Custom Search

Jan 23, 2014

อ. เอกชัย ไชยนุวัติ

นักวิชาการ "แรง" แห่งปี เอกชัย ไชยนุวัติ "ผมยอมตายพร้อมจุดยืน"


โดย สรวิศ รุ่งเลิศมณีพงศ์ 
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1387778281&grpid=01&catid=09&subcatid=0905
หากเอ่ยว่าบุรุษผู้นี้เป็นทองเนื้อเก้าที่อยู่ท่ามกลางการสาดโคลนทางการเมืองคงไม่ผิดนัก

ด้วยลีลาการพูดที่ ดุดัน เกรี้ยวกราด ราวกับพายุไต้ฝุ่นที่ถาโถมเข้าชายฝั่ง แต่ทว่าในทุกคำพูดเต็มไปด้วยหลักวิชาการและข้อมูลอ้างอิงที่ถูกต้อง ประกอบอุดมการณ์และจุดยืนที่หนักแน่น ด้วยบุคลิกที่ยอมหักมิยอมงอ ตรงไปตรงมาตามหลักกฎหมาย จึงทำให้มีทั้งคนรักและคนชังไปในเวลาเดียวกัน 


การลุกออกจากรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งขณะที่กำลังออกอากาศเป็นประจักษ์พยานยืนยัน


โดยปล่อยประโยคเด็ดที่จำได้ดีกันจนวันนี้ว่า "มันเห็นต่างไม่ได้ครับ มันเป็นกฎหมายครับ จะเอามั้ยครับกฎหมายเนี่ย ถ้าไม่เอาผมให้ทักษิณกลับมาวันนี้เลยนะครับ" 


แน่นอน นักวิชาการที่กำลังพูดถึงอยู่นี้คือ "เอกชัย ไชยนุวัติ" รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และโฆษก สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.)



ต่อกรณีการลุกออกจากรายการกะทันหันนั้น อาจารย์หนุ่มได้ภายหลังว่า ยอมรับว่าเป็นการเสียมารยาท และขอโทษอย่างเป็นทางการและส่วนตัวกับการกระทำและการแสดงออกเป็นที่เรียบร้อย แต่แจงว่าที่ทำไปนั้นเพราะรู้สึกว่าพิธีกรพยายาม "ตั้งธง" และต้องการให้พูดไปในประเด็นที่ต้องการ ว่าควรจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง
ทั้งที่ได้ยืนยันว่าตามความถูกต้องตามกฎหมายว่า "ต้องมีการเลือกตั้ง"

อาจารย์เอกชัยจึงบอกชัดเจนแบบตรงๆ ว่า "ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่ต้องเชิญผมก็ได้"

เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2517 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายคนเล็กของ"นพ.เติมชัย" และ "วนิดา ไชยนุวัติ" เริ่มการศึกษาในชั้นประถมที่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ก่อนที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมที่สาธิตปทุมวัน


เล่าถึงตัวเองพร้อมรอยยิ้มว่า ชีวิตในช่วงวัยรุ่นไม่ค่อยตั้งเรียนสักเท่าไรนัก มีเฉพาะวิชาเดียวที่ชอบที่สุดคือ วิชา "สังคม" ที่ทำคะแนนออกมาได้ดีเสมอ เริ่มสนใจเกี่ยวกับการเมืองและกฎหมาย ในช่วงอายุ 16 ปี หลังจากที่เห็น "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ลุกขึ้นมาอภิปรายในสภา ผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์


"ผมชื่นชอบการอภิปรายของนายอภิสิทธิ์ ที่มีเนื้อหาสาระ ชัดเจน และอยากให้มีนักการเมืองแบบนี้อยู่ในประเทศไทย ยืนยันชนิดหัวชนฝาว่าไม่คิดจะเปลี่ยนคำตอบ เพราะความรู้สึกในขณะนั้นเป็นดั่งเช่นที่กล่าว เพียงแต่เป็นคนอื่นที่เปลี่ยนไป" 

เรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัสเดียวกับ "เจษฎ์ โทณะวณิก" ที่ยังทำงานร่วมกันจนถึงปัจจุบันถึงแม้จะมีจุดยืนที่แตกต่าง โดยในช่วงที่เรียนจบ ได้ติดตามและช่วยเหลืองานทางการเมืองกับ "ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย" เป็นเวลา 4 ปี


จบการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทถึง 3 แห่งที่สหรัฐ เริ่มจากนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยอเมริกัน ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ต่อด้วยนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายและการทูต จาก Fletcher School of Law and Diplomacy ที่แมสซาชูเซ็ตส์

กลับมาทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสยามกระทั่งปัจจุบัน รวมระยะเวลา 9 ปี

ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับ "ณัฐญา ไชยนุวัติ" มีลูกในวัยกำลังซนด้วยกัน 3 คน

อาจารย์เอกชัยเริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมกับการวิวาทะทางปัญญาที่ดุเดือดในรายการเจาะข่าวเด่น ทางช่อง 3 กับ "เจษฎ์ โทณะวณิก" คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันเดียวกัน ในประเด็นว่าด้วยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จนกลายเป็นซุปเปอร์ไฟต์ทางกฎหมายที่มีคนสนับสนุนและโต้แย้งกันทั้ง 2 ฝ่าย


และได้ออกมาวิวาทะทางความคิดอีกครั้งกับทนาย "วันชัย สอนศิริ" สว.สรรหา พร้อมกับประโยคเด็ดที่ว่า "คนเรียนกฎหมาย ถ้าไม่สนใจกฎหมาย ก็เลิกเรียน ไปขายน้ำเต้าหู้ดีกว่า"

จนถึงกรณีลุกออกจากรายการโทรทัศน์ดังกล่าว

ล่าสุดที่ได้ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่า "ผมชัดเจนในจุดยืนของผม ผมพร้อมที่จะตายด้วยจุดยืนของผม"
จนเป็นวาทะที่แชร์ไปทั่วสื่อออนไลน์ เพื่อแสดงถึงอุดมการณ์ที่แข็งกล้า

จากบรรทัดนี้ไปจะเป็นสิ่งยืนยันถึงจุดยืนและตัวตนของนักวิชาการกฎหมายที่มาแรงที่สุดในขณะนี้อีกครั้ง

- อยากทำงานเป็นอาจารย์-นักวิชาการ?
แรงบันดาลใจมาจาก คุณพ่อ เนื่องจากสมัยเห็นคุณพ่อที่เป็นแพทย์อยู่ที่ศิริราช ทำงานมีเงินเดือน 15,000 บาท เพราะยังอยู่ในระบบราชการ ต้องเลี้ยงภรรยาและลูก 3 คน เราจะเห็นชีวิตของท่านตั้งแต่ 07.30 น. ต้องเข้าไปศิริราชเพื่อตรวจคนไข้ OPD หรือคนไข้นอก จนถึง 5 โมงเย็น และต้องมาเปิดคลินิกถึง 3-4 ทุ่ม เสาร์-อาทิตย์ก็ตระเวนไปตรวจคนไข้ตามโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งหมอศิริราชทุกท่านต้องสอน ทุกคนจะเรียกท่านว่า "อาจารย์หมอ" ในช่วงเวลานั้นได้ติดตามเวลาที่คุณพ่อสอนอยู่หลายครั้ง เห็นคุณพ่อมีความสุขในเวลาที่สอน จึงเกิดความรู้สึกว่าอยากเป็นอาจารย์ตามอย่างคุณพ่อ

ในตอนนั้นก็ไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นอาจารย์ทางด้านกฎหมายอย่างในปัจจุบัน เพียงแต่ภายหลังเรามาชอบกฎหมายและการเมือง 

- นิยามของคำว่ากฎหมาย?
กฎหมายคือเรื่องของศิลปะ คือในปริญญากฎหมายจะเขียนไว้เลยว่า Bachelor of art คือปริญญาทางศิลปศาสตร์ มันไม่ใช่ว่า 1 บวก 1 ต้องเท่ากับ 2 มันแปลว่าคุณจะใช้ศิลปะโน้มน้าวคนอื่นอย่างไร คุณโน้มน้าวผู้พิพากษาอย่างไรให้เห็นด้วยกับจำเลยหรือโจทก์ ผู้พิพากษาก็เช่นเดียวกัน จะโน้มน้าวคู่กรณีอย่างไรให้ยอมรับในคำพิพากษา ซึ่งผมเองก็ชอบในศิลปะแบบนี้ มันไม่เหมือนกับเศรษฐศาสตร์ หรือวิศวะ ที่ 1 บวก 1 เท่ากับ 2 ดังนั้น ผมถึงสนับสนุนให้มีการดีเบต เหตุผลใครดีกว่าก็ต้องยอมรับ 

- จุดยืนทางการเมืองของอาจารย์ที่สามารถยอมตายได้?
ขอให้ช่วยจดเลยนะครับ (หัวเราะ) จุดยืนของผมคือ ประเทศจะต้องปกครองด้วยระบอบนิติรัฐ และเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข นี่เป็นจุดยืนของผมและนั่นคือเหตุผลที่ผู้นำของประเทศจะต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ที่จะทำให้ไม่มีช่องว่างใดๆ ทั้งสิ้นที่จะมีนายกที่จะเรียกว่าคนดี คนกลาง หรือนายกฯพระราชทาน สามกรณีหลังนี่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาชนไม่ได้เลือก

ผมจะพูดเสมอว่าถ้าคุณจะเอา 3 กรณีหลังขออย่างเดียว ขอให้คุณอย่าเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย จะเรียกอะไรก็เรียกไป ขออย่าเรียกว่าประชาธิปไตย เพราะว่ามันไม่ใช่ คือนิติรัฐเป็นรัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมาย คือถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตยกฎหมายจะออกมาจากประชาชน คือเราเลือกผู้แทนเข้าไปในสภาจะมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย กฎหมายสามารถเปลี่ยนได้ถ้าเราไม่ชอบเราก็เปลี่ยน แต่อย่างไรสุดท้ายทุกอย่างคือใช้เสียงส่วนใหญ่ของประเทศในการตัดสิน 

- สิ่งที่ทำให้สนใจการเมืองมากขึ้น?
การที่ผมไปเป็นเลขานุการตุลาการรัฐธรรมนูญ ในตอนนั้นไม่มีคำว่าศาล เนื่องจากในตอนนั้นรัฐประหาร ประกาศของ คมช. ฉบับที่ 3 เป็นสิ่งที่ประหลาดมาก คือยุบสภาผู้แทนฯ ยุบวุฒิสภา ยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้เก็บคดีไว้คือคดียุบพรรคไทยรักไทย และแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก คมช.ไม่สามารถตั้งศาลขึ้นมาได้ จึงตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาตัดสินคดีที่เก็บไว้ แล้วก็ออกประกาศ คมช.ฉบับที่ 27 บอกว่าในคดีที่เกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าเกิดว่ามีความผิดในฐานะกรรมการบริหารก็ให้ตัดสิทธิย้อนหลังไป 5 ปี นี่เป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ

พอผมเข้าไปเห็นการทำงานขององค์กรก็เห็นถึงความผันผวนในการ ทำหน้าที่ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก และในระบอบประชาธิปไตยเราถือว่าทุกคนในระบอบเท่ากันหมด คือ 1 เสียง ทุกองค์กรสามารถตรวจสอบได้ ไมใช่จากแค่ภายในแต่รวมไปถึงการตรวจสอบจากประชาชน การตรวจสอบจากภายนอกได้ โดยผ่านคำพิพากษา สามารถวิจารณ์ได้ ตรวจสอบการทำงาน งบประมาณต่างๆ ได้ ผมได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างจึงกลายเป็นจุดที่หันมาสนใจในคดีรัฐธรรมนูญต่างๆ มากกว่าสนใจในเรื่องกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว 

- มุมมองต่อกฎหมายไทย?
ความจริงแล้วกฎหมายไทยเราเป็นกฎหมายระบอบประมวล หรือ Civil Law เพราะเรามีกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งต่างจากประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตประเพณี หรือ common law ซึ่งบางประเทศก็ไม่มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน เช่นอังกฤษที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ เขาก็ใช้วิธีการพัฒนาผ่านทางคำพิพากษาว่าศาลตัดสินไว้อย่างไรก็ใช้หลักนี้สร้างธรรมนูญอังกฤษ แต่ในประเทศไทยความสำคัญของผู้พิพากษายังมีอิทธิพลอย่างมากจึงทำให้มีวัฒนธรรมของระบอบกฎหมายจารีตประเพณีอยู่ คือศาลมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางกฎหมาย จึงเป็นที่มาว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาไทยจึงมีความสำคัญ ซึ่งประเทศเราไม่ได้เป็นแบบนั้น ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกฎหมายไทยในตอนนี้ขอใช้ คำว่า จุดวิกฤตที่สร้างเอง หรือ Man Made Crisis เพราะมันไม่ใช่วิกฤตแต่เป็นวิกฤตที่สร้างเอง

- ครอบครัว และภรรยา สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่?
ครอบครัวของผมไม่คัดค้าน แต่เป็นห่วงในความปลอดภัยเพราะในสังคมตอนนี้แตกแยกมาก เป็นห่วงถึงชีวิต ส่วนภรรยากลัวว่าหากผมเป็นอะไรไปจะต้องเลี้ยงลูก 3 คน ด้วยตัวคนเดียว

- กรณีช่อง 5 ยกรายการที่ได้โต้เถียงกับ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์?
ตอนนี้ก็ต่อสู้ เพราะในสังคมระบอบประชาธิปไตยแท้ๆ คือสื่อต้องคุมทหาร ทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้านทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่ในประเทศไทยทหารคุมสื่อ มีทหารอยู่ในบอร์ด กสทช. ทหารคุมสถานีวิทยุกี่ช่อง ทหารมีช่องทีวีกี่ช่อง ตรงนี้คือความไม่เป็นประชาธิปไตย ตอนนี้ได้เริ่มกระบวนการร้องเรียนถึงแม้ว่าจะทำอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยก็อยากให้มาชี้แจงถึงการตัดสินใจยกรายการ เพราะในรายการผมกับ อาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ ก็เถียงกันในแง่กฎหมายไม่ได้ไปด่าคนนั้น คนนี้ แต่เถียงกันว่าในสิ่งที่ท่านสอนผมในสมัยที่ผมเรียนที่ธรรมศาสตร์กับท่านว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ท่านบอกว่าอะไรๆ ก็ทำได้ ถ้านายกฯอยากทำ

ท่านบอกว่าถ้านายกฯอยากลาออกจากรักษาการก็สามารถลาออกได้ ผมจึงถามว่าทำไมตอนนั้นอาจารย์จึงสอนอย่างนั้น ตกลงไม่ใช้แล้วใช่หรือไม่ แต่ท่านตอบผมไม่ได้ แล้วสุดท้ายรายการก็ถูกยกออก ตอนหลังก็ไปเชิญ อาจารย์เจษฎ์ ที่พูดเหมือน อาจารย์สุรพลทุกประการไปออกรายการสด จึงเกิดคำถามว่าทำไมจึงเป็นแบบนี้

- แนวทางการสอนกฎหมายของอาจารย์เอกชัย?
ผมชอบให้เด็กด่าผม (ยิ้ม) คือผมคิดว่าความรู้เกิดจากการถกเถียง ผมพยายามบีบว่าถ้ากฎหมายเขียนมาแบบนี้คุณจะโต้เถียงอย่างไรถ้าคุณไม่เห็นด้วย ในมุมมองไหน ถ้าผมไม่ให้นักศึกษาด่าผม หรือเถียงผม นักศึกษาก็จะรับข้อมูลด้านเดียว และก็จะเอาข้อมูลนั้นบรรจุสู่กระบวนการความคิด ความคิดใหม่ก็จะไม่เกิด เคยมีนักศึกษาเถียงกับผมถึงขั้นชี้หน้าด่าผมว่า "รับงานทักษิณมาพูดใช่มั้ย ทำไมพูดให้คุณทักษิณได้ประโยชน์" ซึ่งผมก็ชอบให้พูดเพราะผมจะได้เถียง ได้ชี้แจงกลับไปว่าเพราะอะไร นักศึกษาต้องตอบผมให้ได้ว่าต่างกันอย่างไร เราต้องว่าด้วยข้อเท็จจริง แต่ต้องเปิดโอกาสให้เขาเถียงได้ เปิดให้มีสิทธิในการแสดงออกทั้งในทางบวกและลบ ทั้งชมและด่าผมได้ 

- การสอนกฎหมายในอุดมคติ?การโต้เถียง คำนี้ชัดเจนมาก ที่สหรัฐอเมริกาที่ผมไปเรียนกฎหมายมาเขาไม่สอน อาจารย์จะให้นักศึกษาไปอ่านหนังสือ แล้วพอเข้าห้องไปเขาก็จะบอกว่าวันนี้เราจะพูดเรื่องการยุบสภา ก็จะมีนักศึกษาอย่างผมที่บอกว่าเลื่อนไม่ได้ แล้วก็จะมีนักศึกษาอย่างอาจารย์เจษฎ์ ที่บอกว่าเลื่อนได้ อาจารย์ก็จะมีหน้าที่คุมประเด็นให้อยู่ในประเด็นนี้ ทำไมถึงบอกว่าเลื่อนได้ ทำไมถึงบอกว่าเลื่อนไม่ได้ แล้วคนที่ได้คะแนนดีที่สุดคือคนที่ถามคำถามได้ดีที่สุด ไม่ใช่คนที่ตอบคำถามได้ดีที่สุด อาจารย์จะไม่ถามว่าตามโจทย์นี้ใครถูกใครผิด อาจารย์จะบอกว่าถ้าคุณเป็นทนายฝ่ายโจทก์คุณจะเขียนอย่างไร คุณเป็นทนายฝ่ายจำเลยคุณเขียนอย่างไร และคิดสรรหาการโต้แย้งขึ้นมา แล้วใครถามคำถามที่อยู่ใหหัวข้อ และอาจารย์ตอบไม่ได้ เพื่อนตอบไม่ได้ จึงจะได้คะแนนที่ดีที่สุด

- เคยเบื่อกฎหมายบ้างหรือไม่?
ชีวิตอยู่กับกฎหมายมาเกือบ 20 ปี ต้องขอบอกตรงๆว่า เบื่อทุกวันเลย (หัวเราะ) เมื่อกี้ยังบอกภรรยาอยู่ว่าต้องออกทีวีพูดเรื่องเดิม ซ้ำๆ กันทุกวัน พูดให้คนเดิมซ้ำกันทุกวัน เบื่อทุกวันแต่ผมก็ต้องสู้ทุกวัน คือถ้าเราไม่อยู่ในสังคมที่ใช้นิติรัฐแล้วเราจะใช้อะไร นักกฎหมายถ้าไม่ยึดกฎหมายแล้วเราจะไปยึดอะไร คุณจะยึดหลักศีลธรรมแล้วคุณจะไปบังคับคนอื่นได้หรือ ยึดจริยธรรมแล้วจะไปบังคับคนอื่นได้หรือ ถ้าคุณเห็นคนอื่นฆ่าคนแล้วคุณจะไปบังคับเขาได้หรือถ้าคุณไม่มีกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่ได้ใช้แค่ประชาชนเพียงคนเดียวแต่กฎหมายคือสิ่งที่ใช้กับประชาชนทุกคน 

- ชีวิตในมุมอื่นที่ไม่มีกฎหมาย?
ส่วนใหญ่ก็ออกกำลังกายวิ่งอยู่ในหมู่บ้าน เลี้ยงลูก แล้วก็ฟังเพลงแจ๊ซง่ายๆ เบา พักผ่อนสักชั่วโมง ช่วยภรรยาเลี้ยงลูก อยู่กับภรรยาบ้าง นอกนั้นชีวิตก็ไม่มีอะไรแล้วอยู่กับกฎหมาย

- ชีวิตกับลูกๆทั้งสาม?
ลูกๆ ของผมจะเป็นคนที่ปฏิบัติตามกฎหมายมาก อย่างลูกคนกลางก็จะชอบว่าผมเวลาผมลืมเปิดไฟเลี้ยว ทำไมพ่อขับเร็ว เขาก็จะถามอยู่เสมอ เราไม่เคยไปว่าลูกว่านี่เราเป็นพ่อนะห้ามเถียง คือลูกๆ ทุกคนสามารถคุยเรากับเราได้ เขาอยากเป็นอะไรก็เป็นเรื่องของเขา เขาจะเป่านกหวีดอะไรก็เรื่องของเขา (หัวเราะ) คือเด็กถ้าเราไปตีกรอบให้เขามาก ความรู้ก็จะไม่เกิด ซึ่งเป็นวิธีที่ผมสอนกับนักศึกษาเช่นกัน คือต้องให้ลูกๆ มีอิสระ แต่อยู่ในกติกา 

- ชีวิตคู่กับภรรยา?
กับคุณณัฐญา หรือคุณต๋อม รู้จักกันมาตั้งแต่เรียนที่สาธิตปทุมวัน แต่ก็ไม่ได้เป็นแฟนกัน จนมาเจอกันอีกครั้งตอนจบมหาวิทยาลัยและได้มาทำงานกับอาจารย์สุรเกียรติ์ จึงคบกันตั้งแต่อายุ 21-22 ก็มีเขาเป็นแฟนมาถึงปัจจุบัน คือส่วนตัวผมเป็นคนพูดมาก ผมชอบเพราะภรรยาเขาพูดน้อย (ยิ้ม) เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ สำหรับเขาคือ 1 บวก 1 ต้องเป็น 2 ส่วนสำหรับผมบางที 1 บวก 1 ไม่เท่ากับ 2 เพราะบางทีผมพูด ผมเถียง ผมคิด ก็ทำให้อยู่ด้วยกันได้เหมือนหยินกับหยาง คือผมเป็นคนใจร้อน คุณต๋อมเป็นคนใจเย็น เพราะก่อนหน้าที่จะคบกันผมเคยมีแฟนเป็นนักกฎหมายอยู่ด้วยกันก็เถียงกันตลอด ทำได้อยู่ด้วยกันไม่ได้ก็ต้องเลิกกันไป คุณต๋อมเขาเป็นคนที่รับฟังความคิดเห็น อยู่ด้วยแล้วสบายใจ (ยิ้ม)

- ดูเกรี้ยวกราดเวลาออกสื่อ แล้วเวลาอยู่บ้าน อีกมุมหนึ่งของ เอกชัย เป็นอย่างไร?
จริงๆ แล้วเวลาผมอยู่บ้านจะเป็นคนไร้สาระ (หัวเราะ) แต่ว่าเหตุที่ดูเกรี้ยวกราด ตรงไปตรงมา เป็นเพราะเวลาเราไปออกสื่อ เวลาของสื่อนั้นมีค่า ดังนั้น เวลาเขาเชิญเราไปออก จะมาอ้อมค้อมไม่ได้ เขาไม่เห็นด้วยกับเราไม่เป็นไร แต่เราต้องเปิดให้ชัดเจนว่าเราเป็นแบบนี้ เขาจะได้รู้ว่าเราคืออะไร หรือให้คนอื่นสามารถเถียงกับเราได้ นักกฎหมายต้องชัดเจน ไม่ว่ายืนอยู่ตรงไหนก็ต้องชัด

"แต่คุณก็ต้องฟังเหตุผลคนอื่นด้วยเช่นกัน ถ้าเหตุผลเขาดีกว่าคุณก็ต้องยอมรับ"

.................

(ที่มา:มติชนรายวัน 22 ธ.ค.2556)