Custom Search

Dec 8, 2006

คอร์รัปชั่นย่ำยีชาติอย่างไร : Dr. Varakorn Samakoses

รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชนรายวัน
วันที่ 30 มิถุนายน 2548

อร์รัปชั่นเกิดขึ้นในบ้านเราอย่างดาษดื่น ชนิดที่เด็กชั้นประถมก็ยืนยันได้ และไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในภาครัฐเท่านั้น หากครอบคลุมไปถึงภาคเอกชนอย่างกว้างขวาง หากเรายอมรับว่าคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องปกติของสังคมเราที่ใครๆ ก็ทำด้วยกันทั้งนั้นเมื่อใด ความหายนะก็จะมาเยือนสังคมเราเมื่อนั้น

ผมนึกถึงการประชุมครั้งสำคัญในปี 1997 ที่กรุงลิมา ประเทศเปรู ซึ่งเป็น International Conference Against Corruption ครั้งที่ 8 และได้มีคำประกาศร่วมกันของผู้เข้าประชุมครั้งสำคัญที่เรียกว่า Declaration Against Corruption ซึ่งกล่าวถึงข้อปฏิบัติในการคอร์รัปชั่น
ในคำอารัมภบทของคำประกาศนี้ ได้กล่าวถึงผลเสียของคอร์รัปชั่นหลายประการที่หลายคนอาจมองข้ามไป และบางครั้งคิดว่าคอร์รัปชั่นเป็นเพียงเรื่องของการสูญเสียเงินทองที่ไม่ควรเสียไปเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วคอร์รัปชั่นทำลายสังคมเราได้มากกว่านั้นมากนัก ผลเสียของคอร์รัปชั่นมีด้วยกันอย่างน้อย 7 ประการ ดังต่อไปนี้

(1) คอร์รัปชั่นบ่อนทำลายและเซาะกร่อนพื้นฐานศีลธรรมของทุกสังคม การโกงกินไม่ว่าตามน้ำหรือทวนน้ำอย่างกว้างขวางและไม่อายผีสางเทวดา จะทำให้ผู้คนเห็นเป็นเรื่องธรรมดา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้กระทำไม่ถูกลงโทษ อุปมาเหมือนกับครอบครัวใดที่พ่อแม่พูดกันถึงเรื่องลักขโมย คดโกงหลอกลวงคนอื่นอย่างเป็นเรื่องธรรมดา ครอบครัวนั้นย่อมมีมาตรฐานของศีลธรรมในระดับต่ำ ลูกหลานก็จะเลียนแบบ เห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ และก็จะกระทำการอื่นๆ ที่ขาดจริยธรรมอย่างกว้างขวางขึ้น
คอร์รัปชั่นเป็นเชื้อโรคร้ายที่ติดกันได้ง่าย และทำให้เห็นสิ่งผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว คงไม่มีใครอยากเห็นสังคมไทยเป็นสังคมที่ขาดเข็มทิศศีลธรรม (moral compass) เยาวชนไม่รู้ว่าอะไรคือผิดอะไรคือถูก กตัญญูกตเวทีซึ่งเป็นเสาหลักของคุณธรรมไทยก็จะสั่นคลอน เพราะไม่รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรกระทำ

(2) คอร์รัปชั่นลุกล้ำสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจของคนยากจนและคนอ่อนแอ คอร์รัปชั่นนั้นจำเป็นต้องมีอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ มีงานวิชาการที่เสนอว่าคอร์รัปชั่นเท่ากับการผูกขาด (monopoly) + วิจารณญาณ (discretion) - การรับผิดชอบ (accountability)
การผูกขาดและวิจารณญาณเป็นสิ่งซึ่งผูกพันกับการมีอำนาจ ถ้าบุคคลหนึ่งมีการผูกขาดและมีโอกาสในการใช้วิจารณญาณ (ไม่ว่าจะเกิดจากกฎหมายหรือสิ่งใดก็ตามที) จะทำให้มีอำนาจ ยกตัวอย่างเช่น เป็นผู้สามารถตกลงในการจัดซื้อจัดจ้างคนเดียวและเลือกรายใดก็ได้ พลังคอร์รัปชั่นก็จะเกิดขึ้นอย่างรุนแรงถ้าไม่มีการรับผิดรับชอบมาคานไว้
คนยากจนและคนอ่อนแอจะไม่มีโอกาสมีอำนาจเช่นนี้ การถูกรุกล้ำสิทธิทางสังคม (ผู้หญิงถูกลิดรอนสิทธิเพราะผู้ชายเป็นผู้ออกกฎหมาย คนไทยภูเขาได้รับสัญชาติยากเย็นถ้าไม่มีสีม่วงเข้มจัดติดปลายนวม) และการถูกรุกล้ำสิทธิทางเศรษฐกิจ (คนรวยได้โฉนดที่ดินประเภทสีเทาเสมอ คนจนเหยื่อสึนามิจำนวนหนึ่งกำลังสูญเสียความเป็นเจ้าของที่ดินที่เคยอยู่มา) จะเกิดขึ้น

(3) คอร์รัปชั่นทำให้ประชาธิปไตยอ่อนแอ คนรวยก็มีโอกาสมีสิทธิในเรื่องต่างๆ มากกว่าคนไม่มีเงิน ในสังคมที่คนมีเงินได้สิ่งต่างๆ ผ่านช่องทางคอร์รัปชั่นด้วยการใช้เงิน ตัวอย่างได้แก่ การให้เงินอุดหนุนปฏิวัติโดยคนรวย และต่อมาได้รับสัมปทานต่างๆ อย่างสะดวกจากคณะปฏิวัติ หรือการที่คนมีเงินซื้อเสียงเข้าไปเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือคนรวยใช้เงินซื้อบัตรประชาชน ประชาธิปไตยอยู่ได้ด้วยศรัทธาของประชาชน ถ้าคนไม่เห็นว่าประชาธิปไตยให้ประโยชน์เพราะภายใต้ระบอบนี้ที่ชุกชุมด้วยคอร์รัปชั่นคนมีสิทธิไม่เท่ากัน ผู้คนก็จะหันไปสู่อำนาจนิยม ซึ่งโดยแท้จริงแล้วโอกาสที่คนจนมีสิทธิเท่าเทียมกับคนรวยจะยิ่งมีน้อยลง

(4) คอร์รัปชั่นบ่อนทำลายกฎกติกา กฎหมาย ซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกสังคม ในสังคมที่คอร์รัปชั่นชุกชุม กฎกติกาหรือแม้แต่กฎหมายก็จะถูกละเลยยกเว้น หรือแม้แต่แก้ไขเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ ในสังคมที่ยอมแพ้แก่คอร์รัปชั่น เงินจะ "ง้าง" ทุกสิ่งไม่ว่ากฎเกณฑ์หรือกติกาได้อย่างง่ายดาย คนเข้าสู่ตำแหน่งด้วยการจ่ายเงินอย่างแหกกฎกติกาที่ตั้งไว้โดยไม่ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม
(5) คอร์รัปชั่นหน่วงเหนี่ยวการพัฒนา คอร์รัปชั่นทำให้การจัดสรรทรัพยากรบิดเบี้ยว มิได้เป็นไปตามหลักวิชา หากเป็นไปตามครรลองของการได้มาซึ่งเงิน การจัดซื้อจัดจ้างที่แพงเกินจริง เป็นการสูญเสียทรัพยากรที่สังคมใดๆ ก็มีอยู่จำกัดอย่างน่าเสียดาย ภาษีอากรที่จัดเก็บจากประชากรทุกบาทควรรับใช้สังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้จ่ายแบบกระเชอก้นรั่ว สถานการณ์รั่วไหลเช่นนี้ย่อมหน่วงเหนี่ยวการพัฒนาประเทศ เพราะทำให้การลงทุนทั้งในทรัพยากรมนุษย์และโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศอยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
(6) คอร์รัปชั่นทำให้สังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนยากไร้ไม่ได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจเสรี ทางโน้มของโลกในการใช้เศรษฐกิจเสรีเป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจปรากฏชัดขึ้นเป็นลำดับ การแข่งขันอย่างเสรีภายใต้ระบบเศรษฐกิจนี้ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการสนองตอบความต้องการของสมาชิกในสังคมและทำให้ผู้คนลืมตาอ้าปากได้ อย่างไรก็ดี เมื่อมีการแข่งขันก็ย่อมมีผู้แพ้และผู้ชนะ และบ่อยครั้งที่ผู้ยากไร้เป็นผู้แพ้ ภาครัฐจึงมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนช่วยเหลือมิให้คนยากไร้เป็นผู้แพ้อย่างหมดท่า แต่ถ้ากลไกภาครัฐเป็นง่อยเพราะคอร์รัปชั่นแล้ว การช่วยเหลือนี้ก็ไม่เป็นผลดังเช่นการให้สินเชื่อแก่เกษตรกรหรือธุรกิจขนาดเล็ก หากคอร์รัปชั่นแพร่กระจายในสังคม คนยากไร้ก็ไม่ได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจเสรี ในทางตรงกันข้ามเศรษฐกิจเสรีจะกลายเป็นหอกดาบที่ทิ่มแทงคนยากจนและอ่อนแอในสังคมยิ่งขึ้นอีก

คอร์รัปชั่นเป็นโรคติดเชื้อที่น่ากลัว เพราะสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและรุนแรง ทั้งนี้ เนื่องจากผลประโยชน์อันหอมหวานที่ส่วนบุคคลได้รับจากคอร์รัปชั่นที่ไม่ถูกลงโทษ คอร์รัปชั่นเป็นพิษภัยอย่างร้ายแรงแก่สังคม โดยความเลวร้ายที่สุดของมันก็คือการทำลายความศรัทธาในความดีงาม ซึ่งเป็นฐานะสำคัญของสังคมที่มีคุณภาพ จะหยุดการแพร่กระจายของการติดเชื้อได้อย่างชะงักก็ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างจริงจังและทันควันเท่านั้น โดยไม่ปล่อยให้มันลุกลามจนเกิดผลเสียอย่างมหาศาลแก่ชาติ