Custom Search

Dec 10, 2006

ติโต

พระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ติโต”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ

พระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ติโต”ทรงแปลมาจากเรื่อง “Tito”
เขียนโดย ฟิลลิส ออตี ( Phyllis Auty )
“ติโต”เป็นชีวประวัติของโยซิป โบรช (Josip Broz) ผู้ต่อสู้เพื่อชาติ
ยูโกสลาเวีย ในสงครามโลกครั้งที่ ๒
“ติโต”เป็นนามรหัสในขณะที่โยซิป โบรซ
ในปฏิบัติงานด้วยความสามารถและอุดมการณ์สูง นามนี้เป็นที่รู้จักทั่วโลก
ติโตต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรคทุกวิถีทาง เพื่อสร้างเป็นไทยให้แก่ยูโกสลาเวีย
และที่น่าสนใจคือ
เขาเป็นคอมมิวนิสต์ “นอกแบบ” แตกต่างจากคอมมิวนิสต์อื่น
เขามีใจกว้างขวาง เห็นใจผู้อื่น แต่ในขณะเดียวกันก็มีใจเด็ดเดี่ยวและพร้อม
ที่จะปฏิบัติการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ สมกับที่เป็นผู้นำในช่วงวิกฤตการณ์นั้น
เขาเป็นนักการเมืองที่สามารถสร้างความปึกแผ่นของประเทศ
รวมชนชาติต่างๆในยูโกสลาเวียให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ติโตได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีของยูโก สลาเวียด้วยความเห็นชอบของชนทุกชาติ
ในยูโกสลาเวีย เขาสิ้นชีวิตไปตามอายุขัยเมื่ออายุได้ ๘๘ ปี(พ.ศ.๒๕๒๓ )
ประเทศยูโกสลาเวียก็ค่อยๆสลายลงจนกระทั่งมีสภาพแตกแยกอันยากที่จะแก้ไขได้
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯทรงพระราชนิพนธ์แปลเรื่อง “ติโต”จากต้นฉบับเมื่อ
พ.ศ.๒๕๑๙ เพื่อให้ ข้าราชบริพารได้ทราบถึงบุคคลที่น่าสนใจคนหนึ่งของโลก
เพราะชีวิตของติโตเป็นชีวิตที่น่าศึกษาทั้งในด้านประวัติศาสตร์และชีวิตการต่อสู้
พระราชนิพนธ์เรื่องนี้มีความยาว ๑๒๑ หน้า มากด้วยเนื้อหาและสำนวนไทยที่ใช้
ในการแปล
และทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดพิมพ์เพื่อเผยแพร่
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗ เรื่องย่อ “ติโต” หรือ
โยซิป โบรช (Josip Broz) เกิดเมื่อ ค.ศ. ๑๘๙๒
บิดาเป็นคนเชื้อสายโครแอต (Croat) และสโลวีน (Slovene)
มารดาเป็นชาวสลาฟใต้ เขามีความรักชาติอย่างรุนแรงมาตั้งแต่ยังเด็ก
เพราะไม่พอใจสภาพที่ต้องอยู่ใต้การปกครองของออสเตรีย-ฮังการี
ซึ่งเป็นพวกต่างเผ่าพันธุ์ ครอบครัวของติโตเป็นชาวนาซึ่งไม่ยากจนนัก
มีที่ดินของตนเองประมาณ ๒๕ ไร่ จึงนับว่าดีกว่าชาวนาโดยทั่วไป
พ่อแม่มีลูกเก้าคนติโตเป็นลูกคนที่เจ็ด
แม่ของเขาเก่งมากและถือศาสนาคาธอลิกอย่างเคร่งครัด
เขารักแม่ของเขามาก เขาทำงานหนัก ช่วยทำงานทั้งนอกบ้านและในบ้าน
การได้ใกล้ชิดแม่ทำให้เขาได้เข้าใจคาธอลิก
ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งให้เขาเข้าใจจิตใจของฝ่ายตะวันตกซึ่งคอมมูนิสต์เข้าไม่ถึง
และไม่เคยแตะต้อง
ติโตต้องทำงานหนักแบบเด็กชนบท บางครั้งประสบความอดอยาก
แต่ความงามของธรรมชาติและความอิสระของชีวิตชนบทได้หล่อหลอมให้
ติโตมีความรักในผืนแผ่นดินของตน และกลายเป็นนักสู้ที่ไม่เคยย่อท้อ
แม้ในวัยเด็กติโตค่อนข้างขี้โรค แต่ก็มีผลการเรียนดี
น่าเสียดายที่ต้องออกจากโรงเรียนเมื่ออายุได้เพียง ๑๒ ปี เมื่ออายุ ๑๕ ปี
เขาเริ่มชีวิตชาวนา เขาได้ย้ายเข้าไปอยู่ในเมืองสิสัก (Sisak)
เข้าฝึกงานช่างในอู่รถเป็นเวลาหลายปี เวลากลางวัน เขาทำงาน
และภาคกลางคืนเข้าเรียนจนสอบได้ประกาศนียบัตรช่างกล
ณ ที่นี้เขาได้สัมผัสการเมืองชนชั้นกรรมกรเป็นครั้งแรก
ติโตใช้ชีวิตเป็นช่าง และต่อมาเขาได้เป็นทหารเกณฑ์สองปีตามหน้าที่พลเมืองดี
แล้วจึงสมัครเป็นทหาร ได้มีโอกาสออกแนวหน้าในสงครามโลกครั้งที่ ๑
ขณะนั้นเขาเป็นเพียงนายสิบ เขาได้รับบาดเจ็บในการรบกับรัสเซีย
ถูกจับเป็นเชลยและนำส่งโรงพยาบาลทหารแห่งหนึ่งในรัสเซีย
แม้อาการจะสาหัสมากและเกือบไม่ได้รับการรักษาพยาบาลเลย
ติโตยังโชคดีที่รอดชีวิตและได้มีประสบการณ์ในฐานะเชลยศึกในรัสเซียเป็นเวลานาน
เมื่อเกิดการปฏิวัติบอลเชวิคใน ค.ศ. ๑๙๑๗ ติโตเคยถูกฝ่ายรัฐบาลพระเจ้าซาร์จับขัง
เพราะต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายบอลเชวิค
เขาหลบหนีไปได้ก็ไปพบกับพวกเร็ดการ์ด (Red Guards)
พวกแนวหน้าของฝ่ายปฏิวัติ จึงทำงานในฐานะพวกเร็ดการ์ด
เมื่อพวกบอลเชวิคได้ชัยชนะแล้ว ติโตเป็นอิสระและตกลงใจกลับไปตั้งรกราก
ที่บ้านเกิดในโครแอเซียใน ค. ศ. ๑๙๒๐ พร้อมกับภรรยาชาวรัสเซีย
ซึ่งพบและรักกันในช่วงการปฏิวัติ ติโตได้ประสบสภาพใหม่
คือถูกสงสัยว่าเป็นบอลเชวิคศัตรูของชาติ
ติโตผู้เคยอยู่รัสเซียมาหลายปีได้เรียนรู้วิธีการเพื่อการอยู่รอดในสังคมที่เต็มไปด้วยศัตรู
วิธีการอยู่ร่วมกับคนทุกชนิดโดยใช้วิชาช่างกลซึ่งเป็นประโยชน์ในทุกสังคม
ได้รู้ศิลปะของการหลบหลีกเมื่อจำเป็น
การเข้าถึงจิตใจมนุษย์และเห็นความสำคัญของการพึ่งตัวเอง
แต่ในขณะที่เขากลับมาบ้านเขาไม่มีโอกาสได้ใช้ความสามารถจากประสบการณ์นั้นเลย
เพราะต้องเผชิญกับสถานการณ์เลวร้ายทางเศรษฐกิจและครอบครัวประสบมรสุม
อย่างหนักจักรวรรดิออสโตร-ฮังการีได้สลายตัวไปแล้ว
โครแอเซียกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรซึ่งตอนหลังเรียกว่า
ยูโกสลาเวียมีกษัตริย์ปกครอง รัฐใหม่ประกอบด้วยกลุ่มต่าง ๆ ของพวกสลาฟใต้
มีวัฒนธรรม ความเชื่อทางศาสนาต่าง ๆ กันถึง ๓ ศาสนา
มีกษัตริย์ราชวงศ์ชาวเซอร์บปกครอง
ด้วยความแตกต่างกันดังกล่าวแล้วจึงทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมือง
ติโตได้เดินทางไปเมืองหลวงของโครแอเซีย
ติโตได้เข้าเป็นสมาชิกสหภาพช่างเหล็ก จึงกลายเป็นสมาชิกอัตโนมัติ
ของพรรคโซเชียลเดโมแครติค (Social Democratic Party)
ซึ่งได้ผนวกเข้าไปในพรรคคอมมูนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย
ติโตจึงกลายเป็นคอมมูนิสต์ แม้ตนเองมิได้จงใจ
เนื่องจากเขาเคยอยู่ในรัสเซียระหว่างการปฏิวัติบอล เชวิค
ติโตจึงได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการปลุกกระดมคนงาน
ในการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของประเทศยูโกสลาเวีย
ในค.ศ. ๑๙๒๐ พรรคคอมมูนิสต์ได้รับคะแนนเสียงเป็นที่สาม
แต่หนึ่งเดือนต่อมารัฐบาลก็ล้มพรรคคอมมูนิสต์
เพราะถือว่าพรรคคอมมูนิสต์เป็นพรรคผิดกฎหมาย พวกสมาชิกพรรคถูกกวาดล้าง
ติโตหลบไปใช้ชีวิตช่างเครื่องยนต์ของโรงสีในหมู่บ้านนอกเมืองซาเกร็บ
เป็นเวลาสี่ปีครึ่ง
แต่แล้วชีวิตเงียบ ๆ ของติโตเปลี่ยนไปเมื่อ สเตียปัน ซาบิช (Stjepan Sabic)
ซึ่งเคยเป็นเชลยศึกด้วยกันในรัสเซียได้มามาชักชวนให้ติโต
จัดตั้งกระบวนการของกรรมกรเพื่อปฏิวัติ
เมื่อถึงเวลาอันควร ซาบิชเป็นเจ้าหน้าที่ขององค์การคอมินเทอร์น (Commintern)
ซึ่งมีหน้าที่ส่งเสริมการปฏิวัตินอกแดนรัสเซีย (คอมินเทอร์น คือองค์การคอมมูนิสต์สากล
มาจากคำว่า Communist International มีที่มาจากองค์การกรรมกรสากล
ซึ่งยุบและตั้งใหม่เป็นครั้งที่ ๓ จึงใช้ชื่อนี้ ตามความประสงค์ของเลนิน
ที่จะให้เกิดคอมมูนิสต์ทั่วโลก)
ติโตได้เป็นสมาชิกคณะกรรมการพรรคคอมมูนิสต์ใต้ดินของท้องที่
และไม่นานเขาก็ถูกจับกุม แม้ศาลจะยกฟ้อง แต่ก็ถูกตำรวจเพ่งเล็ง
ติโตทำงานตามที่พรรคสั่ง เช่น หาสมาชิกใหม่ให้พรรค
และในที่สุดก็ทำงานธรรมดาไม่ได้ จึงต้องทำงานการเมืองใต้ดินเต็มที่
เขาเคยถูกจับถูกพิพากษาจำคุก แต่สามารถหนีหายตัวไปก่อนจะถูกลงโทษ
การต่อสู้ทางการเมืองของติโตทำให้เขาเป็นที่สนใจ
ของผู้นำในองค์กรคอมมิวนิสต์รัสเซีย
เขาจึงได้รับการช่วยเหลือสนับสนุนจากโมซา ปิยาเดและปาวเล เกรโกริด
หมอชาวโครแอตซึ่งมีความรู้และประสบการณ์สูงกว่า
ติโตถูกจับและจำคุกระหว่าง
ค.ศ. ๑๙๒๘ ถึง ๑๙๓๔
ด้วยเหตุที่เขาเคยชินอยู่ในคุก เขาได้ใช้เวลาศึกษาเรียนรู้การเมือง
ซึ่งจำเป็นในการฝึกแบบคอมมูนิสต์ โดยมีเจ้าหน้าที่คอมินเทอร์น
ลอบนำเอกสารคอมมูนิสต์เข้ามาให้ศึกษาในคุกซึ่งผู้คุมไม่เข้มงวดนัก
ในปี ๑๙๓๔ เมื่อออกจากคุกแล้ว เขาเป็นตัวเก็งที่จะ
เลื่อนฐานะในพรรค คอมินเทอร์นจัดหาเงินให้ติโตใช้
จัดที่อยู่ให้แต่ติโตต้องหาทางหลบเลี่ยงตำรวจเอาเอง
การอยู่ในยูโกสลาเวียเป็นการเสี่ยงอันตรายมาก
เมื่อเขาได้รับมอบหมายให้ไปที่กรรมการกลางพรรคอมมูนิสต์แห่งยูโกสลาเวีย
ที่เวียนนาเขาจึงได้โอกาสทองที่จะออกไปทำงานจากนอกประเทศ
เขาไปรายงานตัวที่เวียนนาอันเป็นจุดที่ไม่มีการการถอยกลับ
เขาได้รับนามรหัสหลายชื่อตลอดเวลาที่ทำงานคอมมูนิสต์อันผิดกฎหมาย
แต่รหัสที่ได้รับที่เวียนนาตอนนั้นคือ ติโต อันเป็นชื่อที่เขาเกิดชื่อเสียง
ติโตทำงานใต้ดินอย่างมีประสิทธิภาพให้แก่กรรมการพรรคที่อยู่นอกประเทศที่เวียนนา
ด้วยเหตุที่มีประสบการณ์และเชี่ยวชาญในวิทยาการที่จำเป็น
ประกอบกับได้รับการสนับสนุนการเงินจากคอมินเทอร์น
แต่เมื่อพระราชาธิบดียูโกสลาเวียถูกปลงพระชนม์
ผู้สืบราชสมบัติเกรงว่าพวกคอมมูนิสต์จะฉวยโอกาส
ติโตก็อาจประสบอันตรายได้ ต้นปี ค.ศ. ๑๙๓๕
ติโตไปประจำที่มอสโคว์ มีโอกาสพบปะคอมมูนิสต์คนสำคัญ ๆ จากทั่วโลก
และได้เห็นสตาลิน (Stalin) ในโอกาสเปิดประชุมโลกครั้งที่ ๗ ของคอมินเทอร์น
ซึ่งติโตเข้าร่วมในฐานะเลขานุการของคณะยูโกสลาเวีย
การชำนาญภาษารัสเซียให้ประโยชน์แก่ติโตมาก เขาได้ทำหน้าที่ล่าม
เมื่อคณะผู้แทนเดินทางไปเยี่ยมที่ต่าง ๆไม่นานติโตได้เรียนรู้ว่า
คอมินเทอร์นเต็มไปด้วยความขัดแย้งส่วนตัวและเล่ห์กลต่าง ๆ นานา
ทั้งมีสายลับทุกหนทุกแห่งที่พร้อมจะรายงานความผิดแก่นายงานชาวรัสเซีย
ซึ่งปกครองคอมินเทอร์นอย่างไม่ปรานีและดูถูกกวดขันสมาชิกพรรคของประเทศด้อยกว่า
ซึ่งคอมินเทอร์นควรจะมีหน้าที่ช่วย เมื่อสตาลินเริ่มการกวาดล้างครั้งใหญ่
ติโตยังอยู่ที่มอสโคว์ ปรปักษ์เก่า ๆ ของสตาลินถูกจับกุมและประหารชีวิต
พวกคอมมูนิสต์ที่ไม่เป็นชาวรัสเซียก็เริ่มถูกจับกุม
เคราะห์ดีที่ติโตได้รับอนุญาตให้กลับเวียนนาในเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๓๖
เลขาธิการพรรคอมมูนิสต์ยูโกสลาเวียซึ่งยังคงเป็นคนเดิมที่ติโตไปรายงานตัว
เมื่อ ค.ศ. ๑๙๓๔ นั้น ได้ถูกเรียกตัวไปมอสโคว์ใน ค.ศ. ๑๙๓๗
พรรคคอมมูนิสต์ยูโกสลาเวียได้ย้ายที่ทำการไปยังปารีส ที่นี่ติโตได้ทำงานอย่างเต็มกำลัง
“เหมือนผีเข้า” พรรคยังอยู่นอกกฎหมายและอ่อนแอมาก
ใน ค.ศ. ๑๙๓๗ ติโตได้เริ่มสร้างองค์การใหม่ พยายามสร้างความแข็งแกร่ง
โดยรับสมาชิกใหม่ เขาเลือกผู้ร่วมงานอย่างระมัดระวัง
ส่วนมากเป็นผู้ที่ยังเยาว์และเขาจะสามารถฝึกได้ด้วยตนเอง การหาคนใหม่
การจัดงานใหม่คงจะประสงค์ไม่ให้คอมินเทอร์นระแวงสงสัยตัวเขาด้วย
ผู้ที่เขาเลือกมีคุณสมบัติสำคัญคือ ความภักดีต่อติโตในฐานะเลขาธิการพรรค
การยอมรับคำสั่งใช้ความฉลาดและไหวพริบในการทำตามคำสั่ง
และความสามารถที่จะทำงานเป็นชุดปฏิบัติการ
ใน ค.ศ. ๑๙๓๘ ติโตได้รับแต่งตั้งเป็นทางการในตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมูนิสต์
แห่งยูโกสลาเวีย ภัยคุกคามจากฝ่ายนาซีของฮิตเลอร์ในเยอรมัน
และฝ่ายฟาสซิสต์ของมุสโสลินีในอิตาลี
เริ่มเห็นได้ชัดในช่วงปี ๑๙๓๗ –๑๙๓๙ ยูโกสลาเวียกำลังถูกคุกคาม
โดยถูกบีบอย่างหนักให้เข้ากับฝ่ายอักษะ (Axis)
และทำสนธิสัญญาระหว่างเยอรมันกับอิตาลี ซึ่งหมายถึงการเสียเอกราช
ซึ่งชาวยูโกสลาเวียยอมไม่ได้ จึงมีผู้หันมาสนับสนุน
พรรคคอมมูนิสต์ซึ่งเป็นพรรคเดียวที่ตั้งบนรากฐานเพื่อชาติยูโกสลาเวียแท้ ๆ
ในขณะที่พรรคอื่น ๆ ตั้งอยู่บนรากฐานความต้องการของภาค
เช่น พรรคประชาธิปไตยเซอร์บ (Serbian Democratic Party)
พรรคชาวนาไครแอต (Croatian Peasant Party) เป็นต้น
ในการเป็นเลขาธิการพรรคคอมมูนิสต์ ติโตต้องประสบอุปสรรคมากมาย
เนื่องจากความสัมพันธ์กับคอมินเทอร์นั้นทำให้เขาอยู่ในระหว่างอันตราย
เพราะสตาลินกำลังเพ่งเล็งคอมมูนิสต์นอกประเทศ
เขาจึงมีศัตรูทั้งในมอสโคว์และในหมู่สมาชิกพรรคในยูโกสลาเวีย
เพราะมีผู้ต้องการตำแหน่งนี้มาก ด้วยถือว่ามีเกียรติ มีชื่อเสียง
มีอำนาจและมีรายได้มาจากคอมินเทอร์น
เขาถูกฝ่ายปฏิปักษ์พยายามกำจัดหรือให้เขาถูกถอดออกจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ดี ติโตมีเพื่อนที่มีอิทธิพลในมอสโคว์ช่วยให้เขารอดพ้น
จากการกวาดล้างของสตาลิน นอกจากนี้ เขายังมีความสามารถส่วนตัว
กล้าเผชิญผู้ที่กล่าวหาและลุกขึ้นต่อสู้เขามีภูมิหลังที่ถูกต้องในความหมายของคอมมูนิสต์
คือเขาเป็นกรรมกรที่เกิดมาจากครอบครัวชาวนาผู้ยากจน
เขารู้ภาษาที่ใช้มากในคอมินเทอร์นอย่างแตกฉาน
คือภาษาเยอรมันและรัสเซีย และเขายังมี โชคดีอย่างมหัศจรรย์
ทำให้เอาตัวรอดได้ในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ค.ศ. ๑๙๓๙–๑๙๔๕)
ติโตพยายามต่อสู้เพื่อเอกราชอธิปไตยของยูโกสลาเวีย
ท่ามกลางอุปสรรคนานัปการ
ติโตเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ยูโกสลาเวียถูกคุกคามจากพวกนาซีซึ่ง
เข้าควบคุมเศรษฐกิจของประเทศเกือบทั้งหมด และได้รับการสนับสนุนทางการเมือง
อย่างหนักแน่นจากผู้นำยูโกสลาเวียบางคน แต่ติโตก็ไม่อาจช่วยประเทศของตน
ได้ในช่วงแรกของสงคราม เขาได้รับมอบหมายให้แปลประวัติของพรรคคอมมูนิสต์
ซึ่งเขียนโดยสตาลิน
จากภาษารัสเซียเป็นภาษาเซอร์โบ-โครแอต ซึ่งใช้กันในยูโกสลาเวีย
ซึ่งเป็นภาระที่ลำบากเพราะต้องถูกตรวจตรามิให้แสดงความเห็นผิดเพี้ยน
ไปจากลัทธิแม้แต่น้อยจึงเป็นงานสำคัมาก
ติโตเองทราบดีว่าการทำภารกิจให้ลุล่วงไปด้วยดีเป็นหนทางเดียว
ที่จะหลบกลับไปประเทศของตนได้ ดังนั้นในช่วง ๒ ปีแรกของสงคราม
ติโตต้องไปอยู่มอสโคว์ถึง ๑๑ เดือนเมื่อติโตเดินทางจากรัสเซียกลับสู่ยูโกสลาเวีย
ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๔๐ นั้น
เขาต้องเสี่ยงต่อการถูกจับมาก ต้องใช้หนังสือเดินทางและวีซ่าปลอม
และเล็ดลอดเข้ามาด้วยเส้นทางวกวน โดยได้รับความช่วยเหลือจาก
เจ้าหน้าที่คอมินเทอร์นสองคนที่เดินทางไปพร้อมกัน
ทันทีที่เขาถึงยูโกสลาเวียก็ได้คืนสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคในยูโกสลาเวีย
เป้าหมายอันสำคัญก็คือ การทำลายรัฐบาลที่มีอยู่ในเวลานั้น
และให้รัฐบาลปฏิวัติคอมมูนิสต์ยึดการปกครอง
ติโตไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคใด ๆ ติโตเริ่มวางแผนโดยการสร้างพรรคคอมมูนิสต์
ที่สามัคคีมีวินัย เชื่อฟังกรรมการบริหารซึ่งตัวเขาเป็นผู้นำ
ตั้งกรรมการอย่างมีระเบียบทั่วทุกภาคของประเทศและจัดหาทุนด้วยความช่วยเหลือ
จากเพื่อนชนชั้นกลางที่ร่ำรวย และเพื่อนร่วมงานที่คุ้นเคยกับพวกตระกูลสูง
เพราะปฎิบัติการภายในของพรรคมิได้รับการสนับสนุนจากคอมินเทอร์นเสียแล้ว
ติโตสามารถรวบรวมทุนดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายสูงสุด
คือการปฏิวัติให้ยูโกสลาเวียเป็นคอมมูนิสต์ ยูโกสลาเวียได้พยายามทำตัวเป็นกลาง
ในสงครามโลกครั้งที่ ๒ แต่ในที่สุดรัฐบาลก็ถูกบังคับ
ในค.ศ. 1941 ให้ทำสนธิสัญญากับฮิตเลอร์ เพื่อร่วมกับเยอรมนีในการบุกรัสเซีย
เนื่องจากชาวยูโกสลาเวียเกลียดชังพวกนาซีมาก รัฐบาลจึงถูกกระทำรัฐประหาร
โดยกลุ่มนายทหาร มีนายพลเอก ดูซาน ซีโมวิช (Dusan Simovic)
เป็นหัวหน้ากระทำรัฐประหาร
และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ตามพระราชโองการของพระเจ้าปีเตอร์
ซึ่งมีประกาศให้ทรงบรรลุนิติภาวะ การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้ฮิตเลอร์ถือว่า
ยูโกสลาเวียเป็นศัตรูและต้องทำลายโดยเร็วที่สุด
เยอรมันเริ่มโจมตีกรุงเบลเกรดทางอากาศและบุกยูโกสลาเวียด้วยยานยนต์
และยานเกราะจากฐานในประเทศบัลแกเรีย ภายในสัปดาห์เดียว
ยุทธวิธีสงครามแบบสายฟ้าแลบ (Blitzkrieg)
และอาวุธที่มีเหนือกว่าของเยอรมันก็สามารถเอาชนะกองทัพเล็ก ๆ
ของยูโกสลาเวียเมื่อฝ่ายเยอรมันได้ครอบครองส่วนใหญ่ของประเทศยูโกสลาเวีย
พระราชาธิบดีและรัฐบาลก็หนีออกนอกประเทศ นายพลกาลาฟาโตวิช (Kalafatovic)
ซึ่งสวมหน้าที่ผู้บัญชาการสูงสุดต่อจากนายพลซีโมวิช ได้ขอเจรจาหยุดยิง
ยูโกสลาเวียกำลังถูกแผนการเชือดเฉือน เพราะฮิตเลอร์ต้องการให้ประเทศยูโกสลาเวีย
ถูกลบล้างจากแผนที่ ชาวยูโกสลาเวียซึ่งแตกแยกกันอยู่แล้วได้ช่วยให้แผนนี้ง่ายขึ้น
กระบวนการอุสตาซี (Ustasi) ได้ประกาศตั้งรัฐอิสระแห่งโครแอเซีย ภายใต้ผู้นำ “หุ่น”
อันเต ปาเวลิช (Ante Pavelic) ซึ่งอยู่ใต้อำนาจของกองทหารเยอรมันในทางปฏิบัติ
นอกจากรัฐหุ่นแห่งโครแอเซีย ยูโกสลาเวียยังถูกตัดออกเป็นสิบหน่วย
อยู่ในความยึดครองของกลุ่มประเทศอักษะ ฮิตเลอร์ไม่รู้นิสัยของชาวยูโกสลาเวีย
การแบ่งแยกครั้งนี้จึงทำให้เยอรมันเสียประโยชน์
เพราะเป็นการกระตุ้นให้เกิดการรวมตัวของชาวยูโกสลาเวียซึ่งติโตได้พยายามอยู่แล้ว
นอกจากนั้นกลุ่มประเทศอักษะที่ได้รับส่วนแบ่งก็มิได้มีความพอใจ
ในส่วนของตนจนเกิดความไม่ปรองดองกัน
ติโตจึงใช้ความสับสนจากสถานการณ์นี้เพื่อประโยชน์ของตน
เมื่อฮิตเลอร์เตรียมบุกรัสเซีย ติโตยังตั้งกองบัญชาการอยู่ที่ซาเกร็บเมืองหลวง
ของโครแอเซีย
วันก่อนที่เยอรมันโจมตีเบลเกรด
มีการลงนามสนธิสัญญามิตรภาพระหว่างยูโกสลาเวียและรัสเซีย
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่ายินดีมาก แต่ในที่สุดฮิตเลอร์เตรียมบุกรัสเซีย
จึงถอนกำลังรบชั้นยอดออกจากยูโกสลาเวีย
ติโตพยายามต่อสู้โดยหวังจะได้อาวุธจากรัสเซีย
แต่ถูกปฏิเสธ ติโตมิได้ย่อท้อ เขาห็นว่าความสำเร็จของฝ่ายคอมมูนิสต์ของเขาขึ้นอยู่
กับการต่อต้านการบุกรุกจากต่างประเทศ
ไม่ว่าจากที่ใด เขาจึงสั่งให้พวกคอมมูนิสต์ตั้งกลุ่มเล็ก ๆ
ในทุกเมืองทุกหมู่บ้าน สะสมอาวุธและฝึกใช้อาวุธ
ตลอดจนการเตรียมการด้านอื่น ๆ
ให้พร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งได้ทันที ก่อนที่ติโตจะย้ายกองบัญชาการไปเบลเกรด
ปาเลวิชผู้นำรัฐหุ่นโครแอเซียดำเนินนโยบายให้รัฐโครแอเซียเป็นรัฐคาธอลิค
และเป็นที่อยู่ของชาวโครแอตเท่านั้น ทั้งนี้เป็นเหตุให้ชาวเชอร์บในโครแอเซีย
ซึ่งถือศาสนาออร์ธอดอกซ (Orthodox)
จำนวนเกือบสองล้านคน (ประมาณ ๑ ใน ๓ ของพลเมืองทั้งหมด)
ถูกทหารอุสตาซีปราบปรามอย่างป่าเถื่อน
ผู้ต่อต้านอุสตาซีไม่ว่าจะเป็นชาวยิว ชาวยิปซี ชาวโครแอต นับล้าน ๆ
ถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมในปี ค.ศ. ๑๙๔๑–๑๙๔๒ คนจำนวนหลายหมื่นคน
จึงกลายเป็นปรปักษ์ต่อรัฐบาล และหันมาสนับสนุนติโตอย่างมาก นาซีบุกรัสเซีย
ติโตได้รับคำสั่งจากมอสโคว์ให้ปฏิบัติการอย่างสุดกำลัง
เพื่อช่วยสหภาพโซเวียตต่อสู้เยอรมันและพวก
แม้จะเป็นคำสั่งที่ติโตรอคอย แต่ติโตก็ยังประสบปัญหาหลายเรื่อง
เช่น มีกลุ่มต่อสู้ซึ่งพันเอก ดราจา มิโฮโลวิช (Colonel Draza Mihailovic)
เป็นหัวหน้า เรียกว่าพวกเชตนิก (Chetniks) ปฏิบัติการเป็นเอกเทศ
จุดหมายหลักคือ รักษาประเพณีของเซอร์เบียและของพระมหากษัตริย์
เป็นกลุ่มที่ชิงชังชาวโครแอตมาก เพราะถือว่า
ชาวโครแอตทุกคนต้องรับผิดชอบในทารุณกรรมของพวกอุสตาซี
ที่ทำให้ชาวเซอร์บต้องล้มตายลงเป็นจำนวนมากในโครแอเซียและบอสเนีย”
นอกจากนี้มิไฮโลวิชยัง “เกลียดพวกคอมมูนิสต์อย่างเข้ากระดูกดำ”
ติโตและมิโฮโลวิชเคยพบกันเพื่อเจรจาเรื่องปฏิบัติการร่วมหลายครั้ง
แต่ก็ไม่สำเร็จ ติโตได้เป็นผู้นำฝ่ายปาร์ติซาน (Partisans)
ซึ่งหมายถึงผู้ร่วมกระบวนการของประชาชนเพื่อเอกราช
ชื่อนี้คอมมูนิสต์เคยใช้เรียกพวกกองโจรตอนสงครามกลางเมืองในประเทศสเปน
ในช่วงแรกติโตเสียเปรียบมิโฮโลวิชซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลยูโกสลาเวีย
และได้เป็นรัฐมนตรีกลาโหมของรัฐบาลพลัดถิ่น
ทั้งติโตและมิโฮโลวิชต่างแข่งกันขอความช่วยเหลือจากอังกฤษ
ติโตพยายามที่จะร่วมมือกับฝ่ายเชตนิก แต่ก็ไม่เป็นผล
ในที่สุดก็เกิดสงครามกลางเมือง ระหว่างเชตนิกกับปาร์ติซาน
ในระยะแรกฝ่ายเชตนิกได้เปรียบเพราะได้รับความรับรองและความช่วยเหลือจาก
ฝ่ายพันธมิตรแต่เมื่อมิโฮโลวิชไม่ยอมก่อวินาศกรรมใส่ฝ่ายเยอรมันและอิตาเลียน
และฝ่ายพันธมิตรทราบว่ามิโฮโลวิชทำงานร่วมกับฝ่ายเยอรมัน จึงเลิกช่วยเหลือในที่สุด
เนื่องจากติโตเห็นว่าทางสู่อำนาจคือการสร้างสรรค์กระบวนการ
ประกอบด้วยยูโกสลาเวียล้วนๆเพื่อต่อสู้กับฝ่ายเยอรมันและพวก
เขาจึงได้รับการสนับสนุนจากประชาชนทุกเชื้อชาติ
เขาเคยกล่าวในเดือนธันวาคมค.ศ. ๑๙๔๒ ว่า
การต่อสู้เพื่อเอกราชของชาติบ้านเมืองต้องหมายถึงเสรีภาพของ
ชาวโครแอต สโลวีน เซอร์บ มาเซโดเนียน ซิปตาร์
มุสลิมพร้อมกันหมดและจะนำมาซึ่งอิสรภาพ เสมอภาค
และภารดรภาพสำหรับทุกชนชาติใน ยูโกสลาเวีย
ต่อมาติโตได้พบว่ารัฐบาลรัสเซียไม่ยอมส่งอาวุธมาช่วย
ซึ่งอาจเป็นเพราะเกรงใจฝ่ายสัมพันธมิตร ติโตผู้เคยได้รับการสั่งสอนให้ถือว่า
สหภาพโซเวียตเป็นผู้บันดาลทุกสิ่งอย่างได้ จึงผิดหวังและขมขื่นมาก
ดือนพฤษภาคม ค.ศ. ๑๙๔๓ องค์การคอมินเทอร์นถูกสตาลินยุบไป
ติโตเคยคิดจะติดต่อกับอังกฤษแต่ก็พบกับอุปสรรคหลายอย่าง เมื่อติโตผิดหวังจากรัสเซีย
ติโตต้องนำพวกปาร์ติซานต่อสู้ตามลำพัง และถูกคุกคามอย่างหนักจากฝ่ายเยอรมัน
ต่อมาอังกฤษส่งนายทหารติดต่อมาประเมินผลของพวกเชตนิกในยูโกสลาเวีย
และได้ตระหนักว่ากระบวนการของติโตมีผลในทางตรึงกองกำลังรบของเยอรมัน
และอิตาเลียนก็เริ่มให้ความช่วยเหลือสนับสนุนติโตตั้งแต่ปลายปี ค.ศ. ๑๙๔๓
ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๔๔ ติโตได้รับความช่วยเหลือทั้งจาก รัสเซียและฝ่ายสัมพันธมิตร
แต่ความช่วยเหลือของรัสเซียที่ล่าช้าและน้อยกว่าฝ่ายสัมพันธมิตร
ทำให้ติโตมีอิสระที่จะเป็นผู้ดำเนินสงครามเอง เขารับผิดชอบในการชี้ขาด
ในการปฏิบัติการทางทหารที่สำคัญทั้งหมดรวมทั้งการต่างประเทศ
จึงเป็นการสร้างรากฐานเพื่อเป็นประมุขของประเทศในอนาคต
ในระหว่างการสู้รบ ติโตไม่เคยทอดทิ้งทหารที่บาดเจ็บแม้ว่ากำลังฝ่ายเยอรมัน
จะรุกใกล้เข้ามาและการลำเลียงคนเจ็บจะทำให้เคลื่อนไหวได้ช้าลง
กองทัพปาร์ติซานได้มาบรรจบกับกองทัพแดงในยูโกสลาเวีย
ร่วมปลดปล่อยเซอร์เบียและเข้ากรุงเบลเกรดพร้อมกันในวันที่ ๒๐ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๔๔
กองทัพที่ทรงพลังของติโตมีประโยชน์ในการกู้ชาติ
ต่อรองกับฝ่ายสัมพันธมิตรและเป็นกำลังสำคัญที่สุดที่จะค้ำจุนติโต
ในการต่อสู้กับสหภาพโซเวียต(รัสเซีย)เพื่อรักษาเอกราชของยูโกสลาเวีย*
ในการเลือกตั้งหลังการยุติสงครามในค.ศ.๑๙๔๕ ติโตได้รับคะแนนสนับสนุน
อย่างท่วมท้นจากประชาชน โดยได้รับคะแนนกว่าเก้าสิบส่วนร้อยของผู้ออกเสียง
การที่ติโตถูกทอดทิ้งให้ดำเนินการต่อสู้อย่างโดดเดี่ยวโดยไม่มีการแทรกแซง
จากมหาอำนาจใดๆกลับเป็นข้อสำคัญในความสำเร็จของการปฏิวัติคอมมิวนิสต์
ในยูโกสลาเวียดังนี้ ติโตจึงเป็นผู้ปั้นคอมมูนิสต์ ชาตินิยม และเอกราช
ให้เป็นรูปปฏิมากรรมที่หาที่เปรียบมิได้ รูปการณ์ทางการเมืองดังนี้
ซึ่งได้มาเรียกกันว่า“ติโตอิซึ่ม” (Titoism) จึงแข็งแกร่งจนสามารถผ่านการปะทะ
กับสหภาพโซเวียตภายหลังได้ __________________________________________________


*ยูโกสลาเวีย (Yugoslavia) เป็นชื่อเรียกของการแบ่งแยกประเทศบริเวณ
คาบสมุทรบอลข่าน ในทวีปยุโรป ในช่วงศตวรรษที่ ๒๐ ความหมายของคำว่า
ยูโกสลาเวีย คือ "ดินแดนของชาวสลาฟตอนใต้"
๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๖๑ ราชอาณาจักรเซอร์บ โครแอต และสโลวีน
ซึ่งภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็น ราชอาณา จักรยูโกสลาเวีย
ในปี พ.ศ. ๒๔๗๒ จนกระทั่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒
ได้ถูกยึดครองโดยฝ่ายอักษะ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘
(ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒) ภายใต้ชื่อ สหพันธรัฐประชาธิปไตยยูโกสลาเวีย
(DFY) ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น สหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนยูโกสลาเวีย (FPRY)
และ สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย ในเวลาต่อมา
ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ สหพันธ์สาธารณรัฐยูโกสลาเวีย (FRY)
และชื่อยูโกสลาเวียได้เลิกใช้เปลี่ยนชื่อเป็น เซอร์เบียและมอนเตเนโกร
ในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๖