Custom Search

Aug 30, 2009

Department of Architecture Co.,Ltd.



http://www.facebook.com/DeptOfARCH


อมตะ หลูไพบูลย์ กับ ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ

สองสถาปนิกคู่หู ปลื้มผลงานการออกแบบ คว้ารางวัลเหรียญเงินสถาปัตยกรรมประจำปี 2551

Related:

สถาปนิกคู่หูไฟแรง อมตะ หลูไพบูลย์ และ ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ แห่ง บริษัทดีพาร์ทเมนท์ ออฟ อาร์คิเทคเจอร์ ปลื้มใจ
เมื่อรีสอร์ทหรู ศาลาภูเก็ตรีสอร์ทแอนด์สปา ของ ศุภตา จิราธิวัฒน์
ผลงานการอกแบบ ของบริษัทฯได้รับรางวัลเหรียญเงินจากการคัดเลือก สถาปัตยกรรมประจำปี 2551 จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์และได้รับเลือกให้เป็น 1 ในรีสอร์ทแอนด์สปาใหม่ที่ดีที่สุดในโลกจากนิตยสารท่องเที่ยว Conde’ Nast Traveler, USA 






ซึ่ง ศาลาภูเก็ต รีสอร์ทแอนด์สปาเป็น รีสอร์ทหรูระดับ 5 ดาวศาลาภูเก็ตเพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปี2550 ติดหาดทรายขาวยาวกว่า 100 เมตรบนหาดไม้ขาว ประกอบด้วยห้องพัก 7 รูปแบบ รวมทั้งสิ้น 79 วิลล่า (โดย 63 วิลล่ามี plunge pool และรั้วรอบมิดชิด ให้ความสงบเป็นส่วนตัวอย่างสมบูรณ์) สระว่ายน้ำขนาดใหญ่ 2 สระ สปาเท่ทันสมัย ห้องอาหารและบาร์รับมุมมองพระอาทิตย์ตกดิน และBoutique shop

อมตะ หลูไพบูลย์ สถาปนิกปริญญาโทจาก Harvard กล่าวว่า “ความยากของการออกแบบรีสอร์ท คือจะนำเสนอความเป็น local ไม่ว่าจะเป็นความเป็นภูเก็ต หรือความเป็นเอเชีย ซึ่งเป็นสิ่งที่แขกชาวต่างประเทศต้องการและคาดหวังจะมาสัมผัสได้อย่างไร ที่จะเป็น approach ใหม่ไม่มีโครงการใดทำมาก่อน และต้องสอดคล้องกับเวลาปัจจุบัน โดยในงานนี้ทางเรารับผิดชอบทั้งงานออกแบบสถาปัตยกรรม แลนด์สเคป และ ตกแต่งภายในทั้งหมดเพื่อควบคุม image โดยรวมอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นเมื่อทราบว่า ศาลาภูเก็ตได้รางวัลเหรียญเงิน ทีมงานทุกคนก็รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมาก ”

ด้านคู่หู สถาปนิกปริญญาโทจาก Princeton ทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ กล่าวเสริมว่า แนวความคิดหลักของการออกแบบโครงการนี้ คือการนำเอาอิทธิพลของวัฒนธรรมหลากหลายที่พบได้ในเมืองเก่าภูเก็ตนำมาตีความ ใหม่ในสถาปัตยกรรมร่วมสมัย เพื่อให้ได้สถาปัตยกรรมที่สื่อถึงวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ represent ความเป็นปัจจุบัน แนวความคิดหลักนี้ผูกรวมส่วนต่างๆของรีสอร์ทเข้าด้วยกัน ในขณะที่อาคารแต่ละส่วน เช่น Lobby ร้านอาหาร บาร์ วิลล่า สระว่ายน้ำ สปา หรือแม้แต่ห้องน้ำ ต่างก็เป็นการ explore concept ทางสถาปัตยกรรมที่ชัดเจนแต่ละอย่างแตกต่างกัน”

โดยในระยะ 4 ปีที่ผ่านมา สมาคมสถาปนิกสยามฯ ได้มอบรางวัลดังกล่าวให้แก่โรงแรมหรือรีสอร์ทเพียง 2 โครงการ ได้แก่ ศาลาภูเก็ต และ ศิลาเอวาซอน ไฮด์อเวย์ ที่เกาะสมุย ซึ่งทั้งสองโครงการเป็นของ ศุภตา จิราธิวัฒน์ และเป็นผลงานการออกแบบของบริษัทเรา ซึ่งนับเป็นความความภาคภูมิใจอย่างมากของทีมงาน




© Wison Tungthunya


คุณอมตะ หลูไพบูลย์ คุณทวิตีย์ วัชราภัย เทพาคำ
หัวข้อนวัตกรรมการออกแบบผ่านผลงานสถาปัตยกรรม วันที่ 10 กันยายน 2554 

งาน " Innovative Architectural Material Expo (IAM)"

















คัมภีร์ลูกหนัง... เอกราช เก่งทุกทาง


The Idol : เอกราช เก่งทุกทาง

ผู้จัดการรายวัน
กรกฎาคม 2549


เหมือนศึกฟุตบอลระดับโลกรายการไหนๆ ถ้าขาด “เอกราช เก่งทุกทาง” แล้วเหมือนกินก๋วยเตี๋ยว ไม่ใส่เครื่องปรุง เขากลายเป็นนักพากย์ฟุตบอลที่แฟนฟุตบอลโหวตให้เป็นเบอร์หนึ่งของไทย เป็น “คัมภีร์ลูกหนัง” ที่มีเสียงนุ่มลึก และมากด้วยข้อมูล สถิติ มีอิทธิพลต่อการชมฟุตบอลอย่างยิ่ง!

นับจากสังคมนักพากย์ฟุตบอลสูญสิ้นคัมภีร์ลูกหนัง “เอกชัย นพจินดา” หรือ ย.โย่ง แฟนบอลจอตู้ต่างยกให้นักพากย์ฟุตบอลผู้นี้ “เอกราช เก่งทุกทาง” เป็นคัมภีร์ลูกหนังที่สืบทอดคนต่อไป

เอกราช เหมือนหนังสือฟุตบอลที่อ่านไม่รู้จบ ที่ยิ่งอ่านยิ่งได้อรรถรส หากเพราะด้วยลีลาการพากย์ฟุตบอลของเขาเข้มด้วยเนื้อหา สถิติ เรื่องราวของฟุตบอล และน้ำเสียงที่นุ่มลึก มีจังหวะจะโคน มีอารมณ์ขันสอดแทรกบางช่วงบางตอน ทำให้เขาได้รับความนิยมของแฟนบอลชาวไทยอย่างมาก

ทุกวันนี้ เอกราชถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการพากย์ฟุตบอลทางจอตู้ เขาผ่านการพากย์ฟุตบอลมานับหมื่นคู่แล้ว ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา มีข้อมูลฟุตบอลบรรจุอยู่ภายในตัวของเขามากมาย

เอกราชสนใจฟุตบอลมาตั้งแต่เยาว์วัย เคยใฝ่ฝันถึงขนาดอยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่ฝันนี้ก็ทำให้เขาเลือกเป็นนักข่าวกีฬาของหนังสือพิมพ์สยามกีฬา ไม่นานนักเขาลองหันไปหัดเป็นผู้ช่วยนักพากย์ หรือ “คอมเมนเตเตอร์”
เคยพากย์กีฬาหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเทนนิส กอล์ฟ แต่เขาค้นพบว่าสิ่งที่ตัวเองถนัดและทำได้ดีที่สุดคือ “ฟุตบอล”

เขาพูดเสมอว่า การทำหน้าที่พากย์ฟุตบอล นอกจากจะ “บ้าบอล” แล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องไม่หยุดนิ่ง ต้องศึกษาข้อมูลตลอดเวลา เกือบๆ ทุกวันที่เขาจะใช้เวลา 1- 2 ชั่วโมงเพื่อเปิดอินเทอร์เน็ต หรือเว็บไซต์เกี่ยวกับกีฬา เพื่ออัพเดตข้อมูลใหม่ๆ การพากย์จะขึ้นอยู่กับสไตล์หรือเอกลักษณ์เฉพาะตัว พยายามจำเบอร์หรือชื่อนักเตะให้ได้ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย หรือข่าวสารของทีมแข่งขันต้องรู้ด้วย เพื่อทำให้สถานการณ์การชมเกมฟุตบอลสนุกขึ้น

ปัจจุบัน เอกราชมีงานพากย์รายการฟุตบอลประจำที่ช่อง 3 และที่ยูบีซีแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นพิธีกร รายการเรื่องเล่าเช้านี้ เป็นคอลัมนิสต์ในหนังสือพิมพ์ นิตยสาร เช่น มติชนรายวัน ประชาชาติ และล่าสุดเป็นพรีเซ็นเตอร์โฆษณาให้กับมือถือยี่ห้อหนึ่ง เรียกว่าดังไม่แพ้ดารา


Profile
Name : เอกราช เก่งทุกทาง
Age : 40 ปี
Education : ปริญญาตรี สังคมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
Career Highlights
- ปัจจุบัน นักพากย์ฟุตบอล
- พิธีกรรายการ “เรื่องเล่าเช้านี้”
- ที่ปรึกษานิตยสาร FHM
- อดีต บรรณาธิการนิตยสาร GM
- คอลัมนิตส์ในหนังสือพิมพ์มติชน รายวัน ประชาชาติธุรกิจ
- ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์สยามกีฬารายวัน










Aug 29, 2009

พระพุทธจริยาวัตร60ปาง ปางผจญมาร



คอลัมน์ รื่ยร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน ภาพ/เรื่อง
วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552 


 หลังจากทรงเลิกทุกรกิริยาและหลังจากศิษย์ทั้งห้าละทิ้งไปแล้ว ทุกอย่างดูเหมือนจะเอื้อให้พระปณิธานของพระองค์บรรลุผลสัมฤทธิ์เร็วขึ้น เพราะพระพลานามัยก็สมบูรณ์ขึ้น และพระองค์ได้อยู่เพียงลำพัง ไม่มีผู้คนรบกวน เช้าวันนั้น (วันที่จะตรัสรู้) พระมหาสัตว์ประทับใต้ต้นไทร สาวใช้ของนายหญิงธิดาของนายบ้านอุรุเวลาเสนานิคมมาเห็นพระองค์แล้วรีบกลับไป รายงานนายหญิงว่าเทพารักษ์ท่านนั่งรอนายหญิงอยู่ นายหญิงที่ว่านี้ ชื่อ สุชาดา เคยบนเทพที่ต้นไทรไว้ว่าถ้าได้แต่งงานกับคนมีตระกูลเสมอกันและมีบุตรชายคน แรก ก็จะแก้บนด้วยข้าวมธุปายาสอย่างดี ครั้นได้แต่งงานกับบุตรเศรษฐี (ว่ากันว่า บุตรเศรษฐีเมืองพาราณสี) ได้ย้ายไปอยู่กับตระกูลสามีแล้วก็ลืมเสีย จนกระทั่งบุตรชายเป็นหนุ่มแล้วจึงนึกได้ จึงได้กลับมาทำพิธีแก้บนที่บ้านเกิด สั่งให้สาวใช้ไปปัดกวาดโคนต้นไทรให้สะอาด ได้ยินสาวใช้รายงานดังนั้นนางก็ดีใจ เอาข้าวมธุปายาสใส่ถาดทองปิดอย่างดี แล้วก็รีบนำไปยังต้นไทร ไปถึงก็ไม่กล้ามองตรงๆ ยื่นถาดข้าวมธุปายาสให้แล้วก็รีบกลับบ้าน

พระมหาสัตว์เสวยข้าว มธุปายาสนั้นแล้ว ก็ลงไปล้างพระโอษฐ์ที่ลำธารอันมีนามว่า เนรัญชรา ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่าถ้าจะได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณดังปรารถนาก็ให้ปรากฏ นิมิตล่วงหน้าด้วยเถิด แล้วทรงลอยถาดทอง ทันใดนั้นถาดทองก็ไหลทวนกระแสน้ำไประยะหนึ่งแล้วก็จม ตำนานแต่งเพิ่มไปอีกว่า ถาดนั้นจมไปยังนาคพิภพ ไปซ้อนกับถาดอีกสามใบ เสียงถาดกระทบกันดังกริ๊ง ทำให้พญานาคซึ่งหลับอยู่ตื่นขึ้นมาแล้วก็ร้องว่า "อ้อ มาตรัสรู้อีกหนึ่งองค์แล้วหรือ" แล้วก็หลับต่อไป

ข้อความที่ กล่าวมาคงเป็นเพียงภาษาสัญลักษณ์ ต้องการบอกว่า การที่ถาดลอยน้ำ แสดงว่าพระมหาสัตว์จะได้ตรัสรู้ธรรมอันสูงสุด และได้สั่งสอนประชาชนให้รับรู้ตามอย่างกว้างขวาง และธรรมนั้นก็ดี วิถีดำเนินชีวิตที่พระองค์ทรงวางไว้ให้หมู่ชนผู้ปฏิบัติตามพระองค์ในกาลต่อ มาก็ดี เป็นสิ่งที่ "ทวนกระแสโลก" โดยทั่วไป

พญานาคขี้เซาที่หลับ ทั้งกัลป์นั้นเป็นตัวแทนของหมู่สัตว์ที่หลับใหลอยู่ด้วยอำนาจกิเลสนิทรา การตื่นมาเพียงชั่วครู่แล้วหลับต่อไปเท่ากับบอกว่า แม้ว่าพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นแล้ว ทรงประกาศสัจธรรมอย่างไม่เห็นแก่เหนื่อยยากพระวรกาย ก็มีเพียงคนจำนวนน้อยที่ได้ปฏิบัติและรู้ตามพระองค์ คงมีอีกมากมายที่ยัง "หลับใหล" อยู่ด้วยอำนาจกิเลสนิทรา อะไรทำนองนั้น ทั้งหมดนี่ก็เดาเอาครับ ผิดถูกอย่างไรขออภัยด้วย

ตกบ่ายพระมหาสัตว์ก็ข้ามน้ำไปยังฝั่งตะวัน ตก (น้ำในแม่น้ำเนรัญชราในช่วงนั้นคงไม่ลึก พอลุยข้ามไปได้) ทรงพบคนตัดหญ้าคนหนึ่งชื่อโสตถิยะ เขาได้ถวายหญ้ากุศะ 8 กำ หญ้ากุศะแปลกันว่า หญ้าคา แต่ดูจริงๆ แล้วไม่ใช่หญ้าคา พระองค์เอาหญ้ากุศะ 8 กำนั้นลาดเป็นที่นั่ง ณ โคนต้นอัสสัตถะ (ต่อมาเรียกว่า ต้นโพธิ์) ประทับผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก พระปฤษฎางค์พิงต้นอัสสัตถะ ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า "ตราบที่ยังไม่บรรลุสิ่งที่พึงบรรลุได้ ความพยายามของบุรุษ ด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ แม้เลือดและเนื้อจะเหือดแห้งไปเหลือแต่หนังและกระดูกก็ตามที เราจะไม่ลุกขึ้นจากอาสนะนี้"

ทรงนั่งสมาธิเข้าฌาณ ใช้ฌาณนั้นเป็นบาทฐานแห่งวิปัสสนาแนวดิ่งต่อไป ว่ากันว่าพญามารนาม วสวัตตี ผู้ตามผจญพระมหาสัตว์มาตลอด ตั้งแต่วันเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ (ออกผนวช) มาแล้ว คอยหาช่องโอกาสอยู่เสมอ แม้ขณะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา พญามารเธอก็ไปกระซิบบอกให้ปรินิพพานเสียเถอะ พระมหาสัตว์ตรัสว่า ตราบใดที่ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ พระองค์จะยังไม่ปรินิพพาน มาวันนี้เห็นพระมหาสัตว์ทำท่าว่าจะก้าวล่วงวิสัยของตน จึงเดือดร้อนใจมาก ยกทัพมหึมา มาผจญพระองค์ ฉากนี้ตำราขียนไว้น่ากลัวพิลึก

วสวัตตีชี้นิ้วสั่งพระมหาสัตว์เลยว่า "นี่มันอาสนะของข้า ท่านจงลุกขึ้นเดี๋ยวนี้"

พระมหาสัตว์บอกว่า "หาใช่ของท่านไม่ ของเรา เราเอาหญ้ากุศะที่นายโสตถิยะถวายมาปูเป็นอาสนะนี้"

" ท่านว่าเป็นอาสนะของท่าน ท่านมีพยานไหม" พญามารรุก "แต่ข้ามีพยานนะ ลูกน้องทั้งหมดของข้านี้เป็นพยานได้" แล้วหันไปถามลูกน้องว่า "ใช่ไหมวะ"

"ใช่ครับ เจ้านาย" เสียงลิ่วล้อพญามารร้องตอบ

"เห็นไหม ทั้งหมดเขายืนยันว่าอาสนะนี้เป็นของข้า แล้วท่านเล่า มีพยานไหม" มารรุกฆาต

พระมหาสัตว์ทรงชี้พระดรรชนีลงที่พื้นดิน ตรัสว่า "ขอให้วสุนทราจงเป็นพยาน"

วสุ นทรา เป็นนามหนึ่งของแผ่นดิน ทันใดนั้น แม่พระธรณีก็โผล่ขึ้นจากพื้นดิน บีบมวยผม บันดาลให้กระแสน้ำไหลบ่ามาอย่างแรง ท่วมกองทัพพญามาร พัดพาหายไป ณ บัดดล เป็นอันว่ากองทัพพญามารได้พ่ายแพ้อย่างหมดท่า แถมท้ายตรงนี้หน่อยว่าพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นปางนั่งสมาธิ พระหัตถ์ขวาวางที่พระเพลา ชี้พระดรรชนี (ความจริงทั้งห้านิ้ว) ลงพื้นดิน พระพุทธรูปปางนี้ เรียกว่า ปางมารวิชัย (อ่าน มา-ระ-วิ-ไช) หรือ "ปางผจญมาร" ชาวบ้านเรียกปางสะดุ้งมาร เพราะความเข้าใจผิด

สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยองค์หนึ่ง พระพักตร์ไม่ค่อยสวย ตรัสล้อว่า "องค์นี้ท่าจะสะดุ้งมาร" หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ ตอนนั้นเป็นผู้รับผิดชอบดูแลพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จำเอาไปเขียนบรรยายพระปางมารวิชัยว่า "ปางสะดุ้งมาร" คนเลยเข้าใจตามนั้น แม้ภายหลังจะแก้ไขแล้วก็ยังมีคนเรียกอย่างนั้นต่อมา

เหตุการณ์ข้าง ต้น เป็นภาษาสัญลักษณ์มากกว่าจะตีความตามตัวอักษร พญามาร เป็นสัญลักษณ์แทนกิเลสที่เป็นหัวหน้า 3 ตัวอันเรียกว่า อกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ ส่วนเสนามารก็ได้แก่กิเลสเล็กๆ น้อยๆ ที่เป็นบริวารของโลภะ โทสะ โมหะนั้น การที่พระมหาสัตว์ผจญมารก็คือ ทรงกำลังต่อสู้กับอำนาจของกิเลสเหล่านี้นั้นเอง

แม่พระธรณี เป็นสัญลักษณ์บารมีทั้ง 10 ที่เคยบำเพ็ญมา การอ้างแม่พระธรณีก็คือทรงอ้างถึงคุณงามความดีที่ทรงบำเพ็ญมาเป็นกำลังใจใน การต่อสู้กับอำนาจของกิเลสนั้นเอง เพราะทรงมีบารมีที่ทรงบำเพ็ญมาเต็มเปี่ยม พระองค์จึงสามารถเอาชนะอำนาจของกิเลสทั้งปวงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณในที่สุด ดังนี้แล

เติม (สิ่งดีๆ) ให้เต็ม


คอลัมน์ แท็งก์ความคิด
นฤตย์ เสกธีระ
max@matichon.co.th
มติชน
วันที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552

ปีนี้... สิ่งต่างๆ รอบตัว ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม
อุดมไปด้วยข่าวร้าย การเมืองขาดเสถียรภาพ
เศรษฐกิจตกต่ำ การจับจ่ายใช้สอยฝืดเคือง
สังคมแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย
เกิดความแตกแยกทางความคิด ร้าวฉาน
3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มีแต่ความรุนแรง
คนไทยฆ่าฟันกันเอง
เรื่องราวที่ปรากฏจึงมีความหดหู่
แต่ในขณะที่ทุกอย่างดูเลวร้าย
กลับปรากฏสิ่งดีๆ ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ
นั่นคือ ความหิวกระหายอยากเห็นความสามัคคี
ความหิวกระหายอยากเห็นความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ความซาบซึ้งถึงคุณค่าของความพอเพียง
และอื่นๆ ที่เป็นคุณงามความดี
ดูอย่างวงการที่เปลี่ยนแปลงชัดแจ้งคือวงการโฆษณา
สองสามปีที่ผ่านพ้น โฆษณาทางโทรทัศน์มีเนื้อหาสาระดีๆ เยอะแยะ
หลายโฆษณามุ่งพิทักษ์สิ่งแวดล้อม
หลายโฆษณาสะกิดใจ เตือนคนไทยให้รักกัน
หลายโฆษณาแม้จะมีเนื้อหาแบบเดิมๆ
แต่การนำเสนอหันมาใช้วิธีการสร้างสรรค์
โฆษณาพวกนี้ เมื่อได้ดูแล้ว ทำให้รู้สึกได้ถึงความอิ่มเอม
เห็นความดี ทำให้มีความสุข
นอกจากวงการโฆษณาแล้ว
วงการธุรกิจอื่นๆ ก็เริ่มใส่ใจต่อการทำความดี
หลายธุรกิจหันมาใส่ใจต่อกิจกรรมที่ทำประโยชน์ให้แก่สังคม
เติมสิ่งดีๆ ที่สังคมขาด....ให้เต็ม
และเมื่อธุรกิจหันมาทำกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น
สังคมก็เริ่มเติมสิ่งที่ธุรกิจขาดแคลนเป็นการตอบแทน
สิ่งที่สังคมมอบให้แก่ธุรกิจก็คือความรู้สึกดีๆ
ที่มีต่อธุรกิจนั้นๆ ครับ
อย่างน้อยที่สุด แทนที่สังคมจะมองว่า
ธุรกิจมีแต่ผลประโยชน์และการกอบโกย
เมื่อสังคมรู้จักนำสิ่งดีๆ ไปเติมเต็มส่วนที่สังคมขาด
ความรู้สึกที่ดีต่อธุรกิจนั้นๆ ย่อมเกิดขึ้น

วันนี้ ผู้คนต้องการสิ่งดีๆ มาเติมใส่ส่วนที่ชีวิตโหยหา
ชีวิตคนไทยโหยหาความรู้ที่เกี่ยวกับการประกอบอาชีพ
ชีวิตคนไทยโหยหา "วิธีคิด วิธีทำ" ในเรื่องต่างๆ
ชีวิตคนไทยโหยหาความมั่นใจ และบางชีวิตก็โหยหาความอบอุ่น
ดังนั้น เมื่อใดที่หน่วยงานรัฐ หน่วยงานภาคเอกชน
และหน่วยงานภาคประชาชน สามารถเติมสิ่งดีๆ เหล่านี้ให้แก่ผู้โหยหา
สังคมก็จะตอบรับอย่างเต็มที่ครับ
อย่างงานกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในช่วงปีนี้
ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่มุ่งเติมเต็มสิ่งดีๆ ให้แก่ประชาชนทั้งสิ้น
อย่างวันก่อนสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาจัดงาน
"68 ปีอาชีวะไทย ก้าวไกล สู่อนาคต"
เป็นงานเติมเต็มสิ่งดีๆ ให้แก่ชาวอาชีวะ
"อาชีวะ" นั้นคือผู้สร้าง ไม่ใช่ผู้ทำลาย
เติมเต็มสิ่งดีๆ ให้แก่ประชาชนคนทั่วไป
ด้วยการฝึกอบรมอาชีพ
เมื่อแต่ละฝ่ายเติมเต็มสิ่งดีๆ ให้แก่กันและกัน
ผลลัทธ์ที่ตามมาคือ
ประชาชนแห่กันไปร่วมงานจนล้นหลาม
เช่นเดียวกับงาน "มหกรรมอาหารปลอดภัย สู้ภัยเศรษฐกิจ"
ที่สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม จัดขึ้น
งานนี้สถาบันอาหารนำอาหารรับรองคุณภาพ
มาจำหน่ายให้ประชาชนในราคาถูก
คือเอาสิ่งดีๆ มาให้แก่ประชาชนผู้ยังขาด
ถือเป็นการเติมเต็มสิ่งดีๆ ให้แก่สังคม
ในที่สุด สังคมก็ตอบรับ ...ประชาชนแห่กันไปร่วมงานกันคึกคัก
ผู้ประกอบการมีโอกาสได้พิสูจน์คุณภาพ
และความอร่อยของสินค้าอาหาร
ประชาชนมีโอกาสได้ของดีราคาถูก
จะเห็นได้ว่า ทุกอย่างที่ปรากฏคือการเติมเต็มซึ่งกันและกัน
การเติมเต็มเช่นนี้ ทำให้เกิดเป็นความสุข
ทั้งฝ่ายประชาชน และผู้ประกอบการ ล้วนมีความสุข
สุขที่ฝ่ายหนึ่งนำสิ่งที่ล้นมาเติมสิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งขาด
สุขที่ฝ่ายหนึ่งได้รับสิ่งที่ขาดจากคนที่มีสิ่งนั้นล้น
วิธีการเยี่ยงนี้ พวกเราคนธรรมดาๆ ก็ทำได้นะครับ
จำได้ไหมครับว่า พวกเราแต่ละคนมีดีไม่เหมือนกัน
แต่ทุกคนมีดี!
ทีนี้ถ้าคนหนึ่งสามารถนำสิ่งดีๆ ที่ตัวเองมีล้น
ไปเติมให้อีกคนหนึ่งที่เขาขาด
และยอมรับสิ่งที่เราขาด จากคนอีกผู้หนึ่งที่มีสิ่งนั้นล้น
นั่นคือการเติมเต็มสิ่งดีๆ ให้แก่กันและกัน
นั่นคือการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
นั่นคือการผลักดันส่งเสริมกัน
แม้แต่คำตำหนิ หากเป็นการ "ติเพื่อก่อ"
ก็ยังถือเป็นสิ่งดีๆ ที่ควรรับฟัง
เพราะเมื่อฟังแล้วนำมาปรับปรุง ย่อมทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น
เรื่องแบบนี้คงไม่ยากนะครับ แค่เติมสิ่งดีๆ ให้แก่กันและกัน
สวัสดี

หน้า 17


Aug 26, 2009

ข้อคิดจาก Stiglitz


วรากรณ์ สามโกเศศ

มติชน

27 สิงหาคม 2552


เมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา Professor Joseph Stigilitz
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบิล
ได้มาพูดที่กรุงเทพฯ ในโครงการสัมมนาของหนังสือพิมพ์
The Nation

ผมได้มีโอกาสฟังและมีส่วนร่วมในบางส่วนของงานนี้
จึงขอนำสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันผู้ "ดังนอกบ้าน"
ผู้นี้พูดมาเล่าสู่กันฟัง


ถ้าจะซาบซึ้งสิ่งที่ Dr.Stiglitz
พูดคงต้องทราบประวัติก่อนว่ามีที่มาที่ไปอย่างไร


Stiglizt เรียนจบจาก MIT เคยสอนหนังสือที่
Oxford/Cambridge/Princeton/Yale/Stanford/Duke/ MIT ฯลฯ
ปัจจุบันสอนที่มหาวิทยาลัย Columbia
เมื่อเร็วๆ นี้มีงานวิจัยระบุว่าเขาเป็นนักเศรษฐศาสตร์
ที่งานของเขาถูกอ้างอิงมากที่สุดในโลก

Stiglizt เขียนหนังสือกว่า 19 เล่ม มีบทความตีพิมพ์
ในวารสารวิชาการกว่า 300 บทความ ปัจจุบันอายุ 66 ปี
เขาจัดอยู่ในกลุ่มความคิดที่เรียกว่าเกือบซ้ายสุด
ในทางเศรษฐศาสตร์ของสหรัฐ อเมริกา
กล่าวคือฝ่ายซ้ายเชื่อในการแทรกแซงของภาครัฐ
ในการทำงานของระบบเศรษฐกิจทุน นิยม
(ขวาสุดก็คือปรมาจารย์รางวัลโนเบิล
Milton Friedman ผู้ล่วงลับไปแล้ว)


Stiglizt เป็นนักเศรษฐศาสตร์ "ขวัญใจประเทศกำลังพัฒนา"
ในขณะที่เขาเป็น Chief Economist ของธนาคารโลก
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียเมื่อ 12 ปีก่อน
เขาวิพากษ์วิจารณ์บทบาทและวิธีการแก้ไข
ปัญหาเศรษฐกิจของ IMF อย่างหนักว่าวิธีการ
ที่ใช้นั้นเป็นการทำลายมากกว่าสร้างสรรค์
จนเขาไม่ได้รับสัญญาจ้างงานเทอมที่สอง
โดยถูกบีบให้ลาออกก่อนครบเทอมแรกเล็กน้อย

และไม่นานหลังจากการลาออก ในปี 2001
เขาก็ได้รับรางวัลโนเบิลสาขาเศรษฐศาสตร์

ผมจำได้ว่าเมื่อประมาณตอน "ปีเผาจริง"
คือ 1998 หรือ 1999 เขาได้ขอเข้าพบ
นายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย

และถ้าจำไม่ผิดได้พบคุณอภิสิทธิ์ นายกฯคนปัจจุบันด้วย
และคาดว่าคงมีการติดต่อกับคุณอภิสิทธิ์อยู่เป็นระยะ
เพราะ Stiglizt เดินทางไปรอบโลกตลอดเวลา
เมื่อนายกฯอภิสิทธิ์ได้รับเชิญไป
ประชุม World Economic Forum ที่ Davos

สวิตเซอร์แลนด์ หลังจากเข้ารับตำแหน่งใหม่ๆ
ก็ได้พบกันและคงเป็นที่มาของการเป็นที่
ปรึกษารัฐบาลไทยของอาจารย์ Stiglitz


มี สิ่งแปลกเกี่ยวกับนักเศรษฐศาสตร์ผู้นี้
นั่นก็คือเขาไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวาง
และชื่นชอบนักในสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้จะ ได้รับรางวัลโนเบิลก็ตาม แต่เขากลับได้รับ
ความนิยมมากจากคนนอกประเทศไม่ว่ายุโรป
อเมริกาใต้ หรือเอเชีย โดยเฉพาะในจีน

เหตุผลหนึ่งที่ไม่เป็นที่นิยมในสหรัฐ อเมริกา
ก็คือเขานำเสนอความคิดที่ตรงข้าม
กับกระแสหลักของคนอเมริกัน

กล่าวคือเขาเห็นว่าภาครัฐควรมีบทบาท
ในการแทรกแซงเศรษฐกิจมากเพราะไม่อาจไว้
วางใจกลไกตลาดได้ ซึ่งการเห็นว่าภาครัฐที่ดีที่สุด
คือภาครัฐที่เล็กสุดเป็นความเชื่อดั้งเดิม
และเป็นที่นิยมกันมากมาตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีเรแกน
(ในอังกฤษก็สมัยของนางแทตเชอร์ เป็นนายกรัฐมนตรี)

Stiglizt รู้เรื่องสายสนกลในของนโยบายรัฐบาลเป็นอย่างดี
เพราะในช่วง 1993-1995
เขาเป็นสมาชิกของคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจ

ของประธานาธิบดีคลินตัน และในปี 1995-1997
ก็เป็นประธานคณะที่ปรึกษาเศรษฐกิจ
ก่อนที่จะไปเป็น Senior Vice President
และ Chief Economist ของธนาคารโลก

เมื่อมาพูดที่บ้านเราก็ ไม่ผิดหวังเลย Stiglizt
ชี้ให้เห็นว่าวิกฤตเศรษฐกิจโลกครั้งนี้เป็นผลพวง
จากความล้มเหลวครั้งยิ่งใหญ่ของ
ระบบตลาดเสรีของสหรัฐอเมริกาที่ขาดการควบคุม
คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดว่านโยบายทางเศรษฐกิจเสรีที่นำโดย
โลกตะวันตกคือความ
สำเร็จทั้งที่ผลกระทบด้านลบที่เกิดขึ้น

กับประเทศต่างๆ นั้นมีผลกว้างไกลมาก
ความเชื่อในเรื่องกลไกควบคุมตัวเองเป็นสิ่งเหลวไหล
ระบบการเงินภายใต้ตลาดเสรีที่ขาดการควบคุมของโลกตะวันตก
ทำงานอยู่ได้ก็เพราะ การช่วยเหลือจากภาครัฐซ้ำแล้วซ้ำเล่า

เขาชี้ให้เห็นต่อไปว่าวิกฤต เศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นครั้งนี้
ตลอดจนความล้มเหลวของทุนนิยมเสรีสไตล์ อเมริกัน
ทำให้เห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่
จะต้องทำให้ความสมดุลระหว่าง

ตลาด ภาครัฐ และผู้มีส่วนได้เสียในสังคมกลับคืนมา
เราจะปล่อยให้ภาครัฐอยู่เฉยๆ
อย่างขาดการควบคุมดูแลกลไกตลาดไม่ได้เป็นอันขาด

Stiglitz เชื่อในระบบทุนนิยมที่มีกลไกราคาเป็นหัวใจ
แต่ต้องไม่ใช่ระบบที่ขาดการควบคุมอย่างรัดกุมจากภาครัฐ
เขาเชื่อว่าโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย
จนภาครัฐต้องพัฒนากลไกควบคุม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการเงิน

การมีกรอบการควบคุมในระดับโลกเป็นสิ่งจำเป็น
โดยมีการร่วมมือกันโดยนานาชาติ
แต่เขาก็ยังไม่เห็นความริเริ่มในเรื่องนี้


อีกเรื่องหนึ่งที่ Stiglitz สร้างความสั่นสะเทือน
ในวงการเศรษฐศาสตร์และเขาได้ทำมานานหลายปีแล้ว
นั่นก็คือการโจมตีการใช้ GDP
(Gross Domestic Product ผลผลิตมวลรวมประชาชาติ)
เป็นตัวชี้วัดความสุขหรือสวัสดิการ (welfare)
หรือสถานะความอยู่ดี (well-being) ของประชาชน

GDP คือมูลค่าผลผลิตรวมหรือ
รายได้รวมของคนทั้งประเทศในเวลา 1 ปี

สามารถชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐศาสตร์
แม้แต่ Simon Kuznet ผู้คิดค้น GDP ขึ้นเมื่อกว่า 70 ปีมาแล้ว
ก็บอกว่าไม่อาจใช้รายได้เป็นตัวสะท้อนสวัสดิการ
อย่างไรก็ดี หลายปีผ่านไป ด้วยความสะดวกและเผอเรอ
นักเศรษฐศาสตร์และสื่อเหมาเอาว่า GDP
เป็นตัววัดความอยู่ดีหรือวัดสวัสดิการ

ผล พวงที่เกิดตามมาก็คือความพยายามให้มี
อัตราการเจริญเติบโตสูง
(ให้ GDP ที่วัด ณ ราคาคงที่มีค่าเพิ่มขึ้นสูงข้ามปี)

กลายเป็นเป้าหมายของรัฐบาลต่างๆ
ถึงแม้อัตราการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ
จะช่วยทำให้เกิดการจ้างงานสูง
ประชาชนมีอำนาจสูง แต่ก็ไม่จำเป็นว่าประชาชน
จะมีสถานะความอยู่ดีและมีความสุขมากขึ้น

นักเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกเมื่อได้ฟังก็คงจะต้องคิดทบทวน
และน่าจะคล้อยตาม Stiglitz เพราะสิ่งที่พูดนั้นเป็นความจริง
นักเศรษฐศาสตร์ขี้ตู่และหลงผิดมานานว่า GDP ต่อหัวสูง
จะทำให้ประชาชนมีสถานะความอยู่ดีและมีความสุขมากขึ้น
ขณะนี้ Stigitz และพวกได้พยายามเสนอตัวชี้วัดใหม่
ที่จะสะท้อนสถานะความอยู่ดีได้ดีกว่า GDP รัฐบาล
และผู้คนทั้งหลายจะได้เลิกหลงผิดงมงายกัน "GDP เป็นบวก" เสียที

GDP มิได้ผิดอะไร มันก็วัดสิ่งที่ Kuznet ตั้งใจให้วัดคือ
ระดับรายได้รวมของคนทั้งประเทศ นักเศรษฐศาสตร์ต่อๆ
มาต่างหากที่ผิดที่นำมันไปใช้วัดสถานะ
ความอยู่ดีและความสุขของคนทั้งๆ ที่มันมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง

ต่อไปนี้นักเศรษฐศาสตร์ต้องพิจารณา "ฝัง" GDP
ในฐานะตัววัดสถานะความอยู่ดีและการใช้อัตราการขยายตัว
เป็นเป้าหมายของ เศรษฐกิจและหันไปพิจารณา "GDP ดัดแปลง"
ที่กำลังมีผู้คิดค้นซึ่งเชื่อว่าจะเป็นตัวชี้ระดับกิจกรรม
ของนักเศรษฐกิจที่แม่นยำกว่า ตลอดจนตัวชี้
สถานะความอยู่ดีใหม่อีกหลายตัว
ทั้งที่มีใช้อยู่แล้วและที่กำลังจะตามออกมา

ผมรัก GDP เพราะมันมีประโยชน์
แต่รังเกียจการนำมันไปใช้อย่างผิดๆ
(ซึ่งครั้งหนึ่งผมก็เป็นหนึ่งในผู้หลงผิดเหล่านั้นด้วย)
คงคล้ายกับคำกล่าวที่ว่า I love mankind,
only the people I can"t stand กระมัง

(ผมรักมนุษยชาติ แต่สิ่งที่ผมทนไม่ได้คือมนุษย์)

พวกเราชาว ประเทศกำลังพัฒนาดีใจที่มีนักเศรษฐศาสตร์ที่รักมนุษยชาติ
มากกว่าผลประโยชน์ ของประเทศตัวเองแต่เพียงอย่างเดียว
ถ้าที่อเมริกาเขาไม่รักท่าน มาอยู่ที่บ้านเราก็ได้ครับ
รับรองมีปัญหาให้ช่วยขบคิดไม่ให้เหงามากมาย


หน้า 6

Aug 24, 2009

ชุมชนหนองราชวัตร ร่วมพิทักษ์ โครงกระดูกมนุษย์ 4,000 ปี

ยุวดี วัชรางกูร
กรุงเทพธุรกิจ
6 สิงหาคม 52
งานอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรม ไม่ใช่ภารกิจของกรมศิลปากรเพียงฝ่ายเดียว ชุมชนท้องถิ่น
ทั้งภาครัฐและเอกชน
ล้วนมีส่วนร่วมในการค้นคว้าและสืบทอดเรื่องราวทางประวัติศาสตร์โบราณคดี เพื่อเผยแพร่ต่อคนรุ่นหลัง

ด้วยความร่วมมือนี้เอง ทำให้โครงการสร้างเครือข่ายท้องถิ่นในการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่กรมศิลปากรผลักดัน เริ่มปรากฏผลเด่นชัดขึ้นในหลายท้องที่ ภายใต้การขับเคลื่อนของสำนักศิลปากรทั่วภูมิภาค

ความฝันของเด็กน้อย

ช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นายเกรียงไกร สัมปัชชลิต อธิบดีกรมศิลปากร นำผู้สื่อข่าวเยี่ยมชมพื้นที่การทำงานขุดค้นแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร ต.หนองราชวัตร อ.หนองหญ้าไซ จ.สุพรรณบุรี และเปิดตัวศูนย์การเรียนรู้ชุมชน บริเวณใกล้เคียงกัน โดยมีปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลหนองราชวัตร คณะนักโบราณคดีจากสำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี และผู้แทนจาก บริษัทปตท.สผ. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้สนับสนุนโครงการสร้างเครือข่ายการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรม ร่วมเป็นเจ้าภาพกิจกรรมส่วนหนึ่งของโครงการคือการปลูกฝังเยาวชนรุ่นใหม่ให้เรียนรู้วิธี การทำงานขุดค้นภาคสนามและศึกษาข้อมูลทางวิชาการเพื่อพัฒนาตนเองเป็น มัคคุเทศก์น้อย ทำหน้าที่นำชมและให้ข้อมูลแก่คณะผู้เยี่ยมชมทั้งในห้องแสดงนิทรรศการภายใน ศูนย์การเรียนรู้ และบริเวณหลุมขุดค้นจริง

น้องติว -ด.ญ.สุภารัตน์ กลิ่นธูป วัย 10 ขวบ นักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 โรงเรียนวัดหนองไซ เป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมโครงการนี้ น้องติวเคยทำหน้าที่นำชมประมาณ 4-5 ครั้ง และครั้งนี้ได้รับเกียรตินำอธิบดีกรมศิลปากรชมนิทรรศการ โดยมีเพื่อนต่างวัยร่วมแบ่งปันความรู้ด้วย ความสามารถในการบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของโบราณวัตถุแต่ละชิ้นแสดง ศักยภาพที่ไม่ใช่เพียงแค่การท่องจำ สร้างความประทับใจแก่ผู้มาเยือนทั่วหน้า

น้องติวเล่าว่าตนเองมีโอกาสเรียนรู้การทำงานของนักโบราณคดี ทั้งการขุดค้นจริงและการศึกษาข้อมูลวิชาการ นอกจากตนเองแล้ว ยังมีเพื่อนร่วมโครงการรวมทั้งสิ้น 20 คน ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 5 ถึงมัธยมปีที่ 3

การอบรมมัคคุเทศก์น้อยใช้เวลา 4 วัน วันแรกให้ข้อมูลความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดี วันที่สองฝึกทำทะเบียนโบราณวัตถุภายในศูนย์การเรียนรู้ฯ วันที่สามและสี่ฝึกปฏิบัติการในหลุมขุดค้น

"ปี 2546 พี่ๆ เขาเริ่มขุดหนึ่งหลุม พบโครงกระดูก 2 โครง พอมาปี 2550-2552 ขุดอีกสองหลุมหลุมใหญ่เจอโครงกระดูก 24 โครงค่ะ พี่ๆ สอนพวกหนูให้รู้จักวิธีการขุดค้น ได้ช่วยพี่ๆ ทำงานเล็กๆ น้อยๆ รู้สึกภูมิใจมากค่ะ แล้วหนูก็ไม่กลัวผีด้วย" เด็กน้อยเล่าเสียงใส ครั้นถามว่าโตขึ้นอยากเป็นอะไร น้องติวตอบชัดถ้อยชัดคำว่า

"อยากเป็นนักกรมศิลปากรเหมือนพี่ๆ ค่ะ" คำตอบใสซื่อนี้เรียกรอยยิ้มจากคนฟังได้โดยรอบ

เผยสูตร "เข้าใจ-ปฏิบัติ-คุณภาพ"

หลังการเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้ชุมชน อธิบดีเกรียงไกร เปิดเผยถึงนโยบายในการสร้างกระบวนการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นว่า เริ่มที่ความเข้าใจ กระบวนการปฏิบัติ และการสร้างคุณภาพมาตรฐาน

"เบื้องต้นผมอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าว่ามรดกเหล่านี้เป็นมรดกชาติและท้องถิ่นทั้งในแง่จิตใจคือคนในท้องถิ่นเกิดความภาคภูมิใจ เกิดสำนึกในความเป็นเจ้าของร่วมกัน ในแง่ภูมิปัญญาคือเกิดองค์ความรู้เกี่ยวกับโบราณวัตถุในท้องที่ ถ้าสามารถทำให้ประชาชนเข้าใจคุณค่าเหล่านี้ เขาจะรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์"

ส่วนในแง่กระบวนการปฏิบัตินั้น อธิบดีเกรียงไกรเสนอว่าทุกท้องที่ควรร่วมแรงกันตามบทบาทที่พึงเป็น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบล โรงเรียน วัด ชาวบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนสามารถนำข้อมูลวิชาการจากการทำงานโบราณคดีของกรม ศิลปากร ไปบรรจุในหลักสูตรท้องถิ่นได้

"ประการสุดท้าย เราต้องการนำข้อมูลเรื่องคุณภาพมาตรฐานของกระบวนการทั้งหมดมาเผยแพร่ให้ทุกๆ ท้องถิ่น เพื่อจะได้มีความรู้และใช้ความรู้ได้เท่าๆ กัน นี่เป็นแนวคิดที่ผมมอบให้สำนักศิลปากรทั่วประเทศพิจารณาเลือกทำโครงการมา จนถึงตอนนี้เราเห็นศักภาพของแต่ละชุมชนชัดขึ้น"

นอกเหนือจากการสร้างองค์ความรู้ในงานอนุรักษ์ อธิบดีเกรียงไกรยังมองว่าสามารถพัฒนาท้องถิ่นนั้นๆ ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในระยะยาว สามารถสนับสนุนให้ชาวบ้านสร้างผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นหรือของที่ระลึกบนพื้นฐาน ข้อมูลในแต่ละพื้นที่

"เช่นที่หนองราชวัตรนี้อาจทำเครื่องปั้นดินเผาทรงหม้อสามขาก็ได้ คือรายละเอียดพวกนี้เป็นเรื่องที่คนในชุมชนต้องช่วยกันคิด กรมศิลปากรมีหน้าที่แค่ส่งเสริมให้คิด และสนับสนุนข้อมูลวิชาการ"

ในอนาคตเมื่อชุมชนแต่ละแห่งสามารถสร้างศักยภาพของตนเองได้ระดับหนึ่ง กรมศิลปากรจะสนับสนุนโครงการต่อยอดองค์ความรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชน เช่น การสร้างเว็บไซต์ข้อมูลทางวัฒนธรรมแต่ละท้องถิ่น จัดทำเอกสารเผยแพร่ เป็นต้น

ต่อข้อถามที่ว่าชุมชนท้องถิ่นมีสิทธิในการเก็บรักษาและดูแลโบราณวัตถุ ที่พบในท้องถิ่นได้หรือไม่ อธิบดีเกรียงไกรกล่าวว่าแม้กฎหมายจะระบุให้เก็บรักษาโบราณวัตถุไว้ใน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ แต่กฎหมายก็เปิดช่องไว้ว่าชุมชนแต่ละแห่งสามารถทำหนังสือถึงกรมศิลปากร ขอยืมโบราณวัตถุในพื้นที่มาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์การเรียนรู้ท้อง ถิ่นเพื่อประโยชน์ของสาธารณชนได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของอธิบดีกรมศิลปากร

"ชุมชนสามารถทำเรื่องขอยืมโบราณวัตถุสำหรับจัดแสดงในท้องถิ่นได้ปีต่อปี และต้องแสดงให้เห็นว่ามีระบบรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสม กรมศิลปากรก็จะพิจารณาอนุญาต" อธิบดีเกรียงไกร กล่าวย้ำ

ผ้าป่าเพื่องานโบราณคดี

ภายหลังการค้นพบแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุประมาณ 4,000 ปี ที่บ้านหนองเปล้า หมู่ที่ 5 ต.หนองราชวัตร ตั้งแต่ พ.ศ.2546 กรมศิลปากรได้ดำเนินการขุดค้นเบื้องต้น พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ เครื่องมือหิน เครื่องประดับที่ทำด้วยหิน ชิ้นส่วนภาชนะดินเผา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "หม้อสามขา" จนเป็นข่าวเผยแพร่ไปทั่ว

จากนั้น ชุมชนหนองราชวัตรจึงเกิดความสนใจและต้องการมีส่วนร่วมในงานอนุรักษ์นี้ โดยร่วมกับกรมศิลปากรเป็นเจ้าภาพจัดผ้าป่าสามัคคีเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2550 และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 เพื่อระดมทุนจัดซื้อที่ดินในแถบใกล้เคียงกันเพื่อขยายการขุดค้น เจ้าของที่ดินนาม วิมล อุบล ชาวหนองราชวัตร ยินดีขายให้ในราคามิตรภาพ ไร่ละ 70,000 บาท จำนวน 7 ไร่ 1 งาน เงินที่เหลือสมทบ "กองทุนแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร" สำหรับกิจการต่อๆ ไป ทั้งนี้ชุมชนหนองราชวัตรได้ตั้งคณะกรรมการชุมชนขึ้นรับผิดชอบกองทุนดังกล่าว

สุภมาศ ดวงสกุล นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 2 สุพรรณบุรี เล่าว่าภาชนะดินเผาหม้อสามขานี้เคยมีรายงานการค้นพบจากแหล่งโบราณคดีบ้าน เก่า อ.เมือง จ.กาญจนบุรี แหล่งโบราณคดีถ้ำเบื้องแบบ อ.คีรีรัฐนิคม จ.สุราษฎร์ธานี รวมทั้งแหล่งโบราณคดีอื่นๆ อีกหลายแห่งในพื้นที่คาบสมุทรภาคใต้และประเทศมาเลเซีย ทำให้สามารถกำหนดอายุแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตรในเบื้องต้นว่าน่าจะอยู่ใน ช่วงยุคหินใหม่ ราว 4,000-3,000 ปี มาแล้ว

อย่างไรก็ตามการขุดค้นให้ข้อมูลว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้เคยมีการอยู่อาศัยของมนุษย์ในอดีตอย่างน้อย 2 สมัย

สมัย แรกในช่วงหินใหม่ (4,000-3,500 ปีมาแล้ว) โดยใช้พื้นที่ส่วนยอดเนินของแหล่งโบราณคดีเป็นสถานที่ฝังศพ ส่วนบริเวณชายเนินของพื้นที่เป็นที่อยู่อาศัย สมัยที่สอง (3,500-3000 ปีมาแล้ว) มีการใช้พื้นที่ต่อเนื่องจากสมัยแรก โดยมีการฝังศพและอยู่อาศัยในพื้นที่เดียวกันทั่วทั้งเนิน

"โครงกระดูกที่พบทำให้รู้ถึงพิธีกรรมการฝังศพ สมัยแรกจะวางศพนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางทิศเหนือเฉียงไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อย มีการฝังเครื่องปั้นดินเผา และเครื่องมือหินร่วมกับศพ เพื่ออุทิศให้กับผู้ตายมากมาย เรายังพบหม้อสามขา ลักษณะขาอ้วนป้อม เป็นภาชนะรูปแบบพิเศษของที่นี่ ในสมัยที่สองรูปแบบการฝังศพคล้ายกับสมัยแรก ต่างกันตรงการหันศีรษะศพจะหันไปทางทิศตะวันตก ส่วนหม้อสามขาที่พบก็มีลักษณะขาหม้อเปลี่ยนไป คือจะเพรียวสูงเป็นรูปกรวย และมีการเจาะรูที่ขา"

การค้นพบหม้อสามขามีนัยสำคัญต่อการศึกษาเปรียบเทียบข้ามวัฒนธรรมไปยัง ประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสืบสาวถึงความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมของมนุษย์ในอดีต เช่น มาเลเซีย และจีนตอนใต้ (วัฒนธรรมลุงชาน) ซึ่งเป็นชุดโครงการวิจัยชิ้นสำคัญของกรมศิลปากรที่อยู่ระหว่างการดำเนินการ สำรวจในพื้นที่ทางภาคใต้ของไทย โดยการนำของ ประพิศ พงศ์มาศ นักโบราณคดีชำนาญการพิเศษ สำนักโบราณคดี

เฉพาะภารกิจการเติมจิ๊กซอว์หม้อสามขาให้สมบูรณ์นับว่าเป็นงานช้างสำหรับ คณะนักวิจัย ซึ่งจำเป็นต้องมีพื้นฐานการสร้างเครือข่ายชุมชนเพื่อการอนุรักษ์มรดกศิลป วัฒนธรรมในแต่ละภูมิภาคคอยเป็นกองทัพหลัก

ข้อสำคัญก็คือการสร้างความเข้าใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้ตระหนักว่า ศิลปะวัตถุและโบราณวัตถุที่ถูกเคลื่อนออกจากแหล่งถือว่า "ไม่สามารถ" ให้คำตอบได้ในทางวิชาการโบราณคดี การตีความโดยใช้พื้นฐานของประวัติศาสตร์ศิลปะเป็นตัวนำจากโบราณวัตถุที่ ถูกลักลอบเคลื่อนย้ายจากแหล่งสู่ตลาดการค้าโบราณวัตถุ ย่อมให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนและผิดพลาดได้โดยง่าย

ถือเป็นการทำลายทรัพยากรทางวัฒนธรรม และทำลายขุมความรู้ของท้องถิ่นในระยะยาว ไม่ว่าผู้นั้นจะรู้เท่าทันหรือไม่ก็ตาม

**************************

หมายเหตุ - ผู้สนใจรายงานการขุดค้นแหล่งโบราณคดีหนองราชวัตร และบทวิเคราะห์แหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์แถบภาคกลางต่อภาคตะวันตก สามารถเข้าร่วมงานสัมมนาวิชาการ เรื่อง "โบราณคดีของสังคมเกษตรกรรม จากบ้านเก่าถึงหนองราชวัตร" ระหว่างวันที่ 26-28 สิงหาคม 2552 ที่โรงแรมรอยัลริเวอร์ กรุงเทพฯ













Aug 22, 2009

ทางนี้ไม่มี "ตัน"

คอลัมน์ แทงก์ความคิด
นฤตย์ เสกธีระ
max@matichon.co.th
มติชน
วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552


ตอนนี้พ่อลูกชาย แม่ลูกสาวถึงเวลาสอบย่อยกันแล้ว
เดือนกันยายนคือเดือนหน้าก็ถึงเวลาสอบใหญ่ปิดท้ายเทอม
ก่อนจะหยุดเว้นวรรคการเรียนไปประมาณ 1 เดือน

ห้วงเวลานี้ เด็กๆ คงรู้สึกเบื่อ
เพราะพ่อแม่คะยั้นคะยอให้อ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ

แต่แม้ว่าลูกๆ จะเบื่ออย่างไรก็หนีไม่พ้น
ทุกคนต้องอ่านหนังสือ และ
หลังจากอ่านเสร็จต้องเอาหนังสือมาให้พ่อแม่ลองถาม

วิธีการแบบนี้ทำให้พ่อแม่พลอยต้องอ่านหนังสือของลูกไปด้วย
และเมื่อมีลูก 3 คน จึงต้องอ่าน
หนังสือวิชาเดียวกันนั่นแหละถึง 3 ชั้นปี
การได้อ่านตำราเรียนของเด็กๆ ถึง 3 ชั้นปี
ทำให้แลเห็นวิธีการป้อนความรู้ให้แก่เด็กๆ

ยกตัวอย่าง เด็กประถมหนึ่ง กลุ่มสาระวิชาสังคมศึกษา
ศาสนาและวัฒนธรรม เรียนเรื่องศาสนา
ในตำราประถมหนึ่งก็จะบอกแต่เพียงว่า
ประเทศไทยมีศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม ซิกข์ เป็นต้น
ศาสนาแต่ละศาสนามีศาสดา คือ พระพุทธเจ้า เป็นศาสดาศาสนาพุทธ
พระเยซู เป็นศาสดาศาสนาคริสต์ ส่วนศาสนาอิสลามมีท่านนบี มูหะหมัด
แต่พอประถมสอง ประถมสาม ประถมสี่ เรื่อยไปถึงประถมหก
ตำราก็ยังวนอยู่ในกรอบของศาสนาที่เคยศึกษาเมื่อชั้นประถมหนึ่ง

แต่เนื้อหาจะค่อยๆ ลึกขึ้นเรื่อยๆ
เริ่มมีประวัติขององค์ศาสดาของศาสนาต่าง ๆ
มีคำสอนของศาสนาต่างๆ
มีพิธีกรรมของศาสนาต่างๆ
มีวันสำคัญทางศาสนาต่างๆ พร้อมทั้งความสำคัญของวันนั้นๆ
ข้อมูลที่ทยอยให้จะลึกลงไป ลึกลงไป ลึกลงไปเรื่อยๆ
ยิ่งอายุมากขึ้น มีโอกาสได้ศึกษาพระธรรมคัมภีร์มากขึ้น
ยิ่งทำให้รู้ว่า เราสามารถศึกษาหาความรู้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
ขณะเดียวกัน วิชาความรู้นั้นมิได้มีเพียงแขนงวิชาเดียว
แค่วิชาที่ลูกๆ กำลังเรียนอยู่ก็แบ่งออกเป็น 8 กลุ่มสาระวิชา

ประกอบด้วย วิชาคณิตศาสตร์ วิชาภาษาไทย วิชาสังคมศึกษา
ศาสนาและวัฒนธรรม วิชาศิลปะ
วิชาภาษาต่างประเทศ วิชาวิทยาศาสตร์
วิชาสุขศึกษาและพลศึกษา และวิชาการงาน อาชีพ และเทคโนโลยี
แล้วในแต่ละแขนงวิชายังสามารถแยกสาขาวิชาออกไปได้อีกเยอะแยะ
อย่างวิชาภาษาต่างประเทศ ก็มีทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส จีน ญี่ปุ่น เยอรมัน ฯลฯ
หรือวิชาการงาน อาชีพ และเทคโนโลยี ก็มีทั้งวิชาดนตรี
งานฝีมือ คอมพิวเตอร์ ฯลฯ
และเมื่อโฟกัสลงไปเฉพาะดนตรี ก็สามารถแตกแยกย่อย
สาขาวิชาออกไปตามเครื่องเล่นดนตรีได้อีก
มากมายเยอะแยะ


ตอกย้ำให้เห็นว่า ความรู้มีทั้งแนวลึก และแนวกว้าง
"พื้นที่ของการเรียนรู้นั้นมีกว้างขวางสุดคณานับ"
"ขณะเดียวกัน พื้นที่ของการเรียนรู้ก็ลึกซึ้งสุดหยั่งคาด"
แม้แต่พระพุทธองค์ ศาสดาแห่งศาสนาพุทธ ยังยอมรับ
ความรู้ทรงค้นพบ เป็นเพียงแค่ใบไม้กำมือเดียว
ยังมีใบไม้อีกไม่รู้จักเท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ในป่าที่ยังไม่รู้
เพียงแต่ว่า ความรู้ที่พระองค์พบนั้นพอ
แล้วสำหรับการดับทุกข์
และมนุษย์เรียนรู้วิชาจน
สามารถดับทุกข์ให้แก่ตัวเองได้
....ชีวิตนี้ก็พอแล้ว

แต่สำหรับคนที่ยังไม่พอ
สามารถก้าวย่างไปในพื้นที่แห่งการเรียนรู้ได้เสมอ
วันนี้สหรัฐอเมริกาพยายามเจาะลึกศึกษาเทคโนโลยี
ถึงระดับเล็กจิ๋ว ที่เรียกกันว่า "นาโน"
ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาก็พยายามขยายองค์ความรู้
ด้วยการเตรียมส่งนักบินอวกาศไปสำรวจดาวอังคาร
คือ ศึกษาลงไปในแนวลึก และขยายแนวการศึกษาให้กว้างขวางออกไป
โดยสามารถศึกษาลึกไปได้เรื่อยๆ
และสามารถขยายการศึกษาให้กว้างขวางขึ้นไปเรื่อยๆ ไร้ขีดจำกัด
ด้วยความจริงข้อนี้ ยืนยันได้ว่า ชีวิตไม่มีทางตันครับ

เพราะชีวิตที่เดินอยู่บนหนทางที่ไม่มีทางตัน

จะเป็นชีวิตที่มีทางตันได้อย่างไร
เพียงแต่ บางคนเลือกที่จะเดินไปในแนวกว้าง
คือ ขยายการรับรู้จากแขนงวิชาหนึ่งไปสู่อีกแขนงวิชาหนึ่ง

บางคนเรียกว่างานเสริม บางคนเรียกว่างานอดิเรก

ส่วนบางคนเลือกที่จะเดินไปในแนวทางลึก

คือ ศึกษาค้นคว้าในแขนงวิชาที่ตัวเองประกอบสัมมาอาชีพ

ยกตัวอย่าง

"พล.ต.ท.ธนู หอมหวล อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ"
แม้ท่านจะเสียชีวิตไปแล้ว
แต่คำบอกเล่าที่ฟังแล้วได้ข้อคิด
ยังก้องอยู่ในโสตประสาท
"ตอนที่ชีวิตราชการสะดุดจนต้องพเนจรไปอยู่โรงพักไกลปืนเที่ยง"
วันๆ ไม่มีงานทำ เพราะบ้านเมืองสงบสุข
วันนั้นดูเหมือนว่าชีวิตราชการจะเจอทางตัน
แต่ พล.ต.ท.ธนูไม่ยอมอยู่นิ่ง
ท่านเลือกที่จะก้าวเดินต่อไปบนเส้นทางที่ไม่มีทางตัน
เดินไปบนเส้นทางแห่งความรู้
พล.ต.ท.ธนู "ค้นเอาคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาชญากรรมต่างๆ มาศึกษา"
ศึกษาจนรู้เชี่ยวชาญชำนาญการในรูปคดี
เรียนรู้จนเข้าใจถึงการนำพยานหลักฐาน
ที่น่าเชื่อถือมานำสืบต่อหน้าบัลลังก์ผู้พิพากษา
พล.ต.ท.ธนู ศึกษาไปเรื่อยๆ
จนมองเห็นแนวทางการรวบรวมพยานหลักฐาน
และเมื่อวันเวลาผ่านไป กระทั่ง พล.ต.ท.ธนู ได้มีโอกาสแสดงฝีมือ
"วิชาความรู้ที่ได้ศึกษาก็กลายเป็นแรงผลักดันให้
พล.ต.ท.ธนู กลายเป็นปรมาจารย์งานสืบสวน"
สืบสวน จับกุม นำคนร้ายขึ้นสู่ศาล พร้อมพยานหลักฐานที่น่าเชื่อถือ
พล.ต.ท.ธนูบอกเสมอว่า ตำรวจสืบสวนที่เก่ง
ไม่ใช่สักแต่จับกุมคนร้ายเพียงอย่างเดียว
หากแต่ต้องคำนึงถึงพยานหลักฐาน ที่จะนำไปชี้ให้ศาลเห็นว่า
คนคนนั้นกระทำความผิดจริงด้วย
"นี่เป็นตัวอย่างของคนที่เลือกเดินบนเส้นทางที่ไม่มีทางตัน"
ทำให้ชีวิตไม่มีทางตัน
สวัสดี


หน้า 17

พระพุทธจริยาวัตร60ปาง ปางทุกรกิริยา


คอลัมน์ รื่นร่ม รมเยศ
เสฐียรพงษ์ วรรณปก
มติชน
ภาพ/เรื่อง
วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2552


คงจะเคยเห็นผ่านตามาบ้าง คือ
พระพุทธรูปผอมแห้ง
เหลือแต่กระดูก มองเห็นเส้นเอ็นทั่วร่าง
พระพุทธรูปปางนี้เรียกว่า ปางทุกรกิริยา
หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ปางทรมานกาย


เหตุการณ์เกิดขึ้นในถ้ำที่ เรียกในปัจจุบันนี้ว่า ดงคศิริ ซึ่งไม่ทราบว่าเป็นภาษาอะไร
แปลว่าอย่างไร ท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา (ทองยอด ภูริปญฺโญ)
ที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงขนานนามให้ว่า "ยอดบรรยาย"
อธิบายให้ฟังว่าน่าจะมาจาก มาตังเคศวรี (มาตังค-อิศวรี = เขามาตังคอันยิ่งใหญ่)
แล้วท่านก็หันมาถามผมว่า รู้ไหม "มาตังคะ" หมายถึงอะไร
ผมเรียนท่านไปตามที่นึกได้ว่า มาตังคะ
เป็นชื่อช้างตระกูลสูงตระกูลหนึ่ง ถ้าจะแปลก็แปลว่า "เขาพญาช้าง"
หรือ "ภูพญาช้าง" อะไรทำนองนั้น มาตังคกร่อนลงเหลือแต่ ตังค
แล้วเป็น "ดงค" ในที่สุด อิศวรีกร่อนเหลือแต่ ศิริ
จึงเป็น ดงคศิริ ด้วยประการฉะนี้


ถ้ำ ดงคศิริ อยู่ฝั่งตะวันออกของตำบลพุทธคยา
ปัจจุบันนี้มีพระทิเบตไปสร้างวัดคอยเฝ้าอยู่
ชาวพุทธน้อยคนจะเดินทางไปถึง เพราะไปค่อนข้างลำบาก
ภายในถ้ำกว้างจุได้ประมาณ 8-10 คน
มีพระพุทธรูปปางทุกรกิริยาตั้งอยู่ด้วย ณ ถ้ำแห่งนี้เอง
ที่พระมหาสัตว์ได้ทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา
โดยมีพราหมณ์ห้าคน คือ โกณฑัญญะ วัปปะ
ภัททิยะ มหานามะ อัสสชิ คอยเฝ้าปรนนิบัติอยู่


พราหมณ์ทั้งห้า คนนี้ เฉพาะโกณฑัญญะ
เป็นพราหมณ์ที่หนุ่มที่สุดในแปดคนที่ทำนายพระลักษณะ
และขนานพระนามให้เจ้าชาย สิทธัตถะ
และเป็นคนเดียวที่ยืนยันว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะออกผนวช
และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ครั้นทราบภายหลังว่า
เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวช
จึงชวนพราหมณ์อีกสี่คนออกบวชตามด้วย


พระมหาสัตว์ได้ทำทุกรกิริยาเป็นขั้นตอนตามลำดับดังนี้

1. ทรงกดพระทนต์ด้วยพระทนต์ กดพระตาลุด้วยพระชิวหาไว้ให้แน่น
จนพระเสโทไหลออกจากพระกัจฉะ ทรงได้รับทุกขเวทนาอันกล้า
เหมือนมีใครมาบีบคอไว้แน่น
แต่ในที่สุดก็ทรงเห็นว่าไม่ใช่ทาง จึงเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น


2.ทรงผ่อนกลั้นอัสสาสะ ปัสสาสะ
เมื่อลมเดินทางช่องพระนาสิกและช่องพระโอษฐ์ไม่ได้สะดวก
ก็เกิดเสียงดังอู้ทางช่องพระกรรณทั้งสองข้าง
ทำให้เสียดพระอุทร ร้อนพระวรกายเป็นกำลัง
แต่ก็ยังไม่สำเร็จ จึงทรงเปลี่ยนเป็นวิธีอื่น


3. ทรงอดพระกระยาหาร โดยเสวยวันละเล็กละน้อย
จนไม่เสวยอะไรเลย จนพระวรกายเหี่ยวแห้ง
พระฉวีวรรณเศร้าหมอง พระอัฐิปรากฏทั่วพระวรกาย
เมื่อลูบพระวรกาย เส้นพระโลมาร่วงติดมือมา
มีพระกำลังถดถอย จะเสด็จไปไหนก็ซวนเซล้ม
แต่ก็ยังไม่สำเร็จอีก ทรงทำถึงขั้นนี้นับว่า
ถึงที่สุดแล้วก็ยังไม่บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณที่ทรงมุ่งหวัง
พอดีทรงได้คิดขึ้นมา แล้วทรงค้นพบทางสายกลาง
จึงทรงเลิกทุกรกิริยา


ว่ากันว่า พระอินทร์มาเทียบเสียงพิณสามสายให้ฟัง
พระมหาสัตว์ได้ยินก็เลยนำเอามาเปรียบเทียบกับการกระทำของพระองค์
ถ้าสายพิณตึงเกินไปเสียงก็ไม่ไพเราะ พาลจะขาดเอาได้
ถ้าสายพิณหย่อนเกินไป เสียงก็ไม่ไพเราะเช่นเดียวกัน
แต่เมื่อขึงสายให้พอเหมาะพอดี เสียงพิณก็ไพเราะชวนฟัง
ดุจเดียวกับการปฏิบัติ เคร่งครัดทรมานเกินไป
หรือย่อหย่อนเกินไป ไม่มีทางสำเร็จได้
ต้องพอเหมาะพอดีจึงจะสำเร็จประโยชน์
ทรงคิดได้ดังนี้ จึงทรงเลิกทุกรกิริยาอย่างเด็ดขาด


ในช่วงนั้น พระมหาสัตว์ทรงคิดเปรียบเทียบการปฏิบัติ
ของพระองค์กับท่อนไม้ลอยน้ำ 3 ข้อ คือ


1. ท่อนไม้สด ชุ่มด้วยยาง แช่น้ำ นำไปก่อไฟไม่ติด
เปรียบเหมือนสมณพราหมณ์ทั้งกายใจหมกมุ่นอยู่ในกาม
ถึงจะปฏิบัติเคร่งครัดทรมานตนอย่างไร ก็ไม่มีทางพ้นทุกข์


2.ท่อนไม้ สด ชุ่มด้วยยาง อยู่บนบก นำไปก่อไฟไม่ติดเช่นกัน
เปรียบเสมือนสมณพราหมณ์ที่กายออกจากกาม (ในรูปแบบนักบวช) แล้ว
แต่ใจยังติดอยู่ในกามก็ไม่มีทางพ้นทุกข์ได้


3.ท่อนไม้แห้ง อยู่บนบก นำไปก่อไฟติด
ดุจเดียวกับสมณพราหมณ์ที่ปลีกออกจากกามทั้งกายและใจ
ย่อมบรรลุความหลุดพ้นจากกิเลสและกองทุกข์ทั้งมวลได้


เมื่อทรงค้นพบ "ทางสายกลาง" จึงหันมาเสวยพระกระยาหาร
ให้มีพระกำลังแข็งแรงต่อไป เป็นเหตุให้ปัญจวัคคีย์ผิดหวัง
เข้าใจผิดว่าพระมหาสัตว์คลายความเพียรเวียนมาเป็นคนมักมากเห็นแก่กินแล้ว
ไม่มีทางบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแน่ จึงชวนกันหนีไปอยู่ป่าอิสิปตนะมฤคทายวัน
แขวงเมืองพาราณสี


การที่ทรงเลิกทุกรกิริยาและค้นพบทางสายกลางนี้มิ ใช่อยู่ๆ ก็เลิก
ประสบการณ์ที่ทรงผ่านมาตั้งแต่ต้นนั้น เป็นข้อมูลให้พระองค์
ทรงนำมาพินิจพิจารณาจนกระทั่งแน่พระทัยว่าเป็นแนวทาง
ไม่ถูกต้อง เพราะถ้าถูกต้องพระองค์ก็น่าจะบรรลุเป้าหมายแล้ว
เนื่องจากทรงกระทำจนถึงที่สุดแล้ว
ครั้นแว่วเสียงใครบางคนเทียบพิณสามสายให้ฟังก็ยิ่งแน่ชัดว่าทางนั้น
(การทรมานตน) ไม่ถูก ทางสายกลางต่างหากเป็นทางที่ถูกต้อง


ขอตั้งข้อ สังเกตตรงนี้สักนิด ผู้มาเทียบเสียงพิณให้พระมหาสัตว์ฟังนั้น
ตำนานว่าพระอินทร์ พระอินทร์ก็พระอินทร์ ไม่ว่ากระไร
เพราะพระอินทร์ช่วงหลังนี้ ถูกเขา "ปลด"
จากทำเนียบหัวหน้าเทพทั้งหลายแล้ว ยกพระพรหมขึ้นแทนมานานแล้ว
จึงได้มา "อาศัย" อยู่ในร่มเงาพระพุทธศาสนา
(และวรรณคดี โดยเฉพาะช่วงหลังๆ ในวรรณคดีไทย)
จะเชื่อว่าพระอินทร์จริงๆ ก็ย่อมได้ หรืออาจหมายถึงหนุ่มภารตะคนใดคนหนึ่ง
มานั่งดีดพิณอยู่ใกล้ๆ "ถ้ำเขาพญาช้าง" (มาตังเคศวรี) นั้นก็ได้
ด้วยว่า วีณาหรือพิณนั้นเป็นเครื่องดนตรีที่ชาวภารตะถือไปไหนมาไหนประจำ
ดุจดังหนุ่มอีสานถือแคน หนุ่มเหนือถือซึง
และหนุ่มภาคกลางถือกีตาร์ อะไรทำนองนั้น
หรืออาจไม่มีใครมาดีดพิณ แต่ขณะนั้นพระมหาสัตว์
ทรงเทียบการกระทำของพระองค์ดุจพิณสามสาย
ทุกรกิริยานี้ดุจขึงสายพิณเสียตึงเปรี๊ยะ กามสุขัลลิกานุโยค
ก็หย่อนเหลือเกินดุจสายพิณที่หย่อนยาน
ทั้งสองแนวทางนี้คงมิใช่ทางบรรลุโมกษธรรม
ทางสายกลางดุจสายพิณที่ขึงพอดี
น่าจะเป็นทางที่ถูกต้องกว่า ทรงฉุกคิดได้ดังนี้
จึงทรงเลิกอดพระกระยาหารมุ่งปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน
บำเพ็ญเพียรทางจิตต่อไป
ด้วยประการฉะนี้แล


หน้า 6

Aug 19, 2009

"วันสันติภาพไทย"วันที่แสนอาภัพ


วรากรณ์ สามโกเศศ
มติชน

วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2552


16 สิงหาคม เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของชาติไทย
โดยมีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า "วันสันติภาพไทย"
วันนั้นเป็นสัญลักษณ์ของความพร้อมใจของคนไทย
ในการรวมกำลังกันต่อสู้ผู้ รุกรานอย่างประสบความสำเร็จ
ถึงจะสำคัญอย่างไรในประวัติศาสตร์ แต่ก็มีผู้รู้จักวันนี้น้อยมาก
แม้แต่ภาครัฐก็แทบไม่ให้ความสำคัญเลย


16 สิงหาคม 2552 เป็นวันครบ 64 ปีของเหตุการณ์สำคัญนั้น
นั่นก็คือการประกาศสันติภาพตามประกาศประธานสภาผู้ แทนราษฎร
นายปรีดี พนมยงค์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล
ในวันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2488


วันนั้นมีความเป็นมาอย่างไรและสำคัญอย่างไร
ผมขอนำข้อเขียนของคุณอุทัย สุจริตกุล หนึ่งในเสรีไทย
ซึ่งตีพิมพ์ในหนังสือที่ระลึก "64 ปี วันสันติภาพไทย" มาสื่อสารต่อดังนี้


".....ประเทศไทยโดยรัฐบาลขณะนั้นได้ประกาศสงคราม กับสหราชอาณาจักร
และสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2485
รวมทั้งประกาศเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นร่วมทำสงครามเอเชียบูรพา
สหราชอาณาจักรได้ประกาศตอบทำสงครามกับไทย
แต่สหรัฐมิได้ประกาศตอบ ต่อมาเมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ฝ่ายสัมพันธมิตร
ประเทศไทยได้ประกาศสันติภาพทันที
ที่ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้และสัมพันธมิตรโดยมี
สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา
ประกาศยอมรับการประกาศสันติภาพของประเทศไทย


เรื่อง นี้ ได้มีข้อสงสัยและคำถามจากบุคคลหลายกลุ่ม
หลายคณะ ว่าอะไรเป็นเหตุให้สัมพันธมิตรยอมรับ
การประกาศสันติภาพและไม่ถือว่าไทยเป็น ผู้แพ้สงคราม
เบื้องหลังของเรื่องนี้จะต้องมีกลไก กิจกรรม ที่สำคัญๆ มากมาย
มีผลเป็นที่พอใจและเชื่อถือต่อสัมพันธมิตรตลอดเวลาสงคราม
สิ่งเหล่านี้คืออะไร? .....ในการประกาศสันติภาพนั้น
ดร.ปรีดี พนมยงค์ หัวหน้าขบวนการเสรีไทยประกาศว่า
การประกาศสงครามของประเทศไทยต่อ
สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกานั้นเป็นโมฆะ
เพราะขัดกับเจตนารมณ์ของคนไทยทั้งประเทศ


.......ขบวนการเสรีไทยซึ่ง ประกอบด้วยคนไทยและต่างชาติ
ทั้งภายในและภายนอกประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร
และสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมมือและประสานงานกันอย่างใกล้ชิด
โดยมีอุดมคติและจุดประสงค์เดียวกันคือร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร
ต่อต้านและขับไล่กองทัพญี่ปุ่นออกจากประเทศไทย
เพื่อให้สงครามยุติโดยเร็วที่สุด"


ขบวนการเสรีไทยมีพลพรรคใต้ดินหลาย หมื่นคน
อันประกอบด้วยข้าราชการ นักเรียนไทยในอังกฤษ
และสหรัฐอเมริกา รวมทั้งประชาชน
นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักเรียนเตรียมนายเรือ
กลุ่ม "นักเรียนนายสิบสารวัตรทหาร"
ซึ่งมาจากนักเรียนเตรียมอุดมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
และนักเรียนเตรียมปริญญา
ของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ฯลฯ


ภาย ใต้การนำอย่างลับๆ ของนายปรีดี พนมยงค์
ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แอบฝึกอาวุธกัน
โดยใช้อาวุธที่ลักลอบนำเข้าจากฝ่ายสัมพันธมิตร
และฝึกสอนโดยกลุ่มเสรีไทยจาก
ต่างประเทศบางส่วนและทหารฝ่ายสัมพันธมิตร


จุดประสงค์ของขบวนการเสรี ไทยก็คือการต่อต้านผู้รุกราน
โดยแสดงเขี้ยวเล็บไม่ให้เห็นว่าเป็นคนขี้ขลาดเพื่อไม่ให้เสียประโยชน์มาก
เกินไปจากการที่รัฐบาลไทยยอมให้ญี่ปุ่นเคลื่อนทัพผ่านไทยและไทย
เข้าร่วมเป็น มิตรกับญี่ปุ่นเพื่อรบกับพันธมิตร
ด้วยการเห็นการณ์ไกลของนายปรีดี พนมยงค์
จึงต้องการให้ความร่วมมือและให้ความช่วยเหลือ
ฝ่ายสัมพันธมิตรในการทำสงคราม กับญี่ปุ่น
เพื่อให้ประจักษ์ว่าโดยใจจริงแล้วคนไทยส่วนหนึ่งอยู่ข้างสัมพันธมิตร
ทั้งนี้เพื่อว่าเมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม
ไทยจักได้ไม่กลายเป็นผู้แพ้สงครามไปด้วย


การเป็นผู้แพ้สงครามนั้น หมายถึงการสูญเสียเอกราช
การอาจถูกยึดครองโดยกองกำลังต่างชาติ
ทรัพย์สมบัติของชาติอาจถูกปล้นหรือยึด
คนของชาติอาจถูกข่มเหงรังแก ฆ่าข่มขืน
ดินแดนอาจถูกแบ่งแยกหรือถูกยึดครองเป็นส่วนๆ
อีกทั้งต้องใช้หนี้สงครามเป็นเงินทอง ทรัพยากร สินแร่
พื้นที่แผ่นดิน ตลอดจนถูกเอาเปรียบสารพัดรูปแบบได้
ดังที่เราได้เห็นกันในประวัติศาสตร์


เมื่อ ญี่ปุ่นถูกบอมบ์ด้วยระเบิดปรมาณู
โอกาสทองของขบวนการเสรีไทยที่เสี่ยงตายเพื่อชาติก็มาถึง
คุณอุทัย สุจริตกุล เขียนต่อว่า
".......ก่อนการประกาศยอมแพ้ของญี่ปุ่น
ทางกองบัญชาการทหารสูงสุดของ พล.ร.อ.เมาท์แบตเตน
ได้ให้คำแนะนำให้ ดร.ปรีดีฯ ประกาศโดยด่วน
ยกเลิกการประกาศสงครามตลอดจนสัญญาและข้อตกลงต่างๆ
ที่รัฐบาลไทยทำไว้กับญี่ปุ่น
โดยกระทรวงการต่างประเทศอังกฤษให้แจ้งว่า
หาก ดร.ปรีดีฯ ดำเนินการตามข้อแนะนำ
อังกฤษก็พร้อมที่จะไม่บังคับให้ไทยยอมจำนน
เยี่ยงผู้แพ้สงคราม เพราะขบวนการเสรีไทยได้
ให้ความสนับสนุนภารกิจสงคราม
แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอย่างดีตลอดมา


เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2488
สมเด็จพระจักรพรรดิญี่ปุ่นประกาศให้ประชาชนและกองทัพญี่ปุ่นยอมจำนนต่อ
สัมพันธมิตร พล.ร.อ.เมาท์แบตเตน
ได้ส่งวิทยุด่วนถึง ดร.ปรีดีฯ แจ้งเรื่องนี้ในวันที่ 16 สิงหาคม
และในวันเดียวกันนี้เองประเทศไทยก็ได้ประกาศสันติภาพ
สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
ประกาศยอมรับการประกาศสันติภาพของไทยทันที......."


เพื่อ ความสมบูรณ์ของข้อเขียน ผู้เขียนขอนำบางส่วนของ
"ประกาศสันติภาพ" มาให้อ่านกันดังนี้
"โดยที่ประเทศไทยเคยถือนโยบายอันแน่วแน่ที่
จะรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัด
และจะต่อสู้การรุกรานของต่างประเทศทุกวิถีทาง
ดังปรากฏเห็นได้ชัดจากการที่ได้มีกฎหมาย
กำหนดหน้าที่คนไทยในเวลารบ
เมื่อพุทธศักราช 2484 อยู่แล้วนั้น
ความจำนงอันแน่วแน่ดังกล่าวนี้ได้แสดงให้เห็นประจักษ์แล้ว
ในเมื่อญี่ปุ่นได้ ยาตราทัพเข้าในดินแดนประเทศไทย
ในวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484
โดยได้มีการต่อสู้การรุกรานทุกแห่ง และทหาร ตำรวจ
ประชาชนพลเมืองได้เสียชีวิตไปในการนี้เป็นอันมาก


เหตุการณ์อันปรากฏ เป็นสักขีพยานนี้ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ่มแจ้งว่า
การประกาศสงครามเมื่อวันที่ 25 มกราคม พุทธศักราช 2485
ต่อบริเตนใหญ่และสหรัฐอเมริกา
ตลอดทั้งการกระทำทั้งหลายเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาตินั้น
เป็นการกระทำอันผิดจากเจตจำนงของประชาชนชาวไทย
และฝ่าฝืนขืนขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและกฎหมายบ้านเมือง
ประชาชนชาวไทยทั้งภายในและภายนอกประเทศ
ซึ่งอยู่ในฐานะที่จะช่วยเหลือสนับสนุนสหประชาชาติ
ผู้รักที่จะให้มีสันติภาพในโลกนี้
ได้กระทำการทุกวิถีทางที่จะช่วยเหลือสหประชาชาติ
ดังที่สหประชาชาติส่วนมาก ย่อมทราบอยู่แล้ว
ทั้งนี้เป็นแสดงเจตจำนงของประชาชนชาวไทยอีกครั้งหนึ่ง
ที่ไม่เห็นด้วยต่อการ ประกาศสงครามและการกระทำ
อันเป็นปฏิปักษ์ต่อสหประชาชาติดังกล่าวมาแล้ว


บัด นี้ ประเทศญี่ปุ่นได้ยอมปฏิบัติตามคำประกาศของสหรัฐอเมริกา
บริเตนใหญ่ จีน และสหภาพโซเวียต ซึ่งได้กระทำ
ณ นครปอตสดัมแล้ว สันติภาพจึงกลับคืนมาสู่ประเทศไทย
อันเป็นความประสงค์ของประชาชนชาวไทย


ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
จึงขอประกาศโดยเปิดเผยแทนประชาชนชาวไทยว่า
การประกาศสงครามต่อสหรัฐอเมริกาและบริเตนใหญ่
เป็นโมฆะไม่ผูกพันประชาชนชาวไทย
ในส่วนที่เกี่ยวกับสหประชาชาติ
ประเทศไทยได้ตัดสินใจที่จะให้กลับคืนมา
ซึ่งสัมพันธไมตรีอันดีอันเคยมีมากับสหประชาชาติ
เมื่อก่อนวันที่ 8 ธันวาคม พุทธศักราช 2484
และพร้อมที่จะร่วมมือเต็มที่ทุกทางกับ
สหประชาชาติในการสถาปนาเสถียรภาพในโลก นี้"


วันที่ 16 สิงหาคม จึงเป็นวันสำคัญในทางสัญลักษณ์
แห่งความสำเร็จจากความเสียสละเพื่อชาติของคน
ไทยที่ต่อต้านผู้รุกรานจนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
ในวันที่ 8 ธันวาคม 2484 และพลพรรคเสรีไทยของประชาชนไทย
วันนี้จึงควรเป็นวันแห่งการจดจำและสั่งสอนลูกหลานไทยให้เอาเยี่ยงอย่าง
เมื่อชาติไทยจะอยู่อีกนานเท่านาน
ใครจะกล้ารับประกันได้บ้างว่าไทยจะไม่ถูกใครรุกรานอีก
ถ้าคนไทยปัจจุบันไม่สามารถทำให้ลูกหลานรักหวงแหนชาติ
เมื่อเกิดเหตุการณ์รุกรานขึ้นอีกบ้านเมืองของเราจะเป็นอย่างไร


หนังสือ ที่ระลึกวันที่ 16 สิงหาคม 2552
ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า
"ความสำเร็จในการรักษาเอกราช
อธิปไตยตลอดจนเกียรติศักดิ์และเกียรติภูมิของชาติไทย
ภายหลังสงครามโลกครั้ง ที่ 2
มิได้เกิดการอภินิหารของสิ่งลึกลับใดๆ
และมิได้เกิดจากการใช้เล่ห์เหลี่ยมทางกฎหมาย
หรือนโยบายการเมืองการทูตแต่ อย่างใด
ประเทศไทยคงเอกราชและอธิปไตยไว้ได้ด้วยการต่อสู้"


คุณอุทัย สุจริตกุล ได้จบข้อเขียนด้วยข้อความที่กินใจว่า
"......ตลอดมานับจากวันประกาศสันติภาพในปี 2488
ทุกๆ วันที่ 16 สิงหาคม พวกเราเสรีไทยได้ประกอบพิธีทางศาสนา
เพื่อระลึกถึงและทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้
เสรีไทยทุกท่านที่ได้สละชีวิตรับใช้ชาติ
พิธีการก็ได้กระทำอย่างเรียบง่ายเท่าที่โอกาส
และฐานะจะอำนวยให้ จนกระทั่งเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2538
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้หลักการกำหนดให้
วันที่ 16 สิงหาคม เป็นวันสันติภาพไทย
และคุณพิจิตต รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครขณะนั้น
และคุณสมคาด สืบตระกูล เลขานุการผู้ว่าราชการฯ
ได้เห็นคุณค่าและความเสียสละของขบวนการเสรีไทย
ได้ดำเนินการขออนุมัติงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อ
ก่อสร้างอาคารเสรีไทยอนุสรณ์ ณ สวนเสรีไทย เขตบึงกุ่ม
มีการประกอบพิธีทางศาสนาอุทิศส่วนกุศลเป็นประจำ
โดยอดีตผู้ว่าคนต่อๆ มา ได้มอบให้ ผอ.เขตบึงกุ่มให้ความร่วมมือ
กับฝ่ายปฏิบัติงานของสถาบันปรีดีพนมยงค์
เป็นผู้จัดทำตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา


ปีหน้า พ.ศ.2553 จะเป็นวันครบรอบปีที่ 65
ของการประกาศสันติภาพของประเทศไทย
กระผมขออนุญาตเสรีไทยทุกท่านพูดในนามเสรีไทย
เสนอ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี
ได้โปรดให้ความสำคัญแก่วันดังกล่าวนี้ให้มากขึ้น
และหากเป็นไปได้ขอเรียนเสนอให้ท่านนายกรัฐมนตรี
ได้โปรดมอบหมายหรือสั่งการ
ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับวันสำคัญนี้ให้เป็นผู้อุปถัมภ์
และจัดงานระลึกถึงวันสำคัญนี้
โดยมีเขตบึงกุ่มและสถาบันปรีดี พนมยงค์
เป็นที่ปรึกษาและประสานงานเป็นประจำทุกปี......"


หน้า 6

สุวิกรม อัมระนันท์



ที่มา: สยามธุรกิจ

เรื่องราวความไฮเปอร์กับคำถามที่น่าค้นหา
“ทำไมคุณแม่ถึงรักคุณพ่อครับ” ประโยคเด็ดโดนใจนี้

เป็นฉนวนเหตุจากการได้ไป
ดูหนังไม่มีบทไม่มีสคริปต์ ตามติดชีวิตเด็กเอนท์
“สุวิกรม อัมระนันท์”หรือเปอร์
แทน
ชื่อเรียกแบบยาวๆ เต็มยศของ

เด็กหนุ่มวัยรุ่นเจ้าของคำถามข้างต้น
เขามีหลากหลายคำตอบที่ใครหลายคน...ไม่คาดคิด
มีความโรแมนติก

ช่างน่าค้นหาและมีความเป็นส่วนตัวในมุมที่....
ใครหลายคนเข้าไม่ถึง...

ไปตาม ติดกันใกล้ๆ ดีกว่า
เผื่อหลังวาเลนไทน์นี้คุณจะมีเรื่องดีๆ
ไว้แอบคิดสะกิดใจ
พ.ศ.2531 นั่นคือปีที่เขาเกิด

ปัจจุบันใช้ชีวิตแบบสามัญ
กับการ
เป็นนักศึกษาของคณะวิศวกรรมศาสตร์
ในมหาวิทยาลัยของรัฐแห่งหนึ่ง

ด้วยปณิธานมุ่งมั่นที่อยากเป็นคนเก่ง
เหมือนคุณพ่อ(วุฒิพร อัมระนันทน์) ผู้เป็นไอดอลในดวงใจ
เปอร์จบมัธยมปลายจากโรงเรียนสวนกุหลาบ
เขาสนใจและมีความสามารถด้านดนตรีไทยและดนตรีสากล
เคยได้รับรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพฯ
จากการประลองบรรเลงเพลงวงมโหรีระดับประเทศ
และรางวัลประกวดหุ่นยนต์ประดิษฐ์ด้วย

ความเรียบง่ายสบายๆ แฝงอยู่ในคำถาม และคำตอบ....นี้

ตอนนี้ทำอะไรอยู่
เรียนครับ
เรียนเสร็จ ก็มาออฟฟิต(จีทีเอช)
พูดคุยกับสื่อ
เตรียมโปรโมทภาพยนตร์ครับ
ความคาดหวังและโปรเจ็กต์ในอนาคตที่อยากทำ

ตอนนี้ผมเรียนวิศวะโยธา เคยคิดไว้ว่าอยากสร้างบ้านใต้น้ำ
เห็นจากการที่เขาสร้างอุโมงใต้น้ำได้
มันก็น่าจะสร้างบ้านใต้น้ำได้นะครับ(ยิ้ม)

สิ่งรอบตัวที่อยากเปลี่ยน
อยากให้กรุงเทพฯ รถไม่ติด
ให้อากาศร้อนมาเป็นอากาศที่เย็นคนจะได้ใจเย็นๆ ไม่โกรธ
ไม่ทะเลาะกัน


ฆ้องวง ดนตรีไทยให้เอกลักษณ์
ผมชอบฆ้องวง แม้มันไม่ใช่ตัวเด่นที่สุด
ซ่อนอยู่หลังระนาดเอก แต่เวลาที่เล่นออกมาแล้ว
เสียงมันจะเด่นออกมาและมีเสน่ห์เป็นเอกลักษณ์

ดนตรีทำให้มีโลกอีกโลกหนึ่งให้ได้ปลดปล่อย
ผมเล่นดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ
ทางบ้านปลูกฝังไว้

ที่เล่นเป็นตอนนี้ก็มี ฆ้องวงเล็ก
ระนาดเอก
ระนาดทุ้มและเบส

ศิลปินสุดโปรด
ผมชอบการเป็นเพอร์ฟอร์เมอร์ของพี่ป็อดโมเดิร์นด็อก

เขามีความเป็นธรรมชาติอยู่ในตัว
ชอบกรู๊ฟไรเดอร์ ทีโบน
และ Bad Company กับวงQueen

เรื่องที่ดีใจที่สุดในชีวิต

เป็นเรื่องที่เพื่อนๆ(ผู้หญิง)
พวกเขาทำเซอร์ไพรสซ์
โดยที่แอบนัดไว้กับคุณแม่
เพื่อมาแฮปปี้เบิร์ดเดย์
ที่หน้าห้องนอนที่บ้านผม
ตอนนั้นปลื้มมาก เพราะจริงๆ ผมเป็นคนชอบนอน
นอนแล้วปลุกยากด้วย แต่วันนั้นตกใจตื่นขึ้นมาอย่างดีใจ

เรื่องที่เสียใจที่สุด และเหตุการณ์ที่อยากกลับไปแก้ไข

ผมไม่เคยเสียใจเรื่องอะไร
ถ้ารู้สึกก็เพียงวันเดียวเดี๋ยวก็หาย

และไม่อยากกลับแก้อะไรในอดีตด้วย
ผ่านมาด้วยการเรียนรู้จะดีกว่า
เวลาและอารมณ์ที่รู้สึกดี
ผมชอบเป็นผู้ให้ ให้ใครก็ได้ ให้ได้ทุกๆ คน

และพุดอย่างลูกผู้ชายว่า...ไม่เคยคาดหวังกับ
สิ่งที่ให้ด้วย กำหนด “ความคิด” ให้ชีวิตต้อง...ประสบความสำเร็จ
ผมกลัวมาก ที่จะไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต
แต่ก็เข้าใจว่ามันไม่เสมอไป บางที่คนเราไม่
ต้องประสบความสำเร็จก็อยู่ในสังคมได้ เพียงแต่ว่า...
สังคมมีการวัดคุณภาพของคน
จากความสำเร็จอะไร
หลายคนอาจจะพูดได้ดีมากมาย
แต่ทำอะไรได้ไม่ดีสักอย่าง
ควรวัดกันที่การกระทำไม่ใช่คำพูด

ผมก็พยายามจะเป็นอย่างนั้นครับ
มีคุณพ่อเป็นฮีโร่ ผมเลือกเรียนวิศวะฯ
เพราะคุณพ่อเป็นวิศวกรที่เก่ง
ไม่อย่างใดอย่างหนึ่ง
แต่คุณพ่อเก่งทุกอย่าง
คุณพ่อจะลงมือทำจริงกับทุกๆสิ่ง ทุกๆอย่าง
และการวิศวะทำให้เรามีวิธีการคิดเป็นระบบ
มีเหตุมีผลด้วย ถ้าไม่มีคุณแม่กับคุณพ่อ
ก็จะไม่มีเปอร์ดีเท่ากับวันนี้


ถ้าให้เลือกเป็นใครก็ได้ในหนึ่งอาทิตย์จะเป็นใคร
อยากเป็นคุณพ่อครับ จะเข้าไปเรียนรู้ทุกอย่างเลยว่า 1 วัน

คุณพ่อทำอะไร ทำไมถึงได้เก่งอย่างที่เป็น
อะไรทำให้ถึงอยากรู้ว่า
ทำไมคุณแม่ถึงรักคุณพ่อ?
(ยิ้ม).......................แล้วพี่ว่าทำไมหละ?
ความรักที่ดี คืออะไร คือการให้โดยที่ไม่ได้หวังอะไร ตอบแทน
วาเลนไทน์ ทุกๆ ปี
ผมชอบไปที่คนเยอะๆ นั่งอยู่คนเดียว

ชอบนั่งอยู่มุมตึกของสยามดิสฯ มองมาที่รถไฟฟ้า
มองคนเดินจับมือกัน โดยที่ผมไม่เป็นทุกข์ กับการที่ไม่ได้อยู่กับใคร
แต่ผมยิ้ม มีความสุขกับมันโดยไม่อิจฉา

กลับรู้สึกดีที่เห็นคนเขารักกัน ประหม่าเวลาอยู่ใกล้ผู้หญิง
ผมเป็นคนกลัวผู้หญิงมาก

เด็กๆจะชอบเล่นกับเพื่อนผู้หญิง
จนเพื่อนล้อว่าเป็นตุ๊ด แต่พอเข้ามัธยมอยู่ ร.ร ชายล้วน
เห็นผู้หญิงหน้าตาดีหรือไม่ดีก็กลัวผู้หญิงไปหมดเลย
กลัวที่จะอยู่ใกล้ กลัวที่ถูกเนื้อต้องตัวเค้า
ประหม่า
ไม่อยากคุยด้วย
กลัวเค้าว่าพี่หน้าตาน่าเกลียด(หัวเราะ)

ถ้าถามผมต่อว่า เสน่ห์ของผู้หญิง

ตอบได้เลยอยู่ที่ความจริงใจครับ

ที่ๆ ชอบไป พักผ่อน
ทะเลที่หัวหิน ไปแล้วชอบขี่ม้าครับ
ชอบมาก อีกที่คือร้านอาหารชื่อ “ลมหวน”
ชอบไปนั่งฟังเพลง ว คิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย
มองตัวเอง ตอนนี้เหมือนหาตัวเองเจอ...แต่ยังไม่เริ่มทำอะไร

ถ้ามีกรอบมาวัดว่าอยู่ตรงไหน
ตัวผมอยู่ในกรอบ...นะ
แต่อยู่ตรงเส้นพอดีเป๊ะ…(ยิ้ม)
ผมเป็นตัวเองไม่เป็นใคร คล้ายกับรองเท้า
นึกอยากใส่ไปไหนก็ไป
รองเท้าคือเป็นคู่ๆ
มันต้องมีใครสักคนไปด้วย
แต่เป็นผมข้างเดียวก้ไปได้ครับ(ยิ้ม)...

หลายครั้งที่คนตอบ...คงเบื่อคำถามและคำถามไม่มีคำตอบ

หนุ่มน้อยนาม “เปอร์” ผู้นี้เอาความเป็นตัวเองมาเต็มพิกัด
แนะนำตัวอย่างเรียบง่ายดาย ไม่ปรุงแต่ง
ท้ายสุด...
ใครอยากรู้คำตอบว่า....
ทำไมคุณแม่ถึงรักคุณพ่อ?

ลองหาโอกาส ถามเขาดูสิ......
แล้วคุณจะรู้ว่าเขาน่าค้นหาอย่างไร.