Custom Search

Jun 9, 2017

ร.10 โปรดเกล้าฯ จัดพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลถวาย ร.9-สมเด็จพระราชินี 9 มิ.ย.นี้


มติชน
วันที่ 2 มิถุนายน 2560 - 14:03 น

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชอนุสรณ์คำนึงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เจริญพระพุทธมนต์ถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ นำพระสงฆ์ 195 รูป นำเจริญพระพุทธมนต์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในพิธี ณ พระลานพระราชวังดุสิต ในวันที่ 9 มิถุนายน 2560 ตั้งแต่เวลา 18.00 น.

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้อัญเชิญ พระพุทธนิรันตราย พระพุทธรูปสำคัญมาประดิษฐานเป็นพระประธานในพิธี เพื่อให้ประชาชนได้สักการะอันจะเป็นมงคลแก่ชีวิต ประเทศชาติ และสืบสานพระราชปณิธาน “ธรรมราชินี” ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์หนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ขึ้นใหม่ จากเดิมมีบทสวดมนต์ 28 บท ทรงให้เพิ่มเติมบทสวดมนต์อีกจำนวน 9 บท รวมเป็น 37 บท จำนวน 94 หน้า โดยพระราชทานหนังสือสวดมนต์นี้ให้แก่ผู้มาเข้าร่วมพิธี กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ และกรุงเทพมหานคร รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ นำไปมอบให้แก่ประชาชน นักเรียน นักศึกษา อย่างทั่วถึง จำนวน 300,000 เล่มเพื่อร่วมในการสวดมนต์ในพิธีมหามงคลนี้พร้อมกันทั่วทุกภูมิภาค ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดหนังสือสวดมนต์ได้ที่เว็บไซต์ http://www.prd.go.th

ทั้งนี้ หนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ทั้ง 37 บท ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร.และภาพวาดฝีพระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงพิมพ์บนหน้าปกหนังสือบทเจริญพระพุทธมนต์ พร้อมอัญเชิญพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มาไว้บนหน้าปกของหนังสือบทเจริญพุทธมนต์ พร้อมพระราชทานข้อความฝีพระหัตถ์ด้านล่างพระบรมฉายาลักษณ์ พระฉายาลักษณ์ว่า “สุขกาย สุขใจ”

อีกทั้งทรงคัดเลือกและทรงเรียบเรียงบทเจริญพระพุทธมนต์นี้พร้อมคำแปลด้วยพระองค์เองเพื่อพระราชทานในพิธีมหามงคลบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเจริญพระพุทธมนต์ถวายสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราช พระสยามเทวาธิราช และ ถวายพระพรชัยมงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทั้งนี้ ทรงน้อมนำและสืบสานพระราชปณิธาน “ธรรมราชินี” ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชีนาถ มาไว้ที่หน้าปกบทเจริญพุทธมนต์ด้วย ทรงปรารถนาที่จะให้ประชาชนได้สวดมนต์เพื่อก่อให้เกิดสติ สมาธิ ปัญญา และเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและชาติบ้านเมืองสืบไป ส่วนด้านหลังปกบทเจริญพุทธมนต์นั้นได้พระราชทานพระมหากรุณาธิคุณให้เชิญอักษรพระปรมาภิไธย ว.ป.ร. มาไว้ด้านบนปกหลัง พร้อมข้อความว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเพื่อความเป็นสิริมงคลและความสุขของทุกท่านผู้มีศรัทธาบำเพ็ญธรรม” พระที่นั่งอัมพรสถาน 9 มิถุนายน 2560


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนที่มาร่วมในพิธีจะมีโอกาสได้กราบสักการะขอพรพระพุทธนิรันตราย อันเป็นพระพุทธรูปโบราณอย่างใกล้ชิด ซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้นั้นเป็นพระพุทธรูปโบราณสององค์ซ้อนกัน องค์ในเป็นพระพุทธรูปที่กำนันอินและนายยัง บุตรชาย ขุดพบเมื่อปีมะโรง พ.ศ.2399 ที่ชายป่าแขวงเมืองปราจีนบุรี ห่างจากดงศรีมหาโพธิ์ประมาณสามเส้น (ปัจจุบันคือโบราณสถานหมายเลข 3 ซึ่งเรียกว่าเนินภูเขาทองในเขตโบราณสถานศรีมโหสถ) ในขณะที่กำลังขุดมันนก โดยก่อนหน้านั้น ฝันว่าจับช้างเผือกได้เป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองคำเนื้อหก น้ำหนักเจ็ดตำลึงสิบเอ็ดสลึง พุทธศิลปะแบบทวารวดี จึงให้พระเกรียงไกรกระบวนยุทธ์ ปลัดเมืองฉะเชิงเทรา พาเข้ามา ณ กรุงเทพฯ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ในวันพระฤกษ์เฉลิมพระราชมณเฑียรสีตลาภิรมย์ องค์นอก พระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชรต้องตามพุทธลักษณะหน้าตักห้านิ้วกึ่ง หล่อด้วยทองคำ สวมครอบพระพุทธรูปนิรันตรายไว้อีกชั้นหนึ่งไม่มีซุ้มเรือนแก้วเป็นพุ่มพระมหาโพธิ์อยู่เบื้องหลัง


โดยในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญพระพุทธนิรันตรายทองคำประดิษฐานในพระแท่นมณฑลในพระราชพิธีต่างๆ เช่น พระราชพิธีสัมพัจฉรฉินท์ (ทำบุญตรุษ) พระราชพิธีสงกรานต์ ปัจจุบัน เจ้าพนักงานภูษามาลายังรักษาแบบแผนโบราณราชประเพณีโดยอัญเชิญพระพุทธนิรันตรายไปตั้งในพระราชพิธีสำคัญ เช่น ในการบำเพ็ญพระราชกุศลวันเฉลิมพระชนมพรรษา และการพระราชกุศลที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัด ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ เป็นต้น