Custom Search

Jun 23, 2023

ทำไมการกู้เรือดำน้ำชมซากเรือไททานิกนั้นไม่ง่าย


Reporter Journey


22 June 2023

ทำไมการกู้เรือดำน้ำชมซากเรือไททานิกนั้นไม่ง่าย

แม้มีเทคโนโลยีทันสมัย แต่ท้องทะเลลึกไม่เคยปราณี
ต่อให้ค้นหาจนเจอก็กู้ขึ้นมาไม่ได้
.
“ไททานิค” เรือเดินสมุทรที่มีชื่อเสียงและหลายคนรู้จักมากที่สุดกับฉายาอมตะ “เรือที่ไม่มีวันจม” ที่ปัจจุบันนี้ได้นอนทอดลำสงบนิ่งยาวนานนับร้อยปีอยู่ใต้มหาสมุทรแอตแลนติก หลังชนเข้ากับภูเขาน้ำแข็งกลางดึกของวันที่ 15 เมษายน 1912 และกลายเป็นตำนานที่ถูกเล่าขานใหม่อีกครั้งบนจอภาพยนต์ที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดเรื่องหนึ่งของโลก ซึ่งทำให้ผู้คนรู้จักเรือลำนี้อย่างกว้างขวาง และเสน่ห์ของไททานิค ได้ดึงดูดนักสำรวจรุ่นแล้วรุ่นเล่าให้ออกเดินทางเพื่อดำดึ่งลงไปยังก้นทะเลลึก ศึกษาซากอารยธรรมที่เต็มไปด้วยเรื่องราวของผู้คนนับพันชีวิตที่จมลงไปพร้อมกับเรือเดินสมุทรในคืนนั้น
.
แต่เหตุการณ์ชวนระทึกใจและทำให้ผู้คนกลับมาพูดถึงไททานิคก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อเรือดำน้ำขนาดเล็กที่ชื่อว่า "ไททัน" (Titan) ที่พานักเดินทาง นักวิจัย และกัปตันเรือรวม 5 ชีวิต เดินทางลงสู่ก้นมหาสมุทรลึกเพื่อดูซากเรือไททานิคได้เกิดปัญหาสัญญาณการติดต่อขาดหายไปหลังดำดึ่งลงไปได้ 1 ชั่วโมง 45 นาที ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 18 มิถุนายน กลายเป็นวิกฤตที่เกิดขึ้นที่หน่วยกู้ภัยต้องพยายามออกค้นหาเรือลำดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อแข่งขันกับเวลาที่นับถอยหลังไปพร้อมกับออกซิเจนภายในเรือที่กำลังจะหมดลง โดยกินพื้นที่การค้นหาใต้น้ำกว้างใหญ่ราว 13,000 ตารางกิโลเมตร หรือเท่ากับรัฐคอนเนตทิคัต หรือใหญ่กว่าพื้นที่กรุงเทพฯ 10 เท่า ซึ่งเรืออาจจมอยู่ที่ใดสักที่ใต้ท้องทะเลอันเย็นยะเยือกของแอตแลนติกเหนือ โอบล้อมไปด้วยแรงดันน้ำมหาศาลกว่าพื้นผิวโลกหลายเท่า หรืออาจจะพุ่งขึ้นสู่พื้นผิวน้ำแล้วแต่ยังไม่อาจหาเจอก็เป็นได้ ซึ่งนี่คืออุปสรรคใหญ่ในภารกิจการค้นหาครั้งนี้
.
🔵 ภูมิประเทศใต้มหาสมุทรอันแสนมืดมิด
.
หากไททันจมอยู่ใต้ทะเลบนพื้นมหาสมุทร แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะช่วยเหลือผู้โดยสารและลูกเรือให้กลับขึ้นมา เนื่องจากซากเรือไททานิคอยู่ใต้ผิวน้ําลึกถึง 3,800 เมตร นับเป็นลำดับที่ 7 ของโลกที่เรือเดินสมุทรจมอยู่ใต้น้ำ ซึ่งไททันได้ขาดการติดต่อในช่วงครึ่งทางในการดําน้ําไปให้ถึงซากเรือ
.
ทิม มัลติน ผู้เชี่ยวชาญด้านซากเรือไททานิคกล่าวว่า ใต้น้ำนั้นมืดดําสนิทและมีอุณภูมิเย็นจัดเพียง 4 องศาเซลเซียส แถมก้นทะเลยังเป็นโคลนและเป็นลูกคลื่น เราไม่สามารถมองเห็นได้แม้กระทั่งมือของเราเองที่เอามาจ่อตรงหน้า
.
🔵 แม้จะเจอไททันก็ไม่อาจจะนำขึ้นสู่ผิวน้ำได้
.
ในกรณีที่ค้นหาเรือดําน้ําไททันพบแล้ว ก็ไม่สามารถนำขึ้นมาจากก้นมหาสมุทรสู่ผิวน้ำได้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การกู้ภัยแบบนี้ใต้มหาสมุทรที่ลึกระดับนี้และมีแรงดันน้ำมหาศาลนั้นไม่น่ามีความเป็นไปได้เลย มีเรือใต้น้ําเพียงไม่กี่ลําเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงส่วนลึกของซากเรือไททานิคได้ปลอดภัย แม้ว่าพวกเขาจะไปถึงได้ แต่เรือดําน้ําไม่มีกำลังมากเพียงพอในการลากเรือดำน้ำอีกลำให้ขึ้นสู่ผิวน้ํา ใต้มหาสมุทรอันดำมืดและลึกลับนั้นมีอะไรอีกมากมายที่มนุษย์ไม่ยังรู้ได้
.
เจมี่ พริงเกิล นักธรณีวิทยานิติวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคีลในสหราชอาณาจักรกล่าวว่า มนุษย์มีความรู้เกี่ยวกับพื้นผิวดวงจันทร์มากกว่าก้นมหาสมุทรเสียอีก เพราะเรายังสํารวจมันได้น้อยมาก
.
แต่ถ้าหากว่าเรือดำน้ำสามารถพาตัวเองขึ้นสู่ผิวน้ำได้ ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การจะค้นหาเรือลํานี้ให้เจอก็เป็นสถานการณ์ที่ยากประดุจงมเข็มในมหาสมุทร เพราะเรือที่มีขนาดเล็กเท่ากับรถตู้จะยิ่งมองสังเกตได้ยากเนื่องจากลำตัวเรือส่วนใหญ่จะจมอยู่ใต้น้ํา และมีส่วนเล็กๆ เท่านั้นที่โผล่บนผิวน้ำ อีกทั้งการที่เรืออยู่ไกลออกไปในมหาสมุทร ทำให้การเคลื่อนย้ายเรือและอุปกรณ์ไปยังพื้นที่ค้นหาขนาดใหญ่ต้องใช้เวลา
.
สำหรับเรือดำน้ำไททัน เป็นของบริษัท OceanGate Expeditions ซึ่งเป็นทริปชมซากเรือไททานิค สนนราคาค่าทริปเดินทางอยู่ที่ 250,000 ดอลลาร์ หรือราว 8.7 ล้านบาท โดยทริปดังกล่าวจะใช้เวลาทั้งหมด 8 วัน รวมวันเดินทางทั้งไปและกลับจากชายฝั่ง เพื่อชมซากเรืออันเป็นตำนานซึ่งจมอยู่ก้นมหาสมุทรแอตแลนติกที่ระดับความลึก 3,800 เมตร
.
เป็นเรือดำน้ำขนาดเล็กความยาว 6.7 เมตร สูง 2.5 เมตร ผลิตจากคาร์บอนไฟเบอร์และไทเทเนียม ซึ่งเป็นวัสดุที่มีความแข็งแรงทนทานสูง ทำความเร็วได้ 3 นอต หรือ 5.5 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถดำน้ำลึกได้ 4,000 เมตร
.
บรรจุลูกเรือได้ 5 คน มีห้องน้ำ 1 ห้อง แต่ไม่มีที่นั่งผู้โดยสารต้องนั่งขัดสมาธิบนพื้น พร้อมอุปกรณ์ยังชีพช่วยเหลือได้ 96 ชั่วโมง พร้อมติดตั้งระบบโซนาร์ล้ำสมัย ไฟส่องสว่างความข้มข้นสูง และกล้องบันทึกภาพความละเอียด 4K
.
ซึ่งผู้โดยสารที่มีการเปิดเผยรายชื่อข้อมูลเท่าที่เราทราบตอนนี้คือมีลูกเรืออยู่ในเรือดำน้ำ Titan ทั้งหมด 5 คนด้วยกัน ได้แก่
.
🔹 ชาห์ซาดา ดาวูด (Shahzada Dawood)นักธุรกิจชาวปากีสถาน
🔹 สุเลมาน ดาวูด (Suleman Dawood) ลูกชายของชาห์ซาดา
🔹 ฮามิช ฮาร์ดิง (Hamish Harding) มหาเศรษฐีและนักสำรวจชาวอังกฤษวัย 59 ปี
🔹 พอล-เฮนรี นาร์โกเล็ต (Paul-Henri Nargeolet) นักสำรวจชาวฝรั่งเศสวัย 77 ปี
🔹 สต็อกตัน รัช (Stockton Rush) ผู้บริหารระดับสูงของ OceanGate
.
ข้อมูล ณ ตอนนี้คือเจ้าหน้าที่กําลังดําเนินการนำยานสำรวจควบคุมจากระยะไกล (ROV) ที่ชื่อว่า Victor 6000 จากสถาบันวิจัยสมุทรศาสตร์ของฝรั่งเศส ซึ่งสามารถเดินทางไปถึงระดับความลึก 6,000 เมตรมายังจุดค้นหา
.
โดย ROV จะเชื่อมต่อกับระบบค้นหาใต้น้ำ ซึ่งสามารถส่งข้อมูลได้แบบเรียลไทม์จากระบบโซนาร์และกล้องบันทึกภาพความละเอียดสูง
.
ซึ่งถ้าหากพบเรือไททันแล้ว หุ่นยนต์ Victor 6000 จะใช้ตะขอเกี่ยวเรือไททันร่วมที่เชื่อมมาจากเรือปั้นจั่น Horizon Arctic ที่ลอยอยู่บนผิวน้ำซึ่งมีเครนติดกับตัวเรือ แล้วดึงเรือไททันขึ้นมา
.
อย่างไรก็เศษซากปรักหักพังของไททานิคบนพื้นมหาสมุทรที่มีอยู่กระจัดกระจายมากมายอาจทำให้ต้องใช้เวลาในการแยกแยะว่าอะไรคือเศษซากเรือ คืออะไรไททัน
.
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าแม้ว่าจะพบไททันแล้ว แต่การดึงเรือขึ้นมาอาจทำได้ยากโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมันเข้าไปติดพันกับซากเรือที่มีอายุนับร้อยปี ซึ่งมีความอันตรายอย่างมากต่อการกู้ภัย
.
อลิสแตร์ เกร็ก ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมทางทะเลที่ University College London กล่าวว่า"การที่เรือดำน้ำลงไปที่ก้นทะเลและไม่สามารถกลับขึ้นมาได้ภายใต้แรงของตัวเอง ทำให้การช่วยเหลือนั้นเต็มไปด้วยข้อจำกัด
.
เพราะต่อให้เรือดําน้ํายังคงไม่บุบสลาย แต่หากอยู่เหนือไหล่ทวีปลงไป บนโลกใบนี้มีเรือดำน้ำน้อยลำมากที่สามารถดําน้ําได้ลึกขนาดนั้น และไม่ใช่นักประดาน้ำอย่างแน่นอน
.
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยืนยันแล้วว่าเรือดำน้ำและผู้เดินทางทั้งหมดได้เสียชีวิตไปพร้อมกับเรือที่แตกสลายภายใต้แรงดัน โดยเมื่อเวลา 2.00 น. ตามเวลาประเทศไทย หรือ 15.00 น. ตามเวลาในสหรัฐฯ พลเรือตรีจอห์น มอเกอร์ (John Mauger) หน่วยยามฝั่งสหรัฐแถลงว่า หลังจากผู้เชี่ยวชาญประเมินข้อมูลแล้ว ได้ข้อสรุปว่า ชิ้นส่วนที่พบเป็นชิ้นส่วนของเรือดำน้ำไททัน ซึ่งคาดว่าเกิดจากการระเบิด และผู้อยู่บนเรือทั้ง 5 คนเสียชีวิตแล้ว เช่นเดียวกับแถลงการณ์ของบริษัท OceanGate เจ้าของเรือก็ได้แสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
.

.
🔵 แรงดันใต้ทะเลมหาศาลขนาดไหนในจุดที่เรือไททานิกจม
.
ความรู้เพิ่มเติม : ในความลึกระดับที่เรือไททานิคจม มีแรงดันน้ำโดยรอบสูงถึง 380 - 400 บรรยากาศ กล่าวคือ เมื่อเราอยู่บนพื้นดินในระดับนำทะเล ความดันอากาศของเราจะอยู่ที่ 1 บรรยากาศ ที่ระดับลึกประมาณ 10 เมตร ความดันจะมีค่ามากถึง 2 บรรยากาศ และที่ระดับลึก 20 เมตร ความดันจะมีค่าประมาณ 3 บรรยากาศ แต่จุดที่ไททานิคจมที่ระดับความลึก 3,800 เมตร มีความดันสูงกว่าบนพื้นดิน 380 - 400 บรรยากาศ หรือเฉลี่ยที่ 160 ตันต่อตารางนิ้ว ซึ่งสามารถบีบอัดรถยนต์ทั้งคันให้แหลกเป็นจุลได้ในเสี้ยวินาที
.
ไม่ใช่แค่แรงดันน้ำที่เป็นสิ่งที่อันตราย อีกอย่างคือ กระแสน้ำลึก ซึ่งแม้ว่าปกติแล้วกระแสน้ำที่อยู่ใต้ทะเลจะไม่ได้รุนแรงเท่ากับบริเวณพื้นผิว แต่ก็มีปราฎการณ์หลายอย่างที่ทำให้วัตถุ หรือ ยานพาหนะใต้น้ำถูกพัดปลิวหายไปได้ หรือหลงทางได้ เช่น ปรากฎการณ์ที่เรียกว่า "การไหลเวียนของเทอร์โมฮาไลน์" ที่เกิดจากกระแสน้ำอุ่นและกระแสน้ำเย็น ซึ่งจะทำหน้าที่คล้ายสายพานพัดเอาน้ำทะเลไหลเวียนไปยังส่วนต่างๆ ของมหาสมุทรทั่วโลก แม้แต่ในทะเลลึกหลายกิโลเมตรก็ไม่เว้น ดังนั้นน้ำทะเลไม่ได้อยู่นิ่งๆ มันเคลื่อนไหวตลอดเวลา และมีโอกาสที่เรือดำน้ำจะโดนกระแสน้ำพัดออกจากเส้นทางได้อีกด้วย
.
ถ้าระดับความลึกที่ 3.8 กิโลเมตรมีแรงดันน้ำขนาดนี้ หากลงไปที่ระดับความลึก 11 กิโลเมตร ซึ่งคือจุดที่ลึกที่สุดของโลกในปัจจุบันที่มีการค้นพบอย่าง "ร่องลึกมาเรียน่า" แรงดันน้ำที่บีบอัดมาทุกทิศทุกทางที่ 1.2 ตันในทุกๆ พื้นที่ตารางเซนติเมตร เปรียบได้กับกับเครื่องบินโดยสารขนาดใหญ่มาทับบนตัวมดนั่นแหละ
.
🔵 แล้วทำไมเรือไททานิคถึงยังคงสภาพได้ไม่บุบสลายเพราะแรงดัน
.
อธิบายตามหลักฟิสิกส์คือ ต้องเข้าใจหลักการของแรงดันน้ำก่อน พื้นที่ 2 พื้นที่ที่มีความแตกต่างกันในเรื่องของมวลและปริมาณอากาศย่อมมีแรงกดดันที่กระทำต่อกันที่แตกต่างกัน เช่น ถ้าเราเอาเรือดำน้ำลงไปที่ความลึกมากๆ เกินกว่าที่เรือจะรับแรงดันน้ำนั้นไหว น้ำจะพยายามกระทำต่อตัวเรือโดยการบีบเข้ามาทุกทิศทุกทาง เพื่อแทรกตัวเข้ามายังที่ว่างซึ่งมีอากาศอยู่ภายใน เมื่อถึงคราวที่เรือแตกออกน้ำจะไหลเข้ามา ทำให้สมดุลภายในกับภายนอกมีมวลเท่ากัน ดังนั้นวัตถุกับน้ำที่ปราศจากอากาศจะมีมวลเท่ากัน
.
กรณีของซากเรือไททานิคที่จมอยู่แล้วไม่บุบสลายเป็นผุยผง เพราะตอนที่เรือจมน้ำได้ไหลเข้าไปทุกส่วนขอตัวเรือทั้งหมดโดยไม่มีที่ให้อากาศข้างอยู่ภายในแล้ว ดังนั้นซากเรือจึงคงสภาพเอาไว้แบบนั้นได้ เพราะช่องว่างทั้งหมดที่มีอากาศถูกแทนที่ด้วยด้วยน้ำ ความต่างศักย์ระหว่างภายในและภายนอกเรือจึงอยู่ในลักษณะที่มีแรงดันเท่ากัน เรือจึงไม่บุบสลายจากแรงดันใต้สมุทร
.
จากที่ผู้เชี่ยวชาญของต่างประเทศวิเคราะห์กายภาพของไททันต่อแรงดันน้ำอันมหาศาลที่ความลึก 3,300 เมตร ซึ่งเป็นจุดที่สัญญาณของเรือได้หายไป ก่อนถึงความลึกที่ไททานิคจมอยู่ที่ระดับ 3,800 เมตรนั้น การพบพบเศษซากของชิ้นส่วนที่คาดว่าเป็นชิ้นส่วนเรือดำน้ำนั้นทำให้สันนิฐานได้ว่า เรืออาจจะทนแรงดันน้ำอันมหาศาลที่กดทับลงบนตัวเรือไม่ไหว การพบเศษซากชิ้นส่วนเรือดำน้ำกระจายในพื้นที่ค้นหา คงแปลได้ว่าเรือดำน้ำเกิดการทำงานขัดข้อง และถูกแรงดันมหาศาลใต้ทะเล บดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยจนระเบิด ซึ่งผู้เชี่ยวชาญให้ความเห็นกับสื่อว่า เหตุการณ์นี้มันจะเกิดขึ้นรวดเร็วมาก เพียงเสี้ยววินาที เรือดำน้ำก็ถูกบดอัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยเหมือนเรากระทืบกระป๋องน้ำอัดลมแรงๆ โดยที่คนทั้ง 5 ในเรือดำน้ำอาจจะยังไม่ทันรู้ตัวด้วยซ้ำ เร็วกกว่าที่สมองจะรับรู้ถึงความเจ็บปวด พูดง่ายๆ คือ ตอนที่เรือระเบิดคนในเรืออาจไม่ทันเจ็บปวดด้วยซ้ำ
.
🔵 รู้หรือไม่ว่า GPS ทำงานใต้น้ำไม่ได้
.
ความรู้เพิ่มเติม หลายคนถามว่าทำไมไม่ติดระบบ GPS หรือตัวส่งสัญญาณวิทยุไว้ที่เรือดำน้ำ คำตอบคือติดไว้ก็ไร้ประโยชน์ เพราะ GPS และสัญญาณวิทยุไม่สามารถเดินทางผ่านน้ำได้ ดังนั้นเรือดำน้ำทุกขนาด ทุกชนิดบนโลกจะต้องใช้คลื่นเสียงในการส่งสัญญาณหรือที่เรียกว่าคลื่นโซนาร์ ใช้วิธีการส่งคลื่นความถี่เสียงออกไป เพราะเสียงวิ่งผ่านน้ำได้ดีกว่าอากาศถึง 4 เท่า และที่เรือซึ่งลอยอยู่บนผิวน้ำจะมีตัวรับส่งสัญญาณโซนาร์ หรือทุ่นในทะเลเพื่อไว้จับคลื่นเสียงที่ส่งมาจากแหล่งกำเนิด
.
แต่ๆ การใช้ระบบคลื่นเสียงนี่ก็มีข้อจำกัดคือ เมื่ออยู่ในบริเวณที่น้ำลึกมากๆ สัญญาณที่จับได้นั้นจะมีความเบาบาง อีกทั้งสัตว์จำพวกโลมาและวาฬก็ใช้คลื่นโซนาร์ในการสื่อสารกัน ทำให้บางครั้งการจับสัญญาณว่าเป็นคลื่นเสียงของเรือหรือของสัตว์ก็ต้องใช้เวลาในการแยกคลื่นเสียงนั้น และแม้ว่าจะตรวจจับได้แล้ว ระบุตำแหน่งได้แล้ว แต่การกู้เรือที่อยู่ระดับความลึกขนาดนั้นก็เป็นอีกเรื่องนึงที่ยากยิ่งกว่า
.
GPS จะทำงานได้ก็ต่อเมื่อเรืออยู่เหนือผิวน้ำเท่านั้น และในกรณีเรือระเบิดไปแล้ว การมี GPS หรือไม่ก็ไร้วามหมาย
.
🔵 ทำไมต้องเสี่ยงชีวิตเพื่อลงไปดูซากไททานิค
.
หลายคนถามว่า ไม่มีที่จะไปแล้วเหรอ จะหาเรื่องไปทำไม เอาจริงๆ แต่ละคนมีแรงบันดาลใจหรือแรงผลักดันในชีวิตที่ไม่เหมือนกัน สำหรับการศึกษาซากเรือไททานิคที่เรียกว่าเป็นตำนานของโลกนั้นมันเหมือนกับการที่มีคนถามเราว่าไปอยุธยาทำไม มีอะไรให้ดูนอกจากกองอิฐเก่าๆ วัด เจดีพังๆ ซึ่งจริงๆ มันคือหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่บ่งบอกถึงอารยธรรมของมนุษย์อย่างหนึ่งครับ เรือลำนี้ก็เหมือนโบราณสถานแห่งหนึ่งของโลก ที่ไม่ใช่แค่เรือที่จมอยู่ใต้ทะเลเฉยๆ เพราะเรื่องราวของมันก่อนจมถูกเก็บเป็นความทรงจำไว้มากมายที่นั่น และเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดหนังเรื่องไททานิคอย่างที่เรารู้จักกัน
.
อีกทั้งในทางระบบนิเวศวิทยาที่ได้จากการศึกษาเรือลำนี้ทำให้โลกได้องค์ความรู้เรื่องระบบนิเวศใต้ทะเลลึกที่สร้างปกคลุมเหนือซากเรือซึ่งเป็นสิ่งแปลกปลอมจากเบื้องบน นักวิทยาศาสตร์ได้ความรู้อะไรมากมายจากที่นี่ ทั้งการศึกษาเรื่องการกัดกร่อนของเรือจากแบคทีเรียที่กินซากเหล็กเป็นอาหาร การค้นพบสิ่งมีชีวิตแปลกๆ สายพันธุ์ใหม่ๆ ที่ใช้ซากเรือเป็นที่อยู่อาศัย ความรู้ทางสมุทรศาสตร์ และชีววิทยามากมาย รวมทั้งการเก็บกู้วัตถุมีค่าต่างๆ เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วขึ้นมาเพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็น มันคือขุมทรัพย์ทางปัญญาอย่างยิ่ง การที่ใครได้ไปเยือมมันเหมือนการเติบเต็มความทรงจำจากอดีต โดยเฉพาะการที่ได้เห็นจากในภาพยนต์แล้ววันหนึ่งมีโอกาสได้ไปเห็นกับตานี่แหละครับ
.
นึกถึงคนที่ปีนเขาเอเวอร์เรสครับ คนเหล่านี้รู้ว่าเสี่ยง และพร้อมเอาชีวิตไปทิ้งได้ทุกเมื่อ แต่พวกเขาพอใจและเต็มใจ หากจะต้องตายอยู่บนนั้น เพราะมันคือความฝันอันสูงสุดที่จะได้ไป บางคนมีชีวิตอยู่เพื่อทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการให้สำเร็จ แต่ให้มันไม่สำเร็จก็ถือว่าได้ทำแล้ว