โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม
ไลฟ์สไตล์
13 พฤษภาคม 2560 เวลา 10:21 น.
“อาการสั่นทำให้ผมทำอะไรไม่ได้ อ่านหนังสือ ทำงาน เขียนหนังสือไม่ได้ ซึ่งเราเขียนมาทั้งชีวิต เลี้ยงครอบครัวมาก็ด้วยการเขียน เดินทางค้นคว้าเรื่องต่างๆ แต่นี่มาเขียนไม่ได้ ก็เริ่มรู้สึกว่าควบคุมมือซ้ายไม่ได้ จึงเข้าสู่การรักษาพาร์กินสันโดยการทานยา คนที่เป็นโรคนี้หมอบอกว่า หน่วยผลิตสารที่ควบคุมกล้ามเนื้อมันหยุดผลิต อย่าง มูฮัมหมัด อาลี ที่เป็นเพราะถูกคู่ต่อสู้ชก พอหลบหมัดก็โดนก้านสมอง
"...ข้างซ้ายผมอ่อนแรง การรักษาตอนแรก เมื่อขาดโดปามีนก็กินเข้าแทนแล้ว แรงก็มาตามปกติ ดังนั้น 7-8 ปีแรก ไม่มีใครทราบว่าผมเป็น แต่มาปีที่ 9 และ 10 พอทานยาแล้ว แรงไม่มาแล้วมีอาการสั่นเกร็งมากขึ้น ทำให้นอนไม่ได้” ธีรภาพบอกว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเริ่มนอนได้น้อยลง บางครั้งก้าวขาไม่ออก ไม่มีแรงถึง 3-4 ชั่วโมง ทำงานไม่ได้ แม้แต่จะช่วยเหลือตัวเองเวลาเข้าห้องน้ำก็ยาก ทุกคนในบ้านก็ต้องลำบากไปด้วย แค่จะนั่งบนเตียงต้องให้คนช่วยยกขาขึ้นกระทั่งต้นปีที่ผ่านมาอาการเริ่มหนัก เรียกว่า ป่วยกันทั้งบ้าน เพราะเวลาจะเข้าห้องน้ำแต่ละครั้ง ต้องกดกริ่งเรียกตอนตีสองตีสี่ ทุกคนสะดุ้งตื่นกันหมด
การรักษาของธีรภาพใช้วิธีฝังเข็มควบคู่กัน แม้จะรู้ว่าแก้พาร์กินสันไม่ได้ แต่เขาคิดว่า เพื่อดูแลสุขภาพองค์รวมของตับ ม้าม หัวใจ ให้ยืนสู้กับมัน เป้าหมายสำคัญคือ ทำทุกอย่างเพื่อให้นอนได้ ถ้านอนหลับดี ร่างกายก็จะดีตาม แต่ถ้านอนไม่ได้ อาการจะหนัก
“ตอนนั้นรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่ในความรู้สึก เรารู้เลยว่า ถ้าอยู่คนเดียว จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า” ธีรภาพ นึกย้อนด้วยความหดหู่
ทุกอย่างย่อมมีจุดเปลี่ยน สำหรับธีรภาพ คือ การได้ไปพบหมอที่โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ เขาเล่าว่า ตอนนั้นหมออ่านประวัติว่ากินยาเท่าไร และเป็นมานานแค่ไหน ถึงกับอุทานว่า กินยาเยอะมาก และคงดูแลไม่ได้
ขอให้ไปพบกับอาจารย์หมอด้านพาร์กินสันโดยตรงของศูนย์พาร์กินสันของโรงพยาบาลศิริราช ก็ยิ่งรู้สึกแย่เข้าไปอีก แต่หมอก็ให้ลองทานยานอนหลับอีกตัว แม้จะรู้สึกเบื่อเพราะได้รับยานอนหลับมาหลายขนาน ทว่าครั้งนี้ ดีขึ้น หลับยาวเป็นปกติ
ตั้งแต่วันนั้นจนถึงวันนี้ 4 เดือนมาแล้ว อาการสั่นเกร็งจากพาร์กินสันลดลงไป 80% จนตัดสินใจ กลับมาทำกิจกรรมต่างจังหวัดครั้งแรกในรอบ 2 ปี
“ช่วงที่ได้รางวัลศิลปินแห่งชาติเมื่อปี 2558 ผมเป็นพาร์กินสันหนักจนออกไปบรรยายร่วมงานของกระทรวงวัฒนธรรมไม่ได้เลย การที่เราทำงานไม่ได้เป็นเรื่องที่เรารับไม่ได้ อยู่กับบ้านจนรู้สึกเบื่อ นอนก็ไม่หลับ และปกติเป็นคนเดินทางรายได้ก็แทบจะไม่มีเหลือ
แต่ดีที่คนรอบข้างลูก ภรรยา และแม่บ้านที่ทำงานที่บ้านเข้าใจและมาช่วย จึงรู้สึกไม่โดดเดี่ยว”
เปิดสำนักพิมพ์ส่วนตัว ทำกิจกรรมความดีของสังคม
การได้ออกเดินทางไปพูดที่ภูเก็ต ซึ่งถือเป็นการออกต่างจังหวัดครั้งแรกหลังจากป่วยหนัก ธีรภาพ บอกว่าเหมือนได้ชีวิตกลับคืนมา เมื่อทุกอย่างเริ่มฟื้นก็เริ่มคิดฟื้นโครงการต่างๆ
หนึ่งในนั้น คือ การจัดตั้งสำนักพิมพ์ส่วนตัว โดยไม่จัดจำหน่ายผ่านระบบสายส่งมีตัวเขากับภรรยา และทีมงานบางส่วนที่เคยทำงานมาร่วมกันทำ ตอนนี้ถือเป็นระยะเริ่มแรก
“เราอยากทำงานที่เรารักและคิดที่จะทำหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ ผมเลยตั้งสำนักพิมพ์ขึ้น ชื่อว่า เรือนพิมพ์แม่ชอบ บางคนอาจคิดว่า ขณะที่หนังสือกำลังทยอยปิดตัวลง เรากลับเปิดสำนักพิมพ์ แต่ผมตั้งใจจะไม่ใช้ระบบพิมพ์แบบเก่า
ที่ว่า พิมพ์แล้วต้องส่งให้สายส่งซึ่งต้องเสียค่าสายส่งถึง 45% เลยใช้วิธีพิมพ์แล้วจำหน่ายเองโดยการแจ้งข่าวผ่านสื่อโซเชียลควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรม สัมมนา เช่น จะทำหนังสือเรื่องในหลวงของเราก็จะรณรงค์เรื่องให้คนไทยมีความเพียรดั่งพระมหาชนก
อาจจะจัดประกวดเรื่อง คนเพียร ที่เราเชื่อว่า มีอยู่ทั่วประเทศ” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ กล่าว
แม้สุขภาพจะดีขึ้น แต่ธีรภาพก็เตือนตัวเองอยู่เสมอว่ายังไม่หายดี
ดังนั้น จะไม่เร่งหรือกดดันตัวเองในการปิดต้นฉบับ ทุกอย่างจะต้องเป็นไปโดยธรรมชาติ เดิมทีเขาตั้งใจจะเปิดตัวหนังสือสองเล่มในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เล่มแรก คือ “ในหลวงของโลก ในหลวงของเรา” และ "ภาพประวัติและพระราชกิจธรรมของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20” แต่เสร็จไม่ทัน คงรอไปเปิดในงานหนังสือเดือน ต.ค. 2560 แทน
ไม่กลัวความเสี่ยงจากการทำหนังสือหรือ?
“เราไม่ได้มั่นใจว่า จะประสบความสำเร็จ 100% เพราะทุกอย่างต้องมีอุปสรรค และความเสี่ยง แต่ประเมินแล้วว่า สิ่งที่จะทำ มีปัจจัยเสี่ยงน้อยและโอกาสที่จะได้รับการสนับสนุนมีแน่
รวมทั้งพี่ชายคนกลางของผม ท่านเป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชลประทาน ท่านทำหนังสือเผยแพร่ให้กับหลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ มานาน ฉะนั้น ท่านก็จะมีเครดิตกับทางโรงพิมพ์ค่อนข้างสูง เราก็อาจจะขอเครดิตจากทางโรงพิมพ์นานซักหน่อย
ซึ่งก็จะทำให้เราพอมีเวลาที่จะขับเคลื่อนในการจำหน่ายหนังสือด้วยตัวของเราเอง โดยไม่ต้องไปฝากสายส่งและเสียค่าวางแผนหนังสือมาก ประกอบกับประสบการณ์ในการทำกิจกรรมที่ผ่านมาก็คิดว่ามีอยู่พอสมควร
“ผมจะทำน้อยลง แต่จะประสานงานมากขึ้น แต่ละเล่มจะมีบรรณาธิการคอยดูแล ผมจะคอยตรวจขั้นตอนสุดท้ายก่อนที่จะตีพิมพ์ และผมก็บอกตัวเองว่า ถ้าทำแล้ว ป่วยอีกเราก็จะไม่ทำ ดังนั้น 2-3 ทุ่ม จะต้องขึ้นนอน คุณต้องไม่คิดอะไรแล้ว
แม้บางวันเรายังทำไม่ได้แต่ก็ต้องพยายาม เพราะในช่วงแรกระบบของหนังสือยังไม่เข้าที่ เราก็มีความเครียดอยู่บ้าง แต่จากการที่เราเป็นหนักๆ มาก็ทำให้เรารู้ว่า ถ้าปล่อยวางไม่ได้ คุณก็จะแย่ ถ้าจะนอนแล้ว ผมยังค้างคา
ผมจะเตรียมดินสอมาจด แล้วจบ ถ้าไม่จด มันก็ค้างคาอยู่ในใจตลอดเวลา”
ปัจจุบันการทำกิจวัตรประจำวันของศิลปินแห่งชาติผู้นี้ไม่ได้รบกวนครอบครัวมาก สามารถลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำเองได้ เขาเล่าว่า ปกติจะตื่น 7 โมง จะเริ่มทานยาพาร์กินสันชุดแรกเพื่อทำให้มีแรง จากนั้นรอครึ่งชั่วโมงถึงจะเดินได้เป็นปกติ
และก็ทานอาหาร เช่น กล้วยน้ำว้าซัก 1-2 ลูก แต่ตอนหลังมากินอินทผลัม 1-2 เม็ด เป็นพืชที่ชาวมุสลิมใช้หลังจากถือศีลอดมาทั้งวัน ถ้ากินอาหารมื้อหนักเลยจะไม่ไหว ตามด้วย นมถั่วเหลือง และไปออกกำลังกายด้วยการกวาดใบไม้หน้าบ้าน
ฟังข่าว อาบน้ำ ทานข้าว 9 โมงก็เริ่มทำงาน 11.30 น. กินยารอบต่อไป แล้วพัก ทานข้าว ทำงานรอบบ่าย พอถึง 16.30 น. กินยา แล้วทำงานเขียนหนังสือ ส่งต้นฉบับ วางแผนเรื่องสำนักพิมพ์ กระทั่ง 18.30 น. จะหยุดแล้วออกไปเดินออกกำลังกาย
อาบน้ำทานข้าว สวดมนต์ นอน 21.30 น.
การได้กลับมาอ่าน เขียน เกร็ดความรู้ทางวัฒนธรรม ทำให้ธีรภาพมีความสุขที่ได้เผยแพร่ความรู้ยังสังคม ปกติก่อนที่จะป่วย ต้องส่งต้นฉบับเดือนละ 8-10 ชิ้น ทั้งหนังสือพิมพ์รายวัน นิตยสาร เมื่อไม่สบายก็ลดอยู่ที่ 4 ชิ้นต่อเดือนแทน
“งานเขียนที่มีรายได้น้อยกว่างานเขียนจิตอาสานะ” ธีรภาพ เล่าติดตลกพลางว่า “บางชิ้นเพื่อนฝูงขอให้ช่วยเขียน มันก็อดไม่ได้เพราะช่วยกันมา 7-8 ปี เช่น นิตยสาร ฟรีก๊อบปี้ จ.สุราษฎร์ธานี ชื่อว่า @Surat เขียนช่วยเขามา 7 ปี ไม่มีรายได้ แต่ก็ถือว่าช่วยกัน เพราะช่วงชีวิตหนึ่งผมเคยเข้าป่าที่สุราษฎร์ธานี จึงคิดว่า สุราษฎร์ธานีมีบุญคุณกับผม น้ำ ข้าว สุราษฎร์ธานี เลี้ยงผม อะไรที่ช่วยได้ก็ช่วย แต่ว่าช่วงที่สุขภาพเราไม่ดี ก็ขอลดงานเขียนลง”
มุ่งมั่นถ่ายทอดความรู้ บทบาท ศิลปินแห่งชาติ ในปีหน้า ธีรภาพ จะครบ 60 ปี ฝันของเขาจากนี้ คือ การได้ถ่ายทอดประสบการณ์ที่มีให้กับคนรุ่นต่อไปให้ได้มากที่สุด และในฐานะศิลปินแห่งชาติ ยิ่งต้องทำให้กับประเทศชาติ “ตัวเราแม้ได้รับรางวัลหรือได้รับการเชิดชูหรือไม่ก็ตาม
ก็คิดว่าเมื่อเราผ่านประสบการณ์มาแล้ว เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำ อะไรที่เราเคยผิด เราจะต้องไม่มาผิดซ้ำ ฉะนั้น งานอีกประเภทที่ดูเหมือนไม่มีอะไรแต่ก็มาบ่อย ก็คือ การเป็นที่ปรึกษาให้กับนักศึกษาทำวิทยานิพนธ์ งานนี้จะไม่เคยปฏิเสธเลยนอกจากไม่ไหวจริงๆ
หลายมหาวิทยาลัยโทรมาขอให้เป็นที่ปรึกษา เอาหนังมาฉายให้ดูแล้วก็วิจารณ์ อันนี้ก็ถือว่าเป็นหน้าที่ ยิ่งได้รับให้เป็นศิลปินแห่งชาติก็ยิ่งมีความรู้สึกว่า ตำแหน่งนี้ไม่ใช่ทำให้เราโก้หรู แต่มันเป็นภารกิจที่จะต้องทำให้แผ่นดิน เราจะทำเท่าที่ทำได้”
เขาเล่าว่า ปัญหาสุขภาพทำให้ไม่สามารถเดินทางไปเผยแพร่โครงการสัญจรของกระทรวงวัฒนธรรมได้ แต่เด็กๆ ก็มาหาเราได้ ช่วงไหนมีแรง ก็จะวิจารณ์ให้เขา หนังสือบางเล่ม เช่น กว่าจะเป็นสารคดีที่เขียนขึ้น ก็เป็นสิ่งที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัยให้นักศึกษาไปอ่าน
เพราะเต็มไปด้วยประสบการณ์ ฉะนั้นบทบาทการถ่ายทอดประสบการณ์จึงถือเป็นภารกิจทั้งในส่วนที่เป็นจิตอาสาและอาจหารายได้เลี้ยงชีพได้
การถ่ายทอดความรู้สำหรับธีรภาพไม่เพียงแต่จะทำให้กับสถาบันการศึกษา แต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ในเชิงประวัติศาสตร์ก็จะแพร่เผยให้กับสาธารณชนรู้ ซึ่งใกล้ๆ กรุงเทพฯ มีแหล่งวัฒนธรรมมากมาย เช่น ปทุมธานี นนทบุรี มีภาพจิตรกรรม
รูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมโดยศิลปินมอญเขียนไว้อย่างงดงาม แต่หลายคนไม่เคยรู้มาก่อน
“ตั้งแต่ป่วยมาผมเก็บวัดเล็กวัดน้อยและก็ค้นพบความงดงาม สิ่งดี และนำมาเผยแพร่ให้คนได้ทราบ เช่น วัดคฤหบดี ที่ฝั่งธนฯ มีพระพุทธรูปที่ชื่อว่า พระแซกคำ มีประวัติเกี่ยวข้องกับพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชของลาว เราก็เอาเรื่องเหล่านี้มาผูกโยงเพื่อสร้างความรู้สึกที่ดีกับเพื่อนบ้าน
ฉะนั้นในภารกิจการถ่ายทอด การเขียนสารคดีลึกๆ แล้วยังมีเรื่องของการที่เราอยากจะสร้างทัศนคติที่ดีของคนไทยต่อประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ บาดแผล ความทรงจำที่ไม่ดี จากสงครามในอดีต ความดูถูกเหยียดหยามกัน
ก็จะพยายามทำภารกิจอันนี้ให้ดีที่สุด”
งานเขียนของ ธีรภาพ ไม่เพียงแต่ปรากฏใน นิตยสาร สารคดีเล่ม จนได้รางวัลมามากมาย เมื่อโลกเปลี่ยนจากกระดาษมาสู่เทคโนโลยีดิจิทัล ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้เฟซบุ๊กในการเผยแพร่มากขึ้น เพราะเข้าถึงผู้คนได้กว้างขวาง
เขาบอกว่า เฟซบุ๊กเป็นอาวุธสำคัญอีกชิ้นที่ได้ถ่ายทอดหรือทำภารกิจที่อยู่ในใจ เช่น เผยแพร่งานศิลปวัฒนธรรมที่เราถนัด การสร้างพระเมรุมาศ ถวายพระเพลิงพระบรมศพที่สนามหลวง มาจากไหน ก็มีที่มาเดียวกับเขาพระสุเมรุ นครวัด
เพียงแต่นครวัดเป็นเมรุมาศที่สร้างอย่างถาวร ของไทยเป็นเมรุมาศชั่วคราว ทั้งหมดเชื่อมโยงให้เห็นว่า แท้จริงแล้วเรามีวัฒนธรรมร่วมเดียวกันซึ่งรับมาจากที่อื่นและก็ไม่ต้องมาเถียงกันว่า เป็นของใคร เพราะไม่ใช่ของเรา แต่เป็นของอินเดีย
“ในเฟซบุ๊กเดี๋ยวนี้เราหาคลิปนักเรียนตีกันง่ายกว่าวิธีการแทงหยวก เมื่อสิ่งเหล่านี้มันมีเยอะเราก็ทำหน้าที่ช่วยสมดุลด้วยการเอาด้านที่งดงามมานำเสนอ คนที่ทำอะไรที่ดีๆ เช่น เมย์ รัชนก ยกมือไหว้ทุกครั้งหลังจบเกม จนสมาคมแบดมินตันอินเดีย เขียนจดหมายมาชื่นชม เราก็ได้พูดถึง เราไม่ได้มองโลกสวย”
เส้นทางชีวิตในช่วงใกล้เลขหก ธีรภาพ มีความหวังให้ร่างกายแข็งแรงพอที่จะต้านโรคพาร์กินสัน แม้โรคนี้จะไม่หายขาด แต่ก็จะลดยาให้น้อยลง ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการเดินทางโดยชวนผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ ไปจัดกิจกรรมในต่างจังหวัดแบบจิตอาสาอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง