ภาพ จาก FB พิริยะ จันทรมณี
เพียร เวชบุล : ตำนานแม่พระเมืองไทย
ข้อมูลจาก https://www.silpathai.net/
นักสังคมสงเคราะห์ผู้อุทิศตนในการช่วยเหลือผู้หญิง เด็ก โสเภณี จนได้รับการยกย่อง ทั้งจากคนไทยและต่างประเทศ
เป็นผู้ก่อตั้ง พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ ในพระราชูปถัมภ์ ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล เกิดเมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๔๑ ที่ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง
เป็นธิดาของนายตรงกิจ นางพันธ์ ฮุนตระกูล ครอบครัวมีฐานะดี เข้าเรียนหนังสือที่โรงเรียนเสาวภา กรุงเทพฯ
ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ต่อมาเข้าเรียนที่โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ จนแพทย์หญิง ดร.คุณเพียร เวชบุลจบชั้นมัธยมปีที่ ๖
เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ จากนั้นสมัครเป็นครูสอนที่โรงเรียนอัสสัมชัญคอนแวนต์ และโรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์อยู่ประมาณ ๒ ปี
แล้วเดินทางไปศึกษาภาษาฝรั่งเศสที่โรงเรียนเซนต์ปอลคอนแวนต์ เมืองไซ่ง่อน ประเทศเวียดนามเป็นเวลา ๑ ปี
ต่อมาได้เดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนลีเซบูมาเฟมองต์ ประเทศฝรั่งเศส จนจบชั้นมัธยมปีที่ ๘
แล้วจึงเข้าศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยปารีส จบแพทยศาสตรบัณฑิต เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗
และประกาศนียบัตรวิชาแพทย์ชั้นสูง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๙
ขณะศึกษาอยู่ที่ต่างประเทศนั้น แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล มีความอุตสาหะในการศึกษาเล่าเรียนอย่างยิ่ง
บางเวลาได้รับทุนการศึกษาจากสถาบันและบุคคลต่างๆ เช่นทุนสมเด็จพระนางเจ้า รำไพพรรณี พระบรมราชินี ทุนมหิดล
ทุนพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ บางเวลาทุนการศึกษาที่ได้รับหมด
ตามกำหนดเวลาและเงื่อนไข ท่านต้องทำงานหาเงินเป็นค่าใช้จ่าย และค่าเล่าเรียน
เมื่อสำเร็จการศึกษา แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล เดินทางกลับประเทศไทย เข้ารับราชการครั้งแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๐
ในตำแหน่งนายแพทย์โท กรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย ต่อมาอีก ๔ ปี ย้ายไปสังกัดแผนกกามโรค
กองแพทย์สังคม กระทรวงสาธารณสุข รับราชการเรื่อยมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๐๕
นอกจากรับราชการแล้ว แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล
ยังอุทิศทั้งกำลังกาย กำลังทรัพย์ ช่วยเหลือสตรีผู้ประสบปัญหาในชีวิตครอบครัว
เด็กที่มีปัญหาจากการสมรสของบิดามารดา รักษาผู้ป่วยกามโรค และช่วยเหลือหญิงโสเภณี
ประสบการณ์สำคัญในการทำงานมุ่งอุทิศตนช่วยเหลือสังคม เนื่องมาจาก
วันหนึ่งมีหญิงสาวมาจากครอบครัวผู้มีอันจะกินมาปรึกษาขอทำแท้งเพราะผิดหวังเรื่องความรัก
ท่านเห็นว่าการทำแท้งเป็นบาป ให้หญิงสาวคนนั้นกลับไปปรึกษาแม่
แต่หญิงสาวกลับถูกแม่ดุด่าเสียใจจนคิดสั้นดื่มยาพิษฆ่าตัวตาย
ท่านพยายามจะช่วยชีวิตเธอไว้แต่สุดความสามารถ
จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้ท่านอุทิศตนช่วยเหลือสตรีที่ประสบปัญหาในชีวิต
รับเลี้ยงดูเด็กที่เกิดนอกสมรส ให้ความรู้แก่สตรี โดยมีจุดมุ่งหมายว่า
“อบรมแม่คนเดียวเท่ากับอบรมคนทั้งบ้าน” สถานที่ทำการก่อตั้งครั้งแรก
อยู่ที่ย่านพลับพลาชัย ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๑ เรียกว่า มาตาภาวสถาน ต่อมาย้ายไปอยู่ที่เลขที่ ๑๘๗ ถนนสาทรใต้ เขตยานนาวา
พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร ประทานนามว่า พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ
ปัจจุบันสถานทำการของมูลนิธิตั้งอยู่ที่ เลขที่ ๓๑/๒ ซอยพหลโยธิน ๔๗ ถนนพหลโยธิน ลาดยาว จตุจักร
แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล ดำเนินกิจการพีระยานุเคราะห์ มูลนิธิในการให้ความอุปการะแก่สตรีที่ประสบปัญหาในชีวิตครอบครัว
รับเลี้ยงดูเด็กกำพร้า แรกทีเดียวท่านให้เด็กๆ เหล่านั้นใช้นามสกุลของท่าน คือ ฮุนตระกูล แต่ญาติของท่านขอให้ใช้นามสกุลอื่น
จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ให้ใช้นามสกุล เวชบุล
เด็กๆ เหล่านั้นมีแพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล เป็นมารดา พลโทปุ่น วงศ์วิเศษ เป็นบิดาตามกฎหมาย
และตัวท่านเองได้เปลี่ยนไปใช้นามสกุล เวชบุล ด้วย บุตรบุญธรรมของท่านมีประมาณ ๔,๐๐๐ คน
ส่วนมากจะประสบความสำเร็จในชีวิต เพราะท่านเลี้ยงดูเอาใจใส่บุตรบุญธรรมของท่านอย่างดียิ่ง
ไม่ให้มีปมด้อย โดยอาศัยหลักวิชาจิตวิทยา สังคมวิทยา
จากกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเช่นนี้ มูลนิธิจึงได้รับเงินอุดหนุนทั้งจากชาวไทยและต่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม ได้เกิดเหตุการณ์วิกฤตของมูลนิธิขึ้นครั้งหนึ่ง เนื่องจากในการดำเนินการคงต้องใช้เงินมาก
จึงเป็นหนี้ธนาคารออมสินกว่า ๓ ล้านบาท ใน พ.ศ. ๒๕๐๗ ธนาคารออมสินฟ้องให้ชดใช้หนี้สิน
เหตุการณ์ครั้งนั้นประชาชนทั้งชาวไทยและต่างประเทศร่วมใจกันบริจาคสมทบทุนรวมเงินได้ ๓ ล้าน ๔ แสนบาท
ไปใช้หนี้ธนาคารได้ เรียกการบริจาคเงินครั้งนั้นว่า “ประชาอุทิศ”
นอกจากการรับอุปการะเด็กและสตรีแล้ว แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล ยังมีชื่อเสียงในการรักษากามโรคด้วย
ประการสำคัญคือ มิได้รักษา โรคแก่บุรุษเท่านั้น ท่านให้ความสำคัญในการป้องกันโรคให้กับหญิงขายบริการทางเพศ
ความตั้งใจในการทำงานของท่านมีมาก บางคราวถึงกับปลอมตัว เข้าไปในสถานบริการเพื่อฉีดยาป้องกันและรักษาโรค
ให้แก่ผู้ป่วย ท่านเป็นผู้ก่อตั้งบ้านเกร็ดตระการ ของ กรมประชาสงเคราะห์
ซึ่งมีหน้าที่ดูแลสงเคราะห์หญิงขายบริการและเด็กเร่ร่อน
จากกิจกรรมอันเป็นประโยชน์แก่สังคมดังกล่าว สถาบันการศึกษาหลายแห่ง จึงส่งนักศึกษา
ไปศึกษาดูงานที่พีระยานุเคราะห์มูลนิธิ โดยศึกษาเรื่องการเลี้ยงดูเด็ก จิตวิทยาเด็ก
และยังมีนักทัศนาจร นักวิชาการ องค์กรของชาวต่างประเทศมาเยี่ยมชมกิจการของมูลนิธิอยู่เสมอ
ด้วยการอุทิศตนทำงานด้านสังคมสงเคราะห์อย่างจริงจังและต่อเนื่อง แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล
ได้รับการยกย่องให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ เช่น กรรมการสภาสงเคราะห์แห่งประเทศไทย กรรมการ สันนิบาตมูลนิธิแห่งประเทศไทย
กรรมการสมาคมสตรีนานาชาติ ฯลฯ ท่านได้รับยกย่องจากหน่วยงาน สถาบันต่างๆ
ทั้งในและต่างประเทศมากมาย เช่น ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า
เหรียญกาชาดสรรเสริญ ได้รับพระราชทานปริญญาสังคมวิทยาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
ประจำปีการศึกษา ๒๕๒๓ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์เลยิอองดอนเนอร์
(Commander Legion d’Honnour)
จากประเทศฝรั่งเศส ได้รับเหรียญทอง Woman of the World จากสมาคมสตรีนานาชาติ
ได้รับดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัย EWHA WOMAN UNIVERSITY ประเทศเกาหลี ได้รับรางวัล
Spirit of Achievment
จากมหาวิทยาลัยอัลเบิร์ตไอน์สไตน์แห่งเยนิวา เมืองนิวยอร์ก ฯลฯ ผลงาน ของท่านแพร่หลาย
จนบริษัทฮอลลีวู้ดขอนำชีวประวัติไปสร้างภาพยนตร์ นิตยสาร รีดเดอร์ ไดเจสต์
นำประวัติผลงานของท่านตีพิมพ์แพร่หลายไปทั่วโลก
แพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล ถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๗ รวมอายุ ๘๖ ปี
ปัจจุบันพีระยานุเคราะห์มูลนิธิยังดำเนินการสืบต่อเจตนารมณ์อุดมการณ์ของแพทย์หญิง ดร. คุณเพียร เวชบุล
โดยมีศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน เป็นประธาน และได้ร่วมงานกับสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน
พีระยา นาวิน มูลนิธิศาสตราจารย์ ดร. อุกฤษ มงคลนาวิน ขยายกิจการสถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน
จากครอบครัวที่มีรายได้น้อยไปยังต่างจังหวัด เช่น จังหวัดเลย จังหวัดลำปาง จังหวัดกาญจนบุรี
และยังจัดสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนด้วย เช่น โรงเรียนบ้านคลองชล ตำบลวังทอง อำเภอวังสมบูรณ์
จังหวัดสระแก้ว โรงเรียนโคกป่าจิก ตำบลปรือ อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ โรงเรียนบ้านสว่างใหม่
ตำบลนํ้าพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน โรงเรียนบ้านบูกาฮาแลแม ตำบลปะโค อำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี
นับเป็นการขยายขอบข่ายการดำเนินงานให้เป็นประโยชน์ในการช่วยเหลือสังคมให้กว้างขวางหลากหลายยิ่งขึ้น
ที่มา: จากหนังสือเรื่อง สตรีสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย
เรียบเรียงโดย:ธีระ แก้วประจันทร์