณให้สุขสบายดี
และควรดูแลตัวเองด้วยจะดีที่สุด

"เมื่อมองย้อนกลับไปถึงหลักการดำเนินชีวิต
และหลักการทำงาน
ไพบูลย์ กล่าวขึ้นว่า
คนเราเวลาสำเร็จอะไรแล้ว มันจะบรรลุ


อย่างผมเพิ่งคุยกับคุณเจริญ (สิริวัฒนภักดี)

เจ้าของเบียร์ช้าง
แกเป็นคนที่ล้ำลึกมาก
ทั้งๆ ที่แกไม่ได้เรียนอะไรมากเลย
แต่ Common Sense
(สามัญสำนึก) แกสูง
แกมองภาพทั้ง Macro (ใหญ่) ทั้ง Micro (เล็ก)
ของประเทศได้หมดเลย
หรืออย่างผมนั่งฟังคุณธนินท์ (เจียรวนนท์) พูด 3 ชั่วโมง
เรียกว่า ไม่มีรุกไปฉี่
เพราะกลัวหลุด กลัวฟังไม่ครบ
อย่างนายห้างพูดอะไรนั่งฟังได้เป็นชั่วโมง
เพราะคนเราพอสำเร็จอะไรแล้ว
มันรู้เรื่องหมด วิชามันทะลุกันหมด


พอผมมาทำของตัวเอง มาทำ
"แกรมมี่"
ผมก็รู้เงื่อนไขว่าผมกู้เงินไม่ได้
เพราะไม่มีเครดิต ไม่มีทรัพย์สินที่จะค้ำประกัน
ธุรกิจเป็นเต้นกินรำกินไม่มีใครให้กู้
พ่อแม่ผมก็ไม่รวย ไม่มีญาติที่จะเอาเงินมาให้ยืม
เพราะฉะนั้นผมจะต้องทำธุรกิจ
บนเงื่อนไขที่ว่า "ต้องห้ามขาดทุน"
เพราะการขาดทุนหมายถึง
ผมจะหมดทุกสิ่งทุกอย่าง"


ปัจจุบันไพบูลย์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่สุดใน

บจม.จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ จำนวน 266.09 ล้านหุ้น
หรือเท่ากับ 53.22% คิดเป็นมูลค่า
ตามราคาตลาดเกือบ 4,800 ล้านบาท
เขาคือเจ้าพ่อวงการบันเทิง
อันดับหนึ่งของเมืองไทย
ที่มีศิลปินภายในสังกัดมากที่สุด
จากค่ายเทปเล็กๆ


เมื่อ 20 ปีที่แล้ว (ปี 2526)

วันนี้จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ แผ่ขยายธุรกิจ
จนกลายเป็นผู้นำธุรกิจบันเทิง
"ครบวงจร" รายใหญ่ที่สุดของประเทศ
ภายใต้ยุทธศาสตร์การรบ "ในแนวลึก"
งบการเงิน ณ 30 ก.ย.2545 (งวด 9 เดือน)


"จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่" มีสินทรัพย์รวม 3,912 ล้านบาท

มี Cashflow ในมือกว่า
955 ล้านบาท มีรายได้รวม 3,850 ล้านบาท
และมีกำไรสุทธิ 445 ล้านบาท
หุ้นมีมาร์เก็ตแคปรวมประมาณ 9,000 ล้านบาท


ในขณะที่บริษัทในเครือ"จีเอ็มเอ็ม มีเดีย"

ที่เพิ่งเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
หุ้นมีมาร์เก็ตแคปรวมประมาณ 5,400 ล้านบาท
เป็นใบประกาศนียบัตรถึง
ความสำเร็จสูงสุดของไพบูลย์ได้เป็นอย่างดี
เรื่องราวของไพบูลย์ยังไม่จบลงง่ายๆ

ชายผู้เปลี่ยน "เสียงเพลง"
ให้มีค่ายิ่งกว่า "ทองคำ"
ไม่เคยหยุดนิ่งที่จะแปรเปลี่ยนความฝัน
ให้กลายเป็น "เงิน"
เขาพยายามสานต่อความร่ำรวยด้วย
การ Diversify (การแตกธุรกิจ)
จากธุรกิจบันเทิงไปสู่ธุรกิจ
ที่อาจจะไม่เกี่ยวข้องกันเลยนายห้างเทียม
เคยพูดว่า "มีชื่อ...มีฐานที่มั่นคง...ก็สร้างโอกาสใหม่ได้


แนวคิดอันนี้ เป็นส่วนสำคัญของปฏิบัติการ "โตแล้วแตก"

ของเครือสหพัฒน์ สำหรับไพบูลย์ "แตกเพื่อโต"
เป็นยุทธศาสตร์การรบ "ในแนวราบ"
ใหม่ล่าสุดที่เขานำมาใช้เพื่อสร้าง
"ขาหยั่ง"ต่อยอดความมั่งคั่งให้กับตัวเอง
เริ่มตั้งแต่การซื้ออาคารโรจนะ
ทาวเวอร์บนถนนอโศก ราคา 1,100 ล้านบาท
เพื่อให้บริษัทในเครือเช่า
เขาใช้เงินกู้จาก ธ.ไทยธนาคาร
จำนวน 600 ล้านบาท

แต่ใช้หนี้หมดภายในระยะเวลาไม่ถึง 2 ปี
เฉพาะรายได้ค่าเช่าตึก
ของบริษัทในเครือแกรมมี่เพียงแห่งเดียว
ไพบูลย์ก็มีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 55 ล้านบาท
(คิดค่าเช่ากับแกรมมี่ 3 ปีแรก
ประมาณ 165.6 ล้านบาท
หรือเท่ากับ 230 บาท/ตร.ม./เดือน)


ไม่รวมกับเงินปันผลที่แกรมมี่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้นปีละ 10 บาท

(คิดจากราคาพาร์ 10 บาทที่จ่ายในปี 2542-2545)
ไพบูลย์จะมีรายได้ (เงินสด)
เพิ่มขึ้นอีกปีละประมาณ 260-270 ล้านบาท
(4 ปีจะได้รับเงินปันผลรวมประมาณ 1,040-1,080 ล้านบาท)


เป็นเหตุผลที่อธิบายว่าทำไมเขาจึงสามารถ

ให้คืนหนี้ 800 ล้านบาท
หมดภายในเวลาอันรวดเร็วขณะเดียวกัน
ก็ปรากฏข่าวว่า ไพบูลย์เข้าซื้อที่ดินมรดกของ
"นางสุเพี้ยน เวชชาชีวะ"
คุณย่าของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
จำนวน 9 ไร่ มูลค่าสูงถึง 120 ล้านบาท
บริเวณ ต.หนองแก อ.ปราณบุรี
เพื่อสร้างคฤหาสน์หรูริมทะเลที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์


อีกนัยหนึ่ง ก็คือ อาณาจักร

ที่พักผ่อนส่วนตัวของบรรดา "ศิลปิน"
ในสังกัดบนเส้นทางที่ราบเรียบ
ก็อาจมีอันตรายซ่อนเร้นอยู่ ท้องทะเลที่เงียบสงบ
ก็ใช่ว่าจะไร้ซึ่งโอกาสเกิดคลื่นลม
บนเส้นชีวิตที่ราบรื่นสุขสบายเฉกเช่นปัจจุบัน
ก็มิอาจคาดคะเนได้ในอนาคต
เมื่อชีวิตเดินทางมาไกลกว่าที่ฝัน
ไพบูลย์ตัดสินใจสานฝันให้ไกลออกไป
เขาตัดสินใจสร้าง "ขาหยั่ง"
เพื่อเสริมสร้างความมั่งคั่งอีกครั้ง
ด้วยการรุกธุรกิจถึง 4 อย่างพร้อมๆ กัน
เริ่มตั้งแต่ธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "โฟร์มี"
ธุรกิจขายตรงเครื่องสำอาง "ยูสตาร์"
ธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น "โฮยู" และธุรกิจเสื้อผ้า

(ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างหาชื่อแบรนด์)
เงินลงทุนประมาณ 300-400 ล้านบาท
เดิมพันของไพบูลย์ครั้งนี้
เขาใช้เงินสดส่วนตัวมาเล่น เขาบอกว่า
"วันนี้ของผม ไม่เหมือนสมัยเริ่มต้น
ผมไม่กลัวเจ๊ง การลงทุนที่คุณเห็น
ไม่สะเทือนฐานะการเงินผมเลย


ในที่สุดถ้าธุรกิจใหม่ผมไม่สำเร็จ ก็อย่ามาสงสาร
เพราะผมไม่กระทบกระเทือน
ผมได้วางแผนทางการเงินเอาไว้หมดแล้ว"
อันนี้ที่พูด ผมไม่ได้อหังกาหรือขี้โม้นะ
ผมหมายความว่าสถานภาพ
มันเปลี่ยนแปลงแตกต่าง
จากช่วงการทำธุรกิจในตอนแรก
ตอนนี้เป็นการทำธุรกิจอย่างคนมีทุน
สามารถวางแผนได้

แต่ก็จำกัดขอบเขตไม่ให้กระทบกระเทือนตัวเรา
ถึง ล้ม ได้ ยังยึดหลักของ
ความไม่เสี่ยงแต่บนเส้นทางธุรกิจใหม่
ของไพบูลย์อาจไม่หมูอย่างที่คิด
หนทางยังยาวไกล
เห็นชัดจากธุรกิจตัวแรก "โฟร์มี" บะหมี่บันเทิง
ยอดขายก็ยังไม่เข้าเป้าแต่มีหรือ!ที่ชายผู้นี้จะยอมแพ้....


เกมธุรกิจของเขาที่ใครหลายคนต่างวิเคราะห์กันว่า

ไพบูลย์กำลังเล่นเกมที่น่าเสียวไส้
เหมือนกับเกม "รัสเชียนรูเล็ต"
(ใส่กระสุน 1 ลูกหมุนโม่วัดดวงว่า
กระสุนจะไปอยู่ตรงไหนแล้วจ่อขมับตัวเอง)
เงินที่เขาลงไปอาจตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ

แท้จริงแล้วเกมที่เขาเลือกเล่นมันเพิ่งจะเริ่มต้นเท่านั้น
ลูกพ่อค้าขายของชำชาวจีนย่านเยาวราช
ที่พ่อแม่ไม่มีทรัพย์สมบัติให้เป็นทุนรอน
แต่กลับสร้างตัวจนเป็น
"เดอะ เฟิร์ส เจนเนอเรชั่น"
ของตระกูลเจ้าสัวเมืองไทย
เขาย่อมไม่ใช่ธรรมดาอย่างที่
ใครหลายคนคาดเดาได้ง่ายๆ...อย่างแน่นอน!!!
จากหัวสี่เหลี่ยมเป็น"ทรงกลม"
และ"แหลมคม"ในที่สุดโลกแห่งความฝัน
และวันแห่งความสำเร็จ


สำหรับบางคน อาจไกลกันสุดหล้า

แต่ไม่ใช่ในกรณีของ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
แห่งบริษัทจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่

แม้ว่าธุรกิจใหม่ของเขา ทั้งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
เครื่องสำอาง ร้านอาหารญี่ปุ่น
และเสื้อผ้า ยังไม่สามารถประกาศก้องชัยชนะ
แต่ความสำเร็จของแกรมมี่
ตลอด 20 ปี บนถนนสายบันเทิง ของเมืองไทย

ก็น่าจะพิสูจน์ถึง "ตัวตน"
ที่ไม่ธรรมดาของเขาผู้นี้
ความลับแห่งความสำเร็จ
ของเจ้าพ่อวงการบันเทิง
ถูกถอดรหัสมาจาก "วิธีคิด"
ในการทำธุรกิจที่เรียบง่ายแต่ ล้ำลึก


ใครก็ตามที่ทำเช่นนี้ได้

กรอบความคิดของเขาต้อง "ตกผลึก"
แล้วเท่านั้นไพบูลย์บอกว่า
มีกรอบความคิดแบบ "สี่เหลี่ยม"
ซึ่งเป็นวิธีคิดแบบ "ง่ายๆ" และไม่ซับซ้อน
ประดุจจอมยุทธ์ที่บรรลุวิชาขั้นสุดยอด
แต่พลิกตำราหลายตลบ
ก็อธิบายไม่ถูกว่าความคิดแบบ "สี่เหลี่ยม"
มีความหมายอย่างไร...?
กรอบคิดแบบ "สี่เหลี่ยม"
ในความหมายของไพบูลย์ เขาหมายถึง

กฎแห่งความคิดที่เป็นตรรกะ

ยกตัวอย่าง การแบ่งเงินสำหรับแต่ละส่วนของชีวิต

"ผมจะคิดว่า....เอ้อ! เรามีเงินเหลือตรงนี้
บ้านก็สร้างแล้ว เรามีเงินให้ลูกแล้ว
เรามีเงินเก็บไว้กินแล้ว แกรมมี่ก็มีเงินทุนพอแล้ว
เราแบ่งเงินเอาไว้เที่ยวแล้ว
หลังจากแบ่งเงินออกมาทั้งหมดแล้ว
เงินที่เหลือถึงมาคิดว่า
มันน่าสนุกนะที่จะไปสร้างขาหยั่ง
สร้างเสาหลักอีกสักต้นดีมั้ย! เผื่อจะสำเร็จ"


ไพบูลย์
บอกว่า การตัดสินใจลงทุน
ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่า
ต้องไม่ทำให้ชีวิตเสี่ยงมากขึ้น
ธุรกิจจะโตช้าโตเร็วไม่เป็นไร
แต่ถ้าล้มเหลวขึ้นมาต้องไม่ให้
สะเทือนชีวิตหลัก ไม่สะเทือนธุรกิจหลัก


ปัจจุบันธุรกิจใหม่ของ
ไพบูลย์
จัดว่าเป็นธุรกิจขนาดกลางค่อนข้างใหญ่
ใช้เงินลงทุนเฉลี่ยอยู่ที่ธุรกิจละประมาณ 200 ล้านบาท
แต่ไพบูลย์จะลงทุนเพียง 40%
หรือธุรกิจละประมาณ 80 ล้านบาท
ล่าสุดเขาใช้เงินลงทุนใน 3 ธุรกิจหลัก
(โฟร์มี ยู-สตาร์ และธุรกิจเสื้อผ้า)

ไปแล้วกว่า 200 ล้านบาท
ในขณะที่งบประมาณการลงทุนทั้งหมด
ที่เขาตั้งเอาไว้ประมาณ 300-400 ล้านบาท


ก่อนหน้านี้ ไพบูลย์นำเงินไปลงทุนซื้อ

ตึกอาคารโรจนะ ทาวเวอร์ บน ถ.อโศก
มูลค่า 1,100 ล้านบาท
ที่ใช้เป็นสำนักงานใหญ่บริษัทแกรมมี่ในปัจจุบัน
เขาอธิบายกรอบความคิดแบบ "สี่เหลี่ยม"
ในเรื่องการซื้อตึกให้ฟังว่า

"ผมเอาเงินสดส่วนตัวมาซื้อตึก
ผมก็มีลูกน้องมาอยู่ 2,000 กว่าคน
(พนักงานในเครือแกรมมี่ทั้งหมด)
ผมก็รู้อยู่แล้วว่ามันไม่มีความเสี่ยง

เพราะผมนับชั้นว่าแกรมมี่ต้องใช้กี่ชั้น
ถ้าไม่มีคนอื่นเช่าจะขาดทุนมั้ย
เงินเราเองมีเท่าไหร่ ต้องกู้อีกเท่าไหร่
ถ้าเกินตัวผมก็ไม่ซื้อ"ที่ผมรอดมาได้ทุกวันนี้
เป็นเพราะว่าผมทำธุรกิจแบบ "ไม่ค่อยเสี่ยง"
ผมเรียนอย่างนี้ว่า
อะไรที่เกินตัวในการทำธุรกิจ
เกินตัวในการใช้ชีวิต ผมไม่ทำ"


เบื้องหลังกรอบความคิดแบบ
"สี่เหลี่ยม" ของไพบูลย์
เขาบอกว่าวิธีการทำธุรกิจของผม
จะทำแบบ "รอบคอบปลอดภัย"

"
ผมจะทำธุรกิจจากแนวคิดของคนที่ไม่มีเงินทุน"
ฟังแล้วอาจยังงงๆ แนวคิดของ
คนที่ไม่มีเงินทุนคำอธิบายจากปากของไพบูลย์
ก็คือ การทำธุรกิจจาก
แนวคิดของคนจน "ที่ไม่มีใครแบ็คอัพ" เลย

แนวคิดจากคนจนซึ่ง
"ไม่มีธนาคารให้กู้เลย"
แล้วตัวเองก็ไม่อยากกู้ ทำงานจากลำแข้งตัวเอง
ทำงานจากสิ่งที่เรามีอยู่"แฟคเตอร์ความสำเร็จของผม
ต้องย้อนกลับมาที่จุดเดิมว่าไอ้
"ความจน" นี่แหละ
และความกลัวชีวิต "ล้มเหลว"
ทำให้ผมพยายามดูธุรกิจ
ที่เราคิดว่าไม่อันตราย
ธุรกิจที่รอบคอบพอที่จะ
ไม่ทำลายเงินทุนที่ผมเหลืออยู่น้อยนิด
ผมขอให้เอาตัวรอดอย่างเดียว

ตอนที่ออกมาทำแกรมมี่ "คิดรวย"
แต่ตอนแรกไม่กะรวย
คิดว่าจะทำยังไงให้อยู่รอดได้ก่อน"
กรอบความคิดแบบ "สี่เหลี่ยม" ของไพบูลย์

ยังหมายถึงวิธีคิดเกี่ยวกับ "ความเสี่ยง"
ถ้าไพบูลย์มีทางเลือก 2 ทาง
ทางแรกบอกว่า "เสี่ยงมาก....รวยมาก"
ทางที่สองบอกว่า "เสี่ยงน้อย...รวยน้อย"
ไพบูลย์จะเลือกทางที่เสี่ยงน้อยที่สุดเอาไว้ก่อน
"ทุกวันนี้ผมมีเงินทุนแล้ว บางคนบอกว่า
ผมลงทุนธุรกิจละ 80 ล้านบาท ดูเยอะ
แต่วันนี้ผมบอกว่าเงินตรงนี้ไม่เยอะ
สำหรับผม หลายคนพูดว่ามันเสี่ยง
แต่ผมพูดว่ามันไม่เสี่ยง
เพราะผมกุมแฟคเตอร์ความเสี่ยงแล้ว"
มีนักการเงินบอกว่ากู้เงินบ้างซิ!
"ROE"
(ผลตอบแทนต่อส่วนทุน)
คุณจะได้ออกมาดี...
อย่าไปพูดแบบนี้กับ
เจ้าพ่อวงการบันเทิงของเมืองไทยเด็ดขาด
เพราะเขาจะไม่สนใจ


"พ่อผมสอนไว้ว่า....อย่าเป็นหนี้

ถ้าเป็นหนี้สินใครหัวสมองมันจะคิดอะไรไม่ออก"

เพราะฉะนั้นวิธีการทำธุรกิจของผม
จะไม่ชอบการกู้เงินเลย""รบแนวราบ"
เพิ่ม "ขาหยั่ง" ธุรกิจ ภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า
สายตาต้อง "ยาวไกล"
ความคิดกลับต้อง "ลึกซึ้ง"
ล่าสุด ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
ลุยธุรกิจส่วนตัวถึง 4 ธุรกิจพร้อมกัน
ได้แก่ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "โฟร์มี"
ธุรกิจขายตรง "ยู-สตาร์" ร้านอาหารญี่ปุ่น "โฮยู"
(สาขาแรกเปิดที่ตึกจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ อโศก)
และกำลังจะเปิดตัวธุรกิจเสื้อผ้า
ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างตั้งแบรนด์เนมในอนาคต


ไพบูลย์
ยังมีธุรกิจที่เขาอยากทำอีกอย่างน้อย 2 ธุรกิจ
คือ ธุรกิจเครื่องดื่มและเรียลเอสเตท
ไพบูลย์
บอกว่า เขาได้กัน
เงินสดส่วนตัวเพื่อนำมาใช้เป็นเงินลงทุน
ในธุรกิจใหม่ประมาณ 300-400 ล้านบาท
ใช้ไปแล้วประมาณ 200 กว่าล้านบาท
โดยทุกธุรกิจที่ไพบูลย์ลงทุน
เขามีหลักการว่าจะลงทุนเพียงแค่ 40%เท่านั้น
ความคิดการลงทุนในธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเดิมนั้น

ไพบูลย์ อธิบายโจทย์ความคิดของเขาให้ฟังว่า
การขยายธุรกิจส่วนตัวของผม
หรือที่เราเรียกว่า Diversify (การแตกธุรกิจ)
จากธุรกิจเดิมที่เราทำอยู่
ไปสู่ธุรกิจอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย
เป็นปฏิกิริยาของการทำธุรกิจ

เมื่อธุรกิจหนึ่งประสบความสำเร็จแล้ว
เราก็คงจะเดินไปในธุรกิจนั้นให้ถึงที่สุดก่อน
(ขยายตัวในแนวลึก)
คือทำอย่างใดอย่างหนึ่งให้ชำนาญ
ก็คงเป็นปรัชญาการทำธุรกิจของทุกคนอยู่แล้ว
แต่ปรัชญาการทำธุรกิจอีกข้อหนึ่งบอกว่า
เพื่อความไม่ประมาท
ก็ควรจะมีธุรกิจอื่นรองรับบ้าง
ตรงนั้นก็คงจะเป็นการขยายธุรกิจในเชิง
Diversify ไปสู่ธุรกิจอื่น
ซึ่งก็คือการขยายตัวในแนวระนาบ"


"วิธีคิดของผม ก็คือไปทำธุรกิจอื่น

ก็น่าจะอยู่ในปรัชญาเดิม คือเป็นธุรกิจที่เรารู้เรื่องดี
เรายังสามารถที่จะแยกแยะธุรกิจนั้นในเรื่องของ
Key to Success(กุญแจแห่งความสำเร็จ)
ว่า Key to Success
แต่ละธุรกิจที่เราไปทำนั้น
เราคุมสถานการณ์ได้ซักเท่าไหร่"


ไพบูลย์
ยกตัวอย่าง ธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร
(บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป "โฟร์มี")
โดยลักษณะธุรกิจจะเป็นธุรกิจ
"คอนซูเมอร์ โปรดักท์" (สินค้าอุปโภค-บริโภค)

"ผมทำด้วยความรู้สึกสนุกที่จะทำสินค้านี้
เนื่องจากผมมีความทรงจำดีๆ
ในสมัยที่ผมทำงานอยู่ในเครือสหพัฒน์
แล้วได้ทำงานร่วมกับนายห้างเทียม โชควัฒนา....
ผมขอใช้คำว่ามันเป็น "ความสนุก"
มากกว่าความรู้สึกอย่างอื่น
"เรียกว่ามันเป็นความฝันของผู้ชายคนหนึ่งได้หรือไม่!!!


"จะเรียกอย่างนั้นก็ได้เหมือนกัน"
เขาตอบการที่ไพบูลย์กระโดดมาทำธุรกิจที่
หลายคนมองว่า มันไม่ใช่ความถนัดของตัวเขาเลยนั้น
เขาบอกว่า
"พอผมเรียนจบ (นิเทศศาสตร์ จุฬาฯ)
ครั้งแรกก็ไปทำงานที่

บริษัทฟาร์อีสท์ แอดเวอร์ไทซิ่ง (ในเครือสหพัฒน์)
ทำโฆษณาพวกสินค้าคอนซูเมอร์ โปรดักท์
ก็คุ้นเคยกับสินค้าเหล่านี้
พอผมไปช่วยเขาเปิดบริษัท พรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง
(ในเครือโอสถสภา เต๊กเฮงหยู)
ก็ทำเกี่ยวกับสินค้าพวกนี้อีก
ทำให้ผมเข้าใจว่าชีวิตผมตอนนั้น
น่าจะอยู่กับสินค้าคอนซูเมอร์โปรดักท์ด้วยซ้ำ"


สาเหตุที่มาทำธุรกิจทางด้านบันเทิง
ก็เพราะจังหวะชีวิตที่หักเห เขาเล่าให้ฟังว่า
เดิมทีคิดว่าชีวิตตัวเองคงจะเติบโตไป
ในสายธุรกิจคอนซูเมอร์ โปรดักท์มากกว่า
ที่บ้านผมก็เป็นร้านขาย "ของชำ"
ผมก็คุ้นเคย มาทำงานโฆษณาก็รู้จัก
คอนซูเมอร์ โปรดักท์
เมื่อมาทำโฟร์มีมันก็เป็นความสนุก
เพราะผมเคยมีประสบการณ์ตรงนั้นมาก่อน
ตอนที่คิดจะทำ "โฟร์มี" มีวิธีคิดอย่างไร???

"การทำธุรกิจบะหมี่สิ่งที่ผมคิด
เราต้องการโรงงานที่ดีที่สุดมาผลิตบะหมี่ให้เรา
ผมก็คิดว่าถ้าเผื่อผมได้บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์
(ผู้ผลิตบะหมี่มาม่าในเครือสหพัฒน์)
ก็เท่ากับผมได้กุม Key to Success
ไปอีกข้อหนึ่ง นอกจากข้อที่ผมคุ้นเคย
รู้จักสินค้าพวกนี้ค่อนข้างดี"

ไพบูลย์อธิบายให้ฟังว่า
ถ้าเผื่อผมไปทำธุรกิจด้านเรียลเอสเตท ผมไม่คุ้นเลย
เพราะผมไม่รู้จัก แต่สินค้าคอนซูเมอร์ โปรดักท์
ผมรู้จักดี เมื่อคุณรู้จักวิธีการ
"ทำการตลาด" คุณมี "โรงงานผลิตที่ดี"
ประการสุดท้ายก็คือ "โฆษณา"
นี่มันก็อาชีพผมอยู่แล้ว
เพราะแกรมมี่ก็มีธุรกิจด้านมีเดียอยู่ด้วย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมมีศิลปิน (ดังๆ ในสังกัด)
ก็เป็นปัจจัยเสริมต่อธุรกิจ
เพราะฉะนั้นผมก็ลองประเมินว่าสิ่งเหล่านี้
มันเป็น Key to Success ใช่หรือไม่
คำตอบคือ "ใช่" ยิ่งผมได้หุ้นส่วน
คือ กลุ่มสหพัฒน์มาร่วมลงทุนด้วย (40%)
ยิ่งตอกย้ำเงื่อนไขที่ค่อนข้างสมบูรณ์.....


นั่นคือสาเหตุที่ผมตัดสินใจทำแต่ประเด็นข้อสงสัย
ก็คือ ทำไม!ถึงเลือกทำ "โฟร์มี"
ร่วมกับหุ้นส่วน ที่มีสถานะเป็น
"คู่แข่ง" ที่น่ากลัวที่สุดอย่าง "มาม่า"
ในมุมมองของไพบูลย์ โจทย์นี้มองได้ 2 มุม
ในฐานะนักธุรกิจที่เชี่ยวกราก
มองอย่างเปิดกว้าง สมมติผมไม่ได้ร่วมธุรกิจกับสหพัฒน์
ผมก็มีคู่แข่งอยู่ดี
ผมกับสหพัฒน์มีแนวคิดตรงกันว่า
เรามาแข่งกันเอง ยังดีกว่าเราไปแข่งขันกับคนอื่น
"นี่อาจเป็นจุดที่บ่งบอกสายตาที่ "ยาวไกล"
ภายใต้กรอบความคิดที่ "ลึกซึ้ง" ของเขา


ไพบูลย์
อธิบายวิธีคิดของเขาให้เข้าใจยิ่งขึ้นว่า
"ผมจะยกตัวอย่างเหมือนกับผมทำเทป

อย่างเทปของคุณเบิร์ด (ธงไชย แมคอินไตย์)
ทุกคนรู้ว่าแกมีศักยภาพสูง
อยู่ในวงการมานาน ส่วนแบ่งในตลาดเยอะ
ขณะที่น้องพลับ (จุฑาภัทร เหล่าธรรมทัศน์)
เพิ่งเข้ามาในวงการไม่นาน
ส่วนแบ่งตลาดก็น้อย
แต่วิธีคิดทางธุรกิจของผมก็อยากจะมีทั้ง
คุณธงไชย และน้องพลับ
"ถ้าผมเป็นสหพัฒน์ ผมมี "ม่าม่า" อยู่แล้ว
มี "โฟร์มี" อีกยี่ห้อก็ได้
มันเหมือนกับผมได้เงินมา 100 บาท
ผมต้องแบ่งรายได้ให้คุณธงไชยเยอะที่สุด
(เมื่อเทียบกับศิลปินคนอื่นในค่าย)
ถ้าเทปของคุณธงไชยขายดี ผมก็ดีใจ

ส่วนของน้องพลับ ผมได้ส่วนแบ่งมากกว่าคุณธงไชย
ถ้าเทปน้องพลับขายดี ผมก็ดีใจ
แต่ในทางธุรกิจผมจะไม่พยายามทำให้
เทปของน้องพลับขายดีกว่าของคุณธงไชย
และไม่พยายามทำให้เทปของคุณธงไชย
ขายแย่กว่าน้องพลับ
ตราบใดที่ทั้ง 2 คนยังคงเป็น
ส่วนหนึ่งในธุรกิจของผมเหมือนกับว่าใครขายดี
ผมก็ OK ทั้งนั้น หมายความว่า
ความเป็นสหพัฒน์ เขามีสินค้าในเครือเยอะ
ถึงแม้จะแข่งขันกันเอง
แต่ภาพรวมยังเป็นความสำเร็จของเขา
ผมว่าเขาก็น่าจะยินดี
ถึงบอกว่าแข่งกันเอง ยังดีกว่าไปแข่งกับคนอื่น"


แต่การทำตลาดบะหมี่สำเร็จรูป "โฟร์มี"
ก็ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่ไพบูลย์คิดเอาไว้

สิ่งที่เห็นได้ชัดคือธุรกิจบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
เป็นตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรง
แต่ละค่ายมีการทุ่มงบโฆษณา ลดแลกแจกแถม
อย่างหนักเพื่อสกัด "ดาวรุ่ง"
ทำให้โฟร์มีสามารถแย่งแชร์ตลาดมาได้เพียง 3%
ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ต่ำมาก
จนมีสิทธิที่จะถูกเบียดออกไปจาก
ตลาดการแก้เกมของไพบูลย์
ก็คือปรับกลยุทธ์การตลาดใหม่
โดยมุ่งเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดมากกว่า

จะคำนึงในเรื่องของกำไร
เพราะการแจ้งเกิดของธุรกิจใหม่ในตลาดนั้น
"ที่ยืน" สำคัญกว่า "กำไร"โจทย์ธุรกิจนี้


ไพบูลย์
แก้โดยหาเอเยนซีใหม่
มารับผิดชอบงานโฆษณา

และหา Distributor
(ผู้จัดจำหน่าย) ที่เขาเชี่ยวชาญ
ทางด้านนี้มารับผิดชอบ
โดยตรงการที่ไพบูลย์กล้ากระโดดเข้ามาใน
ธุรกิจ "คอนซูเมอร์ โปรดักท์"
เป็นเพราะว่าเขามีความแนบแน่นกับครอบครัว "โชควัฒนา"
ทำให้ง่ายต่อการเข้าหาแหล่งผลิต
"ต้นทุนต่ำ" และสินค้าก็มี "มาตรฐาน"
เป็นที่ยอมรับ


ที่สำคัญไพบูลย์มีความผูกพันกับนายห้างเทียม โชควัฒนา

ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์ส่วนหนึ่งยอมรับว่า
ได้รับการซึมซับมาจากนายห้างเทียม(โชควัฒนา)
"เพราะผมสนิทกับท่านมาก
แล้วผมค่อนข้างศรัทธานับถือ
ในระบบความคิดต่างๆ ของท่าน"
หลายคนอาจสงสัยว่า
ทุกวันนี้ไพบูลย์ร่ำรวยมากแล้ว
จะมาเหนื่อยทำโน่นทำนี่อีกทำไม!!!
เขาตอบข้อสงสัยนี้ว่า
ผมเรียนตามตรง ผมอยากจะสร้าง "ขาหยั่ง" อีกสักอัน
เป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับ
ฐานะทางเศรษฐกิจของตัวเอง หมายความว่า
เมื่อเราประสบความสำเร็จ
ในธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว
ก็ควรจะไปหาความสำเร็จอย่างอื่น
ที่ต่างออกไปจากสิ่งที่เคยทำ
มีการตั้งข้อสังเกตว่าการทำใน
สิ่งที่แตกต่างจากความเชี่ยวชาญ
มองมุมกลับมันหมายถึง "ความเสี่ยง" ทางธุรกิจ
แต่สำหรับไพบูลย์ เขากลับมอง
มันเป็น "โอกาส" มากกว่า
"สำหรับผมการลงทุนในธุรกิจใหม่
มันไม่เป็น "ความเสี่ยง" อีกแล้ว
เพราะผมไม่ได้ไปสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่
สิ่งที่ผมทำอยู่ 3-4 ธุรกิจ
มันอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ผมกำหนดได้เองตลอด"
ทุกครั้งที่ลงทุนธุรกิจใหม่
ไพบูลย์จะจำกัดขอบเขตการลงทุนเอาไว้ในใจ
เส้นแบ่งความเป็นเจ้าของของไพบูลย์
เขาจะกำหนดไว้ที่ 40% ต่อ 1 ธุรกิจ
เขาให้เหตุผลในการถือหุ้นในธุรกิจใหม่เพียง
40% ว่าเพื่อแสดงให้เห็นว่างานหลักยังอยู่ที่แกรมมี่
"ทุกวันนี้ผมถือหุ้นแกรมมี่เกินกว่า 50%
เพราะฉะนั้นธุรกิจอื่นผมมีกฎว่าจะถืออยู่แค่
40% เท่านั้น เพื่อให้เห็นว่า
Conflict of Interest (ความขัดแย้งทางผลประโยชน์)
จะไม่เกิด ยังไงผมก็ยังดูแลธุรกิจของแกรมมี่"
ไพบูลย์เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนตอนทำแกรมมี่
เขาทำด้วยความตื่นเต้นเสียวไส้มาก

แต่ตอนนี้ทำด้วยความสนุกจริงๆ
เพราะ "ผมไม่กลัวเจ๊ง"
เราได้กำหนดขอบเขตของเงินทุนที่เราไปลง
ผมเป็นคนไม่ดื้อ
ไม่ใช่คนที่รักษาหน้าแบบคนหน้าบาง
แพ้ก็บอกว่าชนะ หรือหลอกตัวเอง
หรือยื้อธุรกิจไปเรื่อยๆ
สำหรับผม...ถ้าแพ้ บอกแพ้...ถ้าพลาด บอกพลาด"