วิกฤตการณ์เงินบาทแข็งค่า...มีหลายเสียงร้อง สัญญาณของวิกฤติ เศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2540 เริ่มโชยกลิ่นให้ได้ดมชิมรสกันแล้ว 10 ปีที่ผ่านไป ประเทศไทย คนไทยลืมไปแล้วหรือ? ได้ประสบการณ์ที่เจ็บปวดมาไม่มากพอหรือ? วิกฤตการณ์ค่าเงินบาทที่เกิดขึ้นตอนนี้ เป็นหลักฐานอย่างดีที่ รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ นักเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศของเราไม่ได้มีการปรับตัว เตรียมพร้อมที่จะป้องกันไม่ให้เหตุการณ์ เช่นนั้นหวนกลับ “เรายังคงหลงระเริงกับแฟชั่นการค้าเสรี ตามกระแสโลกาภิวัตน์มากเกินไป ระบบเศรษฐกิจของเราหวังพึ่งเงิน พึ่งจมูกคนอื่นหายใจมากเกินไป พูดง่ายๆ เราไม่รู้จักพอเพียง ไม่รู้จักพึ่งตนเอง และไม่รู้จักประมาณตน” บทสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ของ ดร.สมภพ ฟังแล้วเข้าใจยาก วิกฤติเงินบาทแข็งค่า เกี่ยวข้องอะไรกับเศรษฐกิจแบบพอเพียง และเกี่ยวอะไรกับการไม่รู้จักประมาณตน แต่ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน และวิกฤติที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่นอกเหนือความคาดหมาย ของนักเศรษฐศาสตร์แต่อย่างใด วิกฤติไม่ได้ตั้งเค้าแสดงอาการมาแค่วันสองวัน...ตั้งเค้าให้เห็นมาหลายปีแล้ว ถ้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งรัฐบาลชุดที่ผ่านมารู้จักประมาณตน ปัญหานี้จะไม่รุนแรงเท่าทุกวันนี้ เพราะต้นสายปลายเหตุของวิกฤติค่าเงินที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจาก...ระบบเศรษฐกิจของโลกได้สร้างเงินดอลลาร์ขึ้นมามากมายจนเกินไป สงครามการค้ายุคนี้ เงินมีสถานะไม่ต่างอะไรกับสินค้า...สามารถซื้อขายเก็งกำไรกันได้ และเป็นธรรมดา สินค้าอะไรก็ตาม ถ้าผลิตออกมามาก...ราคาก็ต้องตก เงินดอลลาร์ก็เหมือนกัน มีมากราคาก็ตก...เป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์คาดหมายได้ล่วงหน้า ส่วนตัวการที่ทำให้โลกสร้างเงินดอลลาร์มากจนล้นเกินความพอดี ดร.สมภพ อธิบายว่า มีสาเหตุมาจาก 5-6 ปัจจัย ปัจจัยแรก เปโตรดอลลาร์หรือเงินดอลลาร์ที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปกได้จากการขายน้ำมัน ยิ่งน้ำมันแพง ยิ่งมีดอลลาร์เก็บตุนไว้มาก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติราคาน้ำมันที่ผ่านมา โอเปกได้เงินดอลลาร์มาตุนสูงกว่าปกติถึง 3-4 เท่าตัว ปัจจัยที่สอง ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีการเพิ่มทุนสำรองจาก 2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาเป็น 5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในจำนวนนี้เป็นเงินทุนสำรองเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯถึง 2 ใน 3 ปัจจัยที่สาม สหรัฐฯจัดทำงบประมาณแบบขาดดุล มีการปั๊มเงินสกุลดอลลาร์ออกไปใช้จ่าย ในการทำสงครามในอัฟกานิสถานและอิรักมากมายมหาศาล ปัจจัยที่สี่ กองทุนอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลกได้เอาเงินดอลลาร์ไปกว้านซื้อ และปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์ ทำให้เงินดอลลาร์มีปริมาณเพิ่มขึ้นไปทั่วโลก ปัจจัยที่ห้า ผลจากราคาน้ำมันที่แพงขึ้น ราคาสินค้าที่ต้นทุนในการผลิตไม่ว่าจะเป็น เหล็ก ทองแดง ยาง ฯลฯ แพงขึ้น มูลค่าการใช้เงินดอลลาร์ซื้อสินค้าก็มีมากขึ้น ปัจจัยที่หก มาจากสหรัฐฯขาดดุลการค้าต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ขาดดุลปีละ 7-8 แสนล้านเหรียญ ติดต่อกันมาหลายปี สหรัฐฯก็ต้องปั๊มเงินดอลลาร์ออกมาใช้มากขึ้น ระบบเงินตราของสหรัฐฯไม่เหมือนประเทศอื่น สามารถปั๊มเงินขึ้นมาใช้ได้โดยไม่ต้องมีทุนสำรองมาค้ำประกัน ใช้เครดิตและชื่อเสียงของประเทศค้ำประกันแทน ปัจจัยทั้งหลายทั้งปวงนี่แหละที่ทำให้เงินดอลลาร์มีมากจนท่วมโลก “เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการค้า ดุลการเงิน และทำให้เงินที่ไหลออกไปมากไหลกลับ รัฐบาลสหรัฐฯจึงต้องใช้นโยบายทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัว พวกที่เก็บตุนดอลลาร์จะได้เอาออกเทขาย เพราะเก็บไว้มีแต่ขาดทุน” วิธีนี้นอกจากจะได้เงินกลับคืน ยังเป็นการลงโทษ แก้แค้นพวกที่เคยได้ประโยชน์ ได้กำไรจากการค้ากับสหรัฐฯ เอาเงินดอลลาร์ไปกอดเก็บไว้จะได้เจ็บตัว สหรัฐฯได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง ปล่อยเงินให้คนอื่นไปถือไว้ในราคาสูง... แต่พอจะเอาคืน กลับซื้อได้ในราคาถูก แสบสันแบบไร้ที่ติ วิกฤติค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวไม่ได้สร้างผลกระทบต่อประเทศไทยประเทศเดียว ทั่วทั้งโลกเจอปัญหาเหมือนกันหมด ประเทศที่เคยเจอวิกฤติต้มยำกุ้งเล่นงาน เจอด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น “แต่ทำไมปัญหาของเขา ถึงไม่รุนแรงเหมือนเรา นั่นเป็นเพราะระบบเศรษฐกิจของเขาได้วางทิศทางในการพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ไม่หวังพึ่งเงินตราของต่างชาติมากเกินไปเหมือนกับเรา เมื่อปี 2540 เราก็ประสบปัญหาแบบเดียวกันนี้ แทนที่จะเป็นบทเรียน แต่ รัฐบาลในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลับผลักประเทศเข้าไปในเส้นทางเดิม ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบหวังพึ่งเงินจากต่างชาติเป็นหลัก ไม่หวังพึ่งพาตนเองเลย” สิ่งที่เห็นได้ชัด ดร.สมภพ ให้ดูปัญหาจากค่าเงินดอลลาร์อ่อน ค่าเงินบาทแข็ง กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ การค้าต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการค้าส่งออก ขายสินค้าได้เงินดอลลาร์มา แลกเป็นเงินไทยได้เงินน้อยลง “ถ้ามองง่ายๆ ขาดทุนบ้างไม่เห็นเป็นไร แต่ปัญหาภาคการส่งออกขาดทุนสร้างผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศมาก เพราะเราพัฒนาประเทศแบบพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ตอนนี้มูลค่าการส่งออกมีสูงถึง 70% ของจีดีพีและยิ่งไปกว่านั้นรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังตั้งเป้าไว้ว่า ภายในสิ้นปีสมัยที่สองมูลค่าการส่งออกจะต้องทำให้ได้ 100% ของจีดีพี สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจของประเทศจะยืนได้ ไปรอดหรือไม่ขึ้นอยู่ กับเราค้าขายได้เงินดอลลาร์มากแค่ไหน หรือขึ้นอยู่กับเงินของคนอื่น ไม่ใช่ เงินของเรา” เมื่อเงินของเขาทรุด เราก็ต้องซวยตาม...และซวยหนัก และทั้งที่ปัญหาเงินบาทแข็งค่า ดอลลาร์อ่อน แสดงอาการให้เห็นเป็นระยะๆ มาตลอด แต่แทนที่จะหาทางแก้ไข รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ กลับใช้ นโยบายอุ้มพ่อค้าส่งออก แทรกแซงค่าเงิน ทำให้เงินบาทอ่อน สวนกระแสความเป็นจริงของค่าเงิน “แทนที่จะปล่อยให้เป็นธรรมชาติ ให้พ่อค้าส่งออกได้รับบาดเจ็บบ้างเล็กน้อย เพื่อจะได้เป็นบทเรียนในการปรับตัวให้เข้ากับสภาวะความเป็นจริง วันนี้ เมื่ออุ้มไม่อยู่ แทรกแซงไม่ไหว พ่อค้าส่งออกเลยปรับตัวไม่ทัน” สำหรับหนทางแก้ไขที่จะป้องกันปัญหาค่าเงินผันผวน เงินบาทอ่อนแข็ง ระบบเศรษฐกิจประเทศไทยถึงจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่ก็บาดเจ็บไม่มาก ดร.สมภพ ชี้ว่า เราต้องยึดหลักเศรษฐกิจแบบพอเพียง พึ่งพาตัวเองเป็นหลัก อย่าไปหวังพึ่งความร่ำรวยจากเงินตราจากต่างชาติ ให้มากนัก พึ่งพาตัวเอง รวยและอยู่ได้ด้วยเงินของตัวเอง นั่นคือ พัฒนาเศรษฐกิจแบบสมดุล ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่งหรือพึ่งพาตลาดส่งออกเป็นหลัก ต้องหันมาพัฒนาตลาดเศรษฐกิจภายในประเทศควบคู่ไปด้วย... ให้เศรษฐกิจไทยสามารถยืนอยู่ได้เพราะเราผลิตเอง ขายเอง ซื้อกันเองในประเทศ ด้วยการสร้างงาน สร้างเงิน ให้คนในประเทศมีรายได้มากขึ้น ซื้อสินค้าที่ผลิตในประเทศได้มากขึ้น...ระบบเศรษฐกิจของประเทศพึ่งเงินบาทของตัวเองได้ เงินดอลลาร์จะถูกจะแพง...คนไทย เศรษฐกิจไทยไม่เดือดร้อน แต่การสร้างงานสร้างเงิน เพิ่มอำนาจซื้อของคนในประเทศ ต้องเป็นไปแบบยั่งยืน ได้เงินเพราะทำงาน ไม่ใช่ได้เงินเพราะนโยบายประชานิยม รัฐบาลหว่านเงินเพื่อหาเสียง เหมือนที่ผ่านมา แล้วซุกปัญหาให้ประเทศ |