วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์
มติชนรายวัน
วันที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2548
ปีที่ 28 ฉบับที่ 10085
กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก
ว่าเงินและความโลภ
กำลังจะทำให้สุดยอดกีฬาอาชีพของโลกนี้
เสื่อมและพังพินาศในที่สุด
เพียงรายได้ของลีกในสุดยอดห้าประเทศของยุโรป
รวมกันก็ทำเงินมากมายถึงประมาณ 6,350 ล้านยูโร
(317,500 ล้านล้านบาท)ในฤดูของปี 2004ตัวอย่าง
ของความโลภเมื่อเร็วๆ นี้ที่ทำให้ประดา
แฟนฟุตบอลอเมริกาใต้รู้สึกกันมากก็คือ
การจับกรรมการผู้ตัดสินฟุตบอล ของบราซิล คือ
Edilson Pereira De Carvalho
(หนึ่งในสิบของกรรมการผู้ตัดสินที่ FIFA
หรือองค์การบริหารฟุตบอลโลก รับรองในบราซิล)
ในข้อหารับสินบนในการตัดสิน
และเจ้าตัวก็ยอมรับสารภาพ
ถึงแม้คอร์รัปชั่นและการซื้อเสียงของ
พรรค Workers" Party (PT)
ของประธานาธิบดี Lutz De Silva
จะเป็นที่กล่าวขวัญกันหนาหู
แต่คนบราซิลก็รู้สึกว่ามันยังไกลตัวไม่เหมือนกับ
การฉ้อฉลของกรรมการตัดสินฟุตบอลที่
คนดูชอบตะโกนด่าเวลาตัดสินไม่ถูกใจ
ถึงแม้จะไม่คิดว่าเป็นอย่างนั้นจริงก็ตามว่า
Juiz, Labrado
(Referee, you"re a thief ____ กรรมการ,
คุณ (มึง) คือไอ้โจร) คำด่าที่ไม่ถึงใจคนดูไทย
แต่ประการใด ๆ ทั้งสิ้น
Carvalho และผู้ตัดสินอีกคนสารภาพว่าเขารับเงินสินบน
ประมาณ 185,000-277,000 บาทต่อแมตช์
เพื่อตัดสินเข้าข้างทีมที่นักพนันจ้างมา
(ในบราซิลมีการพนันผิดกฎหมายแทงฟุตบอลกัน
ครั้งหนึ่งด้วยเงินถึง 500,000 บาท)
หลักฐานนั้นแน่นหนามีทั้งเทปเสียงที่แอบอัดมาซึ่ง
เขาพูดยืนยันว่าให้ทุ่มพนันได้สุดตัวเลย
เพราะจะเข้าข้างอย่างไม่เกรงใจใคร
และจากเทปของแมตช์
ที่เขาตัดสินก็เห็นชัดว่าถ้าผู้เล่นทีม"ของเขา"
แกล้งล้มในเขตโทษก็จะได้เตะ ณ จุดลูกโทษทันที
ในทางตรงกันข้ามถึงแม้ผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามจะถูกยำ
อย่างไรในเขตโทษ เขาก็ไม่เป่านกหวีดลงโทษเลย
การสารภาพครั้งนี้ทำให้ต้องเล่นกันใหม่ในลีก
Campeonato Brasileior ถึง 11 แมตช์
ที่ยังไม่รู้ก็คือมีอีกกี่แมตช์
ที่สมควรเล่นกันใหม่ เพราะเชื่อว่ามีกรรมการ
อีกหลายคนที่รับสินบน
คำถามก็คือจะมั่นใจได้อย่างไรว่า
การติดสินบนจะไม่เกิดขึ้นกับลีกอื่นๆ
ในยุโรปที่มีการพนันกัน
ด้วยจำนวนเงินมหาศาลกว่านี้ด้วย
ถ้าเอาเศรษฐศาสตร์มาวิเคราะห์พฤติกรรม
ก็พอคาดเดาได้ว่า
ในลีกใหญ่ที่มีการได้เสียกันสูงๆ
และการเฝ้าดูควบคุมพฤติกรรม
ของกรรมการ และผู้เล่นไม่เป็นไปอย่างเข้มข้น
เข้มแข็งและต่อเนื่องแล้ว
การรับสินบนของกรรมการตัดสินและผู้เล่นย่อมมีแน่นอน
เพราะตราบใดที่ผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้จากการรับสินบน
(ผลลัพธ์จากองค์ประกอบมูลค่าสินบน
กับโอกาสการได้รับสินบนมาจริงๆ)
มากกว่าผลเสียที่คาดว่าจะได้รับ
จากการถูกจับได้ว่ารับสินบน
(ผลลัพธ์จากองค์ประกอบบทลงโทษ
กับโอกาสของการถูกจับ)
กรรมการหรือผู้เล่นจะรับสินบนเสมอ
ลีกยิ่งใหญ่เดิมพันยิ่งมาก
เงินสินบนเสนอต่อกรรมการตัดสินและผู้เล่นย่อมมากไปด้วย
ถ้าโอกาสในการถูกจับได้ต่ำมาก
ไม่ว่าบทลงโทษจะรุนแรงเพียงใดก็ตาม
การรับสินบนย่อมเกิดขึ้นเสมอ
สิ่งสำคัญที่จะป้องกันไม่ให้เกิดการรับสินบนขึ้น
จึงได้แก่การมีระบบตรวจจับ
และเฝ้าดูพฤติกรรมการตัดสิน
และการเล่นที่มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง
โดยไม่มีช่วงเผลอหรือหย่อนยาน
(จะเป็นเพราะระบบ หรือผู้ดำเนินการเฝ้าดู
ก็รับสินบนด้วยก็แล้วแต่)
ถ้าเปรียบเทียบการติดสินบนระหว่าง
ผู้เล่นและกรรมการผู้ตัดสินแล้ว
การติดสินบนกรรมการเป็นมรรคเป็นผลมากกว่า
เพราะผู้เล่นถึงแม้จะแกล้งยิงไม่เข้าประตู
หรือผู้รักษาประตูแกล้งรับลูกไม่ได้ ก็ยังไม่มีผลเท่ากับ
การติดสินบนกรรมการผู้ตัดสิน
เพราะเป็นผู้ให้ความได้เปรียบ
และเสียเปรียบได้ตลอดแมตช์อย่างยาก
ที่จะมีใครทัดทานได้
เพราะ FIFA โดยประเพณีปฏิบัติ
ให้อำนาจเด็ดขาดแก่กรรมการผู้ตัดสิน
ยิ่งไปกว่านั้นผู้เล่นมักได้รับค่าตอบแทนมากมาย
จากการเล่นอย่าง "ซื่อสัตย์" มากกว่า "ล้มฟุตบอล"
(ถ้าจะจ้างล้มก็ต้องใช้เงินมหาศาล ซึ่งไม่น่าเกิดขึ้นได้บ่อยนัก)
ซึ่งต่างจากกรณีของกรรมการตัดสินที่ได้ค่าแรงน้อยกว่าผู้เล่นมาก
พูดถึง FIFA ผมไม่เข้าใจและรำคาญมานานแล้วว่า
ทำไมในเกมฟุตบอลจึงไม่มีการเชื่อมต่อนาฬิกา
ของกรรมการผู้ตัดสิน
กับนาฬิกาบนบอร์ดในสนาม
เพื่อคนดูจะได้รู้ว่ามีเวลาเล่นเหลือจริงๆ เท่าใด
ไม่ว่าบาสเกตบอล ฟุตบอล รักบี้ อเมริกันฟุตบอล
ออสเตรเลียนฟุตบอล
เขาก็รู้เรื่องเวลาที่เหลือของการแข่งขันอย่างชัดเจนทั้งนั้น
มีแต่ฟุตบอลหรือซ็อกเกอร์นี่แหละที่ไม่รู้ว่า
มีเวลาเล่นเหลือเท่าใด
เพราะมีการต่อเวลาเมื่อผู้เล่นเจ็บ
หรือด้วยเหตุผลอื่นจนช่วงเวลาเดิมเปลี่ยนไป
ผมชอบรักบี้ที่กรรมการผู้ตัดสินในสนามอาจขอให้กรรมการ
ข้างบนช่วยดูเทปโทรทัศน์ของการเล่นจากมุมต่างๆ
ที่เพิ่งผ่านไป
และส่งความเห็นลงมาให้ผู้ตัดสินในสนาม
เพื่อตัดสินได้ถูกต้องและเป็นธรรม จะมีก็ฟุตบอลนี่แหละ
ที่ผู้ตัดสินต้องตัดสินภายในเวลาไม่กี่วินาที
ว่าจะเอาอย่างไรกัน
และถือว่าเป็นเด็ดขาดด้วย!
ในเรื่องเงินที่กำลังทำลายเกมฟุตบอลก็ได้แก่
การที่นายทุนเงินหนา
เข้ามาเป็นเจ้าของฟุตบอลคลับอย่างมิได้จริงใจต่อฟุตบอล
หากมีวัตถุประสงค์อย่างอื่นที่แอบซ่อน
เช่น นาย Roman Abramovich
เศรษฐีน้ำมันรัสเซียเจ้าของทีม Chelsea ที่มุ่งหาชื่อเสียง
และเงินทองจากสิทธิ ในการถ่ายทอดสัญญาณโทรทัศน์
นอกจากนี้ผู้เล่นก็ยังได้รับผลตอบแทนอย่างน่าเกลียดอีกด้วย
จนเป็นธุรกิจมากกว่ากีฬา
ไม่น่าเชื่อว่ากลไกตลาดสามารถให้ผลตอบแทน
แก่ผู้เล่นคนหนึ่งได้ถึง
420-560 ล้านบาทต่อปี
ในขณะที่งบประมาณประจำปีของฟุตบอลคลับ
ในลีกชั้นยอดของยุโรปยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของตัวเลขนี้เลย
คำถามที่ประธาน FIFA (นาย Sepp Blatter)
ทิ้งให้คิดก็คือ
"มีตรรกะ หรือความจำเป็นทางเศรษฐกิจอย่างใด
ที่ทำให้เด็กหนุ่มผู้เล่นในวัยเพียง 20 กว่าปี
เรียกร้องผลตอบแทนในเดือนหนึ่ง
มากว่ารายได้ของพ่อเขาเอง
ที่ยังไม่สามารถหาได้ในเวลา 10 ปีเลย?"
ที่นาย Blatter วิจารณ์มากก็คือ
ได้เกิดทาสชนิดใหม่ขึ้นในโลก ซึ่งได้แก่
การซื้อสิทธิทางการค้า(commercial rights)
ในการเล่นฟุตบอลของผู้เล่นหนุ่มๆ
(มักเป็นผู้เล่นบราซิล) โดยนักเก็งกำไร
ซึ่งทำให้ได้รับกำไร
ทุกครั้งที่ผู้เล่นคนนั้นถูกซื้อถูกขาย ในเวลาต่อไป
นอกจากนี้ยังมีการที่เอเย่นต์ของผู้เล่น
ซึ่งได้รับผลตอบแทนเป็นร้อยละของรายได้ผู้เล่น
ต่อรองกับคลับเสมือนเรียกค่าไถ่
ว่าต้องได้ค่าจ้างสมมติ 8.4 ล้านบาทต่ออาทิตย์
โดยเพิ่มจาก 7 ล้านบาท โดยผู้เล่นจำนวนไม่น้อย
ก็มีการศึกษาครึ่งๆ บทบาทของความโลภ
อีกประการหนึ่งที่น่ากลัวก็คือ
การที่เอเย่นต์และเจ้าของคลับที่โลภกวาดซื้อนักเล่นจากทั่วโลก
เพื่อนำมาซื้อขายแสวงหากำไรสูงสุด
โดยไม่คำนึงถึงความเหมาะสมและ
ความก้าวหน้าของกีฬาฟุตบอล
นาย Blatter บอกว่าเจ้าของบางคลับทุ่มเงินมหาศาล
เพื่อกวาดผู้เล่นมีชื่อมาไว้ในทีมและค้าขายผู้เล่นราวกับสินค้า
ผลเสียในที่สุดก็คือ ราคาตั๋วเข้าดูที่จะแพงมาก
จนประดาแฟนท้อใจซึ่งหากแพงขึ้นเรื่อยๆ
จนคนดูลดลงก็จะทำให้กีฬานี้ เสื่อมลงในที่สุด
นาย Blatter สัญญาว่า FIFA จะเข้าไปดูแลอย่างรวดเร็ว
ซึ่งผมไม่เชื่อว่าจะทำอะไรได้มากนัก
(ผมขอแค่การเชื่อมต่อของนาฬิกาผู้ตัดสิน
กับนาฬิกาบนบอร์ดใน World Cup
ครั้งที่จะถึงนี้ก็พอใจแล้วครับ)
เพื่อความสมบูรณ์ของข้อมูลลีกทั้งหมด
ในแต่ละประเทศของสุดยอด
ห้าประเทศยุโรปที่มีรายได้รวมกันมากที่สุดคือ
อังกฤษ(100,000 ล้านบาท)
เยอรมนี(57,500 ล้านบาท)
สเปน(55,000 ล้านบาท)
และฝรั่งเศส(45,000 ล้านบาท)
รวมกันทั้งหมด 317,500 ล้านบาท
อันดับรองลงมาได้แก่ อิตาลี(60,000 ล้านบาท)
ด้วยความโลภของผู้คนที่เกี่ยวพันฟุตบอลอาชีพของโลก
เงินมากมายที่ล่อใจ และหลักฐานแสดง
ความฉ้อฉลของกรรมการผู้ตัดสินที่รู้
และไม่รู้อีกมากขนาดนี้ ถ้าใครยังเล่นพนันฟุตบอลอยู่
ผมว่าหันมาเล่นปั่นแปะยังมีโอกาสควบคุมชะตากรรม
ของเงินที่เอาไปพนันได้ดีกว่า
แต่ถ้าต้องการควบคุมชะตากรรมของมันให้ได้ดีที่สุด
โดยไม่ต้องปวดใจ เพราะความโลภก็คือเก็บมันไว้กับตัวเอง
ไม่ต้องเอาไปพนันให้เสียเงินอย่างไม่ค่อยฉลาดครับ
หน้า 6