Custom Search

Feb 27, 2010

สุชาติ ชวางกูร


ฤดูหนาว
หิมะ โปรยตัวลงบนพื้นอันขาวโพลน
สุชาติเดินฝ่าความหนาวที่กำลังเสียดแทรก
เข้ากระดูกกลับเข้ามาในบ้านของครอบครัวต่างชาติ
ที่เขามาพำนักได้สี่เดือนแล้ว


เขาก้าวเข้ามาในห้องนอน หันหลังปิดประตู
เผลอเอื้อมไปหมายจะลงกลอน ก่อนจะนึกขึ้นมาได้ว่า

นี่เป็นที่พักอาศัยในเขต เวสมินเตอร์
ชานเมืองเดนเวอร์ สหรัฐอเมริกา
ไม่ใช่อาคารบ้านเรือนในแถบร้อนชื้นของประเทศที่เขาถือกำเนิด
ซึ่งมีปุ่มล็อคหรือสลักกลอนติดอยู่ที่ประตูทุกบาน
“ช่วงแรกๆ มีบ้างที่รู้สึกแปลกๆ เพราะประตูบ้านฝรั่งเขาไม่มีกลอน
เขาจะมีเฉพาะล็อคประตูหน้าบ้าน แต่พอเข้ามาในตัวบ้าน
ถ้าเป็นบ้านเราเข้ามาในห้องนอนเราจะปิดประตูแล้วล็อคเลย
แต่ประตูลูกบิดของเขาไม่มีกลอนอย่างที่เราเห็นนะ

ไปแรกๆ เราจะนอนไม่หลับ แล้วก็คิดถึงบ้านเหมือนกัน
เพราะเราไม่เจอคนไทยเลย”
สุชาติตัดสินใจครั้งสำคัญที่จะเดินทางไปถมที่ว่างซึ่งเขารู้สึกว่า
ยังแหว่งวิ่นด้วยการศึกษา แม้จะจบปริญญาตรี
แต่เขาก็สำนึกรู้มาตลอดว่า
ชีวิตการเรียนของเขายังกระท่อนกระแท่น
และไม่อาจนำไปสู้รบกับโลกความเป็นจริง
ที่อุดมไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขันได้
“เรารู้สึกว่าความรู้เรายังไม่แน่น ก็อยากจะเรียนต่อเพิ่มเติม
เพราะว่าในอาชีพนี้(หมายถึงอาชีพในวงการบันเทิง)
เราเห็นจากรุ่นก่อนๆ มันจะมีทั้งขึ้นทั้งลง แล้วพออยู่ในขาลง
แล้วเขาจะไปทำอะไร มันจะเป็นปัญหาว่าจะไปทำอะไร
ถ้าความรู้ไม่มี หรือโอเค เรามีปริญญามาหนึ่งใบ
แต่ถามว่าเรารู้เทียบเท่ากับคนที่เขาไป
สอบเข้าโรงเรียนกรมการปกครองได้ไหม
ไปเป็นปลัด ไปสอบกับคนที่มี
ความรู้เท่ากับคนทีไปสอบเป็นตำรวจได้ไหม

บอกเลยว่าไม่ได้ เราไม่แน่นเท่าเขา แล้วเราจะทำอย่างไรล่ะ
เราก็อยากมีความรู้เพิ่มเติม ก็อยากจะเรียนต่อ
ผู้หลักผู้ใหญ่(คุณกำพล กับคุณหญิงประณีตศิลป์ วัชรพล)
ก็เลยอุปถัมภ์ให้ไปเรียนต่อ”

เมื่อตั้งธงเอาไว้ว่าจะหาความรู้เพิ่มเติม
สุชาติก็มุ่งไปที่วิชาซึ่งสามารถนำมาใช้ในชีวิตจริงได้
ซึ่งเกี่ยวโยงกับสิ่งที่เขาเรียนมา
แต่ไม่หนักแน่นไปในทางธุรกิจจนทำให้เขาเดินต่อไม่ไหว

“เราอยากจะไปเรียนวิชาอะไรที่มันไม่เป็นทางธุรกิจมากนัก
เพราะเรากลัวว่าเราจะเรียนไม่ไหวไง ก็เลยไปเรียนวิชานี้ซึ่งเป็น
Master of International Management (MIM )

หลักสูตรเขาจะต้องรู้เรื่องการเมืองระหว่างประเทศ
ว่าประเทศไหน ทวีปไหน เขามีนโยบายการเมือง
ลักษณะการปกครองเป็นอย่างไร
ก็คือกลับไปฟื้นฟูเรื่องของวิชารัฐศาสตร์อีก แต่เป็นระดับประเทศแล้ว”

ถัดจากวิชาดังกล่าว สุชาติก็เข้ารับการศึกษาอีกสองสาขา
ซึ่งประกอบไปด้วย Master of Science in Finance (MS-Finance)
จาก University of Colorado และ
Master of Science in Economics (MS-Economics)
จาก State University of New York

ขณะที่กำลังเก็บเกี่ยววิชาความรู้อยู่ในสหรัฐ
สุชาติก็เป็นอาจารย์สอนระดับปริญญาตรี
อยู่ในมหาวิทยาลัยที่
เขาศึกษาอยู่
อีกทั้งยังทำงานให้กับบริษัทที่เปิดร้านกิ๊ฟชอป
และทำบริษัทเกี่ยวกับการ
ทำเพลงของตัวเองร่วมกับเพื่อนๆ
หลายต่อหลายครั้งที่เขาครวญเพลง
อยู่ในสายลมหนาว ณ ที่ห่างไกล
กลับมายังมาตุภูมิที่เขาจากมา
และมีอีกหลายบทเพลงที่นอนนิ่งอยู่ในกรุเก็บเพลง
เฝ้ารอวันที่เขาจะนำมามอบให้กับแฟนเพลงในแผ่นดินเกิด
พุทธศักราช 2549 สุชาติเดินทาง
กลับประเทศไทยอย่างเป็นทางการ
หลังจากที่เขาเทียวไปเทียวมาระหว่าง
บ้านเกิดกับมลรัฐนิวยอร์คมาได้ระยะหนึ่ง
และช่วงปีนั้นเอง ที่สายลมทะเลของเมืองหัวหิน
ได้พรายพัดเอาประสบการณ์ใหม่ๆ
เข้ามาให้เขาได้ตักตวง

“ผมได้ไปที่หัวหิน แล้วไปเจอกับ คุณวิคเตอร์ สุขเสรี
ซึ่งเป็นรุ่นพี่ที่เราเคารพนับถือ
แกก็ชวนให้ไปทำงานที่
โรงแรมดุสิตรีสอร์ท หัวหิน
ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล
ซึ่งก็เป็นก้าวแรกหลังจากที่กลับมาเมืองไทย
ถือเป็นประสบการณ์ที่มีคุณค่ามากๆ
หนึ่งปีที่ทำงานอย่างมีความสุข
อยู่บนโรงแรมที่หัวหิน ตื่นเช้ามา เราก็ว่ายน้ำก่อน
ว่ายน้ำเสร็จ ก็ขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัว
กินข้าวเช้า แล้วก็ลงไปทำงาน

“ที่ทำงานก็อยู่ที่โรงแรม อยู่ด้านใต้ของโรงแรม
ก็เป็นอะไรที่เจอกับคนเยอะ สัมภาษณ์คนเยอะแล้ว
ก็ต้องรับผิดชอบเรื่องคนงาน เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในโรงแรม
เรื่องสารทุกข์สุกดิบของเขา ชีวิตครอบครัว
ปัญหาส่วนตัว แล้วเราก็จะรู้เรื่อง
ของเกือบทุกคนในโรงแรมน่ะ(หัวเราะ)
ใครเป็นยังไง แล้วโรงแรมนี้จะมีหอพักด้วย
ก็ต้องไปดูแลเรื่องที่พักของพนักงานด้วย”

หนึ่งปีเต็มสำหรับการทำงานในเมืองแห่งหาดทราย
สุชาติได้รับประสบการณ์อันมีค่าและเปี่ยมความสุขมากมาย
จนใส่กระเป๋าไม่หมด หลังจากที่สัญญาฉบับนั้นหมดลง
เขาก็เดินทางเข้ากรุงเทพฯ พร้อมกับคำชักชวนของรุ่นพี่อีกคน
ที่มีโอกาสได้มาพบกันอีกครั้งที่โรงแรมใน หัวหิน
รุ่นพี่คนดังกล่าวประสงค์จะให้เขาได้รับตำแหน่งสำคัญ
ในสถาบันระหว่างประเทศ เพื่อการค้าและการพัฒนา
หน่วยงานที่อยู่ในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ

แม้ขนาดของความรับผิดชอบจะหดเล็กลงจากเดิมกว่าสองเท่า
แต่สุชาติก็ใช้วิชา ความรู้ และประสบการณ์บริหารงาน
ในสถาบันแห่งนั้นด้วยดีมาตลอด
จนกระทั่งถึงวันที่สำนึกทางการเมืองถูกกระตุ้นให้สำแดงออกมา
หลังจากที่เป็นแฟนรายการเมืองไทย
รายสัปดาห์ของสนธิ ลิ้มทองกุลมานานหลายปี
เมื่ออุณหภูมิทางการเมืองร้อนระอุ ผนวกกับ
ความเป็นประชาธิปไตยถูกบิดเบือนจากผู้ปกครองในสมัยนั้น
เขาจึงตัดสินใจลุกขึ้นมาเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรฯ ทันที
และเมื่อปวารณาตัวเองเป็นหนึ่งในผู้ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านทรราช
การก้าวขึ้นเวทีไปร้องเพลงขับกล่อม
ให้พี่น้องพันธมิตรฟังในวันนั้นก็เป็น
ชนวนที่ทำให้เขาไม่สามารถดำรงตำแหน่งเดิม
ซึ่งเป็นเสี้ยวหนึ่งของรัฐบาลได้อีกต่อไป
ในที่สุดสุชาติก็ตัดสินใจเดินออกมาจากสถาบัน
ระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการ พัฒนา
กระทั่งถูกชวนให้รับหน้าที่เป็นสื่อสารมวลชนคนหนึ่ง

“หลังจากที่ลาออกมาจากสถาบันระหว่างประเทศฯ
แล้วก็คุณอัญชะลี ไพรีรักษ์ มีอยู่วันหนึ่งแกชวนมานั่ง
ในรายการยามเช้าริมเจ้าพระยาด้วย
เพราะน้องเก๋(กมลพร วรกุล)ไม่อยู่
น้องเก๋ต้องไปทำธุระเรื่องการเรียนเขา ก็เป็น
จุดเริ่มต้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
จนกระทั่งมีวันหนึ่งไปอินเดีย
พอกลับมาปั๊บคุณอัญชะลีไปแล้ว ไปอเมริกา
ไม่มาทำรายการนี้เลย ก็เลยอยู่ยาวมาตลอด

“ตอนนี้ผมมีรายการนี้ที่มาพูดเรื่องข่าวเศรษฐกิจ
และประเด็นเศรษฐกิจในแต่ละวัน
มันจะไม่ได้เป็นเชิงลักษณะวิเคราะห์ทั้งหมดทุกเรื่อง
ก็ไปอ่านช่อง TAN ด้วยระหว่าง 9.00 – 10.00 น.
แล้วตอนนี้ก็มีรายการเพลงเพื่อเธอ Beautiful Music
ทุกวันจันทร์ถึงวันศุกร์ หลังข่าวในพระราชสำนัก
“แล้ววันอาทิตย์จะจัดรายการกับอาจารย์เทพมนตรี ลิมปพยอม
ตั้งแต่หกโมงครึ่งถึงสองทุ่ม รายการย้อนรอยประวัติศาสตร์
จะคุยกันเรื่องประวัติศาสตร์การเมือง
เพราะการเมืองจะมีเรื่องย้อยรอยประวัติศาสตร์
แสดงให้เห็นถึงเรื่องการเมืองที่เกิดขึ้นมา
แล้วสองทุ่มครึ่งถึงห้าทุ่ม วันอาทิตย์จะจัดรายการเพลง
เลือกเพลงสากลที่ควรค่าแก่การรับฟังมาให้ได้ฟังทาง 97.75 FM
คือมีความรู้สึกว่า ทั้งการเมือง
และสังคมของเรามันพังลงไป
ศิลปวัฒนธรรมของเราก็พังไปด้วย”

สายลมหนาวที่พัดมาจากประเทศจีน
อาจจะไม่เยือกเย็นเท่าพายุหิมะที่เขาเคยเจอในสหรัฐอเมริกา
แต่การใช้ชีวิตในวิถีคนโสดที่ต้อง
นอนลำพังมาตลอดเกือบห้าสิบปี
อาจจะทำให้ใครหลายคนคิดว่า
สุชาติต้องพบเจอกับฤดูหนาวมาตลอดทั้งชีวิตก็เป็น ได้
แต่สุชาติไม่เคยคิดเช่นนั้น

ฤดูรัก

ม่านไอร้อนร้ายผ่านไป สายฝนเสียงฟ้าก็ลาจาก
ความเยือกเย็นเหน็บหนาวเข้ามาแล้วก็พ้น
สำหรับใครหลายคนแม้จะปิดประตู ลงกลอน ล็อคประตู
อยู่ในบ้านที่คุ้นเคยซึ่งมีอุปกรณ์สำหรับกันและกั้น
ไม่ให้ใครบุกเข้ามาข้าง ในได้
แต่ความโดดเดี่ยวก็ยังรุกรานคนที่ ‘หัวใจอ่อนแอ’ ได้เสมอ
ดังเช่นที่งูในทะเลทรายเคยปรารภกับเจ้าชายน้อย
ในวรรณกรรมคลาสิคของ อองตวน เดอ แซงเตก ซูเปรี
เอาไว้ว่า ‘ท่ามกลางฝูงชน เราก็ยังโดดเดี่ยว’
แต่เพราะสุชาติไม่ใช่งูในหนังสือเล่มดังกล่าว
อีกทั้งยังมีความเข้มแข็งในหัวใจที่มากพอ
ที่จะรับมือกับความลำพังได้ เขาจึงไม่เคยคิดว่าตัวเอง ‘โดดเดี่ยว’
แม้จะต้องอยู่ตามลำพังในห้องสี่เหลี่ยมที่ไร้สำเนียงใดๆ ก็ตาม
“ถ้าผมเหงาผมก็ไประรานชาวบ้านเขา คุยกับคนนู้นคนนี้
ชวนเขาคุย พอเราเหงาเราก็โทรไปหาคนนู้นนี้ก็ได้
เบอร์เต็มไปหมด คนนี้ไม่ว่างเราก็โทรไปหาคนต่อไป
จะเหงาเรื่องอะไร ไม่เห็นมีอะไรต้องเหงานี่
“ถ้าเราไม่ง่วง ไม่เหนื่อยมาก เราจะอ่านหนังสือ
คนที่เขาบอกว่าเหงาเนี่ย วิธีที่แก้ไขได้ดีที่สุดเลยคือ
คุณต้องถามตัวเองว่า เหงาเพราะอะไร
เราเจอคนยังไม่พออีกเหรอ เราสนุกไม่พอหรือไง
เรารักคนนี้ยังไม่พออีกเหรอ
เราเที่ยวกับเพื่อนยังไม่พออีกเหรอ
มันต้องถามตัวเองว่า แค่ไหนจึงจะพอ
แต่วิธีที่แก้เหงาได้ดีที่สุดก็คือ อ่านหนังสือธรรมะ”
ภาพเด็กชายวัยประถมต้นเดินเข้า
วัดพระศรีรัตนศาสดารามผุดขึ้นมาในแวว ตา
เด็กชายสุชาติที่เดินวนไปวนมาเพื่อดูภาพซึ่งมี
‘ฮีโร่’ ขวัญใจของเขาอยู่ข้างใน
กลับได้รับในสิ่งซึ่งเด็กประถมผมเกรียนคนหนึ่งยากที่จะเข้าใจ
จากวันนั้นจวบวันนี้ สุชาติยังคงแบ่งเวลาส่วนหนึ่ง
ให้กับหลักธรรมกับข้อคิดจากพระบรมศาสดาอยู่เสมอ

“เวลาอ่านหนังสือธรรมะ ไม่ได้หมายความว่า
คุณต้องนั่งลงอ่านหน้าหนึ่งจนถึงหน้าสุดท้ายให้เสร็จสิ้น
ภายในเวลาเดียวกัน ไม่ใช่ อ่านหนังสือธรรมะ
คุณต้องคิด บางทีอ่านไปแค่สองสามประโยคเองก็ต้องคิดแล้วว่า
หมายถึงอะไร อ่านหนังสือธรรมะเนี่ย
โดยเฉพาะวิธีการอธิบายของครูบาอาจารย์ อย่าง
ท่านพุทธทาส หลวงตามหาบัว หรือท่าน ว. วชิรเมธี
ท่านปัญญานันทภิกขุ ต้องใช้ปัญญาในการอ่าน
อย่าไปคิดว่าเราจะไปอ่านได้หมดทีเดียว
“หรือว่าคุณมีเรื่องอะไรที่คุณสนใจ สมมุติคุณเป็นนักบัญชี
คุณก็ต้องหาเรื่องราวเกี่ยวกับบัญชี อัพเดทอะไร ใหม่ๆ มาอ่าน
ถ้าคุณเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ก็ต้องหาหนังสือที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์
ซึ่งบางทีอาจจะไม่ใช่อัพเดทแต่อาจเป็นของเก่าที่เราไม่เคยอ่าน
มันมีอะไรให้ทำ มีอะไรรอคิวอยู่ หนังสือพิมพ์
นิตยสารอะไรที่เกี่ยวกับเรื่องของวิชาความรู้ที่คุณต้องทำอาชีพนั้นๆ
คุณต้องมีสำรองเอาไว้ ต้องอัพเดทอยู่ตลอดเวลา
ไม่อย่างนั้นมันจะทำให้คุณน่ะโง่
มัวแต่เหงาแล้วโง่ไมได้ ถ้าเหงาเราต้องเอาความโง่ออก”
ปัจจุบันนี้สุชาติมีความสุขกับการทำหน้าที่สื่อสารมวลชน
มีความพึงใจที่ได้บอกเล่าและส่งมอบ
ข้อมูลข่าวสารในเชิงเศรษฐกิจให้กับคน อื่นๆ
ซึ่งหลังจากที่เขาได้ก้าวเข้ามาข้องแว้งกับแวดวงดังกล่าว
ความต้องการที่จะอุทิศตนเพื่อทำงานรับใช้
ประเทศชาติและมวลชนก็เริ่มชัดเจน ขึ้นทีละเล็ก ทีละน้อย
“ในอนาคตข้างหน้าผมอยากจะเข้าไปรับใช้บ้านเมืองจริงๆ
ไปเป็น ส.ส. ผู้แทนฯ รัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีอะไรก็ได้
เพื่อให้ประเทศเราได้กำหนดทิศทางแล้ว
ก็กล้าทำในสิ่งที่เราควรจะต้องแก้ไข
แล้วก็ทำซะ ปัญหาของประเทศเราตอนนี้คือ
นักการเมืองที่มีอยู่ ถ้าเขาอยู่นานมันจะมีจำนวนมากที่สันหลังหวะ
เราจึงเจอปัญหาซ้ำซาก เรื่องที่ควรจะแก้ไขได้
แต่แก้ไมได้ เพราะถ้าเขาไปแก้ปั๊บมันจะขัดผลประโยชน์ใครบางคน
ตัวเขาเองก็จะต้องโดนแฉ หรืออาจจะโดนเก็บ
ก็เลยทำให้ประชาชนเป็นผู้ได้รับผลกรรม
“เราคิดอยู่ตลอดเวลา คิดอยู่เสมอว่า เดี๋ยวก็ตายแล้ว
จะเอาอะไรไปนักหนา คุณจะโกงเอาไว้ให้ลูกหลาน
ถ้าลูกหลานมันไม่มีสติปัญญา มันก็อยู่ไม่ได้อยู่ดี
เงินที่โกงไปมันก็ต้องผลาญหมด ซึ่งเราก็เห็นมาเยอะแยะ
ถ้าเราไปโกงเขา มันก็เป็นเวรเป็นกรรม
ลูกหลานมันก็ต้องรับเวรรับกรรมอะไรซึ่งมันแก้ไขไมได้
แล้วก็เป็นบาปกับลูกหลาน เช่น เขาอาจเป็นโรคอะไรที่แปลกๆ
ที่คนทั่วไปเขาไม่เป็นกัน
เขาอาจจะมีชะตากรรมอะไรซึ่งเป็นคนโชคร้าย
เกิดมามีอวัยวะที่ผิดปกติ หรือว่า
มีสติปัญญาที่ไม่สมประกอบ เขาจะมีโรคอะไรแปลกๆ
“แล้วคนพวกนี้ก็จะต้องใช้เงิน เป็นเครื่องบรรเทา
ผ่อนคลายโรคภัยไข้เจ็บที่เขาเป็น ไม่รู้จะทำทำไม
แล้วถึงแม้เขาจะเอาเงินไปบำบัดความทุกข์เหล่านั้น
เขาก็ยังอยู่ในความทุกข์อยู่ดีนะ
ถามว่าทำไมเราจะต้องไปทำแบบนั้นด้วย
เพราะถ้าเราจะมีชีวิตอยู่ เป็นมนุษย์ธรรมดาก็ขอให้มันปกติน่ะ
ปกติไม่ได้หมายความว่าคนที่ไม่ปกติเขาไม่ดีนะ
ให้ชีวิตมันบาลานซ์น่ะ ให้อยู่อย่างมีความสุข
เพราะเดี๋ยวก็ตายแล้ว จะมีกี่คนที่อยู่ถึงร้อยปี”

ถ้ามองในมุมตื้นๆ การที่ผู้ชายอายุใกล้จะถึงครึ่งร้อยคนหนึ่ง
ยังไม่มีภรรยาข้างกายก็อาจจะ เรียกว่า
เป็น ‘คนไร้รัก’ ในมิติความรักแบบคู่ครองได้ไม่ยากนัก
แต่หากมองให้ลึกลงไปกว่านั้น
การที่ใครสักคนมีชีวิตอยู่เพื่อ ‘รักคนอื่น’
โดยไม่สนว่าคนอื่นๆ เหล่านั้นจะเป็นญาติ พี่น้อง เพื่อนฝูง
หรือคนที่เขารู้จักหรือไม่นั้น ก็คงต้องพูดได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า
นั่นคือการมีชีวิตแบบ ‘คนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก’ ได้เช่นกัน
เพราะนั่นคือความรักในมิติที่เรียกว่า ‘กรุณา’
อันเป็นรักแท้จริงที่มนุษย์ธรรมดาๆ
คนหนึ่งพึงมีให้กับสรรพชีวิตทั้งหลาย
ดังเช่นที่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าปฏิบัติมาแล้วทั้งชีวิต