Custom Search

Jun 11, 2020

รู้จัก "มะเร็งตับ" โรคใกล้ตัวพบได้บ่อย คร่าชีวิต "ตั้ว ศรัณยู" แนะวิธีป้องกัน

ที่มา https://www.thairath.co.th/news/local/1866013




พารู้จัก "มะเร็งตับ" โรคใกล้ตัวที่พบได้บ่อยในเพศชาย คร่าชีวิตนักแสดง-ผู้กำกับละครชื่อดัง "ตั้ว ศรัณยู" พร้อมแนะวิธีเช็กอาการป่วย และวิธีป้องกัน

นับเป็นการสูญเสียครั้งสำคัญของวงการบันเทิง สำหรับการจากไปของนักแสดง-ผู้กำกับละครชื่อดัง ตั้ว ศรัณยู วงษ์กระจ่าง ในวัย 59 ปี ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งตับระยะสุดท้าย หลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ในช่วงที่ผ่านมา

สำหรับ "มะเร็งตับ" ถือเป็นโรคใกล้ตัวและพบได้บ่อยมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ในเพศชาย และเป็นมะเร็งที่มีการเจริญเติบโตของโรคที่รวดเร็วมาก และมักเสียชีวิตภายในระยะไม่เกิน 3-6 เดือน หากตรวจพบในระยะสุดท้าย แต่หากรู้จักวิธีการดูแลตนเองและหมั่นสังเกตอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นตั้งแต่เนิ่นๆ อาจช่วยให้เราห่างไกลจากโรคมะเร็งตับได้

ทางด้าน พญ.ศศิพิมพ์ สัลละพันธ์ อายุรแพทย์โรคทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลเวชธานี ได้อธิบายถึงโรคมะเร็งตับว่า ตับ คือ อวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย ทำหน้าที่ในการจัดการกับสารอาหารที่ดูดซึมเข้าจากลำไส้ สร้างสารต่างๆ เช่น สารประกอบที่เกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน การแข็งตัวของเลือด และทำลายสารพิษที่รับประทานเข้าไป ซึ่งมะเร็งตับ จะเป็นการแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ตับทำให้เกิดเป็นก้อนมะเร็งขึ้นมา

โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญกระตุ้นให้เกิดมะเร็งตับ ได้แก่ โรคตับแข็งจากไวรัสตับอักเสบบี ซี เรื้อรัง จากแอลกอฮอล์ ยา สำหรับไวรัสตับอักเสบบี แม้คนที่ไม่เคยเป็นโรคตับแข็ง ก็สามารถทำให้เกิดมะเร็งได้เช่นกัน ส่วนคนที่เป็นโรคอ้วนลงพุงซึ่งเป็นโรคของสังคมเมืองในปัจจุบันมักจะมีโรคตับอักเสบจากตับคั่งไขมันซ่อนอยู่ด้วย ซึ่งโรคนี้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งตับได้

สำหรับประเภทของมะเร็งตับ หากเกิดกับตับโดยตรงในประเทศไทยจะมีพบมาก 2 ชนิด คือ มะเร็งชนิดเซลล์ตับ ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบได้ทั่วทุกภาค และมะเร็งชนิดเซลล์ท่อน้ำดี จะเป็นมะเร็งที่พบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แต่หากเป็นมะเร็งที่ลุกลามจากมะเร็งของอวัยวะอื่นมายังตับ เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งทวารหนัก นอกจากนั้น มะเร็งที่พบที่ตับอาจจะเป็นมะเร็งที่ลุกลามจากอวัยวะอื่นมายังตับได้เช่นกัน เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งปอด และมะเร็งทวารหนัก

ส่วนระยะของโรคมะเร็งตับ พญ.ศศิพิมพ์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีการแบ่งระยะโรคมะเร็งตับได้ 5 ระยะ ได้แก่
  • ระยะที่ 1 จะมีก้อนเนื้อมะเร็งขนาดเล็กเพียงก้อนเดียวไม่เกิน 2 เซนติเมตร ระยะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้
  • ระยะที่ 2 จะมีก้อนเนื้อมะเร็งเพียงก้อนเดียว หรือ มีก้อนเนื้อไม่เกิน 3 ก้อน ขนาดเล็กกว่า 3 เซนติเมตร ระยะนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้
  • ระยะที่ 3 จะมีก้อนเนื้อมะเร็งหลายก้อนขนาดโตกว่ามะเร็งระยะที่ 2
  • ระยะที่ 4 ก้อนเนื้อมะเร็งโตมาก หรือ ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียงตับ หรือ เข้าหลอดเลือดดำในท้อง หรือ ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ใกล้ตับ หรือ แพร่กระจายตามกระแสเลือดเข้าสู่ตับกลีบอื่นๆ รวมถึงลามไปสู่อวัยวะอื่นๆ
  • ระยะที่ 5 เป็นระยะที่ผู้ป่วยมีสุขภาพทรุดโทรมมาก นอนติดเตียงเป็นส่วนใหญ่ และ/หรือตับทำงานแย่มาก ไม่ว่าก้อนมะเร็งจะมีขนาดเท่าใด ระยะนี้แพทย์จะเลือกวิธีรักษาตามอาการให้ผู้ป่วยสบายขึ้น

ขณะที่ ผู้ป่วยมะเร็งตับส่วนใหญ่ที่เป็นระยะเริ่มแรกมักจะไม่มีอาการผิดปกติชัดเจน ส่วนอาการที่สามารถพบได้และเข้าข่ายน่าสงสัย เช่น ปวดจุกแน่นท้อง รับประทานอาหารแล้วอิ่มเร็ว เบื่ออาหาร น้ำหนักลด หากมีอาการตัว ตาเหลือง ท้องมานร่วมด้วย ส่วนใหญ่มักจะเป็นมากแล้ว สำหรับการวินิจฉัยนั้น แพทย์จะทำการตรวจเพิ่มเติมโดยการทำอัลตร้าซาวด์ (Ultrasound) เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) หรือการตรวจเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) ของช่องท้อง ร่วมกับการตรวจเลือด

อย่างไรก็ตาม มะเร็งตับยังมีวิธีรักษาให้หายขาดได้ เช่น การผ่าตัดเอาก้อนมะเร็งออก หากตับทำงานแย่มากสามารถรักษาโดยการผ่าตัดปลูกถ่ายตับ หรือแพทย์อาจจะเลือกใช้พลังงานความร้อนจากคลื่นความถี่วิทยุ (RFA) จี้เผาทำลายก้อนมะเร็ง การจะเลือกวิธีใดนั้นขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย

สำหรับวิธีป้องกัน ควรเริ่มจากดูแลตนเองให้ห่างไกลจากมะเร็งตับซึ่งทำได้ไม่ยาก อาทิ การงดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่ ใส่ใจเรื่องการรับประทานอาหารไม่เผลอไปกับของอ้วนๆ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อดูแลไม่ให้ตนเองมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน เลี่ยงอาหารแห้งที่เก่า และไม่สะอาด เช่น ถั่วลิสง, กระเทียม, พริกแห้ง, เต้าหู้ยี้ ที่อาจจะมีเชื้อราปนเปื้อน.
(ขอบคุณข้อมูล พญ.ศศิพิมพ์ สัลละพันธ์)