Custom Search

Jan 29, 2014

HAPPY CHINESE NEW YEAR 2014



United Nations, New York, 30 January 2014 
Ban Ki-moon, the Secretary-General of the United Nations 
Video Message on the occasion of the Chinese New Year 2014.

Jan 23, 2014

วาทะกรรมทางการเมือง ๒๕๕๗ #๑


ดร. สมเกียรติ  อ่อนวิมล


ม.ร.ว. มาลินี  จักรพันธุ์ 


เจาะข่าวตื้น 

อ. เอกชัย ไชยนุวัติ

นักวิชาการ "แรง" แห่งปี เอกชัย ไชยนุวัติ "ผมยอมตายพร้อมจุดยืน"


โดย สรวิศ รุ่งเลิศมณีพงศ์ 
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1387778281&grpid=01&catid=09&subcatid=0905
หากเอ่ยว่าบุรุษผู้นี้เป็นทองเนื้อเก้าที่อยู่ท่ามกลางการสาดโคลนทางการเมืองคงไม่ผิดนัก

ด้วยลีลาการพูดที่ ดุดัน เกรี้ยวกราด ราวกับพายุไต้ฝุ่นที่ถาโถมเข้าชายฝั่ง แต่ทว่าในทุกคำพูดเต็มไปด้วยหลักวิชาการและข้อมูลอ้างอิงที่ถูกต้อง ประกอบอุดมการณ์และจุดยืนที่หนักแน่น ด้วยบุคลิกที่ยอมหักมิยอมงอ ตรงไปตรงมาตามหลักกฎหมาย จึงทำให้มีทั้งคนรักและคนชังไปในเวลาเดียวกัน 


การลุกออกจากรายการโทรทัศน์แห่งหนึ่งขณะที่กำลังออกอากาศเป็นประจักษ์พยานยืนยัน


โดยปล่อยประโยคเด็ดที่จำได้ดีกันจนวันนี้ว่า "มันเห็นต่างไม่ได้ครับ มันเป็นกฎหมายครับ จะเอามั้ยครับกฎหมายเนี่ย ถ้าไม่เอาผมให้ทักษิณกลับมาวันนี้เลยนะครับ" 


แน่นอน นักวิชาการที่กำลังพูดถึงอยู่นี้คือ "เอกชัย ไชยนุวัติ" รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม และโฆษก สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.)



ต่อกรณีการลุกออกจากรายการกะทันหันนั้น อาจารย์หนุ่มได้ภายหลังว่า ยอมรับว่าเป็นการเสียมารยาท และขอโทษอย่างเป็นทางการและส่วนตัวกับการกระทำและการแสดงออกเป็นที่เรียบร้อย แต่แจงว่าที่ทำไปนั้นเพราะรู้สึกว่าพิธีกรพยายาม "ตั้งธง" และต้องการให้พูดไปในประเด็นที่ต้องการ ว่าควรจะเลือกตั้งหรือไม่เลือกตั้ง
ทั้งที่ได้ยืนยันว่าตามความถูกต้องตามกฎหมายว่า "ต้องมีการเลือกตั้ง"

อาจารย์เอกชัยจึงบอกชัดเจนแบบตรงๆ ว่า "ถ้าเป็นอย่างนั้นไม่ต้องเชิญผมก็ได้"

เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2517 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรชายคนเล็กของ"นพ.เติมชัย" และ "วนิดา ไชยนุวัติ" เริ่มการศึกษาในชั้นประถมที่ โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ก่อนที่จะศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมที่สาธิตปทุมวัน


เล่าถึงตัวเองพร้อมรอยยิ้มว่า ชีวิตในช่วงวัยรุ่นไม่ค่อยตั้งเรียนสักเท่าไรนัก มีเฉพาะวิชาเดียวที่ชอบที่สุดคือ วิชา "สังคม" ที่ทำคะแนนออกมาได้ดีเสมอ เริ่มสนใจเกี่ยวกับการเมืองและกฎหมาย ในช่วงอายุ 16 ปี หลังจากที่เห็น "อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ" ลุกขึ้นมาอภิปรายในสภา ผ่านทางหน้าจอโทรทัศน์


"ผมชื่นชอบการอภิปรายของนายอภิสิทธิ์ ที่มีเนื้อหาสาระ ชัดเจน และอยากให้มีนักการเมืองแบบนี้อยู่ในประเทศไทย ยืนยันชนิดหัวชนฝาว่าไม่คิดจะเปลี่ยนคำตอบ เพราะความรู้สึกในขณะนั้นเป็นดั่งเช่นที่กล่าว เพียงแต่เป็นคนอื่นที่เปลี่ยนไป" 

เรียนต่อที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รหัสเดียวกับ "เจษฎ์ โทณะวณิก" ที่ยังทำงานร่วมกันจนถึงปัจจุบันถึงแม้จะมีจุดยืนที่แตกต่าง โดยในช่วงที่เรียนจบ ได้ติดตามและช่วยเหลืองานทางการเมืองกับ "ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย" เป็นเวลา 4 ปี


จบการศึกษาต่อในระดับปริญญาโทถึง 3 แห่งที่สหรัฐ เริ่มจากนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายระหว่างประเทศ จากมหาวิทยาลัยอเมริกัน ที่วอชิงตัน ดี.ซี. ต่อด้วยนิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายเปรียบเทียบ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน และศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายและการทูต จาก Fletcher School of Law and Diplomacy ที่แมสซาชูเซ็ตส์

กลับมาทำงานเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสยามกระทั่งปัจจุบัน รวมระยะเวลา 9 ปี

ด้านชีวิตครอบครัว สมรสกับ "ณัฐญา ไชยนุวัติ" มีลูกในวัยกำลังซนด้วยกัน 3 คน

อาจารย์เอกชัยเริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมกับการวิวาทะทางปัญญาที่ดุเดือดในรายการเจาะข่าวเด่น ทางช่อง 3 กับ "เจษฎ์ โทณะวณิก" คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันเดียวกัน ในประเด็นว่าด้วยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ จนกลายเป็นซุปเปอร์ไฟต์ทางกฎหมายที่มีคนสนับสนุนและโต้แย้งกันทั้ง 2 ฝ่าย


และได้ออกมาวิวาทะทางความคิดอีกครั้งกับทนาย "วันชัย สอนศิริ" สว.สรรหา พร้อมกับประโยคเด็ดที่ว่า "คนเรียนกฎหมาย ถ้าไม่สนใจกฎหมาย ก็เลิกเรียน ไปขายน้ำเต้าหู้ดีกว่า"

จนถึงกรณีลุกออกจากรายการโทรทัศน์ดังกล่าว

ล่าสุดที่ได้ออกมายืนยันอย่างหนักแน่นว่า "ผมชัดเจนในจุดยืนของผม ผมพร้อมที่จะตายด้วยจุดยืนของผม"
จนเป็นวาทะที่แชร์ไปทั่วสื่อออนไลน์ เพื่อแสดงถึงอุดมการณ์ที่แข็งกล้า

จากบรรทัดนี้ไปจะเป็นสิ่งยืนยันถึงจุดยืนและตัวตนของนักวิชาการกฎหมายที่มาแรงที่สุดในขณะนี้อีกครั้ง

- อยากทำงานเป็นอาจารย์-นักวิชาการ?
แรงบันดาลใจมาจาก คุณพ่อ เนื่องจากสมัยเห็นคุณพ่อที่เป็นแพทย์อยู่ที่ศิริราช ทำงานมีเงินเดือน 15,000 บาท เพราะยังอยู่ในระบบราชการ ต้องเลี้ยงภรรยาและลูก 3 คน เราจะเห็นชีวิตของท่านตั้งแต่ 07.30 น. ต้องเข้าไปศิริราชเพื่อตรวจคนไข้ OPD หรือคนไข้นอก จนถึง 5 โมงเย็น และต้องมาเปิดคลินิกถึง 3-4 ทุ่ม เสาร์-อาทิตย์ก็ตระเวนไปตรวจคนไข้ตามโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งหมอศิริราชทุกท่านต้องสอน ทุกคนจะเรียกท่านว่า "อาจารย์หมอ" ในช่วงเวลานั้นได้ติดตามเวลาที่คุณพ่อสอนอยู่หลายครั้ง เห็นคุณพ่อมีความสุขในเวลาที่สอน จึงเกิดความรู้สึกว่าอยากเป็นอาจารย์ตามอย่างคุณพ่อ

ในตอนนั้นก็ไม่ได้เจาะจงว่าจะเป็นอาจารย์ทางด้านกฎหมายอย่างในปัจจุบัน เพียงแต่ภายหลังเรามาชอบกฎหมายและการเมือง 

- นิยามของคำว่ากฎหมาย?
กฎหมายคือเรื่องของศิลปะ คือในปริญญากฎหมายจะเขียนไว้เลยว่า Bachelor of art คือปริญญาทางศิลปศาสตร์ มันไม่ใช่ว่า 1 บวก 1 ต้องเท่ากับ 2 มันแปลว่าคุณจะใช้ศิลปะโน้มน้าวคนอื่นอย่างไร คุณโน้มน้าวผู้พิพากษาอย่างไรให้เห็นด้วยกับจำเลยหรือโจทก์ ผู้พิพากษาก็เช่นเดียวกัน จะโน้มน้าวคู่กรณีอย่างไรให้ยอมรับในคำพิพากษา ซึ่งผมเองก็ชอบในศิลปะแบบนี้ มันไม่เหมือนกับเศรษฐศาสตร์ หรือวิศวะ ที่ 1 บวก 1 เท่ากับ 2 ดังนั้น ผมถึงสนับสนุนให้มีการดีเบต เหตุผลใครดีกว่าก็ต้องยอมรับ 

- จุดยืนทางการเมืองของอาจารย์ที่สามารถยอมตายได้?
ขอให้ช่วยจดเลยนะครับ (หัวเราะ) จุดยืนของผมคือ ประเทศจะต้องปกครองด้วยระบอบนิติรัฐ และเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข นี่เป็นจุดยืนของผมและนั่นคือเหตุผลที่ผู้นำของประเทศจะต้องมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ที่จะทำให้ไม่มีช่องว่างใดๆ ทั้งสิ้นที่จะมีนายกที่จะเรียกว่าคนดี คนกลาง หรือนายกฯพระราชทาน สามกรณีหลังนี่ไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาชนไม่ได้เลือก

ผมจะพูดเสมอว่าถ้าคุณจะเอา 3 กรณีหลังขออย่างเดียว ขอให้คุณอย่าเรียกว่าเป็นประชาธิปไตย จะเรียกอะไรก็เรียกไป ขออย่าเรียกว่าประชาธิปไตย เพราะว่ามันไม่ใช่ คือนิติรัฐเป็นรัฐที่อยู่ภายใต้กฎหมาย คือถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตยกฎหมายจะออกมาจากประชาชน คือเราเลือกผู้แทนเข้าไปในสภาจะมีหน้าที่ในการออกกฎหมาย กฎหมายสามารถเปลี่ยนได้ถ้าเราไม่ชอบเราก็เปลี่ยน แต่อย่างไรสุดท้ายทุกอย่างคือใช้เสียงส่วนใหญ่ของประเทศในการตัดสิน 

- สิ่งที่ทำให้สนใจการเมืองมากขึ้น?
การที่ผมไปเป็นเลขานุการตุลาการรัฐธรรมนูญ ในตอนนั้นไม่มีคำว่าศาล เนื่องจากในตอนนั้นรัฐประหาร ประกาศของ คมช. ฉบับที่ 3 เป็นสิ่งที่ประหลาดมาก คือยุบสภาผู้แทนฯ ยุบวุฒิสภา ยุบศาลรัฐธรรมนูญ แต่ให้เก็บคดีไว้คือคดียุบพรรคไทยรักไทย และแต่งตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญ เนื่องจาก คมช.ไม่สามารถตั้งศาลขึ้นมาได้ จึงตั้งตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาตัดสินคดีที่เก็บไว้ แล้วก็ออกประกาศ คมช.ฉบับที่ 27 บอกว่าในคดีที่เกิดขึ้นมาแล้ว ถ้าเกิดว่ามีความผิดในฐานะกรรมการบริหารก็ให้ตัดสิทธิย้อนหลังไป 5 ปี นี่เป็นจุดพลิกผันที่สำคัญ

พอผมเข้าไปเห็นการทำงานขององค์กรก็เห็นถึงความผันผวนในการ ทำหน้าที่ ซึ่งไม่มีการตรวจสอบจากภายนอก และในระบอบประชาธิปไตยเราถือว่าทุกคนในระบอบเท่ากันหมด คือ 1 เสียง ทุกองค์กรสามารถตรวจสอบได้ ไมใช่จากแค่ภายในแต่รวมไปถึงการตรวจสอบจากประชาชน การตรวจสอบจากภายนอกได้ โดยผ่านคำพิพากษา สามารถวิจารณ์ได้ ตรวจสอบการทำงาน งบประมาณต่างๆ ได้ ผมได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างจึงกลายเป็นจุดที่หันมาสนใจในคดีรัฐธรรมนูญต่างๆ มากกว่าสนใจในเรื่องกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว 

- มุมมองต่อกฎหมายไทย?
ความจริงแล้วกฎหมายไทยเราเป็นกฎหมายระบอบประมวล หรือ Civil Law เพราะเรามีกฎหมายเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งต่างจากประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตประเพณี หรือ common law ซึ่งบางประเทศก็ไม่มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน เช่นอังกฤษที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ เขาก็ใช้วิธีการพัฒนาผ่านทางคำพิพากษาว่าศาลตัดสินไว้อย่างไรก็ใช้หลักนี้สร้างธรรมนูญอังกฤษ แต่ในประเทศไทยความสำคัญของผู้พิพากษายังมีอิทธิพลอย่างมากจึงทำให้มีวัฒนธรรมของระบอบกฎหมายจารีตประเพณีอยู่ คือศาลมีความสำคัญในการกำหนดทิศทางกฎหมาย จึงเป็นที่มาว่าทำไมศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกาไทยจึงมีความสำคัญ ซึ่งประเทศเราไม่ได้เป็นแบบนั้น ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นกับกฎหมายไทยในตอนนี้ขอใช้ คำว่า จุดวิกฤตที่สร้างเอง หรือ Man Made Crisis เพราะมันไม่ใช่วิกฤตแต่เป็นวิกฤตที่สร้างเอง

- ครอบครัว และภรรยา สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่?
ครอบครัวของผมไม่คัดค้าน แต่เป็นห่วงในความปลอดภัยเพราะในสังคมตอนนี้แตกแยกมาก เป็นห่วงถึงชีวิต ส่วนภรรยากลัวว่าหากผมเป็นอะไรไปจะต้องเลี้ยงลูก 3 คน ด้วยตัวคนเดียว

- กรณีช่อง 5 ยกรายการที่ได้โต้เถียงกับ ดร.สุรพล นิติไกรพจน์?
ตอนนี้ก็ต่อสู้ เพราะในสังคมระบอบประชาธิปไตยแท้ๆ คือสื่อต้องคุมทหาร ทำหน้าที่เป็นหมาเฝ้าบ้านทำหน้าที่ตรวจสอบ แต่ในประเทศไทยทหารคุมสื่อ มีทหารอยู่ในบอร์ด กสทช. ทหารคุมสถานีวิทยุกี่ช่อง ทหารมีช่องทีวีกี่ช่อง ตรงนี้คือความไม่เป็นประชาธิปไตย ตอนนี้ได้เริ่มกระบวนการร้องเรียนถึงแม้ว่าจะทำอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยก็อยากให้มาชี้แจงถึงการตัดสินใจยกรายการ เพราะในรายการผมกับ อาจารย์สุรพล นิติไกรพจน์ ก็เถียงกันในแง่กฎหมายไม่ได้ไปด่าคนนั้น คนนี้ แต่เถียงกันว่าในสิ่งที่ท่านสอนผมในสมัยที่ผมเรียนที่ธรรมศาสตร์กับท่านว่าไม่มีกฎหมายให้อำนาจทำไม่ได้ แต่ตอนนี้ท่านบอกว่าอะไรๆ ก็ทำได้ ถ้านายกฯอยากทำ

ท่านบอกว่าถ้านายกฯอยากลาออกจากรักษาการก็สามารถลาออกได้ ผมจึงถามว่าทำไมตอนนั้นอาจารย์จึงสอนอย่างนั้น ตกลงไม่ใช้แล้วใช่หรือไม่ แต่ท่านตอบผมไม่ได้ แล้วสุดท้ายรายการก็ถูกยกออก ตอนหลังก็ไปเชิญ อาจารย์เจษฎ์ ที่พูดเหมือน อาจารย์สุรพลทุกประการไปออกรายการสด จึงเกิดคำถามว่าทำไมจึงเป็นแบบนี้

- แนวทางการสอนกฎหมายของอาจารย์เอกชัย?
ผมชอบให้เด็กด่าผม (ยิ้ม) คือผมคิดว่าความรู้เกิดจากการถกเถียง ผมพยายามบีบว่าถ้ากฎหมายเขียนมาแบบนี้คุณจะโต้เถียงอย่างไรถ้าคุณไม่เห็นด้วย ในมุมมองไหน ถ้าผมไม่ให้นักศึกษาด่าผม หรือเถียงผม นักศึกษาก็จะรับข้อมูลด้านเดียว และก็จะเอาข้อมูลนั้นบรรจุสู่กระบวนการความคิด ความคิดใหม่ก็จะไม่เกิด เคยมีนักศึกษาเถียงกับผมถึงขั้นชี้หน้าด่าผมว่า "รับงานทักษิณมาพูดใช่มั้ย ทำไมพูดให้คุณทักษิณได้ประโยชน์" ซึ่งผมก็ชอบให้พูดเพราะผมจะได้เถียง ได้ชี้แจงกลับไปว่าเพราะอะไร นักศึกษาต้องตอบผมให้ได้ว่าต่างกันอย่างไร เราต้องว่าด้วยข้อเท็จจริง แต่ต้องเปิดโอกาสให้เขาเถียงได้ เปิดให้มีสิทธิในการแสดงออกทั้งในทางบวกและลบ ทั้งชมและด่าผมได้ 

- การสอนกฎหมายในอุดมคติ?การโต้เถียง คำนี้ชัดเจนมาก ที่สหรัฐอเมริกาที่ผมไปเรียนกฎหมายมาเขาไม่สอน อาจารย์จะให้นักศึกษาไปอ่านหนังสือ แล้วพอเข้าห้องไปเขาก็จะบอกว่าวันนี้เราจะพูดเรื่องการยุบสภา ก็จะมีนักศึกษาอย่างผมที่บอกว่าเลื่อนไม่ได้ แล้วก็จะมีนักศึกษาอย่างอาจารย์เจษฎ์ ที่บอกว่าเลื่อนได้ อาจารย์ก็จะมีหน้าที่คุมประเด็นให้อยู่ในประเด็นนี้ ทำไมถึงบอกว่าเลื่อนได้ ทำไมถึงบอกว่าเลื่อนไม่ได้ แล้วคนที่ได้คะแนนดีที่สุดคือคนที่ถามคำถามได้ดีที่สุด ไม่ใช่คนที่ตอบคำถามได้ดีที่สุด อาจารย์จะไม่ถามว่าตามโจทย์นี้ใครถูกใครผิด อาจารย์จะบอกว่าถ้าคุณเป็นทนายฝ่ายโจทก์คุณจะเขียนอย่างไร คุณเป็นทนายฝ่ายจำเลยคุณเขียนอย่างไร และคิดสรรหาการโต้แย้งขึ้นมา แล้วใครถามคำถามที่อยู่ใหหัวข้อ และอาจารย์ตอบไม่ได้ เพื่อนตอบไม่ได้ จึงจะได้คะแนนที่ดีที่สุด

- เคยเบื่อกฎหมายบ้างหรือไม่?
ชีวิตอยู่กับกฎหมายมาเกือบ 20 ปี ต้องขอบอกตรงๆว่า เบื่อทุกวันเลย (หัวเราะ) เมื่อกี้ยังบอกภรรยาอยู่ว่าต้องออกทีวีพูดเรื่องเดิม ซ้ำๆ กันทุกวัน พูดให้คนเดิมซ้ำกันทุกวัน เบื่อทุกวันแต่ผมก็ต้องสู้ทุกวัน คือถ้าเราไม่อยู่ในสังคมที่ใช้นิติรัฐแล้วเราจะใช้อะไร นักกฎหมายถ้าไม่ยึดกฎหมายแล้วเราจะไปยึดอะไร คุณจะยึดหลักศีลธรรมแล้วคุณจะไปบังคับคนอื่นได้หรือ ยึดจริยธรรมแล้วจะไปบังคับคนอื่นได้หรือ ถ้าคุณเห็นคนอื่นฆ่าคนแล้วคุณจะไปบังคับเขาได้หรือถ้าคุณไม่มีกฎหมาย เพราะกฎหมายไม่ได้ใช้แค่ประชาชนเพียงคนเดียวแต่กฎหมายคือสิ่งที่ใช้กับประชาชนทุกคน 

- ชีวิตในมุมอื่นที่ไม่มีกฎหมาย?
ส่วนใหญ่ก็ออกกำลังกายวิ่งอยู่ในหมู่บ้าน เลี้ยงลูก แล้วก็ฟังเพลงแจ๊ซง่ายๆ เบา พักผ่อนสักชั่วโมง ช่วยภรรยาเลี้ยงลูก อยู่กับภรรยาบ้าง นอกนั้นชีวิตก็ไม่มีอะไรแล้วอยู่กับกฎหมาย

- ชีวิตกับลูกๆทั้งสาม?
ลูกๆ ของผมจะเป็นคนที่ปฏิบัติตามกฎหมายมาก อย่างลูกคนกลางก็จะชอบว่าผมเวลาผมลืมเปิดไฟเลี้ยว ทำไมพ่อขับเร็ว เขาก็จะถามอยู่เสมอ เราไม่เคยไปว่าลูกว่านี่เราเป็นพ่อนะห้ามเถียง คือลูกๆ ทุกคนสามารถคุยเรากับเราได้ เขาอยากเป็นอะไรก็เป็นเรื่องของเขา เขาจะเป่านกหวีดอะไรก็เรื่องของเขา (หัวเราะ) คือเด็กถ้าเราไปตีกรอบให้เขามาก ความรู้ก็จะไม่เกิด ซึ่งเป็นวิธีที่ผมสอนกับนักศึกษาเช่นกัน คือต้องให้ลูกๆ มีอิสระ แต่อยู่ในกติกา 

- ชีวิตคู่กับภรรยา?
กับคุณณัฐญา หรือคุณต๋อม รู้จักกันมาตั้งแต่เรียนที่สาธิตปทุมวัน แต่ก็ไม่ได้เป็นแฟนกัน จนมาเจอกันอีกครั้งตอนจบมหาวิทยาลัยและได้มาทำงานกับอาจารย์สุรเกียรติ์ จึงคบกันตั้งแต่อายุ 21-22 ก็มีเขาเป็นแฟนมาถึงปัจจุบัน คือส่วนตัวผมเป็นคนพูดมาก ผมชอบเพราะภรรยาเขาพูดน้อย (ยิ้ม) เขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์ สำหรับเขาคือ 1 บวก 1 ต้องเป็น 2 ส่วนสำหรับผมบางที 1 บวก 1 ไม่เท่ากับ 2 เพราะบางทีผมพูด ผมเถียง ผมคิด ก็ทำให้อยู่ด้วยกันได้เหมือนหยินกับหยาง คือผมเป็นคนใจร้อน คุณต๋อมเป็นคนใจเย็น เพราะก่อนหน้าที่จะคบกันผมเคยมีแฟนเป็นนักกฎหมายอยู่ด้วยกันก็เถียงกันตลอด ทำได้อยู่ด้วยกันไม่ได้ก็ต้องเลิกกันไป คุณต๋อมเขาเป็นคนที่รับฟังความคิดเห็น อยู่ด้วยแล้วสบายใจ (ยิ้ม)

- ดูเกรี้ยวกราดเวลาออกสื่อ แล้วเวลาอยู่บ้าน อีกมุมหนึ่งของ เอกชัย เป็นอย่างไร?
จริงๆ แล้วเวลาผมอยู่บ้านจะเป็นคนไร้สาระ (หัวเราะ) แต่ว่าเหตุที่ดูเกรี้ยวกราด ตรงไปตรงมา เป็นเพราะเวลาเราไปออกสื่อ เวลาของสื่อนั้นมีค่า ดังนั้น เวลาเขาเชิญเราไปออก จะมาอ้อมค้อมไม่ได้ เขาไม่เห็นด้วยกับเราไม่เป็นไร แต่เราต้องเปิดให้ชัดเจนว่าเราเป็นแบบนี้ เขาจะได้รู้ว่าเราคืออะไร หรือให้คนอื่นสามารถเถียงกับเราได้ นักกฎหมายต้องชัดเจน ไม่ว่ายืนอยู่ตรงไหนก็ต้องชัด

"แต่คุณก็ต้องฟังเหตุผลคนอื่นด้วยเช่นกัน ถ้าเหตุผลเขาดีกว่าคุณก็ต้องยอมรับ"

.................

(ที่มา:มติชนรายวัน 22 ธ.ค.2556)








Jan 21, 2014

ด้วยแรงใจ - อัสนี และ วสันต์ โชติกุล


เพลงนี้ ไม่ได้แต่งเพื่อให้กำลังใจนักกีฬาคนพิการ
เพราะพวกเขามีมากกว่าคนครบอย่างเราๆ อยู่แล้ว...
แต่เพื่อคารวะหัวใจพวกเขาเหล่านั้น
และเพื่อที่ให้คนครบอย่างเราๆ
ได้ดูพวกเขาเป็นตัวอย่าง
เมื่อยามที่เราหมดกำลังใจ...

เพลง : ด้วยแรงใจ
นักร้อง : อัสนี-วสันต์ โชติกุล
เนื้อร้อง : นิติพงษ์ ห่อนาค

ทำนอง/เรียบเรียง : อัสนี โชติกุล , พลิน ธนัชชา

ชะตาคนเราเกิดมาไม่เท่ากัน
ดีเลวร้อยพันแต่ฝันทุกคนมี
อาจเกิดมาแล้วแต่โชคไม่ดี ที่ฟ้าให้มาขาดไป
แต่ว่าใจยังครบอยู่ จะยังสู้ไม่กลัวสิ่งใด
เกิดเป็นคนใจนั้นใหญ่ ไม่ยอมแพ้
แม้กายไม่พร้อม ด้วยแรงใจที่เข้าใจ
ไม่โกรธเคืองในดวงชะตาฟ้าดินทุกอย่าง
จะทำให้ดีต้องสู้จนสุดทาง
ไม่คิดวางมือไม่ท้อ ด้วยแรงใจ ด้วยความฝัน
จะตรงไปยังชัยชนะไม่มีรั้งรอ
แค่เพียงหัวใจมุ่งมั่นนั้นก็พอ จะขอชนะด้วยตัวเอง
ในความเป็นคนที่ยังหายใจ ใครมีเท่าไรก็สู้เท่าที่มี
จะขาดจะครบจะต้องได้ดี คำนี้ต้องคงอยู่ที่ใจ
แต่ว่าใจยังครบอยู่ จะยังสู้ไม่กลัวสิ่งใด
เกิดเป็นคนใจนั้นใหญ่ ไม่ยอมแพ้
แม้กายไม่พร้อม ด้วยแรงใจที่เข้าใจ
ไม่โกรธเคืองในดวงชะตาฟ้าดินทุกอย่าง
จะทำให้ดีต้องสู้จนสุดทาง ไม่คิดวางมือไม่ท้อ
ด้วยแรงใจ ด้วยความฝัน
จะตรงไปยังชัยชนะไม่มีรั้งรอ
แค่เพียงหัวใจมุ่งมั่นนั้นก็พอ
จะขอชนะด้วยตัวเอง




Jan 16, 2014

วันครู ๑๖ มกราคม ๒๕๕๗


  • https://teetwo.blogspot.com/2020/01/blog-post_16.html
  • https://teetwo.blogspot.com/2017/01/blog-post_16.html



  • อาจารย์สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา





    ***ประวัติการภาวนาของ อ.สุรวัฒน์ เสรีวิวัฒนา ศิษย์ของหลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช***
    เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ภายใต้ร่มเงาพุทธศาสนาของนายสุรวัฒน์

    ๑. ที่มาของเรื่อง

    ผมทราบว่า มีหลายท่านต้องการอ่านประสบการณ์การปฏิบัติธรรมจากผม จึงได้ตั้งใจว่าจะพยายามเขียนให้เสร็จทันเป็นของขวัญส่งท้ายปีเก่า ๒๕๔๓ ต้อนรับปีใหม่ ๒๕๔๔ ให้กับสมาชิกวิมุตติ โดยได้พยายามรื้อฟื้นความทรงจำในรอบ ๑๐ ปีที่ผ่านมาเพื่อนำมาเล่าสู่กันฟัง ด้วยหวังว่า อย่างน้อยก็คงจะสร้างกำลังใจให้ผู้ที่ได้อ่าน เพื่อมุ่งสู่ความดับทุกข์ต่อไป

    ถึงแม้ในวันวานที่ผ่านมาจะล้มลุกคลุกคลานและเหนื่อยยากสักเท่าไรก็ตาม ถึงแม้ในวันนี้จะยังถึงความดับทุกข์ไม่ได้ แต่วันข้างหน้าไม่วันใดก็วันหนึ่ง ก็ยังมีหวังที่จะดับทุกข์ลงได้อย่างหมดจด ด้วยการเจริญสติปัฏฐานตามที่พระพุทธองค์ทรงประกาศไว้ และผ่านการสืบทอดจากจิตสู่จิตของพุทธบริษัทรุ่นแล้วรุ่นเล่ามาจนถึงวันนี้ วันที่ผมได้มีโอกาสได้เรียนรู้การเจริญสติปัฏฐาน จากครูปราโมทย์ ครูผู้จุดประกายแห่งความดับทุกข์ให้สว่างไสวในจิตอยู่จนทุกวันนี้

    ๒. เริ่มแรกแห่งความสนใจในพระพุทธศาสนา

    ได้เริ่มขึ้นเมื่อปลายปีพ.ศ. ๒๕๓๐ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ผมใกล้จะจบการเรียนระดับปริญญาตรี ในช่วงนั้นผมเกิดความทุกข์ใจเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุต้องพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ความทุกข์ใจในครั้งนั้นมีมากถึงขั้นน้ำตาตกใน สามารถเห็นน้ำตาที่ไหลอยู่ข้างในอก และเห็นความเศร้าหมองของจิตอย่างชัดเจน จนอดที่จะพูดกับตัวเองไม่ได้ว่า ทำไมเราต้องเป็นอย่างนี้ แล้วเราจะทำอย่างไรจึงจะพ้นไปจากสภาพอย่างนี้ได้ ในความทุกข์ใจอันแสนสาหัสนี้ ผมไม่อาจทำอะไรได้มากไปกว่า การปล่อยให้วันเวลาผ่านไป ด้วยความหวังว่า วันเวลาที่ผ่านไปนั้น จะช่วยให้เราหายจากความทุกข์ใจได้บ้าง

    จนวันหนึ่งผมได้ไปเดินเล่นในร้านหนังสือ ทำให้ได้เจอหนังสือเล่มเล็กๆ บนหน้าปกเขียนด้วยถ้อยคำว่า เกิดมาทำไม ถ้อยคำๆ นี้รู้สึกสะดุดใจผมมาก จึงได้หยิบขึ้นมาดูและทราบว่าเป็นหนังสือธรรมะของหลวงพ่อพุทธทาสจึงเปิดอ่านเพียงครู่เดียวก็พอจับใจความได้ว่า คนเราจะเกิดมาเพื่อกิน เพื่อกาม และเพื่อเกียรติ เท่านั้นหรือ ทั้งที่จริงแล้วผู้ที่ได้เกิดมาในโลกนี้ ยังมีสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะได้รับสิ่งนั้นก็คือการมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นทุกข์ เมื่อได้อ่านแล้วก็เกิดความสนใจทันที และเป็นความสนใจในแรกเริ่มที่จะศึกษาว่า การมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่เป็นทุกข์นั้นเขาทำกันอย่างไร ต่อมาจึงได้ศึกษาธรรมะจากหนังสือของหลวงพ่อพุทธทาสเรื่อยมา และพอจะจำได้ว่าเล่มที่อ่านเป็นเรื่องเป็นราวเล่มแรกก็คือ คู่มือมนุษย์

    ๓. ผิดพลาดตั้งแต่เริ่มต้น

    แม้จะได้อ่านหนังสือธรรมะบ้างแล้วก็ตาม แต่ด้วยความโง่เขลาเบาปัญญาของผมเอง จึงทำให้ผมเข้าใจได้เพียงว่า การปฏิบัติเพื่อความพ้นทุกข์นั้น ต้องมีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นขั้นๆ ไป ก็เลยเริ่มต้นด้วยการรักษาศีล ๕ พร้อมๆ ไปกับการฝึกสมาธิเพื่อให้จิตสงบนิ่งส่วนเรื่องปัญญานั้น ยังเข้าใจผิดไปว่า ต้องมีสมาธิแบบสงบนิ่งเสียก่อนจึงจะเจริญปัญญาได้ จึงเอาแต่รักษาศีลกับพยายามทำจิตให้สงบนิ่ง ซึ่งทำเท่าไรจิตที่ต้องการความสงบนิ่งก็ไม่อาจสงบนิ่งได้ มีแต่ฟุ้งซ่านและง่วงนอนอยู่ทุกวัน

    แต่ด้วยความไม่ย่อท้อ จึงได้พยายามฝึกทุกๆ วัน และเที่ยวหาหนังสือที่เกี่ยวกับการปฏิบัติมาศึกษาด้วยตัวเอง ยิ่งศึกษาไปก็ยิ่งเข้าใจคลาดเคลื่อน จึงตั้งใจว่าต้องทำสมาธิให้ได้อย่างน้อยก็อัปปนาสมาธิ เพราะเข้าใจผิดไปว่าหากไม่ได้อัปปนาสมาธิก็เจริญวิปัสสนาไม่ได้ จึงกลายเป็นการปฏิบัติด้วยความอยากไปโดยไม่รู้ตัว เมื่อปฏิบัติด้วยความอยาก ก็ยิ่งถอยห่างจากมรรคผล และแม้จะฝึกเท่าไรก็ไม่สามารถบังคับจิตให้เกิดความสงบนิ่งได้ตามที่อยาก

    ความที่เข้าใจผิดๆ ในตอนนั้น ได้ทำให้การปฏิบัติผิดซ้ำผิดซ้อนมากขึ้นไปอีก เพราะยิ่งทำให้จิตสงบไม่ได้ก็ยิ่งต้องค้นต้องศึกษา ทีนี้เลยเกิดไปสนใจเรื่องอภิญญาต่างๆ ตามที่นิตยสารฉบับหนึ่งชอบนำเรื่องอภิญญาของพระกรรมฐานมาลง ก็ยิ่งทำให้ผมเข้าใจผิดไปว่า การปฏิบัติเพื่อดับทุกข์นั้นจะต้องได้อภิญญาก่อน ก็เลยเพิ่มความอยากขึ้นอีกหนึ่งอย่าง คืออยากทั้งให้จิตสงบกับอยากได้อภิญญา แม้ว่าจะเข้าใจผิดต่อหลักวิธีการปฏิบัติอย่างไรก็ตาม แต่การปฏิบัติเพื่อการดับทุกข์ ก็ยังคงเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ในใจตลอดเวลา

    ๔. ได้ศึกษาจากพระปฏิบัติครั้งแรก

    เมื่อฝึกแบบผิดๆ ทำให้ฝึกอย่างไรก็ไม่ได้ผลอย่างที่ต้องการ แต่ผมก็ไม่ย่อท้อ จึงตั้งใจว่าจะหาครูบาอาจารย์ที่เป็นพระปฏิบัติ ให้ท่านสอนการปฏิบัติให้ ครั้นจะไปหาพระปฏิบัติสายหลวงปู่มั่น ก็ไม่รู้จะไปอย่างไร แต่ละองค์ก็อยู่ไกลเหลือเกิน จะไปก็ไปไม่ถูก จนวันหนึ่งราวๆ เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๒ ได้สนทนากับผู้ที่สนใจเรื่องธรรมะเหมือนกัน จึงได้รู้จักชื่อ หลวงปู่วัย จตฺตาลโย (หลวงปู่มรณภาพเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.๒๕๔๑) จากคำบอกเล่าทราบว่า หลวงปู่เป็นพระปฏิบัติที่มีอภิญญาสูง มีความสามารถหลายๆ ด้านมาก เช่น การรักษาโรคภัยไข้เจ็บด้วยการแพทย์แผนโบราณ และยังเก่งในด้านการปฏิบัติกรรมฐาน ตอนนั้นผมรู้สึกมีความต้องการจะไปกราบหลวงปู่เป็นอย่างมาก และทราบต่อมาว่าหลวงปู่ได้มาสอนกรรมฐานที่กรุงเทพเป็นประจำทุกวันศุกร์ตอนเย็น สถานที่สอนก็อยู่ใกล้บ้านผมเสียด้วย จึงได้มีโอกาสไปกราบท่านตามความต้องการ

    วันแรกที่ได้พบกับหลวงปู่วัย ผมไม่รีรอและขอเรียนกรรมฐานทันที จึงกราบเรียนหลวงปู่ว่า ผมมาขอเรียนกรรมฐานจากหลวงปู่ หลวงปู่ได้หยิบหนังสือธรรมปฏิบัติที่ท่านเขียนแจกในวันครบรอบวันเกิดปีนั้นให้ และสอนผมให้ตามดูลมหายใจ หลวงปู่บอกว่า ธรรมของพระพุทธองค์ต้องมีเหตุมีผลและพิสูจน์ได้ อย่างเช่นลมหายใจ เราต้องรู้ว่าเมื่อหายใจเข้าเป็นอย่างไร หายใจออกเป็นอย่างไร คือเมื่อหายใจเข้าต้องรู้ว่าลมหายใจเข้านั้นเป็นลมที่เย็น และเมื่อหายใจออกต้องรู้ว่าลมหายใจออกนั้นเป็นลมที่ร้อน หากไม่เชื่อก็ให้ลองหายใจรดหลังมือดูว่าลมที่ออกนั้นร้อนจริงหรือไม่

    แล้วหลวงปู่ก็อธิบายต่อไปว่า ที่ลมหายใจออกมีความร้อนกว่าลมหายใจเข้านั้น เป็นเพราะในตัวเรามีธาตุไฟอยู่ และลมหายใจที่เข้าไปนั้น จะไปหล่อเลี้ยงธาตุไฟให้คงอยู่ได้ หลวงปู่ยังบอกต่อไปอีกว่า ถ้าจะเรียนกับหลวงปู่ก็ต้องเรียนให้รู้จริงอย่างนี้ เหมือนการขึ้นต้นไม้ก็ต้องขึ้นทางโคนต้น จะไปขึ้นทางยอดไม่ได้ วันนั้นฟังหลวงปู่สอนแล้วจิตใจฮึกเหิมมาก กลับมาบ้านก็ตามดูลมหายใจอย่างที่หลวงปู่สอนให้อย่างตั้งใจ

    ๕. ฝึกอย่างไรก็มีแต่ฟุ้งซ่าน

    ในช่วงนั้นพยายามตามดูลมหายใจ เพื่อจะได้รู้แจ้งแทงตลอดในกองลมทั้งปวงอย่างกับหลวงปู่วัย ดูแล้วดูอีกก็ไม่เห็นว่าจะรู้เรื่องลมเลย เห็นแต่ความคิดที่ฟุ้งซ่านไปอย่างมาก กำหนดดูลมหายใจทีไร ก็รู้ลมหายใจเข้าออกได้เพียงสองสามรอบ ต่อไปก็ฟุ้งซ่านอย่างเดียว นั่งทำ ๑๐ นาทีก็ฟุ้งซ่านทั้ง ๑๐ นาที นั่งทำครึ่งค่อนชั่วโมงก็ฟุ้งซ่านทั้งครึ่งค่อนชั่วโมง เป็นอย่างนี้อยู่หลายเดือน

    เมื่อทำไปมีแต่ความฟุ้งซ่าน ก็เลยคิดหาอุบายใหม่ ตามที่เคยได้ยินหลวงปู่พูดถึงการนับลมหายใจว่า หลวงปู่สามารถนับลมหายใจได้ทั้งวันโดยไม่หลงลืมเลย ก็เลยลองนับบ้างเผื่อว่าจะทำได้ ในใจคิดว่า ไม่ต้องนับได้ทั้งวันเหมือนหลวงปู่หรอก เอาสักครึ่งชั่วโมงก็เก่งแล้ว ลองทำอยู่นานแต่ผลที่ได้คือ นับได้ยังไม่ทันถึง ๑๐ ครั้ง ต่อไปก็ฟุ้งซ่านเหมือนเดิม

    ผมจึงต้องเที่ยวหาอุบายทดลองอยู่อีกหลายอย่าง ทั้งเพ่งกสิณ ดูอสุภะที่พิพิทธภัณฑ์คองดอน โรงพยาบาลศิริราช เรียกว่าเกือบจะครบทั้ง ๔๐ กรรมฐานของสมถะ และตอนหลังหันมาเดินจงกรม ซึ่งผลก็ยังเหมือนเดิมคือ จิตสงบนิ่งไม่ได้เลย มีแต่ความฟุ้งซ่านอย่างเดียว แต่การเดินจงกรมนั้นดูจะเข้าท่าที่สุด

    พอเริ่มเดินจงกรมได้ระยะหนึ่งแล้ว วันหนึ่งก่อนเกิดเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ก็ได้ไปกราบหลวงปู่ หลวงปู่บอกว่า เดินได้แล้วก็เดินไป จะเอาให้ได้ทั้งสมถะทั้งวิปัสสนาอย่างหลวงปู่นั้นยาก คนส่วนมากจะทำได้อย่างเดียวเท่านั้น เมื่อได้ยินเช่นนั้น ความคิดที่จะมุ่งฝึกแต่สมถกรรมฐานก็ลดลงไปอย่างมาก เกิดเป็นความอยากที่จะฝึกวิปัสสนาแทน แต่ด้วยเพราะความเป็นคนที่ไม่ถามอะไรง่ายๆ ก็เลยได้แต่ถามในใจว่าแล้ววิปัสสนาเขาทำกันอย่างไร หลวงปู่ก็เลยชวนคุยเรื่องหนังสือที่จะทำแจกวันเกิดปีนั้นว่า จะเอาเล่มเก่าๆ มาพิมพ์ใหม่ โดยจะพิมพ์เรื่องพุทธศาสนาในทัศนะของข้าพเจ้า เป็นหนังสือที่เกี่ยวกับการเจริญวิปัสสนาและวิปัสสนาญาณ ๑๖ ตามที่หลวงปู่ได้ปฏิบัติมา ปลายปีนั้นเองผมจึงได้ศึกษาการฝึกวิปัสสนาจากหนังสือเล่มนั้น

    ๖. ฝึกแบบคิดไปเรื่อยๆ (วิปัสสนึก)

    เมื่อเริ่มศึกษาการเจริญวิปัสสนานั้น ก็ยังมีความเข้าใจผิดไปอีกว่า การเจริญวิปัสสนาจะต้องเกิดเป็นความรู้ในเรื่องของขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ฯลฯ ทีนี้ก็เลยอ่านหนังสือธรรมะเป็นหลัก อ่านแล้วก็นำมาครุ่นคิดเอาว่า ธาตุเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ขันธ์เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ธรรมข้อนี้เป็นอย่างนี้อย่างนั้น ไม่เคยเฉลียวใจเลยว่านั่นมันวิปัสสนึก จึงเอาแต่คิดนึกเอาเองอยู่หลายปี ก็ไม่เห็นจะเกิดปัญญาที่จะจัดการกับกิเลสได้เลย ถึงแม้จะเห็นว่าการคิดเอาไม่เกิดปัญญา แต่ก็ยังไม่รู้ว่าทำผิดๆ อยู่

    ๗. เห็นความโกรธ

    ในช่วงที่ปฏิบัติด้วยการคิดเอาเป็นหลักนั้น บังเอิญได้เห็นความโกรธโดยไม่ตั้งใจ แต่ตอนนั้นไม่รู้เลยว่า การเห็นความโกรธนั่นแหละคือการเจริญวิปัสสนา ที่เห็นความโกรธตอนนั้นคือ เห็นการเกิดขึ้นและดับไปของความโกรธ ซึ่งการเกิดขึ้นของความโกรธจะเกิดขึ้นเร็วมาก แต่ตอนจะหายโกรธ กลับค่อยๆ เบาลงๆ แล้วหายไปอย่างช้าๆ เปรียบได้เหมือนกับการจุดไม้ขีดไฟ ที่เริ่มจุดเปลวไฟจะลุกสว่างเร็วมากแล้วจึงค่อยๆ มอดดับลงไป

    ผลของการเห็นความโกรธนี้เอง ที่ทำให้ผมกลายเป็นคนที่มีความโกรธน้อยลง จนการแสดงความโกรธออกทางกายมีน้อยมาก เห็นแต่ความโกรธที่เกิดอยู่ในจิตเท่านั้น เมื่อนึกถึงตอนนั้นแล้วยังรู้สึกเสียดายที่ไม่อาจเข้าใจการปฏิบัติที่ถูกได้ เพราะแม้จะเห็นความโกรธและเห็นผลของการเห็นความโกรธได้บ้างแล้ว แต่กลับไม่มั่นคงในวิธีการปฏิบัติ จึงต้องหันกลับไปทำวิปัสสนึกเอาอีกจนได้ ทั้งๆ ที่เคยถามหลวงปู่วัยแล้วว่าผมต้องฝึกอะไรเพิ่มอีกหรือไม่ และหลวงปู่ก็ตอบชัดเจนแล้วว่า ไม่ต้องแล้ว ให้ดูรูปดูนามไปอย่างนี้แหละ

    ๘. สิ้นหลวงปู่วัย เกือบเอาตัวไม่รอด

    ผมปฏิบัติอยู่กับหลวงปู่วัยมาจนปี ๒๕๔๑ หลวงปู่ก็ มรณภาพลงในเดือนเมษายน ก่อนหลวงปู่จะมรณภาพนั้น ผมก็ยังปฏิบัติแบบคนหลงป่า เอาแต่เดินทางที่ผิดๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก โดยที่หลวงปู่ไม่เคยที่จะเบื่อหน่ายกับการสอนศิษย์โง่คนนี้เลย อีกทั้งบางครั้งก็ยังเมตตาเล่าเรื่องที่หลายคนอยากรู้ให้ฟังอีกหลายเรื่องโดยไม่ต้องถาม เช่น เรื่องที่หลวงปู่ไปเรียนกรรมฐานกับหลวงปู่พระครูโลกอุดร หรือจะเป็นเรื่องนรกสวรรค์ก็ตาม หลวงปู่ก็จะเล่าให้ฟัง ทั้งที่เรื่องพวกนี้หากใครที่ไม่ใช่ผู้ปฏิบัติจริงไปถามเข้า ก็จะโดนตะเพิดออกไปทุกราย เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลายคนไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริง

    ตลอดเวลาที่ศึกษาธรรมกับหลวงปู่ แม้ว่าจะยังไม่อาจจับหลักการปฏิบัติที่ถูกต้องได้ แต่เมื่อย้อนไปพิจารณาดูแล้วพบว่า หลวงปู่ได้สอนให้ผมมีความคิดเห็นที่ถูกต้องมากมาย ทั้งทางโลกและทางธรรม จนผมสามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ได้ตราบเท่าทุกวันนี้ หลวงปู่วัยจึงเป็นผู้ให้การเลี้ยงดูเด็กน้อยในร่มเงาของพุทธศาสนาอย่างผมในตอนนั้น

    เมื่อสิ้นหลวงปู่วัย ผมก็เลยเคว้งคว้างหาครูบาอาจารย์ไม่ได้จนมีศิษย์หลวงปู่คนหนึ่ง ที่หลวงปู่มักกล่าวถึงเสมอๆ ว่าเข้าใจการปฏิบัติได้ดี ได้ตั้งตัวขึ้นเป็นอาจารย์สอนธรรมะ ผมจึงไปร่วมศึกษาด้วย ในช่วงแรกก็เรียนการเพ่งกสิณ คนที่ไปเรียนเกือบทั้งหมดทำได้อย่างง่ายดาย แต่ผมกลับทำไม่ได้เลย แต่เมื่อย้อนกลับไปพิจารณาดูพบว่า ช่วงนี้เป็นช่วงที่น่ากลัวมากของการปฏิบัติ เพราะอาจารย์คนนี้ยิ่งสอนก็ยิ่งออกจากกรอบของพุทธศาสนามากขึ้น ซึ่งหากผมทำได้อย่างที่อาจารย์ท่านนี้สอน ป่านนี้ผมก็คงเป็นผู้ปฏิบัติด้วยความเห็นผิด ด้วยวิธีการที่นอกออกไปจากกรอบพระพุทธศาสนา ซึ่งนับว่าผมยังโชคดีที่ทำไม่ได้และถอนตัวออกมาได้ทัน ทำให้นึกถึงคำหลวงปู่วัยที่กล่าวไว้กับศิษย์ท่านหนึ่งว่า ไม่รู้เป็นอย่างไร พวกที่เรียนกับหลวงปู่ พออยู่ห่างจากหลวงปู่ก็มักเพี้ยนกันไปหมด ผมเลยคิดเอาเองว่า คนส่วนมากที่ไปเรียนกับหลวงปู่ มักเป็นพวกที่ชอบเรื่องอภิญญาเป็นทุนเดิม หาได้น้อยคนนักที่จะต้องการเรียนเพื่อการพ้นทุกข์ ตอนอยู่ใกล้ชิดหลวงปู่ หลวงปู่ก็ยังควบคุมอบรมให้อยู่ในร่องในรอยได้ แต่พอห่างหลวงปู่และไม่มีใครคอยควบคุมก็เลยเพี้ยนได้ง่าย

    ๙. พบครูปราโมทย์ ผู้จุดประกายเจริญสติสัมปชัญญะ

    แม้จะสิ้นหลวงปู่วัยไปแล้ว ผมก็ยังคงพากเพียรหาทางพ้นทุกข์อยู่ทุกวัน แม้จะปฏิบัติแบบผิดๆ ก็ยังรู้สึกว่า วันใดไม่ได้ปฏิบัติวันนั้นเหมือนกับไม่ได้กินยาแก้โรคประจำตัว แล้วก็จะคอยสอดส่องหาครูบาอาจารย์ที่จะศึกษาการปฏิบัติต่อ โดยมีความหวังว่าสักวันต้องได้พบครูบาอาจารย์ที่จะสอนปฏิบัติต่อไปได้ ด้วยจดจำคำของหลวงปู่วัยที่เคยพูดไว้ว่า ผู้ปฏิบัติธรรมเขาไม่ทอดทิ้งกันหรอก

    จนวันหนึ่งราวๆ เดือนสิงหาคม-กันยายน ๒๕๔๒ บังเอิญเล่น Internet แล้วเจอกระดานสนทนาลานธรรม รู้สึกตื่นเต้นมากที่มีผู้คนมากมายมาร่วมสนทนาธรรม ก็เลยเข้าไปขอร่วมสนทนาด้วย ใหม่ๆ ก็คุยไปตามความรู้เพียงน้อยนิด แต่ก็ได้เห็นอะไรมากมายจากทั้งนักปริยัติ นักอภิธรรม และนักปฏิบัติ แต่ที่สะดุดใจมากที่สุดก็คือ กระทู้และความเห็นของคุณสันตินันท์ หรือครูปราโมทย์ เพราะอ่านแล้วถึงใจดีทีเดียว คงด้วยเพราะในระยะหลัง ผมจะสนใจการปฏิบัติมากกว่าความรู้ต่างๆ ทำให้ยิ่งอ่านก็ยิ่งมั่นใจว่า ครูนี่แหละเป็นผู้ให้คำแนะนำได้ดีที่สุด จึงได้พยายามที่จะสอบถามการปฏิบัติกับครู ซึ่งตอนนั้นครูเริ่มที่จะไม่ค่อยเข้ามาที่ลานธรรมแล้ว แต่ด้วยความเมตตาของสมาชิกลานธรรม ทำให้ผมได้ทราบวิธีติดต่อกับกับครูจนได้

    เมื่อทราบวิธีติดต่อครูแล้ว ผมจึงได้แนะนำตัวทางจดหมาย (e-mail) และขอคำแนะนำในวิธีปฏิบัติที่ผมทำอยู่ในขณะนั้นคือ ผมจะหยิบยกเอาอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งขึ้นมาพิจารณาเพื่อจะแก้อารมณ์นั้นให้ได้ คำตอบที่ได้จากครูทำให้ผมรู้สึกสะเทือนใจมาก เพราะครูตอบว่าที่ทำอยู่นั้นผิด ที่ถูกคือให้รู้อารมณ์ไม่ใช่ให้แก้อารมณ์ เพราะความอยากที่จะแก้อารมณ์เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จะเอาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์มาดับทุกข์ไม่ได้ เท่านั้นเองครับทำให้จิตผมตื่นทันที พร้อมกับเริ่มที่จะรู้อารมณ์ไม่แก้อารมณ์ ความหนักอึ้งอยู่ในหัวมานานก็เบาลง เพราะได้คำแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง และในระยะเวลาใกล้ๆ กันนั้นเอง ก็ได้รู้จักกระดานสนทนาชื่อ วิมุตติ

    ๑๐. ได้รับการฝึกให้รู้ตัวจากครูครั้งแรก

    แม้จะทราบถึงวิธีการปฏิบัติจากครูทางจดหมายแล้ว แต่ด้วยความที่จิตยังไม่มีความรู้ตัว ทำให้ต้องกลับไปปฏิบัติแบบผิดๆอีกคือ ปฏิบัติแบบเพ่งและคิดเอาอีกจนได้ เป็นอย่างนี้อยู่อีก ๓-๔ เดือน เห็นว่าไม่ได้ผลแน่ จึงได้ไปพบครูด้วยตัวเองที่ศาลาลุงชิน ไปครั้งแรกไม่ได้พบจึงได้ไปอีกครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๓

    เมื่อได้โอกาสจึงเข้าไปแนะนำตัวเองกับครู ครูก็ไม่รอช้าสอนผมทันทีว่า ยังรู้ตัวไม่เป็น ต้องฝึกรู้ตัวให้เป็น ทันทีที่ครูบอกผมก็พอรู้ได้ว่าจิตตื่นขึ้นมาเล็กน้อย แล้วก็เผลอบ้าง เพ่งบ้างไปตามแบบฉบับของเด็กเพิ่งหัดที่เอาแต่หลับทั้งที่ตื่นอยู่

    แต่ด้วยความตั้งใจที่จะปฏิบัติ จึงได้พยายามทำไปตามที่เข้าใจ เมื่อเผลอไปครูก็ทักว่าเผลอไปแล้ว เมื่อเพ่งเอาครูก็ทักว่าอย่างนั้นเพ่งเอา เมื่อครูทักถึงการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง ผมก็จะจดจำเอาไว้ว่า

    ถ้าทำแล้วมีอาการอย่างนั้นแสดงว่าทำผิดแล้ว แต่ก็ยังไม่ทราบว่าแล้วต้องทำอย่างไรจึงจะถูก จึงต้องนั่งทำไปเรื่อยๆ ในที่สุดครูก็ทักว่า ดีแล้วให้ทำไปอย่างนั้น ก็จดจำเอาไว้

    เมื่อทราบว่าปฏิบัติอย่างไรผิดปฏิบัติอย่างไรถูก ก็ปฏิบัติไปเรื่อยๆ (ปฏิบัติอย่างจริงจัง แต่ไม่เคร่งเครียด) หากทำผิดก็ให้รู้ว่าทำผิดไปแล้ว หากทำถูกก็ให้รู้ว่าทำถูกแล้ว ผมมีความเห็นว่า ตรงจุดนี้มีความสำคัญมากๆ สำหรับผู้ที่เริ่มปฏิบัติ เพราะไม่เช่นนั้นแล้วการปฏิบัติก็ไม่อาจก้าวหน้าได้ อย่างเช่นที่ผมเป็นมาก่อนหน้านี้คือ ทำผิดก็ไม่รู้ว่าผิดแถมยังคิดว่าทำถูกอีก ก็เลยเที่ยวทำผิดๆอยู่เป็นนานสองนาน แต่พอทำถูกเข้าก็กลับไม่รู้ว่าทำถูก จึงทำให้เที่ยวหาอุบายต่างๆ นานามาทำไปแบบผิดๆ อีก ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ไม่รู้ว่าต้องไปเกิดอีกสักกี่ร้อยกี่พันชาติจึงจะเข้าถึงธรรมได้

    หลังจากพอจะรู้ด้วยตัวเองได้ว่า การปฏิบัติที่ถูกนั้นเป็นอย่างไร จิตก็เริ่มมีการพัฒนาไปตามลำดับ โดยในช่วง ๓ เดือนหลังจากได้ไปพบครู ก็เริ่มรู้ตัวได้บ้างแล้ว แต่ด้วยความไม่ประสีประสาจึงต้องคอยให้ครูบอกว่า เราพอจะรู้ตัวได้แล้ว ต่อไปก็ให้เจริญสติปัฏฐานแต่ครูบอกให้หาเอาเองว่าจะเจริญสติปัฏฐานในแบบใด วันที่ครูบอกว่าผมรู้ตัวได้แล้วนั้นผมยังงงๆ อยู่ว่า เราทำมาก็ไม่เห็นจะดูจิตได้ชัดเจนเลย ทำไมครูบอกว่าเรารู้ตัวได้แล้ว จนอีกหนึ่งเดือนต่อมาจึงพอจะเข้าใจว่า ความรู้ตัวได้นั้นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเกิดสงสัยในขณะไม่สบายว่า เราก็รู้ตัวได้แล้วแต่ทำไมความทุกข์จึงไม่เห็นจะเบาบางลง เมื่อคอยดูต่อไปเรื่อยๆ ก็เข้าใจว่า เราพอรู้ตัวอยู่ได้แม้ร่างกายเป็นทุกข์อยู่ แต่กลับไม่เห็นว่าความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ก็เลยนึกขึ้นได้ว่าเราเพิ่งจะรู้ตัวได้แต่ยังรู้ไม่เป็น ถ้ารู้เป็นจะต้องเห็นว่ามีสิ่งที่ถูกรู้กับมีผู้รู้ หรือรู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง พอนึกได้อย่างนี้จิตก็เริ่มเห็นว่า ความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ จึงทำให้เห็นได้ว่า เมื่อความทุกข์ทางกายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ความทุกข์ทางใจก็เบาบางลงไป

    ต่อมาจึงได้ถือหลักปฏิบัติว่า ให้รู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง แต่ก็กลัวว่าจะหลงลืมหลักนี้ไปอีก จึงได้เขียนใส่กระดาษติดไว้หน้าจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งนับว่าได้ผลดีทีเดียว เพราะในบางวันที่เราเกิดไขว้เขวออกนอกลู่ทางที่ถูกต้อง เมื่อเห็นกระดาษที่เขียนติดไว้ ก็ทำให้กลับเข้าแนวทางที่ถูกได้เร็ว หากไม่เขียนติดไว้ก็อาจจะออกนอกลู่ไปอีกหลายวันหรืออีกเป็นเดือนก็ได้

    ๑๑. ความรู้ไม่อาจช่วยให้พ้นทุกข์ได้

    ในระยะสามสี่เดือนแรกที่ได้พบครู วันหนึ่งขณะที่สนทนากับญาติมิตรท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ที่ปฏิบัติแล้วจิตจะแสดงความรู้ออกมามาก วันนั้นจู่ๆ ผมก็เกิดอาการจิตปลดปล่อยความเห็นผิดในเรื่องความรู้ออกไปได้ จึงได้เข้าใจอย่างชัดเจนว่า ความรู้ทั้งหลายที่เกิดจากการเรียนและผ่านกระบวนการคิดเอาด้วยเหตุด้วยผลนั้น ไม่อาจนำมาใช้ในการดับทุกข์ได้เลย เพราะความรู้ก็คือความรู้ ไม่ใช่ปัญญาที่จะประหารกิเลสลงได้ ความรู้จึงไม่ใช่เรื่องสำคัญในการปฏิบัติธรรมเพื่อความพ้นทุกข์ นับแต่นั้นผมก็เลยไม่สนใจที่จะค้นคว้าหาความรู้ที่เกินจำเป็นอีก โดยเฉพาะในคำสมมุติบัญญัติ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเลิกอ่านเลิกฟังธรรมะ หากแต่การอ่านการฟังธรรมะนั้น ก็อ่านก็ฟังไปเรื่อยๆ โดยไม่สนใจว่าจะรู้เรื่องหรือไม่ ฟังแล้วอ่านแล้วก็แล้วไปไม่เก็บเอามาครุ่นคิดให้เสียเวลา สู้เอาเวลานั้นไปใช้ในการเจริญสติสัมปชัญญะไม่ได้

    ๑๒. กรอบการปฏิบัติเหลือเพียงอริยสัจจ์ ๔

    วันหนึ่งผมได้เปิดอ่านพระไตรปิฎกเล่มที่ ๔ เรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนหลังจากตรัสรู้ไม่นาน เป็นเรื่องเกี่ยวกับอริยสัจจ์ที่พอสรุปความได้ว่า

    พระพุทธองค์ทรงรู้อริยสัจจ์ใน ๓ ลักษณะคือ

    รู้ว่า อะไรคือทุกข์ (ทุกข์)

    รู้ว่า อะไรคือเหตุให้เกิดทุกข์ (สมุทัย)

    รู้ว่า อะไรคือการพ้นจากทุกข์ (นิโรธ)

    รู้ว่า อะไรคือทางให้พ้นจากทุกข์ (มรรค)

    (ผมเห็นว่า นี่คือสิ่งที่ควรรู้ในด้าน ปริยัติ)

    รู้ว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้

    รู้ว่า สมุทัยควรละ

    รู้ว่า นิโรธควรทำให้แจ้ง

    รู้ว่า มรรคควรเจริญให้มาก

    (ผมเห็นว่า นี่คือสิ่งที่ควรรู้ในด้าน ปฏิบัติ)

    รู้ว่า ทุกข์ได้กำหนดรู้แล้ว

    รู้ว่า สมุทัยได้ละแล้ว

    รู้ว่า นิโรธได้ทำให้แจ้งแล้ว

    รู้ว่า มรรคได้เจริญให้มากแล้ว

    (ผมเห็นว่า นี่คือสิ่งที่ควรรู้ในด้าน ปฏิเวธ)

    เมื่อเกิดความเห็นต่ออริยสัจจ์ดังนี้แล้ว การปฏิบัติก็อยู่ในกรอบของอริยสัจจ์ ทั้งในด้านปริยัติและโดยเฉพาะด้านการปฏิบัติหากสิ่งใดอยู่นอกกรอบอริยสัจจ์ผมก็จะไม่สนใจ สำหรับด้านปฏิเวธนั้น ผมเข้าใจแล้วว่า การศึกษาและปฏิบัติตามหลักของพุทธศาสนานั้น เราทำเพียงสองด้านเท่านั้นคือด้านปริยัติกับด้านปฏิบัติ โดยเน้นด้านปฏิบัติเป็นหลัก ส่วนของด้านปฏิเวธเราไม่ต้องทำเพราะปฏิเวธนั้นจะเป็นผลที่จะเกิดจากการปฏิบัตินั่นเอง

    ๑๒. ปฏิบัติอยู่ในชีวิตประจำวัน

    ในการปฏิบัติเจริญสติปัฏฐาน หรือเจริญสติสัมปชัญญะนั้นผมใช้วิธีการปฏิบัติไปพร้อมกับการใช้ชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นจนหลับไม่ว่าจะอาบน้ำ ทานอาหาร ทำงาน ยืน เดิน นั่ง พูด คิด ขับถ่าย ฯลฯ ซึ่งสาเหตุที่ผมเจริญสติปัฏฐานในลักษณะนี้ก็เพราะว่า ผมเป็นคนที่มีจิตไม่ยอมอ่อนลงให้กับการปฏิบัติที่เป็นรูปแบบตายตัว เช่นนั่งทำจังหวะแบบหลวงพ่อเทียนก็ไม่ได้ นั่งเคาะนิ้วก็ไม่ได้ เดินจงกรมก็ไม่ได้ ตามรู้ลมหายใจก็ไม่ได้ ทำทีไรจิตเป็นอันต้องหนักตึง มีโมหะครอบงำ ฟุ้งซ่านและง่วงนอนเสียทุกที และที่แย่ที่สุดก็คือการปฏิบัติแบบหลับตา เพราะจะโดนโมหะและความฟุ้งซ่านเล่นงานเอาอย่างรุนแรง (ฝืนทำมาร่วม ๑๐ ปีก็ไม่ก้าวหน้าเลย) แต่พอฝึกรู้ตัวและเจริญสติสัมปชัญญะในชีวิตประจำวัน จิตกลับอ่อนลงได้โดยง่าย

    นอกจากนี้ผมยังปฏิบัติด้วยความพยายามทำอย่างเต็มกำลังเท่าที่จะทำได้ หากทำเต็มกำลังแล้ว ทำได้เท่าไรก็เท่านั้น ผมจะไม่พยายามทำให้เหมือนครูบาอาจารย์ทุกอย่าง ผมจะให้จิตเขาเป็นไปตามที่ควรเป็น แล้วคอยรู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลางไปเรื่อยๆ

    ๑๓. ตัวเราก็ถูกรู้เช่นกัน

    เมื่อผ่านการเจริญสติสัมปชัญญะ ด้วยการรู้สิ่งที่ปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลางได้ประมาณเกือบ ๘ เดือน ความรู้สึกว่ามีตัวเราอยู่จึงได้ปรากฏชัดขึ้น ในตอนนั้นจิตก็ยังเห็นผิดไปว่าตัวเรามีอยู่ แต่ด้วยการยึดในหลักการปฏิบัติว่า ให้รู้สิ่งปรากฏด้วยจิตที่เป็นกลาง จึงได้เฝ้ารู้อยู่ทุกครั้งที่มีตัวเราเกิดขึ้น ได้เห็นความเกิดขึ้นและดับไปของตัวเรานั้นเอง เมื่อเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของตัวเราหลายครั้งเข้า ก็ได้เห็นถึงสภาวะที่จิตคลายจากการยึดอยู่ในตัวเราแล้วไปยึดอารมณ์อื่นแทน จึงทำให้เห็นว่าความรู้สึกว่าตัวเราก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้ และเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าแท้ที่จริงแล้ว ความรู้สึกว่าเป็นตัวเรานั้น เป็นเพียงสิ่งๆ หนึ่งที่ถูกปรุงแต่งขึ้นมา ไม่ใช่ตัวเราจริงๆ แต่อย่างใด

    ๑๔. จิตเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

    หลังจากเห็นว่าตัวเรากลายเป็นสิ่งที่ถูกรู้ได้ไม่นาน ในตอนเย็นของวันที่ ๓๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๓ หลังจากเลิกงานแล้ว ได้ไปรอรับภรรยากลับบ้าน ขณะที่นั่งรออยู่นั้นรู้สึกเหนื่อยเพราะทำงานมาทั้งวัน จึงได้หลับตาพักด้วยความรู้ตัวอยู่ ในขณะนั้นได้นึกขึ้นมาว่าเพียงแค่ละความเห็นผิดไปได้เท่านั้นก็เป็นพระโสดาบันได้ แล้วจิตก็เกิดการรวมลงไปเองอย่างรวดเร็ว และรู้ถึงสภาวะที่จิตหลุดพ้นได้แวบหนึ่ง แล้วก็กลับถูกห่อหุ้มเช่นเดิมอีก จึงได้เข้าใจชัดเจนถึงสภาวะของจิตที่หลุดพ้นว่า ที่จริงก็คือ จิตที่ไปรู้อยู่แต่อารมณ์นิพพาน ไม่เที่ยวไปรู้อารมณ์อื่นๆ ที่เป็นราคะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้าง ความสงสัยในมรรคผลนิพพานว่าเป็นอย่างไรกันแน่จึงเป็นอันสิ้นสุดลง ความเห็นว่ากายและจิตเป็นตัวเราก็หมดไป มีแต่ความเห็นว่าทั้งกายและจิตนั้นไม่ใช่ตัวเรา และเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จิตนี้ยังมีกิเลสอยู่อีกมากมาย ยังมีกิจที่ต้องทำอีกมากกว่าจะพ้นไปเสียจากทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง และไม่มีทางอื่นใดที่จะนำไปให้พ้นจากทุกข์ได้ นอกจากทางเจริญสติปัฏฐานของพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น

    นับแต่วันนั้นก็รู้ได้ถึงสภาวะจิตที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ทำให้เริ่มประจักษ์ถึงการมีชีวิตอยู่อย่างเป็นทุกข์ที่น้อยลงไปกว่าเดิม มีความเห็นชัดเจนอยู่ว่า ทั้งกายและจิตนี้ไม่ใช่เรา แม้สามารถรู้ได้ถึงความเบาสบายของจิต ที่เหมือนกับได้ปลดปล่อยของที่หนักลงไปได้บางส่วน แต่จิตก็ยังยึดอยู่กับรูปและนามอย่างเหนียวแน่น จึงมีความมุ่งมั่นที่จะชำระกิเลสให้หมดสิ้นไป เพื่อจะได้มีชีวิตอยู่อย่างไม่เป็นทุกข์อีกต่อไป ตามรอยพระพุทธองค์และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ให้สมกับที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ได้พบพระพุทธศาสนา และได้เรียนรู้ธรรมะจากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ ที่ท่านได้เมตตาอบรมสั่งสอนมาจนท ราบเท่าทุกวันนี้

    ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พอจะจดจำได้ จึงได้นำมาเล่าสู่กันฟัง หากอ่านแล้วไม่ถึงใจอย่างที่คาดหวังไว้ ก็ต้องขออภัยด้วยครับ


    ที่มา : http://bud454545.multiply.com/journal/item/2 

    Jan 12, 2014

    หลวงพ่อพุธ ฐานิโย

    หลวงปู่แหวน สอนภาวนาแก่หลวงพ่อพุธ ฐานิโย 
    หลวงปู่แหวน ตอนไปกราบท่าน..ท่านว่า..... 
    “เจ้าคุณฯ อย่าไปกำหนดอะไรทั้งสิ้น
    กำหนดสติอย่างเดียว 
    สติมันเกิดที่จิต สมาธิมันเกิดที่จิต
    ความชั่วความดีมันเกิดที่จิต 
    อย่าไปเที่ยวดูที่อื่น ดูที่จิตอย่างเดียว
    มันไม่นอกตำราอะไรเลย 
    เมื่อใจชอบก่อน การพูด การจา
    การคิด มันก็ชอบ เมื่อใจสะอาด 
    การทำ การพูด การคิด มันก็สะอาด
    ท่านก็บอกว่าจะไปกังวลอะไร 
    ใช้จิตอย่างเดียว" 
    หนังสือ ฐานิยตฺเถรวตฺถุ ๑๐ 
    ชีวประวัติ หลวงพ่อ พุธ ฐานิโย 

    "..ท่านเปรียบเทียบไว้ว่า กรรมที่เราทำเอาไว้แล้ว
    นี่เหมือนกับหมาไล่เนื้อ หมาไล่เนื้อก็วิ่งตามไปอยู่อย่างนั้น 
    มันทันเมื่อไร มันก็กระโดดกัดเมื่อนั้น 
    กรรมที่ทำแล้วไม่ต้องรับผล ไม่มี! ...."


    หลวงพ่อพุธ ฐานิโย


    Jan 1, 2014

    ในหลวง ร.๙ ทรงพระราชทานพรปีใหม่ พ.ศ 2557 และ ส.ค.ส พระราชทาน ปี 2557

    HNY 2557


    ปีใหม่ จะมีความหมาย หรือไม่
    อยู่ที่เราเอง จะใช้โอกาสนี้ เพื่ออะไร...?
    เพียรรักษา สิ่งดีๆ ที่ยังมีอยู่
    เพียรทำให้เกิดมีขึ้น ในสิ่งดีๆ ซึ่งไม่เคยมี
    เพียรขจัด ในสิ่งเลวๆ อันมีอยู่แล้ว
    เพียรป้องกัน ความเลวใหม่ๆ อย่าให้มีเพิ่ม
    เพียรได้เช่นนี้ ไม่ต้องขอพรจากใคร
    เพราะยังไงๆ ก็จะต้อง เฮงๆๆ 
    HNY 2557 to all FP
    พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน (ภาวิไล)
    http://teetwo.blogspot.com/2012/03/blog-post_15.html
    http://teetwo.blogspot.com/2011/11/blog-post.html