Custom Search

Jun 4, 2018

สาเหตุ ปัจจัย และอาการของโรคอ้วนคืออะไร?


ที่มา http://amprohealth.com/obesity/what-is-overweight-obesity/



สังคมในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงจากในอดีตหลายอย่าง วิวัฒนาการและเทคโนโลยีต่างๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับมนุษย์มากขึ้น แต่ความสบายที่ว่านี้ ก็สร้างผลเสียในอีกมุมหนึ่งคือ มนุษย์จะลดการเคลื่อนไหวร่างกายและ ใช้พลังงานในแต่ละวันน้อยลง เช่น จากเดินขึ้นบันใด ก็ใช้ลิฟต์แทนหรือ จากการเดินหรือขี่จักรยานไปสถานที่ต่างๆ ก็จะไปใช้มอเตอร์ไซด์หรือรถยนต์แทน เป็นต้น รวมกับการทานอาหารที่มากไปด้วย แป้ง น้ำตาลและไขมัน การขาดการออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นปัจจัยทำให้เกิดเป็นโรคอ้วนได้นั้นเอง

โรคอ้วนคืออะไร?
โรคอ้วน หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีปริมาณไขมันมากเกินกว่าปกติ มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน ซึ่งสามารถอธิบายการเกิดภาวะนี้ได้ง่ายๆคือ การที่ร่างกายได้รับพลังงานจากการกินอาหารเข้าไปมากกว่าพลังงานที่ได้ใช้ออกมาในแต่ละวัน ทำให้พลังงานส่วนที่เหลือถูกเก็บสะสมไว้ในรูปแบบของไขมัน เมื่อมีปริมาณมากๆก็จะกลายเป็นโรคอ้วนได้นั้นเอง

ผู้ที่เป็นโรคอ้วนนั้น มักจะมีอาการแทรกซ้อนของโรคอื่นที่จะสามารถพบได้บ่อยๆ เข้ามาด้วย เช่น โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคกระดูกและข้อเสื่อม โรคนอนกรนและหยุดหายใจขณะหลับ

ผู้ที่เป็นโรคอ้วนนั้นมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งลำไส้ใหญ่ และอื่นๆอีกมามาย เนื่องจาก โรคอ้วนไปทำให้ ระบบเผาผลาญของร่างกาย (ระบบเมตาโบลิซึม) และระบบฮอร์โมนต่างๆในร่างกายทำงานรวนหรือ ผิดเพี้ยนไปจากเดินนั้นเอง

นอกจากนี้ยังมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกิดจากการเป็นโรคอ้วน ทำให้ความสุขในชีวิตลดลง เช่น การหายใจที่ลำบาก ปัญหาเกี่ยวกับผิวหนังและทำให้มีบุตรยากอีกด้วยปัญหาโรคอ้วน นับวันจะค่อยๆร้ายแรงขึ้น กลายเป็นปัญหาหนึ่งที่คนทั่วโลกให้ความสนใจ และเริ่มระบาดไปในเด็กและวัยรุ่น โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนา โรคอ้วนกำลังระบาดอย่างหนักมาก โดยตั้งแต่ปี ค.ศ.1980 เป็นต้นมา พบผู้ป่วยเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่ามาโดยตลอดในทั่วโลก  หากดูข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก  มีสถิตที่น่าสนใจคือ ในปี ค.ศ. 2014 มีผู้ป่วยเป็นโรคอ้วนมากถึง 600 ล้านคน และในจำนวนนี้เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี ถึง 42 ล้านคนเลยทีเดียว ซึ่งเป็นข้อมูลและสถิติที่น่าตกไม่น้อยเลย



สาเหตุของการเกิดโรคอ้วน
สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคอ้วนนั้น สามารถแบ่งออกเป็นปัจจัยหลักๆ ได้ 2 ข้อ ดังต่อไปนี้

1. ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
1.1 กรรมพันธุ์ ปัจจัยทางกรรมพันธุ์มีผลต่อการเกิดโรคอ้วนมากถึง 50 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว หากครอบครัวใดที่พ่อแม่เป็นโรคอ้วน ลูกที่ออกมามีโอกาสจะเป็นโรคอ้วนมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่หากมีพ่อหรือแม่แค่คนใดคนหนึ่งเป็นโรคอ้วน โอกาสที่ลูกจะเป็นโรคอ้วนจะลดลงมาเหลือ 40 เปอร์เซ็นต์ และสำหรับครอบครัวที่พ่อและแม่ไม่ได้เป็นโรคอ้วน ลูกที่ออกมาจะมีโอกาสเป็นโรคอ้วนแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลตนเองและการควบคุมอาหารด้วย ที่สามารถลดปัจจัยด้านกรรมพันธุ์นี้ได้

1.2 เพศ โดยปกติแล้วโอกาสที่เพศหญิงจะเป็นโรคอ้วนมีสูงกว่าผู้ชายเนื่องจากในผู้ชายมีกล้ามเนื้อมากกว่าผู้หญิง จึงใช้พลังงานในแต่ละวันมากกว่าผู้หญิง และจากข้อมูลจะพบว่าผู้หญิงมีนิสัยชอบกินจุกกินจิกมากกว่าผู้ชายด้วยเลยทำให้อ้วนได้ง่ายกว่าผู้ชายนั้นเอง

1.3 อายุ ด้วยอายุที่มากขึ้นในทุกๆปี ทำให้ปริมาณของกล้ามเนื้อในร่างกาย และการทำกิจกรรมต่างๆในแต่ละวันจะน้อยลงกว่าวัยหนุ่มสาว การใช้พลังงานน้อยลงทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังน้อยลดตามไปด้วย และสำหรับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือนแล้วมวลกล้ามเนื้อจะลดลง 1 เปอร์เซ็นต์ของทุกๆปี เพราะฉะนั้นพลังงานจากอาหารที่กินเข้าไปจึงไปสะสมในรูปของไขมันได้ง่ายขึ้น เลยเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดความอ้วนได้นั้นเอง
1.4 อัตราการเผาผลาญพลังงาน (Metabolic Rate) ร่างกายของคนแต่ละคน จะมีอัตราการเผาผลาญพลังงานไม่เท่ากัน หากคนใดที่มีอัตราการเผาผลาญพลังงานที่ต่ำก็จะทำให้อ้วนได้ง่าย กว่าผู้ที่มีอัตราการเผาผลาญพลังงานที่สูงนั้นเอง มีข้อมูลการวิจัยพบว่า ยีนมีอิทธิพลต่อการควบคุมอัตราการเผาผลาญพลังงานขั้นพื้นฐาน และพลังงานที่ใช้ในการเผาผลาญอาหารด้วย

1.5 สรีรวิทยาของร่างกายส่วนประกอบของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อ ไขมัน แลฮอร์โมนจะเปลี่ยนแปลงไปตามอายุ เมื่อเราเคลื่อนไหวได้ช้าลง กล้ามเนื้อจะลดลง ไขมันจะเพิ่มขึ้นมาแทนที่ปริมาณของไขมันที่สะสมในร่างกายในแต่ละวัยก็จะแตกต่างกันไป  เมื่อเข้าสู่วัยกลางคนมีอายุมากขึ้น ร่างกายมีการใช้พลังงานลดลงก็จะทำให้อาหารที่ทานเข้าไปและใช้พลังงานไม่หมด ถูกเปลี่ยนและไปสะสมไว้ในรูปของไขมันจนทำให้อ้วนขึ้นนั้นเอง



2. ปัจจัยที่ควบคุมได้
2.1 กิจวัตรประจำวัน ในแต่ละวันเรามีกิจวัตรประจำวันต่างๆที่ต้องทำมากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นการใช้พลังงานจากการทานอาหารเข้าไป หากไม่มีการออกกำลังกาย หรือมีการใช้เครื่องทุ่นแรงเพื่ออำนวยความสะดวกสบายพร้อมทั้งกิจกรรมที่ทำในแต่ละวันมีการขยับเขยื้อนร่างกายที่น้อย เช่น งานที่นั่งทำอยู่แต่บนโต๊ะ ก็จะทำให้เป็นสาเหตุของการเกิดความอ้วนได้ง่ายดังนั้นจึงควรออกกำลังกายเป็นประจำ หรือหากิจกรรมที่ช่วยให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกายเพื่อช่วยลดพลังงานส่วนเกินไม่ให้ไปเป็นไขมันสะสม
2.2 กินอาหารไขมันสูงและกินเกินความต้องการของร่างกาย อาหารที่นิยมทานกันในปัจจุบัน เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ด หรือ อาหารสำเร็จรูปต่างๆ ที่สามารถหาทานได้ง่ายและรวดเร็วนั้น โดยส่วนมากจะมีส่วนประกอบของแป้งและไขมันในปริมาณสูงทำให้เกิดเป็นโรคอ้วนได้ง่าย ดังนั้นจึงควรทานอาหารที่ดีและมีประโยชน์แทนการทานอาหารฟาสต์ฟู้ดจะดีที่สุด

2.3 การเลี้ยงดู ครอบครัวใดที่นิยมทานอาหารที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคอ้วนโดยให้ทานแต่ในสิ่งที่ชอบแบบตามใจ โดยไม่นึกถึงหลักโภชนาการที่จะได้รับเข้าไปก็อาจจะทำให้เกิดการเป็นโรคอ้วนได้ง่าย โดยเฉพาะในเด็ก ควรมีการเลี้ยงดู ให้ทานอาหารที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบ 5 หมู่ และไม่ตามใจเด็กจนมากเกินไป

2.4 จิตใจและอารมณ์ หลายคนใช้การกินตอบสนองอารมณ์ด้านต่างๆที่เกิดขึ้น เช่น เสียใจก็กิน ดีใจก็กิน บางคนใช้วิธีการกินอาหารแก้อาการโรคซึมเศร้าซึ่งไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง กรณีแบบนี้อาจจะต้องใช้วิธีการทางจิตเวช เข้ามาช่วยบำบัดด้วย

2.5 ความเครียดหากมีความเครียดเกิดขึ้น ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนที่ชื่อว่า คอร์ติซอล ออกมาซึ่งจะมีผลไปทำให้ไขมันจะถูกเก็บสะสมไว้มากขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะในส่วนพุงหน้าท้อง สำหรับผู้หญิงจะมีความอยากอาหารมากขึ้นเมื่อเกิดภาวะความเครียด ดังนั้นความเครียดจึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสะสมของไขมันเพิ่มในร่างกาย
2.6 นอนน้อย หรือนอนไม่พอ ผลทางการวิจัยพบว่าการนอนน้อยทำให้ระดับฮอร์โมนที่ควบคุมความอยากอาหารทำงานแปรปรวน ทำให้เกิดความอยากในการกินอาหารเพิ่มขึ้นจากปกติเช่น ผู้หญิงที่นอนเพียงวันละ 5 – 6 ชั่วโมงจะอ้วนได้ง่ายกว่าผู้หญิงที่นอนวันละ 7 ชั่วโมง ขึ้นไป และการนอนไม่เพียงพอ ยังจะมีผลกระทบต่ออัตราการเผาผลาญพลังงาน และลดระดับการใช้พลังงานในร่างกายลงอีกด้วย

2.7 นอนดึก หรือผู้มีอาชีพทำงานตอนกลางคืน เวลาในการนอนพักผ่อนเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการทำให้เกิดโรคอ้วนได้ แม้จะนอนได้ถึง 8 ชั่วโมงก็ตาม เนื่องจาก มีผลการวิจัยออกมาว่า การนอนที่ผิดเวลาจากปกติ หรือ มีคุณภาพการนอนที่ไม่ดี จะไปลดความไวของฮอร์โมนอินซูลินลงซึ่งนำไปสู่โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วนได้รวมทั้งทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง  มีไขมันในร่างกายและไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง มากกว่าผู้ที่นอนแต่หัวค่ำปกติผู้นอนดึกส่วนมากมักจะขาดการออกกำลังกาย กินอาหารดึกๆ มีการสูบบุหรี่ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความอ้วนและโรคเบาหวานนั้นเอง

หากนอนไม่พอจะเกิดอะไรขึ้น
การนอนไม่เพียงพอ นอกจากจะทำให้เสียสุขภาพ รู้สึกง่วง ทำให้นาฬิกาชีวิตเสียสมดุล หรือมีอาการอ่อนเพลียแล้ว ยังมีข้อเสียอีกมากมายเช่น

– ทำให้ระดับฮอร์โมนที่ทำงานร่วมกับระบบเผาผลาญ การควบคุมความอยากอาหาร การตอบสมองต่อความเครียด เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ

– มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และโรคอ้วน

– เพิ่มความเสี่ยงสะสมของแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งมีแนวโน้มทำให้เกิด โรคหัวใจวายในอนาคตได้

– มีความเสี่ยงการเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

– เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ สโตรกความดันโลหิตสูง และหัวใจเต้นผิดปกติ

– ทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงและอาจทำให้ติดเชื้อหวัดได้ง่ายขึ้น

– อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะอายุสั้นลง มากถึง 15 เปอร์เซ็นต์



ควรนอนหลับพักผ่อนให้มากเพียงพอและอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม ควรนอนให้ได้คืนละ 8 ชั่วโมง



และสำหรับคนที่นอนดึกเป็นประจำแล้วไปชดเชยโดยการตื่นสายให้มากขึ้น ไม่ใช่วิธีการที่ถูกต้อง ควรค่อยๆปรับเวลาการนอนให้เร็วขึ้น โดยมีเป้าหมายในการเข้านอนไม่ควรเกิน 22.00 น. เพราะโกร๊ธฮอร์โมนซึ่งทำหน้าที่ซ่อมแซมร่างกายจะเริ่มหลั่งมากเวลา 22.00 น. และหลั่งสูงสุดประมาณ 24.00 น. เมื่อตื่นขึ้นจะรู้สึกว่ามีความสดชื่น แจ่มใส มีเรี่ยวแรงในการเริ่มกิจวัตรประจำวัน ทำให้สุขภาพโดยรวมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนั้นเอง

เหตุผลที่ต้องลดความอ้วน
เนื่องจากผู้ที่เป็นโรคอ้วน มักจะมีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงต่างๆ  มากมายดังนี้
1. โรคหัวใจและโรคหลอดเลือดตีบ โดยส่วนมากคนอ้วนจะมีโอกาสเป็นโรคความดันโลหิต หรือโรคไขมันในเลือดสูง มากกว่าคนปกติ โดยโรคเหล่านี้ก็จะไปเป็นปัจจัยเสี่ยงของ โรคหัวใจและ โรคหลอดเลือดอุดตันได้ทางป้องกันก็คือต้องลดน้ำหนักลงอย่างน้อยให้ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักตัวปัจจุบัน ก็จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันโรคดังกล่าวได้

2. โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่เกิดจากการดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน โรคยอดฮิตอีกโรคสำหรับคนอ้วนก็คือ โรคเบาหวานนั้นเองโรคเบาหวานชนิดนี้เกิดจาก ภาวะที่ตับอ่อนยังสามารถสร้างอินซูลินได้ปกติ แต่อินซูลินทำงานได้ไม่เต็มร้อยทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้น โดยอาจจะมีโรคร้ายแรงอื่นๆตามมาได้ เช่น  โรคหัวใจ หลอดเลือดตีบเป็นต้น  ซึ่งการควบคุมน้ำหนักและหมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวานได้ถึง 58 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียวนอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงโรคแทรกซ้อนที่มากับโรคเบาหวานได้ด้วย เช่น เบาหวานขึ้นตา เบาหวานลงไต และเบาหวานลงเท้า จากปลายประสาทเสื่อม

3. โรคมะเร็ง โดยผู้ชายที่อ้วนจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งสำไส้ใหญ่และต่อมลูกหมากส่วนผู้หญิงที่อ้วนก็จะมีความเสี่ยงการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก ถุงน้ำดี รังไข่ เต้านม และลำไส้ใหญ่

4. โรคหยุดหายใจขณะหลับ ผู้ที่เป็นโรคอ้วนมักจะมีปัญหาเรื่องการหยุดหายใจชั่วคราวขณะนอนหลับ มีอาการนอนกรน ซึ่งมีผลกระบทตามมาคือ ทำให้ง่วงนอนในเวลากลางวัน ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะลดลงตามไปด้วย

5. โรคไขข้อเสื่อม คนอ้วนจะมีน้ำหนักตัวที่มากพร้อมกับขนาดร่างกายที่ใหญ่กว่าปกติ ทำให้มีแรงกดทับให้กับส่วนล่างของร่างกาย เช่น ข้อต่อหัวเข่า สะโพก ขาและเท้าต้องรองรับน้ำหนักมากขึ้น ทำให้กระดูกอ่อนของข้อต่อเหล่านั้นเสื่อมเร็ว  จึงมักมีอาการปวดข้อปวดเข่ามาก บ่อยๆ

6. โรคเกาต์ โรคนี้ก็จะพบได้บ่อยๆสำหรับคนที่เป็นโรคอ้วน โรคเกาต์ เกิดจากการที่กรดยูริกสะสมตามข้อต่อปริมาณมาก ส่งผลให้ปวดตามข้อต่างๆ ของร่างกาย

7. โรคนิ่วในถุงน้ำดี การลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคอ้วนเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรทำอย่างเหมาะสมเนื่องจาก การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วในระยะเวลาสั้นๆ อาจจะก่อให้เกิดโรคนี้นิ่วในถุงน้ำดี ได้ ดังนั้นการลดน้ำหนักอย่างช้าๆและเหมาะสม เช่น สัปดาห์ละครึ่งกิโลกรัม จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด

แม้โรคอ้วนจะไม่ได้เป็นโรคที่มีความร้ายแรงมากมาย แต่หากมองถึงโรคแทรกซ้อนต่างๆที่จะเกิดขึ้นตามมา ก็นับว่ามีความน่ากลัวไม่น้อยเลยทีเดียว หากตัวเราเองนั้นไม่อยากเผชิญกับโรคหรือภาวะแทรกซ้อนต่างๆเหล่านี้ ก็ควรจะรู้จักวิธีในการป้องกันโรคอ้วน ซึ่งวิธีป้องกันโรคอ้วนที่ดีที่สุดและสามารถทำได้ง่ายๆด้วยตนเองก็คือ การทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ ก็จะเป็นสิ่งที่ช่วยให้หลีกเลี่ยงและลดปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคอ้วนได้นั้นเอง

เอกสารอ้างอิง

Body mass index. http://en.wikipedia.org/wiki/Body_mass_index [2014,March6].

Jitnarin, N.et al. (2009). Risk factors for overweight and obesity among Thai adults:

results of the National Thai Food Consumption Survey. Nutrients. 2, 60-74.

ดัชนีมวลกาย http://th.wikipedia.org/wiki/ดัชนีมวลกาย