Custom Search

Dec 1, 2009

ช่างภาพ "พระราชกรณียกิจ ร.9" ที่สุดในชีวิต สมบูรณ์ เกตุผึ้ง


พนิดา สงวนเสรีวานิช
มติชน
วันที่ 02 ธันวาคม พ.ศ. 2552
พระอิริยาบทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประทับอยู่ท่ามกลางพสกนิกร ทรงค้อมพระวรกายลงรับดอกไม้/รับไหว้จากผู้เฒ่าผู้แก่ที่เดินทางไกลมาเข้าเฝ้าตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่าง เมื่อทราบว่าจะเสด็จพระราชดำเนิน เป็นสิ่งที่เจนตาเจนใจ และพบเห็นอยู่ทั่วไป



ยังมีพระอิริยาบทที่ทรงนั่งพิงล้อรถจี๊ปพระที่นั่ง-ทรงแผนที่อยู่บนสะพานไม้ มีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ รวมทั้งตำรวจ ทหาร นั่งพับเพียบเฝ้า ฯลฯ
พระบรมฉายาลักษณ์เหล่านี้ มีให้พบเห็นอยู่มากมาย
ด้วยทรงงานหนักตลอด 63 ปีที่ผ่านมา
ด้วยพระเมตตาที่ทรงมีแก่อาณาประชาราษฎรทุกคนในทุกพื้นที่
ไม่เว้นแม้จะอยู่ในถิ่นทุรกันดาร...
บุคคลกลุ่มหนึ่งที่ได้รับโอกาสเช่นนั้น เห็นภาพแทบจะทุกพระอิริยาบท
และได้ติดตามการเสด็จพระราชดำเนินไปทุกหัวระแหง คือ "ช่างภาพ" สื่อมวลชน


"สมบูรณ์ เกตุผึ้ง" เป็นหนึ่งในจำนวนช่างภาพ ที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดและเห็นภาพดังกล่าว
"ถือเป็นที่สุดในชีวิตที่ได้อยู่ใกล้พระองค์ท่าน ตื่นเต้นมาก สมัยก่อนช่างภาพที่ถ่ายรูปเจ้านายมีไม่กี่คน อย่างมาก 5-6 คน เราได้ใกล้ชิดมากกว่าประชาชนทั่วไป ภูมิใจมากกลับบ้านถึงกับนอนไม่หลับ"

สมบูรณ์ เกตุผึ้ง
อดีตหัวหน้าช่างภาพหนังสือพิมพ์สยามรัฐ
วันนี้ในวัย 62 ปี เล่าถึงความรู้สึกวันแรกๆ
เมื่อครั้งที่ได้ทำหน้าที่เป็นช่างภาพพระราชกรณียกิจ
"ตอนที่ได้ฉายพระรูปแรกๆ ทำตัวไม่ถูก เหงื่อแตกเต็มตัว
แล้วโดนตำรวจราชสำนักประจำ ดึงตัวออกเพราะเห็นเรา
เงอะๆ งะๆ แต่เราก็ใช้วิธีดื้อ ดึงได้ดึงไป
คือสมัยก่อนช่างภาพกับสันติบาลจะเป็นเหมือนไม้เบื่อไม้เมา
อย่างเมื่อครั้งที่พระองค์ท่านเสด็จฯ
งานปีใหม่ที่สวนอัมพร ในหลวงจะเสด็จเยี่ยมตามร้าน
สันติบาลจะคอยดึงคอยไล่ จนแทบจะตกน้ำตกท่า

สมบูรณ์ เกตุผึ้ง
บังเอิญว่าในหลวงทรงหันมาเห็น ทรงมีรับสั่งว่า "ไปไล่เขาทำไม ให้เขาถ่ายไปสิ"

สมบูรณ์ ย้อนเรื่องราวในชีวิตให้ฟัง ว่าไม่ได้เรียนด้านการถ่ายภาพมาโดยตรง

แต่จบมัธยม 6 จากสามเสนวิทยาลัย แล้วเกกมะเหรกเกเร พี่เขย (ถาวร โกจนาท)
ซึ่งเป็นช่างภาพ ประจำที่หนังสือพิมพ์บางกอกเวิล์ด
หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษหนึ่งในสองฉบับที่มีอยู่ในขณะนั้น
ชวนให้เข้าไปฝึกงานด้วย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2506

พอได้แต่งตัวโก้ สะพายกล้องโรลิเฟล็กซ์ไปเก็บภาพตามสถานที่ต่างๆ
ทำให้ติดใจในอาชีพ "ช่างภาพ" และค่อยๆ มุมานะ ฝึกปรือฝีมือตนเอง
จากช่างภาพเล็กๆ ไต่เต้าขึ้นเป็นหัวหน้าช่างภาพสายราชสำนัก
และบ่อยครั้งเป็นตัวแทนช่างภาพถ่ายภาพงานพระราชพิธี เช่น พระราชพิธีสวนสนาม

"ไม่เคยเข้าคอร์สเรียนการถ่ายภาพอย่างเป็นทางการ
นอกจากเข้าอบรมทฤษฎีการถ่ายภาพเฉพาะที่บริษัทกล้องเชิญมา

การจะเป็นช่างภาพสมัยก่อนต้องเริ่มตั้งแต่กวาดพื้นถูพื้น ซื้อกาแฟให้เพื่อนๆ พี่ๆ
กินจึงจะได้วิชา เพราะเขาไม่ให้วิชาง่ายๆ
ทำอย่างนี้อยู่นาน 3 เดือนจึงได้จับกล้อง"

ยุคนั้น-เมื่อกว่า 40 ปีก่อน กล้องที่ช่างภาพมืออาชีพใช้กันทั่วไปก็คือ
โรลิเฟล็กซ์ ฟิล์ม 120 ซึ่งแน่นอนว่าเป็นกล้องของบริษัท
เพราะฐานะช่างภาพนั้นยากที่จะสามารถเป็นเจ้าของกล้องถ่ายภาพด้วยตนเองได้

"ตอนนั้นเป็นช่างกล้องต้องถ่ายให้ได้ทุกอย่าง ตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ
ยังจำได้เมื่อตอนสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี
ผมต้องไปถ่ายรูปที่ท่าเรือคลองเตย พวกของเสือใบ 6 ศพที่ถูกยิง
เลือดแดงเต็มไปหมด กลับบ้านกินอะไรไม่ได้เลยเพราะภาพมันติดตา"

อดีตช่างภาพพระราชกรณียกิจ เล่าว่า ไม่เคยตั้งความฝันว่าจะมายึดอาชีพนี้

ผมไม่มีพ่อ มีแต่แม่ ฐานะยากจน มีพี่น้อง 10 คน ผมเป็นคนที่ 5 เป็นคนเดียวที่จับกล้อง
เมื่อแรกคิดเพียง อยากมีอาชีพ ไม่อยากเที่ยวเล่นแล้ว
แต่เมื่อถ่ายรูปได้แล้วมันฝังใจ
ไปงานถ่ายรูปเจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดินได้ใส่สูท เท่มาก

"งานแรกๆ ถ่ายรูปเจ้าฟ้าเล็กๆ ได้ฉายพระรูปสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินี พระองค์พระทัยดีมาก ไม่เคยเห็นทรงพิโรธใคร
เหมือนสมเด็จพระเทพรัตนฯ ทรงแย้มพระสรวลตลอด
วันประสูติที่วังศุโขทัย ผมเข้าไปในวังยังทรงให้ฉายพระรูปหมู่ด้วยเลย

ตอนได้ฉายพระรูปในหลวง ตอนนั้นยังทรงพระเยาว์อยู่เลย
เพราะเมื่อก่อนเวลาเปิดหนังรอบปฐมทัศน์ตามโรงหนัง อย่าง
โรงหนังเฉลิมไทย เฉลิมกรุง เฉลิมบุรี ก็จะทูลเชิญเสด็จฯ "

"ตอนหลังที่ได้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์มากที่สุด เป็นตอนในหลวงทรงเรือใบ
ระยะนั้นทุกวันศุกร์ต้องไปต่างจังหวัด ศุกร์นี้ไปหัวหิน
ศุกร์หน้าไปสัตหีบ อย่างไปหัวหิน
เราก็แค่ไปแจ้งชื่อกับทางสำนักพระราชวัง
แต่งตัวก็นุ่งขาสั้นได้ ไม่ต้องใส่สูท
ถึงเวลาท่านลงมาเราก็ลงเรือกรรมการถ่ายๆๆ
ตอนนั้นคุณแก้ว-คุณขวัญ ยังถือกล้องถ่ายหนังอยู่เลย"

อดีตช่างภาพสายราชสำนัก เล่าถึงกิจวัตรประจำวันระหว่าง
ที่ไปติดตามฉายพระรูปพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเรือใบ ว่า

"เช้าขึ้นมาเราก็จะรอ ท่านตื่นบรรทมก็จะเสด็จออกมาแล้วประมาณ 8 โมงกว่า
เพราะจะทรงลงเรือแข่งรอบเช้าตอนเก้าโมง
ฉะนั้นจะต้องลงมาทรงตรวจเช็คเรือด้วยพระองค์เอง
ทรงกางใบเรือ ดูหางเสือ แล้วจึงจะเข็นเรือลงทะเล
สมเด็จพระเทพรัตนฯ จะทรงเดินเล่นเก็บหอยอยู่ชายหาด
พวกเราไปแอบฉายพระรูป ท่านทรงโกรธ
ให้องครักษ์มาบอกว่าอย่าถ่าย เป็นเวลาส่วนพระองค์" (หัวเราะ)

"อยู่หัวหินสบาย อิ่มอร่อยทุกมื้อครับ แต่เมื่อแรกๆ ก็ไม่มีเลี้ยงหรอก
คือพอเที่ยงท่านทรงพักจากการทรงเรือใบ
ทรงเข้าฝั่งแล้วพวกเราช่างภาพก็จะเดินกันเป็นทิวแถวออกไปกินข้าวที่ตลาด
เป็นอย่างนี้ทุกวัน จนมีอยู่วันหนึ่งท่านสมุหองครักษ์วิ่งกระหืดกระหอบตามมา
ถามว่าไปไหนกัน พวกเราก็ตอบว่า ไปตลาดกินข้าว
ท่านสมุหองครักษ์ก็บอกว่า พระเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งไม่ให้ออกไป
โปรดเกล้าฯ ให้ทานที่นี่ คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเห็น
พวกเราเดินออกไปทั้งกลุ่ม
ตั้งแต่นั้นทุกมื้อได้อิ่มแปร้กับถ้วนหน้า"

"พอตกเย็นยังมีพระราชทานเลี้ยงร่วมโต๊ะเสวยด้วย
แต่ผมไม่ได้ร่วมโต๊ะเสวย
ให้คนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเข้าไปนั่ง ทรงเป็นกันเองมาก

...เวลาที่ท่านทรงได้รับถ้วยรางวัล โดยสมเด็จพระราชินีจะเป็นผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย
ท่านจะให้รินเบียร์ใส่ลงในถ้วยรางวัลแล้วพระราชทานให้ทุกคนดื่มคนละอึก (หัวเราะ)
รวมถึงช่างภาพทุกคนด้วย" อดีตช่างภาพสมบูรณ์ รำลึกอดีตอันเปี่ยมสุข

ถามถึงเหตุการณ์ประทับใจที่ได้ประสบในฐานะช่างภาพสายราชสำนัก สมบูรณ์ บอกว่า
"ได้มีโอกาสใกล้ชิดท่านมากที่สุด ก็ตอนทรงเรือใบ
ตามถ่ายรูปตลอดจนท่านเลิกทรงเรือใบ
ยังเคยได้รับพระราชทานพระราชานุญาตให้ฉายพระรูปร่วมกับพระองค์ท่านที่หัวหิน
โปรดเกล้าฯ ให้ช่างภาพส่วนพระองค์เป็นคนถ่ายให้
นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่พวกเราช่างภาพทุกคน.."

สมบูรณ์ บอกว่าเสียดายที่พระบรมฉายาลักษณ์
ขณะทรงเรือใบทั้งหมดอยู่ที่หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
เพราะหลังจากเกษียณแล้วสมบูรณ์ไม่ได้นำออกมาด้วย

"อีกครั้งหนึ่งเมื่อตอนที่ท่านเสด็จฯ ไปทรงตรวจโครงการส่วนพระองค์ที่เขื่อนนครนายก
เราไปดักรออยู่ก่อน สันติบาลไม่ทันได้กัน จึงมีโอกาสไปเฝ้าใกล้ๆ
ท่านทรงไม่ถือพระองค์ ไม่มีพิธีรีตองใดๆ
ตอนนั้นถือว่าได้ใกล้สุด เราถ่ายท่าน-ท่านก็ถ่ายเรา"
...เป็นโอกาสที่คนอื่นไม่ได้เหมือนเรา
ถึงแม้จะเป็นช่างภาพก็ตาม มีช่างภาพอีกเป็นร้อยเป็นพันคนที่ไม่มีโอกาสเหมือนเรา
เพราะการจะได้เข้าไปถึงอย่างนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย- -

63 ปีแห่งองค์ราชันที่ทรงงานอยู่ตลอดเวลาเพื่อความอยู่ดีมีสุข
ของพสกนิกรชาวไทย มิได้ประทับแต่ในใจราษฏรเท่านั้น
หากภาพแห่งพระราชกรณียกิจทั้งปวงยังประทับลงบนแผ่นภาพ
แสดงสืบทอดให้คนไทยรุ่นหลังได้เห็นถึง
ความรักความเมตตาที่ทรงมีต่อชนทุกหมู่เหล่าไม่เสื่อมคลาย
หน้า 20