Custom Search

Nov 9, 2012

กล้าแกร่ง...สร้างสรรค์ชั้นครู ผศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล



หญิงวัยทำงานในชุดเสื้อเชิ้ตคัตติงเนี้ยบ
กางเกงสแล็กส์ขาบาน 
มาดอาจารย์สอนหนังสือคนนี้
เป็นมิตรและยิ้มแย้มเสมอ
เสน่ห์น้ำเสียงนุ่มหู
วาจาเพราะพริ้งชวนฟัง
ทุกครั้งที่ได้สนทนากัน
ผศ.ดร.น้ำฝน ไล่สัตรูไกล
เป็นประธานบริหารหลักสูตร 
และอาจารย์คนเก่งของ
สาขาวิชาการออกแบบเครื่องแต่งกาย
และปริญญาเอกสาขาศิลปะการออกแบบ
คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
และเธอเป็นอดีตนักศึกษาปริญญาตรี 
คณะมัณฑนศิลป์ของที่นี่ ก่อนไปศึกษาปริญญาโทใบแรก
อินดัสเตรียล ดีไซน์ ที่ Universityof South Australia
เมือง Adelaide ที่ออสเตรเลีย
และปริญญาโทอีกใบด้านสิ่งทอ ที่ ENSCI ปารีส ฝรั่งเศส
ใจรักการเรียนรู้ศาสตร์แห่งศิลปะ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบ
และกระบวนการผลิตสินค้าแฟชั่น
ส่วนหนึ่งเกิดจากการหล่อหลอมของครอบครัว 
ทั้งคุณพ่อที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์ศิลป์ พีระศรี
คุณอาเป็นมัณฑนากร 
เธอจึงเห็นบรรยากาศการสร้างสรรค์งานศิลปะตั้งแต่ยังเล็ก
ไม่แปลกที่ผศ.ดร.น้ำฝน
จะลงเอยในเส้นทางสายศิลปะ
หลังจากกลับจากฝรั่งเศส ผศ.ดร.น้ำฝน สมรสกับ
อภิสิทธิ์ ไล่สัตรูไกล
ผู้อำนวยการคนปัจจุบัน
ของศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ
(Thailand Creative Design Center–TCDC)
ก่อนที่จะไปศึกษาต่อปริญญาเอก
อินดัสเตรียล ดีไซน์ที่
Birmingham Institute Of Art And Design
ประเทศอังกฤษ
“ระหว่างนั้นต้องหอบลูกชายคนโต (น้องตรงตรง โอทารย์)
ไปเลี้ยงด้วย ไม่นานนักก็ตั้งท้องลูกสาวอีกคน
(น้องจริงจริง อรอร) ชีวิตช่วงนั้นทรหดมาก 
เพราะสามีก็เป็นนักเรียนทุน ไม่มีเวลาเช่นกัน
ตอนจะคลอดก็บินกลับมาพร้อมลูกคนโต
รอสามีสอบเสร็จจากนั้น 1 สัปดาห์ จึงคลอด
ในที่สุดก็ผ่านมาได้ทั้งเรื่องการเรียน และการดูแลลูกๆ”
ครอบครัวที่รัก
“เสาร์อาทิตย์ คือวันของลูกๆ ทั้งสองคน
จะมีเรียนดนตรี และศิลปะ เราก็จะใกล้ชิด 
สนใจและติดตามพัฒนาการของเขา
วันธรรมดาเขาก็หนักกับการเรียนของเขาตามวัย 
ขณะที่พ่อแม่ก็หนักกับงานของเรา
แต่อย่างไรก็จะไปส่งลูกเข้าเรียนทุกวัน 
ปลูกฝังความคิดสร้างสรรค์ให้กับเขาตั้งแต่ยังเล็ก
เวลาว่างอยู่บ้านก็จะทำงานศิลปะ หรือทำงานบ้าน
ทั้งที่มีแม่บ้าน แต่ก็สนุกกับการได้ลงมือทำด้วย 
นอกจากนั้นก็ออกกำลังกายร่วมด้วย”
แบรนด์ เจอร์ไมน์
“Jermyn คือ ชื่อแบรนด์ที่ดิฉันสร้างขึ้น 
มาจากชื่อถนนที่ขายแต่เสื้อเชิ้ตในลอนดอน
เพราะรักเสื้อเชิ้ต มันคือชิ้นที่ใส่ไปได้ทุกงาน
ไม่ว่าจะส่วนตัวหรือพบปะผู้คน 
เพียงแค่คุณเปลี่ยนท่อนล่าง หรือสวมสูททับ
เมื่อเราเป็นนักออกแบบ เราก็ทำใส่เอง
เพราะเราชอบความประณีต ทั้งแบบ
เนื้อผ้าและฝีเข็ม ไม่ใช่ว่าแบรนด์เนม
จะใช้ของดีทุกยี่ห้อ
ตั้งแต่เริ่มทำเองก็ไม่ได้ซื้อเสื้อเชิ้ตอีกเลย (หัวเราะ)
อย่างในตู้เราเองส่วนใหญ่ก็มีแต่เชิ้ตขาว ดำ
หรือสีเข้ม เป็นเบสิก นอกจากเชิ้ตแล้ว
ก็ทำสูทและกางเกงด้วย”
หนังสือศิลปะ โมเดลหุ่นเสื้อผ้าและภาพเขียน
“แน่นอนว่าเราชอบอ่าน ชอบดู และค้นคว้าเพื่อรู้ให้มาก
ในทั้งด้านการเรียน และเพิ่มเติมประสบการณ์ 
นอกจากนั้นผลงานบางชิ้นที่เราเคยทำก็ได้ถูกรวบรวมไว้
ในแค็ตตาล็อกบางเล่มตามโอกาสอำนวย 
มันคือความภูมิใจค่ะ ส่วนตุ๊กตาหุ่น
เกิดจากการเก็บเล็กผสมน้อยตอนสมัยเรียน 
ดิฉันชอบไปตามตลาดเปิดท้าย
สนุกกับการดูของเก่าต่างๆ ของเมืองนอกเขาขายกันจริงจัง 
และของดีทั้งนั้น ตุ๊กตาหุ่นถูกใจ ก็ค่อยๆ
เก็บจนกลายเป็นของสะสม
เวลาว่างดิฉันก็เขียนภาพ มีนำไปแสดงนิทรรศการบ้าง
ไปใช้เป็นภาพประกอบบ้าง หรือประดับตกแต่งบ้านด้วย
ของหลายชิ้นในบ้านดิฉันและสามีก็ทำขึ้นมาทั้งนั้น 
เขาก็เป็นช่างไม้ไป เราก็งานจุกจิกไปเรื่อย”
กระเป๋าสวยที่ลายผ้า
“เวลาไปที่แปลกๆ ใหม่ๆ เห็นกระเป๋า
หรือเสื้อผ้าที่มีลายผ้าสะดุดตา ก็จะชื่นชม
ที่ซื้อติดกลับมาก็ของ Marimekko จากฟินแลนด์
ดอกป๊อปปี้เป็นลายดอกไม้ที่ทำให้ประเทศนี้รวยขึ้นมา
ในเวลาไม่นาน ส่วนอีกสองใบเป็นกระเป๋าจากญี่ปุ่น
ใบหนึ่งเป็นรูปพัด อีกอันเป็นตุ๊กตาล้มลุก
เห็นได้ชัดว่าชิ้นผ้าและลายสะท้อนวัฒนธรรมที่สวยงาม
เวลาเห็นของชิ้นไหนที่ซื้อ
จะทำให้นึกถึงความทรงจำดีๆ”
สไตล์ของคุณ
“ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคนน่าจะเกี่ยวเนื่องกับอาชีพ 
อย่างดิฉันเป็นครูจะแต่งตัวฟู่ฟ่า
หรูหรามากก็คงไม่งาม (หัวเราะ) คือ
เราก็เป็นดีไซเนอร์ แต่เราอยู่ภายใต้องค์กรราชการ
นอกจากนั้นก็คงเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำด้วย คือ
ต้องสอนหนังสือ และทำเวิร์กช็อปก็ต้องแต่งตัว
ให้มันทะมัดทะแมง รสนิยมนั้นค่อยๆ
ซึมซับและปลูกฝังกันได้ แต่ว่าบางสิ่งบางอย่าง
จะเข้ากับตัวเราไหม อาจจะต้องปรึกษาเพื่อนบ้าง
แต่อันที่จริงเราก็ดูดีได้ จากสิ่งง่ายๆ
แนะนำว่าให้มิกซ์ แอนด์ แมตช์
บางชิ้นไม่ต้องแพง ผสมกับที่แพงบ้าง”
ท้ายสุดสตรีเสียงหวานมาดอาจารย์ก็ทิ้งท้ายไว้ให้ผมฟัง
“ทุกคนต่างอยากประสบความสำเร็จทั้งนั้น
แต่พยายามอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอดทน
และทำให้ดีที่สุด เราจะอยู่อย่างมีคุณค่าได้อย่างไร
ถ้ามัวแต่กลัวลำบาก หรือกังวลกับปัญหา”

แนะนำสาขาวิชาออกแบบเครื่องแต่งกาย
คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร