ภาพจาก https://oldsonghome.com/
SemitoneMusic
“ถ้าถามว่าเกี่ยวกับดนตรี ผมชอบทำอะไรมากที่สุด พูดตรงๆ เลยนะ ร้องเพลงก็ไม่ชอบ ชอบฟังคนอื่นร้องมากกว่า”
ก่อนหน้านี้เต๋อไม่ได้คิดจะเล่นดนตรีเป็นอาชีพ สาเหตุที่เขาเล่นดนตรีเพราะถูกพ่อบังคับให้เล่นแซกโซโฟน
เนื่องจากต้องการให้มีความรู้เรื่องนี้ประดับตัว และแม้ช่วงหลังๆ เขาจะเริ่มสนใจเล่นกีตาร์ แต่ก็ถือเป็นงานอดิเรกเท่านั้น
“พ่อผมบังคับให้เรียนดนตรี แต่ไม่ยอมให้เล่นดนตรี
ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันมาก เขาคงอยากให้เราเรียนดนตรีเพื่อให้คนในสังคมยอมรับ
พ่อผมอยู่ในสังคมของคนมีเงิน ก็อาจเหมือนพ่อแม่สมัยนี้ที่ส่งไปเรียนดนตรี เพื่อคุยว่าลูกฉันเรียนดนตรี”
หากแต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุด เกิดขึ้นเมื่อพ่อซึ่งทำงาน
เป็นกัปตันสายการบินเอกชน แต่เบื้องหลังเป็นสายลับ
ให้รัฐบาลอเมริกา
หายตัวไปในช่วงสงครามเวียดนาม
ทำให้ฐานะทางการเงินที่บ้านย่ำแย่ลง
เพราะแม่ของเขาเป็นแม่บ้านเต็มตัวไม่ได้ทำงาน
เต๋อเลยตัดสินใจหางานพิเศษทำเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายภายในบ้านด้วยการเล่นดนตรีกลางคืน
เขาใช้เงินที่ได้จากดนตรีสมัครสอบที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งส่งเสียตัวเองจบการศึกษา
และเริ่มสมัครทำงานธนาคาร
เส้นทางด้านดนตรีของเขาคงสิ้นสุดลง หากวงดนตรีชื่อดังแห่งยุค 70 อย่าง The Impossible
ที่กำลังเดินสายอยู่ที่เกาะฮาวายไม่เขียนจดหมายมาชวนให้เขาร่วมวงด้วย แม้จะไม่ค่อยสนิทหรือคุ้นเคยกันก็ตาม
ด้วยความชอบเรื่องดนตรี บวกกับต้องการหาประสบการณ์ชีวิต เพราะเชื่อว่าชื่อเสียงจะทำให้สร้างตัวได้ในระยะสั้นๆ
เรวัตจึงตัดสินใจหันหลังให้งานสายการเงิน และมุ่งหน้าสู่เส้นทางดนตรีเต็มตัว
แม้ยุคสมัยนั้นจะไม่มีใครยอมรับอาชีพนักดนตรี เพราะมองว่าเป็นอาชีพเต้นกินรำกิน ทำไปก็ไม่มีทางรวย
แต่เขาต้องการทดลองใช้วิชาเศรษฐศาสตร์ที่ตัวเองร่ำเรียนมา
ให้เป็นประโยชน์ที่สุด โดยบอกกับแม่ว่าขอเวลา 10 ปี
เพื่อพิสูจน์ความเชื่อนี้
การเดินสายในต่างประเทศ ทำให้เต๋อตระหนักว่า
ความคิดทางด้านดนตรีระหว่างเมืองไทยกับเมืองนอกแตกต่างกัน
อย่างสิ้นเชิงหลังร่วมวงThe Impossible 5 ปี
สมาชิกทั้งหมดก็ตัดสินใจแยกย้าย
หากแต่เวลานั้นเรวัตกลับมีความฝันที่ยิ่งใหญ่กว่า คือการเปลี่ยนวงการดนตรีเมืองไทยให้มีคุณภาพเหมือนเมืองนอก
จึงตัดสินใจเดินทางไปศึกษาและหาประสบการณ์เพิ่มเติมทางดนตรีในยุโรปและญี่ปุ่น
“โลกเรายังปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เลย ทำไมดนตรีจะถูกปฏิวัติไม่ได้”
สิ่งที่เต๋อคิดคือการทำให้นักดนตรีและนายทุนมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างยุติธรรม มีระบบการจัดการที่ดี
นักดนตรีไม่จำเป็นต้องร้องเพลงหรือเล่นดนตรีในคลับเท่านั้น แต่ควรมีโอกาสได้ร้องเพลง ออกเทป หรือมีเพลงดีๆ
ที่เกิดจากผู้ชำนาญการหลายสาขามาช่วยกัน ศิลปินได้ทำงานอย่างต่อเนื่อง มีคอนเสิร์ตและงานต่างๆ
เพื่อให้อาชีพนี้เป็นที่ยอมรับเหมือนกับต่างประเทศ
“โปรดิวเซอร์นี้เป็นสิ่งบ้านเราไม่รู้จักกันเลย โปรดิวเซอร์แบ่งเป็น 2 คน คนแรกคือ Executive Producer
เป็นคนของบริษัทใหญ่ ของต้นสังกัดแผ่นเสียง ซึ่งเขาจะมีการประชุมอะไรหลายๆ
อย่างที่จะเลือกศิลปินขึ้นมา พอเลือกแล้ว คนนี่ก็จะทำการต่อโยงระหว่างทาง Promotion กับ Marketing
ว่าศิลปินคนนี้สมควรไหมที่จะเอามาอยู่ในสังกัดเรา แล้วเราจะขายด้วยอะไร ยังไง แค่ไหน
แผนการละเอียดยิบเลย คนนี้จะเป็นคนวาง แล้วทุกคนต้องเดินตามแผนการนี้
“ในเวลาเดียวกัน เขาจะต้องติดต่อบุคคลอีกคน ซึ่งเป็น Music Producer ซึ่งจะถ่ายทอดความคิดคนๆ นั้น
แล้วคนๆ นั้นจะบอกว่าเพลงชุดนี้จริงๆ แล้ว แนวเพลงเป็นอย่างไร เราจะต้องให้ใครเป็นคนเขียนเพลง
เราจะต้องให้ใครเป็นคนเล่นดนตรีให้ หรือว่าเขามี Band อยู่แล้ว และ Band ของเขาโอเคไหม Band
ลักษณะนี้ควรจะเล่นดนตรีแบบไหนดี เราจะอัดเสียงที่ไหน และวิธีการอัดเป็นอย่างไรบ้าง”
ไม่ได้เพียงแต่คิด ด้วยความเป็นคนจริงจังและมุ่งมั่น เต๋อจึงสร้างโปรเจคต์ขึ้นมาและนำไปเสนอกับค่ายเพลงต่างๆ
แต่กลับถูกตีกลับโดยทันที เพราะไม่มีใครเชื่อว่าเป็นไปได้ หลายคนหาว่าเขา ‘บ้า’ ด้วยซ้ำ
หากแต่เขายังมั่นใจว่า สิ่งเหล่านี้จะต้องเป็นจริงสักวัน
แม้สุดท้ายแล้วอาจต้องเป็นคนลงมือเพียงลำพังก็ตาม
เปลี่ยนโลกด้วยเสียงเพลง
หากกล่าวว่า การหายตัวไปของพ่อเป็นจุดหักเหครั้งใหญ่ในชีวิตเต๋อ การเจอกับผู้ชายที่ชื่อ
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ก็น่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญไม่แพ้กัน
เรวัตกับไพบูลย์ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ทั้งคู่รู้จักกันผ่านคนกลางที่ชื่อ บุษบา ดาวเรือง
ซึ่งเป็นลูกน้องของไพบูลย์ที่บริษัทพรีเมียร์ มาร์เก็ตติ้ง และเป็นรุ่นน้องของเรวัตที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
การพบกันครั้งแรก ไพบูลย์เล่าความฝันที่มีให้เรวัตฟัง ซึ่งน่าแปลกเพราะตรงกับสิ่งที่เรวัตคิดและนำเสนอค่ายต่างๆ พอดี
ทั้งคู่เลยตัดสินใจจับมือทำธุรกิจร่วมกัน โดยตั้งบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนท์เม้นท์ จำกัด ในปี 2526
“ตอนที่ตั้งบริษัท เราก็คิดเหมือนกันว่าจะดูใครเป็นตัวอย่าง แต่ประเทศไทยไม่เคยมีบริษัทแบบนี้มาก่อน
แต่ขณะเดียวกันเราจะเอาประสบการณ์ทั้งหมดที่เรามีจากจากเมืองนอกมาเป็นหลักได้หรือไม่
ก็คงไม่ได้ เพราะตลาดของเราเป็นไทยมาร์เก็ต คำว่าวัฒนธรรมสำคัญมาก
เรามีแนวคิดส่วนหนึ่งเป็นฝรั่ง อีกส่วนเป็นไทย ทุกอย่างมันประยุกต์กันหมด”
หน้าที่ของไพบูลย์กับเรวัตแบ่งกันง่ายๆ คือไพบูลย์รับผิดชอบเรื่องการตลาด ส่วนเรวัตดูแลเรื่องการผลิตทั้งหมด
หากแต่หมวกอีกใบที่เขาต้องสวมควบคู่ไปด้วยคือ การหาจุดสมดุลระหว่างศิลปินกับนายทุน
แกรมมี่กลายเป็นบริษัทแรกที่มีการออกแบบเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์ของคนทำงานอย่างลงตัว
ศิลปิน นักแต่งเพลง นักดนตรี นักเรียบเรียง ทุกคนที่มีส่วนร่วมกับเพลงต่างได้มีสิทธิได้รับผลประโยชน์
โดยตัวเพลงถือเป็นลิขสิทธิ์ของค่ายเพลง นอกจากนี้ยังนำระบบธุรกิจมาใช้อย่างจริงจัง ทั้งการโฆษณา ทำการตลาด
วันนั้นเขามองถึงวันที่แกรมมี่จะทำธุรกิจบันเทิงครบวงจร มีทั้งรายการโทรทัศน์และวิทยุ รวมทั้งหนังสือและภาพยนตร์
เพื่อให้คนทำงานในสาขาวิชาชีพนี้ได้ก้าวต่อไป และทำให้ธุรกิจบันเทิงนี้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
“ในสายตาคนไทย 90% มีทัศนคติเชิงลบกับคำว่าธุรกิจ
แต่ถ้าเราอยากให้มีการพัฒนา ก็ต้องมีธุรกิจเข้ามาสนับสนุน
ยกตัวอย่างทำไมนักกีฬาไทยจึงเล่นกีฬาไม่เก่ง
เพราะกีฬาไทยไม่มีธุรกิจเข้าไปสนับสนุน
ทำไมค่าตัวนักฟุตบอลระดับโลกจึงเป็นร้อยล้าน
เพราะว่าเขามีเป็นร้อยล้านเป็นกำลังสนับสนุน จึงเล่นได้อย่างเต็มที่
“แต่ทั้งนี้ก็ต้องอาศัยการประนีประนอมซึ่งกันและกัน พบกันครึ่งทาง รวมทั้งขึ้นกับตัวนายทุนด้วยว่าเป็นใคร
ถ้าเขาอยู่ในวงการของ Commercial Art เขาก็จะเอนเข้าหาศิลปิน ผมตอบได้ 100%
ว่าผมเป็นนายทุน แต่เป็นนายทุนด้านศิลปะ เพราะพัฒนาการมันมีกฎเกณฑ์ว่า
คนที่ไม่มีคุณภาพเขาก็จะเล่นไม่ได้ เช่นนายทุนที่ดิน 4,000 ล้านบาทมาเล่นทางด้านดนตรี
ก็เล่นไม่ได้ เพราะถ้าไม่มีสำนึก เขาก็ทำไม่ได้ มีแต่เจ๊งเท่านั้น”
นอกจากการวางระบบในวงการเพลง อีกหนึ่งโจทย์ที่ยากที่สุดในตอนนั้นคือ
ทำอย่างไรให้คนไทย หันมาฟังเพลงไทย
ยุคที่แกรมมีเริ่มต้น คนไทยยังนิยมฟังเพลงสากล หรือไม่อย่างนั้นก็ฟังเพลงลูกทุ่งไปเลย
ส่วนตลาดของเพลงไทยสากลยังเล็กมาก แม้ตอนนั้นจะมีหลายค่ายนำทำนองเพลงจีน
หรือเพลงสากลมาใส่เนื้อไทย แต่ก็ได้รับความนิยมเป็นเพลงๆ ไป
เรวัตตั้งใจจะทำให้เพลงไทยมีเอกลักษณ์และทันสมัยเพื่อให้คนฟังเพลงสากล
ลองเปลี่ยนมาฟังเพลงที่มีเนื้อไทย แต่คอร์ดและตัวโน้ตที่เป็นสากลดูบ้าง
ยิ่งทำเพลงที่มีคุณภาพมากเท่าไรก็ยิ่งดึงคนให้กลับมาสู่เพลงไทยมากขึ้นเท่านั้น
โดยจุดเปลี่ยนที่สำคัญสุด คืออัลบั้ม เต๋อ 1 ของเรวัต พุทธินันทน์
ตอนแรกเรวัตไม่ได้ตั้งใจร้องเอง เพราะเขาเคยร้องเพลงอยู่ครั้งเดียว
คืออัลบั้มเรามาร้องเพลงกันของโรงเรียนศศิลิยะ
แต่ด้วยความที่เนื้อหาค่อนข้างเป็นปรัชญาชีวิตจึงหานักร้องที่จะมาถ่ายทอดได้ยาก
ท้ายที่สุดเต๋อตัดสินใจร้องเอง และก็นับว่าเป็นอัลบั้มที่ประสบความสำเร็จ มีแฟนๆ ต้อนรับทุกหนทุกแห่ง
โดยมีเพลงที่คนทั่วไปรู้จักดีคือ เจ้าสาวที่กลัวฝน และยิ่งสูงยิ่งหนาว
แต่ที่สำเร็จยิ่งกว่าคือหลายคนหันมาฟังเพลงไทยมากขึ้น
หลังจากนั้น ศิลปินแกรมมี่ ต่างทยอยออกมาสร้างผลงานครองใจผู้ฟังอย่างต่อเนื่อง
และได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นผลมาจากการทำงานหนักอยู่เบื้องหลังของเต๋อและทีมงาน
จุดขายสำคัญที่เขานำมาใช้คือ การขายทั้งความสามารถและภาพลักษณ์
ศิลปินของแกรมมี่ไม่ได้เพียงแค่ร้องเพลงเก่ง แต่การ Entertain ก็ต้องทำให้ดีด้วย
กว่าจะออกมาได้ก็ต้องการทำงานอย่างมีระบบและขั้นตอน คือมีทั้งทีมนักแต่งเพลง นักดนตรี โปรดิวเซอร์
คนดูแลแผนการตลาด ร่วมกันปลุกปั้น โดยมีขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน
เริ่มจากหาคาแรคเตอร์ให้กับนักร้องก่อน โดยดูจากตัวตนของศิลปินคนนั้นเป็นหลัก
ตัวอย่างเช่น ใหม่ เจริญปุระ เต๋อจะถามก่อนเลยว่าชอบเพลงแบบไหน โดยให้เลือกเพลงมาสิบเพลง
ปรากฏว่าใหม่เลือกมาเพลงร็อกมาถึง 9 เพลง หลังจากนั้นเต๋อก็จะลองร้องเพื่อดูว่าเข้ากับตัวศิลปินหรือไม่
หากร้องไม่ได้อาจต้องหาเพลงแนวอื่นที่เหมาะสมกว่าแทน แต่ถ้าร้องได้ก็จะคงทำแนวเพลงตามนั้น
นอกจากนี้เขายังถามเรื่องส่วนตัว เช่นทำอะไรในชีวิตประจำวัน การแต่งตัวเป็นอย่างไร
เพราะเต๋ออยากทำเพลงที่เป็นตัวนักร้องจริงๆ
“ถ้าเราสร้างเพลงจากตัวตนที่แท้จริง ไม่ว่าเขาไปอยู่ไหนเขาก็จะไม่หลุดความเป็นตัวตนของเขา
มันจะเป็นเสน่ห์ที่เพิ่มให้กับตัวนักร้องเอง และยิ่งทำให้แฟนเพลงประทับใจในความเป็นธรรมชาตินั้นมากขึ้น
ในทางตรงกันข้าม การไปสร้างภาพที่ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง วันหนึ่งเขาจะหลุดออกมา
เขาจะเหนื่อย และเขาจะทำงานอย่างไม่มีความสุข”
หลังจากนั้นก็จับตัวตนนั้นมาสร้างให้สมบูรณ์ขึ้น ด้วยทีมทำเพลงที่มีความถนัดในแนวนั้น
วางคอนเซปต์ว่าควรมีเพลงช้าหรือเร็วอย่างละกี่เพลง โดยดูจากคาแรคเตอร์นักร้องและภาพรวมของอัลบั้มเป็นหลัก
แล้วก็เข้าสู่กระบวนการห้องอัด ดูว่านักร้องร้องแล้วเคอะเขินหรือไม่
เต๋อต้องควบคุมการร้อง บางครั้งยังช่วยร้องไกด์ด้วย
จากนั้นฝ่ายเสื้อผ้าจะเข้ามาดูแล ทีมงานโปรโมตช่วยกันเลือกเพลงโปรโมต เลือกคนที่เหมาะสมมาทำมิวสิควิดีโอ
ก่อนที่จะปล่อยออกไปสู่สายตาผู้ชมและผู้ฟัง ทุกขั้นตอนทำอย่างตั้งใจ
ทำให้งานออกมาอย่างมีคุณภาพจนประสบความสำเร็จและเป็นที่จดจำของคนไทยด้วยระบบการทำงานที่ชัดเจน
ได้สร้างวัฒนธรรมการฟังเพลงรูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เช่นเดียวกับตัวศิลปินที่มีอายุการทำงานที่ยาวนานขึ้น
เพราะแฟนเพลงจดจำสไตล์หรือเอกลักษณ์ของศิลปิน
แต่ละคนได้ อย่าง แอม-เสาวลักษณ์ ลีละบุตร
ภาพที่ทุกคนนึกถึงวันนี้คือ
นักร้องดอกไม้เหล็กที่มีสไตล์การร้องที่เข้มข้น
มากกว่าสมาชิกวง Girl Group
ในตำนานอย่าง สาว สาว สาว หรือทาทา ยัง ที่ยังคงรักษาความเป็นสาวน้อยมหัศจรรย์ได้
แม้เวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม
มรดกที่ไม่เคยจางหาย
“ผมพูดกับทุกคน ลูกน้อง พี่น้อง เพื่อนร่วมงาน ความฝันของผม อายุ 50 ผมหยุด”
หลังก่อร่างสร้างแกรมมี่มาได้ 12 ปี ค่ายเพลงแห่งนี้กลายเป็นยักษ์ใหญ่ของวงการอย่างแท้จริง
แตกหน่อออกเป็นบริษัทสาขานับ 10 แห่ง มีพนักงานเป็นมือไม้นับพันคน
และในที่สุดก็สามารถจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้สำเร็จ
หากแต่ความฝันของเขาก็ยังไม่หยุดเพียงแค่นี้ เพราะสิ่งที่เรวัตนึกถึงคือวัฒนธรรมดนตรีที่รุ่งเรือง
ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีก 2-3 ชั่วอายุคนเลยทีเดียว
“ผมอยากจะเพ้อฝันว่าน่าจะมีคนเก่ง ๆ ระดับอินเตอร์สักแสนคนในประเทศไทย แล้วก็ช่วยกัน
ซึ่งผมอยากจะส่งผ่านถึงคนรุ่นใหม่ อยากให้รู้ว่าหนทางการต่อสู้ของผมมันทารุณและโหดร้ายมาก
เพราะฉะนั้นการที่เราคิดทำในสิ่งที่ดีหรือเป็นประโยชน์กับคนในสังคม
บางครั้งอาจมีสิ่งที่มาบั่นทอนความรู้สึกตลอดเวลาโดยเฉพาะเรื่องไร้สาระ
เพราะมันเป็นเรื่องของมนุษย์และเป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่าในสังคมเรา
ยังต้องการการพัฒนาอีกเยอะมากในทุกจุด แม้กระทั่งในเรื่องของจิตใจ”
เรวัตเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่มากว่า จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมเพลงให้ดีขึ้นเรื่อยๆ
“ผมคิดจะหยุดทำงานเมื่ออายุ 50 ไม่รู้จะเป็นไปได้หรือเปล่า
เพราะผมเชื่อว่าเมื่อถึงตอนนั้นผมจะโง่กว่าเด็กรุ่นใหม่เยอะเลย
เด็กรุ่นใหม่เขาจะฉลาดกว่าผม จะทำงานเก่งกว่าผมเยอะ
แล้วเขาจะช่วยให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมคิดไว้ดีขึ้น
ถ้าผมทำอยู่ ผมอาจจะเป็นก้างขวางเขาก็ได้
ผมอาจจะเป็นผู้ใหญ่ที่พูดจาไม่เข้าหูคน
ขวางเขาไปเรื่อยเปื่อย เป็นคนไม่มีประโยชน์เลย”
หากแต่วันนั้นไม่เคยเกิดขึ้นจริง เพราะในวัย 47 ปี เรวัตตรวจพบว่ามีก้อนเนื้อขนาด 6 เซนติเมตร
ในสมองบริเวณท้ายทอยด้านขวา ซึ่งเป็นชนิดที่หายากมาก และเท่าที่ผ่านมาไม่เคยมีใครรอด
ส่วนใหญ่อยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน เขาต้องผ่าตัด และรักษาตัวที่นิวยอร์กราว 4 เดือนครึ่ง
จากนั้นก็ไปรักษาตัวต่อที่แคลิฟอร์เนีย ก่อนที่จะกลับมาเมืองไทย
“สวัสดีครับ ผมกลับมาแล้วครับ” คือข้อความที่เต๋อ ในฐานะประธานกรรมการบริษัท
เขียนไว้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2539 ซึ่งเป็นวันแรกที่กลับมาที่แกรมมี่อีกครั้ง
หากแต่หลังจากนั้นอีกประมาณหนึ่งเดือน ครอบครัวพุทธินันท์ก็ได้รับข่าวร้ายว่า ก้อนเนื้อร้ายนั้นกลับมา
เต๋อจึงต้องกลับเข้าโรงพยาบาล ร่างกายเริ่มแสดงอาการว่าถดถอยลงทีละนิด จนในที่สุด
ก็จากไปอย่างสงบในวันที่ 27 ตุลาคม 2539 ด้วยวัย 48 ปี 1 เดือน 22 วัน
ทิ้งไว้แต่มรดกความทรงจำว่าครั้งหนึ่งเมืองไทยเคยมีนักบุกเบิก
อุตสาหกรรมดนตรีที่ยิ่งใหญ่ที่ชื่อ เรวัต พุทธินันทน์