“พี่ชายที่แสนดี”
05 กันยายน 2562
อัษฎางค์ ยมนาค เขียนเมื่อ 4 September 2019
“คราวหน้าคงต้องถามกรรมการให้ชัดๆว่าตกลงคนดีหรือคนชั่วกันแน่ที่จะได้ใบแดง”
“...เราช่วยกันเต็มที่แล้ว พี่เต๋อก็ช่วยตัวเองเต็มที่แล้ว
เขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่...กรรมการให้ใบแดงต้องออกจากสนาม...”
คือคำพูดของ“อากู๋” ได้กล่าวเอาไว้ตอนที่ “พี่เต๋อ” จากไป
............................................................................
ผมมีเพื่อนที่บ้านมีรั้วติดกันกับผม มีนามสกุลเดียวกับพี่เต๋อ คือนามสกุล ”พุทธินันทน์”
"พุทธินันทน์" เป็นนามสกุลพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
โดยผู้ที่ขอพระราชทานนามสกุลคือ เรือตรีจู ซึ่งเป็นคุณปู่ของพี่เต๋อ และมีคุณย่าชื่อ สังเขป
ส่วนคุณตาคุณยายของพี่เต๋อคือ พระยาวิเศษสงคราม (ช้อน จันทรสนธิ)
กับคุณหญิงวิเศษสงคราม (อำพัน จันทรสนธิ)
โดยคุณยายของพี่เต๋อเป็นหลานสาวแท้ๆ ของพระยานรรัตนรสชมานิต (ตรึก จินตยานนท์)
มหาดเล็กคนสนิทของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ที่ต่อมาเป็นที่รู้จักกันดีในตนาม หลวงปู่เจ้าคุณนรฯ
............................................................................
ช่วงที่พี่เต๋อเรียนเศรษฐศาสตร์อยู่ที่ธรรมศาสตร์ พี่เต๋อเล่นดนตรีควบคู่ไปด้วย
โดยมี ดนู ฮันตระกูลและจิรรรณ อังศวานนท์ เป็นเพื่อนร่วมวง โดยตั้งวงดนตรีชื่อวง Yellow Red
แต่สมาชิกของวงที่ยังเป็นนักศึกษาเข้าออกบ่อย จึงต้องเลิกวง
แล้วพี่เต๋อก็มาเป็นมือกลองร่วมเล่นกับสมชาย กฤษณะเศรณี
และอุกฤษฏ์ พลางกูร (พี่ชายของอิทธิ พลางกูร) กับวงที่มีชื่อว่า Dynamics
หลังจากนั้นพี่เต๋อก็ร่วมเล่นดนตรีกับเพื่อนจุฬาและธรรมศาสตร์กับวงที่มีชื่อว่า The Thanks
โดยพี่เต๋อเป็นมือคีย์บอร์ดและเป็นหนึ่งในร้องนำร่วมกับพี่จ๊อด กฤษณ์ โชคทิพย์พัฒนา
ที่ในเวลาต่อมาเป็นโปรดิวเซอร์มือทองของไมโครและแกรมมี่
The Thanks เป็นวงดนตรีฝีมือดี จึงมักได้รับการติดต่อให้เล่นเปิดวงให้
ดิ อิมพอสซิเบิ้ล ที่กำลังโด่งดังมากในเวลานั้น
............................................................................
แล้วพอในเวลาต่อมา เมื่อดิ อิมพอสซิเบิ้ล ได้รับการว่าจ้างให้ไปเล่นดนตรีที่ฮาวาย
พี่ต้อย เศรษฐา จึงเป็นคนเอ่ยปากชวนพี่เต๋อ
เข้าร่วมเป็นสมาชิกของดิ อิมพอสซิเบิ้ลในตำแหน่งคีย์บอร์ดและร้องนำคู่กับพี่ต้อย
ซึ่งในเวลานั้นพี่เต๋อเรียนจบปริญญาตรีพอดี และมีโครงการจะเรียนต่อปริญญาโท
แต่พี่เต๋อก็ตัดสินใจทิ้งโครงการเรียนต่อ
เพื่อไปเดินตามฝันกับอาชีพนักดนตรีในอเมริกา
หลังจากหมดสัญญา 1 ปีในฮาวาย ดิ อิมพอสซิเบิ้ล
ก็กลับมาเมืองไทยพร้อมกับชื่อเสียงที่ดังเป็นพลุ
แล้วดิ อิมพอสซิเบิ้ลได้เซ็นสัญญาใหม่ไปเล่นที่ประเทศในแถบสแกนดิเนเวียน
เริ่มต้นจากเดนมาร์ก ไปสวีเดน นอร์เวย์ และฟินแลนด์
แล้วเมื่อหมดสัญญาก็กลับมาเมืองไทย แล้วก็กลับไปเล่นที่ยุโรปอีก 2 ครั้ง
ก่อนที่จะไปเล่นที่ไทเป แล้วดิ อิมพอสซิเบิ้ลก็ยุบวง เมื่อปี 2520
............................................................................
หลังจากดิ อิมพอสซิเบิ้ลเลิกวงไป พี่เต๋อก็ชวนพี่วินัย พันธุรักษ์ตั้งวงดนตรีขึ้นใหม่
ชื่อว่า ดิ โอเรียนเทล ฟังค์ พร้อมสมาชิกหน้าใหม่ อย่างเช่น ไพฑูรย์ วาทยากร
ศรายุทธ สุปัญโญ เทวัญ ทรัพย์แสนยากร ยงยุทธ มีแสง ปราจีน ทรงเผ่า และอัสนี โชติกุล
ซึ่งสมาชิกของดิ โอเรียนเทล ในเวลาต่อมา ล้วนมีชื่อเสียง
และเป็นคนดนตรีเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ที่สร้างสรรค์ผลงานกระหึ่มเมืองไทย
และในเวลานั้นพี่เต๋อก็เริ่มสนใจที่จะทำงานเพลงอย่างจริงจัง
ในที่สุดจึงตัดสินใจไปเรียนเรื่องการบันทึกเสียงที่สวีเดนอยู่ 8 เดือน
เพื่อเตรียมตัวจะเปิดบริษัทผลิตงานเพลง
ตามด้วยการไปเรียนดนตรีเพิ่งเติมที่ญี่ปุ่น แล้วพอกลับมาเมืองไทย
ก็เปิดบริษัท R.A.P Production
ที่เป็นโปรดัคชั่นส์ เฮาส์ แห่งแรกของเมืองไทย
ที่รับจ้างทำเพลงโฆษณา รวมไปถึงเพลงประกอบภาพยนตร์
แล้วประสบการณ์งานจากบริษัทของพี่เต๋อ
ทำให้พี่เต๋อมีชื่อเสียงและประสบการณ์มากขึ้น
จนพี่เต๋อเริ่มคิดที่อยากจะปั้นนักร้อง นักดนตรี
และฝันอยากจะยกระดับอาชีพนักร้องและนักดนตรี ให้เป็นอาชีพที่มั่นคง
และเป็นที่ยอมรับของสังคม
............................................................................
ช่วงปี 2524-2525 พี่เต๋อก็เริ่มโปรเจ็คที่จะผลิตเพลงเพื่อการพาณิชย์
แล้วนำไปเสนอค่ายเพลงใหญ่ๆ หลายแห่ง
เช่น ออนป้า เมโทร อามีโก้ แต่ไม่มีใครสนใจเลย
จนโปรเจ็คนั้นต้องพับลง แต่พี่เต๋อก็ยังไม่ยอมหยุดฝัน
โดยการเดินหน้าหาพันธมิตร ที่จะมาร่วมสร้างมิติใหม่ของวงการเพลงด้วยกัน
จนในที่สุด ฟ้าก็ประทานโชคมาให้จนได้ เมื่อพี่เต๋อได้มีโอกาสไปออกรายการทีวีชื่อดังในขณะนั้น
ชื่อรายการ “ยิ้มใส่ไข่” ที่มีพี่เล็ก บุษบา ดาวเรือง รุ่นน้องที่ธรรมศาสตร์เป็นพิธีกร
แล้วพี่เล็ก ก็เป็นคนแนะนำให้พี่เต๋อไปพบกับอากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม
แล้วทั้ง 3 คน พี่เต๋อ พี่เล็ก และคุณไพบูลย์
ก็ร่วมมือกันเปิดบริษัท แกรมมี่ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด ขึ้นในที่สุด
............................................................................
รับไหว้ไม่ได้นะจับของอยู่...”
คือประโยคแรกที่เต๋อ พูดกับ พี่เบิร์ด– ธงไชยแมคอินไตย์
หลังจากที่พี่เบิร์ดยกมือไหว้ทักทายเขาขณะเข้าห้องน้ำ
ในงานประกวดร้องเพลงของสยามกลการ เมื่อปี พ.ศ. 2526
ก่อนที่พี่เต๋อจะเอ่ยประโยคที่เปลี่ยนชีวิตของพี่เบิร์ด ไปตลอดกาล
ว่า “อยากร้องเพลงไหม”
............................................................................
เจ เจตริน คืออีกคนที่เป็นดาวค้างฟ้าของเมืองไทย
ที่เคยมาออดิชั่นที่แกรมมี่แล้วไม่ผ่าน แต่พี่เต๋อเห็นแวว
จึงขอเป็นคนดูแลเจด้วยตัวเอง
จนมีเจที่หยัดยืนมาจนถึงทุกวันนี้
พี่เต๋อ ไม่ได้ทำงานกับรุ่นใหญ่เท่านั้น
รุ่นเด็กๆ พี่เต๋อก็จัดให้มานักต่อนักแล้ว
วันหนึ่งพี่เต๋อหันหลังมาหยุดยืนอยู่หลังจอ Monitor กองถ่าย หลังจากที่เขาเดินผ่านไปแล้ว
เมื่อเห็นสาวน้อยอายุสิบขวบต้นๆ คนหนึ่ง มารับบทนางเอก MV เหลวไหล ของมอส ปฏิภาณ
แล้วถามเธอว่า “ร้องเพลงเป็นไหมน่ะเราน่ะ”
และให้เธอร้องเพลงสด ๆ ตรงนั้น
และอีกหนึ่งสัปดาห์ เธอก็ได้รับโทรศัพท์ให้มาเป็นศิลปินแกรมมี่...
............................................................................
“สุดขอบ” คือคำที่ "นิค – วิเชียร ฤกษ์ไพศาล"
รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงาน มิวสิค โปรดักชั่น และโปรโมชั่น
บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)
หรือที่เรารู้จัก กันในชื่อ “พี่นิค genie records”
ได้กล่าวไว้ว่า เป็นคำที่ “เต๋อ มักจะพูด
“สุดขอบ” ของพี่เต๋อ หมายถึง การทำอะไร “ต้องทำให้ถึง”
หรือ “ไม่ต้องยั้ง” ซึ่งบ่งบอกบุคลิกลักษณะของเต๋อ เรวัต ได้เป็นอย่างดี
............................................................................
ได้เรียนรู้ถึงความเจ็บปวดได้เรียนรู้ถึงความเดียวดาย”
คือประโยคหนึ่งจากเพลง “เรียนรู้” ของ “ใหม่ เจริญปุระ”
ที่พี่นิ่มสีฟ้าแต่งไว้ แต่พี่เต๋อ จากไปก่อนที่จะ ได้ตรวจเพลงนี้
พี่นิ่มเล่าว่า ความรู้สึกเศร้าในหลากหลายบทเพลงที่เคยเขียนมา
“ยังไม่ได้ถึงครึ่งหนึ่งของวันที่พี่ไม่อยู่”
............................................................................
เราคนไทยคงเคยคิด หรือเคยพูดกันอยู่เสมอ
ว่าทำไมฟ้าชอบเอาคนดี คนที่เป็นที่รักของผู้คน
ให้จากเราไปเร็วเหลือเกิน เร็วกว่าปกติ
ทำไมคนดีถึงตายเร็ว แต่คนชั่วเดินลอยนวลเกลื่อนเมือง
“คราวหน้าคงต้องถามกรรมการให้ชัดๆ
ว่าตกลงคนดีหรือคนชั่วกันแน่ที่จะได้ใบแดง”
คือความรู้สึกของ“อากู๋– ไพบูลย์ดำรงชัยธรรม”
ต่อการจากไปของเพื่อนที่คลุกฝุ่น
จนสร้างอาณาจักรเพลงที่ยิ่งใหญ่มาด้วยกันต้องจากไปก่อนเวลาอันควร
“...เราช่วยกันเต็มที่แล้ว พี่เต๋อก็ช่วยตัวเองเต็มที่แล้ว
เขาไม่ได้ทำผิดอะไรเลย แต่...กรรมการให้ใบแดงต้องออกจากสนาม...”
คือคำพูดของ“อากู๋” ได้กล่าวเอาไว้ใน “พี่เต๋อ” จากไป
............................................................................
อัษฎางค์ ยมนาค
รวบรวม เรียบเรียง