Custom Search

Feb 16, 2019

พรรคไทยรักษาชาติ



ที่มาภาพ : สยามพับลิค

พรรคไทยรักษาชาติ (อังกฤษ: Thai Save the Nation Party,ชื่อย่อ: ทษช. ชื่อย่อภาษาอังกฤษ:TSN) พรรคการเมืองไทยที่ก่อตั้งขึ้นตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. ๒๕๕๐ เป็นลำดับที่ ๑๑/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2552 ในชื่อ พรรครัฐไทย โดยมีนาย เอกสิทธิ์ เจาฑานนท์ และนาย ศิรเมศร์ เสถียรรุจิกานนท์ เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนแรก [1]

ต่อมาในการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรครัฐไทยครั้งที่ ๑/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2553 ที่ประชุมได้มีมติให้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคจาก พรรครัฐไทย เป็น พรรคไทยรวมพลัง พร้อมกับเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรค และภาพเครื่องหมายพรรค [2] โดยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 พรรคไทยรวมพลังได้ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งแต่ไม่ได้ที่นั่งในสภาแม้แต่ที่นั่งเดียว

ใน พ.ศ. 2557 นายเอกสิทธิ์หัวหน้าพรรคคนแรกได้ลาออกจากตำแหน่งทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคต้องพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ [3] โดยนาย กมล จิรโสภาพันธ์ ในฐานะนายทะเบียนสมาชิกพรรคจึงรักษาการในตำแหน่งหัวหน้าพรรค

จากนั้นในการประชุมใหญ่ของพรรคไทยรวมพลังเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ที่ประชุมมีมติให้เปลี่ยนแปลงชื่อพรรคเป็น พรรคไทยรักษาชาติ พร้อมกับเปลี่ยนแปลงข้อบังคับพรรคอุดมการณ์ของพรรค และนโยบายของพรรค รวมถึงนายกมลได้ลาออกจากตำแหน่งรักษาการหัวหน้าพรรคโดยมีกระแสข่าวว่าพรรคไทยรักษาชาติเป็นพรรคสาขาของพรรคเพื่อไทยเพราะมีอดีต ส.ส. และอดีตรัฐมนตรีของ พรรคเพื่อไทย จำนวนหนึ่งได้เตรียมย้ายมาสังกัดและเข้ามาบริหารพรรคไทยรักษาชาติ [4] นอกจากนี้ยังมีการตีความชื่อย่อของทางพรรคในช่วงแรกๆ ว่ามีนัยหมายถึงทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีอีกด้วย [5]

กระทั่งการประชุมใหญ่ของพรรคไทยรักษาชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๑ เมื่อวันพุธที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ที่ โรงแรมรามาการ์เดนส์ มีวาระสำคัญในการเลือก หัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และคณะกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ รวมถึงเปลี่ยนแปลงภาพเครื่องหมายพรรค และสถานที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรค ซึ่งที่ประชุมมีมติเลือกร้อยโท ปรีชาพล พงษ์พานิช และนาย มิตติ ติยะไพรัช เป็นหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรคคนใหม่ [6]

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 พรรคไทยรักษาชาติยื่นพระนามทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดีเป็นผู้ที่จะเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงชื่อเดียว ด้านหัวหน้าพรรคไทยรักษาชาติให้สัมภาษณ์ว่า "พระองค์ท่านเองทรงมีพระเมตตาตอบรับและให้พรรคไทยรักษาชาติเสนอพระนามในบัญชีนายกฯ ของพรรค"[7]

ต่อมาในวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 นายรุ่งเรือง พิทยศิริ กรรมการบริหารพรรคได้เดินทางมายังสำนักงาน กกต. เพื่อยื่นหนังสือลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรคและสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เพื่อยืนยันว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอพระนามทูลกระหม่อมหญิงฯ เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี อีกทั้งอยากให้เวลากับครอบครัว ทำให้คณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติเหลือทั้งสิ้น 13 คน [8]

จากนั้นในวันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 เวลา 12.30 น. คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. นำโดยพันตำรวจเอก จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ได้ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติตามมาตรา 92 (2) แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ตามมติในที่ประชุม กกต. เมื่อวันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 ต่อ ศาลรัฐธรรมนูญ