คุณ ว่าไหม... เวลานี้ผู้คนและสังคมไทยต่างประสบปัญหาคนพูดจาไม่ดีต่อกัน และการพูดจาไม่ดี ก็มักมีปัญหาตามมาเยอะแยะเต็มไปหมด ทั้งความขุ่นข้องหมองใจ ความไม่เข้าใจ และนำไปสู่ความแตกแยก ไม่ร่วมมือ และไม่ให้เข้ากันได้ในที่สุด เพราะเหตุนี้เอง... เราจึงควรหันหน้าเข้าหากัน พูดจาดีๆ ต่อกัน จะได้ไม่มีปัญหา ว่าแล้ว เรามาเรียนรู้วิธีการพูดการจาให้เป็นสง่าราศีแก่ชีวิตดีกว่าค่ะ
1. คนจะพูดดีได้ต้องเริ่มจากคิดดีก่อน
ไม่มี ประโยชน์ที่เราจะเริ่มต้นจากการคิดร้าย แม้กับคนที่เราไม่ถูกชะตาด้วยที่สุด ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะต้องพูดจาไม่ดีกับเขา การคิดดี ถือเป็นเรื่องพื้นฐานของมนุษย์ เป็นพื้นฐานของจิตใจที่ดีงาม ใครก็ตามที่รู้จักคิดดี เขาก็จะเห็นแง่งามของโลก ของชีวิต ของตนเอง และของผู้อื่น เมื่อเห็นแง่งามหรือแง่ดีของสิ่งต่างๆ เขาก็ย่อมมีทัศนคติที่ดี มีท่าทีที่ดี และเมื่อต้องพูดจาเสวนากัน เขาก็ย่อมพูดจาดี
"พูดดี" ในที่นี้หมายความว่า พูดเพราะ พูดคำสุภาพ มีน้ำเสียงที่สุภาพ มีหางเสียงครับ ค่ะ จ๊ะ จ้ะ เพื่อแสดงความมีมารยาท มีไมตรีจิต ไม่พูดคำหยาบ ไม่ใส่ร้าย ไม่ตะคอกตะเบ็งใส่กัน ไม่ประชดประชัน ไม่โกหกพกลม คนจะพูดดีเช่นนี้ได้จะคิดร้ายอยู่ในใจไม่ได้แน่นอน เพราะความร้ายกาจในใจจะเผยมาทางคำพูด น้ำเสียง แววตา หรือท่าทีขณะที่พูดได้ จึงจำเป็นต้องฝึกตนให้เป็นคนคิดดี
2. พูดถูกกาลเทศะ ไม่ใช่ ตลอดเวลาหรอกนะคะ ที่คนเราจะพูดได้ ต้องมีบ้างบางขณะที่เราควรหยุดพูด เพื่อเป็นผู้ฟังคนอื่นพูดบ้าง คนบางคนถูกตั้งข้อสังเกตว่า "ผีเจาะปากมาพูด" คือได้แต่พูด (พูดๆๆๆ) ฟังไม่เป็น ไม่เปิดโอกาสให้คนอื่นพูด ทำตัวเป็นผู้รู้ไปหมดทุกเรื่อง จึงพูดอยู่ตลอดเวลา คนแบบนี้น่ารำคาญ... จริงไหม
อย่า ทำตัวน่ารำคาญด้วยการพูดจาไม่หยุดไม่หย่อน ไม่ดูวาระและโอกาส คนพูดเป็นจะรู้ว่าโอกาสไหนควรพูด โอกาสไหนควรฟัง และโอกาสไหนควรวางเฉย หลักการพูดให้ถูกกาลเทศะทำได้ง่ายๆ คือ ดูว่าเราต้องพูดในหัวข้อไหน เรื่องอะไร พูดที่ไหน ใครฟัง ผู้ฟังกี่คน ฟังกันในที่เปิดเผย หรือในห้องจำกัด พูดสั้นหรือพูดยาว จริงจัง หรือกันเอง ใครอ่านสถานการณ์ออกเตรียมตัวพร้อม ก็สามารถพูดจาได้น่าจดจำตามวาระและโอกาสนั้นๆ ได้เสมอ
3. พูดมีเนื้อหาสาระ ห้ามพูดเรื่อยเปื่อย ไม่ว่าจะคุยกันกับเพื่อน ผู้ร่วมงาน พ่อแม่ หรือพูดในที่ประชุมหรือที่สาธารณะ ก็ต้องมีเป้าหมายในการพูด พูดอย่างมีสาระ มีขอบเขตชัดเจนว่าต้องการสื่อสารเรื่องอะไร หรือต้องการจะบอกกับผู้ฟังว่าอะไร
4. พูดจาให้น่าฟังน้ำ เสียงที่กังวานแจ่มใส ดังพอประมาณ พูดจาฉะฉานชัดเจน จะดึงดูดความสนใจจากผู้ฟังได้มาก การพูดในบางครั้งต้องพูดปากเปล่า แต่บ่อย ครั้งก็ต้องพูดผ่านไมโครโฟน หากมีโอกาสฝึกฝนเรื่องการใช้เสียงอย่างเหมาะสม ทั้งแบบปากเปล่าและผ่านไมโครโฟนได้ ก็ควรทำ เพราะการพูดผ่านไมโครโฟนนั้น ต้องมีระยะใกล้ไกลระหว่างปากกับไมโครโฟนที่พอเหมาะ เสียงจึงจะชัดเจน ไม่มีเสียงเสียดแทรกจนผู้ฟังรู้สึกไม่สบายหู หรือรำคาญ ในการพูดนั้น ควรมีการเน้นจังหวะและเว้นจังหวะ เพื่อให้เกิดความน่าสนใจ ชวนติดตาม
5. พูดให้เกิดความรู้สึกร่วม
วิธี การง่ายๆ คือ สบตากับผู้ฟังอย่างทั่วถึง ตั้งคำถามในขณะพูดแล้วค่อยๆ อธิบายเพื่อนำไปสู่คำตอบ สอบถามผู้ฟังบ้างในบางหัวข้อที่ง่ายๆ หรือเป็นเรื่องของประสบการณ์ เป็นเรื่องของความคิดเห็นที่ไม่ใช่เรื่อง ซึ่งเมื่อตอบแล้วอาจถูกหรือผิด ทั้งนี้ ผู้พูดจำเป็นต้องรู้พื้นภูมิของผู้ฟังบ้าง เพื่อพูดในภาษาที่เขาเข้าใจง่าย บางครั้งการพูดด้วยสำเนียงท้องถิ่นก็ทำให้ผู้ฟังรู้สึกดี รู้สึกเป็นกันเอง อย่าพูดไทยผสมกับภาษาต่างประเทศโดยไม่อธิบาย เลือกใช้ภาษาต่างประเทศเท่าที่จำเป็นเท่านั้น