Custom Search

May 22, 2024

วันวิสาขบูชา ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๖๗

https://teetwo.blogspot.com/2017/05/blog-post_10.html


 

  Prapas Cholsaranon

วันวิสาขบูชา วันนี้คือวันถือกำเนิดของพระพุทธศาสนา
กำเนิดแรก วันประสูติเจ้าชายสิทธัตถะแห่งวงศ์ศากยะ
เด็กน้อยผู้ที่จะเติบโตต่อไปเป็นพระมหาศาสดา
กำเนิดที่สอง วันตรัสรู้ของนักบวชสิทธัตถะ
วันที่พุทธะได้เกิดขึ้นบนโลก วันที่แก่นธรรมของพุทธศาสนาถูกค้นพบ
กำเนิดที่สาม วันปรินิพพาน เป็นวันที่พระพุทธเจ้า
จะไม่ได้มีพระชนม์ชีพอยู่บนโลกแล้ว
สาวกพุทธบริษัทจะต้องเอาไตรสรณคมน์เป็นที่ยึดเหนี่ยว
เกิดเป็นศาสนาพุทธที่สืบต่อมาถึงปัจจุบัน
ไตรสรณคมน์ ได้แก่ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ 
ไตรคือเลขสาม สรณะแปลว่าเป็นที่พึ่ง
คมน์คือการไปถึง คมน์คำนี้คือคำที่เราคุ้นในภาษาไทย
ว่าคมนาคมนั่นเอง
ไตรสรณคมน์จึงแปลว่า
การเข้าถึงที่พึ่งทั้งสาม
ในอีกความหมายหนึ่ง ไตรสรณคมน์ คือ
หนึ่ง การตื่นรู้ 
หนึ่ง ความจริงแท้ 
หนึ่ง การอยู่ร่วมกัน
พุทธัง แปลว่า การตื่นรู้ 
ธรรมมัง คือความจริงของโลกและชีวิต
สังฆัง แปลว่าหมู่  และมีความหมายถึงพระสงฆ์
เมื่อนึกถึงพระสงฆ์ก็คือการปฏิบัตินั่นเอง
คืนพระจันทร์เต็มดวง ที่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา
พระพุทธเจ้าทรงค้นพบสิ่งใดหรือ
ในพระไตรปิฎกกล่าวว่า
พญามารได้ส่งธิดาทั้งสามมาร่ายรำพะเน้าพะนอพระองค์
ธิดาทั้งสามของพญามารมีชื่อว่า
นางตัณหา นางราคะ และนางอรดี 
ตัณหา แปลว่า ความอยากได้
ราคะ แปลว่า ความลุ่มหลงยึดติด
อรดี แปลว่า ความไม่ยินดี ผลักไส
(รตี หรือ รติ แปลว่ายินดี เมื่อมีคำว่าอะอยู่ข้างหน้าจึงแปลว่าไม่ยินดี)
ธิดาทั้งสามของพญามารที่ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงคือ
กิเลสกองใหญ่สุดของมนุษย์ โลภะ โมหะ และโทสะ นั่นเอง
จากที่เคยอยู่ในพระราชวังอันพรั่งพร้อม 
จากการยอมสละวางทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง
แม้แต่ม้าคู่ใจก็มินำไปด้วย จากการศึกษาเรียนรู้กับครู
ในหลายสำนัก
จากการปลีกวิเวกอย่างสุดโต่ง
และจากการปฏิบัติบำเพ็ญเพียรมาแสนนานอย่างยากเข็ญ
มาสู่ทางสายกลาง
ในคืนนั้นเองเมื่อพระพุทธเจ้าเอาชนะพญามารหรือ
กิเลสกองมหึมาได้สำเร็จ
พระองค์จึงค้นพบความจริงสูงสุดแห่งชีวิตและความจริง
ของทุกสิ่งในจักรวาลความจริงสูงสุดนี้ ชาวพุทธเรียกว่า
ไตรลักษณ์
ทุกขัง
อนิจจัง
อนัตตา
ทุกขัง คือ ความไม่สามารถอยู่ในสภาพเดิมได้ด้วยแรงกดดัน
อนิจจัง คือ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ไม่มีสิ่งใดเที่ยงแท้
อนัตตา คือ ความที่ไม่สามารถควบคุมได้
ไม่ว่าจะเป็นสิ่งอื่นหรือตนเอง แม้แต่ตัวเองก็ไม่ได้เป็นตัวเองจริง
ทั้งสามสิ่งนี้ ทุกวันนี้วิทยาศาสตร์ยอมรับว่ามันเป็นจริงทั้งหมด 
เพราะแม้แต่คำว่าทุกขัง วิทยาศาสตร์ก็สามารถ
อธิบายได้ว่าทุกอะตอมมีแรงเข้ากระทำตลอดเวลา
ก่อนมีศาสนาพุทธ ความเชื่อทางศาสนาเทวนิยม
ของชาวชมพูทวีปก่อนหน้านี้เชื่อว่า ความเที่ยงแท้มีจริง
ความเที่ยงแท้นั้นคือพระเจ้า
และพระเจ้านั้นควบคุมทุกอย่าง
ส่วนเรื่องทุกขัง หากใครมีความทุกข์ก็ให้บูชาพระเจ้า
ซึ่งบางครั้งก็ต้องเบียดเบียนชีวิตอื่นด้วยการบูชายันต์
ไตรลักษณ์แห่งศาสนาพุทธ ทำให้อัตตาของมนุษย์เล็กลง เบาลง เมื่อเรารู้ว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง ทุกสิ่งไม่สามารถควบคุมได้
และทุกสิ่งมีทุกข์
กับความทุกข์นั้น ศาสนาพุทธมีวิธีจัดการ
พระพุทธเจ้าได้ประกาศทฤษฎีแห่งทุกข์เป็นแก่นของพระศาสนา
ทฤษฎีแห่งทุกข์นี้เป็นความจริงแห่งอริยะ
ทฤษฎีนี้ประกอบด้วยคำสี่คำ
คือ
ทุกข์
สมุทัย 
นิโรธ
มรรค
พระพุทธเจ้าสอนเรื่องทุกข์แตกต่างจากความเชื่อทั่วไป
ในศาสนาพุทธ การกำจัดทุกข์ไม่ได้ใช้วิธีการให้ลืมมัน
ไม่ได้ใช้การหาสุขอย่างอื่นมาปรนเปรอเพื่อกลบทับมัน
เพราะความทุกข์นั้นไม่มีใครบดบังได้ และไม่มีใครลืมมันได้
พระองค์สอนว่าทุกข์มีไว้รู้ ไม่ใช่มีไว้ละ
ตัวที่ต้องละคือ สมุทัย ต้นเหตุแห่งทุกข์ต่างหาก
เมื่อเราละต้นเหตุของทุกข์ได้ ทุกข์ก็จะร่อยหลอจนหายไปเอง
วิธีละ คืออะไร 
วิธีละ คือมรรค
ละแล้วได้อะไร
ละแล้วได้นิโรธ การหลุดพ้น
คำอธิบายต่อมาของอริยสัจสี่คือ
ทุกข์พึงรู้ สมุทัยพึงละ นิโรธพึงแจ้ง มรรคพึงเจริญ
เมื่อพระพุทธเจ้าค้นพบไตรลักษณ์และอริยสัจสี่
จากนั้นพระองค์ก็ทรงค้นคว้าจัดลำดับหาวิธีสอนคนทั่วไป
ด้วยมรรคมีองค์แปดเพื่อให้เป็นหลักปฏิบัติสำคัญของพระศาสนา
แปดอย่างนี้คือ ทิฏฐิ สังกัปปะ วาจา กัมมันตะ อาชีวะ
วายามะ สติ และสมาธิ
หรือแปลเป็นภาษาปัจจุบันนี้คือ ทัศนคติ ความคิด คำพูด
การกระทำ วิถีชีวิต ความเพียร สติ และสมาธิ
วันนี้วันวิสาขบูชา
จึงขอชวนเชิญให้ชาวพุทธทั้งหลาย
มายอมรับความจริงแห่งจักรวาล คือ ไตรลักษณ์
มาทำความเข้าใจในความจริงแห่งชีวิต คือ อริยสัจสี่
และมาฝึกฝนปฏิบัติอยู่ในแนวทางแห่งพุทธ คือ มรรคแปด
สาธุ