Custom Search

Jun 15, 2024

คิดแบบไหนบ่อยๆ ความคิดแบบนั้น จะถูกผลิตซ้ำ

คิดแบบไหนบ่อยๆ ความคิดแบบนั้น จะถูกผลิตซ้ำ

พศิน อินทรวงค์

เมื่อความคิดใดๆเกิดขึ้น
เราย่อมมีทางเลือกอยู่สองอย่าง
หนึ่ง คือกระโจนลงไปเล่น
สอง คือถอยใจออกมาเป็นผู้ดู
อย่างแรกทำให้เราถูกความคิดลากจูงไป
หากเป็นความคิดด้านบวก
ใจก็ฟูไปตามความคิด
หากเป็นความคิดด้านลบ
ใจก็ฝ่อไปตามความคิด
ส่วนทางที่สองนั้นเป็นอะไรที่ต่างออกไป
เมื่อเราเอาใจออกมาเป็นผู้ดู
เราย่อมเห็นความคิดที่ไปตามความเป็นจริง
เหมือนเห็นสายลมไหวๆ
ไม่ได้มีอำนาจอะไรกับเรามากมาย
ธรรมชาติของความคิด
หากเราเข้าไปเป็น
คือส่งใจจมเข้าไปคลุกคลีในความคิด
การทำเช่นนี้ก็เท่ากับเสริมพลังให้มัน
ภาวะจมลงไปในความคิดนี้
เป็นภาวะปกติของคนส่วนใหญ่
จะเรียกว่า เป็นการอินเข้าไป
ในบทบาทที่ตนกำลังรู้สึกอยู่ก็ได้
ภาวะการจมนี้
หากจมอยู่ในความรู้สึกแบบใดแบบหนึ่งบ่อยๆ นานๆ
ความรู้สึกแบบนั้น ย่อมกลายเป็น
เชื้อตั้งตนของความคิดในครั้งต่อไป
พูดง่ายๆว่า การจมในความคิดของใจ
เป็นการสั่งสมความเคยชิน
ที่ทำให้เกิดความคิดลักษณะนั้นซ้ำๆ
เสพความโกรธบ่อยๆ
ความโกรธก็จะถูกผลิตออกมาซ้ำๆ
เสพความโลภบ่อยๆ
ความโลภก็จะถูกผลิตออกมาเรื่อยๆ
เสพความกังวลบ่อยๆ
โอกาสที่จะเกิดความกังวลในอนาคต
ก็ย่อมมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
น่าแปลกที่คนทั้งโลก
ไม่ค่อยสังเกตเรื่องจิตใจ
จิตใจนี้เป็นนามธรรม
มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้
แต่เราทุกคนก็รู้สึกสัมผัส
กับสิ่งนี้ได้เมื่อเกิดความรู้สึก
อาจเป็นเพราะเรื่องจิตใจเป็นอะไรที่ใกล้ตัว
เมื่อใกล้ตัวมากเกินไป
เราจึงมองไม่เห็น
คล้ายว่าเราแทบไม่เคยเห็นแผ่นหลังของตนเอง
อย่างไรอย่างนั้น
ขอให้สังเกตไปตามจริง
แล้วลองพิจารณาดู
หากเราเป็นคนขี้โกรธ
แล้วไม่ตระหนักรู้ในความโกรธ
ปล่อยใจไปกับความโกรธ
เมื่อโกรธปุ๊บ ใจกระโจนเข้าไปเป็น
ในครั้งต่อๆไป หากปล่อยไว้เช่นนี้
จะพบว่า ความโกรธในครั้งถัดไป
มีแนวโน้มจะรุนแรง และถี่ขึ้นเป็นลำดับ
บางท่านอาจแย้งว่า
ถ้างั้น เราควรเอาใจไปผูกไว้กับอารมณ์เชิงบวก
ถ้าหากทำได้ก็เป็นเรื่องที่ดี
แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ง่ายเช่นนั้น
เพราะธรรมชาติของคนเรา
มักคิดอะไรๆในเชิงลบมากกว่าเชิงบวกอยู่เป็นปกติ
เว้นแต่บุคคลผู้นั้น
ผ่านการสั่งสมกระแสความคิด
ในเชิงบวกมาเป็นเวลายาวนาน
อย่างไรก็ตาม
หนทางที่ปลอดภัย
จากการตกอยู่ใต้อำนาจความคิดของตนเอง
ก็คือการถอนใจออกมา
แล้วมองความคิดด้วยพลังของสติ
เมื่อความคิดถูกมองเห็น
ระดับพลังของความคิดจะค่อยๆลดลง
ส่งผลให้เราสามารถใช้เหตุผล
เป็นหางเสือในการกำหนดทิศทางของความคิดได้
การจะเห็นกระบวนการทำงานของความคิดนี้
คือทักษะทางใจอย่างหนึ่ง
อาศัยเพียงการอ่าน ฟัง วิเคราะห์ไม่ได้
จำเป็นต้องฝึกฝนอยู่เสมอๆ
ฝึกแรกๆใจจะยังไม่ชิน
เมื่อเกิดความคิดก็จะกระโจนเข้าไปเป็น
ช่วงแรกๆ ต้องมีสติค่อยเตือนตัวเอง
ให้ถอยออกมาดู
อาจจะกำหนดเป็นคำว่า *คิดหนอ* ก็ได้
พอคิดก็กำหนดว่า คิดหนอ
แล้วจึงสังเกตเฝ้ามองความคิด
จะเป็นความคิดเชิงบวกหรือลบไม่สำคัญ
เราทำเหมือนกัน
คือมองความคิดเป็นเพียงกระแสหนึ่งๆ
ไม่ต้องไปให้ค่าว่าคือบวกหรือลบ
เพียงกำหนดว่า คิดหนอ แล้วเฝ้ามอง
ทำอย่างนี้ให้ชินให้เป็นนิสัย
สัญชาติญาณของการเป็นผู้สังเกต
จะค่อยๆเกิดขึ้นช้าๆ
ทีนี้พอนานๆเข้า ใจของเราจะเริ่มตั้งมั่น
มีพลังในการสังเกตความคิดมากขึ้น
ความคิดเชิงบวกหรือเชิงลบ
จะทำอันตรายกับเราได้น้อยลง
ตรงนี้คือต้นทางของความสุขแท้ๆ
สิ่งเหล่านี้คือทักษะที่ทำให้เกิดขึ้นกับทุกคนได้
ไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัย
เพียงแต่ต้องอาศัยการฝึกฝน
จนสิ่งที่รู้กลายเป็นทักษะ
ทักษะหมายถึงความเชี่ยวชาญในการกระทำ
คือเราต้องทำได้
พาใจให้หยั่งลึกสู่สภาวะนั้นได้จริงๆ
มิใช่เพียงการสื่อสาร
ผ่านคำพูดเพียงเพื่อการตีความ
ที่สุดแล้ว สิ่งนี้ก็ต้องนับถึงที่การฝึกฝน
ค่อยๆฝึก ค่อยๆเดิน
หากเราเดินทุกวันไม่หยุด
วันหนึ่งก็มีโอกาสถึงเส้นชัย
เส้นชัยนี้คือการชนะตนเอง
ไม่ตกเป็นทาสกิเลสของตนเอง
ใครทำได้เช่นนี้
ก็ถือว่า การเกิดเป็นมนุษย์ครั้งนี้
คุ้มค่าไม่สูญเปล่า...