Custom Search

Nov 8, 2011

การฟื้นฟูหลังน้ำท่วม


วรากรณ์ สามโกเศศ
มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

มติชน
November 3, 2011




น้ำท่วมจะหนักหนาสาหัสกว่าที่ได้เกิดขึ้นแล้วหรือไม่

ไม่มีใครรู้เพราะเชื่อว่าไม่มีใครรู้จริงในเรื่องน้ำในครั้งนี้
อย่างไรก็ดี สิ่งที่แน่นอนก็คือความเสียหายเหลือคณานับ
บ้างก็ว่าถึง 7-8 แสนล้านบาท
ซึ่งก็ไม่มีใครรู้อีกเช่นกันว่าใกล้เคียงความจริงแค่ไหน

โลกของเราในปัจจุบันมันซับซ้อน ลึกล้ำ มืดดำ
เกินกว่าที่จะเข้าใจได้ง่ายๆ โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่บอกว่าบ้านท่านสูงกว่าน้ำกี่เมตร
น้ำจะมีโอกาสท่วมหรือไม่ก็ไม่มีความหมายมากนัก
ความสูงจากระดับน้ำทะเลอย่างเดียวมิได้เป็นตัวแปร
ที่จะบอกว่าน้ำมีโอกาสท่วม บ้านหรือไม่
ระยะทางใกล้ห่างแหล่งน้ำที่มีประตูระบายน้ำที่สามารถควบคุมน้ำได้
การป้องกันน้ำท่วมของตนเองและบริเวณใกล้เคียง
การเมืองระดับชาติและท้องถิ่นเกี่ยวกับการปล่อยน้ำ ฯลฯ

น้ำท่วมบ้านไม่ว่ามากน้อยเพียงใดอาจเป็นสิ่งที่กำลังจะเป็นอดีตของหลายคน
และอาจเป็นอดีตหรืออนาคตของประเทศก็ได้
ผู้คนได้พูดถึงน้ำท่วมกันมามากแล้ว
ผู้เขียนขอพูดถึงอนาคตหลังน้ำท่วมบ้าง

การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมครั้งนี้สร้างความปวดหัวให้แก่ผู้เกี่ยวข้องอย่างมาก
แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการฟื้นฟูหลังน้ำท่วมแล้ว
ปัญหาแรกจะเปรียบได้กับสิวเม็ดเล็กกับฝีทีเดียว

ใน การฟื้นฟูหลังน้ำท่วม ภาครัฐต้องคำนึงถึงอย่างน้อย 4 ประเด็นด้วยกัน กล่าวคือ
(1) การฟื้นฟูทางกายภาพ
(2) การสร้างงานและสร้างรายได้
(3) การฟื้นฟูความเชื่อมั่นในประเทศไทย
(4) การฟื้นฟูขวัญและกำลังใจของคนไทย

ในประเด็นแรก น้ำท่วมทำลายถนน กัดเซาะสิ่งก่อสร้างทั้งหลาย ทำลายความงดงาม
สร้างความสกปรก สร้างปัญหาสาธารณสุข ฯลฯ
สภาพเหล่านี้ต้องถูกแก้ไขเพื่อให้สามารถกลับสู่สภาพเดิมได้อย่างรวดเร็วที่สุด

ต้นทุนด้านโลจิสติกส์โยงใยกับการเดินทางและการขนส่งเป็นอย่างมาก
การซ่อมแซมถนนและหนทางการคมนาคมไม่ว่าด้วยรถไฟหรือเรือเป็นสิ่งที่ต้องรีบดำเนินการ
ความ สะอาดเรียบร้อยเป็นระเบียบ ความงดงามของถนนหนทาง บ้านเรือนจะกลับคืนมาได้
เพื่อสื่อความเป็นปกติสุขก็ด้วยการทุ่มเทแรงงาน
และทรัพยากรอย่างมากมายของภาครัฐ งานในส่วนนี้ต้องใช้เงินอย่างสร้างสรรค์ และโปร่งใสอีกนับแสนล้านบาท
ประเด็นที่สอง การสร้างงานและรายได้โยงใยกับการใช้จ่ายของภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ภาครัฐจำเป็นต้องทุ่มเทเงินอีกนับแสนๆ ล้านบาท ตลอดจนการยกเว้นภาษีเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติ
และสนับสนุนการฟื้นคืนตัวของโรงงานอุตสาหกรรมที่โดนน้ำท่วมในหลายนิคม อุตสาหกรรม
SME′s และธุรกิจนอกระบบ (non-formal sector เช่น ขายลูกชิ้นปิ้ง ไก่ย่าง ขายของท้ายรถ รถกระบะขายกับข้าว ฯลฯ)
คือหัวใจของการฟื้นฟูชีวิตของคนชั้นกลางที่มีจำนวนนับล้านคน เลือดฝอยของเศรษฐกิจเหล่านี้
ต้องได้รับการฟื้นฟูหลังจากได้สูญเสียเครื่อง มือทำมาหากิน
และรายได้ระหว่างน้ำท่วม การให้โอกาสลุกขึ้นยืนอีกครั้งของธุรกิจเล็กๆ เหล่านี้
เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งยวดของสังคมไทย
ประเด็นที่สาม การฟื้นฟูความเชื่อมั่นในประเทศไทย
เราคงต้องยอมรับกันว่าคนไทยและคนต่างชาติได้เห็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมที่ขาด ประสิทธิภาพทั้งของภาครัฐ
และ ศปภ.ได้เห็นความขบขันที่นายกรัฐมนตรีต้องเป็นผู้ลงมาตัดสินปัญหาการเปิด ประตูระบายน้ำ
ได้เห็นการขาดความประสานงานอันเนื่องมาจากปัญหาการขาดการนำของภาครัฐ
ได้เห็นการเยียวยาในระยะต้นของผู้ถูกกระทบอย่างกระท่อนกระแท่น
และเหนือสิ่งอื่นใดประชาชนไม่เชื่อถือข้อมูลที่รัฐให้ (ถ้ามี) ฯลฯ
สิ่ง เหล่านี้ต้องได้รับการฟื้นฟูแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรมและอย่างเฉียบพลันเพื่อ
ให้คนเหล่านี้เกิดความเชื่อมั่นในประเทศไทยอีกครั้ง
ถ้าผู้คนขาดความเชื่อมั่นในความสามารถของภาครัฐและของคนไทยด้วยกันเอง
ในการ แก้ไขปัญหาแล้ว ปัญหาอื่นๆ จะตามมาอีกมากมาย
ไม่ว่าด้านเศรษฐกิจหรือสังคม หรือการเมือง
ประเด็นที่สี่ การฟื้นฟูจิตใจของคนไทย ภาพผู้คนลำบากแสนสาหัส
(ซ่อนอยู่ภายใต้รอยยิ้มและความอดทน) ของผู้ประสบอุทกภัย
เห็นกันโดยทั่วไปในโทรทัศน์ คนไม่ต่ำกว่า 5-6 ล้านคน ถูกระทบโดยอุทกภัยครั้งนี้
ปัญหา ด้านจิตใจที่เกิดขึ้นนั้นมิได้เกิดเฉพาะกับผู้ประสบอุทกภัย
แต่เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้เห็นหรือมีประสบการณ์เกี่ยวพันด้วยโดยตรงและโดยอ้อม
ประสบการณ์เหล่านี้บ่อนเซาะความหวัง สร้างความหวาดหวั่นไม่มั่นใจและไม่มั่นคงในชีวิต
ผลในด้านจิตวิทยาเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อผลิตภาพ (productivity)
หรือ ความสามารถในการผลิตของแรงงานแต่ละหน่วย
งานวิจัยสนับสนุนเรื่องนี้มีมากมายและชี้ให้เห็นว่าผลิตภาพซึ่งเป็นหัวใจ สำคัญ
ของความกินดีอยู่ดีของแต่ละสังคม ต้องการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมซึ่งได้แก่ความรู้สึกมั่นคงในชีวิต
ทั้ง 4 ประเด็นข้างต้นเป็นการบ้านสำคัญของสังคมไทย
รัฐบาลต้องเป็นผู้นำและประสานให้เกิดคำตอบ และมีการนำคำตอบไปปฏิบัติอย่างจริงจังและอย่างเห็นผล
คำตอบไม่ใช่เงินจำนวนมหาศาลที่ใช้ใน การแก้ไขปัญหา เงินเป็นเพียงเงื่อนไขจำเป็น (necessary condition)
แต่มิใช่เงื่อนไขที่เพียงพอ (sufficient condition) ในการฟื้นฟู 4 ประเด็นข้างต้น
การ ร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทุกภาคส่วนโดยเฉพาะชุมชนในการฟื้นฟูประเทศไทย
หลัง อุทกภัยมีบทบาทสำคัญยิ่ง คำถามก็คือภาครัฐที่เป็นผู้นำจะทำอย่างไร
ให้ทุกภาคส่วนเกิดการร่วมแรงร่วมใจ ไม่รู้สึกว่ามีเขามีเราไม่มีความระแวงว่าจะเป็น “กับดัก”
เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางการเมืองให้แก่กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
โครงการ ประชานิยมสุดขั้วทั้งหลายต้องถูกทบทวน
เพราะค่าใช้จ่ายของมันบวกค่าใช้จ่ายใน การฟื้นฟูของภาครัฐหลังน้ำท่วม
อาจสูงเกินกว่าความสามารถของสังคมเรา หากดื้อดึงก็จะเป็นผลเสียในระยะยาวต่อไปอีกหลายชั่วคน