Custom Search

Sep 27, 2007

รำลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์

คิดถึงอาจารย์ป๋วย: http://www.wetu.org/Dr_puey.htm
ประวัติและผลงาน

นายป๋วย อึ๊งภากรณ์ เป็นครู เป็นนักเศรษฐศาสตร์ เป็นนักพัฒนา เป็นนักเขียนนักคิด
เป็นนักมนุษยธรรม เป็นผู้ที่สนใจปัญหาสำคัญของประเทศ
มีชื่อเสียงเกียรติคุณเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ
นายป๋วย เกิดเมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๙ ที่ตลาดน้อยใจกลางกรุงเทพมหานคร
บิดาชื่อ ชา เป็นคนจีนที่อพยพที่เข้ามาทำมาหากินในประเทศไทย
มารดาชื่อนางเซาะเซ็งเป็นคนไทย เชื้อสายจีน บิดา มารดา มีบุตรทั้งหมด ๗ คน
นายป๋วยเป็นคนที่ ๔ บิดามีอาชีพขายส่งปลา แม้ฐานะจะไม่มั่งคั่งก็ไม่ถึงกับ
อัตคัดขาดแคลน ต่อมาเมื่อนายป๋วยอายุได้ ๘ ขวบ บิดาถึงแก่กรรม
ครอบครัวเริ่มประสบความลำบาก มารดาต้องทำมาหากินเลี้ยงลูกทั้งหมด
อาศัยที่ได้ญาติผู้ใหญ่ให้ความอุปการะบ้าง ลูกๆ จึงได้รับศึกษาเป็น อย่างดี

นายป๋วยเข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชัญ เรียนเก่งในวิชาคณิตศาสตร์และภาษาฝรั่งเศส
เมื่อจบมัธยม ศึกษาใน พ.ศ.๒๔๗๕ โรงเรียนรับเข้าเป็น
ครูสอนหนังสือโดยได้เงินเดือน ๔๐ บาท
นายป๋วยแบ่งให้มารดา ๓๐ บาท เก็บไว้ใช้ส่วนตัว ๑๐ บาท
ในระหว่างที่เป็นครูอยู่นั้นได้ไปสมัครเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ซึ่งในสมัยนั้นไม่ต้องเข้าชั้นเรียนเป็นประจำ
(เหมือนมหาวิทยาลัยรามคำแหงในปัจจุบัน)
และเมื่อจบปริญญาธรรมศาส่ตร์บัณฑิตใน พ.ศ.๒๔๘๐
ได้ลาออกจากการเป็นครูมาทำหน้าที่ล่ามให้กับอาจารย์ฝรั่งเศส
ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ นายป๋วยสอบแข่งขันได้ทุนรัฐบาลไปเรียนต่อในสาขาเศรษฐศาสตร์
ที่ London School of Economics ประเทศอังกฤษ
จนสำเร็จปริญญาตรีใน พ.ศ. ๒๔๘๔ โดยได้รับเกียรตินิยม อันดับหนึ่ง
อันเป็นผลทำให้ได้ทุนเรียนต่อในระดับปริญญาเอก
เรียนยังไม่จบก็เกิดสงครามโลก ครั้งที่ ๒ ขึ้น นายป๋วยได้เข้าร่วมขบวนการเสรีไทย
ใช้ชื่อรหัสว่า " เข้ม " ได้มาปฏิบัติการในประเทศไทยโดยกระโดดร่มลงที่
จังหวัดชัยนาท แต่ถูกจับได้ ต่อมาได้มี่โอกาสกลับไปประเทศอังกฤษอีกใน พ.ศ. ๒๔๘๘
ได้รับเลื่อนยศให้เป็น พันตรีในกองทัพอังกฤษ

นายป๋วยได้ศึกษาต่อจนจบปริญญาเอกใน พ.ศ. ๒๔๙๑
ระหว่างนี้ได้ทำการสมรสกับนางสาวมาร์เกา เร็ต สมิธ (มีบุตรด้วยกัน ๓ คน)
และได้กลับมาเมืองไทยเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ เริ่มรับราชการที่กรมบัญชีกลาง
กระทรวงการคลัง และเมื่อ พ.ศ.๒๔๙๖ ได้เข้าดำรงตำแหน่ง
รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย แต่อยู่ได้ เพียง ๗ เดือน
ก็ต้องออกไปเพราะไม่ยอมทำสิ่งที่ตนคิดว่าไม่ซื่อตรงต่อหน้าที่
แต่ก็ยังคงรับราชการที่กระทรวง การคลังอยู่จนกระทั้ง พ.ศ.๒๔๙๙

นายป๋วยได้ไปขัดขวางผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจจึงต้องไปรับราชการ
ประเทศอังกฤษในตำแหน่งที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจประจำสถานเอกอัครราชทูต
ระหว่างนี้ได้มีส่วนช่วยให้ไทยขาย ดีบุกและยางพาราให้แก่ชาติในยุโรปได้มากขึ้น
ท่านได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาดีบุกระหว่างประเทศ
ปี ๒๕๐๑ ได้กลับประเทศไทยเข้ารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ
ซึ่งพึ่งตั้งขึ้นใหม่ และ ในปี ๒๕๐๒
ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย อยู่ในตำแหน่งนี้นานถึง ๑๒ ปี
โดยได้ขอลา ออกหลายครั้งแต่ไม่ได้รับอนุมัติ ที่ขอลาออกก็เพื่อจะไปทำหน้าที่
คณบดีคณะเศรษฐศาส่ตร์ซึ่งได้รับแต่งตั้งเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๗ ได้เต็มที่

นอกจากนี้นายป๋วยยังได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานและ
คณะกรรมการที่สำคัญหลายชุด

การรัฐประหาร พ.ศ.๒๕๑๔ ทำให้นายป๋วยต้องหลบภัยทางการเมืองไปอยู่อังกฤษ
โดยไปสอน ณ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และได้กลับมาประเทศไทย
ภายหลังเหตุการณ์ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ รับตำแหน่งที่
ปรึกษาทางเศรษฐกิจของรัฐบาลนายสัญญา ธรรมศักดิ์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘
ได้รับแต่งตั้งให้เป์นอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เมื่อเกิดเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ก่ต้องลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ประเทศ อังกฤษอีก
จนกระทั่งปัจจุบัน

____________________________________________________

ข้อคิดจาก 90 ปี อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์

วรากรณ์ สามโกเศศ 
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ http://www.dpu.ac.th/
มติชนรายวัน วันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10232

9 มีนาคม 2549 เป็นวันคล้ายวันเกิดครบ 90 ปีของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์
ปูชนียบุคคล และ "สามัญผู้ยิ่งใหญ่" คนหนึ่งของสังคมไทย ผู้ "ให้มาก และเอาไปน้อย"
วันสำคัญนี้เป็นโอกาสดีที่ผู้ที่นับว่าตนเองเป็นศิษย์อาจารย์ป๋วย
หรือศิษย์คำสอนและเลื่อมใสวัตรปฏิบัติอันงดงามของท่านอาจารย์
ได้ทบทวนบทบาทของตนเอง

นอกจากหนังสือ "เศรษฐกิจประเทศไทย" ที่ตีพิมพ์ออกมาเป็นเล่มในเดือนตุลาคม 2498
(รวบรวมจากคำบรรยายวิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ ของท่านอาจารย์ป๋วย
สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
แล้วยังมีเอกสารคำบรรยายเกี่ยวกับหลักธรรมจริยา ซึ่งควรยึดถือในทางเศรษฐศาสตร์
ซึ่งคุณหญิงสุภาพ ยศสุนทร ปิยมิตรของท่านได้ร่วมปรับปรุงแก้ไขด้วยอีก เล่มหนึ่ง

ในเอกสารคำบรรยายนี้ ผู้เขียนได้เน้นว่าธรรม และศีล
ตามหลักพุทธศาสนานั้นมีความสอดคล้องกัน ในทางเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างดี
ธรรมหมายถึงการช่วยเหลือให้บุคคลและสังคมโดยรวมดีขึ้น
ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญคือความยุติธรรม
ส่วนศีล หมายถึงการละเว้นจากการสร้างความเดือดร้อนให้ตนเองและผู้อื่น

ท่านอาจารย์ป๋วยได้ขยายความโดยยกตัวอย่างกรณีที่ถือว่าขัดกับหลักธรรมและศีล
หรือหลักธรรมจริยาในทางเศรษฐศาสตร์ ไว้หลายกรณี ได้แก่
(อ้างจาก อันเนื่องมาแต่ตุลาคม 2519 ป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2523)

1.ข้าราชการผู้รับสินบนหรือใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตน
2.ข้าราชการผู้เกี่ยวโยงกับธุรกิจเอกชนในฐานะประธานหรือกรรมการบริษัท
ซึ่งมีผลประโยชน์ขัดกับหน่วยงาน ซึ่งข้าราชการผู้นั้นปฏิบัติงานอยู่
ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตและมิได้ใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตน
ก่อให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจนั้นก็ตาม
3.ข้าราชการผู้ที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
แม้ว่าจะเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตก็ตาม
4.นโยบายเศรษฐกิจซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อคนกลุ่มน้อย
ในขณะที่เป็นผลร้ายต่อคนส่วนใหญ่
5.บุคคลผู้สมรู้ร่วมคิดกับข้าราชการ เพื่อเอาเปรียบสาธารณชน
6.ข้อจำกัดต่างๆ ซึ่งรัฐบาลออกบังคับใช้อย่างไม่สมเหตุสมผล
7.การหลีกเลี่ยงภาษีอากรของบุคคลและบริษัทห้างร้าน
8.การกักตุนสินค้าในยามขาดแคลน โดยมุ่งค้าหากำไรในตลาดมืด
9.ราษฎรผู้ปราศจากอาชีพ ผู้ไม่พยายามหาเลี้ยงชีพโดยสุจริตหรือไม่ตระหนัก
ถึงหน้าที่ของตนในฐานะพลเมืองของชาติ ผู้ปราศจากสติยับยั้ง
และความรู้สึกผ่อนหนักผ่อนเบา ผู้ที่พยายามเอาเปรียบผู้อื่น
และผู้ไม่พยายามขวนขวายหาความรู้ใส่ตัว
และคอยขัดขวางความก้าวหน้า
10.ชนกลุ่มน้อยซึ่งกลายเป็นผู้ร่ำรวยอย่างมหาศาล
ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่มีความยากจนแร้นแค้น
11.ผู้ที่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจและมีรายได้สูงหรือผู้ที่ได้รับมรดกตกทอด
จำนวนมาก แต่มิได้นำทรัพย์สินเหล่านั้นมาลงทุนในทางที่ก่อให้เกิดผลผลิต
อันจะช่วยการพัฒนาทางเศรษฐกิจ
หลักธรรมจริยาทั้ง 11 ข้อข้างต้นนี้ "โดนใจ" คนหลายคนในปัจจุบัน
แต่สำหรับเหล่าบรรดาผู้นับตนเองว่าเป็น "ศิษย์อาจารย์ป๋วย"
แล้วมีหลายข้อซึ่งขัดกับหลักธรรมจริยาที่ควรใคร่ครวญดังต่อไปนี้

(ก) "ข้าราชการผู้รับสินบนหรือใช้อำนาจหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนตัว"
เหล่าศิษย์ที่ทำงานในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ และการเงินการคลังทั้งหลาย
พึงตระหนักว่าการสร้างให้มี "สองมาตรฐาน" เพื่อประโยชน์แห่งความก้าวหน้า
ในงานราชการของตน ก็เปรียบเสมือนกับการรับสินบนหรือใช้อำนาจหน้าที่
เพื่อประโยชน์ส่วนตัวอย่างไม่ต้องสงสัย
การกล่าวเพียงเท่านี้ก็คงเพียงพอ อย่าลืมว่าสิ่งใดที่ทำไปนั้น "เพื่อนร่วมอาจารย์"
เดียวกัน ผู้อยู่ในหน่วยงานลักษณะเดียวกัน รวมทั้งผู้ที่จับตามองนั้น เขามิได้ "กินแกลบ"
(ขอใช้สำนวนคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์)

(ข) "ข้าราชการผู้ที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพแม้ว่าจะเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต
ก็ตาม" บางท่านที่ทำการดังกล่าวในข้อ (ก) มีสภาพเหมือน
"ข้าราชการผู้ที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพ
ซึ่งเป็นการผิดหลักธรรมจริยาอย่างชัดแจ้ง การละเลยมิได้ปฏิบัติหน้าที่
อันพึงกระทำก็เป็นการผิดหลักธรรมจริยาข้อเดียวกัน

(ค) "บุคคลผู้สมรู้ร่วมคิดกับข้าราชการ เพื่อเอาเปรียบสาธารณชน"
เป็นการละเมิดหลักธรรมจริยาของผู้ไม่ได้เป็นข้าราชการ ถ้าบังเอิญผู้นั้นเคยนับว่าเป็น
"ศิษย์อาจารย์ป๋วย" ก็เท่ากับกระทำสิ่งซึ่งตรงข้ามกับคำสอนและวัตรปฏิบัติ
ของท่านอาจารย์หากท่านอาจารย์ป๋วยยังมีชีวิตอยู่
คงไม่มีอะไรที่ทำให้ท่านโทมนัสใจได้เท่ากับคนที่นับว่า
ตนเองเป็นศิษย์ละเมิดธรรมจริยา 3 ข้อข้างต้นเป็นแน่
ไม่มีการบูชาคุณครูใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่าการกระทำการสิ่งที่สมกับที่เป็นศิษย์ครู

ชีวิตของท่านอาจาย์ป๋วยนั้นเปรียบเสมือนข้อความที่ท่านอาจารย์พระยาอนุมานราชธน
ได้เขียนไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2484 ดังนี้ "จำได้เคร่าๆ ว่าได้อ่านหนังสืออังกฤษเรื่องหนึ่ง
กล่าวถึงหาดทรายชายทะเลเวลาน้ำลงตอนเย็น เขาว่าในเวลาเย็นอย่างนั้น
มีคนมาเที่ยวเล่นตามหาดทรายกันมาก บ้างนั่ง บ้างเดินกันอยู่ขวักไขว่
จะพบรอยเท้าเหยียบย่ำไปบนทราย
สันสนปนกันที่ทับรอยก็มี รอยเท้าบางรายก็เป็นรอยลึกเห็นชัด
ที่มีรอยเห็นชัดแต่ครึ่งเดียว รอยอีกครึ่งหนึ่งหายไปก็มี
รอยเท้าเหล่านี้มีทั้งรอยใหญ่รอยเล็ก สุดแต่เจ้าของผู้ที่เหยียบย่ำมาบนทราย
ครั้นแล้วรอยเท้าเหล่านั้น ก็พลันถูกทะเลในเวลาน้ำขึ้นท่วม
ลบรอยให้สูญหายไปหมดแล้ว
ก็ตั้งต้นมีรอยเท้าใหม่ในเวลาน้ำลงอีก
เขาเปรียบรอยเท้าบนหาดทรายเหมือนชีวิตของคนที่เกิดมา
ถ้าเป็นคนมีคุณงามความดี ก็เสมือนรอยที่เห็นเด่นอยู่ในทราย
ผู้ที่มีคุณงามความดีน้อยกว่า ก็เสมือนรอยในทรายที่เห็นไม่เด่น หรือ
บางทีก็สักแต่ว่าเป็นรอยเห็นรางๆ เท่านั้น
ครั้นแล้วมฤตยูซึ่งเปรียบได้ด้วยน้ำทะเลเวลาขึ้นก็มาท่วมลบรอยหายไปหมด
จะอยู่ในความจำของผู้รุ่นหลังก็แต่รอยที่เห็นเด่น....."

"ศิษย์อาจารย์ป๋วย" ทั้งหลาย เลือกได้ว่าต้องการจะเป็นรอยเท้าแบบใดครับ