วันที่ 07 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553
เมื่อไม่นานมานี้ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
จัดสัมมนาธรรมเทศนา
ในหัวข้อ "ความรู้สึกไม่ใช่กู"
โดย พระครูวินัยธร พระมหาทรงศักดิ์ วิโนทโก (หลวงพ่อเอี้ยน)
สำนักวิปัสสนารังสันติบรรพต จ.พัทลุง และ
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
ผู้เขียนหนังสือ
"ดูจิตหนึ่งพรรษา และ ดูจิตชั่วพริบตา"
อาจารย์ประเสริฐ อุทัยเฉลิม
จุดประเด็นว่า การที่คนเราฟังธรรมะและหมั่นปฏิบัติธรรม
ก็จะทำให้พระพุทธศาสนาและกงล้อพระพุทธศาสนา
หมุนไปไม่หยุดอยู่กับที่ ฉะนั้นทุกคนมีหน้าที่ต้องช่วยกัน
ผลักดันกงล้อพระธรรมจักรให้เคลื่อนต่อไป
เพราะปัจจุบันคนที่สนใจฟังธรรมะน้อยลงมาก
ยิ่งเยาวชนไทยรุ่นใหม่ไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้เลย
ทำให้เยาวชนส่วนใหญ่ลืมเลือนพุทธศาสนาไปในที่สุด
เพราะมีเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาแทรก
"วงจรชีวิตคนเราก็เหมือนกับโดมิโนเล็กๆ
ทุกคนล้วนแล้วแต่มีความทุกข์ในใจ
คนที่เคยมีทรัพย์สินเงินทองมากมาย
แต่มาวันหนึ่งก็สิ้นเนื้อประดาตัว
แล้วจะเอากระจิตกระใจที่ไหนมาใช้ชีวิตต่อไป
บ้างก็คิดสั้นฆ่าตัวตาย แต่การฆ่าตัวตายก็ไม่ได้ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น
กลับเป็นการสร้างภาระให้คนที่มีชีวิตอยู่
ทำไมคนเราต้องทุกข์ เพราะทุกข์นั้นเกิดขึ้นจากเหตุ คือ
ใจเราเองทั้งสิ้น ใจเราทำไมต้องไปยึดติดกับผู้อื่น
ถ้าเราไม่ยึดติดเราก็มีความสุขได้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้สินกี่ร้อยล้าน
แต่ถ้าจิตใจเราตั้งมั่นก็จะไม่เกิดความวิตกกังวลใด
ผู้ที่เพิ่งเริ่มปฏิบัติธรรมและอยากหาทางพ้นทุกข์
จะต้องฝึกให้รู้สึกตัวหรือการเจริญสติ
บำเพ็ญภาวนาจิต เป็นประจำก็จะหาหนทางดับทุกข์ได้ "
อาจารย์ประเสริฐกล่าว
สติ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมาก
คนเราในปัจจุบันเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
จากการขาดสติ จิตที่เรายังรู้สึกหวาดกลัว
และละแวงกับสิ่งที่ต้องเผชิญ เราควรฝึกสติ
ไม่ใช่ให้ฝึกแล้วมีสติดี แต่ฝึกเพื่อให้เห็นความจริง
สติในสัญชาติญาณใฝ่ต่ำ คือ สติที่คิดจะประทุษร้ายผู้อื่นตลอดเวลา
กายกับใจของเราเป็นฐานที่ตั้งของสติ
เพราะ เมื่อใดที่เราหันกลับมามองกายกับใจ
มันมีแต่ความทุกข์ล้วนๆ เราจึงพยายามหนีออกไปข้างนอกตลอดเวลา
มันเกิดจากสัญชาติญาณของจิต คือจะหนีทุกข์
จะไม่ยอมเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ก็จะทุกข์ไปเรื่อยๆ
พระครูวินัยธร พระมหาทรงศักดิ์ วิโนทโก
กล่าวแสดงธรรมว่า พุทธศาสนา คือวิชาและระเบียบปฏิบัติ
เพื่อให้รู้จักสิ่งทั้งปวงถูกต้องตามที่เป็นจริง ว่า
อะไรเป็นอะไร สิ่งทั้งปวงมีสภาพตามที่เป็นจริง
คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ไม่ใช่ตัวหรือของตัว
แต่สัตว์ทั้งหลายยังหลงรัก หลงยึดติดสิ่งทั้งปวง
เพราะอำนาจของความยึดมั่นที่ผิด
ในพุทธศาสนามีวิธีปฏิบัติเรียกว่า ศีล สมาธิ ปัญญา
เพื่อใช้เป็นเครื่องมือตัดความยึดมั่นถือมั่นนั้นเสีย
อุปทานความยึดมั่นนั้นมีสิ่งที่ลงเกาะหรือจับยึดคือขันธ์ทั้งห้า ได้แก่
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เมื่อรู้จักขันธ์ทั้งห้าตามที่เป็นจริงก็จะสามารถเข้าใจสิ่งทั้งปวง
ทำให้คนเราไม่ยึดอะไร ติดอะไร และเราควรจะมีชีวิตอยู่อย่างที่เรียกว่า
"เป็นอยู่ชอบ" คือให้วันคืนเต็มไปด้วยความสุข
อันเกิดจากการกระทำที่ดีงาม ที่ถูกต้องอยู่เป็นประจำแล้ว
ระงับความฟุ้งซ่าน เกิดสมาธิ เกิดความเห็นแจ้งได้เรื่อยๆไป
คลายความอยาก ความหลุดพ้น และนิพพานไปตามความเหมาะสม
“ความรู้สึกไม่ใช่กู ร่างกายนี้ไม่ใช่กู จิตใจนี้ไม่ใช่กู เรียกว่า
นามรูป ร่างกายและจิตใจ คือ อายตนะ 6 ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ความรู้สึก จะเกิดเมื่อตาคนเราเห็นรูป เมื่อหูได้ยินเสียง
เมื่อจมูกได้กลิ่น เมื่อลิ้นได้ลิ้มรส เมื่อกายมีอะไรมาสัมผัส
เมื่อใจมีอารมณ์ต่างๆ ความรู้สึกไม่ใช่กูพอมันอิ่ม
ก็จะทำให้คนเราเกิดปัญญา ความรู้สึกก็จะแตกออกไปมากมาย
เป็นอนิจจัง เป็นอนัตตา เป็นสุญญตา ความว่าง
ความรู้สึกไม่ใช่กู เป็นธรรมชาติ การว่างจากตัวตน
ทุกอย่างบนโลกเราล้วนแล้วแต่มีการเปลี่ยนแปลง
ฉะนั้นเราต้องยอมรับความเปลี่ยน ยอมรับว่ามันไม่ใช่กู”
หลวงพ่อเอี้ยนกล่าวทิ้งท้าย คนไทยส่วนใหญ่ยัง
มีความทุกข์ที่เกิดจากจิตใจตนเอง โดยรู้ตัวก็ดี
ไม่รู้ตัวก็ดี นั่นก็เพราะเราไม่สามารถที่จะข่มใจตนเอง
ให้สงบลงได้ ยังมีความคิดที่อยากเอา อยากได้
อยากมี อยากเป็น ถ้าเรายังละตรงนี้ไม่ได้
ชีวิตคนเราก็จะมีแต่ความทุกข์ตลอดไป
ควรหมั่นปฏิบัติธรรมและนั่งสมาธิเป็นประจำ
เพื่อให้จิตใจสงบลงและได้รู้ถึงแก่นแท้ของชีวิต
ว่าสุดท้ายแล้วทุกอย่างก็คือ ความว่าง
ไม่มีตัวตน ต่อให้รวยล้นฟ้า ตายไปก็เอาไปไม่ได้อยู่ดี
เพราะทุกสิ่งล้วนแล้วแต่เป็นของนอกกาย
ต่างกับพระอรหันต์ที่ได้ละทางโลกไปหมดสิ้นแล้ว