สมเกียรติ ตั้งนโม กับโครงการทางการเมืองที่ยังไม่เสร็จ
อุทิศ อติมานะ
ชีวิตนั้นไร้สาระ ว่างเปล่า ผ่านมาแล้วก็ผ่านมา
ที่เหลืออยู่เป็นเพียง
“ความทรงจำ” เกี่ยวกับการกระทำที่ผ่านมา
เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่
สมเกียรติ ตั้งนโม อีกชีวิตหนึ่งที่จากไป
แต่ก็ยังอยู่ใน “ความทรงจำสาธารณะ”
ที่สำคัญอีกบทหนึ่งของสังคมไทย
เป็นความทรงจำสาธารณะถึงชีวิตหนึ่งที่มีอุดมการณ์เพื่อ
“ผลประโยชน์สาธารณะ”
มีความมุ่งมั่น ทุ่มเท
มีวินัยอย่างคงเส้นคงวาตลอดชีวิตที่ผ่านมา
ที่ลุกขึ้นต่อสู้กับความไม่เสมอภาค ความไม่รู้
ความไม่ยุติธรรม
ความไม่ชอบธรรม ฯลฯ
ในสังคมไทยและโลก
ดูเหมือนว่าพันธกิจนี้จะยังคงเป็น “งานที่ไม่เสร็จ”
ความเป็นสมเกียรติ ตั้งนโม เริ่มต้นจากความไม่เสมอภาค
ความไม่รู้ ในวงการศิลปะ
จากปัญหาดังกล่าวผลักดันเขาให้สร้างสรรค์ผลงานแปล เรียบเรียง
และบทความ
เกี่ยวกับความรู้ขั้นสูงร่วมสมัยในศาสตร์ศิลปะ
และสาขาที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างมากมาย
ด้วยความเชื่อส่วนตัวที่ว่า
ความคิดเชิงวิจารณ์เพื่อผลประโยชน์สาธารณะ
และความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างสังคมที่มีความเป็นธรรม
ชอบธรรม
จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ยังคงปราศจากความรอบรู้ในศาสตร์ขั้นสูงสาขาต่างๆ
ซึ่งความรู้เหล่านั้นส่วนใหญ่ ยังคงอยู่ในโลกของผู้ใช้ภาษาอังกฤษ
แม้ว่าเขาจะไม่ได้ถูกฝึกฝนมาให้เป็นนักแปลมืออาชีพก็ตาม
หรือแม้ว่าเขาจะไม่เคยได้รับค่าจ้างแปลใดๆ
ตลอดช่วงเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมาก็ตาม
แต่เขาสามารถผลิตผลงานแปลและเรียบเรียง
หนังสือวิชาการขั้นสูงในสาขาต่างๆ
มากมายกว่าร้อยเล่มอย่างต่อเนื่อง
เขาเริ่มจากการแปลและเรียบเรียงตำราวงการศิลปะ
ค่อยๆก้าวมาสู่การเขียน การแปล
และเรียบเรียงตำราในวงการมนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์
ต่อมาเขาริเริ่มโครงการเสวนา “ศิลปะ ปรัชญา และวิทยาศาสตร์”
ราว 10 ปีที่ผ่านมาด้วยความเชื่อที่ว่า
เมื่อคนไทยมีความรอบรู้ขั้นสูงในสาขาต่างๆ
เชิงบูรณาการที่มากพอ
จะนำมาสู่การสามารถวิเคราะห์ รู้เท่าทัน
ความไม่เป็นธรรมในสังคมไทยที่มีความซับซ้อน ซ่อนรูป
สามารถเข้าใจปัญหาสังคมระดับโครงสร้างเหตุปัจจัยต่างๆ
ระดับแนวคิดเชิงทฤษฏี
โดยผ่านเวทีเสวนาที่เขาริเริ่มขึ้น
เพื่อสร้างชุมชนวิชาการที่มีความเป็นสหวิทยาการ
ร่วมกันผลิต
“แนวคิดเชิงวิพากษ์สังคม”
ผ่านมุมมองของศาสตร์และความเห็นของบุคคลที่หลากหลาย
เพื่อให้เกิดชุมชนนักวิชาการที่ไม่มีแรงจูงใจเพื่อรับใช้อำนาจของคน
บางกลุ่ม
แต่รับใช้ “ผลประโยชน์สาธารณะอย่างไม่มีเงื่อนไข”
เพื่อสร้างพลังการต่อรอง ต่อต้าน ประท้วง
ทั้งทางตรงทางอ้อม ฯลฯ
ต่อความไม่เสมอภาค ความไม่ยุติธรรม
ความไม่ชอบธรรมต่างๆ ในสังคมไทยและโลก
จากความเป็นนักทฤษฏี สู่ความเป็น
“นักปฏิบัติการทางการเมืองภาคประชาชน”
สมเกียรติเข้าร่วมกับกัลยาณมิตรที่มีอุดมการณ์ร่วมคล้ายกัน
ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เป็นมหาวิทยาลัยทางเลือก
เพื่อสรรค์สร้างปฏิบัติการทางการเมืองภาคประชาชน
เน้นการแก้ปัญหาสังคมไทยระดับ “แนวคิดเชิงวิพากษ์”
ที่ตรงไปตรงมา
มีเหตุผล
วิจารณ์เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะในแต่ละจังหวะเวลา
อย่างไม่มีเงื่อนไข อาทิ มีการออกแถลงการณ์
ให้ข้อคิดเชิงหลักการต่อเหตุการณ์ทางการเมืองไทยอย่างต่อเนื่อง
มีการทำสงครามเพื่อสัญลักษณ์ ฯลฯ
รวมทั้งมีการต่อยอดพัฒนาชุมชนมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนสู่โลกอินเทอร์เน็ต
มันทำให้มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนกลายเป็นชุมชนวิชาการไทย
ที่สร้างการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง
และทรงอิทธิพลในสังคมไทยต่อมา
ซึ่งสมเกียรติมีบทบาทสำคัญอย่างมาก
ในฐานะผู้รับผิดชอบเว๊ปไซด์ ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
แน่นอนที่สุด ชีวิตนั้นว่างเปล่า ไร้สาระ ชั่วคราว
แต่อย่างน้อย สมเกียรติ
ก็ได้ท้าทาย “กฎแห่งความไร้สาระของชีวิต”
สู่การทำให้ชีวิตของเขาที่ผ่านมา
“มีสาระบางประการท่ามกลางความว่างเปล่า”
เป็นสาระแห่งชีวิตที่ถูกใช้อย่างทุ่มเท จริงจัง มีวินัย ฯลฯ
เพื่อตอบสนองคุณค่าความจริง ความดี ความงาม อย่างปราศจากเงื่อนไข
ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของอารยธรรมมนุษย์
เพื่อต่อสู้กับความไม่รู้
ความไม่เสมอภาค ไม่ยุติธรรม ไม่ชอบธรรม
ความไร้ระเบียบ ฯลฯ ในสังคม
“ความเป็นสมเกียรติ ตั้งนโม”
น่าจะกลายเป็น “ความทรงจำสาธารณะ”
อีกบทหนึ่งที่ควรค่าต่อการจดจำ และส่งต่อผ่านคนรุ่นหลัง
เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้สืบต่อบทบาทการเมืองภาค
ประชาชน
แนวคิดเชิงวิพากษ์ และการสร้างชุมชนวิชาการของสังคม
ที่ร่วมกันผลิตสื่อทางเลือก คอยเฝ้าระวัง “มุมมืด” ที่มีในตัวเราทุกคน
เพื่อร่วมตั้งคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับ “ผลประโยชน์สาธารณะ”
อย่างต่อเนื่อง
จริงจัง ทุ่มเท เป็นสงครามที่ยังไม่ยุติ
รศ.สมเกียรติ เป็นนักวิชาการด้านศิลปะร่วมสมัยและสุนทรียศาสตร์
สำเร็จการศึกษาจากวิทยาลัยช่างศิลป์ กรมศิลปากร
เมื่อปี 2522
ต่อมาสำเร็จการศึกษาหลักสูตรศิลปบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อปี 2528
และสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์มหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล ในปี 2533
เริ่มเข้ารับราชการที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ในตำแหน่งอาจารย์ประจำที่คณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
เมื่อปี 2535
ต่อมาในปี 2543-2544 เป็นหัวหน้าสาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์
ในปี 2547
เป็นรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิจิตรศิลป์
และเป็นคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ในปี 2540
รศ.สมเกียรติ
เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายทางวิชาการที่ชื่อ
"มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน"
เคยเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
และเป็นบรรณาธิการเว็บไซต์
http://www.midnightuniv.org (not active)
ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่ให้บริการบทความ
ทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนตั้งแต่ปี 2541
จนถึงปัจจุบัน
เวบไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้ชื่อว่าเป็นชุมชนวิชาการ
และปัญญาชนที่กล้าหาญทางจริยธรรม
และทวนกระแสหลักในการวิพากษ์วิจารณ์สังคม
เมื่อเวลา 05.30 น.วันที่ 6 กรกฎาคม
ที่โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม คณบดีวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อดีตอธิการบดีและผู้ก่อตั้งเว็ปไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ได้เสียชีวิตลงอย่างสงบด้วยอายุ 52 ปีที่โรงพยาบาล
ด้วยอาการระบบอวัยวะล้มเหลวจากโรคมะเร็งตับ
ซึ่งลุกลามจากการป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้มาก่อนหน้านี้
นางอรณิชา ตั้งนโม ภรรยาของอาจารย์สมเกียรติ เปิดเผยว่า
ก่อนเสียชีวิตอาจารย์สมเกียรติป่วยเป็นโรคมะเร็งลำไส้โดยแพทย์ตรวจพบมา
ตั้งแต่เดือนมกราคม 2553
จากนั้นเข้ารับการรักษาด้วยการคีโมรวม 8 เข็ม
ต่อมามีอาการทรุดหนักในเดือนมิถุนายน
และรับการรักษากับแพทย์ประมาณ 2 สัปดาห์
และต้องเข้ามานอนรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล
ตั้งแต่วันเสาร์ที่ 10 มิถุนายน 2553 และมาเสียชีวิตลงอย่างสงบ
ก่อนเสียชีวิตอาจารย์สมเกียรติได้นอนภาวนาแล้วจากไป
โดยไม่ต้องใช้เครื่องกู้ชีพใด ๆ
เป็นการเสียชีวิตตามธรรมชาติด้วยการหลับไป
ในการตั้งศพบำเพ็ญกุศลตามพิธีทางศาสนาระหว่าง 7-9 กรกฎาคม
จะมีขึ้นที่วัดพระสิงห์วรวิหาร อ.เมือง
เบื้องต้นคณะวิจิตรศิลป์ มช.จะรับเป็นเจ้าภาพดูแล
โดยพิธีสวดจะเริ่มวันแรกคือพรุ่งนี้(7 กรกฎาคม)
วันแรกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่รับเป็นเจ้าภาพ
วันที่สองมหาลัยเที่ยงคืนร่วมกับตนเองจะเป็นเจ้าภาพ
จากนั้นจะทำพิธีฌาปนกิจศพ
ในวันเสาร์ที่10 กรกฎาคม
ที่สุสานหายยา อ.เมือง จ.เชียงใหม่
สมเกียรติ ตั้งนโม
อาจไม่ได้เป็นปัญญาชนชื่อเสียงโด่งดังคับบ้านคับเมือง
แต่ในท่ามกลางบรรดาผู้สนใจใฝ่หาความรู้
รวมถึงผู้ที่สนใจความเคลื่อนไหวทางการเมืองจำนวนไม่น้อย
คงเคยได้ยินชื่อของเขาบ้างในฐานะบุคคลหนึ่ง
ที่มีส่วนอย่างสำคัญ
ทั้งในแง่ของการสร้างฐานความรู้ที่ทันสมัย
และกว้างขวางบนสื่ออินเตอร์เน็ต
จากการก่อตั้งเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
และในฐานะสมาชิกคนสำคัญของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
ซึ่งมีส่วนร่วมต่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเด็น
ที่มุ่งเน้นถึงสิทธิ เสรีภาพของประชาชน
และการสร้างสังคมประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง
สมเกียรติ
ได้จากพวกเราทั้งหมดไปอย่างสงบแล้ว
เมื่อเช้าวันอังคารที่ 6 กรกฎาคม 2553
(6 เดือนตั้งแต่ได้บอกผมว่ามีก้อนอะไรกลมๆ อยู่ที่ตรงท้องของเขา)
โดยได้ทิ้งอะไรหลายอย่างไว้ให้เป็นอนุสติแก่พวกเรา
ทั้งในด้านที่ควรนำมา
ไตร่ตรอง ขบคิด
เฉพาะอย่างยิ่งในด้านของ “ความรู้”
อันเป็นสิ่งที่อาจกล่าวได้ว่า
เป็นสิ่งที่มีความหมายและความสำคัญเป็นอย่างมาก
ในช่วงการมีชีวิตอยู่ของอาจารย์สมเกียรติ
เขาเป็นคนที่แสดงให้เห็นถึงความกระตือรือร้น
ในการแสวงหาความรู้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย
ใครที่เป็นคนใกล้ชิดคงจะได้ฟังเรื่องราวทางวิชาการใหม่ๆ
จากปากของอาจารย์สมเกียรติอย่างสม่ำเสมอ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่ได้อ่านงานหรือรับฟัง
การบรรยายอภิปรายใดๆเสร็จ
และมีความประทับใจ
จนทำให้เราต้องไปติดตามอ่านงานที่ได้ถูกกล่าวถึง
อาจารย์สมเกียรติเป็นคนที่สนใจในการแปลงานวิชาการอย่างยิ่ง
จะเห็นได้ว่างานจำนวนมากของเขาเป็นผลงาน
การนำความรู้จากตะวันตกมาสู่สังคมไทย
อันเป็นสังคมที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับความรู้มากเท่าไหร่
ความใฝ่ฝันของเขาซึ่งยังไม่ประสบความสำเร็จก็คือ
การจัดตั้งโครงการแปลตาม “อำเภอใจ”
เขาได้ขอให้ผมลองช่วยหาทุนมาสนับสนุนการแปล
ที่จะขึ้นอยู่กับความพึงพอใจของ
เขาโดยไม่มีการกำหนดเนื้อหาเอาไว้ล่วงหน้า
ซึ่งแน่นอนว่าคงยากจะหาแหล่งทุนใดมาสนับสนุนได้เป็นอย่างแน่แท้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่แหล่งทุน
ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศก็ล้วน
ต้องอยู่ภายใต้ระบบการควบคุมคุณภาพเฉกเช่น
โรงงานผลิตปลากระป๋อง
การให้ทุนจึงเต็มไปด้วยเงื่อนไข ข้อตกลง คำถามการวิจัย
หรืออะไรประมาณนี้ที่ชัดเจน
(แม้จะไม่มีใครให้การสนับสนุนต่อโครงการแปลตามอำเภอใจ
แต่อาจารย์สมเกียรติในเวลาก่อนหน้า
เป็นคณบดีคณะวิจิตรศิลป์และก่อนที่จะรู้
ตัวว่าป่วยเป็นโรคมะเร็ง
ก็ยังทำงานแปลอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 6 หน้า)
แต่ความรู้ชนิดไหนที่อาจารย์สมเกียรติสนใจ
เขาให้ความสำคัญกับความรู้ในแบบที่สังคมกระแสหลัก
ไม่สู้จะให้ความสนใจ ความรู้ในแบบที่แตกต่างจากกระแสหลัก
ความรู้ที่เป็นการโต้แย้ง
หรือแม้กระทั่งเป็นอริกับความรู้กระแสหลักคือ
สิ่งที่เขาให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
เมื่อผมได้พูดถึงแนวคิดเรื่องการดื้อแพ่ง
ต่อกฎหมายเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว
ในยามที่เพิ่งรู้จักกัน
อาจารย์สมเกียรติให้ความสนใจเป็นอย่างมาก
ซึ่งต่อมาในภายหลังจึงเข้าใจว่า
เพราะอยู่ในทิศทางของความรู้ที่เขาสนใจ
หากมีเวลาลองไล่เรียงงานของอาจารย์สมเกียรติ
บางคนที่ไม่คุ้นเคยอาจมึนงงอยู่บ้างกับงานเขียนหลายชิ้น
เช่น
แนวคิดหลังอาณานิคม (Post-colonialism),
ความรู้ช้า (Slow knowledge), ลิขซ้าย (Copyleft),
วัฒนธรรมทางสายตาหรือ Visual Culture
(สำหรับเรื่องนี้เข้าใจว่าเป็นประเด็นที่
อาจารย์สมเกียรติมีความภาคภูมิใจ
เป็นอย่างยิ่งในการนำเสนอ ตอนที่เริ่มอ่านเริ่มแปลเรื่องนี้ใหม่ๆ
ทุกครั้งในการวิเคราะห์ปรากฏการณ์ต่างๆ ไม่ว่าการเมือง สังคม วัฒนธรรม
การช้อปปิ้ง การแต่งกาย
ล้วนจะต้องมีแนวการวิเคราะห์แบบ Visual Culture โผล่มาด้วยทุกครั้ง)
เขามีความสุขกับการเดินทางไปในโลกแห่งความรู้
การอ่านและการคิดของเขาไม่ใช่เพียง
เพราะต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ให้แก่
ลูกศิษย์
เราทุกคนที่อยู่ใกล้ชิดคงตระหนักดีได้
ว่าการทำงานของอาจารย์สมเกียรติคือ
ชีวิตที่เต็มไปด้วยความเพลิดเพลิน
(ทั้งนี้ความสำราญใจประการหนึ่งที่รับรู้กันดีก็คือ
อาหารมันๆ ประเภทข้าวขาหมู
หรืออะไรที่มีรสหวานจัด
ตบท้ายด้วยเป๊ปซี่เย็นๆ)
แม้ว่าเวลาทำงานอย่างเพลิดเพลินของเขา
อาจไม่เหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไปมากเท่าไหร่
เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนนั้นเป็นการลงแรงของอาจารย์สมเกียรติ
ในห้วงเวลาที่มนุษย์ต่างพากันนอนพักผ่อนเป็นส่วนใหญ่
ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนมาจนถึงเกือบรุ่งสาง
แต่ไม่ใช่เพียงเพื่อตอบสนองต่อความกระหายอยากในความรู้
อาจารย์สมเกียรติยังให้ความสำคัญกับ
การใช้ความรู้ในการสนับสนุนคนตัวเล็กๆ
ในสังคมให้ยืนหยัดขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม
เขาจึงมิได้เพียงนั่งป่าวประกาศสัจธรรมอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น
มีโครงการหลายอย่างที่ถูกเสนอขึ้นในระหว่างพวกเรา
(มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน)
นำอาจารย์สมเกียรติออกไปในสถานที่ต่างๆ บ้านกรูด บ่อนอก
ที่ประจวบคีรีขันธ์ เขื่อนปากมูล อุบลราชธานี
สหภาพแรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมลำพูน บ้านปางแดง
เชียงใหม่
และอีกหลายแห่ง อันทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่กว้างขวางมากขึ้น
การเผยแพร่ความรู้ต่อสังคมนับเป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ
สมเกียรติได้แสดงให้เห็นถึง
ความมุ่งมั่นต่อการคิดและพูดอย่างเสรีมากที่สุด
เท่าที่จะเป็นไปได้ จึงไม่ต้องแปลกใจที่ในเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
เขาได้ประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า
สามารถนำบทความไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่
ภายใต้ระบบCopyleft (อันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับ Copyright)
โดยที่แทบไม่ต้องกล่าวถึงการต่อสู้อำนาจทางการเมือง
อันเป็นบทบาทที่เห็นได้บ่อยครั้ง
แม้ว่าความเห็นของอาจารย์สมเกียรติอาจไม่เหมือน
แตกต่าง
หรือแม้กระทั่งอยู่ตรงกันข้ามกับเสียงส่วนใหญ่
หรือเสียงของผู้มีอำนาจก็ตาม
จึงไม่ต้องแปลกใจที่เขาจะเป็นคนหนึ่งที่
สนับสนุนให้มีการยกเลิกกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
(อันนำมาสู่การกล่าวหาว่าเขาไม่จงรักภักดี
ภายหลังดำรงตำแหน่งคณบดีคณะ วิจิตรศิลป์แทบไม่น่าเชื่อว่า
ข้อกล่าวหานี้สามารถทำงานได้
แม้ภายในสถาบันการศึกษาระดับสูงของสังคม)
ไม่ใช่ด้วยเหตุผลว่าต้องการล้มล้างสถาบันกษัตริย์
แต่เป็นเพราะกฎหมายนี้ได้
ทำให้คนต้องปิดปากและถูกปิดปากอย่างไม่เป็นธรรมจากอำนาจรัฐ
เมื่อถูกอำนาจรัฐสั่งปิดเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน
อาจารย์สมเกียรติเลือกที่จะต่อสู้ด้วยกระบวนการทางกฎหมาย
มากกว่าจะไปแอบเปิด
เว็บไซต์ในชื่ออื่นเพื่อหลบหลีกการตรวจจับของรัฐบาล
แม้การกระทำในแบบหลังจะง่ายกว่ามากนัก
แต่เพื่อยืนยันถึงความถูกต้องและเสรีภาพในการแสดงความเห็น
แม้อาจลำบากมากกว่าก็เป็นทางที่อาจารย์สมเกียรติได้เลือก
ความกล้าหาญในการยืนยันถึงสิ่งที่เป็นความถูกต้องจากความรู้
จึงมีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าตัวความรู้นั้นด้วย
ชีวิตของอาจารย์สมเกียรติจึงควบคู่ไปกับความรู้
แต่ความรู้ของอาจารย์สมเกียรติ
จึงไม่ใช่เป็นการพร่ำบ่นในชั้นเรียนเพื่อนำไป
สู่ใบปริญญาของผู้เรียน หากเป็นความรู้ที่เต็มไปด้วยพลังแห่งการต่อสู้
และความรู้ที่มีความหมายต่อคน ในสังคม
อันเป็นสิ่งที่เรามักไม่ค่อยได้เห็นกันมากสักเท่าไหร่ในห้วงเวลาปัจจุบัน
หากจะพอบอกได้ว่าอะไรคือสิ่งที่อาจารย์สมเกียรติได้ทิ้งไว้เบื้องหลัง
การยืนยันในความรู้ตามแบบที่ได้ดำเนินชีวิตมาโดยตลอดของเขา
ก็เป็นสิ่งที่ท้าทายต่อความเข้าใจใน
เรื่อง “ความรู้” ของปัญญาชน
และคนในมหาวิทยาลัยในสังคมไทยอย่างสำคัญ
รศ.สมเกียรติ มีผลงานทางวิชาการเล่มสำคัญคือ
"มองหาเรื่อง: วัฒนธรรมทางสายตา"
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2552 ที่ผ่านมา คณาจารย์ บุคลากร และศิษย์เก่าคณะวิจิตรศิลป์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กลุ่มหนึ่ง ได้เคยออกแถลงการณ์เรียกร้องให้สภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ดำเนินการถอดถอน รศ.สมเกียรติ ออกจากตำแหน่งคณบดีคณะวิจิตรศิลป์ มช. หลัง รศ.สมเกียรติ
ร่วมลงชื่อสนับสนุน การแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (ม.112) อย่างไรก็ตาม รศ.สมเกียรติ
ยังได้รับความไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งคณะบดีคณะวิจิตรศิลป์อยู่ตราบจนกระทั่ง เสียชีวิต