Custom Search

Feb 5, 2011

“วินัย ไกรบุตร” ถ่ายทอดบทเรียน “หินๆ” 5 ปีบนเส้นทางขายปุ๋ย

มติชน
ภาวิณีย์ เจริญยิ่ง
วันที่ 04 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554


5 ปีแล้วที่นักแสดงหนุ่ม “วินัย ไกรบุตร” หรือ เมฆ
เข้ามาจับธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์ โดยใช้ตรา “ไกรบุตร” (เริ่มตั้งแต่ปี 2548)
ซึ่งกว่าจะอยู่ตัวอย่างทุกวันนี้ได้
เขาต้องเรียนรู้และล้มลุกคลุกคลานมาตลอด
แต่ 5 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้สูญเปล่าทำให้เขาได้รับประสบการณ์อย่างคุ้มค่า
และนำประสบการณ์เหล่านั้นมาเป็นบทเรียน
ส่งผลให้ในปีนี้เขาจึงได้ปรับวิธีบริหารจัดการการตลาดและการขายเสียใหม่
เพื่อให้ขายปุ๋ยได้กำไรสูงสุด พร้อมๆ กับมีรายจ่ายในเรื่องต่างๆ น้อยสุด



เน้นทำการ ตลาด

ขายอย่าง เดียว

เขาย้อนให้ฟังถึงการมาทำธุรกิจปุ๋ยว่า
เกิดจากมุมมองที่ว่าบ้านเราเป็นเมืองเกษตรกรรม
โดยส่วนตัวก็เป็นคนใต้ที่ทำนาทำไร่ทำสวนมาก่อน
คิดว่าแนวโน้มคำว่าอินทรีย์ และคำว่าออร์แกนิก น่าจะมาแรง
ในอนาคตใครทำเกษตรกรรมน่าจะรวย
เพราะต่อไปอาหารการกินจะหายากจะแพง
ในขณะที่เทคโนโลยีราคาจะต่ำลงเรื่อยๆ
อีกอย่างตัวเองก็มีพื้นฐาน เคยลงตลาด
เคยลงต่างจังหวัด และเคยอยู่บ้านในต่างจังหวัดมาก่อน
เลยคิดว่าเข้าใจเรื่องพวกนี้พอสมควร



เมฆซึ่งมีดีกรีปริญญาโทเอ็มบีเอ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
แจงถึงส่วนผสมของปุ๋ยอินทรีย์ว่า
มีโรงงานของหุ้นส่วนที่นครปฐมผลิตให้ตามสูตรที่กำหนด
บริษัท มิชชั่นโกลด์ ของเขาเพียงทำการตลาดเท่านั้น
วัตถุดิบต่างๆ ส่วนใหญ่ใช้ในประเทศไทย
มีวัตถุดิบบางตัวเท่านั้นที่นำเข้ามาจากเมืองนอกเพื่อมาผสมกัน เช่น
พวกโดโลไมท์ นอกนั้นเป็นจำพวกขี้วัว ขี้หมู ขี้ไก่
ของเหลือทิ้งจากโรงงานพวกส่าเหล้า และชานอ้อย
จากนั้นนำมาหมักแล้วปั้นเป็นเม็ดขึ้นมา
มีธาตุอาหารเอ็นพีเคครบตามสูตรที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กำหนด อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เขาขายทั้งปุ๋ยอินทรีย์และปุ๋ยเคมีด้วย
แต่ตอนหลังขายเฉพาะปุ๋ยอินทรีย์ล้วนๆ
เพราะสู้ราคาปุ๋ยเคมีที่ต้องนำเข้ามาไม่ไหว



แม้จะศึกษาตลาดและมีแหล่งผลิตเรียบร้อย
ไม่ต้องไปลงทุนในส่วนของโรงงาน
เพียงทำการตลาดเท่านั้น และด้วยความที่เขาเป็นดารานักแสดง
มีคนรู้จักเยอะแยะก็น่าจะทำให้ขายดีกว่า เจ้าอื่น
แต่ในความเป็นจริงแล้ว
การค้าขายปุ๋ยมีองค์ประกอบมากกว่านั้น
จึงไม่ใช่ธุรกิจที่ได้เงินมาง่ายๆ



ตัว แปรกระทบยอดขายปุ๋ย

“จุดที่มันยาก เช่น เรื่องการตลาด เรื่องของต้นทุน
เรื่องของการหมุนกลับมาของเงิน คนบ้านเราจน
ชาวบ้านไม่ค่อยรวย ตรงนี้จึงเป็นปัญหา
อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งคือความไม่แน่นอนเรื่องของสภาพแวดล้อม เช่น
ฝนตกฟ้าร้อง น้ำท่วม เรื่องของชลประทาน
ฉะนั้น 2 สิ่งนี้เองเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงสำหรับธุรกิจตัวนี้”



ฟังเจ้าตัวพูดแล้วยังไม่เห็นภาพชัดเจนอยู่ดี
เพราะสภาพที่เป็นอยู่เมื่อใดก็ตามที่พืชผักผลไม้ตัวไหนการันตีว่าใช้วิธี
ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์มักจะขายในราคาที่สูงแทบทั้งนั้น
ซึ่งลูกค้าก็ยอมจ่ายด้วยมองว่าจะปลอดภัยและดีต่อสุขภาพคนกิน
แต่อย่างที่เกริ่นไว้ธุรกิจปุ๋ยอินทรีย์มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง



“ขายมา 5 ปีมีความรู้สึกว่ายิ่งขายยิ่งยาก ปีแรกก็ยาก
ปีที่สองก็ยาก ปีสาม ปีสี่ดีขึ้น พอปีสุดท้ายปีนี้ยิ่งยากกว่าเดิม
เพราะปีแรกปุ๋ยไม่แพงมาก ปีสาม ปีสี่ ปุ๋ยเคมีแพง
ซึ่งเป็นผลดีกับเรา พอตอนนี้ปุ๋ยเคมีถูกกลับไม่ดี
เหตุผลเพราะตอนปุ๋ยอินทรีย์ถูกคนก็ไม่ใช้
แต่ไปใช้ปุ๋ยเคมีแทน พอ 3 ปีให้หลังปุ๋ยเคมีแพงมาก
กระสอบละ 1,500 บาท ปุ๋ยอินทรีย์เลยขายดีเพราะราคาแค่ 400 กว่าบาท
พอปี 2553 ปุ๋ยเคมีลงมาอีก ลงมาเกือบ 500 กว่าบาท
ปุ๋ยอินทรีย์ที่ราคา 400 บาทเลยขายไม่ได้ หรือขายได้น้อย
นี่คือผลกระทบ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเรื่องฝนตก
น้ำท่วม บวกเข้าไปอีก ทำให้ขายได้น้อยหรือไม่ได้เลย”



5 ปีที่ปุ๋ยอินทรีย์ตรา “ไกรบุตร” ขายอยู่ในท้องตลาด
เมฆย้ำอีกว่า “แม้เกษตรกรจะรู้จักและยอมรับคุณภาพ
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะประสบผลสำเร็จ
เพราะมีคู่แข่งขันในตลาดเยอะ และยังมีการผันผวนเรื่องของราคาปุ๋ยเคมี
และมีอุปสรรคเรื่องดินฟ้าอากาศเข้า มาเกี่ยวข้อง อย่างสมมติ
กรณีน้ำท่วม 3 จังหวัด อยุธยา สระแก้ว ปทุมธานี เกิดน้ำท่วมสัก 4 เดือน
ฝนไม่ตกแล้ง 3 เดือนก็ขายปุ๋ยไม่ได้แล้ว เกษตรกรชาวนาก็ใส่ปุ๋ยไม่ได้
พอฝนแล้ง เพลี้ยลงก็ใส่ปุ๋ยไม่ได้ นี่คือปัญหาของการขายปุ๋ย
มันไม่ได้สวยหรูอย่างที่คิด อุปสรรคเยอะแยะมากมาย
นอกจากนี้ยังมีเรื่องของค่าขนส่ง เรื่องของวัตถุดิบอีก”



ปุ๋ย “ไกรบุตร”

มีให้เลือก 3 แบบ

สำหรับปุ๋ยอินทรีย์ตราไกรบุตรมี 3 สูตรด้วยกันคือ
สูตรพิเศษในกระสอบสีส้ม ไว้ใส่พวกผักผลไม้ทั่วไป สูตรพิเศษราคา
ประมาณ 400 กว่าบาท ทั้งนี้ราคายังขึ้นอยู่กับสถานที่และการขนส่งด้วย
สูตรที่ 2 เฉพาะใส่กับยางพาราเท่านั้น สูตรที่ 3 เป็นสูตรใส่นาข้าว



ในการทำตลาดที่ผ่านมา เมฆกับเซลส์จะลงไปที่
สหกรณ์การเกษตรตามอำเภอและจังหวัดต่างๆและร้านค้า
โดยส่วนใหญ่เป็นสหกรณ์ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ร้านค้า 20 เปอร์เซ็นต์
การค้าขายกับกลุ่มนี้เจ้าของปุ๋ย “ไกรบุตร” บอกว่า
ดีตรงที่เก็บเงินง่ายและบริษัทไม่เน้นเครดิต
ให้เครดิตแค่ 7-15 วันเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา
แม้จะขายไม่เยอะแต่ขายแล้วพออยู่ได้ เดือนหนึ่งสัก 5 คันรถก็พอแล้ว



“ยอดขายปุ๋ยอินทรีย์ของผมพอปีที่ 4 ที่ 5 เพิ่มขึ้นมา 30 เปอร์เซ็นต์
แต่จะว่าไปแล้วยอดขายก็ไม่เพิ่มมาก อาศัยขายได้เรื่อยๆ
ไม่ได้ขึ้นแบบบุ่มบ่ามเพราะปุ๋ยอินทรีย์ไม่มีแบบโป้งป้าง
หรือขึ้นมาแบบพรวด พราด อีกทั้งปุ๋ยอินทรีย์จะขยับราคายากมาก
เพราะใช้วัตถุดิบเกือบทั้งหมดจากในประเทศ”



ทำแปลงสาธิตโชว์สรรพคุณ

ถามว่า การทำตลาดแตกต่างจากปุ๋ยยี่ห้ออื่นหรือไม่
แล้วมีคู่แข่งเยอะไหม เมฆแจง

“ถามว่า การขายของผมแหวกแนวกว่าคนอื่นไหม
ก็ไม่เหมือนคนอื่นนั่นแหละ คือขายให้สหกรณ์
ขายให้ ธ.ก.ส. ขายให้เอเย่นต์ แต่ว่าวิธีทำการตลาดของผม
แตกต่างกับคู่แข่งตรงที่ว่า เราไปหาผู้ใหญ่บ้าน อบต.
แล้วก็คนในพื้นที่ทำแปลงทดลอง ทำแปลงสาธิตให้ดู
ช่วง 3-4 ปีแรกผมไปลุยเอง แต่ตอนนี้เรามีทีมงาน
ผมจะไม่ลงไปขนาดนั้น จะมีทีมงานคอยวิ่งคอยติดต่อ
และถ้ามีงานใหญ่ๆ เช่น ประชุมใหญ่หรืองานอีเว้นต์ใหญ่ๆ อบต. รวมกัน
หมู่บ้านรวมกัน มีนายกรัฐมนตรีมาปรากฏตัว
เราก็จัดบู๊ธใหญ่ๆ เหมือนเราทำการตลาดไปในตัว
ผมก็ไปขึ้นโชว์สินค้าเอง
ส่วนเรื่องรายละเอียดลูกน้องก็จะไปต่อยอดไปเคลียร์เรื่องสินค้า”



ในการขายปุ๋ยอินทรีย์นั้นเมฆบอกว่า
จำเป็นต้องทำแปลงสาธิตให้เกษตรกรดู
ซึ่งกว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลา ถึงจะขายปุ๋ยได้
และต้องทำอย่างต่อเนื่อง ลูกบ้านจะดูว่าแปลงสาธิต
ที่ผู้ใหญ่บ้านใส่ปุ๋ยที่ว่าแล้วเป็นอย่างไร
เป็นการตลาดแบบปากต่อปาก นอกจากนี้
มีการโฆษณาทางวิทยุไปด้วย
ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำแปลงสาธิตที่จังหวัดสระแก้ว
เป็นแปลงมันสำปะหลัง และแปลงนาข้าวต่างๆ



ยัง มีหนี้ค้างหลายล้าน

บริษัทขายปุ๋ยส่วนใหญ่จะติดต่อค้าขายกับสหกรณ์
ซึ่งจะเป็นตัวกลางกระจายสินค้าไปให้สมาชิก
ที่เป็นเกษตรกรในแต่ละพื้นที่
ฉะนั้นจึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องการจ่ายเงิน
และเรื่องเครดิตแต่อย่างใด ขณะที่ก่อนหน้านี้
เมฆเคยให้เครดิตกับคู่ค้าบางรายจน
เป็นหนี้ค้างชำระกันในวงเงินหลายล้าน
ประสบการณ์นี้ทำให้เขาระมัดระวังมาก

“ปี 2552 วิกฤตสุด หนี้เสียเยอะ
แทบจะปิดบริษัทเพราะเงินมันไม่หมุนเข้ามาในระบบ
ต้องทำเรื่องกู้เพื่อจะหาเงินหมุนเวียนมาช่วย
สุดท้ายก็ผ่านช่วงนั้นมาได้ พอปี 2553 ก็โอเคแต่ก็ยังไม่ดี
ต้องรอปี 2554 ซึ่งไม่มีใครสามารถรู้ได้เลย
เมื่อก่อนเป็นดาราไม่มีหนี้ก็ไม่ได้ยืม
แต่พอทำธุรกิจก็มีหนี้แต่กู้ได้ยืมได้
ส่วนปัญหาเงินที่ลูกค้าค้างอยู่ 2-3 ล้าน
เป็นเรื่องเมื่อ 3 ปีที่แล้วที่เราเริ่มต้นธุรกิจ
เราเดินแล้วเราขายไม่ได้ เพราะเป็นยี่ห้อใหม่
จะขายเงินสดก็ขายไม่ได้ ใครๆ ก็อยากทดลอง
ทุกคนอยากได้เครดิต ไม่ให้ก็ไม่ได้
แต่ 2 ปีหลังไม่มีปัญหาพวกนี้ มันดีขึ้นเรื่อยๆ”



ชื่อ เสียงช่วยได้แค่ 10%

หลายคนคงอยากรู้การเป็นนักแสดงชื่อดังที่มีผู้คนรู้จักกันมากมาย
จะช่วยทำยอดขายได้เพิ่มขึ้นบ้างหรือเปล่า

ประเด็นนี้เมฆตอบโดยไม่ต้องเสียเวลาคิดว่า
“การเป็นดาราความเป็นนักแสดงก็มีส่วนในการขายประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์
มีส่วนเพราะเขารู้ว่าเป็นของใคร เวลาเข้าไปคุยกับคนก็ง่ายขึ้น
แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณภาพปุ๋ยจะดีหรือเปล่า
หรือการตลาดจะเก่งหรือเปล่า นั่นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง”



ในเรื่องเม็ดเงินที่ลงทุนไปนั้น “หนุ่มเมฆ” บอกว่า
ยังไม่ได้กลับคืนหมด ยังวนเวียนอยู่ในรูปของการลงทุน
และยังมีเรื่องหนี้สูญที่ยังเก็บไม่หมด ลูกหนี้บางคนก็หายไปเลย
บางคนเจอกันแต่ก็เก็บไม่ได้ ขอผ่อนผันไปเรื่อยๆ
แต่ก็ตั้งความหวังไว้ว่าวันหนึ่งเผื่อจะได้เงินคืนมาบ้าง



เมฆยอมรับว่า ช่วงแรกของการทำธุรกิจปุ๋ย
เขาเองต้องลุยเองทุกอย่าง เพราะถือเป็นมือใหม่
ยังต้องศึกษาเรียนรู้งานทุกอย่าง
แต่เมื่อธุรกิจมาถึงตรงนี้แล้ว
เขามีทีมการตลาดที่ค่อนข้างเข้มแข็ง



“ตอนนี้ผมมีทีมงานที่จะทำการตลาด
เลยมีเวลารับงานแสดง เมื่อก่อนนี้ไม่มีเวลาเลยต้องวิ่งอย่างเดียว เพราะ
1. ยังไม่ได้คนที่ถูกใจ 2. เราเองยังไม่ได้เรียนรู้ที่จะขายเลยแล้วอยู่ๆ
จะให้คนอื่นไปก็รู้สึกว่าจะไม่ดี
เหมือนว่าคนจะทำอะไรก็ต้องเรียนรู้เรื่องการขาย
เรื่องการขนส่ง เรื่องการขับรถ เรื่องของสถานที่
เรื่องการพบปะผู้คน เรื่องของการเยี่ยมคน
ต้องเรียนรู้ก่อน ตอนนี้เรารู้หมด
สำคัญที่เขาจะปิดออร์เดอร์ได้หรือไม่ได้
เหมือนกับว่าเราเรียนรู้มาก่อนภายใน 2-3 ปี
พอปีที่ 4 ที่ 5 เราปล่อยให้ทีมงานขายได้แล้ว”



แม้จะทำธุรกิจปุ๋ยอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
แต่หนุ่มเมฆยืนยันว่า อาชีพการแสดงเป็นอาชีพหลัก
ส่วนการขายปุ๋ยเป็นอาชีพรอง



ยันขายปุ๋ยแค่อาชีพรอง

“อาชีพหลักของผมคือนักแสดง อาชีพรองคือนักธุรกิจ
ผมรู้สึกว่าผมรักการแสดง ยังไม่ทิ้ง
ไม่ใช่ว่าพอทำธุรกิจปุ๋ยพอได้เงินแล้วบอกว่าอาชีพหลักเป็นอาชีพขายปุ๋ย
ผมไม่ได้คิดเรื่องเงิน ผมคิดเรื่องความชอบ
อาชีพรองที่ต้องทำเพื่อความอยู่รอดเพราะเมื่อไรที่ไม่มีการแสดง
อาชีพรองก็สามารถเลี้ยงตัวอยู่ไปเดือนๆ
ส่วนที่ว่าแนวโน้มจะไปได้ดีหรือไม่ ไม่มีใครบอกได้
แม้แต่โรงงานขนาดใหญ่
เพราะเราไม่รู้ว่าพายุจะมาเมื่อไร น้ำท่วมเมื่อไร”



ในฐานะคนในวงการปุ๋ย เมฆมองว่า
สัดส่วนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์กับปุ๋ยเคมีในบ้านเราคงแยกกันไม่ออก
เพราะปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยที่มีคุณภาพในเรื่องของเอ็นพีเค
มีแม่ปุ๋ยที่จำเป็นต้องใช้ เพื่อจะได้ธาตุอาหารที่ครบสมบูรณ์
แต่ปุ๋ยอินทรีย์ก็มีความสำคัญ เนื่องจากเป็นตัวย่อยสลาย
ทำให้ดินดีขึ้นสภาพแวดล้อมดีขึ้น ทำให้ดินร่วนซุย
รากสามารถดูดอาหารดูดปุ๋ยเคมีได้เต็มที่ ฉะนั้น
ถ้าเทียบปุ๋ยอินทรีย์กับอาหารประจำวันปุ๋ยอินทรีย์เป็นพวกผักผลไม้สด
แต่ปุ๋ยเคมีเป็นพวกยาพวกอาหารเสริมที่ใส่เข้าไป
ดังนั้น ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์จะต้องไปด้วยกัน ทิ้งกันไม่ได้



กับคำถามที่ว่า จากความล้มเหลวในการทำธุรกิจที่ผ่านมา
หากย้อนเวลากลับไปได้ เขาจะทำอย่างไร

“1. ผมจะปรับในเรื่องของการตลาด เรื่องผู้แทนจำหน่าย เรื่องคนขาย
2. เรื่องเครดิต สินเชื่อ
3.เรื่องของทีมงาน เรื่องของกฎหมายที่มาเกี่ยวข้อง
ถ้าให้เริ่มต้นใหม่เลยจะทำการตลาดที่ประหยัดและยั่งยืนกว่านี้
ไม่ต้องไปไหน ไกล อยู่รอบกรุงเทพฯ แค่นี้พอ
ไม่ต้องวิ่งไปไกลๆ ไม่ต้องมั่ว อยู่ใกล้ๆ
ทำแปลงทดลองติดต่อให้คนเห็นคุณภาพ
อยู่แถวๆ นี้เพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย
พร้อมทำการประชาสัมพันธ์ไปเรื่อยๆ
ให้เขาได้เห็นคุณภาพจริงๆ เดือนหนึ่ง 3-5 คันรถพอ
กำไรเดือนหนึ่งประมาณ 50,000 บาท พอแล้ว
เพราะถ้ายิ่งคิดมากยิ่งต้องการมากปัญหาเยอะ
ต้นทุนสูง และคนที่วิ่งก็มีความกดดันเยอะมาก
ตอนนี้ต้องกลับมาตั้งหลักพอเพียงเหมือนที่ในหลวงทรงแนะนำไว้”

พลิกโฉมการตลาดใหม่

ประสบการณ์การขายการทำตลาดที่ผ่านมา
ทำให้เมฆได้เรียนรู้เยอะ ดังนั้น เขาจึงได้ปรับแผนการตลาดใหม่ ในปี 2554 นี้
“ผมจะไม่ส่งเซลส์ให้วิ่งข้ามจังหวัด จะไม่ไปภาคเหนือ
จะไม่ไปภาคใต้ จะใช้วิธียิงแค่พื้นที่รอบๆ กรุงเทพฯ ปทุมธานี อยุธยา
สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี
1. เพื่อประหยัดต้นทุนประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดค่าน้ำมัน ค่ากิน
ค่าทีมงาน เราไม่ต้องพัก ไม่ต้องจ่ายค่านอน
สามารถวิ่งไปกลับได้ เราไม่ข้ามแล้วเหมือนเมื่อก่อนเราข้ามไปแต่ละภาค
กลับมาบางทีไม่ได้อะไรเลย เสียเปล่า
2. ดูแลทั่วถึง อีกอย่างสามารถทำงานง่ายกว่าเดิม
ไม่เสียเวลาพักค้างคืน”



นอกจากจะปรับในเรื่องวิธีการทำตลาดแล้ว
ในส่วนของเซลส์เขาก็ปรับเช่นกัน
“ตอนนี้ทีมงานผมมี 5 คน ไม่ได้รับเงินเดือน
ให้รับเป็นเปอร์เซ็นต์ แต่เรามีค่าน้ำมันค่าการตลาดให้
ตัดเป็นเปอร์เซ็นต์ไป คุณไม่มีเงินเดือนคุณวิ่งไปเรื่อยๆ
คุณขายไปตัดไป ประหยัดต้นทุน
เมื่อก่อนเราจ่ายเป็นเงินเดือน บางเดือน 4 เดือน
น้ำท่วมฝนตกเราก็ต้องจ่าย ค่าโน่นค่านี่
ค่าน้ำมันเดือนหนึ่งเป็นแสน
เดี๋ยวนี้เราไม่ทำอย่างนั้นแล้ว
เริ่มวิธีการแบบนี้มาครึ่งปีแล้ว”



ฟัง “เมฆ” เล่าถึงธุรกิจค้าปุ๋ยแล้ว
เชื่อว่าคงทำให้บางคนที่มีความคิดที่อยากจะขายปุ๋ยอินทรีย์บ้าง
อาจจะถอดใจเลิกล้มความตั้งใจนี้เพราะเห็นปัญหาอุปสรรคเยอะเหลือเกิน
ขณะเดียวกันก็เชื่อว่าคงจะมีบางคนที่อยากจะทำธุรกิจนี้ร่วมกับนักแสดงชื่อ ดัง
ซึ่งเจ้าของปุ๋ยอินทรีย์ “ไกรบุตร” ฝากมาว่า
หากใครสามารถเป็นตัวกลางเชื่อม
ให้สหกรณ์การเกษตรหรือหน่วยงานไหนก็ตาม
ซื้อปุ๋ยของเขา จะได้รับเปอร์เซ็นต์อย่างคุ้มค่าแน่นอน



ถ้าสนใจอยากรู้รายละเอียดของปุ๋ยยี่ห้อดังกล่าวมากกว่า
นี้ ดูได้ที่ www.kraibutr.com หรือติดต่อ
ที่ บริษัท มิชชั่นโกลด์ จำกัด
โทรศัพท์ (02) 974-5655, (089) 924-2076, (086) 075-7000