Custom Search

Dec 11, 2009

มะเร็งตับ รอให้มีอาการก็สายเสียแล้ว


นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ
รองผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

มติชน

วันที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2552



คนแล้วคนเล่าที่จากไปเพราะมะเร็งตับ
สร้างความหวาดผวาแก่ผู้ทราบข่าวเป็นระยะ
ที่จั่วหัวเรื่องแบบนี้ แค่อยากเน้นให้เห็นถึง
ความแตกต่างของโรคมะเร็งชนิดนี้กับมะเร็งอื่นๆ ว่า
มะเร็งตับ รอให้มีอาการก็สายเสียแล้ว

ซึ่งอันที่จริง มะเร็งอะไรๆ จะว่าไปแล้ว ถ้ารอให้มีอาการ
ก็มักสายเสียแล้วเป็นส่วนใหญ่ แต่อยากจะเน้นว่า
มะเร็งตับแค่มีอาการนิดหน่อย ก็สาย (กว่า) เสียแล้ว

ทำไมผู้คนส่วนใหญ่มักยอมรับและเข้าใจได้โดยง่ายว่า
ถ้าเป็นมะเร็งขึ้นที่ตับแล้ว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ตัวตับเอง
หรือมะเร็งจากอวัยวะอื่นลุกลามมาที่ตับก็ตาม
โอกาสจะเยียวยารักษาให้หายขาดได้นั้น นับว่ายากเอาการ

จนหลายคนพาลเข้าใจผิดคิดว่า ถ้าเป็นมะเร็งที่ตับ
ก็ไม่มีหนทางในการรักษา นั่นอาจสะท้อนให้เห็นว่า
คนส่วนใหญ่รับรู้ถึงความรุนแรงของโรคนี้เป็นอย่างดี


หลักใหญ่ใจความอยู่ตรงที่ผู้ป่วยโรคนี้ในบ้านเรา
ส่วนใหญ่มาพบแพทย์เมื่อมีอาการมากแล้ว
ทำให้มีเพียงผู้ป่วยแค่ 2 ใน 10 ราย
ที่สามารถให้การรักษาเพื่อหวังผลหายขาด


ในขณะที่อีก 8 รายที่เหลือ ทำได้แค่เพียงให้
การรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น
และมักเสียชีวิตภายในระยะเวลา 3-6 เดือน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เป็นมะเร็งของเซลล์ตับ


ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า
มะเร็งตับในที่นี้หมายถึง มะเร็งของเซลล์ตับเป็นหลัก
ทั้งนี้ เนื่องจากในอวัยวะของมนุษย์ที่เรียกว่า "ตับ" นั้น
ประกอบด้วยเซลล์ต่างๆ มากมาย
แต่ที่เป็นองค์ประกอบหลักมี 2 ชนิด
คือ เซลล์ตับและเซลล์ท่อน้ำดี
อาการและอาการแสดงของโรคมะเร็งเซลล์ตับ
และมะเร็งเซลล์ท่อน้ำดีนั้น มีความแตกต่างกันพอสมควร
บทความนี้ไม่นับรวมเอามะเร็งตับ
ที่กระจายมาจากอวัยวะอื่น
ที่มีอีกมากมายหลายชนิด


ก่อนอื่นมาทำความรู้จัก "ตับ" ของเราให้ดีขึ้น
ในรูปแบบที่ง่ายต่อความเข้าใจของคนทั่วไป

ลองนึกภาพชุมชนแห่งหนึ่งที่อยู่ได้ด้วย
การพึ่งพาผลผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในชุมชนนั้น
โรงงานที่ว่าทำการผลิตทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นปัจจัย 4
รวมทั้งสารพัดผลิตภัณฑ์ที่จำเป็น
ในการดำรงชีวิตของคนในชุมชนนั้น

เมื่อผลิตเสร็จนอกจากจะส่งออกไปสู่ร้านรวงต่างๆ ในชุมชน
ยังต้องมีโกดังในโรงงานของตัวเองเป็นที่
เก็บสต๊อคสินค้าขนาดใหญ่ที่สุดในชุมชนนั้นอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นในโรงงานแห่งนี้มีระบบกำจัดขยะ
และของเสียที่ใหญ่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในชุมชนนั้นเช่นกัน
นอกจากต้องทำการกำจัดของเสียของโรงงานของตัวเองแล้ว
ยังต้องรับหน้าที่เทศบาลกำจัดของเสีย
ให้ทุกครัวเรือนในชุมชนนั้นอีกด้วย


ชุมชนที่ว่าก็คือ ร่างกายของเรา
ส่วนโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ว่า ก็คือ "ตับ" ในตัวเรานั่นเอง

สรุปรวมความได้ว่าโรงงานนี้มีหน้าที่หลัก 3 อย่าง
คือ "ผลิต" "จัดเก็บ" และ "ทำลาย"

เอาง่ายๆ แค่นี้ เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ
แต่จริงๆ แล้วหน้าที่อื่นๆ ยังมีอีกมาก

แล้วถ้าโรงงานที่ว่านี้มีปัญหา
ลองจินตนาการดูว่าชุมชนแห่งนี้จะเป็นอย่างไร

อย่างที่บอกว่า โรงงานนี้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพสูง
เครื่องจักรกลในโรงงานจะชำรุดเสียหายบ้าง
ในโรงงานก็แก้ไขกันไป ชุมชนภายนอกไม่รู้สึก
หรือรับรู้ถึงความผิดปกติต่างๆ ภายในโรงงาน

กิจวัตรทุกอย่างในชุมชนยังดำเนินไปตามปกติ

ต่อเมื่อความเสียหายทวีความรุนแรงมากขึ้น
ชุมชนหรือร่างกายของเราจึงเริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติ

ในกรณีที่ความเสียหายนั้นคือมะเร็งของเซลล์ตับ
ซึ่งเป็นมะเร็งตับที่พบบ่อยที่สุดในบ้านเรา
ในระยะที่ก้อนมะเร็งยังมีขนาดเล็ก
ร่างกายแทบไม่รับรู้ถึงอาการผิดปกติ
มีน้อยรายที่จะแสดงอาการ

ส่วนใหญ่จะเริ่มแสดงอาการ
ก็ต่อเมื่อก้อนมีขนาดใหญ่หรือเซลล์มะเร็ง
มีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ
จนรบกวนการทำงานของเซลล์ตับปกติ
ที่มีปริมาณลดลงโดยลำดับ

เรียกว่ามะเร็งกินไปกว่าครึ่ง
หรือเกินครึ่งของตับ อาการจึงปรากฏ

อาการยอดนิยมของมะเร็งเซลล์ตับชนิดนี้ ได้แก่
เบื่ออาหาร น้ำหนักลด ปวดหรือแน่ท้องใต้ชายโครงขวา
หรือแน่นทั่วๆ ท้องกรณีมีภาวะท้องมานร่วมด้วย

การเกิดมะเร็งตับชนิดนี้ พูดให้เข้าใจง่ายๆ แบ่งเป็น 2 แบบ
แบบแรกจากการกลายของเซลล์ตับปกติ
และแบบที่สองเกิดจากการกลายของเซลล์ตับที่อักเสบเรื้อรัง
มีกระบวนการอักเสบของเซลล์ซ้ำๆ บ่อยๆ เช่น
จากเชื้อไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดบีหรือชนิดซี
จากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
เซลล์ตับทั้ง 2 แบบ วันร้ายคืนร้ายก็มีการแบ่งตัวผิดปกติ
กลายเป็นมะเร็ง พวกเป็นแบบแรก
ไม่ค่อยสร้างความยุ่งยากในการรักษาเท่ากับแบบหลัง
เนื่องจากเนื้อตับส่วนที่เหลือยังเป็นปกติ


ในขณะที่พวกแบบหลังมักมีปัญหาอื่นร่วมด้วย
ทั้งจากระบบอื่นๆ ของร่างกายที่ทำงานข้อง
เกี่ยวกับตับต้องด้อยประสิทธิภาพลงและ
จากคุณภาพการทำงานของเซลล์ตับที่เหลือ
ที่เสื่อมถอยลงเช่นกัน นับเป็นเรื่องน่าเศร้า
ที่คนไข้มะเร็งเซลล์ตับส่วนใหญ่ในบ้านเรา
มักเป็นแบบที่สอง ทำให้โอกาสในการรักษาให้หายขาดน้อยกว่าแบบแรก
ยิ่งถ้าพบแพทย์ตอนมีอาการแล้ว แทบทำอะไรไม่ได้เลย
ได้แต่รักษาแบบประคับประคองไปเท่านั้น


แล้วเราจะปฏิบัติตัวอย่างไร ให้ห่างไกลจากโรคนี้

คำตอบง่ายๆ อยู่ตรงนี้


คือต้อง "รู้เขา รู้เรา"

ว่ากันที่ "รู้เขา" ก่อน

"เขา" ในที่นี้หมายถึง พวกเขาที่เราต้องอยู่ห่างๆ
เพราะพวกเขาชอบมาทำร้ายตับของเรา
และเป็นมะเร็งเซลล์ตับในที่สุด อันได้แก่


อาการที่มีการปนเปื้อนของสารพิษชนิดหนึ่งที่ชื่อ
อะฟลาทอกซิน (Afatoxin) ที่เกิดจากเชื้อราในสารพัดอาหารแห้งทั้งหลาย
ภายใต้สภาพภูมิอากาศร้อนชื้นแบบบ้านเรา เช่น
ถั่ว พริกป่น พริกแห้ง หอมแดง และอื่นๆ อีกมาก

เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์


ไวรัสตับอักเสบเรื้อรังชนิดบีและชนิดซี
ที่เข้าสู่ร่างกายเราทางเพศสัมพันธ์และทางเลือด


ในส่วนของ "รู้เรา" ประการแรก ต้องรู้ว่าเราอยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อการ
เป็นมะเร็งเซลล์ตับมากกว่าชาวบ้านเค้าหรือไม่
กลุ่มเสี่ยงที่ว่านี้ได้แก่ กลุ่มที่เป็นพาหนะของโรคไวรัสตับอักเสบ
เรื้อรังชนิดบีและชนิดซี
บุคคลที่มีพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งเซลล์ตับ
ผู้ป่วยโรคตับแข็ง และพวกกลุ่มเสี่ยงที่ลืมไม่ได้เลย
คือบรรดานักดื่มตับเหล็กคอทองแดงทั้งหลาย

พวกกลุ่มเสี่ยงต้องเอาใจใส่ตัวเองให้มากเป็นพิเศษ

"รู้เรา" ประการต่อมา ต้องดูแลเอาใจใส่ตัวเรา รักษาสุขภาพ
จะใช้หลัก "3 อ." คือ อาหาร อากาศ ออกกำลังกาย
หรือ "5 ทำ" ของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ คือ
ออกกำลังกายเป็นนิจ ทำจิตแจ่มใส กินผักผลไม้
ตรวจร่างกายเป็นประจำ
ก็แล้วแต่ความชอบส่วนบุคคล

ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ประการสุดท้ายที่ว่า
ตรวจร่างกายเป็นประจำนี่แหละครับที่พวกเรามักละเลย
โดยคิดว่าทำเพียง 4 ข้อแรกก็เพียงพอแล้ว

คำว่าตรวจร่างกายเป็นประจำนั้น
ไม่ใช่เพียงแค่มาพบแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป
แต่ต้องเจาะลึกเรื่องการค้นหามะเร็งในระยะเริ่มต้น
ที่พบบ่อยในบ้านเราหรือในกรณีที่ท่านเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อมะเร็งนั้นๆ

ในกรณีของการค้นหามะเร็งเซลล์ตับนั้น
การตรวจเลือดดูการทำงานของตับเพียงอย่างเดียวไม่ได้
ช่วยในการค้นหามะเร็งตับในระยะเริ่มต้น


เช่นเดียวกับการตรวจเลือดหาระดับสารบ่งชี้มะเร็งตับที่เรียกว่า
อัลฟา-ฟีโตโปรตีน (Alpha-fetoprotein หรือ AFP)
เพิ่มอีกหนึ่งรายการ ถ้าเจ้าค่า AFP มีค่าปกติ
ก็ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่เป็นมะเร็งตับ ณ เวลานั้นอย่างแน่นอน
เพราะคุณอาจเป็น 3 ใน 10 รายที่เป็นมะเร็งตับชนิดนี้
โดยที่มีค่า AFP อยู่ในระดับปกติ


การตรวจวินิจฉัยเบื้องต้นทางรังสีวิทยาที่สามารถเห็นภาพตับ
ไม่ใช่การเอ็กซเรย์ทั่วไป แต่เป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียงความถี่สูง
หรืออัลตราซาวด์ ซึ่งคนไข้ไม่ต้องเจ็บตัวแต่ประการใด
แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ความละเอียดถี่ถ้วนของรังสีแพทย์ผู้ทำการตรวจ
(Operator dependent) มากพอสมควร


หรือในรายที่ไม่มีปัญหาเรื่องเศรษฐฐานะ
อาจพิจารณาทำการตรวจเอ็กซเรย์ MRI
เพื่อให้สบายใจมากยิ่งขึ้น
แต่อาจไม่สบายกระเป๋า เพราะมีค่าใช้จ่ายสูง


ความถี่ก็แล้วแต่ตกลงกับแพทย์ อยู่ในช่วงทุก 3-6 เดือนอย่างสม่ำเสมอ

ขอเน้นว่า อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ไม่ต้องรอให้มีอาการ

อย่าลืมนะท่านไม่มีทางตรวจค้นมะเร็งตับในระยะเริ่มต้นด้วยตัวท่านเองได้

อย่าละเลยหรือคิดว่า "ไม่จำเป็น"
"ยังไม่ว่าง" หรือ "ไม่มีเวลา" เป็นอันขาด

หลายท่านที่มีรถยนต์ใช้
นำรถแสนรักของท่านเข้าเช็คศูนย์ตามระยะเวลาที่กำหนด

แต่ไม่เคยใส่ใจนำพาตัวเองไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลเลย

ทั้งๆ ที่รู้ว่า สุขภาพของตนเองสำคัญกว่าสุขภาพรถ

รถยนต์เสียก็ซ่อม เปลี่ยนอะไหล่
หรือถ้าสภาพไม่ไหวแล้ว อย่างมากก็ซื้อคันใหม่

แต่ร่างกายคนเรา อวัยวะต่างๆ
ถ้าเสื่อมสภาพแล้ว ยากที่จะทำให้ฟิตเหมือนของเดิม

แล้วพอเป็นมะเร็งขึ้นมา ก็มักเป็นมาก
แล้วก็มักจะพูดประโยคซ้ำๆ เหมือนๆ กันว่า

"ในชีวิตไม่เคยเข้าโรงพยาบาลเลย
แข็งแรงดีมาตลอด พอเข้าที
ก็เป็นมากเลย ทำไมเป็นอย่างนี้"


ในฐานะแพทย์ก็ได้แต่รับฟัง
แต่จริงๆ แล้วอยากบอกว่า

ก็เพราะท่านไม่เคยเข้ามาตรวจสุขภาพของท่านเลยนั่นแหละ
ที่ทำให้ทุกอย่างเป็นแบบนี้

ก็เพราะท่านอาจจะมีร่างกายที่แข็งแรงอยู่แล้ว
ปฏิบัติตัวตาม 4 ข้อแรกเป็นประจำ
เมื่อเริ่มเป็นโรคร้ายก็เลยไม่แสดงอาการใด


ฝากไว้นะจำให้แม่น
"มะเร็งตับ รอให้มีอาการก็สายเสียแล้ว"


หน้า 9