ภาพประกอบจาก www.newtv.co.th
ที่มา https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_3619614
พรรคอนาคตใหม่ / เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 21 ก.พ. ที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัยคำร้องกรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) ตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง (3) ประกอบมาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 กรณีพรรคอนาคตใหม่ กู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค จำนวน 191.2 ล้านบาท
โดยองค์คณะตุลาการฯ ระบุ ผู้ถูกร้องทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร โดยในสัญญาระบุว่า ได้รับเงินแล้วและได้รับดอกเบี้ย มีการทยอยชำระเงินและดอกเบี้ย พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้ร้องมีอำนาจรวบรวมข้อเท็จจริงตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยพรรคการเมือง กรณีผู้ร้องว่านายทะเบียนพรรคการเมือง อาศัยข้อเท็จจริงมาจากการสืบสวนก่อนส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งอาจไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและระเบียบกกต.
ศาลเห็นว่าเมื่อมีเหตุอันควรสงสัยไม่ว่าจะโดยทางใด ถ้ามีหลักฐานหรือมีมูลเพียงพอว่าอาจจะเป็นการไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กกต.มีหน้าที่ให้สืบสวน ไต่สวน หากไม่มีมูลให้สั่งยุติเรื่อง หากปรากฏหลักฐาน ให้ กกต.สั่งให้ดำเนินคดีโดยเร็ว แม้ผลปรากฏไม่มีมูลความผิด แต่ความเห็นของผู้ร้องเป็นอิสระไม่ขึ้นกับคณะกรรมการสืบสวนไต่สวน
ทั้งนี้ ผู้ร้องมีมติกรณีที่ถูกกล่าวหา ให้นายทะเบียนทำตามอำนาจหน้าที่ มีคำสั่งที่ 7/2562 ตั้งกรรมการรวบรวมข้อเท็จจริง กรณีกล่าวหานายธนาธร กู้ยืมเงินฝ่าฝืนกฎหมายหรือไม่ กรรมการดังกล่าว รวบรวมหลักฐานเสนอผู้ร้อง ก่อนมีเหตุให้ชื่อว่าผู้ถูกร้องมีความผิด ก่อนยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญ กระบวนการดำเนินคดี จึงชอบด้วยกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
กรณีคำร้องศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจยุบพรรคผู้ร้องนั้น ศาลเห็นว่ารัฐธรรมนูญบัญญัติให้คดีที่กฎหมายกำหนดให้อยู่ในเขตอำนาจของศาล ศาลจึงมีอำนาจพิจารณายุบพรรคผู้ร้องได้ ข้อโต้แย้งของผู้ถูกร้อง จึงฟังไม่ขึ้น
ทั้งนี้ ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง ต้องมีมาตรการควบคุมการบริหารเพื่อให้พรรคการเมืองเป็นสถาบันของประชาชน จึงต้องพิจารณาเรื่องที่มาของทรัพย์สินที่ใช้ในพรรคการเมืองว่ามีที่มาอย่างไร ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ กฎหมายจึงกำหนดไม่ให้พรรคการเมืองไปเกี่ยวข้องกับเงินบริจาคที่มิชอบ
กรณีพรรคการเมืองสามารถกู้ยืมเงินได้หรือไม่ เห็นว่า การดำเนินกิจกรรมต้องอาศัยเงินรายได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เงินส่วนใดที่นำมาทำกิจกรรม หากได้มาโดยมิชอบ ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด แม้ไม่ได้กำหนดให้กู้ยืมแต่ก็ไม่ได้รับรองให้ทำได้ เงินกู้ไม่ใช่รายได้แต่ก็เป็นรายรับ จึงต้องทำตามที่กฎหมายกำหนด การกู้ยืมเงินของพรรคการเมืองต้องสอดคล้องกับกฎหมายเท่านั้น
เมื่อพิจารณาตาม กฎหมายพรรคการเมือง บริจาค หมายความรวมถึงการให้ประโยชน์อื่นใดด้วย การให้ประโยชน์อื่นใดแก่พรรคการเมือง เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ การให้กู้ โดยไม่คิดไปตามปกติทางการค้า ย่อมถือว่าเป็นประโยชน์อื่นใดต่อพรรคการเมือง จึงต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ คำว่า บริจาคและประโยชน์อื่นใด เป็นความหมายเฉพาะในกฎหมาย เพื่อกำหนดให้พรรคการเมืองทำรายได้ให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นประชาธิปไตยในพรรค ให้พรรคไม่เป็นเครื่องมือของใคร
ข้อเท็จจริงของผู้ถูกร้องที่ยื่นต่อผู้ร้อง พบว่าผู้ถูกร้องมีรายได้กว่า 71 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายกว่า 72 ล้าน พบค่าใช้จ่ายสูงรายได้เพียงล้านบาท แต่กลับทำสัญญากู้ยืมเงิน 2 ฉบับถึง 192 ล้าน และทำดอกเบี้ยไม่เป็นไปตามปกติทางการค้า
การกู้ยืมเงินของผู้ถูกร้องเป็นการรับบริจาคเงินที่ได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ผู้ถูกร้องกระทำความผิด มาตรา 72 พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 ให้ยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี และห้ามมิให้กรรมการบริหารพรรคไปจดพรรคขึ้นใหม่ หรือมีส่วนร่วมตั้งพรรคใหม่ เป็นเวลา 10 ปี
ภาพประกอบจาก Amarin NEWS 34