การศึกษาเพื่อคุณค่าแห่งชีวิต = Living education / คุณหญิง กษมา วรวรรณ ณ อยุธยา
มติชน
วันที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2552
การยื่นใบลาออกจากราชการแบบ "สายฟ้าแลบ"
ของ
"คุณหญิงกษมา วรวรรณ ณ อยุธยา" เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.)
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทั้งที่ยังเหลืออายุราชการอีก 1 ปี
สร้างความฮือฮาไปทั่วแวดวงรั้วเสมา เสียงลือเสียงเล่า-อ้างเหตุผลกันไปต่างๆ นานา
แต่สำหรับคุณหญิงกษมาเองแล้วบอกสั้นๆ-
ประกาศเสียงดังให้ทุกคนฟังชัดๆ ว่า...
""คิดมาตั้งนานแล้วว่าจะลาออกตอนอายุ 60""
อดีต เลขาธิการ กพฐ. แบบหมาดๆ
เกิดเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม ปี 2492
เป็นลูกโทนของ
ศาสตราจารย์ นพ.กษาน จาติกวณิช อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
กับท่านผู้หญิง สุมาลี (ยุกตะเสวี) จาติกวณิช
ชื่อ "กษมา" นั้น ปู่ คือ พล.ต.ท.พระยาอธิกรณ์ประกาศ
อธิบดีกรมตำรวจเป็นผู้ตั้งให้ มีความหมายว่า "อดทน อดกลั้น"
ร่ำเรียนที่โรงเรียนอาชีวะศิลป์ ต่อด้วยวัฒนาวิทยาลัย
ก่อนเข้าเตรียมอุดมศึกษา อยู่ที่หลังได้เพียง 3-4 เดือน
หม่อมเอลิซาเบธ จักรพงษ์ ชายาใน
พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์
ก็ชักชวนให้คุณหญิงกษมาในวัย 15 ปี
ไปเรียนต่อที่ ไพรออร์"ส ฟีลด์ สกูล ประเทศอังกฤษ
เพื่อให้ไปเป็นเพื่อนคุยภาษาไทยกับ
ม.ร.ว.นริศรา จักรพงษ์ ซึ่งเป็นบุตรี
จากแดนผู้ดี คุณหญิงกษมาก็
ข้ามไปจบปริญญาตรีสาขา "โซเชียล รีเลชั่น"
ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา
กลับมารับราชการที่กระทรวงศึกษาธิการได้ราว 3 ปี
ก็ได้รับทุนจากคุรุสภาให้ไปเรียนต่อปริญญาโท-เอก
ด้านการศึกษาที่มหาวิทยาลัย เดิม
คุณหญิงกษมาผ่าน งานตำแหน่งต่างๆ
ในกระทรวงศึกษาธิการมาแล้วไม่น้อย
อย่างอธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียน
อธิบดีกรมวิชาการ อธิบดีกรมสามัญศึกษา ฯลฯ
ทั้งยังเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้เป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย
นับจากแรกรับราชการถึงตุลาคมปีนี้
คุณหญิงกษมาทุ่มเทกำลังกาย-กำลังใจ
ให้กับการศึกษามาแล้วถึง 38 ปี!!
คุณหญิงกษมาสมรสกับ ม.ร.ว.ชาญวุฒิ วรวรรณ
มีบุตรชายคนเดียว คือ ม.ล.วรุตม์ วรวรรณ อายุ 37 ปี
"แง่คิดจากการทำงานและชีวิตหลังลาออกของคุณหญิงกษมา
ผู้ได้ชื่อว่าเป็น "หญิงเก่ง-หญิงแกร่ง"
ของกระทรวงศึกษาธิการเป็นอย่างไร เชิญติดตาม.."
อยากเรียนครูตั้งแต่เด็ก?
ไม่ใช่ค่ะ จำได้ว่าตอนเด็กมี 2 วิชาที่ทำได้ดี
และชอบมากคือภูมิศาสตร์และชีววิทยา
สมัยเรียนที่อังกฤษชอบชีววิทยามาก
เพราะทุกอย่างเขาสอนให้ลงมือปฏิบัติหมดเลย
สิ่งหนึ่งที่จำได้จนถึงตอนนี้คือผ่าตัดตาวัว
สวยมากกก..กก เลยคิดอยากเรียนแพทย์
แต่เอาเข้าจริงคุณพ่อไม่อยากให้เรียน
บอกว่าชีวิตแพทย์ลำบากมาก
แต่รู้มั้ยว่าเมื่อมาทำงานกระทรวงก็เหนื่อยพอๆ กัน (หัวเราะ)
ตอนนั้นไม่คิดจะรับราชการหรือทำงานกระทรวงเลย
แต่พอจบกลับมาแล้วยังไม่มีงานทำ ดร.ยุพา อุดมศักดิ์
ที่ตอนนั้นทำงานกับคุณพ่อที่มหิดลก็บอกว่า
กระทรวงศึกษาธิการกำลังมีโครงการส่งเสริมการรู้หนังสือสำหรับผู้ใหญ่
ซึ่งไม่เกี่ยวกับที่ ตัวเองเรียนมาเลย
เขาอยากได้ผู้ประสานงาน เลยไปทำงานให้องค์กรเวิลด์ เอดูเคชั่น
ต่อมาก็ได้ทุนไปเรียนปริญญาโท-เอก
ด้านการศึกษาที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
พอกลับมาก็ทำงานยาว..อยู่มาตั้ง 38 ปี (ยิ้ม)
ชีวิตการทำงานในกระทรวงศึกษาธิการตอนนั้นเป็นอย่างไร?
เรียนจบแล้วก็กลับมารับราชการอยู่กองการศึกษา
ตอนนั้น ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ เป็นหัวหน้ากอง
เรียนรู้จากท่านเยอะมาก และเรียนจากท่านผู้ใหญ่อีกหลายท่าน
อย่าง ท่านสุนทร สุนันท์ชัย ท่านเกรียง กีรติกร
ท่านวัลลีย์ ปราสาททองโอสถ
ท่านเหล่านี้เป็นพี่เลี้ยงที่ดีมาก
ผู้ใหญ่อีกท่านที่ดิฉันนับถือคือ ท่านอาจารย์สมาน แสงมะลิ
ซึ่งท่านเป็นผู้ใหญ่ที่เก่งและเข้มงวด
จำได้ว่าทุกครั้งที่ไปพบท่านจะคิดเลยว่า
ถ้าท่านถามอย่างงี้เราจะตอบอย่างงี้
คิดเป็นร้อยคำถามเลย แต่พอนั่งลงปั๊บ
ท่านจะถามคำถามที่ร้อยเอ็ด (หัวเราะ)
เพราะฉะนั้นบรรยากาศแบบนี้ทำให้เราตื่นตัวตลอดเวลา
สมัยนั้นผู้ใหญ่ สอนงานเด็กด้วยความเมตตาและเอ็นดูอย่างมาก
คิดว่าถ้าวงราชการเราสามารถฟื้นฟูบรรยากาศ
ของความเป็นกัลยาณมิตรอย่างแท้ จริงกลับมาได้
ก็จะทำให้คนมีความสุขกับการเป็นข้าราชการ
เพราะมีความรู้สึกว่าอยู่ในครอบครัวที่ให้โอกาสเรา
พร้อมดูแลและพัฒนาเรา
ผู้ใหญ่สนับสนุนเด็กรุ่นใหม่มากๆ?
ใช่ค่ะ ตอนนั้นบรรยากาศการทำงานเป็นเชิงรุก
ท่านโกวิทเปิดโอกาสให้พวกเราคนรุ่นใหม่ได้
แสดงความคิดเห็นเวลาที่เราไปประชุมร่วมกับหน่วยงานต่างๆ
ซึ่งคนอื่นก็จะมองพวกเราด้วยสายตาประหลาดๆ
เพราะคิดว่าเราอายุไม่เท่าไหร่
แต่ทำไมพูดมาก คิดมาก (หัวเราะ)
หลายครั้งที่ผู้ใหญ่ในกระทรวงให้โจทย์มาอย่างที่
เรารู้สึกว่ายากจังเลย แต่เมื่อมองย้อนหลัง
โจทย์ที่ยากและท้าทายก็เป็นโอกาสของเราที่จะพัฒนาตัวเอง
จนในระยะหลังถ้า ต้องทำอะไรซ้ำซาก..เป็นส่วนหนึ่ง
ที่ทำให้รู้สึกว่าเราอยู่นานพอแล้ว
เพราะทุกเรื่องที่เข้ามาเป็นเรื่องเดิมๆ
ก็อยากออกมาทำอย่างอื่นซึ่งอาจทำให้
เรามีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตัวเอง
หลักสูตรการเรียนการสอนผู้ใหญ่เมื่อหลายสิบปีก่อนเป็นอย่างไร
กองการศึกษาผู้ใหญ่เป็นหน่วยงานแรกที่บอกว่า
หลักสูตรที่สอนผู้ใหญ่ต้องไม่มาจาก ส่วนกลาง
เพราะผู้ใหญ่มีความหลากหลาย
และถ้าจะให้ทุกคนเรียนเหมือนกันทั่วประเทศคงไม่มีใครอยากเรียน
หลักสูตรต้องพัฒนามาจากพื้นที่ ลงไปสำรวจสภาพปัญหา
เอาสภาพปัญหานั้นมาจัดเป็นการเรียนการสอน
อย่างที่ท่านโกวิทพูดเสมอว่าต้อง "ตัดเสื้อเฉพาะตัว"
เพราะฉะนั้นตอนนี้ถ้าศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน
ในระดับอำเภอ และศูนย์การเรียนรู้ชุมชน
ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของกลุ่มที่หลากหลาย ได้
แสดงว่าเราไม่สามารถดำเนินการตามอุดมการณ์ที่ตั้งไว้ครั้งก่อนนู้น
การลงพื้นที่เป็นเรื่องสำคัญมาจนถึงตอนนี้?
ค่ะ...ต้องลงพื้นที่ไปให้ความรู้ความเข้าใจ
และบางครั้งต้องเรียนรู้จากเขา
แต่ ละพื้นที่จะมีคนเก่ง อย่างสมัยก่อนทางภาคใต้จะมี
ดร.โมฮัมหมัด อับดุลกาเดร์ ซึ่งเป็นคนแรกๆ
ที่ส่งเสริมการเรียนการสอนภาษาไทยสำหรับชาวไทยมุสลิม
ด้วยการนำระบบ 2 ภาษามาใช้ ยุคนั้นเป็นยุคแห่งดอกไม้ร้อยดอกบาน
เวลาส่วนกลางลงไป
ส่วนภูมิภาคเขามีความคิดก็จะถกเถียง มีการลองกัน
ดิฉันเชื่อในเรื่อง การลงไปเห็นสภาพด้วยตาตนเอง
ดูว่าของจริงเป็นอย่างไร แน่นอนว่าบางครั้งต้องมีการปลูกผักชี
แต่เราก็รู้เพราะซักมากเข้าเขาก็ตอบไม่ได้
กรรมการสถานศึกษาบางคนที่มารอรับ
บางครั้งรู้เลยว่าถูกเกณฑ์มา แต่บางคนมาด้วยใจเลย..
เป็นตายยังไงต้องขอเจอ ต้องขอต่อว่าเราสักหน่อย
บางครั้งคำต่อว่าของเขามีประโยชน์มากกว่าคำหวานเสียอีก
เพราะเรารู้ว่าเขาเอาจริงเอาจัง เห็นแววตาเขา
เห็นความผูกพันที่เขามีต่อชุมชน ลูกหลาน
ถ้าเป็นผู้บริหารแล้วไม่รับ ทราบเรื่องราวก็จะตัดสินใจผิดพลาด
ไม่รู้ว่านโยบายที่ส่งไปก่อผลหรือก่อปัญหาอะไรบ้าง
และทำให้เห็นด้วยว่าคนของเราที่เราไว้ใจให้ดูแลในพื้นที่
เขามีความใกล้ชิดกับพื้นที่ไหม
เมื่อก่อนบางคนพาไปดูงานแล้วยังพาหลงทางอีก (หัวเราะ)
38 ปีที่รับราชการมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเยอะไหม?
เยอะมาก (เน้นเสียง)
และเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงนั้นด้วย
แต่อย่างหนึ่งที่คนมักบอกว่าไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงคือ
เรื่องการศึกษาที่ไม่ค่อยก้าวหน้า..
เป็นเรื่องที่คนต่อว่ากระทรวงศึกษาธิการมาก
หลังๆ เราพยายามกระตุ้นให้โรงเรียนสามารถจำแนกเด็กที่มีปัญหาการเรียนรู้ได้
โครงการเรียนฟรีหรือการมีทุนการศึกษา
ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้เด็กกลุ่ม
หนึ่งที่ขาดเรียนมากๆ ได้กลับมาเรียน
กระทรวงคงทำได้ในระดับหนึ่ง
แต่ทำโดยลำพังคงไม่ได้ ครอบครัว ชุมชน
ต้องช่วยอย่างมาก หน่วยงานอื่นๆ
ทั้งภาครัฐและเอกชนช่วยงานการศึกษาเยอะมาก
บางที่รับอุปการะโรงเรียนและช่วยเหลือโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง
โรงเรียนก็พัฒนาขึ้นทันหูทันตา
โรงเรียนมีความฝัน ถ้าใครช่วยเติมเชื้อไฟให้
เด็กก็มีกำลังใจ มีความสุขกับการเรียนมากขึ้น...
อย่างที่บอกว่าทุกฝ่ายต้องร่วมด้วยช่วยกัน
ทำไมถึงตัดสินใจลาออกจากราชการ
คิดมานานแล้วว่าจะออกตอนอายุ 60
เพราะมีความรู้สึกว่า สิ่งที่ทำขณะนี้..แน่นอนว่ายังมีปัญหา
และยังไม่ถึงเป้าหมาย แต่ในฐานะคนคนหนึ่งเราคงทำได้ประมาณนี้
อยู่ไปก็คงทำอะไรไม่ได้มากไปกว่านี้
เพราะอยู่มาตั้ง 38 ปี
น่าจะถึงเวลาให้คนอื่นที่อาจมีมุมมองที่ต่างไปได้ทำงานบ้าง
ดิฉันจะได้ไปทำอย่างอื่นบ้าง (ยิ้ม)
ตอนลาออกมีคนไปบอกญาติว่า
ดิฉันไม่รักชาติ ก็บอกกลับไป
"ตายละ..ทำงานมาเกือบ 40 ปี
มาหาว่าไม่รักชาติ
ทุกวินาทีทำงานเต็มที่ ไม่ได้นอนตีพุงนะ" (หัวเราะ)
ตั้งใจ ว่าจะเขียนหนังสือเด็ก ตอนนี้ก็ยังไม่ได้เขียน
ยังไม่มีโอกาสทำในสิ่งที่อยากทำ
คนอื่นก็เลยคิดว่าอยู่เฉยๆ
เลยมาชวนไปเป็นกรรมการที่นั่นที่นี่
ชวนให้ตั้งโรงเรียน
ตั้งวิทยาลัย ต้องบอกไป "อู๊ยยย..ไม่เอาแล้ว" (หัวเราะ)
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
ทรงนิพนธ์คำนิยมให้ตอนที่คุณหญิงลาออก?
เป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งที่
สมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงนิพนธ์คำนิยมให้ค่ะ
สมเด็จ พระเทพรัตนฯ มีพระเมตตาต่อพวกเราชาวกระทรวงศึกษาธิการมาก
ทรงรู้จักงานของพวกเราแต่ละคนดีมาก
พระองค์ทรงตักเตือนพวกเราหลายเรื่อง
ถ้าพวกเราทำผิดก็จะทรงเตือน
ยังให้คำแนะนำกับทีมของ กพฐ.ไหม
เป็น คนที่ทำงานเป็นทีม
เพราะฉะนั้นสิ่งหนึ่งที่ภูมิใจมากสุดคือเพื่อนร่วมงาน
ไม่เพียงแต่ กพฐ. แต่หลายหน่วยงานที่ได้อยู่
เรามีส่วนทำให้คนที่มีฝีมือและมีอุดมการณ์ได้ก้าวไปสู่จุดที่เขาควรอยู่
เพราะฉะนั้นคิดว่าคนที่เป็นผู้บริหาร..
ถ้าเราไม่สามารถให้คนดีมีฝีมือไปอยู่ ในที่เหมาะที่ควร
สิ่งที่เราทำไว้ในวันที่เราอยู่จะไม่มีประโยชน์เลย
ดิฉัน เป็นคนศูนย์หรือร้อย ถ้าทำคือทำ ไม่ทำก็ไม่ทำเลย
ระหว่างที่รับราชการก็เต็มร้อยไปแล้ว
เดินออกจากที่ไหนถือว่าจบ ไม่เกี่ยวกันแล้ว
ถือเป็นหน้าที่ของคนต่อไป
เคยได้ยินคนเขาว่าคนที่เกษียณอายุไปแล้วว่า
ทำไมยังไปวุ่นวายอีก ไม่ไปผุดไปเกิดเสียที
ดิฉันเลยไม่เอา..ไม่วุ่น เดี๋ยวเขาว่า (หัวเราะ)
ไม่ยุ่งเลย นอกจากใครจะแต่งงาน
ใครจะบวช อย่างงั้นค่อยว่ากัน (ยิ้ม)
ชีวิตหลังลาออก?
สิ่งหนึ่งที่ค้นพบและไม่เคยตระหนักมาก่อนคือศักยภาพของผู้สูงอายุ
ได้มาพบเพื่อนที่บางคนเกษียณไปก่อนแล้ว
ทุกคนแอ๊คทีฟเป็นบ้าเป็นหลังเลย (หัวเราะ)
กระตือรือร้นเป็นที่สุด และเวลานัดอะไรจะมาพร้อมกันเลย
พลังของผู้สูงอายุนี่ยิ่งใหญ่มาก มีพลังเหลือเฟือ
คิดว่ามีโลกกว้างข้างหน้าที่เราจะค้นพบ
และหวังว่าจะมีเวลาที่จะค้นพบ (ยิ้ม)
จะพิสูจน์ให้เห็นว่าเราจะไม่ยอมแก่
เราจะมีความสุขและร่วมกันทำประโยชน์ให้สังคม
ตอนนี้ก็รวมกลุ่มกันทำ บุญ เยี่ยมโรงเรียน
แต่ยังเป็นกลุ่มเฉพาะกิจอยู่ กำลังเล็งๆ
ว่าควรจะรวมตัวกันไปช่วยโรงเรียนให้เป็นเรื่องเป็นราว
และตอนนี้ก็เป็นประธานมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก
ได้เขียนหนังสือเด็กอย่างที่เคยคิดไว้หรือยัง
เคยเขียนเมื่อ 10 ปีที่แล้วเล่มหนึ่ง
คนอ่านบอกว่าเหมือนรายงานราชการ (หัวเราะ)
ตอนนั้นเขียนเรื่องเกี่ยวกับชีวิตเด็กนักเรียนที่ป่าละอู
และเมื่อไม่นานมานี้ก็ได้กลับไปป่าละอูอีกครั้ง
ไปดูความเปลี่ยนแปลง ไปถ่ายรูป ก็ว่าจะเขียนถึงอีกรอบ
จริงๆ แล้วมีความทรงจำดีๆ จากการลงพื้นที่เยอะมาก
แต่ถ้าเขียนก็ไม่รู้จะมีใครอ่านหรือเปล่า (หัวเราะ)
ไม่ได้ทำงานราชการแล้วรู้สึกว่างๆ หรือเปล่า
ไม่เลยค่ะ มีอะไรให้ทำเยอะเลย
ดิฉันแบ่งชีวิตเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือเลี้ยงหลาน (นภกร วรวรรณ)
ที่เพิ่งจะอายุ 4 เดือน ส่วนที่สองคืองานเพื่อสังคมซึ่งคือ
การเป็นกรรมการต่างๆ เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
ใครเชิญไปบรรยายอะไรที่ไม่เกี่ยวกับนโยบาย
ก็พยายามทำเท่าที่ทำได้ ส่วนที่สามคือตอนนี้รื้อบ้าน
และสร้างอพาร์ตเมนต์ที่ซอยต้นสน
มีร้านอาหารอยู่ตรงนั้นด้วย ดิฉันไม่ค่อยรู้เรื่องธุรกิจ
ตอนนี้ก็ได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะ
ทุกอย่างที่ทำสนุกหมด..ได้สังสรรค์กับเพื่อน มีเวลาให้ครอบครัว (ยิ้ม)
จะเครียดก็ "เอ๊ะ..ทำไมหลานไม่นอน ทำไมหลานไม่กินนม" (หัวเราะ)
หน้า 17