Custom Search

Feb 26, 2010

คนมีโชคเพราะโชคดีหรือ


วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชนออนไลน์
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

คนทั่วไปในโลกโดยเฉพาะคนไทยเชื่อว่าความมีโชค

เป็นเรื่องที่เหนือคำอธิบาย กรรมในชาติที่แล้วมี

ส่วนร่วมกำหนดโดยสิ่งศักดิ์สิทธิ์มี

บทบาทสำคัญการช่วยให้โชคดีด้วย เช่น

ถูกหวยเล่นการพนันได้ ฯลฯ หากเป็นนักแสดง

นักกีฬาก็ดังขึ้นมาแบบระเบิด ฯลฯ


อย่างไรก็ดี มีนักวิชาการฝรั่งอธิบายเรื่องความโชคดีไว้อย่างน่าสนใจ

และให้ความอุ่นใจในระดับหนึ่งว่าความมีโชคนั้น

สามารถสร้างขึ้นได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมและบุคลิกอุปนิสัย


ศาสตราจารย์ Richard Wiseman

แห่งมหาวิทยาลัย University of Hertfordshire

(บางคนอาจจำชื่อได้ว่าเป็นคนเดียวกันกับ

ที่จัดประกวดเรื่องตลกที่สุดในโลกบนเว็บเมื่อ 3-4 ปีก่อน)

ในหนังสือชื่อ The Survivors Club (2009)

เล่าเรื่องการทดลองและข้อสรุปที่ช่วยทำให้เข้าใจเรื่องความมีโชคมากขึ้น


การทดลองใช้คนจำนวนมากทั้งหญิงชายแข่งกัน

นับรูปภาพในหนังสือพิมพ์

บางคนนับเสร็จใน 2-3 วินาที บางคนนับเป็นนาที


สาเหตุที่บางคนนับไม่กี่วินาทีก็เสร็จ

ไม่ใช่เพราะมีความสามารถในการนับเป็นเลิศ

หาก Dr.Wiseman สอดแทรกข้อความด้วย

ตัวหนังสือขนาดใหญ่ไว้ในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า

"หยุดนับได้ ทั้งเล่มมี 43 รูป"

และในอีกหน้าต่อมาก็มีข้อความตัวใหญ่ไว้อีกเช่นกันว่า

"หยุดนับได้ และรีบไปบอกคนทดลองว่าพบข้อความนี้แล้ว

และท่านจะได้เงิน 250 เหรียญ"


สิ่งไม่น่าเชื่อก็คือมีผู้ทดลองจำนวนไม่มากนักเท่านั้น

ที่เห็นสองข้อความนี้ระหว่างการนับกลุ่มที่

พลาดมองไม่เห็นคือพวกเคร่งเครียดและจริงจัง

กับการนับมากจนมองไม่เห็นสองข้อความนั้นที่ไม่น่าจะมองข้ามไปได้


Dr.Wiseman สรุปว่าคนที่เห็นข้อความที่ให้หยุดนับทันที

มีทางโน้มที่จะเป็นคนมีโชคเพราะเป็นคนเปิดกว้าง

ต่อโอกาสรอบตัวที่อาจมาถึงแบบ Random


ส่วนคนที่มองไม่เห็นมีทางโน้มที่จะเป็นคนไม่มีโชค

เพราะไม่สามารถคว้าโอกาสที่เปิดกว้างให้ตนได้


Dr.Wiseman สรุปว่าสำหรับบางคนนั้น

แม้แต่ทำงานอื่นอยู่ก็ยังเปิดกว้างสำหรับโอกาสอื่นๆ

ที่จะเข้ามาหาตนเอง นั้นคือเหตุผลสำคัญซึ่งอธิบายว่า

เหตุใดสิ่งดีๆ จึงมักเกิดขึ้นกับคนเดิมเสมอในชีวิตประจำวัน

และในสถานการณ์ที่รอดชีวิตมาได้จากเหตุการณ์อันตราย

ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราเรียกกันว่าโชค

คนสองคนพักในโรงแรมห้องติดกัน

คนหนึ่งเสียชีวิตจากไฟไหม้ แต่อีกคน "โชคดี" รอดมาได้

คนทั่วไปอาจมองว่าคนหลังโชคช่วยทำให้รอดมาได้

แต่ในความเป็นจริงอาจเป็นว่าเป็นคนระแวดระวัง

สังเกตอ่านผังทางหนีไฟของโรงแรมเสมอ

ศึกษาข้อมูลเรื่องทำตัวระหว่างไฟไหม้อย่างไร

จึงทำให้รอดมาได้ ไม่ใช่เพราะโชคแต่เป็น

เพราะเป็นคนเปิดกว้างต่อข้อมูลและโลกอยู่เสมอ


นักจิตวิทยาเรียกสิ่งที่ Dr.Wiseman

พยายามทดลองนี้ว่า Inattentional blindness

(การตาบอดอันเกิดจากการไม่ให้ความใส่ใจ)

ซึ่งหมายถึงว่าไม่สังเกตเห็นสิ่งต่างๆ

เมื่อไม่ได้ให้ความใส่ใจอย่างแท้จริงๆ


ตัวอย่างเช่นเราจมลึกอยู่ในบางอารมณ์จนไม่ได้ยินเสียง

หรือตระหนักถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว

(มนุษย์ประเภทหูถูกเสียบอยู่ตลอดเวลา

ต้องระวังเป็นพิเศษจากอันตรายรอบตัว เช่น ถูกรถชน)

เราดูโทรทัศน์โดยไม่เห็นภาพสะท้อนบนกระจกจอทีวี

การสอนหรืออบรมแบบ "ฟังแต่ไม่ได้ยิน"

หรือหนักๆ ก็คือ "เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา"


Dr.Wiseman เชื่อว่านอกจากการมีชีวิตรอดจาก

รถที่วิ่งผ่านแยกไฟแดงเกือบชนรถตัวเองหรือ

สังเกตเห็นข้อความแทรกในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวแล้ว

ยังมีอีกปัจจัยสำคัญที่เป็นคำอธิบายนั่นก็คือ

Neuroticism หรือแบบแผนของบุคลิกภาพ

(personality trait) ของคนซึ่งทำให้โน้มเอียงไป

ทางการเป็นคนเครียด ร้อนรนกระวนกระวาย

และอ่อนไหวง่ายต่อความเครียด


คนที่เข้าข่ายมีดีกรีของ neuroticism สูง

จะจริงจังเคร่งเครียด และเข้มข้นกับสิ่ง

ที่ตนเองทำจนมองข้ามโอกาสที่เกิดขึ้นรอบตัว

จึงมีทางโน้มที่จะเป็นคนขาดโชค


ในทางตรงกันข้ามคนที่มีดีกรี neuroticism

ต่ำจะเยือกเย็นกว่า มีอารมณ์ผ่อนคลาย ไม่หวือหวา

และอ่อนไหวต่อความเครียดน้อยกว่า

จะไม่ทำงานด้วยความเครียดและกระวนกระวายเท่า

กลุ่มคนนี้จะเปิดตัวต่อความเป็นไปได้ต่างๆ

ในชีวิตมากกว่า จึงเป็นคนชนิดที่เรียกว่ามีโชคอยู่เสมอ

Dr.Wiseman ต้องการศึกษาลึกกว่านี้

ในเรื่องการมีโชคและไม่มีโชค

โดยเฉพาะความแตกต่างระหว่างคนสองกลุ่มนี้

จากการทดลองอีกหลายลักษณะข้ามเวลา 10 ปี

ก็ได้ข้อสรุป 4 ข้อดังต่อไปนี้ว่าเหตุใดสิ่งดีๆ

จึงมักเกิดขึ้นกับคนเดิมเสมอ


ประการแรก คนโชคดีอยู่ในสภาพจิตใจที่ผ่อนคลายกับชีวิต

โดยตระหนักถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวอยู่เสมอ

พวกเขาจะมองเห็นโอกาส

(เพราะมองหาโอกาสอยู่แล้วด้วยการเปิดใจ

และเปิดโอกาสให้สิ่งเหล่านั้นเข้าหาตัวเขาได้

ตัวอย่างเช่น คนพบเงินตกบนถนนอยู่บ่อยนั้น

เป็นเพราะเป็นคนช่างสังเกตหรือมองหาโอกาสจึงเห็นเงินที่ตกอยู่)

ที่คนอื่นมองไม่เห็น มักเป็นกลุ่มคนที่ชอบสังคมมีเพื่อนฝูงมาก


ประการที่สอง คนโชคดีเชื่อในสัญชาตญาณของตนเอง

และมีการตัดสินใจที่ดีโดยไม่รู้ว่าทำไมจึงตัดสินใจเช่นนั้น

คนโชคไม่ดีจะไว้ใจคนผิดและมักตัดสินใจผิดอยู่บ่อยๆ

จากการสังเกตกลุ่มคนโชคดีพบว่าคนกลุ่มนี้

อาศัยความรู้สึกข้างในของตนเอง

มากกว่ากลุ่มไม่มีโชคอย่างเห็นได้ชัด


ตัวอย่างเช่น หญิงคนหนึ่งสงสัยคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์

ตามหลังตอนกลางคืนจะเป็นคนร้าย จึงระวังตัว

และจอดให้รถผ่านไป สองวันต่อมาตำรวจ

เรียกรถคันนี้จอดและชายคนนี้ก็ยิงตำรวจตาย


มองเผินๆ อาจเห็นว่าเธอโชคดี แต่แท้จริงแล้ว

เธออาศัยความรู้สึกข้างในบอกเธอให้ระวังตัว


ประการที่สาม คนโชคดีมองโลกในแง่ดีเสมอ

มักบากบั่นต่อสู้เมื่อล้มเหลวและมีความสามารถ

ในการฟื้นตัวกลับขึ้นมาเสมอ คนมีโชคจะคาดว่า

สิ่งที่ดีจะเกิดขึ้นกับตนเอง และเชื่อว่าไม่ว่า

อะไรที่ร้ายแรงในชีวิตเกิดขึ้นก็ตามในที่สุดแล้ว

ก็จะคลี่คลายไปในที่สุดเสมอ

โลกสำหรับคนเหล่านี้จะงดงามและสดสวย

ซึ่งตรงข้ามกับกลุ่มคนโชคไม่ดีซึ่งคาดหวังว่า

ไม่ว่าทำอะไรก็จะล้มเหลว

โลกของกลุ่มคนนี้มืดหม่นและมืดดำ


Dr.Wiseman ให้คนสองกลุ่มเล่นเกม Puzzle

ซึ่งไม่มีทางได้คำตอบเลย เมื่อเล่นไปสักพักร้อยละ 60

ของกลุ่มคนโชคไม่ดีบอกว่าเกมนี้ไม่มีคำตอบ

ในขณะที่มีร้อยละ 30 ของกลุ่มคนโชคดีที่บอกอย่างเดียวกัน

โดยสรุปก็คือกลุ่มคนไม่มีโชคยอมแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม


ประการที่สี่ กลุ่มคนโชคดีมีความสามารถพิเศษ

ในการเปลี่ยนโชคร้ายให้เป็นประโยชน์

Dr.Wiseman เชื่อว่าปัจจัยตัวนี้มีบทบาทสำคัญที่สุดใน 4 ตัว

ในการมีโชคจนทำให้สามารถรอดชีวิตจากภัยอันตรายมาได้


ความเห็นของ Dr.Wiseman ตรงกับความเชื่อของ

Dr.Al Siebert ผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญของอเมริกา

ในเรื่องจิตวิทยาของการเอาชีวิตรอด

ซึ่งศึกษาบุคลิกภาพของการเป็นผู้รอดชีวิต (Survivor Personality)

และพบว่าทักษะสำคัญยิ่งในการเอาชีวิตรอดคือ

การมีทักษะสร้างโชคที่จะพบสิ่งดีๆ

โดยไม่คาดฝัน (Serendipidity Talent)

กล่าวคือเมื่อประสบภัย พวก "โชคดี" (ผู้สามารถเอาชีวิตรอดได้เป็นเลิศ)

ไม่เพียงแต่ต่อสู้กับภัยได้ดีเท่านั้นยัง

สามารถเปลี่ยนแปลงภัยร้ายเป็นประโยชน์ได้ด้วย


ใครที่ดูภาพยนตร์ชุด Mclver จะเห็นความสามารถ

ในการคิดแก้ไขปัญหาและอุปสรรคอย่างไม่หวั่นไหวด้วย

การนำสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์

บุคลิกภาพเช่นนี้ทำให้สามารถอยู่รอดได้อย่างดี

จนดูเหมือนว่าเป็นคนมีโชคเหนือคนอื่นๆ


Dr.Wiseman เชื่อว่าในเรื่องการมีโชคสิ่งที่อธิบายไม่ได้

เกี่ยวกับความมีโชคมีอยู่แค่ร้อยละ 10 เท่านั้น

อีกร้อยละ 90 มีรากฐานมาจากวิธีการคิดของคน

คนที่เคร่งครัดกับชีวิตจนเกินไปจะมองไม่เห็นสิ่งอื่นๆ

ที่เป็นโอกาสเข้ามาหาตัว และถึงเข้ามาหาตัวเอง

ก็ไม่พร้อมเพราะไม่เคยเตรียมพร้อมไว้ก่อนหน้านี้


ข้อค้นพบทางวิชาการนี้ทำให้เราพอสบายใจขึ้นได้บ้างกระมัง

ว่าใครก็อาจมีโชคได้โดยไม่ต้องรอให้ขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ภายนอก

ความมีโชคทำให้เกิดขึ้นได้ในขอบเขตหนึ่ง

ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีการมองโลกและบุคลิกภาพ


ทุกสิ่งในโลกที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุผลอธิบายมันได้ทั้งสิ้น

แม้แต่ความไร้เหตุผลก็ตาม