Custom Search

Dec 17, 2009

"ศัพท์แสง"....ว่าด้วยสารพัดคำเรียก "สื่อ"



ผศ.สุรสิทธิ์ วิทยารัฐ
ที่ปรึกษาอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
มติชน
วันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2552





สารพัดสื่อ หรือคำเรียกสื่อ ที่รวบรวมมาไว้ในที่นี้
มาจากสภาพการณ์ในสังคมไทยเท่านั้น

เพื่อความเข้าใจและการเรียนรู้เกี่ยวกับ
“สื่อ” หรือ “มีเดีย” (Media) ที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้

ว่ามีความหลากหลายมากมายเพียงใด


- สื่อมีหลายบทบาท ขึ้นอยู่กับว่าจะนำไปใช้ประโยชน์ในทางใด
เป็นไปได้ทั้งทางเสื่อมและทางเจริญ
- คำเรียกสื่อบางคำ สะท้อนถึงที่มาของการเกิดขึ้น
คำเรียกสื่อบางคำสะท้อนถึงความเป็นคุณลักษณะของสื่อ
ในขณะที่คำเรียกสื่อบางคำ
สะท้อนถึงการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ของสื่อ

- คำเรียกสื่อหลายคำเป็นสากลที่ทั่วโลกก็รู้จัก
แต่คำเรียกสื่อบางคำมีเรียกใช้เฉพาะ
ในบริบทสังคมไทยเท่านั้น เช่นจาก
สถาณการณ์การเมือง และสังคม

- คำเรียกสื่อหลายคำมาจากการ
เปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีการสื่อสาร

(Communication Technology)
- แสดงสะท้อนให้เห็นว่า
“ความเป็นเจ้าของสื่อ” (Media Ownership)

ในสังคมไทย ยังไม่มีความสมดุล

- ความหมายของสื่อ แยกกันไม่ออกจากเหตุการณ์
สถานการณ์บ้านเมือง ทั้งในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม
แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงอยู่ด้วยกัน

1. สื่อมวลชน (Mass Media) หมายถึง สื่อที่มีความเป็นวิชาชีพ
เข้าถึงกว้างขวาง ใช้เทคโนโลยี มีบทบาทความรับผิดชอบต่อสังคม
มีจริยธรรมวิชาชีพ โดยที่ผู้ส่งสาร เป็นมืออาชีพ (Professional)
ต้องตระหนักในจรรยาบรรณวิชาชีพ (Ethic)
เนื้อหาสารเป็น “สาธารณะ” (Public) ส่งผลกระทบถึง
ผู้รับสารจำนวนมาก หลากหลายคุณลักษณะ เลือกรับสารได้เอง

2. สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Media) หมายถึง
สื่อที่อาศัยไฟฟ้าเป็นตัวนำ ได้แก่

วิทยุกระจายเสียง, วิทยุโทรทัศน์, ภาพยนตร์, เคเบิลทีวี, ทีวีดาวเทียม
ตำราบางเล่มเรียกสื่อชนิดว่า “สื่อร้อน” (Hot Media)

3. สื่อสิ่งพิมพ์ (Printed Media) หมายถึง
สื่อที่ผ่านกระบวนการพิมพ์ลงบนกระดาษ

ได้แก่ หนังสือพิมพ์, นิตยสาร, หนังสือเล่ม, และวารสาร
เป็นสื่อมวลชนที่มีความเก่าแก่ที่สุด
ตำราบางเล่มเรียกสื่อชนิดว่า “สื่อเย็น” (Cool Media)

4. สื่อดั้งเดิม (Traditional Media) หมายถึง สื่อมวลชนที่มีมาดั้งเดิม ได้แก่
สื่อสิ่งพิมพ์, สื่อวิทยุกระจายเสียง, สื่อโทรทัศน์ และ สื่อภาพยนตร์ เป็นต้น

5. สื่อเก่า หมายถึง สื่อที่มีมาแต่เดิม ในลักษณะเดียวกันกับสื่อดั้งเดิม

6. สื่อใหม่ (New Media) หมายถึง สื่อมวลชนที่เกิดขึ้นใหม่
เกิดจากการหลอมรวมเทคโนโลยีการสื่อสาร
ภายใต้พัฒนาการของภาษาระบบตัวเลข (Digital Language)
กล่าวคือ เทคโนโลยีการสื่อสาร3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. เทคโนโลยีด้านการพิมพ์ (Printing Technology),
2. เทคโนโลยีแพร่ภาพและกระจายเสียง (Broadcast Technology)
และ 3. เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคม และคอมพิวเตอร์
(Information and Communication Technology) เช่น
หนังสือพิมพ์ออนไลน์, โปรแกรม CHAT : MSN, ICQ, Perch, Skype,
รวมถึง เครือข่ายสังคม (Social Media Network)
(เช่น Hi5, Face book, Multiply, ทวิตเตอร์ (ไม่เกิน 140 ตัวอักษร),
แคมฟรอก (camfrog) เวบบอร์ด (Web Board), เว็บไซต์ (Website),
นักข่าวมือถือ “โมโจ” (Mobile Journalist), MMS, SMS (ไม่เกิน 70 ตัวอักษร),
E – Magazine, E – Book, Blog, นักข่าวพลเมือง (Citizen Reporter)

ปัจจัยเร่งให้เกิดสื่อใหม่ ได้แก่ ความแพร่หลายของอินเตอร์เน็ต,
การบรรจบหลอมรวมเทคโนโลยีสื่อ (Convergence),
การค้าเสรีขององค์การการค้าโลก (WTO : World Trade Organization)

7. สื่อกระแสหลัก (Mainstream Media) หมายถึง
สื่อมวลชนที่พิจารณาจากความเป็นเจ้าของสื่อนั้นๆ (Ownership)
อันมีเป้าหมายทางธุรกิจ เน้นผลกำไร เป็นองค์กรเชิงพาณิชย์ วัดความสำเร็จจากเรทติ้ง

8. สื่อทางเลือก (Alternative Media) หมายถึง
สื่อมวลชนที่เจ้าของสื่อมักเป็นภาคประชาสังคม (Civil Society),
เป้าหมายเพื่อสังคม ไม่เน้นหาผลกำไร บางชนิดเป็นองค์กรสื่อสาธารณะ

9. สื่อแท้ หมายถึง สื่อมวลชนที่ทำบทบาทหน้าที่สื่อครบถ้วน กล่าวคือ
เป็นทั้งกระจก และตะเกียงให้กับสังคม,
มีการยึดมั่นในอุดมการณ์และจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อ
ไม่จำเป็นว่าเป็นสื่อกระแสหลัก หรือสื่อทางเลือก
ก็เป็นสื่อแท้ได้ ส่วนใหญ่จะเรียกตัวเองว่าเป็นสื่อแท้

10. สื่อเทียม หมายถึง สื่อมวลชนที่ไม่ได้ทำหน้าที่สื่อครบ
เป้าหมายเพื่ออุดมการณ์ทางการเมือง เช่น รณรงค์ทางการเมือง (Political Media)
สื่อกระแสหลักหรือสื่อทางเลือกก็เป็นสื่อเทียมได้
แต่ส่วนใหญ่ไม่มีสื่อใดยอมรับว่าตัวเองเป็นสื่อเทียม
มักถูกวิจารณ์ประเด็นความไม่เป็นกลาง

11. สื่อผสม (Multimedia) หมายถึง
สื่อมวลชนที่ผสมผสานการนำเสนอทั้งภาพนิ่ง เสียง

และภาพเคลื่อนไหว เกิดจากวิวัฒนาการเทคโนโลยีสื่อ
ในการบรรจบกันของเทคโนโลยีสื่อ (Convergence)
ที่สื่อเดินเข้ามาพบกัน จนจะกลืนเป็นเนื้อเดียวกัน
ซับซ้อนคล้ายกับทฤษฎี “ไร้ระเบียบ” (Chaos Theory)

12. สื่อเฉพาะกิจ (Specialization Media) หมายถึง
สื่อที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์การใดเป็นเฉพาะ เช่น เพื่อการโฆษณา
ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ เพื่อการเผยแพร่โดยองค์กรภาคธุรกิจ
องค์กรภาคประชาชน หรือหน่วยงานของรัฐ

13. สื่อเชิงพาณิชย์ (Commercial Media) หมายถึง สื่อมวลชนที่ทำกำไร
มีรายได้หลักจากโฆษณา วัดความสำเร็จจากเรทติ้ง
มีทั้งระดับชาติ ระดับจังหวัด และระดับชุมชน

14. สื่อภาครัฐ (State Media) หมายถึง
สื่อมวลชนที่ดำเนินการโดยหน่วยงานรัฐ

เพื่อให้บริการข่าวสารต่อสังคม มักถูกวิจารณ์ประเด็นกระบอกเสียงของรัฐบาล

15. สื่อสาธารณะ (Public Media) หมายถึง
สื่อมวลชนเพื่อประโยชน์สาธารณะของสังคม

ไม่รับโฆษณาธุรกิจ เงินดำเนินการมาจากการสนับสนุนหรือบริจาค
เป้าหมายเพื่อการพัฒนาสังคม

16. สื่อชุมชน (Community Media) หมายถึง
สื่อที่มีหลักการดำเนินการ

โดยมีชุมชนเป็นเจ้าของ ดำเนินการโดยชุมชน เพื่อชุมชน

17. สื่อพื้นบ้าน (Folk Media) หมายถึง
สื่อที่ชาวบ้านในหมู่บ้านใช้ภายในหมู่บ้าน

อาจเป็นสื่อประเพณี สื่อกิจกรรม สื่อบุคคล
ซึ่งสะท้อนถึงภูมิปัญญาชาวบ้าน

18. สื่อท้องถิ่น (Local Media) หมายถึง
สื่อมวลชนที่มีอยู่และเป็นไปเพื่อคนในท้องถิ่น
อาจเป็นเพียงชุมชนเล็กๆ หรือระดับจังหวัดเดียว หรือหลายๆ จังหวัด
มีทั้งวิทยุ หนังสือพิมพ์ และเคเบิลทีวี

19. สื่อพลเมือง (Citizen Media) หมายถึง
สื่อที่ผู้ดำเนินการเป็นลักษณะอาสาสมัคร ไม่เน้นอย่างมืออาชีพ
มุ่งเป้าหมายเพื่อการมีส่วนร่วมในการสื่อสารของภาคประชาชน

20. สื่อเลือกข้าง (Take side Media) หมายถึง
สื่อเลือกข้างทางการเมืองชัดเจน
มีมานานในบริบทการเมืองต่างประเทศ เช่น

อเมริกา แต่ไม่เคยมาปรากฏชัดเจนในวงการสื่อไทย
ในปี 2547 เกิดวิกฤติ
ความขัดแย้งทางการเมืองและสังคมอย่างรุนแรง

สื่อมวลชนไทยได้เริ่มเลือกข้าง
สื่อถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า “สื่อไม่เป็นกลาง”

(มีอคติ) ข้อสังเกต สื่อเลือกประกาศอุดมการณ์การเมืองชัดเจน
ย่อมดีกว่าสื่อถูกบงการ (นอมินี)

21. สื่อออนไลน์ (Online Media) หมายถึง
สื่อที่เป็นสื่อทางเลือก

สื่อเสริมหรือสื่อใหม่ เข้าถึงได้ตลอดเวลา
โต้ตอบกับผู้รับสารได้ในทันที

จัดเก็บสารสนเทศไว้ได้โดยง่าย เช่น
เครือข่ายอินทราเน็ต (Intranet)

เอ็กทราเน็ต (Extranet)
บริการส่งข้อความสั้น (SMS)

บริการส่งข้อความสื่อผสม (MMS)
เน้นความสดใหม่ของข่าว,

เน้นข่าวเชิงลึก (ข่าวเชิงสืบสวน),
เน้นส่วนร่วมผู้อ่านผ่านกระดานข่าว (web board),
เน้นส่วนร่วมโดยสร้างพื้นที่ส่วนตัวหรือ Blog,
เปิดโอกาสให้บุคคลทั่วไปเข้ามามี
ส่วนร่วมในการรายงานข่าวเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์

22. สื่อดิจิตอล (Digital Media) หมายถึง
สื่อที่อาศัยระบบคอมพิวเตอร์เป็นช่องทางการสื่อสาร
คำว่า “ดิจิทัล” เป็นคำศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถาน
แต่เกิดขึ้นภายหลังจากคำว่า “ดิจิตอล”
ที่ใช้ในสื่อมวลชนอย่างแพร่หลายอยู่ก่อน
โดยบริษัทผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทำสื่อโฆษณาเผยแพร่ในสื่อ
จนคนไทยคุ้ยเคยมากกว่าคำว่า “ดิจิทัล”

23. สื่ออินเตอร์เน็ต (Internet Media) หมายถึง
สื่อที่อาศัยเครือข่ายคอมพิวเตอร์อินเตอร์เน็ตเป็นช่องทางการสื่อสาร
โดยเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายใยแมงมุม,
เชื่อมโยงกันได้โดยใช้การสื่อสารแบบใช้สายและไร้สาย,
เป็นทั้งสื่อบุคคล (Inter-personal Communication)
และสื่อสารมวลชน (Mass Communication),
ไร้พรมแดน, สื่อสารแบบสองทาง (Interactive)
และสื่อผสม (Multimedia)


24. สื่อเสมือนจริง (Virtual Media) หมายถึง
สื่อที่สัมผัสไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของความคิด,
จินตนาการ, แนวคิด สร้างขึ้นโดยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ให้รู้สึกว่าเป็นจริง

25. สื่อเครือข่าย (Network Media) หมายถึง
สื่อที่อาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ในลักษณะ
การเชื่อมต่อข้อมูลเป็นเครือข่ายเดียวกัน


26. สื่อชุมชนไซเบอร์ (Cyber Media) หมายถึง
สื่อที่อยู่บนระบบฐานข้อมูลของเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
เป็นโลกของชุมชนไซเบอร์ (Cyber Community)
ทำให้คนรู้จักกันได้โดยไม่จำเป็นต้องพบกัน

27. สื่อการเมือง (Political Media) หมายถึง
สื่อที่ถูกนำมาใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายทางการเมือง
ทั้งโดยนักการเมือง พรรคการเมือง กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ในสังคม

28. สื่อเหลือง หมายถึง สื่อมวลชนที่ดำเนินการโดย
พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ในปัจจบันมีกลุ่มประชาชนส่วนหนึ่งสนับสนุนเงินเพื่อดำเนินการ

29. สื่อแดง หมายถึง สื่อมวลชนที่ดำเนินการโดย
กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
เป้าหมายทางการเมือง


30. สื่อนอก (Board Media) หมายถึง สื่อมวลชนต่างประเทศ
ที่มีผู้สื่อข่าวในเมืองไทย หรือไม่ก็ตาม

31. สื่อเด็กและเยาวชน (Child Media) หมายถึง
สื่อมวลชนสร้างสรรค์ เป้าหมายพัฒนาเด็กและเยาวชน
ได้รับการสนับสนุนจากแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน
มีเครือข่ายครอบครัวและเฝ้าระวังสร้างสรรค์สื่อ
ร่วมสะท้อนปัญหาสื่อมวลชนที่มีผลต่อเด็กและเยาวชน

32. สื่อเพื่อการศึกษา (Educational Media) หมายถึง
สื่อที่นำมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์เพื่อการเรียนการสอนในแวดวงการศึกษา

33. สื่อประชาสัมพันธ์ (Media for Public Relations) หมายถึง
สื่อการประชาสัมพันธ์งาน โครงการ และกิจกรรม
ส่วนใหญ่ขอความร่วมมือ รวมถึงซื้อพื้นที่และเวลาในสื่อ
เพื่อเผยแพร่ข้อมูลประชาสัมพันธ์ในลักษณะ “Advertorial”

34. สื่อโฆษณา (Advertisement Media) หมายถึง
สื่อที่นำมาใช้เพื่อการโฆษณา
โดยต้องเสียเงินเพื่อซื้อพื้นที่และเวลาของสื่อ


35. สื่อรณรงค์ (Media for Campaign) หมายถึง
สื่อเพื่อการรณรงค์ โดยอาจใช้หลายๆ สื่อมา
ผสมผสานการทำหน้าที่ มุ่งที่การรณรงค์

36. สื่อบุคคล (Personal Media) หมายถึง
สื่อที่อาศัยบุคคลเป็นช่องทางนำพาสารไปสู่
กลุ่มเป้าหมายทางการสื่อสาร
มีประสิทธิภาพในการโน้มน้าวใจ

37. สื่อกิจกรรม หมายถึง สื่อที่อาศัยการจัดกิจกรรม (Activity)
เพื่อเป้าหมายในการเรียนรู้ สามารถสื่อความรู้สึกนึกคิด ความรู้ อารมณ์
และเรื่องราวข่าวสารไปสู่กลุ่มเป้าหมายได้ เช่น การจัดประชุม สัมมนา
ฝึกอบรม การแถลงข่าว การสาธิต การจัดริ้วขบวน
การจัดนิทรรศการ การจัดแข่งขันกีฬา การจัดแสดง
การจัดกิจกรรมทางการศึกษา
การจัดกิจกรรมเสริมอาชีพ การจัดกิจกรรมการกุศล เป็นต้น

38. สื่อละคร (Play Media) หมายถึง
สื่อที่ใช้ละครเป็นตัวนำสารเพื่อการเรียนรู้

เป็นงานศิลปะเพื่อการสื่อสาร

39. สื่อค่าย (Camping Media) หมายถึง
สื่อที่ใช้กิจกรรมการเข้าค่าย
เพื่อการจัดกิจกรรมแบบมีส่วนร่วมของผู้เข้าร่วม

40. สื่อใต้ดิน (Indy Media) หมายถึง
สื่อที่ดำเนินการโดยอิสระของกลุ่มเฉพาะ
มีแนวทางเป็นของตัวเอง ไม่ซ้ำกับสื่อกระแสหลัก
บางประเภทจัดเป็นสื่อทางเลือก