Custom Search

Jun 1, 2021

ยินดีกับนักเขียน 'รางวัลบทละครโทรทัศน์ดีเด่น' ก.วัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2562

คอลัมน์...  ชานชาลานักเขียน  โดย...  วรรณฤกษ์

29 มิถุนายน 2562

ขอแสดงความยินดีกับ ‘นักเขียน’ ผู้ได้รับ ‘รางวัลบทละครโทรทัศน์ดีเด่น’
ภายใต้โครงการ ประกวดบทภาพยนตร์และบทละครโทรทัศน์
ส่งเสริมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม และการท่องเที่ยว
โดย กระทรวงวัฒนธรรม นักเขียนที่คว้ารางวัล “การเขียนบทละครโทรทัศน์ดีเด่น”
มีจำนวน 10 คน 10 รางวัล รางวัลละ 200,000 บาท เรียงตามลำดับอักษรชื่อเรื่อง ดังนี้...
ลำดับที่ 1.กระยาทิพย์ ของ อุมาพร ภูชฎาภิรมย์
2.กลิ่นมาลา ของ ศุภสุตา ลลิตาธิติ
3.คุณพี่เจ้าขา...ดิฉันเป็นห่านมิใช่หงส์ ของ วิทิยา จันทร์พันธ์
4.ตราบธุลีดิน ของ ปฏิญญา ปุญญ์ศรัทธา
5.เพลงแผ่นดิน ของ อาทิตย์ ดุรนัยธร
6.มนต์รักหนองผักกะแยง ของ ชุติมณฑ์ ชินมตร เรเชล
7.ยิหวาดาตัง ของ มาธ์ณัชศวีร์ ลิมาภรณ์วณิชย์
8.ลมพ่ายรัก ของ ธนันดา สินภักดี
9.ศพรำสวด (Fairy Funeral) ของ วลัยลักษณ์ สมจินดา
10.Proud of You ของ มนต์ทิพย์ ลินน์ อัสโสรัตน์กุล


สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์


จากความฝันของมือสมัครเล่นสู่เส้นทางนักเขียนบทมืออาชีพ

“มนต์รักหนองผักกะแยง” ผลงานแรกจากผู้เข้าร่วมอบรมกับสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์


ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา กระทรวงวัฒนธรรมร่วมกับสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย และสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ จัดการอบรมฯหลักสูตร “การเขียนบทภาพยนตร์และบทละครโทรทัศน์” ซึ่งแบ่งออกเป็นประเภทบทภาพยนตร์ 30 คน และ ประเภทบทละครโทรทัศน์ 30 คน เมื่อสิ้นสุดการอบรม ทางคณะกรรมการของทั้งสองสมาคมฯคัดเลือกบทภาพยนตร์และบทละครโทรทัศน์อย่างละ 10 เรื่องเพื่อรับรางวัล

“มนต์รักหนองผักกะแยง ” สร้างสรรค์ทั้งบทประพันธ์และบทละครโทรทัศน์โดย “คุณปุ๊-ชุติมณฑ์ ชินมาตร เรเชล” เป็นหนึ่งในรางวัล “บทละครโทรทัศน์ดีเด่น” หลังจากได้รางวัลไม่นานบริษัทแอคอาร์ต เจเนเรชั่น ติดต่อซื้อเรื่องและมอบหน้าที่ให้คุณปุ๊เขียนบททั้งเรื่อง ถือว่าเป็นการทำงานกับมืออาชีพอย่างเต็มตัว !

เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นแนวทางให้ “นัก (อยาก) เขียนบท” ที่กำลังเริ่มต้น และมองหาเส้นทางมุ่งสู่การเป็นนักเขียนบทมืออาชีพ เรามา “เปิดใจ” คุยกับ “คุณปุ๊” ย้อนเวลากลับไปตั้งแต่วันแรกที่เข้าอบรมกับสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์จนถึงวันนี้ที่ความฝันกำลังจะเป็นละครจริงๆ ให้คนได้ดูกันในอีกไม่นาน...


Q ทราบข่าวการอบรมจากที่ไหนคะ ?

คุณปุ๊ - เฟซบุ๊กแฟนเพจสมาคมคนเขียนบทละครโทรทัศน์ค่ะ

Q ทำไมตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ?

คุณปุ๊ - อยากกระตุ้นตัวเองให้ทำงานออกมาเป็นชิ้นเป็นอันค่ะ

Q ตอนเข้าร่วม คาดหวังว่าจะมาไกลถึงขนาดนี้หรือเปล่า ?

คุณปุ๊ - ไม่เลยค่ะ เป้าหมายแรกคือขอให้ทำเสร็จ ส่งให้ทัน ในระดับที่เราพอใจ

Q เรื่อง “มนต์รักหนองผักกะแยง” ได้แรงบันดาลใจมาจากไหน ?

คุณปุ๊ - การได้กลับมาอยู่บ้าน อยากแบ่งปันประสบการณ์นี้ ความงามของชนบทไทยอีสานค่ะ

Q ตอนทราบข่าวว่าผ่านการคัดเลือกได้เข้าร่วมอบรมรู้สึกอย่างไร ?

คุณปุ๊ - เหมือนฝันไป ดีใจมาก ถ้ากระโดดตีลังกาสามตลบได้ทำไปแล้วค่ะ

Q ทราบมาว่าตอนนั้นอยู่ขอนแก่น และต้องเดินทางมาเข้าร่วมโครงการที่กรุงเทพ เล่าความทรหดในช่วงเวลานั้นให้ฟังหน่อยค่ะ ?

คุณปุ๊ - มันส์มาก นั่งรถทัวร์ตอนห้าทุ่มครึ่งคืนวันศุกร์จากขอนแก่นเพื่อให้มาถึงกรุงเทพตีห้าครึ่งหลายอาทิตย์ มาแปรงฟันล้างหน้าที่ห้องน้ำของสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน สะอาดมาก ขอบคุณแม่บ้านที่ดูแลห้องน้ำสถานีจตุจักร กราบแม่บ้าน

Q สิ่งที่ได้รับจากการอบรมกับสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์มีผลต่อการเขียนบทอย่างไรบ้าง ?

คุณปุ๊ – การอบรมช่วงแรกเป็นการเรียนทฤษฎีกับ “ครูอ้น (ฐา-นวดี สถิตยุทธการ)” และ “ครูกอล์ฟ (ดร. สรรัตน์ จิรบวรวิสุทธิ์)” สิ่งที่ได้เรียนช่วยให้คิดเป็น หาทางออกเวลาเจอปัญหาในการวางเรื่อง ครูอ้นและพี่กอล์ฟมีความชัดเจนในการให้ความรู้แต่ละหัวข้อ สอนเกินเวลาตลอด จนผู้อบรมและผู้เข้าอบรบเกือบจะไม่ได้กินข้าวเที่ยง เปิดโอกาสให้ถาม เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วม สอนการวางเรื่อง ชี้แนะแนวทางในการหาไอเดีย มีประโยชน์มากๆค่ะ และใช้งานได้จริงๆ

Q หลังจากอบรมแล้ว ต้องแบ่งกลุ่มเพื่อพัฒนาบท การอบรมในช่วงนั้นเป็นอย่างไร ?

คุณปุ๊ – จากที่อบรมรวม 30 คน เราจะถูกแบ่งกลุ่มเป็นกลุ่มย่อยมีเพื่อนๆในกลุ่มอีก 4 คน เน้นการให้คอมเม้นท์บทโดยตรง ปุ๊ได้อยู่กลุ่ม “พี่นัท - ณัฐิยา ศิรกรวิไล” ตอนรู้ว่าอยู่กลุ่มพี่นัททั้งตื่นเต้นและตื่นตัว พี่นัทคือครูสอนเขียนบทละครคนแรกเมื่อสิบกว่าปีก่อน เคยเรียนนานมากแล้ว แต่ไม่ได้เริ่มเขียนจริงจัง เรารู้ว่าพี่นัทเข้มข้น จริงจัง ประสบการณ์แน่นและมองบทเราทะลุแน่นอน

Q สิ่งที่ได้จากการลงมือทำจริง และได้ฟังความเห็นจากนักเขียนบทมืออาชีพคืออะไร ?

คุณปุ๊ - พอได้ลงมือทำเอง ได้เจอกับปัญหาที่เราไม่เคยเจอ ประสบการณ์ของนักเขียนมืออาชีพมองปัญหาที่เราเผชิญ สามารถให้คำแนะนำ ชี้ให้เห็นจุดด้อยจุดแข็งของเรื่องของเราที่เรามองไม่เห็น

Q ในการอบรมต้องเขียนบทหนึ่งตอนเพื่อส่งประกวดรู้สึกกดดันหรือเปล่า ?

คุณปุ๊ - กดดันค่ะ เพราะเราอยากทำมันให้ออกมาดี เราพยายามประมวลความรู้และคำแนะนำที่ได้จากการอบรมไปพัฒนาเรื่องให้มันเข้มข้น สนุก มีเสน่ห์ ซึ่งไม่ง่ายเลย

Q หลังจากส่งมาแล้วคาดหวังแค่ไหน ?

คุณปุ๊ - จากใจจริงๆเลยนะคะ ไม่ได้คาดหวังรางวัลเลย เพราะเราเห็นความสามารถคนอื่นๆที่ผ่านเข้ารอบมาแล้ว ทุกคนมีฝีมือ มีเรื่องที่น่าสนใจทั้งนั้น เราขอแค่ให้เรื่องเรามีการพัฒนาขึ้นมากกว่าเดิมก็ดีใจมากแล้วค่ะ

Q หลังจากชนะการประกวด เรื่องของเราไปถึง บ. แอคอาร์ตได้อย่างไรคะ ?

คุณปุ๊ – ถือว่าโชคดีมากที่ “พี่ยุ่น - ยิ่งยศ ปัญญา” หนึ่งในคณะกรรมการ มองเห็นศักยภาพของเรื่อง และช่วงนั้นพี่อ๊อฟ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง บ.แอคอาร์ค กำลังมองหาพล็อตแนวอีสาน เรื่องราวของท้องถิ่นพอดี พี่ยุ่นจึงแนะนำเรื่องนี้ให้พี่อ๊อฟค่ะ

Q รู้สึกอย่างไรตอนที่แอคอาร์ตติดต่อมา ?

คุณปุ๊ - หยิกแขนตัวเองไปแรงมาก เขียวช้ำ ใจเต้นแรงมาก ราวกับถูกรางวัลที่หนึ่งค่ะ

Q เมื่อได้มาทำงานจริงๆ กับทีมงานมืออาชีพ แตกต่างไปจากที่เราคิดไว้มากน้อยแค่ไหน ?

คุณปุ๊ - ด้วยความที่เรามีประสบการณ์น้อย เราเลยไม่ได้คาดหวังอะไร แต่ตั้งใจมาก พร้อมตั้งรับ พยายามเต็มที่ พร้อมที่จะรับฟังความเห็นและคำแนะนำของทุกคน ซึ่งช่วยให้การทำงานกับทีมราบรื่นมาก ทีมนี้ฝีมือดี ทำงานเต็มที่ และเปิดกว้าง ให้โอกาสทางความคิดกับเราค่อนข้างมาก

Q สิ่งที่ยากที่สุดเมื่อมาเป็นนักเขียนบทอาชีพ คืออะไร ?

คุณปุ๊ - คิดและทำงานที่ดีให้เสร็จ ตรงต่อเวลาตามที่ทีมงานต้องการ

Q นักเขียนใหม่มักกังวลว่าวงการนี้เข้ามาทำงานยาก เพราะมีรุ่นใหญ่อยู่มากแล้ว คุณปุ๊มีความคิดเห็นอย่างไร?

คุณปุ๊ - ไม่จริงเลยค่ะ ปุ๊เองก็ไม่ได้รู้จักกับพี่ยุ่นหรือบริษัทแอคอาร์ตเป็นการส่วนตัว ตัวเรื่อง ตัวงานที่เราส่งประกวด คือสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ ไม่เกี่ยวกับคอนเนกชั่นเลย ปุ๊มองว่าวงการนี้เข้ายากเพราะงานเขียนบทละครเป็นงานที่ยาก ท้าทาย ต้องมีความเข้าใจมนุษย์ และหาไอเดียใหม่มานำเสนอในระยะเวลาที่จำกัด คนเขียนบทต้องมีความอดทน สามารถสื่อสารกับทุกคน รู้จักประนีประนอม แก้ปัญหาเฉพาะหน้าและ creative ด้วย ทำให้หลายต่อหลายคนถอดใจตั้งแต่ยังไม่ทันได้เริ่มงานจริงจัง และที่สำคัญที่สุด สำคัญมากกว่าคอนเนกชั่น ก็คือ เราต้องมีงานเขียนให้เขาได้เห็น ถ้าเดินไปบอกเฉยๆว่าอยากเขียนบท เขาก็ไม่รู้ว่าเราจะทำได้จริงหรือเปล่า

Q สำหรับคนที่เป็น “นัก (อยาก) เขียนบท” ที่กำลังอ่านอยู่ หลายคนได้เข้าร่วมอบรม เข้าร่วมประกวดมาหลายงานแล้ว ยังไม่ได้ทำงานจริงๆสักที คุณปุ๊มีอะไรจะแนะนำหรือแลกเปลี่ยนบ้างคะ ?

คุณปุ๊ - อย่าเพิ่งท้อ อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ อย่าหยุดคิด อย่าหยุดเขียน ปัจจุบันมีโครงการที่สนับสนุนเปิดโอกาสให้นักเขียนที่มีฝีมือส่งผลงานเข้ามาประกวดเรื่อยๆ ทั้งของกระทรวงวัฒนธรรม ของสมาคมนักเขียนบทฯ และของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ มีมาเรื่อยๆ ถ้ามีโอกาสพยายามหาทางเข้าร่วมโครงการเหล่านี้ และตอนที่เขาให้ทำงานส่ง หรือทำการบ้านส่ง เราต้องตั้งใจทำ เพราะคนที่อ่านงานเรา..คือนักเขียนบทมืออาชีพทั้งนั้น..งานเราอาจจะสะดุดตาเขาสักวันก็ได้ ถ้าเราตั้งใจสักวันมันจะถึงเวลาของเราค่ะ .. อย่างปุ๊ก็เริ่มเรียนครั้งแรกสิบกว่าปีก่อน ก็เพิ่งจะได้ทำงานจริงตอนนี้ แต่ถ้าปุ๊ท้อ ถอดใจ ไม่ส่งงานมาร่วมโครงการ เราก็จะพลาดโอกาสไปเลย

Q วันที่ 14 พฤษภาคม นี้จะได้ดูมนต์รักหนองผักกะแยงกันแล้ว พูดถึงความฝันที่กลายเป็นความจริงหน่อยค่ะ

คุณปุ๊ - ละครเรื่องนี้สร้างมาด้วยความตั้งใจ ได้รับน้ำใจจากเพื่อนๆและพี่ๆที่คอยให้คำแนะนำ รวมไปถึงแรงงานแรงใจของทีมงานและนักแสดงทุกท่าน “กว่าจะเป็นละครเรื่องหนึ่ง ต้องได้แรงกาย แรงใจจากทุกฝ่ายรวมกันเป็นหนึ่งเดียว จึงจะได้งานที่มีจิตวิญญาณอยู่ในงานชิ้นนั้นๆ เพราะละครคือศิลปะร่วม” “พี่แดง-ธัญญา วชิรบรรจง” ได้กล่าวไว้ ฝากผลงานเรื่อง “มนต์รักหนองผักกะแยง” ด้วยนะคะ ดูละครแล้วอย่าลืมย้อนดูคนรอบๆข้าง คนในครอบครัว คนบ้านเดียวกันด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ


นับจากปี 2019 ที่ก่อตั้งสมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์ หนึ่งในพันธกิจของสมาคมฯ คือ การให้ความรู้และสร้างนักเขียนบทให้กับอุตสาหกรรมบันเทิง “มนต์รักหนองผักกะแยง” คือ ก้าวที่หนึ่ง และสมาคมฯ จะยังคงสร้างโอกาสให้กับ “นัก (อยาก) เขียนบท” ที่มีความสนใจ และมีความสามารถได้ทำความฝันให้เป็นความจริง .. ติดตามข่าวการอบรมครั้งต่อๆไปได้ที่ แฟนเพจ “สมาคมนักเขียนบทละครโทรทัศน์”

ความฝันของคุณอาจจะถูกนำไปผลิตเป็นละครเรื่องต่อไป....