CHANGE Live has changed
เรื่อง : สุทธิคุณ กองทอง
ภาพ : ชวกรณ์ สะอาดเอี่ยม
ที่มา http://www.changeintomag.com/index.php/live-has-changed/2050-3-10
มองอนาคต...เปลี่ยนชีวิต
อ.วีระศักดิ์ โควสุรัตน์
“คนเรายิ่งสูงมากเท่าไหร่ ต้องยิ่งทำตัวให้เล็ก”
เปิดเคล็ดลับชีวิตของ “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่เปิดบ้าน “บ้านปัณณ์” ชื่อลูกชาย เพื่อให้มุมมองชีวิตในการมองอนาคตของการเปลี่ยนชีวิต และสังคม พร้อมข้อคิดในการทำงาน “คนเรายิ่งสูงมากเท่าไหร่ ต้องยิ่งทำตัวให้เล็กลงมากเท่านั้น”
หนุ่มผู้มีประสบการณ์เบื้องหลังม่านการเมืองมายาวนานกว่าสองทศวรรษ "อาจารย์เอ" วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ปัจจุบันเป็นเลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ ประธานกรรมการคณะกรรมการส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) ประธานกรรมการองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) และเป็นกรรมการบอร์ดบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ กรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งที่ปรึกษาองค์กรต่าง ๆ มากมาย วันนี้มาเปิดบ้านย่านราชพฤกษ์ให้ CHANGE into พูดคุยถึงเรื่องราวชีวิต และมองอนาคตสังคมไทยที่กำลังจะเปลี่ยนชีวิตและสังคม
//ซื้อบ้านตามอธิบดีกรมที่ดิน
เดินทางมาถึงบ้านที่อบอวลไปด้วยความรักบนพื้นที่ 80 ตารางวา ที่ลงตัวกับครอบครัวสามคนพ่อแม่ลูก “สมัยก่อนผมอยู่คอนโดในเมือง พอจะออกจากบ้านแค่กดลูกบิดประตูก็เสร็จแล้วแต่มันไม่มีที่ให้เด็กวิ่งเล่นไง พอลูกยังอยู่ในท้องมีอายุได้ 6-7 เดือน ผมก็พยายามตระเวนหาบ้านรอบๆ ชานกรุงเทพฯ ว่ามีอะไรที่เราควรเปรียบเทียบบ้าง มาลงตัวที่บ้านหลังนี้ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯ เพราะฝั่งนี้ของกรุงเทพฯ เป็นทิศเดียวที่ขึ้นทางยกระดับเข้าออกเมืองโดยไม่ต้องเสียตังค์ (หัวเราะ) คือขับรถขึ้นทางยกระดับเข้ากรุงเทพฯได้เลย ผมทำงานเกี่ยวข้องกับกิจการราชการแค่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็เจอหน่อยงานรัฐเต็มเลย ไม่ว่าจะเป็นทำเนียบรัฐบาล รัฐสภา หรือจะไปศูนย์ราชการตรงแจ้งวัฒนะก็เดินทางไปง่ายจึงตัดสินใจเลือกที่จะมาอยู่บ้านหลังนี้
“ข้อดีที่ได้มาอยู่ถนนกาญจนาภิเษก เพราะนี่คือ A2 ที่วิ่งลงมาจากจีนจนไปถึงประเทศสิงคโปร์ ทำให้เรารู้
ได้ว่า ถนนเส้นนี้จะไม่มีการยกให้กับ กทม. หรือเทศบาลใด แต่จะเป็นถนนระหว่างประเทศ แล้วตรงนี้เป็นพื้นที่สีเขียวเป็นโซนที่อยู่อาศัย ถนนตรงนี้จะไม่ใช่ชานเมืองกรุงเทพฯแล้ว แต่จะเป็นจุดที่เชื่อมต่อกับทิศตะวันตก คือ เมียนมา แปลว่าจะไปถึงอินเดีย จีนลงมาก็จะต้องผ่านถนนเส้นนี้ ผมเข้าใจตรงนี้เพราะฟังจากการบอกเล่าของอธิบดีกรมที่ดิน (ท่านวิเชียร รัตนะพีระพงศ์)ในตอนนั้น เพราะท่านเป็นคุณพ่อของเพื่อน แล้วท่านจะเกษียณปีนั้น จึงถามท่านว่าหากคุณพ่อเกษียณจะไปอยู่ตรงไหน ท่านก็เลยเล่าเรื่องที่ผมพูดให้ฟังทั้งหมดข้างต้นว่าจะมาอยู่บนถนนกาญจนาภิเษก เพราะท่านรู้ว่าที่ดินที่จะซื้อบ้านจะต้องถูกกฎหมาย ถูกต้องตามหลักลมน้ำ พอท่านมาอยู่แถวนี้ผมเลยตัดสินใจซื้อตามท่าน (หัวเราะ)”
//มองอนาคต...เปลี่ยนชีวิต
“แล้วการซื้อบ้านอีกศาสตร์หนึ่งที่ท่านแนะนำคือ ฮวงจุ้ย เกี่ยวกับน้ำและลม ถนนก็เป็นอีกส่วนหนี่งเท่านั้น ท่านอธิบายว่า ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงเทพฯ เป็นทิศที่รับลมของกรุงเทพฯ ที่จะพัดลมทะเลเข้ามาจากหนองแขม แสมดำ ทำให้มีความชื้นเข้ามาด้วย แล้วยังเป็นลมตลอดทั้งปี พอหน้าหนาวประเทศไทยก็จะมีลมมาจากตะวันออกเฉียงเหนือเข้ามา ทำให้ผมเลือกหาหน้าบ้านหันไปรับลมที่ทิศตะวันออก ทำให้ห้องนอนสามารถเปิดหน้าต่างเพื่อรับลมหนาวได้ ข้อดีของบ้านหลังนี้จะหันหลังให้กับแดด พอตกเย็นทำให้หน้าบ้านจะมีร่มเงา ทำให้สมาชิกในบ้านเล่นกีฬาหน้าบ้านได้ ด้านห้องรับรองแขกก็สว่างได้โดยไม่มีแดดตลอดบ่าย
“น้ำประปาแถบนี้ใช้น้ำดิบจากแหล่งที่ไม่ใช่แม่น้ำเจ้าพระยาเหมือนคนในเมือง ที่มีน้ำทะเลเจือปน แต่ที่นี่ใช้น้ำประปาจากคลองมหาสวัสดิ์ ได้น้ำดิบมาจากแควน้อย ซึ่งคุณภาพน้ำดี ผมก็เห็นว่าดี ปัจจุบันมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ มีรถไฟฟ้า ประกอบกับถนนด้านหน้าของโครงการก็เป็นถนนกาญจนาภิเษก คือ วงแหวนรอบนอกของกรุงเทพ ฯ ออกต่างจังหวัดไปไหนมาไหนก็สะดวก สามแยกบางใหญ่ที่อนาคตกำลังเป็นสี่แยกบางใหญ่จะมีถนนตัดวิ่งออกไปด้านทิศตะวันตก ไปพุน้ำร้อนจังหวัดกาญจนบุรีอีกแค่ร้อยกิโลเมตร และต่อไปอีกสองร้อยกิโลเมตรก็จะถึงยังชายหาดของเมียนมา โดยหลักแล้วเส้นทางคุนหมิง-สิงคโปร์ ก็ดี ระเบียงเศรษฐกิจเหนือใต้ ระเบียงเศรษฐกิจตะวันตกก็จะต้องผ่านถนนเส้นนี้ ดังนั้น เราอยู่บนเส้นทางระดับภูมิภาคบนทางหลวงแผ่นดินพิเศษสายสำคัญ ทำให้ไฟบนถนนนี้สว่างสม่ำเสมอ เป็นถนนที่ต้องป้องกันมิให้น้ำท่วมทาง ไม่ให้เศษดินหินทรายหล่นจนกระทั่งเกิดอันตรายได้ และที่นี่ยังเป็นพื้นที่สีเขียวด้วย ตอนนี้ก็มีการสร้างรถไฟฟ้าเข้ามาเหมือนตะเกียบคู่ ด้านหนึ่งเป็นสุดสายรถไฟฟ้าสีแดง เลยไปหน่อยก็สุดสายบีทีเอสบางแค อีกด้านก็สุดสายรถไฟฟ้าสีม่วง ถือว่าโชคดีที่เลือกมาอยู่ที่นี่”
//สะสม "หนังสือกฎหมายโบราณ"
พอพาชมด้านล่างของบ้านเรียบร้อยอาจารย์เอพาขึ้นไปชั้นสองที่ด้านนอกห้องนอนถูกจัดวางให้เป็นโซนตั้งพระที่บูชากราบไหว้ก่อนนอน และเชื่อมต่อกันเป็นห้องทำงาน "ผมมีพระเครื่อง พระบูชาที่ผู้ใหญ่เมตตาให้มา ทุกวันผมจะกราบสักการะเพื่อเตือนสติตัวเอง พระที่ผมบูชารองจากพระพุทธรูปก็มีหลวงปู่ทวด วัดช้างไห้ และสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อีกส่วนก็จะเป็นพระเครื่องที่มีผู้คนให้มาต่างกรรมต่างวาระกัน ผมจะนำมารวมไว้ในตู้เล็กๆ ในห้องทำงานมีตำรากฎหมายโบราณที่สะสมเอาไว้ ตั้งแต่เรียนอยู่นิติศาสตร์ปีสองแล้ว ด้วยว่าเห็นคุณค่าหนังสือจากตลาดเก่า ๆ ที่ลูกหลานของคุณพระ หรือพระยาต่างๆ นำหนังสือของท่านมาปล่อยขายเป็นตู้ ๆ หรือชั่งกิโลขายก็มี แล้วคนที่แย่งซื้อกับเรากลายเป็นศาสตราจารย์จากประเทศญี่ปุ่น เพราะเขาเห็นว่าประเทศไทยเป็นเอกราช มาตลอด ดังนั้น กฎหมายจึงสะท้อนความเป็นมาของบ้านเมืองอย่างบริสุทธิ์ มากกว่าระบบการเมืองแบบอาณานิคม บางเล่มที่ผมได้มาก็เก่ามากต้องนำไปซ่อมสัน ทำปกใหม่ แล้วก็แยกเก็บเป็นชุดๆ ผมซื้อหาเก็บมาเล่มไม่ถึงร้อย แต่เวลานี้เล่มเป็นพันก็หาซื้อไม่ได้ หนังสือกฎหมายเหล่านี้ไม่ได้เก็บอย่างเดียว บางครั้งมีการโต้แย้งกันทางกฎหมายผมก็จะนำมาย้อนดูข้อกฎหมายในตำราเก่าเหล่านี้ด้วย” ยามว่างจากการทำงานหรืออยู่ทำภารกิจของครอบครัว ก็จะออกวิ่งในหมู่บ้านเป็นประจำ ร่วมวิ่งมินิมาราธอนแทบทุกปีในช่วงหลัง แต่ครั้งแรกที่หัดวิ่งไกล คือ เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว วิ่งกรุงเทพฯ มาราธอน เปิดสะพานแขวนพระราม 9
//หลักบริหาร “ยิ่งมีอำนาจ ยิ่งไม่ใช้อำนาจ”
วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เลขาธิการสมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ เกิดเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2508 ที่จังหวัดอุบลราชธานี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี เมื่อปี พ.ศ. 2532 นิติศาสตร์บัณฑิต (เกียรตินิยม) จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เริ่มก้าวเข้าสู่งานนโยบายสาธารณะเมื่อ พ.ศ. 2532 ในทีมที่ปรึกษา “บ้าน พิษณุโลก” หลังจากผ่านพ้นช่วงรัฐประหาร ร.ส.ช. จึงเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโทด้านกฎหมาย เศรษฐกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา และกลับเข้าสู่งานนโยบายสาธารณะอีกครั้ง โดยเป็นนักวิชาการการเมืองและนักพัฒนาสังคมที่มีโอกาสได้ดำรงตำแหน่งสำคัญหลายตำแหน่ง อาทิ เลขานุการประธานรัฐสภา เลขานุการประธานตุลาการรัฐธรรมนูญ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีด้านการต่างประเทศและนโยบายชุมชน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อพรรคชาติไทยในช่วงเป็นฝ่ายค้านอีกด้วย
กระทั่งปี พ.ศ. 2551 ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในรัฐบาลของ สมัคร สุนทรเวช และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และในปี พ.ศ. 2551 ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นรองหัวหน้าพรรคชาติไทยที่ถูกยุบ ต่อมาได้รับเชิญให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยในปี พ.ศ. 2552 อาจารย์เอยังนับเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการริเริ่มผลักดันนโยบายด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวในมุมต่างๆ
เช่น การท่องเที่ยวเชิงคุณภาพและคุณค่า การแก้ไขวิกฤตการท่องเที่ยวในภาวะพิเศษ(เหตุการณ์การปิดสนามบิน สุวรรณภูมิปลายปี 2551) งานด้านสังคมยังเป็นเลขาธิการมูลนิธิพัฒนาคนพิการไทย กรรมการมูลนิธิสถาบันการต่างประเทศสราญรมย์ และเป็นสมาชิกมนตรีของคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและปรองดองแห่งเอเชีย APRC ซึ่งมีอดีตประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีจากทั่วโลกอีก 24 คน ร่วมกันจัดตั้งขึ้นนอกจากนี้ ในอดีตอาจารย์เอยังเคยเป็นอาจารย์ภาคบัณฑิต คณะนิติศาสตร์ ม.รามคำแหง เป็นอาจารย์หลักสูตรระหว่างประเทศ, สาขาปรัชญา กฎหมายและเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต และเคยเป็นบรรณาธิการที่ปรึกษา, วารสาร Harvard International Law Journal มาก่อน
“สมัยเด็กๆ ฝันอยากเป็นนักกฎหมาย เผื่อวันหนึ่งจะได้เป็นอัยการ เพราะเห็นว่าการเป็นอัยการไม่ต้องวางตัวเคร่งครัดเหมือนผู้พิพากษา ไม่ต้องกลัวใคร ที่สำคัญไม่ต้องกลัวตำรวจ เพราะผมเป็นเด็กต่างจังหวัด พอมาถึงวันนี้ 40 กว่าปีผ่านไปยังไม่ได้เป็นอัยการอย่างที่ฝันเลย (หัวเราะ) ทุกวันนี้ก็ยังฝันอยากอยู่ เพราะเป็นอาชีพที่ช่วยคนได้โดยตรง วันนี้หากถามว่าการเมืองให้อะไรกับผม ก็ต้องบอกว่าการเมืองให้โอกาสในการทำงานกับสาธารณะ และให้เรียนรู้ว่าสังคมมีความหลากหลายต้องมีศิลปะในการสื่อสาร จัดการ รวมทั้งเรียนรู้ที่จะธำรงตนให้อยู่ในร่องในรอย ให้มีความเป็นธรรม เพราะในแวดวงการเมืองอำนาจมันพาไขว้เขวได้เร็วและเสียคนได้ง่าย
“อีกสิ่งที่ทำให้ชีวิตผมมีสุขในวันนี้ พอจะมองอะไรให้ไกลๆ เพราะเชื่อในคำผู้ใหญ่ที่บอกให้อดเปรี้ยวไว้
กินหวาน ตอนเรียนหนังสือ สมัยหนึ่งผมเป็นคนเรียนเก่งมาก ต่อมาผมกลายเป็นคนเรียนหกตกหล่นมากมาย วินัยเป็นคำสั้นๆ แต่วินัยมันมีความหมายจริงๆ คือการมองไปไกลๆ แล้วทนฝึก หวานอยู่ไกลแค่ไหนถ้าเราต้องการหวานนั้น ก็ให้อดเปรี้ยวไว้ซะ นั่นคือวินัย ทำให้เรามีแบบแผนของการใช้ชีวิตแบบค่อนข้างมีวินัยในตัวเอง
“มาถึงวันนี้ผมยื่นยันว่าตำแหน่งไม่สำคัญเท่ากับบทบาท ถ้ามีตำแหน่งแต่ไม่มีบทบาทก็ไม่มีประโยชน์ บุคคลตัวอย่างที่ผมเห็นคือ อ.ประเวศ วะสี ที่ไม่ต้องมีตำแหน่งเลย แต่ท่านก็นำเสนอเรื่องดีๆ ให้กับสังคมอย่างสม่ำเสมอได้ ท่านให้สติ ให้ปัญญา หรือพระสงฆ์หลายรูปที่เป็นปัญญาชนแผ่นดินสยามที่ออกมาอธิบายเรื่องต่างๆ นั้น ท่านก็ไม่ได้อาศัยตำแหน่ง แต่ท่านพูดแล้วเกิดสติ เกิดปัญญา” นี่เป็นบทสรุปชีวิตที่ “วีระศักดิ์ โควสุรัตน์” กล่าวทิ้งท้ายเป็นข้อคิดให้กับทุกคน “คนเรายิ่งสูงมากเท่าไหร่ ต้องยิ่งทำตัวให้เล็กลงเท่านั้น ยิ่งมีอำนาจมากเท่าไหร่ ยิ่งต้องพยายามไม่ใช้อำนาจ”